fbpx

“อาการนี้จะติดตัวเราไปจนตาย” ไอโอ-การคุกคามออนไลน์ ผลทำลายล้างสุขภาพใจของนักเคลื่อนไหวการเมือง

“ถ้าด่าผมว่าชังชาติหรือล้มเจ้า ผมยังเถียงกลับได้ แต่ผมจะรู้สึกน้อยใจที่สุดเวลาโดนล้อเลียนเรื่องรูปร่างหน้าตา และที่ชวนโมโหตอนนี้คือโดนล้อเรื่องเพศมากกว่า หรือไม่ก็ตอนที่มาลงกับคนในครอบครัวของผม”

โจ (นามสมมติ) นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยรุ่นใหม่ เปิดเผยให้ฟังถึงความรู้สึกยามเมื่อต้องเห็นข้อความจากกลุ่มคนเห็นต่าง ที่คอยกระหน่ำโจมตีเขาทางสื่อสังคมออนไลน์ต่อเนื่อง โดยมีทั้งข้อความที่ส่งมาด่าทอหยาบคาย ล้อเลียน ใส่ร้ายป้ายสี สร้างข่าวบิดเบือน และกระทั่งข่มขู่คุกคาม

โจตั้งข้อสังเกตถึงคนที่เข้ามาใช้ถ้อยคำโจมตีเขาทางออนไลน์ว่า “เท่าที่เห็นจำนวนมาก เป็นบัญชีที่เปิดใหม่ ไม่ค่อยมีเพื่อน แล้วพวกนี้มักจะเข้ามาด่าเราแบบสั้นๆ ทั้งด่าเรื่องรูปร่าง ด่าว่าเป็นตุ๊ด ด่าว่าหนักแผ่นดิน ไม่ได้มีสาระอะไร เหมือนพยายามเข้ามาด่าเพื่อปั่นยอดมากกว่า แต่ถ้าเป็นบัญชีที่เข้ามาเขียนวิจารณ์เรายาวๆ ส่วนมากจะเป็นบัญชีจริง คือบัญชีจริงที่ด่าเราแบบสั้นๆ ก็มีอยู่ แต่ที่ด่าสั้นๆ ส่วนมากจะเป็นไอโอ”  

‘ไอโอ’ คือคำติดปากของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย โดยเป็นตัวย่อภาษาอังกฤษของคำว่า ‘Information Operation’ หรือแปลว่า ‘ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร’ ซึ่งโดยมากมักถูกใช้ในเชิงการเมือง เช่น ใช้เพื่อโน้มน้าวชักจูงความคิดผู้คน หรือโจมตี-สร้างความเกลียดชังต่อคนเห็นต่าง ในประเทศไทยเองมีหลายงานศึกษาและการตีแผ่สืบสวนที่ชี้ว่ามีการดำเนินการปฏิบัติการไอโอทางออนไลน์เพื่อหวังผลทางการเมืองอยู่จริง และพบว่าหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญก็คือหน่วยงานภายใต้รัฐ [1]

ในปัจจุบัน ปฏิบัติการนี้มักเป็นที่คุ้นเคยในภาพของบัญชีผู้ใช้อวตารบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ระดมใช้ข้อความด่าทอหยาบคาย ข่มขู่ หรือใส่ร้ายป้ายสี ดังที่โจเผชิญกับตัวเอง แต่นั่นยังเป็นเพียงการคุกคามทางออนไลน์รูปแบบเดียวเท่านั้น  

“ครั้งหนึ่งเคยมีบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กหนึ่งเอาเบอร์โทรผมไปแปะ จากนั้นก็มีคนคอยโทรมาข่มขู่ผมอยู่เยอะ แล้วก็ยังมีการเอาทะเบียนบ้านผมไปโชว์ ให้คนรู้ว่าบ้านผมอยู่ไหน” โจเล่า

“มีช่วงหนึ่งที่มีสายแปลกๆ คอยโทรหาผมอยู่เป็นเดือนๆ แต่โทรมาแล้วก็ไม่มีเสียงใครพูด บางทีมีแค่เสียงเพลงอะไรไม่รู้ เหมือนตั้งใจให้เราปวดประสาทเล่นๆ แล้วผมมารู้ทีหลังว่าเขาใช้เครื่องยิงสแปมในการโทรหาเรา” โจเล่าต่อ

“แล้วก็เคยมีคนเอาภาพจากแชตส่วนตัวที่ผมคุยกับคนอื่นไปแขวน แล้วก็เขียนข้อความประมาณว่า ‘กูรู้นะว่ามึงคุยกับคนนี้มา’ หรือครั้งหนึ่งก็มีแฟนเพจหนึ่งเอาภาพเพื่อนในกลุ่มของเราที่ปกติไม่ได้เปิดหน้า มาโชว์ทั้งหมด ให้เห็นว่าในกลุ่มเพื่อนเรามีใครบ้าง เราก็ฉงนใจมากว่าเขาไปได้ข้อมูลพวกนี้มาจากไหน” โจเล่า

โจตั้งข้อสังเกตว่าข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหลออกไป อาจเชื่อมโยงกับการถูกสอดแนมโดยเทคโนโลยีสปายแวร์ โดยในช่วงกลางปี 2022 นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักวิชาการอย่างน้อย 30 คน พบว่าโทรศัพท์มือถือของตัวเองถูกติดตั้งโปรแกรมสอดแนม ‘เพกาซัส’ (Pegasus) อันเชื่อได้ว่ากระทำการโดยรัฐ ขณะที่โจเองก็ได้รับข้อความจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือว่าได้ถูกพยายามเจาะเข้าระบบโดยผู้โจมตีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ (state-sponsored attackers)[2] แต่เมื่อโจนำมือถือเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ กลับไม่พบเพกาซัส จึงไม่แน่ใจว่าอาจเป็นโปรแกรมสอดแนมอื่นที่ยังตรวจสอบไม่ได้หรือไม่ 

“ผมว่าทุกอย่างเหมือนทำงานสอดคล้องกันหมด ขณะที่เพกาซัสคอยสอดแนมเรา ไอโอก็ป่วนประสาทเรา” โจสังเกต

คุกคามออนไลน์ผสานออฟไลน์ ภัยทำลายจิตใจที่รุนแรงกว่าที่คิด 

เรื่องราวของโจเป็นแค่กรณีตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น นับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา การปะทุขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำให้การคุกคามและสอดแนมทางดิจิทัลต่อนักกิจกรรมทางการเมืองทวีความเข้มข้นขึ้น จากทั้งหน่วยงานตำรวจ กองทัพ และองค์กรภาคประชาสังคมฝ่ายขวา โดยจากผลสำรวจเบื้องต้นพบว่า นักเคลื่อนไหวการเมืองเกือบทั้งหมด คิดเป็นราวร้อยละ 94 เคยถูกคุกคามทางออนไลน์ ในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลายผสมผสานกัน [3]

ไม่ว่าใครก็คงย่อมจินตนาการออกว่า หากตัวเองต้องประสบพบเจอข้อความข่มขู่คุกคาม ล้อเลียน ใส่ร้ายป้ายสี หรือถูกก่อกวนอย่างไม่หยุดหย่อน แถมยังรู้ตัวว่ากำลังโดนจับตาสอดแนมทุกย่างก้าว ก็ย่อมต้องเสียสุขภาพจิตกันไม่น้อย และนี่ก็คือภาวะที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยกำลังเผชิญในทุกวันนี้

นักเคลื่อนไหวการเมืองผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ราวร้อยละ 32 ยังเผยว่า การถูกคุกคามออนไลน์ทำให้พวกเขารู้สึกถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ตามมาด้วยความรู้สึกโกรธ และรู้สึกสูญเสียความมั่นใจในการทำงานทางสังคม ประมาณร้อยละ 24 และ 15 ตามลำดับ ยิ่งไปกว่านั้น นักกิจกรรมส่วนใหญ่ยังระบุว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบถึงสุขภาพจิตของพวกเขา โดยประมาณร้อยละ 32 ชี้ว่าการถูกคุกคามทางออนไลน์มีผลกระทบทางลบอย่างมากต่อสุขภาพจิตของพวกเขาเอง และราวร้อยละ 35 ชี้ว่ามีผลกระทบทางลบบ้าง

ผลกระทบของการคุกคามออนไลน์ต่อสุขภาพจิตของนักกิจกรรมเป็นไปในรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่ผลกระทบพื้นฐานอย่างความรู้สึกรำคาญใจ ความเครียด ความวิตกกังวล การเสียสมาธิ และการสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ไปจนถึงผลกระทบที่รุนแรงอย่างความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง อยากฆ่าตัวตาย และภาวะทางจิตเวช เช่นภาวะซึมเศร้า และ PTSD (ภาวะความเครียดหลังผ่านพ้นภยันตราย) ขณะที่บางส่วนยอมรับว่าได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพทางกายด้วย เช่น อาการนอนไม่หลับ ปวดหัว คลื่นไส้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว หรือรู้สึกร่างกายอ่อนแอลง

ภาพเปิดโปงโดยเชื่อได้ว่าเป็นการดำเนินปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของกองทัพจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
โดย ส.ส. พรรคก้าวไกล ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ วันที่ 31 สิงหาคม 2021

สำหรับโจ แม้เขาต้องเผชิญการคุกคามทางออนไลน์ผสมผสานกันหลายรูปแบบ แต่ตัวเขาพอมีความสามารถจัดการอารมณ์ความรู้สึกตัวเองได้ โดยส่วนมากแล้ว เขามีเพียงความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ แต่อาจทุกข์มากขึ้นพิเศษหากถูกล้อเลียนเรื่องรูปลักษณ์ เพศ หรือหากครอบครัวได้รับผลกระทบ อย่างที่เขาเล่าในตอนต้น 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อนักกิจกรรมเหล่านี้ยังเป็นเพียงผลเมื่อเรามองจากการคุกคามในทางออนไลน์แบบเดี่ยวๆ เท่านั้น เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยทุกวันนี้คือการคุกคามทางออนไลน์ได้ประสานเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับการคุกคามบนโลกจริง การสูญเสียสุขภาพจิตที่หลายคนเผชิญอยู่ในวันนี้จึงไม่ได้มาจากเพียงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่พวกเขาครอบครองอยู่เท่านั้น

“ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมเจอบนโลกออนไลน์เป็นเรื่องเล็กไป เพราะผมโดนในโลกออฟไลน์หนักกว่านั้นเยอะ” โจกล่าว

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของโจที่แตะถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้โจถูกฟ้องร้องในความผิดอาญามาตรา 112 หลายคดีความ ซึ่งโดยจำนวนมากเป็นการฟ้องร้องด้วยหลักฐานจากการถูกแคปข้อความบนโซเชียลมีเดีย โดยมีผู้ฟ้องร้องทั้งที่เป็นตำรวจ ประชาชนคนทั่วไป และแฟนเพจขององค์กรฝ่ายขวาต่างๆ ทำให้โจต้องเดินสายขึ้นโรงขึ้นศาลบ่อยครั้ง

“มันเสียสุขภาพจิต ขึ้นศาลเหนื่อยนะครับ ต่อให้นั่งฟังในศาลเฉยๆ ไม่ทำอะไรเลยก็เหนื่อยแล้ว มันกดดัน จริงๆ ผมไม่ได้กลัวเรื่องคดีความนะ คือเขาฟ้องว่าเราบิดเบือนข้อเท็จจริง เราก็เอาข้อเท็จจริงเข้าสู้ได้ แต่อย่างที่บอกคือมันเหนื่อย” โจเล่า พร้อมกับชี้ว่านอกจากการขึ้นศาลอย่างถี่ๆ จะบั่นทอนสุขภาพจิตเขาแล้ว ยังทำให้เสียเวลาและเสียโอกาสในชีวิต โดยเฉพาะการไม่สามารถมีงานประจำได้ ด้วยเวลาไม่แน่นอน อีกทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากจากการเดินทางไปศาลบ่อยๆ 

การเล่นงานทางกฎหมาย หรืออาจเรียกได้ว่า ‘นิติสงคราม’ คือหนึ่งในวิธีการยอดนิยมที่มักถูกใช้ควบคู่ประสานไปกับการสอดส่องติดตามและคุกคามบนโลกออนไลน์เพื่อปิดปากคนเห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟ้องร้องด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยนับตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่ามีผู้ถูกฟ้องร้องด้วยกฎหมายดังกล่าวทั้งสิ้นอย่างน้อย 252 คน ใน 271 คดี[4] ซึ่งแน่นอนว่าหลายคดีในนั้นมีที่มาจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์

สอดคล้องกับผลสำรวจเบื้องต้น นักเคลื่อนไหวการเมืองผู้ตอบแบบสำรวจชี้ว่า การฟ้องร้องทางกฎหมายคือการคุกคามทางออฟไลน์ที่พวกเขาเผชิญควบคู่ไปกับการถูกคุกคามทางออนไลน์มากที่สุด โดยคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด และนอกเหนือไปจากนิติสงครามแล้ว กลุ่มนักเคลื่อนไหวการเมืองยังถูกคุกคามบนโลกจริงที่เชื่อมโยงกับออนไลน์ในอีกหลายรูปแบบ เช่น การถูกเจ้าหน้าที่รัฐแอบติดตามหรือพูดจาเชิงข่มขู่ ซึ่งโจเองก็ต้องเผชิญเช่นกัน[5]

“ผมรู้สึกว่าจริงๆ เขาไม่ได้อยากจะติดตาม แต่อยากคุกคามเรามากกว่า เหมือนว่าเขาติดตามเพื่อให้เรารู้ว่าเขาติดตามอยู่แค่นั้น มันก็ทำให้ผมรู้สึกตลกร้ายว่าจะเอาอะไรกันนักหนา แต่ถ้าโดนติดตามตอนกลางคืน มันก็ทำให้ผมรู้สึกกลัวนะ” โจเล่าความรู้สึก

จิตหวาดระแวงที่ไม่อาจหายขาด ใต้เงากฎอัยการศึกชายแดนใต้

“ถ้าเป็นนักกิจกรรมในพื้นที่ทั่วไป มันไม่ได้มีกฎอัยการศึก เพราะฉะนั้นการที่เจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวใคร ต้องทำอย่างเป็นขั้นตอน แต่สำหรับพวกเราที่อยู่สามจังหวัดภาคใต้ เจ้าหน้าที่มีกฎอัยการศึกในมือ สามารถควบคุมตัวเราตอนไหนก็ได้ จะยึดคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรืออะไรก็ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต เลยรู้สึกว่าตรงนี้มีความเสี่ยงสูงและน่ากลัวกว่าพื้นที่อื่นมาก มันอาจหมายถึงชีวิตพวกเราเลยก็ได้” 

อาหมัด (นามสมมติ) นักกิจกรรมด้านสิทธิในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เล่าให้ฟังถึงความเสี่ยงในการทำงานของนักกิจกรรมในพื้นที่ ด้วยความที่พื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้ความขัดแย้งและความรุนแรงเรื้อรังมายาวนาน และถูกจับจ้องโดยรัฐในฐานะพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยความมั่นคงต่อชาติ การสอดส่องควบคุมพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่รัฐจึงเป็นไปอย่างเข้มข้น และนั่นก็ตามมาด้วยการที่นักกิจกรรมในพื้นที่ถูกคุกคามในรูปแบบที่น่ากลัวและแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ 

“ครั้งหนึ่ง ผมเคยโดนเจ้าหน้าที่มาหาถึงที่บ้าน มานั่งคุยกันอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วก็มีการยกปืนขึ้นมาขู่ นั่นเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ส่งผลต่อความรู้สึกของผมมากที่สุด” อาหมัดยกตัวอย่างประสบการณ์การโดนคุกคามของตัวเอง 

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายต่อหลายคนมีประสบการณ์คล้ายคลึงหรือกระทั่งรุนแรงกว่าสิ่งที่อาหมัดต้องเผชิญ ทั้งการถูกควบคุมตัว ซ้อมทรมาน หรือกระทั่งถูกวิสามัญนอกกฎหมาย อาหมัดชี้ว่าสาเหตุหลักเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐมีความเชื่อว่าพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่

“มันมีการทำไอโอ ปั่นว่าพวกแกนนำนักศึกษา แกนนำภาคประชาสังคมต่างๆ กำลังพยายามปลุกระดมให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน ถามว่าคนพวกนี้ได้รับผลกระทบไหม ร้อยเปอร์เซ็นต์ พวกเขาจะโดนเจ้าหน้าที่ตามไปถึงบ้าน ถูกคุกคามกันบ่อยๆ บางคนก็โดนขู่เอาชีวิต ขู่อุ้มหาย” อาหมัดเล่า โดยเขามั่นใจว่านี่คือส่วนหนึ่งของปฏิบัติการไอโอ ซึ่งสังเกตได้จากการใช้บัญชีอวตารในการปั่นกระแส และเขาก็มั่นใจว่าผู้อยู่เบื้องหลังคือกองทัพ

ย้อนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น ได้เปิดโปงในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถึงการทำปฏิบัติการไอโอที่มีหลักฐานชี้ว่ากองทัพคือผู้ดำเนินการ โดยพบว่าเนื้อหาส่วนหนึ่งคือการยุยงสร้างความแตกแยกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นถือเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยว่าการทำไอโอของกองทัพในประเด็นสามจังหวัดภาคใต้นั้นมีอยู่จริง 

“มันเคยมีเอกสารหลุดออกมาที่ชี้ว่า มีการป้อนข้อมูลต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่รัฐ ก่อนจะปฏิบัติการในพื้นที่ โดยเป็นข้อมูลที่สร้างความเกลียดชังระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่กับองค์กรด้านสิทธิ มันมีการแยกว่าองค์กรไหนอยู่ฝั่งไหนบ้าง และเขาก็ใช้โซเชียลมาโจมตีด้อยค่าพวกเราไปพร้อมกัน เหมือนที่เขาทำกับพรรคการเมืองที่เห็นต่าง เพราะฉะนั้นมันคือการด้อยค่าเราสองรูปแบบไปพร้อมกัน หนึ่งคือการด้อยค่าผ่านการปลูกฝังความคิดต่อเจ้าหน้าที่ และสองคือการด้อยค่าผ่านทางโซเชียล” อาหมัดเล่า 

ภาพบางส่วนจากเอกสารประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคอนาคตใหม่ปี 2563 ถึงการใช้ไอโอใส่ร้ายป้ายสีนักกิจกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้
นำภาพมาจาก https://prachatai.com/journal/2020/03/86617

แน่นอนว่าอาหมัดเองก็เคยมีประสบการณ์ถูกไอโอใส่ร้ายป้ายสี โดยเฉพาะการกล่าวหาว่าเขาเป็นโจรใต้และมีความพยายามแบ่งแยกดินแดน รวมทั้งมีการผูกโยงเขากับทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ เขาเล่าว่า “บางทีเราเจอเจ้าหน้าที่ตามงานกิจกรรมต่างๆ ของเรา จากนั้นก็มีรูปเราปรากฏ (บนโซเชียล) เราก็จำได้ว่ามันคือฉากของกิจกรรมนั้น ก็เลยพอรู้ได้ว่าเป็นใครทำ” 

ไอโอมีผลทำให้คนและองค์กรในพื้นที่บางส่วนเชื่อว่าอาหมัดเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการก่อความไม่สงบจริง โดยในบางครั้งมีคนเรียกเขาระหว่างการสนทนาต่อหน้าด้วยคำว่า “โจรใต้” ซึ่งอาหมัดมองว่ากระทบการทำงานเคลื่อนไหวด้านสิทธิของเขาไม่น้อย โดยเฉพาะข้อกังวลที่ว่าจะส่งผลให้หน่วยงานต่างๆ ไม่ยินดีรับฟังข้อเสนอจากเขา แต่เมื่อเทียบกับนักเคลื่อนไหวอีกหลายๆ คน อาหมัดมองว่าสิ่งที่ตัวเองเผชิญจากการใช้ไอโอใส่ร้ายป้ายสียังค่อนข้างน้อย ด้วยความที่เขามีความระมัดระวังในการแสดงออกสูง ผลกระทบทางใจของเขาในเรื่องนี้จึงไม่ได้มีมากนัก 

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าไอโอจะไม่ส่งผลกระเทือนถึงสุขภาพจิตเขาเสียทีเดียว เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้ว นักเคลื่อนไหวที่โดนไอโอใส่ร้ายป้ายสีทางออนไลน์ มีผลที่ตามมาทางอ้อมคือการถูกเจ้าหน้าที่ติดตามคุกคามในโลกจริง อย่างที่อาหมัดเล่าก่อนหน้านี้ว่าตัวเขาเคยถูกบุกข่มขู่ถึงบ้าน เคยถูกรถเจ้าหน้าที่สะกดรอยตามอยู่บางครั้ง และที่ร้ายแรงที่สุดคือการถูกซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัว

ภาพถ่ายโดย Madaree TOHLALA / AFP

“ผมมีความรู้สึกแฟลชแบ็กจากเหตุการณ์ แล้วมันมีผลกับการดำเนินชีวิต ทำให้เราต้องคอยระแวงเวลาขับรถ พอเห็นรถแปลกๆ ตามมาข้างหลัง เราจะมีปฏิกริยาตลอด ตรงนี้กระทบกับเรามากกว่าการใช้โซเชียลมีเดียมาคุกคามเรา” อาหมัดเล่า และชี้ว่าอาการที่เขาเป็นอยู่คือ PTSD

“สมมติเวลาเกิดเหตุระเบิดหรือเหตุรุนแรงในพื้นที่ตำบลหรืออำเภอที่เราอาศัย เราจะรู้สึกเหมือนเรากำลังจะโดนเจ้าหน้าที่ปิดล้อมอยู่ตลอดเวลา แล้วกลัวเขาจะเอาเราไปซ้อมทรมาน วัฏจักรนี้วนกลับมาหาเราบ่อยๆ เพราะเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเรื่อยๆ และพอเรามีปัญหา คนในครอบครัวเราก็จะไม่เข้าใจ เช่นว่าทำไมเราต้องหนีไปนอนที่อื่น ทำไมเราถึงกระวนกระวาย เดินไปเดินมา นอนไม่ได้ หงุดหงิด ซึ่งต้องใช้เวลานานมากกว่าที่พวกเขาจะเข้าใจ” อาหมัดเล่าต่อ 

“มันอาจจะไม่ได้แฟลชแบ็กขึ้นมาทุกวัน แต่มันก็จะมีความกังวลตลอดเวลาว่าจะโดนดักทำร้ายไหม จะโดนควบคุมตัวอีกไหม ทำให้ทุกวันนี้เรารู้สึกเหนื่อยง่าย ต้องไปเจอนักจิตวิทยาบ่อย ไม่รู้กี่รอบแล้ว มันก็กระทบกับการทำงานและสังคมด้วย รู้สึกว่าชีวิตส่วนตัวและสุขภาพใจโดนทำลายเยอะมาก” อาหมัดเล่า 

อาหมัดบอกด้วยว่าอาการ PTSD เกิดกับนักกิจกรรมในพื้นที่อีกหลายคน รวมทั้งจำนวนไม่น้อยยังมีอาการเบิร์นเอาต์ จนส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวในพื้นที่ โดยสาเหตุไม่ได้เกิดจากเพียงการถูกคุกคามอย่างซึ่งหน้าเท่านั้น แต่ยังมีสาเหตุจากการถูกติดตามสอดแนมอย่างใกล้ชิดด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น บางคนเคยพบว่าโดนแอบติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัวในยานพาหนะ[6] อีกทั้งการที่รัฐใช้มาตรการพิเศษในพื้นที่อย่างการลงทะเบียนซิมโทรศัพท์มือถือ ‘2 แชะ อัตลักษณ์’ และการเก็บดีเอ็นเอของคนในพื้นที่ ก็ยิ่งนำความหวาดระแวงในการถูกติดตามสอดแนมมาสู่บรรดานักเคลื่อนไหวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้[7]

“ผมเคยคุยกับหมอคนหนึ่ง เขามีความเห็นว่าอาการพวกนี้ไม่สามารถหายขาดได้ มันอาจจะช่วยได้ถ้าเราออกจากพื้นที่ที่มีการบังคับใช้กฎหมายพวกนี้ เพราะเวลาเราเจอทหารหรือเห็นอาวุธ จะเป็นตัวกระตุ้นอย่างดีให้เรามีอาการตลอดเวลา แต่ในทางปฏิบัติ มันก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะออกไป เพราะเราก็ไม่ได้มีต้นทุนขนาดนั้น” อาหมัดกล่าว

“หลายคนถูกควบคุมตัว ถูกดำเนินคดี แต่สุดท้ายก็ยกฟ้อง ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่าเขาควรได้รับ แต่ไม่มีใครถามว่าชีวิตพวกเขาหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร สำหรับผม ผมว่าอาการพวกนี้จะติดตัวผมไปจนตาย” อาหมัดกล่าว

ภาพโฆษณาการลงทะเบียนซิมโทรศัพท์ 2 แชะอัตลักษณ์
ภาพจาก: Facebook – กสทช.

ใครทำร้ายเรา ก็ไม่เจ็บเท่าเราทำกันเอง –
ความเจ็บปวดของนักเคลื่อนไหวเรื่องเพศ ในสังคมที่ยังตื่นรู้ไม่สมบูรณ์

“ถ้าเป็นรัฐทำ มันยังคาดเดาได้ว่าเขาต้องมีปฏิกริยาแบบนี้ เขาเชื่อแบบนี้ แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยเหมือนกับเรา เราก็มีความคาดหวังอีกแบบหนึ่งกับเขา แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเราคงผิดตั้งแต่แรกที่ไปคาดหวังว่าคนที่ออกมาเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยจะรู้และเข้าใจทุกอย่าง”

ดาว (นามสมมติ) นักเคลื่อนไหวด้านความเท่าเทียมทางเพศ ระบายความรู้สึก เธอเล่าว่า นอกจากจะถูกกลุ่มคนฝ่ายขวาคุกคามเธอทางออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอคาดเดาได้อยู่แล้ว แต่ที่เจ็บปวดกว่านั้นคือคนที่คุกคามเธออีกจำนวนไม่น้อยกลับเป็นคนที่แสดงจุดยืนเรียกร้องประชาธิปไตยเหมือนกันกับเธอ จากการที่เธอออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นผู้หญิง

ขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยนับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ไม่ได้มีเพียงการขับเคลื่อนในประเด็นการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีการเคลื่อนไหวในหลายประเด็นควบคู่กัน ไม่ว่าจะเรื่องการศึกษา สิทธิแรงงาน ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่จากประสบการณ์ของดาว การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิทางเพศกลับมีพื้นที่น้อยในขบวนการเคลื่อนไหว กระทั่งโดนคุกคามจากมวลชนร่วมอุดมการณ์ด้วยกันเอง

“แน่นอนว่าหลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหวต้องโดนคุกคามทางเพศจากกลุ่มคนที่ต่อต้าน แล้วยังต้องมาเจอคนในขบวนการประชาธิปไตยกันเองคุกคาม อย่างเช่น ตอนเต้นสีดาลุยไฟ ก็ไม่ได้โดนแค่ฝั่งอนุรักษนิยมเข้ามาโจมตี แต่คนฝั่งประชาธิปไตยที่ไม่เห็นด้วยกับเฟมินิสต์ก็เข้ามาคอมเมนต์ในเชิงคุกคามคนกลุ่มนี้ แล้วยังมีการเอาภาพ เอาคลิปไปตัดต่อ ล้อเลียน” นุ่น (นามสมมติ) นักเคลื่อนไหวด้านความเท่าเทียมทางเพศอีกคนหนึ่ง ออกมาเล่าสอดคล้องกับดาว

“นักกิจกรรมเฟมินิสต์หลายคนทั้งที่เคลื่อนไหวบนท้องถนนและออนไลน์ต้องเจอการคุกคามซ้อนหลายชั้น ชั้นที่หนึ่งคือการถูกคุกคามในฐานะนักกิจกรรมทางการเมือง ก็คือการถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีหรือคุกคามในม็อบ และชั้นที่สองคือบนโลกออนไลน์ ก็ต้องเจอการถูกบุลลี ใช้ภาษาเหยียดหรือคุกคามทางเพศ ถูกขู่ฆ่า ขู่ข่มขืน จากคนทุกฝั่ง หรืออย่างเวลามีงานกิจกรรมหรือเสวนาต่างๆ โปสเตอร์งานก็มักจะถูกเอาไปแชร์โดยกลุ่มไม่เอาเฟมินิสต์ แล้วเหมือนเขานัดกันมาระดมคอมเมนต์ ทำลายพื้นที่สนทนาในไลฟ์ จนทำให้กิจกรรมเกิดขึ้นไม่ได้ แล้วบางคนก็ยังโดนส่งข้อความไดเรคไปคุกคามอีก” นุ่นเล่า

เช่นเดียวกับนุ่นเอง เธอก็เคยตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางออนไลน์จากการออกมาเคลื่อนไหวของเธอ ในช่วงที่เธอโดนคุกคามหนักๆ เธอเล่าว่าเธอไม่สามารถรับมือได้ไหวจนถึงขั้นต้องหยุดเล่นโซเชียลมีเดียไประยะหนึ่ง ซึ่งคล้ายกับนักเคลื่อนไหวด้านเพศที่นุ่นรู้จักหลายคนที่ต้องใช้วิธีเดียวกัน ซึ่งนุ่นชี้ว่ามันคือการส่งผลให้นักเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ต้องสูญเสียพื้นที่ในการออกมาเรียกร้องทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์

“มันกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ มีความหวาดกลัวว่าจะถูกทำร้ายเวลาออกไปข้างนอก กลัวมีคนจำหน้าได้ รู้สึกไม่ปลอดภัยชีวิต และด้วยความที่คนที่โจมตีเขาคือฝ่ายเดียวกันเองด้วย เพราะฉะนั้นแม้กระทั่งจะไปม็อบประชาธิปไตย หลายคนก็ยังรู้สึกไม่ปลอดภัย” นุ่นเล่า  

แต่ยิ่งไปกว่าการสูญเสียพื้นที่ในการออกมาเคลื่อนไหว คือสุขภาพจิตของนักกิจกรรมด้านเพศหลายคนที่ถูกทำลาย จนจำนวนไม่น้อยต้องเข้ารับบริการจิตแพทย์

“เราเองก็เคยมีภาวะที่รู้สึกไม่ไหว พอเราต้องเจอคอมเมนต์หรือรีพลายที่แย่มากเข้าๆ ก็ส่งผลต่อสภาวะจิตที่เคยถึงขั้นว่าอยากฆ่าตัวตายประท้วง” นุ่นเล่าจากมุมตัวเอง 

เช่นเดียวกับดาวที่ต้องประสบปัญหาทางสุขภาพจิต จนต้องพยายามหาทางบำบัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเธอตัดสินใจออกมาเปิดเผยประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศของตัวเองบนโลกออนไลน์ 

“มีคนโจมตีเราว่าเราแกล้งทำตัวเป็นเหยื่อ ใช้แสงที่เรามีโจมตีเขา แล้วพยายามทำให้ภาพของเราดูเป็นหญิงร่าน สมยอม และมีเพื่อนผู้ชายของเราหลายคนทักมา กดดันให้เราอธิบายต้องอธิบายทันที ตอนนั้นเรานอนเป็นผักไปเลย” ดาวเล่า และเผยด้วยว่ามันเคยทำให้เธอมีความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง 

“ตอนเคลื่อนไหวทางการเมืองในสมัยเป็นนักศึกษา เราเคยถูกโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่เราไม่คิดว่ามันเป็นคำด่า และตอนนั้นเราก็ยังมีเพื่อนที่เห็นร่วมกันกับเราว่าจำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนั้น เราถึงผ่านมันมาได้ แต่ตอนนี้พอมาเคลื่อนไหวเรื่องเพศแล้วโดนด่า นี่ทำให้เราเจ็บกว่า เพราะเป็นการโดนจากคนใกล้ตัว และไม่ใช่ว่าเราจะระบายให้ทุกคนฟังได้ เพราะเราต้องแน่ใจว่าเขามีฐานคิดเรื่องเฟมินิสต์ที่มากพอจะรับฟังเราได้ด้วย” ดาวเล่า

จะแก้ปัญหานี้อย่างไร ในเมื่อ ‘รัฐ’ เป็นผู้กระทำเสียเอง?

ผลกระทบจากการออกมาเคลื่อนไหวของบรรดานักกิจกรรมทางการเมืองที่เราเห็นได้ชัดที่สุดตามหน้าข่าว มักเป็นเรื่องการถูกเล่นงานทางกฎหมาย หรือการถูกคุกคามทางร่างกาย ไม่ว่าจะโดยกลุ่มคนที่เห็นต่างหรือโดยเจ้าหน้าที่รัฐเอง แต่การถูกคุกคามทางออนไลน์อันถือได้ว่าเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นใกล้ตัวนักกิจกรรมมากที่สุด กลับยังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก แม้ว่าในหลายกรณีจะส่งผลร้ายแรงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะผลต่อสุขภาพทางจิต

บางกรณีอาจเห็นได้ว่า การถูกคุกคามบนโลกออนไลน์เพียงลำพังอาจไม่ได้กระทบกระเทือนต่อจิตใจของนักกิจกรรมผู้ถูกคุกคามมากนัก อย่างไรก็ตาม หากมองว่าการคุกคามทางออนไลน์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงพื้นที่หน้าจอ แต่ยังประสานเชื่อมโยงสู่การคุกคามในโลกจริง ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าผลกระทบที่พวกเขาได้รับมีไม่น้อย โดยไม่เพียงมีผลทางสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังกระเทือนถึงการทำกิจกรรมเคลื่อนไหว การใช้ชีวิตส่วนตัว และความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง 

ในยุคสมัยปัจจุบันที่โลกออนไลน์มีความสำคัญยิ่งต่อการใช้ชีวิตในทุกมิติ และยังเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการออกมาเคลื่อนไหวขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมและการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักกิจกรรม การถูกคุกคามหรือติดตามสอดแนมทางออนไลน์จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

เมื่อไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ นักกิจกรรมแต่ละคนจึงพยายามหาทางรับมือเบื้องต้นในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเลี่ยงไม่อ่านคอมเมนต์ ปล่อยผ่าน มองเป็นเรื่องขำขัน โต้ตอบ บล็อก ประจาน หรือรายงานความผิดต่อบัญชีที่ก่อกวน พักการใช้โซเชียลมีเดีย การเข้ารับบริการบำบัดทางใจ รวมถึงการไปศึกษาเรียนรู้การปฏิบัติตามแนวทางความปลอดภัยทางดิจิทัล  

แนวทางใดที่จะสามารถปกป้องนักกิจกรรม รวมถึงคนทั่วไป ให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ออนไลน์ได้ โดยไม่ถูกคุกคาม เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายต้องร่วมกันพูดคุยเพื่อตกผลึกกันต่อไป อย่างไรก็ดี ในกรณีประเทศไทย การปกป้องเสรีภาพในการพูดทางออนไลน์นี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ในเมื่อหลายกรณี คนที่ดำเนินการคุกคามกลายเป็น ‘รัฐ’ เสียเอง

“ผมก็ไม่รู้เรื่องนี้จะแก้อย่างไร พอคนที่บังคับใช้กฎหมายเป็นคนที่คุกคามเราเอง แล้วเราจะไปร้องเรียนใครได้ ใครจะมาพิพากษารัฐในเรื่องนี้” โจให้ความเห็น 

เช่นเดียวกับอาหมัดที่กล่าวว่า “ผมว่าเราควรมีรัฐบาลที่เอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาเรื่องนี้ อาจมีการนำตัวคนผิดมาดำเนินคดี แล้วต้องลงโทษให้ได้ และไม่ใช่แค่คนกระทำเท่านั้น แต่ต้องลงโทษผู้บังคับบัญชาด้วย เพราะการเอางบประมาณจากภาษีประชาชนมาทำร้ายประชาชน เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง”  


ติดตามรายงานผลการศึกษาฉบับเต็มได้ เร็วๆ นี้ 


ผลงานนี้เป็นความร่วมมือระหว่างโครงการ Monitoring Centre on Organised Violence Events (MOVE) และ The101.world

References
1 เช่น Cheerleading Without Fans: A Low-Impact Domestic Information Operation by the Royal Thai Army
2 ดูเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่ From Trojan Horse to Pegasus: When the Big Brother is watching you และ ปรสิตติดโทรศัพท์ : ข้อค้นพบเมื่อสปายแวร์เพกาซัสถูกใช้ต่อผู้เห็นต่างจากรัฐบาล
3 จากแบบสำรวจภายใต้งานวิจัย Mapping and Mitigating Digital Harassment against Human Rights Defenders in Thailand โดยโครงการ Monitoring Centre on Organised Violence Events (MOVE) ซึ่งมีผู้ตอบแบบสำรวจล่าสุด 34 คน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2023
4 ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2566
5 อ่านเพิ่มเติมได้ที่ “We are Independent Trolls”: The Efficacy of Royalist Digital Activism in Thailand และ Digital repression of protest movements: #WhatshappeninginSoutheastAsia
6 อ่านเพิ่มเติมที่ แอบติด GPS นักกิจกรรม ทำไม่ได้ ไม่มีกฎหมายรองรับ
7 อ่านเพิ่มเติมที่ บังคับเก็บ DNA เหลื่อมล้ำยุติธรรม? และ นโยบายซิมการ์ดในพื้นที่ชายแดนใต้: ภาพสะท้อนของเสียงที่ไม่ถูกรับฟัง และรัฐที่ไม่เห็นความสำคัญของประชาชน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save