fbpx
ทำไมคนเราสองมาตรฐาน

ทำไมคนเราสองมาตรฐาน

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบางคนที่ต่อต้านคอร์รัปชันสุดลิ่มทิ่มประตู เกลียดนักการเมืองขี้โกงยิ่งกว่าสัตว์เลื้อยคลาน ถึงไม่รังเกียจตัวเองขณะยื่นแบงค์ร้อยให้ตำรวจเวลาถูกจับ มิหนำซ้ำยังภาคภูมิใจที่สามารถใช้เส้นฝากลูกเข้าโรงเรียนดีๆ อีกต่างหาก

 

ถ้าจะบอกว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องส่วนตัวก็ต้องบอกว่าแหม! อะไรกันจ๊ะ เพราะดูๆ ไปก็เหมือนกับว่าคนดีๆ เหล่านี้ยอมรับการโกงของข้าราชการและรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้

สองมาตรฐานชัดๆ!

คำตอบต่อคำถามที่ว่าอาจมีได้มากมายหลายอย่าง แต่หนึ่งในคำตอบที่สุดแสนจะธรรมดา คือ เพราะมันเป็นธรรมชาติของคน, ขึ้นชื่อว่า ‘คน’ ยังไงก็ต้อง ‘สองมาตรฐาน’ แบบนี้แหละ ไม่เห็นแปลกอะไร

แต่คำตอบธรรมดาๆ นี้กลับซ่อนคำอธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรมการคอร์รัปชันในแง่มุมทางจิตวิทยาไว้อย่างน่าสนใจ เพราะสาขาวิชานี้สนใจความคิด ความรู้สึก การรับรู้ และพฤติกรรมของมนุษย์ โดยตรง

นักจิตวิทยาอธิบายว่า พฤติกรรมสองมาตรฐานนี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว

โดยอธิบายว่า สาเหตุสำคัญที่คนเราแสดงพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับอุดมคติของตัวเอง เพราะเราสามารถหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเองได้ (rationalization) เช่น หากเรารู้สึกผิดที่เราตวาดเสียงดังใส่เพื่อน (ทั้งๆ ที่เราคิดว่าเราเป็นคนไนซ์) แต่เราก็จะอธิบายกับตัวเองว่า “เพราะเพื่อนกวน (ตีน) เราก่อน” เป็นต้น

พฤติกรรมนี้ไม่ใช่เรื่องของการ ‘ตอแหล’ แต่อย่างใด หากแต่เป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่คนทำเองก็อาจไม่รู้ตัว หากมองจากมุมมองแบบจิตวิเคราะห์ของซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) การหาเหตุผลเข้าข้างตนเองเป็นกลไกป้องกันตัวเอง (defence mechanism) ที่เกิดขึ้นในระดับจิตไร้สำนึก

นอกจากนี้ ยังมีทฤษฎีการไม่สอดคล้องของการรู้คิด (cognitive dissonance) ที่อธิบายว่า หากคนเรามีการรู้คิดที่ไม่สอดคล้องกัน เช่น หากเราแสดงพฤติกรรมหนึ่งออกไป และเราก็รู้ด้วยว่าพฤติกรรมนั้นไม่เหมาะสม เราจะเกิดความตึงเครียดภายใน ทางออกของเรื่องนี้คือ เราจะหาทางลดความตึงเครียดนั้นด้วยทุกวิธีการที่เป็นไปได้ และการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองเป็นวิธีที่เรานิยมทำกันมากที่สุด

ที่สนุกไปกว่านั้นคือ งานวิจัยในสายทฤษฎีการรู้คิดยังพบด้วยว่า ยิ่งเราคิดว่าตัวเองดีเลิศประเสริฐศรีมากเท่าไหร่ เรายิ่งมีแนวโน้มที่จะหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองมากเท่านั้น

(อืม! ถ้าไม่อยากเรียกว่า ‘ตอแหล’ ลดระดับคำให้สุภาพเรียบร้อยสมเป็นคนดีหน่อยก็ได้ว่า ‘หลอกตัวเอง’ ก็แล้วกัน)

แนวคิดเรื่องการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองถูกนำไปประยุกต์ใช้ศึกษาการแสดงพฤติกรรมที่ผิดจริยธรรม (unethical behaviors) อย่างกว้างขวางเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น การทรมานนักโทษในเรือนจำ การสังหารหมู่ที่นานกิง การสังหารชาวยิวในค่ายกักกันนาซี ฯลฯ รวมถึงเรื่อง การคอร์รัปชันด้วย

แซนดรา โรเธนเบิร์ก (Sandra Rothenberg) ศาตราจารย์แห่งสถาบันเทคโนโลยีโรเชสเตอร์ (Rochester Institute of Technology) ผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมธุรกิจและความรับผิดชอบต่อสังคมได้ร่วมกับทีมวิจัยนำแนวคิดนี้ไปพัฒนาต่อและพยายามเสนอคำอธิบายพฤติกรรมการคอร์รัปชันที่ซับซ้อนและมีพลวัตรมากขึ้น โดยคำถามที่เธอสนใจคือ การคอร์รัปชันขยายตัวอย่างรวดเร็วได้อย่างไร?

โรเธนเบิร์กอธิบายว่า การหาเหตุผลในการเข้าข้างตัวเองเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดภายในใจไม่ใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นแบบสมมาตรพอดีเป๊ะ แต่โดยธรรมชาติ กลไกการลดความตึงเครียดจะทำงานมากกว่าความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจริงเสมอ

พูดง่ายๆ ก็คือ คนเรามักจะ ‘แก้ตัว’ ให้กับการกระทำผิดๆ ด้วยการเข้าข้างตัวเองเกินจริงนั่นแล!

เมื่อเป็นแบบนี้ การหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเองจึงมักเป็นเหตุผลที่เกินจริงด้วย (over rationalization) ทีมวิจัยใช้กรณีคอร์รัปชันของบริษัทเวิลด์คอม (WorldCom) ที่อื้อฉาวไปทั่วโลกเป็นกรณีตัวอย่าง ซึ่งทีมวิจัยพบว่า เวิลด์คอมมีแนวโน้มที่จะอ้างเหตุผลเข้าข้างเกินจริงมากขึ้นเรื่อยๆ จากตอนแรกที่อ้างว่า “การที่ฉันคอร์รัปชันเป็นเพราะฉันต้องปกป้องบริษัทที่ยิ่งใหญ่เอาไว้” แต่ในภายหลังกลับอ้างว่า “การที่ฉันคอร์รัปชันเป็นเพราะฉันต้องปกป้องเศรษฐกิจของอเมริกา” (กันเลยทีเดียว!)

มาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านคงเดาได้แล้วว่า การหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองแบบเกินจริงนี่เองที่กลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมคอร์รัปชันที่รุนแรงขึ้น (ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ) และพฤติกรรมการคอร์รัปชันที่รุนแรงขึ้นก็ย้อนกลับไปกระตุ้นให้เกิดการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองแบบเกินจริงซ้ำเข้าไป เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ที่สุดท้ายแล้วการคอร์รัปชันก็จะมีเหตุผลรองรับมากขึ้นเรื่อยๆ

จึงไม่แปลก หากจะมีบางคนที่มีเหตุผลให้กับการคอร์รัปชันของกับตัวเอง โดยที่ในหัวของเขายังคิดเสมอว่า คอร์รัปชันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

 

และตัวเองก็ยังเป็น ‘คนดี’ อยู่!

 

อ้างอิง

Fishman, R., and Miguel, E., (2008). Economic Gangsters. Princeton, New Jersey: Princeton University Press.

Zyglidopoulos, S.C., Fleming, P.J. and Rothenberg, S., (2009). Rationalization, overcompensation and the escalation of corruption in organizations. Journal of Business Ethics 84(1): 65–73.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save