fbpx

ส่อง Fake News และ IO ไทยในวิกฤตโควิด-19 เมื่อวัคซีนคืออาวุธประหัตประหารคนเห็นต่าง

วัคซีนของจีนดีที่สุด!?

“รีพอร์ตของนิวส์ยอร์คไทม์ครับ นี่คือการจัดอันดับวัคซีน อันดับ 1-4 เป็นของจีน แต่ไฟเซอร์ที่หลายคนชื่นชมอยู่อันดับที่ 6 ครับ อันดับความปลอดภัยของวัคซีนที่ฉีดในไทยตอนนี้ Sinovac กับ AZ อยู่อันดับ 2 และ 5 ในขณะที่ Pfizer ที่เรียกร้องอยากฉีดอยู่อันดับ 6…”

ข้อความนี้แพร่สะพัดในหลายแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในประเทศไทยในช่วงกลางปี 2021 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญการแพร่ระบาดอย่างร้ายแรงของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งในขณะนั้น คนไทยต่างก็กำลังพุ่งความสนใจไปที่ ‘วัคซีน’ อันเปรียบเหมือนความหวังพาประเทศออกจากวิกฤต ข้อความดังกล่าวอ้างอิงถึงบทความหัวข้อ It’s Time to Trust China’s and Russia’s Vaccines ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักข่าว New York Times ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2021

ทว่าเมื่อเข้าไปดูเนื้อหาในบทความข่าวที่ว่า ไม่มีส่วนไหนที่ปรากฏเนื้อหาดังที่อ้างในข้อความ ซึ่งแปลได้ว่าข้อความดังกล่าวที่ถูกส่งต่อกันอย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์ของไทยนั้นเป็น ‘ข้อความเท็จ’

ภาพ 1: ตัวอย่างโพสต์ที่อ้างบทความของ New York Times ว่าวัคซีนของจีนดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม การระบาดของข้อความเท็จดังกล่าวไม่ได้อยู่แค่ในไทยเท่านั้น เพราะเมื่อตรวจสอบดูจาก CrowdTangle ซึ่งเป็นเครื่องมือรวบรวมความเคลื่อนไหวของกิจกรรมทางโซเชียลมีเดีย พบว่ามีการแพร่กระจายข่าวนี้ไปในหลายพื้นที่ของโลกก่อนหน้าที่จะพบในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ไต้หวัน รัสเซีย มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย โดยมีทั้งในภาษาท้องถิ่นและภาษาอังกฤษ ข้อความเท็จนี้มีการเผยแพร่ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2021 แม้ New York Times จะลงข้อความแจ้งเตือนไว้ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2021 ว่าบทความได้ถูกนำไปบิดเบือนเนื้อหาจนห่างไกลจากข้อเท็จจริง

สำหรับในประเทศไทย ข้อความเท็จดังกล่าวถูกพบบน Facebook เป็นครั้งแรกผ่านเครื่องมือ CrowdTangle ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2021 ในแฟนเพจ ‘เสียงชาวบ้าน วิชาการของชาวบ้านเพื่อชาวบ้าน’ และพบข้อความสุดท้ายในวันที่ 23 กันยายน 2021 โดยตลอดระยะเวลาเกือบ 5 เดือนที่ข้อความนี้เผยแพร่ในไทย มีโพสต์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอยู่ทั้งสิ้น 231 โพสต์ทั้งตามหน้าแฟนเพจและกลุ่มสาธารณะของ Facebook อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจสรุปได้ว่าข้อความที่พบครั้งแรกบนแฟนเพจ ‘เสียงชาวบ้าน วิชาการของชาวบ้านเพื่อชาวบ้าน’ เป็นจุดเริ่มต้นของข้อมูลเท็จดังกล่าวในประเทศไทย เพราะ CrowdTangle มีข้อจำกัดคือไม่สามารถติดตามกิจกรรมของกลุ่มที่ไม่ได้เปิดสาธารณะและโปรไฟล์ส่วนตัว รวมทั้งยังมีประสิทธิภาพจำกัดในการติดตามกิจกรรมบนแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Facebook ทั้งยังเป็นไปได้ว่าข้อความดังกล่าวอาจมีจุดเริ่มต้นมาจากแพลตฟอร์มอื่น เช่น Line

เรายังพบต่อไปอีกว่าการแพร่กระจายของข้อความเท็จดังกล่าวมีอยู่ 3 คลัสเตอร์หลัก คลัสเตอร์แรกคือข้อความที่ไม่ได้แชร์มาจากแหล่งใด แต่ให้เครดิตโดยตรงกับบทความของ New York Times คลัสเตอร์ที่ 2 คือข้อความที่ให้เครดิตไปยังลิงก์หนึ่งซึ่งเป็นโพสต์ทาง Facebook แต่ตอนนี้โพสต์ดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว ซึ่งเป็นไปได้ว่าถูกลบออกไป จึงไม่อาจทราบได้ว่าเนื้อหาต้นทางมีลักษณะใด และคลัสเตอร์ที่ 3 คือข้อความที่มีการแชร์มาจากโพสต์ของแฟนเพจ TOP News ซึ่งแปะลิงก์โยงไปยังบทความบนเว็บไซต์ของสำนักข่าว ที่มีพาดหัวว่า ‘ดร.อาทิตย์ โพสต์ สหรัฐฯ ยอมรับแล้ว วัคซีนที่ดีที่สุดคือของจีน’ โดย ดร.อาทิตย์ ในที่นี้คือ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตรัฐมนตรีและอดีตคณบดีมหาวิทยาลัยรังสิต อย่างไรก็ตามบทความดังกล่าวไม่สามารถเข้าไปดูเนื้อหาได้แล้ว ซึ่งเป็นไปได้ว่าถูกลบไปแล้วเช่นกัน จึงเหลือเพียงตัวโพสต์บน Facebook ของข่าวดังกล่าวที่ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่

ข่าวปลอมเรื่องการจัดอันดับวัคซีนเป็นเพียงหนึ่งในหลากหลายข้อมูลเท็จที่มีการเผยแพร่ทางโลกออนไลน์ของไทยเท่านั้น ซึ่งจำนวนมากมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลเสียของวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ mRNA

อีกข้อความเท็จหนึ่งที่เราค้นพบว่ามีการแพร่กระจายไปมากในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันบนแพลตฟอร์ม Facebook คือข้อความที่อ้างว่าวัคซีน mRNA สร้างโปรตีนผิดเพี้ยน จนอาจนำไปสู่การเป็นโรคไม่พึงประสงค์ในระยะยาว พร้อมกับอ้างอิงถึงข้อมูลจากโพสต์ของบัญชีผู้ใช้ DrJudd Chontawat ในหัวข้อ ‘mRNA vaccine ฉบับอ่านง่าย’ ซึ่งในเวลาต่อมาเจ้าของโพสต์ออกมาชี้แจงว่าข้อความที่มีการเผยแพร่ออกไปกว้างขวางมีการเพิ่มเติมตัดต่อหัวและท้ายเพื่อโยงการเมือง โดยเป็นส่วนที่เจ้าตัวไม่ได้เขียนเอง ถึงแม้จะมีการชี้แจงตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2021 แต่ข้อมูลบิดเบือนดังกล่าวก็ยังคงถูกเผยแพร่ต่อไปจนถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2021

ประเด็นวัคซีนโควิด-19 ได้แบ่งสังคมไทยออกเป็น 2 ฝ่ายหลักๆ ฝั่งหนึ่งคือคนที่ต้องการให้มีการนำเข้าวัคซีนประเภท mRNA ด้วยเชื่อว่ามีประสิทธิภาพในการรับมือกับการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ได้ดีกว่า ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งตั้งข้อกังขาในประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน mRNA เพราะเป็นเทคโนโลยีวัคซีนแบบใหม่ที่ไม่เคยใช้มาก่อน จึงสนับสนุนวัคซีนที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยี mRNA เช่น วัคซีนของ AstraZeneca, Sinovac และ Sinopharm ข้อถกเถียงในเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่บนโลกออนไลน์ของไทยตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยต่างฝ่ายต่างยกข้อมูลขึ้นมาให้น้ำหนักความเชื่อของฝั่งตัวเอง หากแต่ข้อมูลจำนวนไม่น้อยนั้นกลับเป็นข้อมูลเท็จ

ความขัดแย้งการเมือง สู่ความขัดแย้งวัคซีน

ปรากฏการณ์การถกเถียงในประเด็นวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้อยู่แค่ในสังคมไทยเท่านั้น แต่ยังพบในระดับโลก เพราะประเด็นวัคซีนโควิด-19 ได้มีการเชื่อมโยงเข้ากับการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างประเทศด้วย แต่สำหรับประเทศไทยความขัดแย้งทางความคิดในเรื่องวัคซีนโควิด-19 ยังเกี่ยวโยงกับความขัดแย้งอีกชั้นหนึ่ง นั่นคือความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศที่สืบเนื่องยาวนานมาร่วมทศวรรษ

ในช่วงเวลาปัจจุบันนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พ.ศ. 2557 แม้จะมีหลายเฉดขั้วความคิดในสังคม แต่เราสามารถแบ่งออกได้อย่างหยาบๆ เป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งสนับสนุนรัฐบาลทหารและอาจเห็นชอบกับระบอบประชาธิปไตยแบบจำกัดอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (pro-establishment / pro-regime) ขณะที่อีกฝั่งคือฝั่งต่อต้านรัฐบาลทหารและเรียกร้องประชาธิปไตยที่เสรีมากขึ้น (anti-establishment / anti-regime)  

จากข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 สองเรื่องซึ่งเป็นการโจมตีวัคซีน mRNA ตามที่ได้กล่าวถึงไว้ด้านบน เมื่อลองทำแผนภาพดูรูปแบบการแพร่กระจายของสองข้อมูลเท็จดังกล่าว ก็เห็นได้ว่าข้อมูลกลุ่มนี้มักเผยแพร่ต่อกันระหว่างแฟนเพจและกลุ่มสาธารณะบน Facebook ที่มีการประกาศตนหรือมีท่าทีชัดเจนว่าอยู่ในฝั่งสนับสนุนรัฐบาล/สถาบันฯ ดังที่เห็นตามแผนภาพด้านล่าง

ปรากฏการณ์ที่เห็นนี้เป็นภาพสะท้อนว่าคนไทยจำนวนมากกำลังติดอยู่ใน ‘ห้องเสียงสะท้อน’ (echo chambers) ด้วยผลจากการออกแบบอัลกอริธึมของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ทำให้ผู้ใช้งานเห็นเพียงสิ่งที่สอดคล้องและตอกย้ำความเชื่อตัวเองเท่านั้น โดยแทบไม่เห็นข้อมูลที่ขัดแย้งกับความคิดของตนเอง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าอัลกอริธึมคือปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การแบ่งขั้วความคิดในสังคมไทยรุนแรงขึ้น ตั้งแต่ประเด็นการเมือง สืบเรื่อยมาจนถึงประเด็นวัคซีน

แล้วเหตุใดข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนชนิด mRNA ถึงได้แพร่สะพัดเป็นหลักในกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล/สถาบันฯ?

ตั้งแต่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นในช่วงต้นปี 2020 รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ต่างจากรัฐบาลอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ต้องเจอบททดสอบความสามารถครั้งสำคัญ ประสิทธิภาพในการจัดการการระบาดของโรคกลายเป็นตัวชี้วัดของสาธารณชนว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะนำพาประเทศขับเคลื่อนต่อไปหรือไม่ และหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ประชาชนต่างจับตาก็คือความสามารถในการจัดหาและกระจายวัคซีน

ทุกวันนี้เราอาจเห็นว่าประเทศไทยมีทางเลือกยี่ห้อวัคซีนโควิด-19 ไม่น้อย แต่หากย้อนไปเมื่อช่วงต้นถึงกลางปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนระดับโลก ประเทศไทยยังคงพึ่งพาวัคซีนหลักเพียง 2 บริษัทเท่านั้น คือ Sinovac และ AstraZeneca โดยแทบไร้วี่แววของการนำเข้าวัคซีนชนิด mRNA ที่หลายคนชี้ถึงผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ว่ามีประสิทธิภาพในการจัดการการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาดอย่างรุนแรงในตอนนั้นได้ดีกว่า

สถานการณ์ตอนนั้นทำให้สาธารณชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ความสามารถของรัฐบาลอย่างกว้างขวาง ทั้งยังตั้งข้อกังขามากมายถึงกลิ่นของการคอร์รัปชันและการเอื้อประโยชน์พวกพ้อง จนสั่นคลอนความชอบธรรมในการบริหารประเทศของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเสียงก่นด่ารัฐบาลที่ท่วมท้น บนสนทนาของชาวโซเชียลในกลุ่มที่นิยมรัฐบาลกลับไปในทางตรงกันข้าม ด้วยการปกป้องแผนการจัดหาและกระจายวัคซีนของรัฐบาลอย่างสุดกำลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการอ้างข้อมูลทั้งจริงทั้งเท็จ มาเน้นย้ำถึงข้อดีของวัคซีน Sinovac และ AstraZeneca และขณะเดียวกันก็พยายามดิสเครดิตวัคซีนประเภท mRNA ซึ่งคนโจมตีรัฐบาลมักออกมาเรียกร้องให้นำเข้า

เมื่อเราสำรวจบทสนทนาบนโลกโซเชียลใน 92 แฟนเพจและ 71 กลุ่ม (monitored group) ที่แสดงตนชัดเจนว่าอยู่ในฝั่งสนับสนุนรัฐบาล/สถาบันฯ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2021 ถึง 16 มีนาคม 2022 ก็พบข้อความในเชิงปกป้องและแสดงความเชื่อมั่นในแผนการจัดหาและกระจายวัคซีนของฝั่งรัฐบาลจำนวนมาก โดยพบคีย์เวิร์ดที่ใช้บ่อย อาทิ ‘เชื่อหมอไม่เชื่อหมา’ ‘วัคซีนที่ดี คือวัคซีนที่มี’ และ ‘saveหมอยง’ (หมายถึง ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกมองว่ามักพยายามเน้นย้ำถึงประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac)

นอกจากจะปกป้องรัฐบาลแล้ว ข้อความจำนวนมากยังพุ่งโจมตีไปยังคนฝั่งตรงข้ามที่วิพากษ์วิจารณ์ความสามารถและความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลในการจัดหาและกระจายวัคซีน โดยปรากฏคีย์เวิร์ดที่ใช้บ่อย เช่น ‘ด้อยค่าวัคซีน’ ‘หยุดเห่าเพื่อชาติสักครั้งเถอะ’ และ ‘วัคซีนเทพ’ ซึ่งใช้ในเชิงประชดประชันถึงวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งฝั่งตรงข้ามยกย่องในประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังพบว่าบุคคลที่ตกเป็นเป้าใหญ่หนึ่งของการโจมตี คือธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หลังจากการ Facebook Live หัวข้อ ‘วัคซีนพระราชทาน: ใครได้ใครเสีย’ ในวันที่ 18 มกราคม 2021 ซึ่งเป็นการตั้งข้อสังเกตถึงการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ถือหุ้น ในการผลิตวัคซีน AstraZeneca จนทำให้คีย์เวิร์ด ‘วัคซีนพระราชทาน’ ถูกใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใน monitored group ในช่วงครึ่งเดือนหลังของเดือนมกราคม 2021 คู่กับคีย์เวิร์ด “หยุดเห่าเพื่อชาติสักครั้งเถอะ” จากนั้นการโจมตีธนาธรได้พุ่งสูงขึ้นอีกครั้งในเดือนมกราคม 2022 ภายใต้คีย์เวิร์ด “วัคซีนvip” จากข่าวที่แพร่สะพัดว่าธนาธรลัดคิวฉีดวัคซีนก่อนกลุ่มเสี่ยงและผู้สูงอายุ แม้จะปรากฏต่อมาว่าไม่เป็นความจริง และในช่วงเวลาเดียวกัน คีย์เวิร์ด ‘วัคซีนพระราชทาน’ ก็กลับมาถูกใช้สูงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากมีการนำประเด็นไลฟ์วัคซีนพระราชทานกลับมาวิจารณ์ในวาระครบรอบ 1 ปีของการไลฟ์

เมื่อเราสำรวจความเคลื่อนไหวของบทสนทนาที่มีการใช้คีย์เวิร์ดเหล่านี้ทั่วแพลตฟอร์ม Facebook ในประเทศไทย ผ่านการใช้เครื่องมือ CrowdTangle พบว่าส่วนใหญ่มีการแชร์ข้อความเหล่านี้ไป-มาระหว่างกลุ่มและแฟนเพจที่ประกาศตนชัดเจนเป็นฝั่งสนับสนุนรัฐบาล/สถาบันฯ ซึ่งรวมถึงภายใน monitored group ทั้งยังมีการแชร์ข้อความมาจากเพจของหน่วยงานภาครัฐด้วยอีกส่วนหนึ่ง

แม้จะดูไม่ใช่เรื่องแปลกที่เพจและกลุ่มที่มีอุดมการณ์ร่วมกันจะมีการแชร์ข้อความไป-มาระหว่างกัน แต่เราพบว่าในบางกลุ่มข้อความ มีพฤติกรรมการแชร์ข้อความที่ผิดปกติ ซึ่งดูคล้ายว่าจะเป็นพฤติกรรมแบบ coordinated inauthentic behavior ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายบัญชีปลอมในการร่วมกันทำปฏิบัติการชักจูงความคิดคนเพื่อหวังผลในทางใดทางหนึ่ง โดยคนไทยอาจรู้กันดีกว่าในชื่อ ‘ไอโอ’ (IO – Information Operation หรือ ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร)

เปิดหน้ากองทัพอวตาร

ความเคลื่อนไหวผิดปกติหนึ่งที่เราค้นพบมาจากแฟนเพจที่ชื่อ ‘ช่างแพล่ม’ ซึ่งมีโพสต์จำนวนมากถูกแชร์ไปยัง monitored group

ตัวอย่างหนึ่งที่เราพบคือโพสต์ภาพสมาชิกพรรคก้าวไกล ซึ่งพากันเข้ารับการฉีดวัคซีน Sinovac พร้อมขึ้นข้อความบนภาพว่า “พวกเราก้าวไกล ไว้ใจซิโนแวค” ทั้งยังใส่ข้อความในแคปชันประกอบว่า “#ใครไม่ฉีดกูฉีด” ซึ่งดูเจตนาเป็นการล้อเลียนถากถางสมาชิกพรรคก้าวไกลที่แม้จะออกมาวิจารณ์หรือตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับวัคซีน Sinovac แต่ยังคงเข้ารับวัคซีนดังกล่าว ภาพนี้ถูกโพสต์ขึ้นเมื่อเวลา 12.49 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2021 โดยมีคนแชร์ทั้งสิ้น 11 ครั้ง โดยที่การแชร์ 6 ครั้งคือการแชร์ภายใน monitored group ซึ่งเราพบว่าในการแชร์ 6 ครั้งนั้น ถูกแชร์ด้วยบัญชีผู้ใช้ 3 บัญชี ได้แก่ Pichaiwat Mongkoljuthakom, กัมพล โชติสุทานันท์ และ นวพล ก้องเกียรติโสภา โดยแชร์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันระหว่าง 21.29-23.25 น. ของวันนั้น

อีกตัวอย่างหนึ่งคือโพสต์ที่แสดงภาพของข่าวประชาสัมพันธ์จากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าด้วยการรับรองวัคซีน Sinovac เป็นวัคซีนที่ใช้ในกรณีฉุกเฉิน โดยมีข้อความในแคปชันที่อธิบายถึงประสิทธิภาพและข้อดีต่างๆ ของวัคซีนดังกล่าว ภาพนี้ถูกโพสต์ขึ้นเมื่อเวลา 10.14 น. ของวันที่ 2 มิถุนายน 2021 และถูกแชร์ทั้งสิ้น 8 ครั้งไปยังกลุ่ม Facebook ต่างๆ โดยพบว่าการแชร์ 6 ครั้งถูกแชร์โดยบัญชีผู้ใช้เดียวที่ชื่อ มะปราง พัทธมน ซึ่งแชร์ในช่วงเวลาเพียง 2 นาทีระหว่างเวลา 14.11-14.13 น. ขณะที่การแชร์อีก 2 ครั้งถูกแชร์โดยบัญชีชื่อ กรณ์ กรนันท์วิจิตร และ กัมพล โชติสุทานันท์ ซึ่งคนหลังคือคนที่แชร์ภาพ ‘พวกเราก้าวไกล ไว้ใจซิโนแวค’ ก่อนหน้านี้ด้วย

นอกจาก 2 โพสต์ดังกล่าว เรายังพบว่าบัญชีผู้ใช้เหล่านี้แชร์โพสต์จากเพจช่างแพล่มไปยังกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การจับตาของเราอยู่อีกหลายโพสต์เป็นเวลาต่อเนื่อง จากนั้นเมื่อเจาะลงไปดูยังโปรไฟล์ของแต่ละบัญชีผู้ใช้ ก็พบว่าบางบัญชี ได้แก่ Pichaiwat Mongkoljuthakom, กัมพล โชติสุทานันท์ และ กรณ์ กรนันท์วิจิตร ถูกสร้างขึ้นมาในวันเดียวกัน คือวันที่ 27 สิงหาคม 2020 โดยที่ทั้ง 3 บัญชียังเป็นเพื่อนของกันและกันบน Facebook ด้วย ขณะที่บัญชีของนวพล ก้องเกียรติโสภา ถูกสร้างขึ้นเพียง 2 วันก่อนหน้านั้น คือ 25 สิงหาคม 2020

นอกจากนี้ เรายังลองตรวจสอบรูปโปรไฟล์ที่บัญชีเหล่านี้ใช้ว่าเป็นรูปที่เป็นตัวตนของเจ้าของบัญชีจริงหรือไม่ โดยใช้เครื่องมือ Google reverse image search ในการสืบหาที่มาของภาพโปรไฟล์ ทำให้เราพบว่าภาพโปรไฟล์ของเกือบทุกบัญชีในนี้มีที่มาจากเว็บไซต์ของต่างประเทศ โดยเฉพาะเว็บไซต์ข่าว เช่น ภาพโปรไฟล์ของนวพล ก้องเกียรติโสภา คือภาพของวิศวกรชาวจีนซึ่งปรากฏในบทความหนึ่งของสำนักข่าว New York Times ขณะที่ภาพของกัมพล โชติสุทานันท์ คือภาพของผู้รีวิวสินค้าให้กับผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรของเวียดนาม  

เมื่อไล่ดูกิจกรรมของบัญชีผู้ใช้เหล่านี้ใน monitored group ของเราต่อไปอีก ก็จะพบว่าเพจช่างแพล่มไม่ใช่เพจเดียวที่บัญชีเหล่านี้แชร์เท่านั้น แต่ยังมีการแชร์โพสต์จากอีก 4 เพจ ได้แก่ แดนสนทนา, เยาวชนอดแดก, แพล่มการเมือง และ การเมือง โดยเราพบว่าทั้ง 5 เพจนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน อย่างเพจเยาวชนอดแดกที่มีการระบุชัดเจนในโพสต์ที่ปักหมุดไว้ว่าให้ติดตามเพจแดนสนทนาซึ่งเป็นเพจสำรอง ขณะที่เพจอื่นๆ แม้ไม่มีการบอกชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกัน แต่ก็สามารถสังเกตถึงความเชื่อมโยงได้จากรูปแบบงานกราฟิกบนภาพโปรไฟล์และภาพปกที่มีลักษณะคล้ายคลึงเหมือนวาดด้วยคนหรือกลุ่มเดียวกัน อีกทั้งยังมีการแชร์โพสต์ระหว่างกันและกันอยู่บางครั้ง

ภาพ 2: ตัวอย่างโพสต์จากทั้ง 5 เพจ ที่มีการแชร์ระหว่างกัน โดยมีเนื้อหาถล่มผู้ที่วิจารณ์ประเด็นวัคซีน

เพจเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันระหว่างเดือนธันวาคม 2020 ถึงสิงหาคม 2021 ขณะที่เพจ ‘การเมือง’ พบว่าถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2012 โดยใช้ชื่อแรกสุดว่า ‘รวมมิตรการเมือง’ และมีการเปลี่ยนชื่อ 2 ครั้งหลังจากนั้น โดยครั้งหลังสุดคือวันที่ 14 ธันวาคม 2020 ซึ่งคือการเปลี่ยนมาใช้ชื่อเป็น ‘การเมือง’ ในปัจจุบัน และที่น่าสนใจคือทั้ง 5 เพจได้ยุติการเคลื่อนไหวไปแล้ว โดยมีการโพสต์ครั้งสุดท้ายในช่วงเวลาใกล้กัน โดยเพจ ‘แพล่มการเมือง’ โพสต์ครั้งสุดท้ายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2021 ขณะที่เพจ ‘การเมือง’ และ ‘เยาวชนอดแดก’ โพสต์ครั้งสุดท้ายในปลายเดือนกันยายน 2021 คือวันที่ 24 และ 27 ตามลำดับ ส่วนเพจ ‘แดนสนทนา’ และ ‘ช่างแพล่ม’ ปรากฏโพสต์สุดท้ายในวันที่ 22 และ 23 พฤศจิกายน 2021 ตามลำดับ

จากข้อมูลของ CrowdTangle พบว่าตลอดปี 2021 ทั้ง 5 เพจมีการโพสต์ไปยังกลุ่มและเพจภายใต้ monitored group อยู่ 6,184 ครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าเนื้อหาในเพจเหล่านี้มุ่งไปที่การโจมตีคนฝั่งตรงข้ามรัฐบาล โดยปรากฏเนื้อหาเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 อยู่บ่อยครั้งในช่วงเวลานั้น

ภาพ 3: ตัวอย่างโพสต์ที่มีการปั่นยอดแชร์โดยบัญชีอวตาร

แม้ข้อความจากเพจเหล่านี้จะถูกแชร์ไปอย่างบ่อยครั้งและต่อเนื่อง แต่ก็น่าสงสัยว่ามันสามารถสื่อสารไปยังกลุ่มคนได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ เนื่องจากบัญชีผู้ใช้ที่แชร์ข้อความจากทั้ง 5 เพจดังกล่าว มีเพียงไม่กี่บัญชี โดยเราพบว่ามีอย่างน้อยเพียง 42 บัญชี แชร์โพสต์จากทั้ง 5 เพจในระดับค่อนข้างถี่ ซึ่งโดยมากมักเป็นการแชร์ไปยังหลายกลุ่มในเวลาไล่เลี่ยกันเพียงไม่กี่นาที ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่คล้ายเรียกเป็นภาษาพูดได้ว่า ‘ปั๊มยอดแชร์’ นอกจากนี้เรายังพบความเชื่อมโยงของทั้ง 42 บัญชี ซึ่งรวมถึง 5 บัญชีที่เรากล่าวถึงก่อนหน้าอย่าง Pichaiwat Mongkoljuthakom, กัมพล โชติสุทานันท์, กรณ์ กรนันท์วิจิตร, มะปราง พัทธมน และ นวพล ก้องเกียรติโสภา โดยพบพฤติกรรมร่วมกันบางประการที่ทำให้เชื่อได้ว่ากำลังร่วมกันทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารภายใต้เครือข่ายเดียวกัน ได้แก่

  1. การมีพฤติกรรมปั๊มแชร์จากทั้ง 5 เพจไปยังหลายๆ กลุ่มที่เชียร์รัฐบาล
  2. บัญชีผู้ใช้ส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นในระหว่างวันที่ 22-27 สิงหาคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อุณหภูมิความขัดแย้งทางการเมืองไทยเริ่มร้อนแรง หลังจากที่ผู้ชุมนุมฝั่งเรียกร้องประชาธิปไตยเริ่มยกระดับข้อเรียกร้องสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
  3. บัญชีที่ถูกสร้างขึ้นระหว่าง 22-27 สิงหาคม 2020 มักแสดงตัวตนเป็นเพศชาย ขณะที่บัญชีที่ถูกสร้างขึ้นก่อนและหลังช่วงเวลานั้นมักแสดงตนเป็นเพศหญิง (เช่น มะปราง พัทธมน ซึ่งสร้างขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2020)
  4. การกดไลก์แฟนเพจที่เหมือนๆ กัน ซึ่งโดยมากเป็นแฟนเพจที่มีเนื้อหาสนับสนุนรัฐบาล
  5. ในอัลบั้มภาพมักมีเพียงภาพโปรไฟล์และภาพปกอย่างละ 1 ภาพ
  6. ภาพโปรไฟล์ไม่ได้แสดงตัวตนเจ้าของบัญชีจริง เนื่องจากโดยมากถูกพบว่าเป็นการใช้ภาพจากเว็บไซต์ต่างประเทศหรือภาพจาก stock photo
  7. บางบัญชีมีการใช้ภาพซ้ำกัน เช่น ภาพโปรไฟล์ภาพแรกของมะปราง พัทธมน ซ้ำกับภาพโปรไฟล์ปัจจุบันของอีกบัญชีผู้ใช้ แคท ศิศิรา ที่นับเป็นหนึ่งใน 42 บัญชี โดยทั้ง 2 บัญชีโพสต์ภาพนี้ขึ้นในวันเดียวกันคือวันที่ 3 พฤศจิกายน 2020
  8. บัญชีเหล่านี้มักมีเพื่อนน้อย โดยมีเพียงหลักสิบหรืออย่างมากเพียงหลักร้อยเท่านั้น และหลายบัญชียังเป็นเพื่อนกันเอง  

ภาพ 4: ตัวอย่างที่แสดงว่าบัญชีต้องสงสัยบางส่วนมีการใช้รูปภาพซ้ำกัน

‘สงครามข้อมูลข่าวสาร’ ประสานพลัง ‘นิติสงคราม’
พลังทำลายล้างที่รุนแรงกว่าที่คิด

ทั้ง 42 บัญชีและ 5 แฟนเพจที่ต้องสงสัยว่าเคลื่อนไหวอยู่ใต้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเครือข่ายเดียวกันนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของอีกหลายเครือข่าย

คนไทยที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นประจำ โดยเฉพาะคนที่ชอบติดตามเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง คงคุ้นเคยกับการปรากฏตัวของ ‘ไอโอ’ ลักษณะนี้กันเป็นอย่างดี ด้วยรูปแบบการทำงานที่ดูสุกเอาเผากิน จนเป็นที่จับสังเกตกันได้อย่างง่ายดาย

การมีอยู่ของไอโอบนโลกโซเชียลของไทยได้รับการยืนยันโดยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้ง Facebook และ Twitter ซึ่งมีการออกประกาศถึงการปิดบัญชีผู้ใช้อยู่หลายครั้งระหว่างปี 2020-2021 พร้อมกับชี้ว่าบัญชีที่ถูกปิดเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารโดยกองทัพไทย

ขณะที่ในสภาผู้แทนราษฎร ก็มีการเปิดโปงถึงปฏิบัติการดังกล่าวโดยพรรคอนาคตใหม่-พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่ละครั้งระหว่างปี 2020-2021 โดยเบื้องต้นปรากฏข้อมูลว่าปฏิบัติการไอโอของกองทัพมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยมีการสั่งให้กองพลสร้างบัญชีผู้ใช้อวตารขึ้นมาหลายบัญชี โดยพยายามไม่ให้สามารถเชื่อมโยงถึงตัวตนจริงของเข้าของบัญชีได้ นอกจากนี้ยังมีการแบ่งกองกำลังออกเป็น 3 สี ได้แก่ สีขาว – ชื่นชมรัฐบาล, สีเทา – โต้ตอบผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และ สีดำ – โจมตีและป้ายสีฝั่งต่อต้าน

ถึงแม้จะมีการทำงานที่เป็นระบบ แต่ก็น่าคิดว่าปฏิบัติการไอโอของกองทัพนั้นมีประสิทธิผลในการชักจูงโน้มน้าวความคิดคนได้จริงหรือ โดยรายงานของ the Stanford Internet Observatory ซึ่งศึกษาปฏิบัติการไอโอของกองทัพไทยบนทวิตเตอร์เมื่อเดือนตุลาคม 2020 ได้สรุปว่าเป็นปฏิบัติการที่ “เห็นผลสัมฤทธิ์ต่ำ” (low-impact operation) เนื่องจากข้อความที่สื่อสารออกมาได้รับการปฏิสัมพันธ์ (engagement) ที่น้อยมาก

“อย่างไรก็ดี การประเมินของรายงานชิ้นนี้จำกัดอยู่เพียงการมองผลลัพธ์จากยอดผู้ติดตาม (followers) และ engagements เท่านั้น แต่มองข้ามสภาวะการเมืองปัจจุบันที่แคมเปญการเคลื่อนไหวของฝั่งที่สนับสนุนระบอบ โดยในประเทศไทย การประเมินผลกระทบของปฏิบัติการไอโอที่จัดตั้งโดยทางการจำเป็นต้องถูกพิจารณาควบคู่ไปกับปฏิบัติการไอโอที่เกิดขึ้นมาแบบกระจายศูนย์ (decentralized IO campaigns) โดยกลุ่มสื่อและนักเคลื่อนไหวฝั่งรอยัลลิสต์…” จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยประจำสถาบัน German Institute of Global and Area Studies (GIGA) และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนไว้ในบทความ พร้อมกับชี้ว่า การที่หลายคนคิดว่าบรรดาบัญชีไอโอที่คอยมุ่งโจมตีฝั่งตรงข้ามในไทยนั้นเป็นของกองทัพเพียงอย่างเดียว ถือว่า “เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว”

ในปฏิบัติการกระจายศูนย์นั้น จันจิรายกตัวอย่างถึงแฟนเพจ เช่น Top News, The Mettad, ข่าวเสือก, The Truth, สถาบันทิศทางไทย, องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน และศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคม เป็นต้น ซึ่งทำการเคลื่อนไหวในเชิงสนับสนุนสถาบันและโจมตีฝั่งตรงข้ามอยู่ต่อเนื่อง โดยไม่เป็นที่แน่ชัดว่าได้รับการสนับสนุนจากทางการหรือไม่ ขณะที่บางเพจก็ชี้แจงว่าเป็นการทำด้วยจิตอาสา และนอกจากปฏิบัติการที่ทำเป็นกลุ่มหรือองค์กรแล้ว จันจิรายังชี้ว่ามีไอโอที่เรียกตัวเองว่า ‘ไอโอจิตอาสา’ ซึ่งเป็นการใช้บัญชีของตัวเองจริงเคลื่อนไหวด้วย  

“การเคลื่อนไหวนับว่าส่งผลกระทบเสียหายยิ่งต่อคนฝั่งต่อต้าน เพราะมันเป็นการเคลื่อนไหวที่ควบคู่ไปกับการใช้กลวิธีทางดิจิทัลอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘นิติสงคราม’ (lawfare)” จันจิราระบุ

จันจิราชี้ว่ากลุ่มเหล่านี้มักคอยสอดส่องความเคลื่อนไหวทางออนไลน์ของคนฝั่งตรงข้าม โดยหากพบเนื้อหาที่หมิ่นเหม่ผิดกฎหมาย ก็จะทำการรวมรวมหลักฐานแล้วแจ้งความต่อตำรวจด้วยข้อกฎหมายที่รุนแรง โดยเฉพาะมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา (การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ), มาตรา 326-333 ของประมวลกฎหมายอาญา (การหมิ่นประมาท) และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

การเคลื่อนไหวทางดิจิทัลควบคู่ไปกับนิติสงครามนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเราพบว่าเมื่อประเด็นวัคซีนเข้ามาเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง ยุทธวิธีนี้ก็ได้ถูกใช้ในการพยายามปราบปรามฝั่งตรงข้ามเช่นกัน อย่างการไลฟ์เรื่องวัคซีนพระราชทานของธนาธรก็ตามมาด้วยการถูกถล่มอย่างหนักจากคนบนโลกโซเชียลในฝั่งที่สนับสนุนระบอบ โดยในช่วงเวลานั้นมีการใช้ #สนับสนุน112 อย่างแพร่หลาย เพื่อเรียกร้องให้มีการฟ้องร้องธนาธรในมาตรา 112 ซึ่งหลังจากนั้น สำนักนายกรัฐมนตรีก็ทำการฟ้องธนาธรในมาตราดังกล่าว พร้อมๆ กับการใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ โดยล่าสุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ศาลอาญาได้รับคำร้อง ก่อนอนุญาตให้ธนาธรประกันตัว

ภาพ 5: แผนภาพแสดงจำนวนโพสต์ที่มีการติดแฮชแท็ก #สนับสนุน 112 ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2021 ถึง 16 มีนาคม 2022 ซึ่งเห็นได้ว่ามีความเคลื่อนไหวสูงเป็นพิเศษในเดือนมกราคม 2021 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่ธนาธรไลฟ์เรื่องวัคซีนพระราชทาน

นอกจากธนาธรแล้ว ยังมีนักกิจกรรมอีกหลายคนที่โดนเล่นงานทางกฎหมายจากการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์และรัฐบาลในประเด็นวัคซีนบนโลกออนไลน์ เช่น รักชนก ศรีนอก กลุ่มพลังคลับเฮาส์ ซึ่งถูกแฟนเพจศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ ศชอ. ฟ้องร้องในมาตรา 112

การเล่นงานคนฝั่งตรงข้ามลักษณะนี้เป็นสิ่งที่รัฐไทยและฝั่งผู้สนับสนุนระบอบใช้มาทุกยุคทุกสมัย นั่นคือการพยายามป้ายสีฝั่งตรงข้ามว่าเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันของชาติ เพื่ออ้างความชอบธรรมในการปราบปรามหรือปิดปาก ดังเช่นการใช้วาทกรรมด่าฝั่งตรงข้ามว่า ‘ชังชาติ’ หรือ ‘ล้มเจ้า’ ซึ่งถูกใช้แพร่หลายบนโลกโซเชียลในหลายสถานการณ์ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงในช่วงเวลาท่ามกลางการโต้เถียงในประเด็นวัคซีนโควิด-19 อย่างร้อนแรง

กลยุทธ์นี้ไม่ได้พบเห็นแค่ในประเทศไทย แต่ยังคล้ายคลึงกับในต่างประเทศ เช่นในกรณีประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งสำนักข่าว Rappler เคยทำการสืบสวนพบว่ามีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารทางออนไลน์ของทางการในสมัยประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ที่พยายามป้ายสีบรรดานักเคลื่อนไหวฝั่งต่อต้านว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายหรือคอมมิวนิสต์ ก่อนที่นักเคลื่อนไหวเหล่านั้นจะถูกจับกุมหรือสังหารในเวลาต่อมา และเช่นเดียวกัน ท่ามกลางการประกาศสงครามยาเสพติด ก็มีปฏิบัติการออนไลน์ที่ขยายภาพความโหดร้ายของบรรดาคนติดยาและค้ายา ซึ่งนำไปสู่ความชอบธรรมในการสังหารนอกกฎหมาย (extrajudicial killing) ต่อคนเหล่านั้น

ในฟิลิปปินส์ สงครามข้อมูลข่าวสารโดยรัฐเริ่มแพร่สะพัดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่การขึ้นสู่อำนาจของดูเตร์เตในปี 2016 คล้ายๆ กับประเทศไทย บัญชีไอโอหรือเหล่ากองทัพคีย์บอร์ด (keyboard army) ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของบรรดาผู้ใช้โซเชียลชาวฟิลิปปินส์ และในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็พบเช่นกันว่ากองทัพคีย์บอร์ดได้ทำงานอย่างหนักในการปกป้องรัฐบาลดูเตร์เตจากการถูกวิจารณ์ถึงประสิทธิภาพในการจัดการระบาด รวมทั้งยังโจมตีฝั่งตรงข้ามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการมีอยู่ของปฏิบัติการนี้ในช่วงโควิด-19 ได้รับการยืนยันโดย Twitter จากการประกาศระงับบัญชีผู้ใช้ที่เชื่อมโยงกับปฏิบัติการดังกล่าว

การนำประเด็นโควิด-19 มาใช้เป็นอาวุธในปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเพื่อหวังผลทางการเมืองนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ แต่ยังมีผลการศึกษาที่พบว่าวิธีนี้ถูกใช้ในอีกหลายประเทศ เช่น อียิปต์, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ซาอุดิอาระเบีย, จีน และรัสเซีย ซึ่งใช้ประเด็นการระบาดเพื่อประโยชน์ต่อการกุมอำนาจทางการเมือง รวมถึงการแข่งขันในเชิงภูมิรัฐศาสตร์บนเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

แม้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ Twitter จะมีการตอบสนองต่อการมีอยู่ของปฏิบัติการเหล่านั้นในแต่ละประเทศด้วยการระงับบัญชีผู้ใช้ที่พบว่าเชื่อมโยงกับปฏิบัติการ แต่ดูเหมือนว่าการตอบสนองดังกล่าวจะยังน้อยและล่าช้าเกินไป เพราะบัญชีที่ถูกระงับเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากอีกหลายบัญชีที่ยังคงขับเคลื่อนปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารให้เดินหน้าต่อไปได้

เราจึงต้องจับตากันต่อไปว่าแพลตฟอร์มจะแสดงความรับผิดชอบได้มากกว่านี้หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าการออกแบบอัลกอริธึมของแพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเพื่อหวังผลทางการเมืองของรัฐ เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเท่ากับกำลังเปิดทางให้การกระชับพื้นที่ของรัฐอำนาจนิยมเข้มแข็งขึ้น พร้อมๆ กับประชาธิปไตยที่กำลังถูกกัดกร่อนลงไปเรื่อยๆ หากแพลตฟอร์มยังไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างจริงจัง


งานเขียนชิ้นนี้จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง The101.world และสำนักข่าว Rappler ของฟิลิปปินส์ โดยแปลและดัดแปลงบางส่วนจากต้นฉบับซึ่งได้รับเผยแพร่ทาง Rappler ในวันที่ 28-29 เมษายน 2022

Information operations in Thailand: Exploiting COVID-19 to suppress dissent

Thailand: When online information operations support offline tactics

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save