fbpx
ถ้าไม่มีโจว เอินไหล… ก็ไม่มีมหาอำนาจจีนในวันนี้

ถ้าไม่มีโจว เอินไหล… ก็ไม่มีมหาอำนาจจีนในวันนี้

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

บทความเนื่องในวาระครบรอบ 45 ปี การถึงแก่อสัญกรรม โจว เอินไหล (8 มกราคม 1976-2021)

 

ผมเป็นคนชอบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ตลอดประวัติศาสตร์มีฮีโร่มากมาย แต่หนึ่งในบุคคลที่ผมชื่นชมมากที่สุด คือ โจว เอินไหล (Zhou Enlai, 周恩来) เขาคือหนึ่งในมหาบุรุษที่ชาวจีนเคารพรักมากที่สุด ไม่ใช่เพียงเพราะความเป็นอัจฉริยะฉลาดล้ำในเรื่องการวางยุทธศาสตร์ หากแต่ยังเป็นเพราะเขาคือผู้ชายที่สุภาพอ่อนโยน อ่อนน้อมถ่อมตน ปฏิบัตินิยมโดยไม่ยึดติดกับกรอบความคิดเดิมๆ (Pragmatic) และเป็นผู้มีวาทศิลป์เป็นเลิศในการโน้มน้าวใจคน และนี่คือคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีและสุดยอดนักการทูตที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของจีนไปตลอดกาล

โจว เอินไหล เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 1898 ณ​ เมืองหวายอัน (Huai’an) มณฑลเจียงซู และถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 มกราคม 1976 สิริรวมอายุ 78 ปี เขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Comunist Party of China: CPC 中国共产党) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตในปี 1976 และยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของประเทศจีน ในฐานะประเทศเกิดใหม่ที่ต้องทำให้ทั้งโลกยอมรับการเปลี่ยนแปลงระบอบในระหว่างปี 1949-1958

ในวัยเด็ก โจวเรียนหนังสือจนจบชั้นมัธยมต้นที่เมืองเทียนจิน ก่อนที่จะไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 1917 แต่ยังไม่ทันจะได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลจีน เนื่องจากยังไม่ทันได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น โจวก็กลับมายังประเทศจีนอีกครั้งเพื่อเข้าร่วมกับ ‘ขบวนการ 4 พฤษภาคม 1919 (May Fourth Movement 五四运动)’ ที่นักศึกษาและปัญญาชนจีนออกมาเดินขบวนเรียกร้องเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมและฟื้นฟูวัฒนธรรมจีน เพื่อตอบโต้มติที่ไม่เป็นธรรมกับจีนในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles 1919) ที่ตะวันตกต้องการเอาใจญี่ปุ่น โดยยอมยกมณฑลซานตง (Shandong 山东) ซึ่งเป็นเขตของเยอรมนีให้กับญี่ปุ่นภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 แทนที่จะส่งมอบดินแดนคืนให้กับจีนที่เป็นสหายร่วมรบ

ด้วยวัยเพียง 22 ปีที่กำลังหุนหันพลันแล่น การใช้กำลังก่อความไม่สงบในช่วงของการเคลื่อนไหวในเดือนพฤษภาคม  ทำให้โจวถูกจับกุมในปี 1920 ก่อนที่จะถูกปล่อยตัว และเดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส ในการเดินทางไปฝรั่งเศสนี้เองที่ทำให้เขาได้พบกับเด็กหนุ่มอัจฉริยะ เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping 邓小平) ผู้จะกลายเป็นทายาททางการเมืองและสืบสานแนวทางการปฏิรูปของเขา และที่เมือง La Garenne-Colombes ทางตอนใต้ของกรุงปารีส พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวร่วมสำคัญที่สร้างปัญญาชนจำนวนมากให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC: Communist Party of China 中国共产党) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1921 ณ นครเซี่ยงไฮ้ (ซึ่งในเดือนกรกฎาคม 2021 สาธารณรัฐประชาชนจีนจะมีการเฉลิมฉลองวาระที่สำคัญยิ่ง คือวาระ 100 ปีของการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน)

โจว เอินไหลเดินทางกลับถึงเมืองกวางโจว ประเทศจีน ในฤดูร้อนปี 1924 เพื่อมาร่วมกับการเคลื่อนไหวของ ซุน ยัตเซ็น (Sun Yat-sen 孫中山) ที่กำลังเร่งสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งพรรคชาตินิยม (ก๊กมินตั๋ง 国民党) และพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อยุติยุคขุนศึกครองเมือง  (Warlord Era 军阀时代 1916-1928) แน่นอนว่าซุน ยัตเซ็น ไม่ได้อยู่จนถึงวันที่ยุคขุนศึกจบลง เพราะเขาถึงแก่อสัญกรรมในปี 1925 ด้วยโรคมะเร็งในถุงน้ำดี

ปี 1925 ถือเป็นอีกหนึ่งปีสำคัญของโจว เอินไหล เพราะนอกจากเขาจะได้เข้าทำงานที่โรงเรียนนายร้อยวัมเปา (หวงปู่ Whampoa (Huangpu) Military Academy, ปัจจุบัน Republic of China Military Academy 中華民國陸軍軍官學校) ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายการเมือง ซึ่งเขาได้ทำงานกับผู้ที่จะกลายเป็นคู่รักคู่แค้นกันไปอีกจนทั้งสองจบชีวิต นั่นคือ ผู้อำนวยการโรงเรียนนายร้อย นายพลเจียง ไคเซ็ค (Chiang Kai-shek 蔣中正) และในปีเดียวกัน เขาก็สมรสกับ เติ้ง อิ่งเชา (Deng Yingchao 邓颖超) และทั้งคู่ก็ครองรักอยู่ด้วยกันจนวาระสุดท้ายโดยที่ไม่มีบุตรธิดา แต่ทั้งคู่ก็มีบุตรบุญธรรม 2 คนคือ Sun Weishi และ Wang Shu และยังมีเด็กอีก 2 คนที่อยู่ในความดูแลของครอบครัวนี้ นั่นคือ วรรณไว พัธโนทัย และ สิรินทร์ พัธโนทัย (ทั้ง 2 เป็นลูกของสังข์ พัธโนทัย หัวหน้าที่ปรึกษาของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีที่ในขณะนั้นต้องการเริ่มต้นสานสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน)

ปี 1927 โจว เอินไหล ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการด้านการทหารแห่งคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมทั้งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกรมการเมือง (Politburo) ในช่วงที่มีความขัดแย้งกับพรรคก๊กมินตั๊งที่พยายามปราบปราม CPC ก็ถึงจุดที่ทำให้กองกำลังของโจว เอินไหล ต้องหนีตายออกจากเซี่ยงไฮ้เพื่อมุ่งหน้าสู่เมืองอู่ฮั่น (ใช่แล้วครับ เมืองเดียวกับที่เจอไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั่นแหละ แต่จริงๆ อู่ฮั่นคือทำเลยุทธศาสตร์ใจกลางประเทศมาตั้งแต่สมัยสามก๊กแล้ว) จากปี 1929-1931 โจว เอินไหล นำการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งภายในประเทศ ที่ฮ่องกง และรัสเซีย จนในที่สุด เขาก็ไปสมทบกับศูนย์กลางของโซเวียตจีน ณ​ มณฑลเจียงซี (Jiangxi Province 江西省) ที่ซึ่งแกนนำพรรคอย่าง จู เต๋อ (Zhu De 朱德) และ เหมา เจ๋อตง (Mao Zedong 毛泽东) รอคอยอยู่แล้ว โดยในช่วงปลายปี 1927 โจวเอินไหลได้ดำรงตำแหน่งผู้นำของกองทัพแดงต่อจากเหมาเจ๋อตงที่ขึ้นไปเป็นผู้นำพรรค

การระดมสรรพกำลังขนานใหญ่ของนายพลเจียง ไคเช็ค ทำให้กองทัพแดงต้องเริ่มเดินทัพทางไกล (Long March 长征) ตั้งแต่เดือนตุลาคม 1934 จนถึงเดือนตุลาคม 1935 รวมระยะทางกว่า 9,000 กิโลเมตร ต่อเนื่องเป็นเวลา 370 วัน และทำให้กองทัพแดงมีกำลังคนลดลงจาก 69,000 นาย เหลือเพียง 7,000 นาย เมื่อเดินทางถึงที่หมาย ณ มณฑลส่านซี (Shaanxi Province 陕西省) ทางตะวันตกเฉียงเหนือ แน่นอนว่าตลอดทั้งการเดินทัพทางไกล ความสามารถของโจวเอินไหลในฐานะผู้กำหนดยุทธวิธีได้พิสูจน์ตนเองว่า เขาคู่ควรอย่างยิ่งกับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารสำหรับประเทศที่จะสถาปนาขึ้นมาใหม่ในอนาคต

ตลอดช่วง 1935-1937 โจว เอินไหล ต้องทำหน้าที่ประสานงานเจรจากับฝ่ายของก๊กมินตั๋งสายพิราบที่ยังต้องการความร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเจรจากับรัสเซียเพื่อให้พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับการสนับสนุนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิวัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และยังต้องพยายามหลบหนีการทำลายล้างของพรรคก๊กมินตั๋งสายเหยี่ยวที่นำโดยนายพลเจียง ไคเช็ค ที่ต้องการทำลายล้างกองทัพแดงด้วย

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้น เมื่อในที่สุด ผู้นำทหารของก๊กมินตั๋งที่ไม่ต้องการทำสงครามกลางเมืองระหว่างคนจีนด้วยกันจับกุมผู้บังคับบัญชาของตนเอง นั่นคือ นายพลเจียง ไคเซ็ค และเตรียมการที่จะประหารชีวิตเขาที่เมืองซีอาน (Xi’an Incident 西安事变) ทำให้โจว เอินไหล ต้องรีบเดินทางไปซีอานเพื่อเจรจาต่อรองให้มีการปล่อยตัวนายพลเจียง โดยแลกกับกองทัพแดงกับกองทัพจีนจะยุติการทำสงครามการเมือง นั่นทำให้ฝ่ายผู้ก่อการเหตุการณ์ซีอานสมหวัง ในขณะเดียวกันนายพลเจียงก็ต้องยอมยุติการกวาดล้างกองทัพแดงแลกกับการที่เขาจะได้มีชีวิตอยู่ต่อไป

แต่ทั้งหมดที่ว่ามาก็ยังไม่เท่ากับที่โจว เอินไหล ยังเจรจาต่อไปเพื่อให้พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคก๊กมินตั๋งสามารถจับมือกัน เพื่อร่วมรบกับการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นในสถานการณ์สงครามมหาเอเชียบูรพา เพราะสำหรับโจว เอินไหล สิ่งที่เขาต้องรักษาผลประโยชน์มากที่สุดคือ ประชาชนจีนที่กำลังถูกรุกรานจากกองกำลังต่างชาติ และนี่คือที่มาของ the Second United Front ที่กองกำลังของทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมมือกันรบกับญี่ปุ่นได้จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

ทันทีที่สงครามมหาเอเชียบูรพายุติ สงครามกลางเมืองระหว่างก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง แม้สหรัฐอเมริกาจะพยายามเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างจีนทั้ง 2 ฝ่ายในปี 1946 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ สงครามกลางเมืองระหว่างคนจีนเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในปี 1947 จนถึง 1949 ที่จบลงโดยความพ่ายแพ้ของก๊กมินตั๋งที่ต้องหนีข้ามช่องแคบไปอยู่ที่ไต้หวัน และพรรคคอมมิวนิสต์ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 (ท่านที่สนใจบทบาทของโจวเอินไหลในทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงของจีนหลัง 1949 ขอเชิญอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความของผมเรื่อง “ถอดบทเรียน 70 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน: จากศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู สู่ China Corp”)

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ในปี 1946 ที่ทั้งสองฝ่ายเจรจากัน ก็ทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มตระหนักแล้วว่า โจว เอินไหล ในวัย 48 ปี คือหนึ่งในสุดยอดนักการทูตและนักเจรจา ซึ่งต่อไปในอนาคต ผู้ชายคนนี้นั่นเองที่ทำให้พันธมิตรระหว่างสหรัฐและจีนเพื่อปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลทางการเมืองของโซเวียตเกิดขึ้นได้ในปี 1972

ในการตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่พึ่งจะก่อตั้งในปี 1949 โจวต้องทำหน้าที่สานสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน นำไปสู่ Chinese-Soviet Treaty of Alliance 1950-1980 ที่ทำให้จีนกับโซเวียตกลายเป็นเพื่อนบ้านที่เกื้อกูลกัน อย่างน้อยก็อีก 30 ปีต่อจากวันสถาปนาจีนใหม่ แน่นอนว่าในช่วงหลัง เมื่อถึงยุคปลายของผู้นำรุ่นที่ 1 ที่พรรคเริ่มกันเอา เหมา เจ๋อตุง (ที่เริ่มหมดสภาพและทำนโยบายผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายก้าวกระโดดไปข้างหน้าและการปฏิวัติวัฒนธรรม) ออกไปจากอำนาจ ขณะที่โจว เอินไหล เองก็เริ่มมองๆ หาผู้นำยุคที่ 2 อย่างเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งเขากับเติ้งคือผู้ที่เริ่มเอาข้อดีของระบบทุนนิยมมาผสานกับระบบสังคมนิยมภายในแนวคิด 4 ทันสมัย

ส่วนฝั่งโซเวียตหลังยุคสตาลิน ที่นำโดยผู้นำรุ่นต่อมาอย่าง Nikita Khrushchev และ Leonid Brezhnev ซึ่งต้องการฟื้นฟูสังคมนิยมแบบเข้มข้น ย่อมทำให้จีนกับโซเวียตแตกกัน นั่นทำให้สหรัฐฯ เข้ามาผูกมิตรกับจีนในช่วงทศวรรษ 1970 ตามคำแนะนำของ Henry Kissinger ซึ่งเขาก็รู้ดีว่า คนที่จะต้องมาติดต่อประสานงานด้วยคือ โจว เอินไหล

นอกจากโซเวียตแล้ว อีกประเทศที่จีนต้องลดความเป็นศัตรูและสร้างความร่วมมือคือ เพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ทางใต้อย่างประเทศอินเดีย โดย โจว เอินไหล คือหนึ่งในผู้ที่ไปเข้าร่วมการประชุมกลุ่มประเทศเอเชีย-แอฟริกา (Afro–Asian Conference หรือที่นิยมเรียกกันว่า Bandung Conference) ณ เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 1955 และ ณ เมืองบันดุงนี้เองที่มหาอำนาจจีน นำโดยนายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล และมหาอำนาจอินเดียที่นำโดย นายกรัฐมนตรี ชวาหะร์ลาล เนห์รู บรรลุหลักการ ‘ปัญจศีล (Panjasila)’ ซึ่งเป็นหลักแห่งการอยู่ร่วมกันของกลุ่มประเทศในภูมิภาค เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศต่างๆ บนหลักการ ‘แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง’

 

[box]

หลักการปัญจศีล 5 ข้อ ประกอบด้วย:

1) การอยู่ร่วมกันโดยสันติ

2) เคารพซึ่งบูรณภาพแห่งดินแดนและอำนาจอธิปไตยของกันและกัน

3) ไม่รุกรานซึ่งกันและกัน

4) ธำรงไว้ซึ่งความเสมอภาค มีผลประโยชน์ร่วมกัน

5) การไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญที่สุด และยังทำให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด หรือกลุ่ม Non-Aligned Movement

[/box]

 

สำหรับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ความตกลงในเรื่องเส้นเขตแดนและความร่วมมือระหว่างจีนและพม่า (ชื่อในขณะนั้น) ก็เกิดขึ้น ส่วนอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ กรณีแผนที่ 9 เส้นในทะเลจีนใต้ ที่จีน (ในสมัยสาธารณรัฐจีนที่นำโดยเจียง ไคเช็ค) ลากเส้นสมมติในทะเลและอ้างสิทธิเหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ โดยในเวลานั้น จีนลากเส้นประในทะเลเอาไว้ 10 เส้น แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านมาถึงยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน โจว เอินไหล ที่ใกล้ชิดสนิทกับ โฮจิมินห์ ผู้นำสูงสุดของเวียดนามก็มีการลบเอาเส้นประออกไป 1 เส้น เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับเวียดนาม ลดความขัดแย้งในการอ้างสิทธิ์บริเวณของทะเลที่ใกล้กันกับกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม

แต่ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ คือการสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ที่คณะของ Henry Kissinger ไปเยือนกรุงปักกิ่งครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 1971 และจากการเจรจาของโจว เอินไหล ในที่สุดการเดินทางเยือนจีนของประธานาธิบดี Richard Nixon ก็เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1972 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้นำสหรัฐฯ เดินทางเยือนประเทศที่ยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูต แน่นอนว่าในเวลานั้น ประธานเหมาเองก็อายุมาก และเริ่มไม่ได้มีบทบาทในการบริหารประเทศมากเท่าในอดีตอีกแล้ว ทำให้เนื้อหาสาระในการเยือนและสร้างความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศเกิดขึ้นโดยมีนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล เป็นผู้ดำเนินการเจรจามากกว่า และการสร้างพันธมิตรในครั้งนั้นก็นำไปสู่การร่วมปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของโซเวียต และการล่มสลายในปี 1991 เป็นอันสิ้นสุดสงครามเย็น

ผลงานสุดท้ายที่โจว เอินไหลฝากเอาไว้คือ การเดินทางไปเจรจากับประธานเหมา ทั้งที่ตนเองก็ป่วยหนักด้วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เพื่อขอร้องให้ผู้นำรุ่นที่ 2 ของประเทศ คือ คนหนุ่มซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกขับออกจากพรรคในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมได้กลับมาเป็นผู้นำของประเทศ เขาผู้นั้นก็คือ เติ้ง เสี่ยวผิง อีกหนึ่งมหาบุรุษผู้จะสืบทอดนโยบาย 4 ทันสมัยของโจว เอินไหล และพาให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน จนจีนกลายเป็นมหาอำนาจอย่างทุกวันนี้

โจว เอินไหล ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 8 มกราคม 1976 ในช่วงเวลาที่แก๊งค์ 4 คน (四人帮) อันประกอบด้วย เจียงชิง (Jiang Qing 江青) เหยาเหวินหยวน (Yao Wenyuan 姚文元) จางชุนเฉียว (Zhang Chunqiao 张春桥) และหวังหงเหวิน (Wang Hongwen 王洪文) ยังคงเรืองอำนาจ นั่นทำให้ทางการจีนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอสัญกรรมของโจว เอินไหล ให้สมเกียรติสมกับความเสียสละที่เขาทำเพื่อประเทศชาติ เพราะทุกๆ การเคลื่อนไหวของโจวคือความพยายามลดอำนาจของแก๊ง 4 คนที่ประธานเหมาให้ท้าย

อย่างไรก็ดี การกระทำของทางการจีนไม่ได้ทำให้ปวงมหาประชาชนจีนยอมอ่อนข้อแต่อย่างใด เพราะพอถึงช่วงปลายเดือนมีนาคม 1976 ประชาชนเรือนแสนเรือนล้านก็เริ่มทยอยเดินทางมาที่กรุงปักกิ่ง และเมื่อถึงวันที่ 4 เมษายน 1976 วันเชงเม้ง หรือวันเซ่นไหว้บรรพบุรุษของชาวจีน ประชาชนกว่า 2 ล้านคนพร้อมพวงหรีดและช่อดอกไม้ก็ร่วมกันจัดการแสดงความเคารพเซ่นไหว้การเสียสละของมหาบุรุษโจว เอินไหล โดยที่รัฐไม่ได้เป็นคนจัดการ หากแต่มวลมหาประชาชนต้องการสรรเสริญมหาบุรุษผู้สร้างชาติจีนท่านนี้ จนท้ายที่สุด ทุกคนก็พร้อมใจกันเปล่งเสียงตะโกนก้องไปทั้งจัตุรัสเทียนอันเหมินว่า “ผู้ใดคัดค้านโจว เอินไหล เราโค่นล้มผู้นั้น”

เมื่อมวลมหาประชาชนมีฉันทามติเช่นนั้น ท่ามกลางการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ในวันที่ 6 ตุลาคม 1976 เติ้ง เสี่ยวผิง และผู้สนับสนุนก็สามารถจับกุมเจียงชิง เหยาเหวินหยวน จางชุนเฉียว และหวังหงเหวิน หรือแก๊ง 4 คนมาดำเนินคดีได้ เป็นอันสิ้นสุดยุคปฏิวัติวัฒนธรรมที่โหดร้าย และจากนี้ไป จีนภายใต้การนำของผู้นำยุคที่ 2 อย่างเติ้ง เสี่ยวผิง ที่ถูกคัดสรรโดยโจว เอินไหล ก็จะขึ้นมาทำการปฏิรูป และเปลี่ยนแปลงให้จีนยุติสถานะคนป่วยแห่งเอเชียไปตลอดกาล

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save