fbpx

เมื่อวาจาคืออาวุธ : สำรวจสมรภูมิโจมตีนักเคลื่อนไหวการเมืองบนสังคมออนไลน์ ที่สะเทือนไกลถึงพื้นที่ชีวิตจริง

นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในปี 2020 นอกจากพื้นที่บนท้องถนนแล้ว ‘สื่อสังคมออนไลน์’ ถือได้ว่าเป็นสมรภูมิแนวหน้าของการต่อสู้ระหว่างกลุ่มคนที่สนับสนุนและคัดค้านคลื่นความเคลื่อนไหวทางการเมืองระลอกดังกล่าว โดยมีอาวุธประหัตประหารอันสำคัญคือ ‘ข้อความ’

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทุกฝั่งฝ่ายต่างใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นเหยียดหยามต่อคนฝ่ายตรงข้าม ซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นใครที่ถูกด่าทอก็ย่อมได้รับผลกระทบทางจิตใจไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม น้ำหนักของประสบการณ์การถูกโจมตีที่แต่ละฝ่ายพบเจอกลับไม่ได้เท่าเทียมกัน เพราะโดยมากแล้ว ฝ่ายคนที่สนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือต่อต้านรัฐบาลทหาร มักโดนคุกคามในโลกจริงควบคู่ไปกับบนออนไลน์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกเล่นงานทางกฎหมายด้วยข้อหาที่รุนแรง ดังเช่นความผิดฐานนำเข้าข้อความอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงกฎหมายอาญามาตรา 112 อันว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

การคุกคามและโจมตีต่อกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองบนพื้นที่ออนไลน์ จนเกิดผลกระทบสืบเนื่องทั้งบนโลกออนไลน์เองและในชีวิตจริง นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาต่อเนื่องหลายปี ทว่าความขัดแย้งบนพื้นที่ออนไลน์ท่ามกลางสภาวะสังคมการเมืองไทยทุกวันนี้ยังไม่ค่อยถูกศึกษาแบบลงลึกและเป็นระบบมากนัก เราจึงทำการสำรวจลงสู่พื้นที่สังคมออนไลน์ เก็บรวบรวมข้อมูลบทสนทนาในประเด็นการเมืองบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ (Twitter; ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น X) ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2021 ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2023 เพื่อวิเคราะห์ว่าการโจมตีผู้เห็นต่างเกิดขึ้นในรูปแบบใด ใช้ถ้อยคำลักษณะใด มีการเคลื่อนไหวส่งต่อข้อความกันในวงกว้างขนาดไหน และที่สำคัญ การโจมตีทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลไปสู่การโจมตีบนโลกออฟไลน์ได้อย่างไร

ถ้อยคำแบบไหนถูกใช้เป็นอาวุธ?

ในการสำรวจ เราได้เลือก 23 บัญชีบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ที่พบเบื้องต้นว่ามีการใช้ข้อความในเชิงโจมตีนักเคลื่อนไหวการเมืองอย่างต่อเนื่อง มาเป็นกลุ่มตัวอย่าง บัญชีเหล่านี้มีลักษณะหลากหลาย ทั้งที่คล้ายกระดานข่าวที่ซุบซิบนินทากิจวัตรของนักกิจกรรมทางการเมือง หรือโพสต์น้อยมาก แต่เน้นรีทวิตข้อความที่มาจากบัญชีอื่นในเครือข่าย รวมถึงเป็นบัญชีที่ดูเหมือนเป็นบุคคลธรรมดา แต่ลักษณะร่วมกันของบัญชีเหล่านี้คือมีผู้ติดตามมากกว่า 5,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ มีหลายบัญชีซึ่งร่วมกันติดตามทั้ง 23 บัญชีที่เราเก็บข้อมูล โดยเราเก็บรวบรวมข้อมูลบทสนทนาทั้งหมดของทั้ง 23 บัญชีผ่านเครื่องมือ Twitter API ซึ่งทำให้พบว่ามีอย่างน้อย 67,894 ทวีต/โควตทวีต/รีพลาย ที่มีคำส่อไปในทางคุกคามต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง

เราแบ่งการวิเคราะห์ถ้อยคำเป็นสองส่วน ในส่วนแรกเราจัดจำแนกประเภทของคำที่ใช้ในการคุกคาม (ตารางที่ 1) พบว่าคำที่ใช้ในการคุกคามโดยส่วนมาก คิดเป็นร้อยละ 27 ของคำเชิงคุกคามทั้งหมด เป็นคำในเชิงจงใจบั่นทอนทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือต่อตัวตนของผู้เห็นต่าง (character assassination)

ถัดลงมา เราพบว่าร้อยละ 14 เป็นถ้อยคำในเชิงกล่าวหาว่าผู้เห็นต่างละเมิดกฎหมายสนับสนุนให้ถูกดำเนินคดี (accusations of criminality and calls for punities) ตามด้วยคำเชิงกล่าวหาว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันกษัตริย์ (accusations of anti-monarchy) คำเชิงกล่าวหาว่าทุจริต (accusations of corruption) คำเชิงกล่าวหาว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อชาติ (accusations of anti-nation) และคำในเชิงเหยียดเพศ (gender or sexuality-based disparagement) โดยแต่ละประเภทมีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ช่วงร้อยละ 10-12 

นอกจากนี้ยังมีถ้อยคำคุกคามประเภทอื่นๆ ที่พบในสัดส่วนไม่สูงนัก ได้แก่ คำลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ คำเชิงกล่าวหาว่าแบ่งแยกดินแดน คำเชิงเหยียดเชื้อชาติ และคำเชิงข่มขู่ประสงค์ร้ายต่อผู้เห็นต่างทั้งในทางตรงและทางอ้อม (ภาพที่ 1)

No.Interested NarrativesAbbreviated Keywords
1Direct Threats of Harm (ข่มขู่ประสงค์ร้ายโดยตรง)ตาย; มีอันเป็นไป; ในคุก; กำจัด; ยิง; ยิงกบาล; …
2Indirect Threats of Harm (ข่มขู่ประสงค์ร้ายโดยอ้อม)สวดอภิธรรม; แห่ศพ; ปอเต๊กตึ้ง; ร่วมกตัญญู; …
3Accusations of Anti-Monarchy (กล่าวหาว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันกษัตริย์)จาบจ้วง; หมิ่น; สถาบัน; 112; ศาล;…
4Accusations of Anti-nation and Sedition (กล่าวหาว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อชาติและยุยงปลุกปั่น)ทำลายประเทศ; ขายประเทด; ขยะสังคม; จัญไร; …
5Accusations of Corruption (กล่าวหาว่าทุจริต)โกง; ชาติ; แดก; …
6Accusations of Criminality and Calls for Punities (กล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายและสนับสนุนให้ถูกดำเนินคดี)คุก; ติดคุก; โดน; คดี; 112; กฎหมาย; เรือนจำ; ปกป้องสถาบัน; …
7Dehumanization (ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์)ควาย; แมลงสาป; แมงสาป; หมาสลิ่ม; ปรสิต; …
8Gender or Sexuality-based Disparagement (เหยียดเพศ)กระเทย; อิกระเทย; อีกระเทย; กระเทยเร่ร่อน; ลุง; …
9Race or ethnicity-based disparagement (เหยียดเชื้อชาติ)โจรใต้; แขก; เขมร; ขแมร์; ไม่ใช่คนไทย; ม็อบต่างด้าว; ต่างด้าว; …
10Narratives of separatism (กล่าวหาว่าแบ่งแยกดินแดน)แยกดินแดน; แบ่งดินแดน; แนวร่วม; โจรใต้; โจร, …
11Character Assassination (บั่นทอนความน่าเชื่อถือและทำลายชื่อเสียง)ชั่ว; จรรยาบรรณ; อุบาท; อุบาด; อุจาด;…
ตารางที่ 1: การแบ่งประเภทคำโจมตีผู้เห็นต่างในงานศึกษานี้

ภาพที่ 1: แผนภาพแสดงสัดส่วนประเภทของคำโจมตีผู้เห็นต่างทางการเมืองบนโลกออนไลน์ ซึ่งพบว่าคำประเภทบั่นทอนทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือต่อตัวตนของผู้เห็นต่าง (character assassination) มีสัดส่วนสูงที่สุด

ในส่วนที่สอง เรานำข้อความมาจำแนกกลุ่มคำตามหัวข้อ ซึ่งสะท้อนบริบทของการสนทนา พบว่าข้อความคุกคามต่อผู้เห็นต่างเหล่านี้เกิดขึ้นในบริบทเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวหรือชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย (ภาพที่ 2) ซึ่งโดยหลักพบว่าเป็นข้อความในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ผู้ชุมนุมประท้วง (เส้นสีม่วงอมแดง หรือ Mob + Critical ในภาพที่ 3) ควบคู่ไปกับการพูดถึงพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงของกลุ่มผู้ประท้วงในสถานที่ชุมนุม (เส้นสีฟ้า หรือ Mob + Violence + Place ในภาพที่ 3) โดยบัญชีที่เราสังเกตการณ์พูดถึงประเด็นนี้กันอย่างมากในช่วงต้นปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่การเคลื่อนไหวชุมนุมยังคงตื่นตัวต่อเนื่องมาจากความเคลื่อนไหวที่เริ่มปะทุขึ้นในปลายปี 2020 ก่อนที่จำนวนข้อความจากทั้ง 23 บัญชีที่พูดถึงประเด็นนี้จะเพิ่มขึ้นไปถึงสูงสุดในช่วงเดือนสิงหาคม 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์ม็อบดินแดง โดยมีการใช้ความรุนแรงตอบโต้กันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจเกิดขึ้นต่อเนื่องกันหลายวันที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง

อีกบริบทการสนทนาที่พบได้มากจากข้อมูลที่เก็บรวมคือข้อความที่มีเนื้อหาเชิงสนับสนุนสถาบันกษัตริย์และรัฐบาล รวมถึงข้อความที่เน้นย้ำถึงคุณค่าของสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลที่มีต่อสังคมไทย (เส้นสีส้ม หรือ Pro-institution และ เส้นสีแดง หรือ Institution + Society ในภาพที่ 3) โดยเป็นบทสนทนาที่มีความเคลื่อนไหวอย่างตื่นตัวต่อเนื่องตลอดช่วงระยะเวลาที่เราศึกษา และหัวข้อเกี่ยวกับสถาบันฯ ก้าวขึ้นมาโดดเด่นเป็นพิเศษนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2022 แทนที่บทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องการชุมนุมการประท้วง

นอกจากนี้ เทรนด์การสนทนาอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือบทสนทนาในประเด็นเกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญามาตรา 112 (เส้นสีม่วง; M.112 + Court) แม้ในภาพรวม ความเคลื่อนไหวของบทสนทนาในเรื่องนี้จะไม่ได้สูงโดดเด่นเหมือนประเด็นอื่นๆ ข้างต้น แต่น่าสังเกตว่าแนวโน้มบทสนทนามักเคลื่อนไหวสอดคล้องไปทิศทางเดียวกับบทสนทนาทั้งในประเด็นการชุมนุมประท้วงและในประเด็นการสนับสนุนสถาบันกษัตริย์และรัฐบาล

ภาพที่ 2: แผนภาพแสดงสัดส่วนของกลุ่มหัวข้อซึ่งสะท้อนบริบทของบทสนทนาในเชิงโจมตีผู้เห็นต่างบนโลกออนไลน์ พบว่าบทสนทนาจำนวนมากเกี่ยวข้องกับบริบทการชุมนุมประท้วง
ภาพที่ 3: แผนภูมิเส้นแสดงจำนวนทวีตข้อความที่เกิดขึ้นภายใต้แต่ละกลุ่มบริบทสถานการณ์

ถัดจากนั้น เราวิเคราะห์ข้อมูลการสนทนาของบัญชีกลุ่มตัวอย่างลงไปในระดับของกลุ่มคำ โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมแฮชแท็ก (hashtag) ทั้งหมดที่ปรากฏในการสนทนา ซึ่งพบว่ามีมากถึง 32,496 แฮชแท็ก เพื่อจำกัดขอบเขตของการวิเคราะห์ เราจึงคัดเลือกศึกษาเฉพาะแฮชแท็กที่มีใจความเกี่ยวข้องกับการโจมตีหรือคุกคามฝ่ายตรงข้ามอย่างชัดเจน และเป็นแฮชแท็กที่ถูกใช้โดยบัญชีกลุ่มตัวอย่างรวมกันตั้งแต่ 100 ครั้งขึ้นไป ทำให้เหลือแฮชแท็กในการศึกษาทั้งสิ้น 16 แฮชแท็ก ซึ่งโดยมากมีใจความเกี่ยวกับการชุมนุมของฝั่งตรงข้ามทางการเมือง (เช่น #ม็อบต้องการคนตาย, #สามกีบม็อบขยะสังคม ฯลฯ) และการสนับสนุนมาตรา 112 (เช่น #สนับสนุน112, #มาตรา112 ฯลฯ) อีกทั้งยังมีแฮชแท็กที่มีเนื้อหาในเชิงการรณรงค์ต่อต้านหรือขับไล่หน่วยงานต่างๆ (เช่น #Amnestyออกไป, #แบนLazada ฯลฯ)

ในทั้ง 16 แฮชแท็กนี้ มีข้อความรวมกันทั้งสิ้น 3,647 ข้อความซึ่งมาจากการทวีต/โควตทวีต/รีพลาย ของ 23 บัญชีกลุ่มตัวอย่าง เรานำข้อความทั้งหมดมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละกลุ่มคำสำคัญที่ปรากฏในข้อความต่างๆ ภายในทั้ง 16 แฮชแท็กนี้ โดยในภาพรวมเบื้องต้นพบว่า กลุ่มคำที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มคำอื่นๆ ในบทสนทนาทั้งหมดนี้มากอย่างเห็นได้ชัด หรืออาจหมายความได้ว่าเป็นกลุ่มคำที่มักปรากฏร่วมกับคำอื่นๆ บ่อยที่สุด คือคำว่า ‘ตำรวจ’ อีกทั้งมีกลุ่มคำอื่นที่น่าสนใจ เช่น สถาบัน, 112, 3กีบ, ชุมนุม, ยิง และ จับกุม (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4: แผนภาพเครือข่ายแสดงความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละกลุ่มคำในบทสนทนา โดยกลุ่มคำที่มีเส้นโยงหากันหมายความว่าเป็นกลุ่มคำที่มีความเชื่อมโยงกัน หรือกล่าวได้ว่ามักปรากฏในข้อความเดียวกัน และขนาดของวงกลมแสดงถึงระดับความสัมพันธ์ของกลุ่มคำนี้ที่มีต่อกลุ่มคำอื่นๆ ยิ่งขนาดวงกลมใหญ่แปลว่ากลุ่มคำนั้นยิ่งมีความสัมพันธ์กับหลายกลุ่มคำ

จากออนไลน์สู่ออฟไลน์
เมื่อปฏิบัติการโจมตีไม่ได้หวังผลเพียงทางหน้าจอ

การที่กลุ่มคำเหล่านี้ปรากฏความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มคำอื่นๆ ในข้อความสนทนาของบัญชีกลุ่มตัวอย่างสูง เป็นสิ่งตอกย้ำได้เบื้องต้นว่าการวิพากษ์โจมตีคนเห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะในประเด็นการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และการแสดงออกในเชิงเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันกษัตริย์ คือใจความสำคัญของบทสนทนาโดยส่วนใหญ่ แต่ยิ่งไปกว่านั้น การปรากฏของกลุ่มคำเหล่านี้ยังบ่งบอกได้อีกอย่างหนึ่งว่า บัญชีเหล่านี้ไม่ได้มีความมุ่งหวังเพียงการโจมตีคนเห็นต่างทางออนไลน์เท่านั้น ทว่ายังหวังผลให้ผู้เห็นต่างถูกลงโทษจากการกระทำของตนในโลกจริง โดยเฉพาะการถูกเล่นงานในทางกฎหมาย ซึ่งเมื่อมองจากความสัมพันธ์ของกลุ่มคำเหล่านี้กับกลุ่มคำอื่นๆ แวดล้อมแล้ว อาจแบ่งได้เป็นสองกรณีใหญ่ๆ

กรณีแรกคือการหวังผลให้เกิดการจัดการกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ทั้งการให้ชอบธรรมกับการใช้มาตรการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการสนับสนุนให้ผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเฉพาะการถูกจำคุก โดยมีการชี้เป้าหรือแสดงหลักฐานให้เห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมคือผู้ป่วนเมือง ไม่ว่าจะด้วยการใช้อาวุธ ทำลายข้าวของ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมไปถึงการออกมาแจ้งข่าวหรือแสดงความเห็นชอบหลังจากที่ผู้ชุมนุมเหล่านี้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว เห็นได้จากการที่กลุ่มคำเหล่านี้มักเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญกับกลุ่มคำอย่างเช่น ทำลาย, ทำร้าย, ระเบิด, โจมตี, ยิง, เผา, ป่วน และ ติดคุก ซึ่งพบว่าโดยส่วนใหญ่เป็นคำที่ปรากฏในช่วงการชุมนุมเดือนสิงหาคม 2021 และในเดือนพฤศจิกายน 2021 (ภาพที่ 5 และ 6)

ภาพที่ 7: ตัวอย่างทวีตข้อความโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุม

อีกกรณีหนึ่งคือการสนับสนุนให้ใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีต่อผู้เห็นต่าง ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยมักเป็นไปในทางกล่าวหาผู้นั้นว่าใส่ร้ายป้ายสีสร้างเรื่องบิดเบือน หรือล้อเลียน จนส่งผลเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ เห็นได้จากการที่กลุ่มคำเหล่านี้สัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญต่อกลุ่มคำเช่น ใส่ร้าย, บิดเบือน, หลอก, เฟคนิวส์ และ ล้อเลียน ซึ่งช่วยให้ความชอบธรรมในการลงโทษตามกฎหมายต่อผู้กระทำ และยังแสดงความเห็นด้วยเมื่อมีผู้เห็นต่างถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายมาตราดังกล่าว เช่นที่เห็นได้ว่า คำว่า คุก ก็เป็นอีกคำที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มคำอย่าง สถาบัน และ 112 อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจสำหรับบทสนทนาในกรณีหลัง ซึ่งนับได้ว่ามีความแตกต่างจากกรณีแรก คือนอกจากจะมีเพียงการใช้ข้อความในเชิงหวังผลให้ผู้เห็นต่างถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างธรรมดาๆ แล้ว ยังพบความเคลื่อนไหวในลักษณะเชิญชวนให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการชี้เป้าผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะด้วยการประกาศให้ผู้ที่พบเห็นคนที่เผยแพร่ข้อความทางออนไลน์ที่ส่อว่าละเมิดกฎหมายมาตรา 112 สามารถส่งหลักฐานการกระทำผิดไปยังบัญชีของกลุ่มหรือองค์กรต่างๆ ที่แสดงตนปกป้องสถาบัน

นอกจากนั้น ยังมีการเคลื่อนไหวในรูปแบบการทำแคมเปญระดมมวลชนแสดงพลังสนับสนุนการใช้กฎหมายจัดการต่อคนหรือองค์กรที่ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ ทั้งด้วยการล่ารายชื่อออนไลน์ และการนัดหมายรวมพลชุมนุมประท้วงในสถานที่จริง โดยพบว่ากลุ่มคำอย่าง สถาบัน และ 112 มีความเชื่อมโยงกับบางคำในบทสนทนาประเด็นการขับไล่แอมเนสตี้และการแบนลาซาด้าค่อนข้างชัดเจน

ภาพที่ 10: ตัวอย่างทวีตข้อความในกรณีการสนับสนุนการใช้กฎหมายมาตรา 112 ต่อผู้เห็นต่าง

ประเด็นการขับไล่องค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติอย่างแอมเนสตี้ เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2021 จากการที่แอมเนสตี้ออกมาคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้การชุมนุมเคลื่อนไหวของแกนนำกลุ่มคณะราษฎรนับตั้งแต่ปี 2020 เป็นการล้มล้างการปกครอง รวมถึงการจัดแคมเปญรณรงค์ให้ยุติการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรม ส่งผลให้องค์กรปกป้องสถาบันต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่แอมเนสตี้ออกจากประเทศไทย ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อขับไล่ทางออนไลน์ อีกทั้งยังมีการนัดหมายรวมตัวเพื่อแสดงพลังขับไล่ โดยเห็นได้ว่ากลุ่มคำ สถาบัน และ 112 มีความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญต่อคำว่า ลงชื่อ และ ไล่ รวมถึงยังปรากฏความเชื่อมโยงถึงคำว่ากบฏ โดยพบว่าเป็นการกล่าวหาแอมเนสตี้ว่าสนับสนุนความเคลื่อนไหวของกลุ่มกบฏ ซึ่งหมายความถึงกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย กรณีนี้นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่าการโจมตีฝ่ายตรงข้ามในประเด็นการก้าวล่วงสถาบันไม่ได้มีเพียงแต่การสนับสนุนให้ใช้มาตรา 112 เพียงวิธีเดียว แต่ยังใช้การบีบคั้นในลักษณะนี้ด้วย

การแบนแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์อย่างลาซาด้าในช่วงเดือนพฤษภาคม 2022 ก็เป็นอีกกรณีตัวอย่างที่สะท้อนถึงการใช้ความเคลื่อนไหวในรูปแบบดังกล่าว โดยประเด็นนี้เริ่มต้นจากการที่อินฟลูเอนเซอร์ดังเผยแพร่โฆษณาซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าเป็นการล้อเลียนพระบรมวงศานุวงศ์ ผ่านทางแพลตฟอร์มดังกล่าว จนนำไปสู่การรณรงค์เลิกใช้บริการลาซาด้าและกดดันให้บริษัทออกมาขอโทษ อย่างไรก็ตามในกรณีนี้กล่าวได้ว่ามีรูปแบบการเคลื่อนไหวโจมตีที่ประกอบกันสองชั้น คือนอกจากชั้นแรกที่เป็นการกดดันตัวบริษัทแล้ว อีกชั้นหนึ่งคือการสนับสนุนให้จัดการทางกฎหมายต่ออินฟลูเอนเซอร์ผู้จัดทำและมีส่วนร่วมแสดงบทบาทในโฆษณา เห็นได้จากการเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญระหว่างคำว่า 112 และ ล้อเลียน ทั้งยังสัมพันธ์กับคำว่า นารา ซึ่งเป็นชื่อของอินฟลูเอนเซอร์ผู้จัดทำโฆษณาชิ้นนี้

ภาพที่ 11: ตัวอย่างทวีตข้อความโจมตีกรณีขับไล่แอมเนสตี้และแบน Lazada

เมื่อเทียบกับกรณีการโจมตีผู้เห็นต่างในประเด็นการชุมนุมทางการเมืองแล้ว การโจมตีในประเด็นการก้าวล่วงสถาบันกษัตริย์มีรูปแบบความเคลื่อนไหวที่หลากหลาย เป็นระบบ และมีการเชื่อมโยงสู่การโจมตีในโลกออฟไลน์ โดยเฉพาะการโจมตีในทางนิติสงคราม ได้อย่างชัดเจนกว่า

แม้ผลวิเคราะห์จะบ่งชี้ว่าการใช้คำประเภทบั่นทอนชื่อเสียงของผู้เห็นต่าง หรือ character assassination จะเป็นกลุ่มคำที่พบมากที่สุดในบทสนทนาของทุกแฮชแท็กกลุ่มตัวอย่าง ทว่าคำประเภทนี้กลับไม่ได้เชื่อมโยงกับคำอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญมากนัก อาจเป็นเพราะคำในประเภทนี้มีความหลากหลายและถูกใช้กระจัดกระจายในหลายบริบทสถานการณ์ กลายเป็นว่าคำประเภทสนับสนุนให้ดำเนินคดีต่อผู้เห็นต่าง หรือ accusations of criminality and calls for punities กลับมีความเชื่อมโยงกับคำอื่นๆ สูงกว่าประเภทอื่นๆ อย่างเด่นชัด ตอกย้ำได้ว่าบริบทของการสนทนาค่อนข้างให้น้ำหนักไปที่ความพยายามกล่าวหาความผิดและสนับสนุนการดำเนินคดีตามกฎหมายของผู้เห็นต่างเสียมาก 

พลังทำลายล้างที่แพร่กระจายกว้างไกลกว่าที่คิด

ลำพังข้อความที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์อาจยังไม่ถือว่ามีพลังมากพอที่จะส่งผลคุกคามต่อกลุ่มเป้าหมายได้ หากแต่จะสามารถบรรลุผลได้ก็ต่อเมื่อข้อความเหล่านั้นถูกแพร่กระจายหรือส่งต่อออกไปในวงกว้าง หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างง่าย การสร้างโพสต์ล่ารายชื่อเพื่อกดดันบุคคลหรือองค์กรฝั่งตรงข้ามย่อมยากที่จะได้รายชื่อครบตามเป้าหมายหากโพสต์ข้อความไม่ได้ถูกส่งต่อไปเป็นจำนวนมาก หรืออย่างโพสต์ที่เป็นการแสดงหลักฐานชี้เป้าผู้กระทำความผิด ก็คงยากที่จะทำให้ผู้นั้นถูกลงโทษตามกฎหมายจริงได้ หากข้อความนั้นมีคนมองเห็นในวงแคบมาก

แล้วบัญชีกลุ่มตัวอย่างทั้ง 23 บัญชีที่เราติดตาม มีพลังในการแพร่กระจายข้อความไปได้มากขนาดไหน?

เราทำการจำลองแผนภาพเครือข่ายเส้นทางการแพร่กระจายของข้อความที่เกี่ยวโยงกับทั้ง 23 บัญชี โดยมีทั้งข้อความส่วนที่ 23 บัญชีนี้ถูกเผยแพร่ไปสู่บัญชีอื่นๆ และส่วนที่รับการเผยแพร่จากบัญชีอื่นๆ รวมถึงส่วนที่มีการเผยแพร่ระหว่าง 23 บัญชีด้วยกันเอง ข้อค้นพบในเบื้องต้นคือ 23 บัญชีนี้มีประสิทธิภาพในการแพร่กระจายข้อมูลมากกว่าบัญชีอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด และเห็นได้ว่าข้อความจากบัญชีเหล่านี้มีการเผยแพร่ต่อระหว่างกันและกันสูง ทั้งยังแพร่กระจายต่อไปยังบัญชีแวดล้อมอื่นๆ อีกจำนวนมหาศาล (ภาพที่ 12) แต่ก็พบว่าการไหลเวียนของข้อความค่อนข้างจำกัดในแวดวงบัญชีที่แสดงอุดมการณ์ทางการเมืองคล้ายกัน หรือกล่าวได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ห้องแห่งเสียงสะท้อน (echo-chamber)

ภาพที่ 12: แผนภาพเครือข่ายแสดงเส้นทางการเผยแพร่และรับข้อความ วงกลมแต่ละจุดหมายถึงแต่ละบัญชีทวิตเตอร์ ซึ่งมีทั้งบัญชีที่เราติดตามและบัญชีอื่นๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับบัญชีที่เราติดตาม ขนาดของวงกลมสะท้อนถึงระดับความสามารถในการแพร่กระจายข้อมูลต่อ ยิ่งขนาดวงกลมใหญ่ แปลว่ายิ่งมีความสามารถสูง โดยพบว่าบัญชีที่เราติดตามล้วนมีขนาดวงกลมใหญ่ นอกจากนี้ระดับความเข้มของสีวงกลมบ่งบอกถึงอิทธิพลในการกำกับการแพร่กระจายของข้อความ ยิ่งมีสีเข้มแปลว่ายิ่งมีอิทธิพลสูง

เมื่อพูดถึงการโจมตีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ หลายคนอาจนึกถึงภาพของ ‘ไอโอ’ (IO: Information Operation หรือ ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร) ในลักษณะบัญชีปลอมที่ไม่ได้แสดงตัวตนจริงของเจ้าของบัญชี และมักมีพฤติกรรมที่ทำให้จับผิดได้ง่ายว่าทำงานร่วมกันเป็นขบวนการกับบัญชีอื่นๆ เช่น การตัดแปะข้อความมาเผยแพร่ในเวลาใกล้ๆ กัน ทำให้มักเป็นที่เข้าใจกันว่าปฏิบัติการแบบนี้ไม่สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ใดๆ ได้มากนัก โดยงานศึกษาหัวข้อ Cheerleading Without Fans: A Low-Impact Domestic Information Operation by the Royal Thai Army ซึ่งทำการศึกษาถึงเครือข่ายบัญชีทวิตเตอร์ที่ดำเนินปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในเชิงสนับสนุนรัฐไทยและโจมตีผู้เห็นต่าง ที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพไทย ได้ให้บทสรุปว่าเครือข่ายปฏิบัติการดังกล่าว “เห็นผลสัมฤทธิ์ต่ำ” (low-impact operation) เนื่องจากข้อความที่ถูกสื่อสารออกมามักได้รับการปฏิสัมพันธ์ (engagement) ที่น้อยมาก อีกทั้งบัญชีทวิตเตอร์ในเครือข่ายเองก็มักมียอดผู้ติดตาม (followers) ที่ต่ำ

ทว่า 23 บัญชีกลุ่มตัวอย่างที่เราติดตาม กลับเสมือนว่ามีลักษณะตรงกันข้ามกับบทสรุปของงานศึกษาก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง ถือเป็นการลบล้างภาพจำของผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์หลายคนที่อาจเข้าใจว่าปฏิบัติการโจมตีผู้เห็นต่างทางออนไลน์เป็นการกระทำของกองทัพเพียงกลุ่มเดียว เพราะอันที่จริงยังมีปฏิบัติการในรูปแบบอื่น นั่นคือปฏิบัติการในลักษณะกระจายศูนย์ (decentralized campaign) โดยบัญชีที่มักประกาศตนว่าเป็นการทำด้วยจิตอาสา มีความเชื่อมโยงหรือปฏิสัมพันธ์กับบัญชีของกลุ่มภาคประชาสังคมฝ่ายขวาในทางใดทางหนึ่ง โดยไม่อาจพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่ามีการสนับสนุนเบื้องหลังจากรัฐหรือไม่

อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้บัญชีประเภทนี้นี้แตกต่างจากบัญชีไอโอทั่วไป คือสามารถสร้างผลสะเทือนต่อกลุ่มคนผู้เห็นต่างได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในกรณีการกล่าวหาผู้เห็นต่างว่าละเมิดมาตรา 112 ซึ่งเคยส่งผลให้ผู้เห็นต่างจำนวนไม่น้อยถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในโลกจริง จึงอาจกล่าวได้ว่า 23 บัญชีกลุ่มตัวอย่างในงานชิ้นนี้มีความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับปฏิบัติการในรูปแบบนี้อยู่มาก[1]

จากการสำรวจบทสนทนาของบัญชีกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ พบว่าหลายข้อความที่บัญชีเหล่านี้สร้างขึ้นหรือนำมาเผยแพร่ต่อ ได้รับปฏิสัมพันธ์และได้รับการนำไปเผยแพร่ต่อในวงกว้าง ขณะที่ยอดผู้ติดตามของบัญชีเหล่านี้โดยทั่วไปก็สูงในระดับหลักหมื่นจนถึงหลักแสน จากการวิเคราะห์ในเบื้องต้น ปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลให้ข้อความของบัญชีเหล่านี้ได้รับความสนใจสูง คือความขยันในการทวีตข้อความ โดยพบว่าบัญชีเหล่านี้ทวีตข้อความสูงถึงราวๆ เดือนละ 2,000 ทวีต และเคยพบความเคลื่อนไหวสูงสุดที่ระดับการทวีตสูงถึงกว่า 8,000 ทวีตในเดือนสิงหาคม 2022 (ภาพที่ 13)

ภาพที่ 13: แผนภูมิเส้นแสดงจำนวนการทวีตข้อความของบัญชีกลุ่มตัวอย่างแต่ละบัญชีในแต่ละช่วงเวลา โดยแต่ละเส้นแสดงถึงจำนวนการทวีตของแต่ละบัญชี

เมื่อสังเกตความเคลื่อนไหวในช่วงระยะ 24 ชั่วโมงของแต่ละวันว่าบัญชีเหล่านี้โพสต์หรือรีทวิตถี่แค่ไหน พบว่าบัญชีโดยส่วนใหญ่มีความเคลื่อนไหวค่อนข้างต่อเนื่องเกือบทุกวัน โดยมีวันที่ไม่เคลื่อนไหวเลยน้อยมาก และมีอยู่ 2 บัญชีที่ไม่มีวันหยุดพักการทวีตข้อความเลย

หลายคนอาจมองได้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรนักสำหรับคนเสพติดการเล่นทวิตเตอร์ ทว่า เมื่อเราดูข้อมูลความเคลื่อนไหวลึกลงไปในรายนาทีของแต่ละวันว่าบัญชีเหล่านี้โพสต์หรือรีทวิตถี่แค่ไหน จะสังเกตได้ว่าพฤติกรรมของบัญชีเหล่านี้น่าสงสัย โดยเฉพาะเมื่อเราพิจารณาจากมาตรฐานผู้ใช้โซเชียลที่เป็นบุคคลทั่วไป

ยกตัวอย่างเช่นบัญชีหนึ่งที่โพสต์หรือรีทวิตทุกๆ 7 นาทีเท่านั้น (ด้านซ้ายสุดของแผนภูมิแท่งในภาพที่ 14) ขณะที่มีอัตราการทวีตสูงถึง 206 ข้อความต่อวัน ด้วยความสามารถในการทวีตข้อความจำนวนมากในระยะเวลาที่ถี่ขนาดนี้ จึงทำให้น่าสงสัยในเบื้องต้นได้ว่าบัญชีดังกล่าวอาจใช้เวลาเล่นทวิตเตอร์ทั้งวันโดยแทบไม่มีเวลานอน กล่าวอีกอย่างได้ว่า ไม่ว่าเราจะติดโซเชียลขนาดไหน ก็ต้องหยุดไปนอนพักบ้าง แต่บัญชีนี้สามารถโพสต์ทั้งวันโดยไม่ต้องนอนเลย ในทางเทคนิคสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าบัญชีนี้มีพฤติกรรมคล้ายบอต (bot-like behaviors หมายถึง แนวโน้มของการใช้โปรแกรมอัตโนมัติเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข้อความ) หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นไปได้ว่ามีผู้ดูแลบัญชีมากกว่า 1 คน อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานนี้ยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัด โดยจำเป็นต้องมีการสืบสวนเชิงลึกต่อไป 

ภาพที่ 14: แผนภาพแสดงจำนวนวันที่แต่ละบัญชีไม่มีความเคลื่อนไหวติดต่อกันตั้งแต่ 24 ชั่วโมงขึ้นไป โดยแต่ละเส้นแนวนอนคือจำนวนวันทั้งหมดในการเคลื่อนไหวของแต่ละบัญชี ขีดสีฟ้าแต่ละขีดหมายถึงแต่ละ 24 ชั่วโมงที่บัญชีเหล่านี้ไร้ความเคลื่อนไหว
ภาพที่ 15: แผนภูมิแท่งแสดงจำนวนนาทีที่แต่ละบัญชีไร้การเคลื่อนไหวโดยเฉลี่ยในแต่ละวัน โดยแต่ละแท่งแสดงถึงระยะเวลาของแต่ละบัญชี

นอกจากนี้ เพื่อแกะรอยพฤติกรรมต้องสงสัย เรายังได้ตรวจสอบถึงข้อมูลโดยรวมของผู้ติดตามของแต่ละบัญชีกลุ่มตัวอย่าง จากเครื่องมือ followeraudit.com ซึ่งก็พบข้อสังเกตน่าสนใจประการหนึ่งว่าผู้ติดตามในเกือบทุกบัญชีกลุ่มตัวอย่างมักเพิ่งสร้างบัญชีขึ้นมาในช่วงปี 2020-2022 และโดยมากมักสร้างขึ้นในปี 2021 ซึ่งคู่ขนานกับเหตุการณ์สำคัญอย่างวิกฤตโควิด และการชุมนุมทางการเมือง ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่จึงถือเป็นอีกความผิดปกติหนึ่งที่ อาจต้องการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป (ภาพที่ 16 และ 17)

ด้วยข้อจำกัดของเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการศึกษา เรายังไม่พบหลักฐานที่ชี้ชัดได้ว่าทั้ง 23 บัญชีที่เราสังเกตการณ์มีการดำเนินปฏิบัติการโจมตีคนเห็นต่างทางออนไลน์ในลักษณะเชื่อมโยงกับบัญชีอื่นๆ หรือร่วมมือกันอย่างเป็นขบวนการแบบจริงจังหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในงานสืบสวนปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของ 101 ก่อนหน้านี้ในประเด็นเครือข่ายปฏิบัติการโจมตีผู้เห็นต่างในช่วงการระบาดของโควิด-19 เคยพบการกระทำในลักษณะที่ส่อได้ว่าทำเป็นขบวนการจริง และอันที่จริง เนื้อหาการโจมตีก็ไม่ได้มีเพียงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวัคซีนโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังมีเนื้อหาโจมตีในประเด็นทางการเมืองอื่นๆ ตามบริบทสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาด้วย จึงสะท้อนได้ว่าการโจมตีผู้เห็นต่างทางออนไลน์ในลักษณะเครือข่ายปฏิบัติการมีอยู่จริง เพียงแต่งานสืบสวนชิ้นนั้นไม่ได้มุ่งค้นหาว่าใครหรือองค์กรใด อยู่เบื้องหลังเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร

จุดประสงค์ของงานสืบสวนชิ้นนี้คือต้องการชี้ให้เห็นพลวัตของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ที่กระจายศูนย์โดยมีประชาสังคมเป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญ ทั้ง 23 บัญชีที่เราตรวจสอบดูเหมือนไม่มีความเกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการกับหน่วยงานรัฐ  ทว่าปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารซึ่งมุ่งโจมตีผู้เห็นต่างกลับสอดคล้องกับท่าทีของรัฐต่อผู้เห็นต่าง โดยบทความชี้ให้เห็นว่าถ้อยคำคุกคามผู้เห็นต่างที่บัญชีเหล่านี้เผยแพร่ในโลกออนไลน์ส่งผลในโลกจริงด้วย โดยเฉพาะการเล่นงานทางกฎหมาย ทั้งยังไม่รวมถึงความเป็นไปได้อื่นๆ ที่ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารออนไลน์จะสัมพันธ์กับการติดตามสอดแนมทางดิจิทัล หรือการขโมยข้อมูล

นักเคลื่อนไหวทางการเมืองได้รับผลกระทบในชีวิตจริงอันเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่เผชิญทางออนไลน์อีกหลายรูปแบบ เช่น การถูกติดตาม การถูกคุกคามทางร่างกาย และจำนวนไม่น้อยยังเผชิญปัญหาทางสุขภาพจิต จนส่งผลทางอ้อมถึงสุขภาพทางกาย ชีวิตส่วนตัว ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง ไปจนถึงหน้าที่การงาน[2] แต่การปกป้องคนที่แสดงออกทางการเมืองจากการถูกคุกคามแบบนี้ก็แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนี่ไม่ใช่ปัญหาที่ต้องแก้ในระดับนโยบายความปลอดภัยทางดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกจากประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองที่นับวันยิ่งแบ่งขั้วสังคมอย่างรุนแรง การแก้ปัญหาในเรื่องนี้จึงมีความซับซ้อนเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด


ติดตามรายงานผลการศึกษาฉบับเต็มได้ เร็วๆ นี้


ผลงานนี้เป็นความร่วมมือระหว่างโครงการ Monitoring Centre on Organised Violence Events (MOVE) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Politics

31 Jul 2018

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

ธนาพล อิ๋วสกุล

31 Jul 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save