fbpx

ร่วมสร้างหลักประกันแบบ ‘ไร้รอยต่อ’ สู่โลกที่ไม่มีเด็กคนใดต้องร่วงหล่นจากตาข่ายการศึกษา

การศึกษาเป็นประตูสู่โอกาสหลายอย่างในชีวิต ไม่มีใครปฏิเสธความจริงในข้อนี้ เพราะไม่ใช่การศึกษาหรอกหรือที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโลก เปลี่ยนให้เด็กคนหนึ่งได้เติบโต มีความรู้และพัฒนาทักษะ เข้าสู่ตลาดแรงงานและนำรายได้มาดูแลตนเองและครอบครัว รวมถึงกลายเป็นหนึ่งในทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าเพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศ

อย่างไรก็ดี สำหรับเด็กที่ด้อยโอกาสหรือครอบครัวมีฐานะยากจน การศึกษากลับไม่ได้เป็นประตู แต่กลายเป็นกำแพงหนาใหญ่ที่ขวางกั้นเอาไว้จนกระทั่งเด็กคนหนึ่งต้องหลุดร่วงออกจากตาข่ายการศึกษา และหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่สุดในการเรียนคือเรื่องของ ‘ค่าใช้จ่าย’

ถ้าพูดให้เห็นภาพชัดขึ้น แม้รัฐไทยจะมีนโยบายให้เด็กไทยสามารถเรียนฟรีได้ตลอดการศึกษาภาคบังคับ แต่การเรียนฟรีไม่ได้หมายความว่าค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะฟรีตาม ไม่ว่าจะเป็นค่าอุปกรณ์ ค่าเดินทาง ไปจนถึงค่าจิปาถะที่แม้อาจจะไม่สามารถระบุออกมาเป็นตัวเลขได้แน่ชัด แต่ทั้งหมดนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เด็กยากจนคนหนึ่งต้องเลิกเรียนกลางคัน

ในไทย เราเห็นความพยายามจากหลายหน่วยงานในการโอบอุ้มเด็กยากจนกลุ่มนี้เอาไว้ ทั้ง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่มอบทุนเสมอภาค (เงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข) ให้กับนักเรียนยากจนพิเศษ เพื่อไม่ให้นักเรียนกลุ่มนี้ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เมื่อนักเรียนกลุ่มนี้เข้าสู่ระดับอุดมศึกษา เพื่อช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่าย หรืออีกนัยหนึ่งคือการส่งต่อ ‘โอกาส’ ให้เด็กคนหนึ่งได้มีโอกาสศึกษาต่อจนจบระดับอุดมศึกษาดังที่ตั้งใจไว้ รวมไปถึงหน่วยงานแวดล้อมอย่างมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านอุดมศึกษาที่ร่วมกันทำงานเพื่อสร้างโลกที่ไม่มีเด็กไม่ได้เรียนเพราะความจน ทั้งทางเศรษฐฐานะและจนโอกาส

101 ชวนอ่านแนวทางความร่วมมือเพื่อสร้างหลักประกันทางการศึกษาที่ทั้ง ‘มั่นคง’ และ ‘ไร้รอยต่อ’ เพื่อให้นักเรียนยากจนสามารถก้าวข้ามผ่านช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไม่ให้ต้องเจอปัญหา ‘สอบติดแต่ไม่มีเงินเรียน’ จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ กสศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โลกที่นักเรียน โดยเฉพาะผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่าคนอื่น มีหลักประกันว่าตนเองจะได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาอย่างมั่นคงและราบรื่นจะเป็นอย่างไร ชวนหาคำตอบได้ในบรรทัดถัดจากนี้

หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจาก เวทีความร่วมมือ “สู่เส้นทางหลักประกันการศึกษา TCAS66” กับการพัฒนาแนวทางสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

ทำงานแบบ ‘ไร้รอยต่อ’ สร้างหลักประกันจากโรงเรียนสู่มหาวิทยาลัย

“เราต่างทราบกันดีว่า การศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้ แต่ต้องไม่ใช่การพัฒนาแค่ส่วนเดียว หากต้องพัฒนาไปพร้อมกันทั้งระบบ”

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เน้นย้ำถึงความสำคัญในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา พร้อมทั้งฉายภาพให้เห็นช่องว่างสำคัญว่า แม้กลุ่มเด็กที่มีความด้อยโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้หรือการศึกษาจะอยู่ในการดูแลของ กสศ. มาตั้งแต่ระดับการเรียนในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทว่าเมื่อกลุ่มดังกล่าวจะเข้าสู่มหาวิทยาลัยแล้วก็จะหลุดออกจากตาข่ายการรองรับของ กสศ. ทันที

“ถ้าเราอยากผลักดันเด็กกลุ่มนี้ต่อไป เราต้องอาศัยมหาวิทยาลัยในการช่วยผลักดันด้วย” ศุภชัยกล่าว “นั่นหมายความว่าเราต้องทำงานแบบ ‘ไร้รอยต่อ’ ระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานและสถาบันอุดมศึกษา”

เพื่อก่อให้เกิดการทำงานแบบ ‘ไร้รอยต่อ’ อย่างแท้จริง ศุภชัยยกตัวอย่างความร่วมมือของหลากหลายหน่วยงาน ทั้ง กสศ. อว. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการหาโมเดลที่จะดูแลเด็กกลุ่มนี้ไปได้จนตลอดรอดฝั่ง

“สำหรับเด็กยากจนที่มีทรัพยากรไม่พร้อมเท่ากลุ่มอื่น การเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยถือเป็นก้าวใหญ่ที่ทำให้เด็กได้พัฒนาตนเองและดึงครอบครัวให้หลุดพ้นจากความยากจนได้”

ศุภชัยชี้ให้เห็นภาพใหญ่ว่า ความเหลื่อมล้ำในระดับอุดมศึกษาระหว่างเด็กที่มีฐานะร่ำรวยและเด็กที่มีฐานะยากจนยังเป็นโจทย์ท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข ดังเช่นข้อมูลอัตราการเข้าเรียนสุทธิจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้ว่า ในปี 2564 เด็กที่ร่ำรวยที่สุดร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดมีโอกาสเข้าเรียนปริญญาตรีถึงร้อยละ 64 ซึ่งมากกว่าเด็กที่มีฐานะยากจน (ร้อยละ 10 จากกลุ่มประชากรส่วนล่าง) ถึง 6 เท่า หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 11

“การที่เด็กอีกกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้เข้าเรียนถือเป็นการเสียโอกาสอย่างยิ่งยวด และเป็นความบกพร่องของระบบในประเทศที่จะพัฒนากำลังคน อีกทั้งเรายังเน้นย้ำเสมอว่า มหาวิทยาลัยต้องไม่เป็นพื้นที่ที่จำกัดให้แค่คนในช่วงอายุ 18-22 ปีเข้าเรียน แต่ต้องเป็นพื้นที่สำหรับทุกช่วงวัย

“เพราะฉะนั้น สัดส่วนเด็กที่ไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัยจึงถือเป็นความสูญเสียของทั้งมหาวิทยาลัยและไปถึงระดับประเทศ คำถามคือเราจะทำอย่างไรจึงจะผลักดันให้เกิดการทำงานแบบ ‘ไร้รอยต่อ’ ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา หรือพูดอีกนัยคือผลักดันหลักประกันการศึกษาจากภาคบังคับสู่ระดับอุดมศึกษา”

ในตอนท้าย ศุภชัยกล่าวถึงความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในปี 2564 มีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง อว. ทปอ. กสศ. รวมไปถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏและราชมงคล เพื่อสร้างหลักประกันการศึกษาสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในระดับอุดมศึกษา โดยมีเป้าหมายไปถึงการทำงานบูรณาการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลการส่งต่อผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับโอกาสสำหรับการศึกษาต่อ ต่อยอดไปถึงการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนมาตรการและนโยบายสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

“ผลจากความร่วมมือดังกล่าวพบว่า ในปี 2566 มีนักเรียนที่ได้รับทุนเสมอภาคและทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานจาก กสศ. ตั้งแต่ปี 2562 ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีผ่านระบบ TCAS ประมาณร้อยละ 12.46 โดยศึกษาในสาขา STEM (แนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์) ประมาณ 17,034 คน หรือร้อยละ 49 ถือเป็นกลุ่มช้างเผือกจากทุกพื้นที่ของประเทศ”

“เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถมีหลักประกันในระดับอุดมศึกษาให้กับกลุ่มทรัพยากรล้ำค่าของประเทศกลุ่มนี้ได้ จะเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนช้างเผือกเหล่านี้ และจะส่งผลต่อยอดไปถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย” ศุภชัยทิ้งท้าย

ขณะที่ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เริ่มต้นด้วยคำถามนำที่น่าสนใจว่า “ทำไมเราต้องสนใจเรื่องความเสมอภาคหรือการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว กฤษณพงศ์ชี้ให้เห็นว่า แม้ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ประเทศไทยจะมีการพัฒนาค่อนข้างดีในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ หรือในด้านสังคม เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล แต่ปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไขไม่ได้คือ ช่องว่างระหว่างคนที่ ‘มี’ กับ ‘ไม่มี’ โอกาส หรือที่เรียกว่า ‘ช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำ’

“แม้หลายคนจะคิดแก้ปัญหาช่องว่างตรงนี้ด้วยการแจกเงิน แต่ความเหลื่อมล้ำเป็นอะไรที่มากกว่าเศรษฐฐานะ แต่คือการเข้าไม่ถึงข้อมูลหรือการมีปัญหาส่วนตัวทำให้ไม่สามารถเข้าระบบปกติได้ ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงการลดความเหลื่อมล้ำ จึงมีการพูดถึงมิติการศึกษาเป็นหลัก”

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น กฤษณพงษ์ชี้ว่า ถ้าพลเมืองของแต่ละประเทศได้รับการศึกษาจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นอย่างต่ำในภาพรวม ดัชนีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของประเทศจะค่อนข้างดี แต่แม้ประเทศไทยจะมีการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีพร้อมกับมีระบบสนับสนุน ทว่าคนไทยวัยแรงงานกลับได้รับการศึกษาเฉลี่ย 8.7 ปีเท่านั้น

“ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนที่อายุในช่วง 40-60 ปี ไม่สามารถเรียนหนังสือได้ เพราะถึงแม้เราจะบอกว่าเรียนฟรี แต่การเข้าถึงของฟรีไม่ได้ฟรีจริงๆ อย่างที่ว่า สมมติเด็กต้องเดินทางจากหมู่บ้านไปโรงเรียนที่ห่างออกไปก็มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เดือนหนึ่งก็เป็นหลักร้อยบาท และเป็นเงินที่คนจำนวนหนึ่งไม่สามารถจ่ายได้

“นี่ยังไม่นับอุปกรณ์การศึกษาทั้งหลาย แล้วยังมีชุดกีฬา ชุดลูกเสือ ปีหนึ่งคิดเป็นเงินหลายพันบาท ก็เป็นภาระที่เพิ่มไปกับครอบครัวที่มีฐานะยากจนอีก”

อีกประเด็นน่าสนใจคือเรื่องอาหารกลางวัน กฤษณพงศ์ชี้ให้เห็นความจริงที่น่าตกใจว่า เด็กหลายคนต้องรับประทานอาหารมื้อเดียวต่อวัน และมื้อที่ว่านั้นคืออาหารกลางวันฟรีที่โรงเรียนจัดให้ เด็กบางคนต้องพาน้องมาเรียนและรับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียนด้วยเพราะไม่มีใครที่บ้านดูแลและไม่มีข้าวให้กิน

“ปัจจุบัน กสศ. ช่วยเหลือเด็กจำนวนหนึ่งมาประมาณ 4 ปีแล้ว ส่วนเด็กที่เรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษาหรืออุดมศึกษาก็ได้รับการสนับสนุนต่อจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) รวมถึงได้รับการสนับสนุนทุนจากมหาวิทยาลัยทั้งทุนจ้างงานหรือทุนทำงาน นอกจากนี้ กสศ. ยังเริ่มการทำงานแบบไร้รอยต่อด้วยการทำงานร่วมกับสำนักงานปลัด อว. และเริ่มคุยกับ กยศ. ด้วย”

แม้ปัจจุบันมีระบบความช่วยเหลือที่ครอบคลุมและเริ่มเชื่อมโยงกันในแต่ละช่วงชั้น ทว่ากฤษณพงศ์ชี้ให้เห็นว่า ยังมีจุดอ่อนของข้อต่อการศึกษาอยู่ที่การศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในสองลักษณะ

ลักษณะแรก นักเรียนยังไม่ค่อยรู้เรื่องการประกอบอาชีพเพราะครูไม่รู้เรื่องอาชีพ กฤษณพงศ์ขยายความว่า คุณครูอาจจะรู้เรื่องหลักสูตร แต่การรู้เรื่องหลักสูตรเป็นคนละเรื่องกับการประกอบอาชีพ เรื่องนี้ผูกโยงไปถึงคุณภาพการศึกษาเพราะบัณฑิตที่แม้จะจบจากคณะเดียวกัน แต่คนละสถาบัน การเปิดรับของตลาดแรงงานก็ต่างกันไปด้วย

“คุณครูต้องปรับเรื่องความเข้าใจตลาดแรงงาน แต่ต้องมีความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัย กยศ. และคุณครู ให้รู้ว่าอนาคตคืออะไรและจะเป็นยังไง เพราะเด็กไทยมีจุดอ่อนตรงที่ไม่รู้ว่าอนาคตคืออะไร ถ้าเป็นเด็กในเมืองที่มีฐานะดีก็เรียนตามพ่อ แม่ เพื่อน หรือไปหาอ่านเอาตามสื่อสังคม ซึ่งนั่นไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงเสมอไป แต่สะท้อนให้เห็นการขาดแคลนข้อมูล”

และลักษณะอีกประการคือเด็กเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยน้อยลง โดยกฤษณพงศ์ยกตัวอย่างว่า เด็กที่ได้ทุนเสมอภาคจาก กสศ. ตอนมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น

“ถ้าเป็นเช่นนี้ เราจะรับมือกับโลกข้างหน้าที่การแข่งขันจะมาจากกำลังแรงงานอย่างไร ในช่วงที่แรงงานของประเทศไทยกำลังลดลง คนเกิดน้อยลง ถ้าเราไม่ทำให้แรงงานมีคุณภาพสูง มีการศึกษาที่ดี เราจะไม่สามารถแข่งขันกับใครได้”

กฤษณพงศ์ชี้ว่า การเข้าศึกษาต่อในระดับอาชีวศึกษาหรืออุดมศึกษาต้องเป็นการเข้าศึกษาที่มีคุณภาพ ทว่าปัจจุบันยังพบปัญหาเรื่องความเข้าใจในการประกอบอาชีพ รวมไปถึงค่านิยมเดิมๆ ที่ยังยึดติดกับการได้รับปริญญาหรือประกอบอาชีพเป็นข้าราชการ ทว่าตลาดแรงงานอยู่ในทิศทางที่เป็นตลาดแรงงานของภาคเอกชนมาแล้วสิบกว่าปี มีการลงทุนทั้งทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น ผู้กำหนดทิศทางตลาดแรงงานของภาคเอกชนไม่ใช่ภาครัฐ และตลาดแรงงานไม่ได้ต้องการแค่คนมีใบปริญญา แต่ต้องการคนทำงานได้และฝึกได้

เมื่อขยับต่อไปถึงเด็กร้อยละ 12 ที่อยู่ในมหาวิทยาลัย กฤษณพงศ์ชี้ว่า เมื่อลงลึกในรายละเอียดแล้วพบว่า หลายคนต้องประสบปัญหาค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอแม้จะกู้ กยศ. แล้วก็ตาม ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าขบคิดกันต่อไปว่าจะมีระบบอย่างไรเพื่อรองรับเด็กเหล่านี้

“ผมว่าเราน่าจะเปลี่ยนค่านิยมมามองว่า เราต้องช่วยคนที่มีปัญหาในสังคม เพราะถ้าเราช่วยให้เขามีคุณภาพการศึกษาที่ดีได้แล้ว เขาจะออกไปเป็นแรงงานที่มีคุณภาพและช่วยพวกเราได้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในทุกที่”

ในตอนท้าย กฤษณพงศ์ฉายภาพว่า การเข้ามหาวิทยาลัยในปัจจุบันที่เป็นระบบ TCAS มีการแบ่งเป็นรอบต่างๆ จึงควรมีการสำรวจว่า เด็กคนใดต้องการความช่วยเหลือในรอบไหนหรือไม่ เพื่อลดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน ทำให้เด็กที่มีเศรษฐฐานะน้อยกว่าเข้าใจในระบบได้

“นี่เป็นเรื่องความเอื้ออาทรและความเอาใจใส่ของคนที่อยู่ในประเทศเดียวกัน เราต้องการให้คนไทยทุกคนสามารถทำงานในสังคมได้ ทั้งเพื่อตัวเขาเอง ให้เขาไปช่วยเหลือครอบครัวและเป็นกำลังแรงงานในภาคเศรษฐกิจต่อไป” กฤษณพงศ์กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา

ร่วมสร้างประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

1. สร้างโอกาสหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการประสานจากทุกภาคส่วน

ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ชี้ให้เห็นภาพรวมของทิศทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาว่า ตอนนี้คนไทยกำลังช่วยขับเคลื่อนไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากภาคเศรษฐกิจ รวมถึงสังคมและพื้นที่

“เราจะเห็นว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่เป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีมาตรการพัฒนาเชิงพื้นที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้เห็นว่าอุดมศึกษามีศักยภาพในการเป็นกำลังสำคัญให้ประเทศด้วย ทั้งนี้ เรามีนักศึกษาอยู่ในระดับหลักล้าน ดังนั้นการพัฒนากำลังคนเป็นอีกเรื่องสำคัญ”

พูลศักดิ์ขยายความต่อให้เห็นภาพว่า ช่วงโรคระบาดที่ผ่านมาประกอบกับการที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้เห็นว่าเรื่องสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญมาก จึงอาจจะมีการมองไปยังการจ้างงานผู้ด้อยโอกาสมาทำงานในส่วนที่ขาดแคลน รวมไปถึงสาขาอื่นๆ ที่ขาดแคลนคนแต่อาจเป็นสาขาที่คนคาดไม่ถึงอย่างศิลปศาสตร์และสื่อ รวมไปถึงสาขาด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับกับวิกฤตการณ์ด้านสภาพอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

“ในภาพรวม เกือบทุกสาขาอาชีพของไทยกำลังเจอปัญหาเรื่องแรงงาน เราต้องมาคิดแล้วว่าจะช่วยให้คนเข้าสู่การจ้างงานมากขึ้นได้ยังไง อย่างเช่นถ้าเรารู้ว่าคนด้อยโอกาสไม่สามารถเข้าสู่ระบบหรือเข้าแล้วไปไม่ถึงการจ้างงานเพราะไม่รู้ว่าต้องประกอบอาชีพอะไรเนื่องจากไม่มีคนแนะนำ เราก็ต้องเร่งทำตรงนี้เพิ่มเติมด้วย”

ถ้าขยับมาดูในระดับอุดมศึกษา ภาพที่เห็นกันจนชินตาคือหลายคนต้อง ‘ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย’ ซึ่งพูลศักดิ์ชี้ว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่ส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษาเพื่อให้ตอบรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงนำไปสู่การส่งเสริมการเรียนไปด้วยและการทำงานไปด้วย เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและภาคการศึกษา อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและได้คนที่ต้องการในตลาดแรงงาน

“เราจะเห็นนโยบายน่าสนใจมากมาย เช่น การเรียนรู้แบบบูรณาการกับการทำงาน (work-integrated learning) หรือการเพิ่มทักษะทั้งหลายแหล่ ใช้องค์ความรู้จากภาคเอกชนมาประยุกต์ในระบบการศึกษา หรือระบบการหาคนแบบเร่งด่วนพร้อมทั้งมีระบบเมนเทอร์ที่ติดตามและให้ความรู้เพื่อให้เขาอยู่ในระบบงานได้”

อีกหนึ่งรูปแบบที่น่าสนใจคือนวัตกรรมการศึกษาหรือแซนด์บ็อก (sandbox) เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดในอดีต รวมไปถึงการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทำให้ระบบอุดมศึกษาสามารถรองรับไปถึงคนวัยทำงานหรือแม้กระทั่งผู้สูงอายุ โดยพูลศักดิ์ยกตัวอย่างนโยบาย เช่น เครดิตแบงก์ การเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบการ หรือการปรับประสบการณ์การทำงานมาสู่ระบบเครดิต

“ผมมองว่าอนาคตเราต้องทำงานแบบแพลตฟอร์มที่มีหลายหน่วยงานมาร่วมมือกัน โดยตั้งเป้าหมายไว้สามส่วน ส่วนแรกคือการเข้าถึงการศึกษา (learning access) ซึ่งปัจจุบันนับว่าประสบความสำเร็จพอสมควรหากดูจากข้อมูลในระบบ TCAS และอาจพัฒนาให้มีข้อมูลเรื่องการจ้างงานหรือการทำงานพาร์ตไทม์ระหว่างเรียนของแต่ละมหาวิทยาลัยต่อไป”

ส่วนที่สองคือ ผลลัพธ์การศึกษา (learning outcome) พอเรียนแล้วประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ซึ่งก็ต้องมีกระบวนการหลายรูปแบบ คำถามคือเป็นไปได้ไหมที่เราจะขยายฐานสนับสนุนเด็กด้อยโอกาส อาจจะเป็น กสศ. ช่วยช่วงต้น และตามมาด้วยการสนับสนุนจากภาคเอกชน ช่วยให้เด็กมีงานทำระหว่างเรียน และทำให้ระบบการงานกับการเรียนไปด้วยกัน”

“และส่วนสุดท้าย คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (system change) ให้สร้างระบบเชื่อมโยงกัน อาทิ การเชื่อมโยงข้อมูล การสนับสนุนมาตรการสิทธิภาษีให้ภาคเอกชน มีระบบแลกเปลี่ยนเครดิตการเรียน เพิ่มจำนวนสาขาที่จำเป็นต้องขยาย และที่สำคัญคือทำให้การสนับสนุนเด็กเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม โดยอาจจะผ่านระบบอาสาสมัคร ดึงเขาเข้ามาช่วยสร้างสรรค์สังคมด้วย” พูลศักดิ์ทิ้งท้าย


2. สร้างหลักประกันทางการศึกษา ส่งต่อจากรั้วโรงเรียนสู่มหาวิทยาลัย

สำหรับหน่วยงานที่มีบทบาทในการโอบอุ้มนักเรียนยากจนไม่ให้ร่วงหลุดจากตาข่ายการศึกษามายาวนานอย่าง กสศ. ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. อธิบายว่า ในการช่วยเหลือเด็กแต่ละคน กสศ. จะใช้คำว่าการให้ ‘หลักประกัน’ เพื่อเอื้อให้เด็กแต่ละคนกล้าก้าวข้ามผ่าน ‘ช่องว่าง’ ระหว่างการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา

“หากไม่มีหลักประกันตรงนี้ เด็กคงไม่กล้าที่จะก้าวข้ามผ่านช่องว่างที่ว่ามา เพราะไม่มีหลักประกันใดๆ เลยที่จะช่วยการันตีว่าเขาจะมีเงินเรียนต่อได้ สามารถอยู่ในระบบอุดมศึกษาได้โดยไม่ต้องรีไทร์ หรือจะมีงานทำเพียงพอที่จะดำรงชีพหรือแม้แต่แก้ปัญหาความยากจนของครอบครัวได้”

“ทั้งหมดนี้ทำให้เด็กตัดสินใจตั้งแต่ช่วงมัธยมต้นแล้วว่าเขาจะไม่ไปต่อถ้าไม่มีหลักประกัน”

ไกรยสฉายภาพความพยายามว่า ตอนนี้ กสศ. พยายามนำข้อมูลที่มีมาเชื่อมโยงกันเพื่อให้เห็นกลุ่มเป้าหมาย สร้างการทำงานแบบไร้รอยต่อ โดยสร้างหลักประกันที่เริ่มต้นตั้งแต่การเปลี่ยนความคิดของเด็กและครอบครัวให้กล้าที่จะก้าวออกมาจากชุมชน ครอบครัว สู่รั้วอุดมศึกษา

ทั้งนี้ หากจะทำให้การทำงานแบบไร้รอยต่อเกิดขึ้นได้ ‘ข้อมูล’ เป็นเรื่องสำคัญมาก ไกรยสยกตัวอย่างว่า เมื่อเราเห็นข้อมูลแล้วว่าเด็กที่ยืนยันสิทธิในระบบ TCAS เรียนสาขาใด กสศ. จะแบ่งปันข้อมูลดังกล่าวให้ กยศ. ซึ่งอาจนำไปสู่การสนับสนุนลดเงินต้นหรือการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ แก่เด็กที่เลือกเรียนในบางสาขา หรือการมีระบบอาสาสมัครให้เด็กกลับไปแนะแนวที่โรงเรียน เพิ่มโอกาสให้รุ่นน้องและสร้างเครือข่ายต่อไป

“ตรงนี้จะช่วยให้ทาง กสศ. มีข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้นในอนาคต และอาจขยายฐานข้อมูลออกไปครอบคลุมด้านอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ สุขภาพ เพื่อสร้างการให้โอกาสเด็กมากขึ้นในอนาคต”

นอกจากนี้ ไกรยสเปิดสถิติข้อมูลล่าสุดในปี 2566 จากระบบ TCAS ที่จับคู่กับข้อมูลเด็กที่เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่ได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. (หรือเงินอุดหนุน) ในปี 2562 ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 21,922 คน ที่ผ่านการคัดเลือกและยืนยันสิทธิในระบบ TCAS (เพิ่มขึ้นจากจำนวน 2,018 คนในปีก่อนหน้า)

“พูดง่ายๆ คือเรามีลูกค้ามากขึ้น คำถามคือเราจะทำอย่างไรให้เขามั่นใจและมีหลักประกันในการเรียนต่อ” ไกรยสทิ้งท้าย พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า “อย่าลืมนะครับว่าตอนนี้เราเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น เราจะปล่อยให้เด็กคนใดหลุดออกจากระบบการศึกษาไม่ได้เลยแม้แต่คนเดียว”


3. สร้างเครือข่าย-พัฒนาแพลตฟอร์ม สู่การโอบอุ้มนักเรียนจน (โอกาส)

แม้ตัวเลขการเข้าเรียนในระบบ TCAS จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าอย่างก้าวกระโดด รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบ TCAS ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ขยายความว่า เด็กจากกองทุน กสศ. ที่ผ่านเข้าสู่ระบบ TCAS และยืนยันสิทธิมีเพียงร้อยละ 10-12 เท่านั้น

“นี่แสดงว่าเรายังทำงานหนักไม่พอที่จะทำให้คนเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาได้มากกว่านี้” ชาลีกล่าว “และถึงตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอย่างไร ก็เป็นเพราะฐานจำนวนนักเรียนในกองทุนเพิ่มขึ้นเท่านั้น เราจึงอาจจะต้องพิจารณาสัดส่วนมากกว่า”

ชาลีเล่าถึงการตอบกลับ (feedback) จากเหล่านักเรียนว่า ประเด็นสำคัญที่นักเรียนกังวลคือเรื่องของค่าใช้จ่าย ที่ยังไม่แน่ใจว่าตนเองจะมีหลักประกันอะไรให้สามารถเรียนจนจบหลักสูตรการศึกษาได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายในการสมัครและการสอบที่ยังเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง

“ตอนที่ยังใช้ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบแอดมิชชัน (admission) หลายคนคงพอจำได้ว่า นักเรียนสามารถสมัครได้หลายที่ วิ่งรอกสอบโดยไม่จำกัด และยังยืนยันสิทธิได้ในมหาวิทยาลัยพร้อมกัน เวลาเดียวกัน แปลว่าคนที่มีฐานะดีกว่าสามารถยืนยันได้หลายสิทธิกว่า ตรงนี้ทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำขึ้น”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาลีชี้ว่าระบบ TCAS จึงถูกพัฒนาขึ้นมาจัดการกับปัญหาดังกล่าว โดยไม่ให้นักเรียนต้องวิ่งรอกสอบ และทุกมหาวิทยาลัยพร้อมใจไม่เปิดสมัครสอบตรงก่อนหน้านักเรียนจะจบการศึกษา เมื่อเป็นเช่นนี้ การวิ่งรอกสอบจะไม่เกิดขึ้น และนักเรียนจะสามารถยืนยันสิทธิได้ที่เดียวต่อรอบเพื่อไม่ให้เป็นการกันสิทธินักเรียนคนอื่น นอกจากนี้ การที่นักเรียนจะเริ่มสอบหลังจากที่จบการศึกษาแล้ว จะช่วยลดการเรียนพิเศษเพื่อสอบด้วย

เพื่อให้เห็นภาพ ชาลีอธิบายว่า มาตรการแรกๆ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มยากจนคือ การลดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ชัดที่สุด ดังเช่นการสมัครคัดเลือกรอบที่ 3 (central admission) ที่ทุกมหาวิทยาลัยจะเปิดรับพร้อมกัน ทำให้ถ้านักเรียนสมัครเยอะก็ยิ่งเสียค่าใช้จ่ายเยอะ จึงอาจจะมีหลักประกันให้นักเรียน โดยเฉพาะจาก กสศ. ว่าพวกเขาสามารถสมัครเข้ามหาวิทยาลัยได้โดยสามารถยกเว้นค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 1-2 ลำดับ และจ่ายเงินเพิ่มเฉพาะส่วนต่าง

“อนาคต เราอาจจะมีกระบวนการลดค่าสมัครสอบ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกมหาวิทยาลัยในระบบเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้นักเรียนกลุ่มนี้”

ชาลียังชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่นักเรียนต้องการในการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา หากไม่ได้เงินของ กยศ. ก็คือการได้ทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยหรือได้งานทำระหว่างเรียน ต้องอาศัยการสนับสนุนจากทุกมหาวิทยาลัยในเครือข่าย โดย ทปอ. พยายามช่วยเหลือทุกมหาวิทยาลัยในการสร้างแพลตฟอร์มการทำงาน ที่ไม่ได้มาพร้อมแค่เรื่องรายได้ แต่ยังช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์และความรับผิดชอบ อีกทั้งยังได้เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตร่วมกันผู้อื่นอย่างมีคุณค่า

หนึ่งในประเด็นน่าสนใจของชาลีคือ สถิติของนักเรียนที่เลือกซิ่ว (สอบใหม่หลังจากที่เรียนมหาวิทยาลัยไปแล้ว) มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12 ไปถึงร้อยละ 20 ในปีปัจจุบัน เท่ากับว่า 1 ใน 5 ของคนทื่ยืนยันสิทธิในระบบ TCAS เป็นคนที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยอยู่ก่อนแล้ว ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งกำลังคน ทรัพยากรในการเทรน รวมถึงเวลา

“ถ้าเราลดตรงนี้ได้แปลว่าเราสูญเสียลดลง ซึ่งเรามีระบบที่จะช่วยพัฒนากำลังคนของประเทศเพื่อช่วยให้คนที่อยู่ในสาขาที่เป็นที่ต้องการเข้ามาอยู่ในระบบนี้ การมีระบบอินเทอร์แอกทีฟ (interactive) รายบุคคลจะทำให้นักเรียนสามารถประเมินตนเองได้ก่อนที่จะได้รับคำแนะนำสาขาที่เขาควรเรียน ซึ่งเราหวังว่า ทุกมหาวิทยาลัยจะร่วมพัฒนาระบบนี้ไปพร้อมกับ ทปอ.”

ในตอนท้าย ชาลีชี้ว่า หนึ่งในงานสำคัญที่มหาวิทยาลัยร่วมมือกันทำคือ การสร้างเครือข่ายอาสาสมัคร (volunteer network) เป็นระบบแพลตฟอร์มการทำงานของนักเรียนนักศึกษา ขณะเดียวกัน เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น กิจการนักศึกษาก็มีหน้าที่ต้องคอยดูแลและเจาะจงไปที่กลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนยากจนมากขึ้น

“การรายงานข้อมูลกลับมาก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน โดยเราจะเร่งติดตามให้ทุกมหาวิทยาลัยรายงานข้อมูลกลับมาเพื่อส่งกลับไปให้ กสศ. ใช้ประโยชน์ต่อไป และพัฒนาให้ทุกมหาวิทยาลัยมีเครือข่ายร่วมกันในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วย” ชาลีทิ้งท้าย


4. สร้างโอกาสด้วยเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา สู่การสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อพัฒนาประเทศ

ถ้า กสศ. คือผู้โอบอุ้มไม่ให้ ‘นักเรียน’ คนใดต้องร่วงหล่นจากตาข่ายการศึกษา กยศ. ก็คือหน่วยงานที่รับไม้ต่อและรองรับไม่ให้นิสิตนักศึกษาคนใดต้องหลุดออกจากระบบอุดมศึกษากลางคัน

“กยศ. เกิดขึ้นจากคำว่าโอกาส” ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. กล่าว “เราก่อตั้งองค์กรตั้งแต่ปี 2539 โดยมุ่งเป็นหลักประกันให้ทุกครอบครัวว่า เด็กทุกคนที่เกิดขึ้นมาในประเทศนี้จะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้ทุกคน ยิ่งจนเรายิ่งให้กู้”

ชัยณรงค์อธิบายเพิ่มว่า การให้กู้ของ กยศ. จะมีหลักๆ สี่แบบ แบบแรกคือเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 360,000 บาท ถ้าเข้าเกณฑ์ตามนี้แล้ว ไม่ว่าใครก็สามารถกู้ได้โดยไม่จำกัดสิทธิและไม่มีโควตา

แบบที่สอง คือ ถ้าครอบครัวมีรายได้เกินเกณฑ์ที่กำหนด แต่เด็กเลือกเรียนในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักของประเทศ อาทิ แพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ หรือวิศวกรรมศาสตร์ ก็สามารถกู้ยืมเงินได้เช่นกัน คล้ายคลึงกับ แบบที่สาม ทว่าเป็นเงื่อนไขสำหรับเด็กที่เลือกเรียนในสาขาวิชาที่ขาดแคลน อาทิ โบราณคดี ดนตรีไทย หรือดุริยางคศิลป์ ที่นอกจากจะให้กู้แล้วยังมีแนวโน้มจะให้ทุนอีกด้วย

และแบบสุดท้าย คือการกู้เพื่อนำไปเพิ่มพูนทักษะ (upskill) หรือทบทวนทักษะ (reskill) ของตนเอง เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการศึกษาที่เปลี่ยนไป โดยมีการให้กู้แบบหลักสูตรระยะสั้น คือไม่เกิน 6 เดือน ถึง 1 ปี อาทิ การกู้เพื่อเรียนหลักสูตรบริบาล เพื่อทำให้การเข้าถึงการศึกษาไร้ขีดจำกัดมากขึ้น

“ตอนนี้ กยศ. พร้อมแล้ว เด็กที่เข้าเรียนระดับอุดมศึกษาแค่ยื่นมาก็ได้ โดยเฉพาะเด็ก กสศ. ที่ยากจน ซึ่งเราจะไม่ให้ตกหล่นแน่นอน

“แต่น่าแปลกใจที่พ่อแม่หลายคนยังไม่อยากให้ลูกกู้เพราะกลัวเป็นหนี้ และกลับไปกู้เงินนอกระบบมาให้ลูกเรียนแทน อันนี้อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนนะครับ เพราะการเป็นหนี้ไม่ได้ไม่ดีเสมอไป เพราะเราเป็นหนี้เพื่อการศึกษา เป็นหนี้เพื่อสร้างทุนมนุษย์ และเมื่อมีทุนมนุษย์แล้วเราก็จะสามารถนำทุนตรงนี้ไปชำระเงินได้” ชัยณรงค์ปิดท้าย


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save