fbpx

‘อดอยากปากจมน้ำ’ ชีวิตในอนาคตอันใกล้ (ฉาก 1)

ในการประชุมวิชาการ มานุษยวิทยา 65 หัวข้อ ‘Emerging Methodologies – วิธีวิทยาทะลุกรอบ’ ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หนึ่งในหัวข้อย่อยของการประชุมคือเรื่อง ‘มนุษยสมัย’ (Anthropocene) ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในขณะนี้ ทั้งในวงวิชาการไทยและต่างประเทศ

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ แต่พยายามอ่านและค้นคว้าเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภัยพิบัติต่างๆ ไม่โดยตรงก็ทางอ้อม ที่กำลังสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อชีวิตผู้คนทั่วโลก รวมทั้งต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอยู่ในขณะนี้[1]

หากผมเข้าใจไม่ผิด เราอาจสรุปคำว่า ‘มนุษยสมัย’ อย่างสั้นๆ ว่าหมายถึงยุคสมัยหรือช่วงเวลาที่กิจกรรมหรือการกระทำของมนุษย์ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก อันเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน

เท่าที่ทราบ สังคมไทยหันมาสนใจเรื่อง ‘มนุษยสมัย’ มากขึ้น ทำให้มีงานเขียนในภาษาไทยออกมาจำนวนไม่น้อย ผมจึงขอละเว้นที่จะไม่กล่าวถึงเรื่องนี้มากนัก แต่จะเขียนถึงความพยายามในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะยกกรณีตัวอย่างของบางสังคมที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และได้พยายามเรียนรู้จากประสบการณ์ของตน สร้างความรู้ความเข้าใจ ที่นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการแก้ไขและการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ

เนื่องจากเรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อนและมีรายละเอียดมาก จึงจะเขียนแบ่งเป็นสองตอน โดยในตอนนี้ จะกล่าวถึงปัญหาน้ำท่วมและผลกระทบที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้คนและด้านอื่นๆ ด้วยการพาดพิงถึงกรณีของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเข้าใจ ความสามารถและความเชี่ยวชาญในการจัดการน้ำ และได้พัฒนาความรู้และเทคโนโลยีในเรื่องนี้จนล้ำหน้าประเทศอื่น ตลอดจนแนวคิดใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

(ส่วนในตอนหน้า จะกล่าวถึงเรื่องภัยแล้ง ไฟป่า และภาวะขาดแคลนอาหาร ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก)

อากาศวิปริต

ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนมีหลายประการ ที่มักประสบกันอยู่เสมอน่าจะเป็นสภาพอากาศแบบสุดขั้ว เช่น ร้อนจัดจนนำไปสู่ภัยแล้ง หรือหนาวจัด เกิดหิมะตกในที่ซึ่งไม่เคยมีหิมะตก หรือน้ำท่วมอย่างรุนแรง ที่นอกจากจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นแล้ว ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก มากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอีกด้วย

สาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเกิดน้ำท่วมคือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งหนุนให้เกิดน้ำท่วมที่รุนแรง และมักสร้างความเสียหายอย่างมากมาย ทั้งต่อชีวิตผู้คนและทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก เช่น มีข้อมูลที่ระบุว่าในระหว่างปี 2015 ถึงปี 2020 เมืองที่อยู่ริมฝั่งทะเลกำลัง ‘จมน้ำ’ กันอย่างรวดเร็ว เมืองที่กำลังจมน้ำเร็วเป็นอันดับหนึ่งคือเมืองเทียนจินในสาธารณรัฐประชาชนจีน มีน้ำท่วมสูงถึง 5.22 เซนติเมตรต่อปี อันดับสองคือเมืองเซมารัง อินโดนิเชีย สูงถึง 3.96 เซนติเมตร/ปี ตามด้วยกรุงจาการ์ตา ที่สูงถึง 3.44  เซนติเมตร/ปี และนครโฮจิมินห์ สูง 2.81 ซม./ปี และอีกหลายเมือง

ในขณะที่มีการประเมินกันว่ากรุงเทพฯ จะจมน้ำหายไปในราวปี 2050 ซึ่งเป็นปีที่มีการคาดการณ์กันว่าเมืองต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหรือใกล้ชายฝั่งทะเลจะเกิดน้ำท่วมอย่างหนัก และเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง

เช่น มีรายงานข่าวใน The Guardian ระบุว่าในปี 2050 ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอีก 35 เซนติเมตร เกิดน้ำท่วมในเมืองชายฝั่งทะเลทั้งหลายในอังกฤษ บ้านเรือนและร้านค้าราว 200,000 หลังจะถูกน้ำท่วมจนอยู่อาศัยไม่ได้ ทำให้ผู้คนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัยและแหล่งทำมาหากิน

อุทกภัยล่าสุด

ขณะนี้ปากีสถานกำลังประสบภัยน้ำท่วม ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีข้อมูลระบุว่าอุทกภัยครั้งนี้รุนแรงและอันตรายที่สุดนับตั้งแต่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในเอเชียใต้ในปี 2017 จนทำให้รัฐบาลปากีสถานต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ 25 สิงหาคม BBC สื่อใหญ่ของอังกฤษ รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 1,136 ราย และน้ำท่วมครั้งนี้สร้างผลกระทบต่อประชากรมากกว่า 33 ล้านคน หรือมากกว่า 15 เปอร์เซนต์ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และประมาณว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าอย่างน้อยหนึ่งหมื่นล้านยูเอสดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ มีข้อสันนิษฐานว่าอุทกภัยนี้เกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ เช่น ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พายุมรสุม และธารน้ำแข็งละลาย

ในปีนี้ ปากีสถานได้รับปริมาณน้ำฝนมากกว่าปรกติ เช่น ในเขตพื้นที่จังหวัดสินธ์ (Sindh) มีปริมาณน้ำฝนมากถึง 784 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณปรกติ และในเขตจังหวัดบาลูจิสถาน (Balochistan) มีปริมาณน้ำฝนมากถึง 500 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณปรกติ นอกจากนี้ ในอินเดียและบังคลาเทศก็มีรายงานว่ามีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าปริมาณเฉลี่ยเช่นกัน ที่น่าวิตกคือมหาสมุทรอินเดียเป็นหนึ่งในบริเวณที่ความร้อนสูงขึ้นเร็วที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยสูงขึ้นถึง 1 องศาเซลเซียส และเชื่อกันว่าความร้อนที่เพิ่มขึ้นของผิวน้ำในมหาสมุทรส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนที่ตกเพิ่มขึ้นด้วย ยิ่งกว่านั้น ทางตอนใต้ของปากีสถานได้เกิดคลื่นความร้อนขึ้นในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ส่งผลให้เกิดธารน้ำแข็งละลายและน้ำท่วมในเขตกิลกิต บัลทิสสถาน (Gilgit Baltistan)

อุทกภัยครั้งนี้ทำให้ผู้คนหลายสิบล้านคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ขาดอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งจำเป็นต่อชีวิตอื่นๆ ต้องตกอยู่ในความวิตกกังวลและหวาดกลัว ไม่รู้ว่าชะตากรรมของตนและครอบครัวจะเป็นเช่นไร

สังคมสะเทิ้นน้ำ

แล้วจะต้องทำอะไรหรืออย่างไรเพื่อแก้ไขและป้องกันภัยพิบัติของน้ำท่วม มีหลายประเทศในขณะนี้ที่พยายามเรียนรู้ ค้นคว้าและสรรค์สร้างประดิษฐกรรมหรือเทคโนโลยีเพื่อจัดการกับปัญหานี้ หนึ่งในประเทศเหล่านี้คือเนเธอร์แลนด์ สังคมที่สั่งสมความรู้ เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญเรื่องการจัดการน้ำมานานนับศตวรรษ จนอาจกล่าวได้ว่าคนดัตช์ไม่เป็นสองรองใครในเรื่องนี้

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งของความรู้ความสามารถในการจัดการและแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำของคนดัตช์สืบเนื่องจากสภาพภูมิประเทศของประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ประมาณว่าหนึ่งในสามของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศอยู่ใต้ระดับน้ำทะเล โดยมีจุดที่ต่ำที่สุดคือ 22 ฟุต หรือ 6.7 เมตร ใต้ระดับน้ำทะเล และจุดที่สูงที่สุดประมาณ 1,000 ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล

          ชาวดัตช์จึงสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง อันประกอบด้วย

  • การสร้างเขื่อนกั้นน้ำ (dikes)
  • ระบบปั๊มน้ำ (pumps) ออกสู่ทะเล โดยใช้กังหันลม ซึ่งใช้มานานหลายศตวรรษจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ
  • การสร้างสันทราย (sand dunes) เป็นแนวยาวตามชายฝั่งทะเล

ทั้งหมดนี้ เป็นระบบป้องกันน้ำท่วมที่พัฒนาต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยยุคกลางของยุโรป จนกระทั่งราวคริสต์ศตวรรษที่ 14 ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่เรียกว่าฮอลแลนด์ ได้มีการพัฒนาการสร้างเขื่อนกั้นน้ำที่มีประสิทธิภาพสูง และนำไปสู่ความสำเร็จในทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งเกิด ‘ยุคทอง’ ด้านเศรษฐกิจ-การค้าในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18

เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ต้องประสบปัญหากับอุทกภัยอยู่เสมอ แต่ละครั้งมักก่อให้เกิดความสูญเสียของชีวิตประชากรและความเสียหายด้านต่างๆ ประเทศนี้จึงพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีเพื่อจัดการกับปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นประเทศที่มีระบบป้องกันน้ำท่วมที่ซับซ้อนและก้าวหน้าที่สุดในโลก มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการจัดการกับปัญหาน้ำท่วมที่ล้ำหน้าประเทศอื่นๆ

ประตูกั้นน้ำยักษ์แห่งรอตเตอร์ดัม

ด้วยเหตุที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของเนเธอร์แลนด์อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ประเทศนี้จึงลงทุนอย่างมหาศาลกับการสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมด้านวิศวกรรมเพื่อป้องกันอุทกภัย เช่น การสร้างเขื่อนกั้นน้ำ สันทรายและระบบปั๊มน้ำที่ใช้กังหันลม ที่กล่าวถึงข้างบน เป็นเครือข่ายและระบบการป้องกันน้ำที่มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง

หนึ่งในความน่าอัศจรรย์ด้านวิศวกรรมชลประทานของเนเธอร์แลนด์คือ สิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า ‘Maeslantkering’ แผงเหล็กกั้นพายุและการท่วมของน้ำทะเล ตั้งอยู่บริเวณปากคลองขุดนีเวอ วอเตอร์เวก (Nieuwe Waterweg) ในฮอลแลนด์ใต้ (South Holland) เริ่มก่อสร้างในปี 1991 และเสร็จสมบูรณ์ในปี 1997 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเดลตา เวิร์กส์ (Delta Works) แผงเหล็กกั้นนี้ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่จะปิดตัวเองโดยอัตโนมัติเมื่อเมืองรอตเตอร์ดัมอาจเผชิญกับอุทกภัยจากน้ำทะเล

‘Maeslantkering’ เป็นแผงเหล็กกั้นน้ำทะเลขนาดมหึมาที่มีสองบาน แต่ละข้างยาว 210 เมตร และมีโครงทรัสหรือโครงทักที่สร้างจากโลหะ แต่ละข้างยาว 237 เมตร เพื่อยึดแผงเหล็กทั้งสองข้างไว้ เมื่อแผงเหล็กปิดลงจะสามารถป้องกันแนวปากคลองนีเวอ วอเตอร์เวกที่กว้างถึง 360 เมตร และสามารถป้องกันทางน้ำที่เข้าสู่ท่าเรือเมืองรอตเตอร์ดัมจากการท่วมของน้ำทะเล

เรือนแพดัตช์

ทว่า วิศวกรมิใช่ผู้เชี่ยวชาญเพียงกลุ่มเดียวในเนเธอร์แลนด์ที่ให้ความสนใจในการออกแบบและเนรมิตสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วม สถาปนิกชาวดัตช์ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ไอเดียและการออกแบบสถาปัตยกรรมที่จะช่วยให้ผู้คนทั้งหลาย ไม่เพียงแต่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ภายใต้ระดับน้ำที่ท่วมสูงขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น หากยังมีวิถีชีวิตที่สะดวกสบายทีเดียว นั่นคือการออกแบบและสร้าง ‘บ้านลอยน้ำ’

สถาปนิกชาวดัตช์นาม ‘กุน โอลธัส’ (Koen Olthuis) ประยุกต์ใช้แนวคิดทางสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า ‘Aquatecture’ ที่มีความหมายอย่างกว้างๆ ว่าการใช้สถาปัตยกรรมศาสตร์ในการสร้างหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะของเมือง ผังเมือง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลให้เมืองต่างๆ จำนวนมากกำลังถูกคุกคามจากน้ำท่วม และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่เราจะต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อให้สามารถอยู่รอด ดำรงชีวิตต่อไปได้

เขาจึงออกแบบ ‘บ้านลอยน้ำ’ (ผมขอเรียกว่า ‘เรือนแพดัตช์’) ที่สามารถปรับตัวกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและอุทกภัย ที่ลักษณะใหญ่ๆ ดังนี้

  • ตัวบ้าน/อาคารสร้างอยู่บนฐานที่เป็นคอนกรีตกันน้ำและลอยน้ำได้ มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ตัวบ้านไม่โคลงเคลงไปตามกระแสน้ำ แต่ก็สามารถเลื่อนขึ้นลงได้ตามการขึ้นลงของกระแสน้ำ ตัวบ้านยึดติดอยู่บนเสาเหล็กกล้าที่ฝังลึกลงในดินใต้น้ำ เพื่อป้องกันมิให้บ้านถูกพัดพาไปกับกระแสน้ำ
  • มีการแบ่งออกเป็นบล็อกๆ เพื่อติดตั้งตัวบ้าน/อาคารในบล็อกที่จัดไว้ โดยจะล็อคตัวอาคารไว้กับเสาสี่ต้นที่มุมทั้งสี่ของตัวบ้าน
  • หน้าต่างและประตูใช้แผ่นกระจกบานใหญ่เพื่อรับความอบอุ่นจากแสงอาทิตย์และความสว่าง
  • ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาเพื่อเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ และมีแบตเตอรี่ในบ้านเพื่อเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ มีระบบน้ำประปาและไฟฟ้าเหมือนบ้านเรือนทั่วไป อีกทั้งยังมีระบบระบายน้ำเสียจากบ้านด้วย
  • สามารถลากตัวบ้าน/อาคาร (ที่ลอยน้ำได้นี้) ไปติดตั้งตามที่ต่างๆ ได้ด้วยการใช้เรือลากจูง เมื่อถึงที่ๆ ต้องการก็ลากตัวบ้านเข้าไปในมุมหรือช่องที่ได้จัดเตรียมไว้พร้อมแล้ว
  • สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ไฟฟ้า น้ำสะอาด ระบบความร้อน ระบบระบายน้ำเสีย ฯลฯ ล้วนติดตั้งพร้อมอยู่ได้ในบ้านลอยน้ำ

เขาเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า ‘เทคโนโลยีลอยน้ำ’ (floating technology) ซึ่งอาจประยุกต์ ดัดแปลง ใช้ได้กับสถานที่ทุกแห่งในโลก และไม่ปฏิเสธว่าในขณะนี้มีเพียงคนรวยเท่านั้นที่สามารถซื้อเทคโนโลยีนี้ไว้ใช้ได้ แต่เขาก็เสนอว่าหากเราทำการออกแบบใหม่ มีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล บริการด้านสุขภาพและสุขอนามัย และอื่นๆ ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีลอยน้ำ และเน้นเรื่องความปลอดภัย แล้วสร้างบ้านลอยน้ำหรืออาคารลอยน้ำในลักษณะอื่น และสร้างระบบที่เชื่อมโยงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เข้าด้วยกัน ในสภาวะแวดล้อมทู่กกระทบจากน้ำท่วม บ้านลอยน้ำแต่ละหลังที่อยู่แยกจากกันเหล่านี้ก็จะกลายเป็น ‘ชุมชนลอยน้ำ’ ได้

เขาจึงมีความหวังว่าบ้านลอยน้ำในสลัมต่างๆ ไม่ว่าในที่ใด ก็จะไม่แตกต่างจากบ้านลอยน้ำในประเทศเนเธอร์แลนด์ เพราะใช้เทคโนโลยีเดียวกัน นั่นคือเทคโนโลยีลอยน้ำที่สามารถปรับตัวเข้ากับอนาคตที่ไม่แน่นอนได้

นอกจากบ้านลอยน้ำ มีรายงานว่าคนดัตช์จำนวนไม่น้อยเลือกที่จะอาศัยอยู่ในเรือแทนการอยู่ในบ้าน ด้วยเหตุผลว่าเรือลอยน้ำได้หากเกิดอุทกภัยขึ้น ทว่า เรือขาดความเสถียร ด้วยจุดอ่อนหรือข้อด้อยที่ว่าเรือมักโคลงเคลงไปตามการขึ้นลงและกระแสน้ำ อาจไม่เหมาะกับคนบางกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อการโคลงเคลงตามกระแสน้ำ จึงไม่เป็นที่จูงใจของคนทั่วไป ต่างจากบ้านลอยน้ำที่มีความมั่นคงและสะดวกสบายกว่า

คอนโดเหนือน้ำ

เรียกได้ว่าเป็นโครงการยักษ์อีกโครงการหนึ่ง คือโครงการที่พักอาศัยที่มีชื่อว่า ‘Sluishuis’ – อันมีความหมายว่า ‘Lock House’ หรือ บ้านริมลำธาร บ้านริมน้ำ – เป็นโครงการก่อสร้างอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมเพื่อการอยู่อาศัย

ในเดือนพฤศจิกายน 2016 บริษัทออกแบบและก่อสร้างที่มีชื่อว่า ‘Bjarke Ingels Group’ (เรียกสั้นๆ ว่า ‘BIG’) และ ‘BARCODE Architects’ ได้ชนะการประกวดการออกแบบในการสร้างอาคารในเมืองอัมสเตอร์ดัม ในบริเวณที่เรียกว่า ‘ไอเจเบิร์ก’ (Ijburg) ใกล้กับท่าเรือของเมือง เป็นอาคารที่สร้างคร่อมอยู่เหนือน้ำ คาดว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้ว อาคารชุดนี้จะมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 46,000 ตารางเมตร เป็นที่พักอยู่อาศัยที่ใช้พลังงานเป็นศูนย์ (zero-energy residences) 380 ห้องชุด และมีที่จอดรถใต้ดินที่จอดรถได้ 240 คัน

ว่ากันว่าการออกแบบอาคารชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบลานบ้านแบบยุโรปคลาสสิก (classic European courtyard) ที่มีลำธารไหลผ่าน และมีจุดชมทิวทัศน์รอบๆ หลายจุด ที่สามารถมองเห็นชุมชนที่มีพื้นที่สีเขียว หรือภาพของเมืองที่มีถนนสายต่างๆ ตัดผ่าน หรือท่าจอดเรือ มีทางเดินเล็กๆ บนหลังคาของอาคารชุด เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยสามารถเดินเล่นหรือเดินชมวิว และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

ไม่มีข้อมูลหรือรายละเอียดเรื่องราคาของอาคารชุด Sluishuis ซึ่งแน่นอนว่าคงมีราคาสูงมาก ทว่า สิ่งที่น่าสนใจคือการที่สถาปนิกและวิศวกรชาวดัตช์ไม่หยุดยั่งในการคิดค้นและสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมใหม่ๆ ที่จะสามารถรองรับและจัดการกับปัญหาน้ำท่วมได้ และเพื่อให้มนุษย์สามารถมีชีวิตที่ผาสุกและสะดวกสบายในโลกอนาคตที่ไร้ความแน่นอน

เมืองฟองน้ำ

มีรายงานข่าวของบีบีซีว่าแนวคิดเรื่อง ‘เมืองฟองน้ำ’ (sponge cities) กำลังถูกนำไปใช้ในการออกแบบและวางผังเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก[2]

เมืองฟองน้ำเป็นข้อเสนอของ คงเจี้ยน ยู (Yu Kongjian) ศาสตราจารย์ด้านภูมิสถาปัตยกรรมแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สมัยที่เป็นเด็กเขาตกน้ำ แต่ดิ้นรนช่วยตัวเองด้วยการคว้าจับกิ่งต้นหลิวริมน้ำและต้นกกต้นอ้อ ดึงตัวเองขึ้นมาได้ รอดชีวิตจากการจมน้ำตาย ในปี 2013 ในฐานะนักออกแบบผังเมือง เขาได้เสนอว่าเมืองต่างๆ ควรใช้ธรรมชาติแทนที่จะใช้คอนกรีตในการชะลอน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ข้อเสนอนี้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในเมืองทั้งหลายทั่วสาธารณรัฐประชาชนจีน และกำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

ออคแลนด์ เมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งตั้งในเกาะเหนือ ได้นำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ในการวางผังเมือง และหนึ่งในตัวอย่างของการประยุกต์นี้เห็นได้จากการปรับเปลี่ยนสภาพริมลำธารเต อวันกา (Te Auaunga หรือ Oakley Creek) ลำธารที่ยาวที่สุดของเมือง ซึ่งเป็นทางระบายน้ำในเวลาฝนตก ในปี 2016 ด้วยการรื้อคอนกรีตริมลำธารออก และปรับแต่งใหม่ให้มีลักษณะตามธรรมชาติ ด้วยการปลูกต้นไม้พื้นเมือง เช่น ต้น ‘harakeke’ (flax พืชจำพวกปอ ป่าน) tī kouka (cabbage trees) และพืชจำพวกต้นกกต้นอ้อ เฟิร์น และพืชพรรณต่างๆ ที่ขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland plants)

การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้พื้นที่รอบๆ ลำธารสามารถดูดซับน้ำฝนส่วนเกินที่ตกลงมาได้ จนถูกเรียกว่าเป็นพื้นที่ ‘ฟองซับน้ำ’ (sponginess) และทำให้ออคแลนด์ถูกขนานนามว่าเป็นเมืองที่ดูดซับน้ำได้มากที่สุดในโลก ด้วยเหตุที่มีภูมิประเทศ ลักษณะของดินและการออกแบบผังเมืองที่เหมาะสม

กรุงไนโรบี เมืองหลวงของเคนย่า ถูกจัดเป็นเมืองที่ซับน้ำได้มากเป็นที่สอง คือซับปริมาณน้ำได้ราว 34 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่เมืองนี้มีพื้นที่สีเขียวและสีน้ำเงินมากกว่าออคแลนด์ (ที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนสาธารณะและสนามหญ้าของบ้านเรือนทั่วไป) แต่เพราะดินส่วนใหญ่มีลักษณะของดินเหนียว จึงมีความสามารถในการดูดซับน้ำได้น้อยกว่า

ส่วนเมืองที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ต่ำที่สุดคือกรุงลอนดอน ที่สามารถซับปริมาณน้ำได้เพียง 22 เปอร์เซ็นต์ จึงมีความเสี่ยงสูงในการถูกน้ำท่วมอย่างรุนแรง ดังจะเห็นได้จากน้ำท่วมในเดือนกรกฎาคม ปี 2021 เมื่อเกิดฝนตกนานราวหนึ่งชั่วโมง และมีปริมาณน้ำราว 47.8 มิลลิเมตร ทำให้เกิดน้ำท่วมถนนสายต่างๆ บ้านเรือนทั่วไป และสถานีรถไฟใต้ดิน


‘มนุษยสมัย’ สภาวะของโลกในปัจจุบันที่เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมอย่างรุนแรงในที่ต่างๆ ทำให้หลายประเทศพยายามหาทางแก้ไขด้วยวิธีการต่างๆ อันเป็นสาระสำคัญของตอนนี้ โดยผมได้เล่าถึงการค้นคว้า การทดลองวิธีการและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาน้ำท่วม เขียนถึงประสบการณ์อันยาวนานของคนดัตช์ในการป้องกันอุทกภัย และการทดลองแนวคิดใหม่ๆ ในนิวซีแลนด์และประเทศอื่น

ในตอนหน้าจะเขียนถึง ‘ภัยแล้ง’ หนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เป็นผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน และอันตรายจากการเกิด ‘ไฟป่า’ ที่สร้างความพินาศทั้งต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์ป่านานาชนิด ทรัพย์สินและความเสียหายทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ รวมถึงปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหาร ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลกในขณะนี้


[1] งานเขียนนี้เรียบเรียงขึ้นใหม่จากการนำเสนอที่ผมตั้งชื่อว่า “มานุษยวิทยาในวิกฤตธรรมชาติ” ในการเสวนาย่อยเรื่อง “มนุษยสมัยกับความเป็นธรรมทางนิเวศ” ในการประชุมวิชาการดังกล่าว เมื่อวันอังคารที่ 26 กรกฎาคม 2565

[2] ดู Kate Evans, “The ‘spongy’ cities of the future”, BBC Future, Future Planet I Natural Disaster, 24th August 2022, <https://www.bbc.com/future/article/20220823-how-auckland-worlds-most-spongy-city-tackles-floods>

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save