fbpx

EIA EHIA! เสือกระดาษแห่งวงการสิ่งแวดล้อมไทย

เมื่อทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและมนุษย์ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีความพยายามหาหนทางเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนสุดท้ายเกิดเป็น การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment – EIA) และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment – EHIA) เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงผลกระทบต่อมนุษย์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แม้ว่าประเทศไทยจะเริ่มนำเข้าแนวคิดเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 1975 หรือเพียง 3 ปี หลังจากการประชุมสิ่งแวดล้อมมนุษย์ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ที่เป็นหมุดหมายสำคัญในเรื่องนี้ แต่การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยกลับยังมีปัญหาหลายจุดที่รอการแก้ไข

101 PUB ชวนทุกท่านร่วมสำรวจปัญหาของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ทั้งช่องโหว่ของเกณฑ์โครงการที่ต้องประเมิน ระบบอภิบาลที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน จนถึงการตรวจสอบที่ยังขาดประสิทธิภาพ ทำให้รายงานประเมินผลกระทบเป็นผลงานแบบขอไปที และร่วมหาแนวทางปรับปรุงให้การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมีความหมายอย่างแท้จริง

EIA แนวทางป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ ‘อาจ’ เกิดขึ้น

การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นการศึกษาและประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมล่วงหน้าจากการดำเนินโครงการใดโครงการหนึ่ง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด สิ่งแวดล้อมที่ต้องประเมินในที่นี้ไม่ได้หมายความเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงสุขภาพอนามัยของมนุษย์ที่อาจได้รับผลกระทบด้วย

การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ เริ่มขยายตัวไปทั่วโลกจาการประชุมสิ่งแวดล้อมมนุษย์ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในปี 1972 โดยใช้แนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกาตาม The National Environmental Policy Act of 1969 (NEPA) มาเป็นแนวทางหลักในการพิจารณา[1] ประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลจากการประชุมดังกล่าว นโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 (1974) วางหลักให้รัฐต้องรักษาสมดุลของสภาพแวดล้อมและความงามทางธรรมชาติ[2] ในปีถัดมาได้ออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2518 (1975) และวางหลักการในเรื่องการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้กว้างๆ โดยให้อำนาจแก่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสั่งให้หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนต้องทำรายงานผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อม[3] ต่อมา ใน พ.ศ. 2521 (1978) ได้มีการกำหนดขนาดและประเภทของโครงการที่ต้องมีการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ[4] และยังใช้หลักการกำหนดขนาดเช่นนี้มาจนถึงปัจจุบัน

ตัวอย่างการกำหนดขนาดและประเภทของโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาทิ โรงแรมหรืออาคารที่อยู่อาศัย ที่มีห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป หรือมีพื้นที่รวม 4,000 ตารางเมตรขึ้นไป โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลขนาด 60 เตียงขึ้นไป นิคมอุตสาหกรรมทุกขนาด โรงงานเหล้าที่ผลิตเหล้าตั้งแต่ 28 ดีกรีขึ้นไป โดยมีกำลังการผลิต 4,000 ลิตร/เดือน ขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีท่าเทียบเรือที่รองรับเรือขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอสขึ้นไป หรือความยาวหน้าท่า 100 เมตรขึ้นไป หรือพื้นที่ท่าเทียบเรือ 1,000 เมตร ขึ้นไป เป็นต้น[5]

ในบางโครงการที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นจนอาจส่งผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนก็มีการกำหนดให้ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ด้วย เช่น ท่าเทียบเรือที่มีความยาวหน้าท่าที่เรือเข้าเทียบได้ตั้งแต่ 300 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือรวม 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือเขื่อนกักเก็บน้ำที่มีปริมาตรกักเก็บน้ำตั้งแต่ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไปหรือมีพื้นที่กักเก็บน้ำตั้งแต่ 15 ตารางกิโลเมตรขึ้นไป[6]

การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นมีอยู่ด้วยกัน 6 ขั้นตอน[7] คือ

  1. การกลั่นกรองโครงการ (screening)
  2. การกำหนดขอบเขตการศึกษา (scoping)
  3. การประเมินผลกระทบและการจัดทำรายงาน (impact assessment, EIA report)
  4. การพิจารณารายงาน (reviewing)
  5. การตัดสินใจ (decision making)
  6. การติดตามประเมินผล (monitoring and evaluation)

ในขั้นแรก การกลั่นกรองโครงการในประเทศไทยใช้วิธีการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดขนาดและประเภทของโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อเจ้าของโครงการต้องการดำเนินโครงการใดๆ ที่มีขนาดและประเภทตามที่มีประกาศกระทรวงกำหนดไว้ ก็ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยอัตโนมัติ ภายใต้ขอบเขตของการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรับฟังความเห็นในครั้งแรกก่อนที่จะเริ่มการประเมินผลกระทบ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่รับรู้และรับทราบถึงโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น และดำเนินการทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป

เมื่อจัดทำรายงานดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือขั้นตอนการตรวจสอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ โดยในขั้นนี้ เจ้าของโครงการจะต้องยื่นเข้าสู่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสารเสียก่อน จากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนของการพิจารณาเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการต่อไป

การลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการนั้น ไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ชัดเจนในกฎหมายไทย กำหนดไว้แต่เพียงแนวทางให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการเท่านั้น โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการไม่ได้พิจารณาเพียงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเมื่อต้องดำเนินโครงการเท่านั้น แต่ยังมีแนวทางการพิจารณาในด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย โดยนำรายละเอียดของแต่ละโครงการ อาทิ พื้นที่ตั้งและลักษณะโครงการ กระบวนการผลิตเมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จ การจัดการมลพิษและการบำบัดของเสีย รวมถึงระบบสาธารณูปโภคและการรับผิดชอบต่อพื้นที่ชุมชนรอบข้างที่อยู่มาแต่เดิมมาพิจารณาด้วย[8]

เมื่อรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (รวมถึงความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีในกรณีที่เป็นโครงการของหน่วยงานภาครัฐ) รายงานฉบับดังกล่าวก็จะถูกส่งไปเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาอนุมัติให้ก่อสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นต่อไป เช่น ในกรณีของโรงงานต้องได้รับอนุญาตจากปลัดกระทรวงแรงงานหรือบุคคลที่ปลัดกระทรวงแรงงานแต่งตั้ง[9] หรือในกรณีของการก่อสร้างท่าเทียบเรือที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมเจ้าท่าเสียก่อน[10]

ในทางกลับกัน หากรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ เจ้าของโครงการก็จะไม่สามารถไปสู่ขั้นตอนขออนุมัติก่อสร้างหรือดำเนินโครงการได้

กำหนดขนาดโครงการตายตัว เกิดการ ‘ซอย’ โครงการ สุดท้ายไม่ต้องทำ EIA

การกำหนดขนาดและประเภทของโครงการที่ต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างตายตัว ทำให้เกิดช่องว่างในการหลบเลี่ยงการทำ EIA กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนอันหนึ่งคือกรณีท่าเทียบเรือบ้านโพธิ์ ของบริษัท อีสเทิร์น ที พี เค แค็ปปิตอล จำกัด ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการสร้างขนาดท่าเรือให้เล็กกว่าที่ประกาศกระทรวงกำหนดไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ท่าเทียบเรือที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม คือท่าเทียบเรือที่มีที่รองรับเรือขนาด 500 ตันกรอสขึ้นไปหรือมีความยาวหน้าท่าตั้งแต่ 100 เมตร หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป[11] แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโครงการท่าเทียบเรือดังกล่าว ได้ก่อสร้างท่าเทียบเรือทั้งหมด 6 ท่า โดยมีขนาดดังนี้

  • ท่าเทียบเรือ A มีความยาวหน้าท่า 81 เมตร พื้นที่ท่าเทียบเรือ 995 ตารางเมตร
  • ท่าเทียบเรือ B มีความยาวหน้าท่า 66.6 เมตร พื้นที่ท่าเทียบเรือ 831 ตารางเมตร
  • ท่าเทียบเรือ C มีความยาวหน้าท่า 81 เมตร พื้นที่ท่าเทียบเรือ 995 ตารางเมตร
  • ท่าเทียบเรือ D มีความยาวหน้าท่า 81 เมตร พื้นที่ท่าเทียบเรือ 995 ตารางเมตร
  • ท่าเทียบเรือ E มีความยาวหน้าท่า 66.6 เมตร พื้นที่ท่าเทียบเรือ 831 ตารางเมตร
  • ท่าเทียบเรือ F มีความยาวหน้าท่า 81 เมตร พื้นที่ท่าเทียบเรือ 995 ตารางเมตร

นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่าท่าเทียบเรือทั้ง 6 ท่า ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันเพื่อประกอบกิจการในเจ้าของเดียวกันดังภาพ

ที่มาภาพ: EnLAW

ต่อมามีการฟ้องเป็นคดีไปยังศาลปกครอง โดยผู้ฟ้องคดีคือ นายสมบัติ รัตนโยธิน กับพวกอีก 16 คน ร้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาว่าการที่ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6  และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสนามจันทร์อนุญาตให้มีการก่อสร้างท่าเทียบเรือทั้ง 6 ท่าโดยที่ไม่ต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

ศาลปกครองตีความว่าท่าเรือทั้ง 6 ท่าไม่ได้อยู่ต่อเนื่องกัน จึงต้องพิจารณาแยกเป็นรายท่า การที่ท่าเรือดังกล่าวไม่ต้องทำ EIA นั้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว[12] หากอาศัยการตีความเช่นนี้ของศาล นั่นย่อมหมายความว่าแม้ท่าเรือที่เป็นปัญหาจะมีเจ้าของคนเดียวกัน อยู่ในบริเวณเดียวกันเพื่อประกอบกิจการในลักษณะที่เป็นกิจการเดียวกัน แต่เมื่อสร้างแยกจากกันแล้ว และท่าเรือแต่ละท่ามีขนาดน้อยกว่าที่ประกาศกระทรวงกำหนด ก็ไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว

โครงการขนาดใหญ่อีกจำนวนมากยังอาศัยช่องว่างในการตีความเช่นนี้ในการก่อสร้างหรือดำเนินโครงการโดยไม่ต้องผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ อำนาจในการกำหนดว่าขนาดและประเภทของโครงการยังเป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ[13] ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นรองประธานกรรมการ[14]

การที่กำหนดให้อำนาจอยู่ในมือของฝ่ายบริหารมีข้อดีในเรื่องของความยืดหยุ่น ง่ายต่อการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ แต่เมื่ออำนาจอยู่ในมือของผู้กำหนดนโยบายอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้การออกกฎหมายมาบังคับใช้ในบางครั้งอาจคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จะเห็นได้จากกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อ คสช. ออกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 ซึ่งยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองรวมสำหรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579[15] และการแก้ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี 2559 ทำให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวสามารถก่อสร้างได้แม้จะอยู่ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม[16]

ทำ EIA/EHIA ในไทย ยังไงก็ผ่าน?

ไม่ใช่เพียงปัญหาการซอยโครงการที่ทำให้โครงการขนาดใหญ่บางโครงการหลุดรอดไปจากระบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อพิจารณาโครงการที่เข้าสู่การตรวจสอบและพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้วก็พบว่า รายงานทั้งหมด ทั้ง EIA และ EHIA มีอัตราการผ่านอยู่ที่ 100% กล่าวคือ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทุกฉบับได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ[17]

การที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีอัตราการผ่านอยู่ที่ 100% แสดงให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำรายงานที่อาจมีผลการศึกษาที่สวยงามกว่าความเป็นจริง จากการที่เจ้าของโครงการเป็นผู้คัดเลือกและว่าจ้างผู้จัดทำรายงานด้วยตัวเอง รวมไปถึงปัญหาในเรื่องการตรวจสอบของคณะกรรมการที่มีเวลาอย่างจำกัด ส่งผลให้บางครั้งไม่สามารถเห็นชอบได้ทันเวลา 45 วันที่กฎหมายกำหนด ทำให้รายงานที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบไม่ทันเหล่านั้นถือว่าได้รับความเห็นชอบไปโดยปริยาย

ผล EIA สวยหรูเพราะเจ้าของโครงการจ้างคนมาทำรายงานให้ตัวเอง  

การจะจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ให้อำนาจแก่เจ้าของโครงการให้เป็นผู้จัดหาและจ้างผู้จัดทำรายงานได้ด้วยตัวเอง ทั้งโครงการของเอกชนและโครงการของหน่วยงานภาครัฐ

ในกรณีโครงการของเอกชน เจ้าของโครงการเป็นทั้งผู้จัดหาและจ่ายเงินให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจัดทำรายงานประเมินผลกระทบขึ้น เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการและหน่วยงานอนุญาตการก่อสร้าง เจ้าของโครงการก็จะสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้

การปล่อยให้เจ้าของโครงการมีอำนาจในการจัดหาและจ่ายเงินเพื่อให้ตรวจสอบโครงการของตนเอง ย่อมทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนและอาจทำให้รายงานที่ได้มาโน้มเอียงเข้าข้างเจ้าของโครงการได้ การศึกษาวิจัยในต่างประเทศเรื่องผลการตรวจสอบมลพิษที่เกิดจากการให้เจ้าของโครงการจ้างผู้ตรวจสอบด้วยตนเองในรัฐคุชราต ประเทศอินเดีย โดยงานศึกษาดังกล่าวพบว่า เมื่อให้เจ้าของโครงการเป็นผู้จ้างผู้ตรวจสอบด้วยตนเอง มีโรงงานเพียงหยิบมือที่มีผลการตรวจสอบมลพิษเกินกว่ามาตรฐาน แต่เมื่อเปลี่ยนวิธีการจัดหาผู้ตรวจสอบเป็นการจัดตั้งเงินกองกลางเพื่อจ่ายเงินให้กับผู้ตรวจสอบ และระบบสุ่มผู้ตรวจสอบกลับพบว่าผลการปล่อยมลพิษของโรงงานนั้นกลับเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด โรงงานที่ปล่อยมลพิษเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมีจำนวนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ[18] นั่นแสดงให้เห็นถึงปัญหาของการจ้างผู้ตรวจสอบด้วยตนเอง ดังที่ระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยกำลังเป็นอยู่

โครงการของหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจก็ยิ่งมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งด้านการจัดทำรายงานและด้านการตรวจสอบรายงาน ในด้านแรกคือปัญหาที่มาของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเหมือนในกรณีของเอกชน เนื่องจากหน่วยงานเจ้าของโครงการจะเป็นผู้จัดหาและจ่ายเงินเพื่อทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ปัญหาด้านที่สองคือที่มาของเหล่าผู้ตรวจสอบรายงาน เนื่องจากเป็นการตรวจสอบกันระหว่างหน่วยงานรัฐภายใต้การบริหารของรัฐบาลทั้งคู่ สำหรับโครงการรัฐแล้ว นอกจากจะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ยังจะต้องได้ความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีด้วย อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีที่เป็นด่านสุดท้ายในการเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ[19] และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเหล่านี้ก็มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมคณะแรกด้วย ในหลายกรณีโครงการของภาครัฐก็เป็นนโยบายที่รัฐบาลมีดำริให้ก่อสร้างโครงการเหล่านั้นเอง

ไม่ใช่เพียงอัตราการผ่านเท่านั้นที่สวยหรู ผลการวิจัยและการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏในรายงานนั้นก็สวยหรูเช่นกัน ดังที่ปรากฏในกรณีโครงการผันน้ำยวม ซึ่งเป็นการผันน้ำผ่านอุโมงค์น้ำมายังเขื่อนภูมิผลตามแนวท่อส่งน้ำจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนมายังจังหวัดตาก โดยพบว่าต้นทุนของโครงการนี้คือ 6.04 บาท/ลูกบาศก์เมตร และกรมชลประทานเจ้าของโครงการก็คาดการณ์ว่ามูลค่าผลประโยชน์จากการใช้น้ำที่ผันมาจะเท่ากับ 6.84 บาท/ลูกบาศก์เมตร แต่หากศึกษาในรายละเอียดจะพบว่า เพื่อให้ได้มูลค่าผลประโยชน์ตามที่กรมชลประทานคาดการณ์นั้น ต้องมีการเปลี่ยนพื้นที่นาปรังในบริเวณนั้นให้เป็นพืชอื่นๆ ให้ได้มากกว่า 66% หรือ 1.1 ล้านไร่ แต่มูลค่าผลประโยชน์ที่ได้จากนำน้ำมาทำนาปรังนั้นกลับอยู่ที่เพียง 2.11 บาท/ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น น้อยกว่าต้นทุนน้ำในโครงการนี้[20]

ความเห็นของประชาชนในพื้นที่ไม่ถูกรับฟังอย่างมีความหมาย

นอกจากการทำรายงานที่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนแล้ว การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยยังมีปัญหามากในเรื่องของการรับฟังความคิดเห็น

แม้กฎหมายจะกำหนดให้การรับฟังความเห็นของประชาชนในการทำ EIA ต้องเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้ง คือก่อนที่จะเริ่มทำรายงาน และระหว่างการทำรายงาน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ เข้าใจปัญหา ตลอดจนเสนอทางแก้ให้แก่เจ้าของโครงการได้ แต่ในบางครั้ง การรับฟังความเห็นก็เกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว ดังเช่นในกรณีโครงการ The Line สาทร ในปี 2019[21]

การรับฟังความเห็นของประชาชนในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้นยังเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ยาก เนื่องจากการทำประชาคมในบางครั้งมีการใช้ภาษาที่มีความเป็นวิชาการเต็มไปด้วยศัพท์เฉพาะ รวมถึงในหลายกรณีเป็นการก่อสร้างในพื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งประชากรอาจใช้ภาษาถิ่นเป็นหลัก เมื่อเป็นเช่นนี้การรับฟังความเห็นที่ควรจะเป็นขั้นตอนสำคัญกลับกลายเป็นการไปนั่งฟังเพื่อให้เจ้าของโครงการได้บรรยายสิ่งที่จะเกิดขึ้นและลงนามรับรู้เท่านั้น จำนวนมากไม่อาจมีส่วนร่วมได้อย่างมีความหมาย ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจึงกลายเป็นเพียงพิธีการเพื่อให้การพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีขั้นตอนครบถ้วน

กรณีหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดคือโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ของบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ซึ่งโครงการดังกล่าวจะก่อสร้างในบริเวณบ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ในบริเวณนั้นผู้ที่อาศัยอยู่ส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง แต่ไม่ปรากฏว่ามีการใช้ล่ามเพื่อให้เกิดความเข้าใจแก่คนพื้นถิ่นในรายงาน EIA รวมถึงยังมีรายชื่อของผู้ที่ไม่สามารถเขียนหนังสือได้และผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะรับรองการทำประชาคมด้วย[22]

ไม่เพียงเท่านั้น ในโครงการของรัฐบางโครงการ ยังมีการใช้อำนาจเพื่อคุกคามคนในพื้นที่ที่ออกมาต่อต้านด้วย ดังเช่นกรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่มีการ ‘เยี่ยมบ้าน’ และการโทรศัพท์ก่อกวนก่อนการรับฟังความคิดเห็น ยิ่งไปกว่านั้น แกนนำที่ประท้วงยังถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย[23]

คณะกรรมการผู้ชำนาญการมีเวลาพิจารณารายงานน้อย

การตรวจสอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมการผู้ชำนาญการยังมีเวลาเพียง 45 วัน[24] และหากไม่ให้ความเห็นชอบในเวลาที่กฎหมายกำหนดมานั้นจะถือว่ารายงานดังกล่าวได้รับความเห็นชอบไปโดยปริยาย และหากมีการสั่งให้แก้ไขรายงาน ก็พบว่า คณะกรรมการฯ มีเวลาตรวจสอบรายงานและให้ความเห็นชอบเพิ่มอีกเพียง 30 วันเท่านั้น[25]

จำนวนวันดังกล่าวอาจดูสมเหตุสมผลเมื่อต้องการลดภาระและค่าเสียโอกาสในการดำเนินโครงการ หากแต่เมื่อพิจารณาจำนวนรายงานที่เข้าสู่การพิจารณาและความหนาของรายงานเหล่านั้นก็อาจต้องคิดใหม่ โดยตั้งแต่ปี 2019-2022 พบว่ามีรายงาน EIA ที่เข้าสู่การตรวจสอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการเฉลี่ยปีละ 466 ฉบับ และรายงาน EIA มีความหนาเฉลี่ย 1,048 หน้า[26]

นอกจากนี้ยังพบว่า คณะกรรมการผู้ชำนาญการซึ่งมีอำนาจตรวจสอบและอนุมัติรายงานนั้นมีเพียง 22 ชุด โดยเป็นคณะกรรมการฯ ส่วนกลาง 10 ชุด และคณะกรรมการฯ จังหวัด 12 ชุด โดยการพิจารณารายงานจะดูจากประเภทของโครงการและพื้นที่เป็นสำคัญ เช่น หากเป็นโครงการที่จัดอยู่ในประเภทอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็จะถูกส่งไปให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ตรวจสอบและให้ความเห็นชอบรายงานต่อไป

จากการใช้ประเภทและสถานที่ตั้งของโครงการในการส่งรายงานไปยังคณะกรรมการฯ ชุดต่างๆ ทำให้คณะกรรมการบางคณะต้องทำงานหนักกว่าคณะกรรมการชุดอื่น เช่น คณะกรรมการฯ กรุงเทพมหานคร ที่ต้องพิจารณาและให้ความเห็นรายงานกว่า 55 ฉบับจาก 403 ฉบับ ในปี 2022[27]

การที่คณะกรรมการมีเวลาตรวจสอบน้อย ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้โดยละเอียดในทุกขั้นตอนของทุกโครงการ สิ่งที่ตามมาคือการทำรายงานไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังเช่นกรณีของโครงการ 125 สาทร ในปี 2022 ซึ่งศาลปกครองพบว่ามีการรายงานพื้นที่อาคารรวมไม่ตรงกับความเป็นจริง และทำให้การคำนวณพื้นที่อาคารที่จะใช้ประโยชน์นั้นไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และศาลปกครองยังเห็นว่าการให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ กรุงเทพมหานครนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย[28]

ต้นทุนการทำผิดไม่ได้สัดส่วน

โทษทางกฎหมายตายตัว ไม่สนโครงการเล็กใหญ่

การกำหนดโทษในประเทศไทยเป็นการกำหนดแบบตายตัวโดยกำหนดไว้เป็นโทษขั้นสูงสุด คือหากก่อสร้างก่อนที่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ มีโทษปรับสูงสุด 1,000,000 บาท และปรับอีกไม่เกิน 100,000 บาท/วันจนกว่าจะหยุดก่อสร้างหรือได้รับความเห็นชอบ[29] และโทษปรับสูงสุด 1,000,000 บาทเช่นกันหากไม่ส่งรายงานติดตามผล[30] แต่หากเป็นการทำรายงานเท็จ ผู้จัดทำรายงานก็จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตและจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามความผิดฐานทำแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา[31]

แต่เมื่อเทียบกับขนาดโครงการแล้วกลับพบว่าเงินค่าปรับดังกล่าวเป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก เช่น หากเป็นโครงการก่อสร้างมูลค่า 1,000 ล้านบาท โทษปรับสูงสุดก็จะคิดเป็นเพียง 0.1% ของมูลค่าของโครงการเท่านั้น และยิ่งโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการผันน้ำยวมมูลค่าลงทุน 78,000 ล้านบาท โทษปรับสูงสุดก็จะคิดเป็นเพียง 0.001% ของมูลค่าโครงการเท่านั้น


การเยียวยาความเสียหายในไทยยังขึ้นอยู่กับศาลทั้งหมด

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาถึงการเยียวยาความเสียหายก็จะพบว่า การเยียวยาความเสียหายในประเทศไทยนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล เนื่องจากไม่มีตัวบทกฎหมายมาเป็นหลักพิงให้ได้ว่าต้องคิดความเสียหายเท่าไร หรืออย่างไรที่จะเรียกได้ว่าเกิดความเสียหายต่อประชาชนแล้ว ซ้ำร้าย หลักเกณฑ์การเยียวยาความเสียหายในประเทศไทย ยังคิดเฉพาะความเสียหายที่ตีมูลค่าเป็นเงินได้เท่านั้น

แม้ว่าในบางครั้งศาลก็จะกำหนดมูลค่าเงินเยียวยาสูงกว่าที่ผู้เสียหายร้องขอเพื่อเป็นการลงโทษผู้ก่อความเสียหายเพิ่ม[32] แต่ดุลพินิจของศาลเช่นนี้ก็เป็นความเสี่ยงให้ทั้งผู้ที่อาจก่อความเสียหายและผู้อาจได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังต้องพบกับความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรมกว่าจะได้รับการเยียวยาชดเชยด้วย

เปิดโอกาส ให้อิสระ กระจายอำนาจ และเร่งแก้กฎหมาย

การแก้ไขปัญหาของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายเจ้าของโครงการ รัฐบาล และประชาชน ทั้งนี้ 101 PUB ขอเสนอแนวทางการแก้ไขเบื้องต้น ดังนี้


เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม


เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิร้องขอให้ทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

จะเห็นได้ว่า การซอยโครงการซึ่งทำให้ไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นการอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตน อย่างไรก็ตาม การยกเลิกเกณฑ์โครงการขนาดเล็กทิ้งทั้งหมดก็อาจเป็นการผลักภาระให้กับผู้ดำเนินโครงการจำนวนมากซึ่งอาจไม่ได้ก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะเป็นต้นทุนของทั้งเอกชนและรัฐโดยไม่จำเป็น ดังนั้น จึงน่าจะใช้กลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนเพิ่มเติม โดยเปิดช่องทางร้องขอให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการที่กังวลว่าจะเกิดผลกระทบ จะช่วยลดช่องว่างทางกฎหมายนั้น และยังทำให้ประชาชนในพื้นที่ตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ในขั้นแรกของการประเมินได้


เปิดให้ตรวจสอบร่างรายงาน

เนื่องจากร่างรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ไม่ได้เผยแพร่สู่สาธารณชน ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงเฉพาะรายงานที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้วเท่านั้น การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงตั้งแต่ร่างรายงาน ย่อมทำให้เห็นข้อผิดพลาดของรายงานนั้นได้รวดเร็วขึ้น และสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที


ทำให้เข้าถึงรายงาน EIA ได้ง่าย และเข้าใจเนื้อหาได้

ปัญหาหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ คือการที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ หรือถึงแม้จะเข้าถึงได้ แต่ก็ไม่ได้เข้าใจเนื้อหา ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเพียงรายงานที่ส่งผ่านไปให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการเห็นชอบเท่านั้น ดังนั้นจึงเสนอให้เปิดให้เข้าถึงรายงานและร่างรายงาน รวมทั้งการทำรายงานฉบับที่ประชาชนเข้าใจได้ง่ายอีกฉบับหนึ่งด้วย


วางกลไกให้ผู้ทำรายงานและผู้ประเมินเป็นอิสระ


เจ้าของโครงการไม่ควรจัดหาผู้ประเมินเองและวางกลไกว่าจ้างผู้ทำรายงานอย่างโปร่งใส

การจัดหาผู้ประเมิน/ผู้ทำรายงาน ไม่ควรดำเนินการโดยเจ้าของโครงการเอง ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนจากเจ้าของโครงการและผู้ทำรายงาน แม้ว่าผู้ทำโครงการยังควรจะเป็นผู้รับภาระทางการเงินในการประเมินก็ตาม ทั้งนี้ ก็เพื่อให้รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้มานั้น เป็นการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจริง และลดโอกาสการเขียนรายงานที่เข้าข้างเจ้าของโครงการ

ระบบอภิบาลในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 2 ฝั่งหลัก คือผู้ดำเนินโครงการที่ว่าจ้างและจัดทำรายงานและผู้ตรวจสอบรายงาน อย่างไรก็ดี หากเป็นโครงการของรัฐทั้ง 2 ฝั่งก็จะเสมือนว่าเป็นฝั่งเดียวกันด้วย ดังนั้น รัฐจะต้องมีกลไกให้มีฝั่งที่ 3 ที่ทำหน้าที่จัดสรรการทำรายงาน ประเมินโดยเป็นอิสระจากทั้ง 2 ฝั่ง และอาจวางกลไกการว่าจ้างผู้ทำรายงานโดยลดดุลพินิจลง อาทิ การสุ่มหรือการจัดลำดับที่ตายตัวไว้ก่อนหน้า แต่ไม่ว่ารัฐจะออกแบบให้มีกลไกอย่างไร กลไกเหล่านั้นก็ควรมีการตรวจสอบผลภายหลัง และเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างครบถ้วนให้ประชาชนตรวจสอบได้


โครงการรัฐต้องมีประชาชนในพื้นที่เข้ามาร่วมตัดสินใจ

การตรวจสอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ ไม่เพียงแต่การจัดทำรายงานที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ยังมีปัญหาในเรื่องของคณะกรรมการผู้ให้ความเห็นชอบที่มาจากการแต่งตั้งด้วย จึงควรเพิ่มสัดส่วนของประชาชนในพื้นที่เข้าไปในคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการพิจารณาเห็นชอบแต่ละโครงการด้วย เพื่อไม่ให้อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการที่มาจากการแต่งตั้งอย่างเบ็ดเสร็จ


กระจายอำนาจให้สภาท้องถิ่น


ให้สภาท้องถิ่น เช่น สภา อบจ. ตัดสินรายงานโครงการขนาดเล็ก – กลาง ที่มีผลกระทบเฉพาะคนในท้องถิ่น

ปัจจุบันนี้ การตรวจสอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจากส่วนกลาง มีเพียง 12 พื้นที่เท่านั้นที่มีคณะกรรมการเป็นของตนเอง เนื่องจากเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม อาทิ ภูเก็ต ชลบุรี หรือเป็นพื้นที่ที่มีการก่อสร้างตึกสูงจำนวนมาก อาทิ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล งานของคณะกรรมการจากส่วนกลางจึงเป็นเสมือนการกวาดกองโครงการอื่นๆ จากทั่วประเทศมาตรวจสอบโดยอาศัยการแบ่งประเภทของโครงการเพื่อส่งไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการแต่ละด้านเท่านั้น

หากมีการกระจายอำนาจให้สภาท้องถิ่น เช่น สภา อบจ. ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้คนพื้นที่ได้ตัดสินใจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของตัวเองได้ง่ายขึ้น และยังเป็นการลดภาระงานจากส่วนกลาง โดยกระจายไปยังสภาท้องถิ่นมากขึ้น และหากในท้องถิ่นใดมีคณะกรรมการผู้ชำนาญการอยู่แล้วก็ให้คงไว้เช่นเดิม

เมื่อภาระงานของคณะกรรมการแต่ละชุดน้อยลง และคณะกรรมการเองก็เป็นคนในพื้นที่ การลงไปตรวจสอบพื้นที่โครงการจริงย่อมเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น


โครงการข้ามพื้นที่หรือกระทบสิ่งแวดล้อมมาก ยังอยู่กับส่วนกลาง

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการส่วนกลางก็ยังคงต้องมีไว้ เพื่อตรวจสอบและให้ความเห็นชอบโครงการที่มีขนาดใหญ่ มีลักษณะครอบคลุมหลายพื้นที่ หรือกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องเขตอำนาจของสภา อบจ. และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความล่าช้า จากการที่ต้องให้คณะกรรมการของแต่ละท้องที่ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเอง


เร่งแก้กฎหมายค่าปรับให้เหมาะสม และสร้างกลไกการประกันความเสียหาย


กำหนดให้ค่าปรับแปรผันตามขนาดโครงการ

ปัจจุบัน ค่าปรับในประเทศไทยใช้ระบบกำหนดจำนวนเงินสูงสุด ซึ่งในกรณีของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การกำหนดค่าปรับเช่นนี้ย่อมทำให้ค่าปรับไม่เหมาะสมกับขนาดโครงการ โดยผู้วิจัยเสนอให้การกำหนดค่าปรับ ควรกำหนดเป็นร้อยละ หรือเปอร์เซ็นต์ตามขนาดโครงการ เพื่อให้เกิดสภาพบังคับใช้และความเท่าเทียมระหว่างโครงการขนาดเล็กและขนาดใหญ่


สร้างกลไกให้เจ้าของโครงการวางประกันความเสียหาย

จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าการกำหนดความเสียหายนั้นเป็นดุลพินิจโดยแท้ของศาล ไม่มีตัวบทกฎหมายเป็นหลักไว้ในกรณีนี้ การเยียวยาความเสียหายจึงต้องรอให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน

อย่างไรก็ดี มีการเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเสนอให้วางเงินประกันความเสียหาย เพื่อเป็นเงินเยียวยาหากมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว เงินประกันความเสียหายนี้จะช่วยให้เกิดหลักเกณฑ์ในการเยียวยาความเสียหาย และช่วยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอการพิจารณาของศาล[33]

ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาก่อนที่จะเข้าสู่การลงมติในสภาผู้แทนฯ[34]

References
1 จากการสัมภาษณ์ รศ.ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง.
2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 มาตร 77.
3 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2518 มาตรา 6.
4 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับ 2) พ.ศ. 2521 มาตรา 6.
5 ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม.
6 ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต ของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม.
7 กองพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม, “ระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของไทย ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561”.
8 แนวทางการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจและสังคม.
9 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 12.
10 ประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 455/2537 เรื่อง การยื่นคำขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำให้ถูกต้อง.
11 ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม.
12 EnLAW, “สรุปคำพิพากษาศาลปกคองระยอง คดีท่าเรือบ้านโพธิ์ริมแม่น้ำบางปะกง ฉะเชิงเทรา”, กันยายน 22, 2559.
13 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 48.
14 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 12.
15 คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท.
16 ประชาไท, “วงเสวนาชี้ ขั้นตอน EIA มีปัญหารณรงค์สิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชนแยกการเมืองไม่ได้”, กุมภาพันธ์ 19, 2018.
17 101 PUB รวบรวมข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (SMART EIA+) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2023 อย่างไรก็ตามกองพัฒนาระบบการประเมินสิ่งแวดล้อมมีการรายงานถึง EIA ที่ไม่ผ่านความเห็นชอบรายเดือน แต่เนื่องจากศูนย์ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (SMART EIA+)มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมากกว่า ผู้เขียนจึงเลือกใช้ข้อมูลในส่วนนั้นมานำเสนอ
18 ฉัตร คำแสง, “ปัญหาทั่วไทย แต่ตรวจอย่างไรก็ไม่เจอ”, The101.world, สิงหาคม 16, 2020.
19 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นรองประธาน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นกรรมการ และยังมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไม่เกินแปดคนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งซึ่งมาจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเลขานุการ.
20 เดชรัต สุขกำเนิด, มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร, ความไม่คุ้มค่าของโครงการผันน้ำยวม : ตำน้ำพริกละลายข้ามแม่น้ำ”, ตุลาคม 5, 2021.
21 หนังสือแจ้งคำสั่งศาลปกครอง คดีดำหมายเลขที่ ส.48/2561.
22 Greenpeace Thailand, “โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่”.
23 Greenpeace Thailand, “จุดเริ่มต้นของเรื่องราวโรงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ”.
24 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 51/1.
25 เพิ่งอ้าง.
26 101 PUB สุ่มโครงการทั้งหมด 100 โครงการ จากผลการอนุมัติโครงการต่างๆ ทั้งหมด 9,849 โครงการ คิดเป็น 1% ของจำนวนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (เฉพาะ EIA) ทั้งหมดในฐานข้อมูลรายงานที่มีทั้งหมดในศูนย์ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (SMART EIA+).
27 ศูนย์ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (SMART EIA+), เข้าถึงเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2023.
28 คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีดำหมายเลขที่ ส.26/2564 คดีแดงหมายเลขที่ 47/2566.
29 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 101/1.
30 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 101/2.
31 ณรงค์ ใจหาญ, “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แนวคิด ปัญหา และก้าวต่อไป”, 60 ปี ศ.ดร. อำนาจ วงศ์บัณฑิต เสาหลักใหญ่ กฎหมายสิ่งแวดล้อมไทย, 2563.
32 ธนวัชร กิติโกมลสุข, “การกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม”, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2561.
33 ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ….
34 ระบบสารสนเทศด้านนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2023.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save