fbpx

สามสิ่งที่ต้องจับตาจีนในปีใหม่

ปีใหม่ 2023 นี้ จะเป็นปีเดินเครื่องยนต์ของจีนอีกครั้งหลังโควิด ไม่ว่าจะในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศ

หากมองในเชิงวงจรเศรษฐกิจ ในปี 2021 จีนเป็นประเทศ FIFO (First In First Out) คือเป็นประเทศแรกที่ประสบวิกฤตโควิดในปี 2020 แต่ด้วยมาตรการเคร่งครัดชนิดโควิดเป็นศูนย์ ทำให้ในจีนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติในปี 2021 ในขณะที่ทั่วโลกยังระบาดรุนแรง จากปี 2020 ที่เศรษฐกิจจีนโตที่ร้อยละ 2 ในปี 2021 พลิกกลับมาเติบโตที่ร้อยละ 8

แต่อนิจจา เรื่องมากลับตาลปัตรเอาในปี 2022 ที่จีนกลับกลายเป็นประเทศ FILO (First In Last Out) จากวิกฤตโควิด ในขณะที่ทั่วโลกเริ่มอยู่ร่วมกับโควิดและกลับมาใช้ชีวิตปกติ จีนยังวุ่นวายอยู่กับการล็อกดาวน์ปิดเมือง ปัจจัยที่เปลี่ยนไปคือโอไมครอนที่ระบาดเร็วและแรงกว่าเดิม ทำให้การใช้มาตรการเคร่งครัดของจีนมีต้นทุนสูงขึ้นมาก เศรษฐกิจจีนจากที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะโตที่ร้อยละ 5 กลายมาโตได้เพียงร้อยละ 3 เท่านั้น

ช่วงท้ายปี 2022 จีนตัดสินใจอยู่ร่วมกับโควิดและเดินหน้ากลับมาใช้ชีวิตปกติ ด้วยจะเปิดประเทศอย่างสมบูรณ์ในต้นปีใหม่วันที่ 8 มกราคม หากเปรียบเทียบจีนในปี 2022 ว่าคล้ายกับจีนที่เผชิญวิกฤตในปี 2020 รัฐบาลจีนและคนจีนย่อมหวังว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2023 จะสามารถฟื้นและดีดตัวกลับแรงดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2021

สามเรื่องที่ต้องจับตาเกี่ยวกับก้าวย่างของจีนในปีใหม่ อาจแบ่งได้เป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศ

เรื่องแรกที่ต้องจับตาคือ การเข้ารับตำแหน่งของทีมรัฐบาลชุดใหม่ในเดือนมีนาคม 2023 ซึ่งจะเป็นหมุดหมายการเดินเครื่องยนต์ทางการเมืองรอบใหม่ที่สำคัญของจีน

หลายท่านทราบดีว่าในปีที่แล้ว จีนจัดประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในเดือนตุลาคม ต่ออายุการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดให้สีจิ้นผิง และเลือกกรรมการสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ 7 คนชุดใหม่ ซึ่งล้วนแต่เป็นคนสนิทและเป็นทีมงานที่เคยทำงานใกล้ชิดกับสีจิ้นผิงมาก่อน

แต่นั่นคือการผลัดใบภายในพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนการเปลี่ยนผ่านในทีมบริหารของรัฐบาลจีนจะเกิดขึ้นในปลายเดือนมีนาคม 2023 ซึ่งจะมีการประชุมสองสภา คือการประชุมสภาประชาชนและสภาที่ปรึกษาการเมืองของจีน เราจะเห็นการเข้ารับตำแหน่งของนายกฯ ท่านใหม่คือหลี่เฉียง แทนที่นายกฯ คนเก่าหลี่เค่อเฉียงที่จะถึงเวลาลงจากเวทีอย่างเป็นทางการ

เช่นเดียวกับทีมเศรษฐกิจที่จะเริ่มเป็นชุดใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม การผลัดใบในรัฐบาลย่อมจะเปิดโอกาสให้ทีมบริหารชุดใหม่เปลี่ยนทิศนโยบายต่างๆ ของจีนได้ หากเราดูการกลับทิศทางมาตรการโควิด 180 องศาของจีนที่ผ่านมาแล้ว การกลับทิศทางนโยบายในเรื่องเศรษฐกิจก็มีโอกาสเกิดขึ้นสูงมาก เราอาจจะเห็นการเปลี่ยนจากโหมดจอมกำกับเป็นโหมดยอมผ่อนคลายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

จึงมาสู่เรื่องที่สองที่ต้องจับตา นั่นก็คือนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ หลายคนคาดว่าตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นไป เราจะเห็นนโยบายที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่คึกคักให้กลับมา

คำถามปลายเปิดคือ แผลเก่าที่เกิดจากการเจ็บหนักตอนปิดเมืองล็อกดาวน์เมื่อปีที่แล้วจะสามารถสมานและเดินเครื่องยนต์ใหม่ได้เร็วเพียงใด ยิ่งแผลเป็นใหญ่ที่รักษาไม่ง่ายอย่างปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ยังเป็นตัวฉุดรั้งการเดินเครื่องยนต์เศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้กลับทิศทางเรื่องอสังหาริมทรัพย์และเริ่มอัดฉีดเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จนมีนักวิเคราะห์มองว่า ฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนกำลังจะกลับมาอีกครั้ง เพราะรัฐบาลจีนทนเจ็บไม่ได้อีกต่อไป

เควิน รัดด์ อดีตนายกฯ ออสเตรเลีย และประธาน Asia Foundation ซึ่งเป็นผู้สนใจติดตามจีนอย่างใกล้ชิดถึงกับประเมินว่าจีนจะอัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมหาศาลเพื่อฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด แต่ก็จะมากับความเสี่ยงจนในช่วงสิ้นปี 2023 นักเศรษฐศาสตร์จะต้องมานั่งดีเบตกันว่ามีโอกาสที่ฟองสบู่จีนจะแตกหรือไม่

เรื่องสุดท้ายที่ต้องจับตา ก็คือ การจัดประชุมใหญ่ความร่วมมือ Belt and Road ครั้งที่ 3 ซึ่งสีจิ้นผิงประกาศว่าจะจัดขึ้นอย่างแน่นอนในปีใหม่นี้และจะเชิญประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้าร่วมประชุม นี่จะเป็นการเปิดเกมรุกด้านการต่างประเทศของจีนอย่างชัดเจนโดยเฉพาะการแสดงบทบาทเป็นผู้นำและรวมกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุนภายหลังโควิด

การประชุมนานาชาติ Belt and Road ห่างหายไป 3 ปี เพราะวิกฤตโควิดในช่วงปีที่แล้วที่จีนใช้มาตรการโควิดเคร่งครัดเพื่อกดตัวเลขเป็นศูนย์ ทำให้ความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับนานาชาติลดลงไปมากจากอุปสรรคในการเดินทางระหว่างกัน เกมการทูตของจีนในปีที่แล้วจึงเผชิญข้อจำกัดสูงมาก เมื่อแม้แต่ระดับผู้นำของจีนก็หลีกเลี่ยงที่จะเดินทางออกนอกประเทศ มีเพียงหวางอี้ รมว.ต่างประเทศจีนที่เดินสายทั่วโลก

แต่ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ภายหลังการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ สีจิ้นผิงก็เดินเกมรุกในเวทีระหว่างประเทศอีกครั้ง ตั้งแต่ต้อนรับผู้นำเยอรมนีที่ปักกิ่ง จากนั้นเดินทางไปประชุม G20 ที่อินโดนีเซียและ APEC ที่ไทย และจบลงด้วยทริปการเยือนตะวันออกกลางอย่างยิ่งใหญ่ส่งท้ายปี

ไฮไลท์ของการประชุม Belt and Road ของจีนในปีนี้น่าจะอยู่ที่การขยายจากที่เน้นประเทศในภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก มาเพิ่มการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของประเทศในตะวันออกกลางที่สีจิ้นผิงเพิ่งไปเดินเกมความสัมพันธ์เชิงรุกมา

และจะเป็นการกลบเสียงข่าวลือที่บอกว่าจีนหันมาสนใจแต่ภายในประเทศ หรือมีทิศทางปิดประเทศ ไม่ได้สนใจจะผลักดัน Belt and Road เหมือนในอดีต เนื่องจากปัญหามากมายภายในของจีนเอง แต่ผมกลับมองว่าความจริงแล้วในปีนี้ เราจะเห็นทิศทางตรงกันข้าม คือจีนที่เดินหน้าเปิดประเทศเชื่อมกับประเทศกำลังพัฒนา โดยเชื่อมโยงกับประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง ด้วยหวังว่าจะเป็นตัวตอบโจทย์ที่จีนกำลังถูกตะวันตกและพันธมิตรถอดรื้อความเชื่อมโยงและปิดล้อมทางเศรษฐกิจ

ความหมายคือ จีนต้องสร้างขั้วใหม่จีนบวกประเทศกำลังพัฒนาขึ้นมาเป็นก๊กที่สาม โดยยังคงเป็นจีนที่เปิดประเทศและเชื่อมโยงกับโลก แต่แทนที่จะเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ และตะวันตกเป็นหลักเช่นในอดีต เปลี่ยนมาเป็นจีนที่เดินเกมบุกซีกโลกที่เหลืออยู่นอกจากขั้วตะวันตก ซึ่งไม่ใช่เพียงเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง ซึ่งจะเป็นสามภูมิภาคหลักของ Belt and Road แต่จะยังรวมถึงแอฟริกาและลาตินอเมริกาด้วย

ปรัชญาจีนชอบเน้นความสำคัญของจังหวะ เมื่อตอนที่จีนปิดเมืองคุมเข้มโควิด ก็เหมือนดับเครื่องพักไว้ เพราะเดินเครื่องไปก็ดูเปล่าประโยชน์ในสถานการณ์เช่นนั้น แต่เมื่อตัดสินใจเปิดเมืองและกลับมาใช้ชีวิตปกติ ก็ต้องถึงเวลาเร่งเดินเครื่องเต็มสูบอีกครั้ง

ปีใหม่ 2023 จึงเป็นปีที่จีนหวังว่าจังหวะพร้อมจะให้เครื่องยนต์เดินหน้าเต็มสูบทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศ ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าจะมีหงส์ดำหรือแรดเทาอะไรมาเปลี่ยนเกมดังเช่นโอไมครอนและสงครามยูเครนในปีที่แล้วหรือไม่

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save