fbpx

เมื่อสันติวิธีคือความผิดบาป: อ่านชีวิต ‘จ้าวจื่อหยาง’ นักปฏิรูปหัวก้าวหน้ากับอิสรภาพที่หายไปในเทียนอันเหมิน 1989

ที่มาภาพปก Rob Bogaerts / Anefo

‘เทียนอันเหมิน 1989’ คือคีย์เวิร์ดสำคัญที่รัฐบาลจีนต้องการลบล้างให้หายไปจากสารบบตลอดกาล พร้อมทั้งหยดเลือด หยดน้ำตา และเสียงตะโกนโห่ร้องของกลุ่มนักศึกษาปัญญาชน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินในวันที่ 4 มิถุนายน 1989 ที่ถูกทำให้เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์จีนโดยสิ้นเชิง 

แม้แต่อดีตผู้นำคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่าง ‘จ้าวจื่อหยาง’ (赵紫阳) ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจีนระหว่างปี 1980-1987 และอดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ปี 1987-1989 ได้กลายเป็นบุคคลต้องห้ามที่ถูกทางการจีนจองจำอิสรภาพไว้จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะเขาคือคนที่เข้าไปเจรจากับกลุ่มนักศึกษา ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินก่อนที่เหตุการณ์นองเลือดจะเกิดขึ้น

การชุมนุมประท้วงรัฐบาลของนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 มีจุดเริ่มต้นจากการร่วมรำลึกถึงการเสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยอาการหัวใจวายของหูเย่าปัง ผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เรียกได้ว่าเป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่ของจีนในขณะนั้น เนื่องจากเป็นผู้ผลักดันให้มีการปฏิรูปทางการเมืองหลายอย่าง ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลจีนฟังเสียงคนรุ่นใหม่และประชาชนมากขึ้น ด้วยเจตนารมณ์เช่นนี้ ทำให้ภายหลังของชีวิตการทำงาน หูเย่าปังเริ่มเสื่อมอำนาจไป เนื่องจากไม่เป็นที่โปรดปรานของผู้มีอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ภายหลังการเสียชีวิตของหูเย่าปัง มีกลุ่มนักศึกษามากมายออกมาร่วมรำลึกถึงการจากไปของเขา ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมและปัญหาคอร์รัปชันของนักการเมือง เมื่อการออกมาไว้อาลัยกินระยะเวลานานขึ้นเรื่อยๆ จึงนำมาสู่การชุมนุมประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปการปกครองของรัฐบาลจีนที่เข้มข้นมากขึ้นทุกที จนกระทั่งเกิดการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงในช่วงเช้ามืดของวันที่ 4 มิถุนายน 1989

จ้าวจื่อหยาง – ปีกปฏิรูปหัวก้าวหน้าแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

จ้าวจื่อหยางเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) ในปี 1938 และขึ้นสู่อำนาจในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อเติ้งเสี่ยวผิง เลือกเขาให้เป็นผู้นำคนสำคัญที่มีบทบาทในการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีน หลังจากเกิดผลกระทบร้ายแรงอันเนื่องมาจากการปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมาเจ๋อตง ทั้งยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศจีนในปี 1980

ที่มาภาพ Rob Bogaerts / Anefo

จ้าวจื่อหยางเป็นสมาชิกพรรคผู้ยึดมั่นในจุดยืนของการประนีประนอมและรับฟังเสียงของประชาชน ในขณะที่ผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ในพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเติ้งเสี่ยวผิง ต้องการประกาศกฎอัยการศึกเพื่อยุติการประท้วงที่ปะทุขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน 

วันที่ 19 พฤษภาคม ไม่กี่สัปดาห์ก่อนเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม จ้าวจื่อหยางที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ตัดสินใจเดินทางเข้าเจรจากับกลุ่มนักศึกษาที่อดอาหารประท้วงรัฐบาลจีน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน เขากล่าวปราศรัยขอให้ผู้ชุมนุมยุติการอดอาหาร พร้อมทั้งให้คำมั่นว่าทุกปัญหาที่ผู้ชุมนุมต้องการให้รัฐบาลจีนแก้ไขจะสามารถเจรจาและดำเนินการตามข้อเรียกร้องได้

“นักศึกษาทั้งหลาย พวกเราขอโทษที่มาช้าเกินไป คุณพูดถึงพวกเรา วิพากษ์วิจารณ์พวกเรา ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็น เหตุผลที่ผมมาที่นี่ไม่ใช่เพื่อมาขอให้พวกคุณยกโทษให้ แต่สิ่งที่ผมต้องการจะบอกคือพวกคุณทุกคนกำลังค่อยๆ อ่อนล้าลง ผ่านมากว่า 7 วันแล้วนับตั้งแต่ที่พวกคุณเริ่มอดอาหาร คุณทำแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ยิ่งเวลาผ่านไป ร่างกายของพวกคุณจะยิ่งถูกทำลายจนเกินจะเยียวยาได้ และมันอันตรายถึงชีวิต ตอนนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการหยุดอดอาหาร”

“พวกคุณยังเด็ก ยังมีหนทางอีกยาวไกล คุณต้องมีสุขภาพที่ดี และรอดูวันที่จีนบรรลุนโยบายความทันสมัยทั้ง 4 ประการ[1] พวกคุณไม่เหมือนพวกเรา พวกเราแก่แล้ว ไม่สำคัญอะไรอีกต่อไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศนี้และพ่อแม่ของคุณที่จะสนับสนุนการศึกษาในระดับวิทยาลัยของคุณ ตอนนี้คุณอายุแค่ประมาณ 20 ปี และกำลังจะเสียสละชีวิตของคุณอย่างง่ายดาย นักศึกษาทั้งหลาย คุณคิดว่านี่มันสมเหตุสมผลแล้วหรือ”

“ผมมีแค่คำขอเดียว ถ้าพวกคุณหยุดการอดอาหารประท้วงนี้ รัฐบาลจีนจะไม่มีทางปิดประตูการเจรจาอย่างแน่นอน คำถามที่พวกคุณยกขึ้นมา เราสามารถพูดคุยกันต่อไปได้ แม้ว่าจะช้าไปสักหน่อย แต่เรากำลังบรรลุข้อตกลงของปัญหาบางอย่าง วันนี้ผมแค่ต้องการมาพบนักศึกษาทุกคน และอธิบายความรู้สึกของพวกเรา ผมหวังว่านักศึกษาทุกคนจะคิดเกี่ยวกับปัญหานี้อย่างใจเย็น”

“สุดท้ายนี้ขอให้นักศึกษาทั้งหลายคิดทบทวนอีกครั้ง คิดเกี่ยวกับอนาคตอย่างใจเย็น มีหลายอย่างที่สามารถแก้ไขได้ ผมหวังว่าคุณจะยุติการอดอาหารในเร็ววัน”

ถ้อยคำดังกล่าวคือส่วนหนึ่งของบทปราศรัยของจ้าวจื่อหยาง เพื่อเจรจาขอให้นักศึกษายุติการอดอาหารประท้วง สำหรับรัฐบาลจีน การโอนอ่อนและแสดงความเห็นใจต่อกลุ่มนักศึกษาและผู้ชุมนุมนับเป็นความผิดอย่างร้ายแรง และถือเป็นการกระทำที่แสดงตนว่าเขากำลังอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

อย่างไรก็ตาม แม้คำปราศรัยดังกล่าวจะได้รับความพึงพอใจไม่น้อยจากกลุ่มนักศึกษาและผู้ร่วมชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน แต่สุดท้ายการอดอาหารประท้วงก็ยังคงดำเนินต่อไป และความตึงเครียดของการชุมนุมก็ยกระดับมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินคืนวันที่ 3 มิถุนายน กับเสียงปืนที่ดังสนั่นอย่างต่อเนื่องจวบจนแสงแรกของวันที่ 4 มิถุนายนมาถึง

ส่วนตัวของจ้าวจื่อหยาง ชีวิตอันโชติช่วงของเขาจำต้องดำดิ่งลงเหวลึกทันทีหลังจากการตัดสินใจเข้าประนีประนอมกับผู้ชุมนุมด้วยสันติวิธี การปราศรัยในวันนั้นคือการปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งสุดท้ายของจ้าวจื่อหยาง เขาถูกทางการจีนกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพักรับรองของทางการจีนนับแต่นั้น และไม่มีสิทธิแสดงความเห็นทางการเมืองใดๆ อีกต่อไป เรียกได้ว่าการเจรจากับนักศึกษา ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินในวันที่ 19 พฤษภาคม 1989 คือบทบาทสุดท้ายของเขาในฐานะสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

จ้าวจื่อหยางเสียชีวิตลง ณ กรุงปักกิ่ง ในปี 2005 ด้วยวัย 86 ปี เขาถูกรัฐบาลจีนจองจำให้ใช้ชีวิตได้แค่ภายในบ้านพักจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต 

“จ้าวจื่อหยางคือผีที่ตามหลอกหลอนพรรคคอมมิวนิสต์จีน” 

คำกล่าวนี้จากจูเลียน เกอเวิร์ตซ์ (Julian Gewirtz) ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จีนช่วงทศวรรษ 1980 จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คงไม่เกินจริงนัก เพราะหลังจากจ้าวจื่อหยางเสียชีวิตลงในปี 2005 บรรดาผู้นำระดับสูงของจีนเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบคล้ายกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นหลังการเสียชีวิตของหูเย่าปัง หนังสือพิมพ์ของจีนลงข่าวประกาศถึงการมรณกรรมของเขาเพียงสั้นๆ และมีการสั่งห้ามสถานีโทรทัศน์และวิทยุในประเทศของจีนไม่ให้ออกอากาศข่าว ยิ่งไปกว่านั้น ทางการจีนยังได้เพิ่มการรักษาความปลอดภัยในจัตุรัสเทียนอันเหมินและบ้านพักของจ้าวจื่อหยางเพื่อป้องกันมวลชนมารวมตัวกันจัดงานรำลึก 

แม้ว่าทางการจีนจะจัดพิธีฌาปนกิจให้ที่สุสานปาเป่าซาน สถานที่บรรจุอัฐิของบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์จีน แต่ท้ายที่สุด ครอบครัวของจ้าวจื่อหยางก็จำต้องนำอัฐิของเขากลับไปฝังอย่างเรียบง่ายเคียงคู่กับอัฐิของภริยา เนื่องจากรัฐบาลปฏิเสธที่จะให้ฝังอัฐิไว้ที่สุสานปาเป่าซานเฉกเช่นวีรบุรุษและผู้นำประเทศคนอื่นๆ ในอดีต

ที่มาภาพ Rob Croes for Anefo

อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ไม่อาจถูกจองจำ

ภายหลังการเสียชีวิตของจ้าวจื่อหยาง ได้มีการเผยแพร่บันทึกชีวิตจ้าวจื่อหยางระหว่างที่ถูกทางการจีนกักตัวไว้ที่บ้านพัก ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อ Prisoner of the State: The Secret Journal of Premier Zhao Ziyang ในปี 2009 โดยเทปบันทึกความทรงจำซึ่งมีความยาวประมาณ 30 ชั่วโมงถูกมอบให้แก่คนสนิทของจ้าวจื่อหยางและลักลอบนำออกจากประเทศจีน เพื่อส่งต้นฉบับไปแปลและตีพิมพ์ออกมาเป็นภาษาอังกฤษ 

จากบทสัมภาษณ์ในหนังสือ จ้าวจื่อหยางเล่าว่าเขาได้รับคำสั่งให้ไปที่บ้านของเติ้งเสี่ยวผิงในช่วงบ่ายของวันที่ 17 พฤษภาคม 1989 เมื่อไปถึง เขาพบว่าเติ้งเสี่ยวผิงรวบรวมสมาชิกหลักหลายคนของโปลิตบูโรหรือคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาที่นั่น จากเหตุการณ์ในวันนั้น เห็นได้ชัดว่าเติ้งเสี่ยวผิงตัดสินใจปฏิเสธข้อเสนอของเขาในการเจรจาและประนีประนอมกับนักศึกษา ทั้งยังต้องการประกาศกฎอัยการศึกเพื่อปราบปรามผู้ชุมนุม

“ในตอนนั้นผมบอกไปแล้วว่าประชาชนขอให้เราแก้ไขข้อบกพร่อง ไม่ใช่พยายามจะล้มล้างระบอบการปกครองของเรา” 

“ผมบอกกับตัวเองว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมขอปฏิเสธที่จะเป็นเลขาธิการพรรคที่ระดมทหารไปปราบปรามกลุ่มนักศึกษา” คำยืนยันจากจ้าวจื่อหยางในหนังสือ Prisoner of the State: The Secret Journal of Premier Zhao Ziyang

จ้าวจื่อหยางยังยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวหาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มองว่ากลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวกัน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นขบวนการต่อต้านและล้มล้างระบอบคอมมิวนิสต์ และปฏิเสธแนวทางของพรรคที่จะใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมมาโดยตลอด 

“คืนวันที่ 3 มิถุนายน ขณะนั่งอยู่ที่ลานบ้านกับครอบครัว ผมได้ยินเสียงปืนที่รุนแรงมาก”

“ความล้มเหลวของจีนในการเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยนั้นขัดกับกระแสโลก” 

“ไม่ช้าก็เร็วเราต้องไปตามเส้นทางนั้น” จ้าวจื่อหยางกล่าวชัดเจนถึงจุดยืนที่เชื่อมั่นในวิถีทางแบบประชาธิปไตย

แม้ว่าจ้าวจื่อหยางจะเคยมีบทบาทหน้าที่สำคัญในพรรคคอมนิวนิสต์จีน ทั้งยังอยู่ท่ามกลางบรรดาสมาชิกพรรคผู้ทรงอำนาจและถูกกดดันด้วยอุดมการณ์อันแข็งแกร่งของพรรค แต่เขาก็ยังคงเลือกที่จะอยู่ฝ่ายที่เคารพหลักมนุษยชนและความถูกต้อง แม้ว่าสุดท้ายการตัดสินใจนั้นจะนำมาสู่จุดพลิกผันที่ช่วงชิงอิสรภาพในชีวิตของเขาไปตลอดกาลก็ตาม

ไม่ต่างจากเหตุการณ์สังหารหมู่ผู้ชุมนุมที่เทียนอันเหมิน จ้าวจื่อหยางทำให้ทั้งโลกเห็นว่า สำหรับประเทศจีนแล้วนั้น บทลงโทษของผู้ที่กล้าเห็นต่าง คือการหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์จีนชั่วนิรันดร์ 

ปัจจุบัน ชื่อของจ้าวจื่อหยางและคลิปการปราศรัย ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินของเขายังคงเปิดให้ค้นหาและเข้าถึงได้จากทุกที่ ยกเว้นแค่ที่แผ่นดินจีน และในปีนี้ เหตุการณ์สลายการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจีนของนักศึกษา ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 กำลังจะเวียนมาบรรจบครบรอบ 33 ปี และนับเป็นปีที่ 17 แห่งการจากไปของจ้าวจื่อหยาง นักการเมืองที่ยืนอยู่เคียงข้างประชาชนจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต


อ้างอิง

Zhao Ziyang: Purged Chinese Communist reformer is buried

Ousted in Tiananmen Protests, a Late Chinese Leader Is Finally Given a Grave

Zhao Ziyang Public Speech at the Tiananmen Square Protest of 1989

China’s Zhao decries June 4 “tragedy” from the grave

Secret Memoir Offers Look Inside China’s Politics

References
1 นโยบาย 4 ความทันสมัย ได้แก่ เกษตรกรรมทันสมัย อุตสาหกรรมทันสมัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทันสมัย และการทหารสมัย เป็นนโยบายของเติ้งเสี่ยวผิงที่ต้องการจะใช้ความทันสมัยทั้ง 4 ประการมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีนให้ก้าวหน้าขึ้น

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save