fbpx
ความตาย ก. : จินตนาการต่อความวิตกกังวล

ความตาย ก. : จินตนาการต่อความวิตกกังวล

นิติ ภวัครพันธุ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ในขณะนี้ ที่ผู้คนทั่วโลกกำลังเป็นกังวลและหวาดกลัวกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การเขียนถึงความตายอาจดูไร้สามัญสำนึก ไม่รู้จักกาลเทศะ แต่ผมพบว่ามีนักเขียนจำนวนไม่น้อย อย่างน้อยในโลกภาษาอังกฤษ เขียนถึงเรื่องนี้ ตัวอย่างหนึ่งคือข้อเขียนสั้นๆ ใน London Review of Books ของชายสูงวัยผู้หนึ่งที่พรรณนาถึงความคิดความรู้สึกที่ต้องกักตัวเองอยู่ในที่พักเพราะการระบาดของไวรัสและกลัวว่าตนจะติดเชื้อ

ในตอนท้ายผู้เขียนจบด้วยวลีภาษาละตินว่า Timor mortis conturbat me – นี่เป็นครั้งแรกที่ผมรู้จักวลีนี้ และคิดว่าหากแปลเป็นภาษาพูดชาวบ้านๆ อาจแปลได้ว่า “ความกลัวตายทำให้ฉัน ปสด.”[1]

ครับ คงไม่มีใครที่ไม่กลัวตาย และผมเดาว่าตอนนี้ผู้คนส่วนใหญ่ ซึ่งรวมตัวผมเองด้วย คงเครียด วิตกกังวลว่าตัวเองจะติดเชื้อไวรัสหรือไม่? จะป่วยหนักหรือไม่? (เพราะรายงานบางชิ้นระบุว่ามีบางคนที่ติดเชื้อแต่ไม่ป่วยหรือมีอาการใดๆ) คนในครอบครัว คนรัก มิตรสหายที่รักใคร่กัน จะติดเชื้อหรือล้มป่วยหรือไม่? เชื้อไวรัสโควิดจะแพร่ระบาดอีกนานหรือไม่? พูดตรงๆ คำถามเหล่านี้รบกวนจิตใจผม แต่ผมคงเหมือนผู้คนส่วนใหญ่ในขณะนี้ที่ไม่ทราบคำตอบ ได้แต่ภาวนาว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้จะจบสิ้นลงในเร็ววัน ตัวเองและคนอื่นๆ ที่ตนรักใคร่จะไม่ติดเชื้อไวรัส

ทำไมจึงเขียนถึงความตาย? ประการแรก สำหรับคนที่เรียนวิชามานุษยวิทยาอย่างผม ความตายเป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่ง แต่ผมอยากเดาว่าที่เรื่องนี้สำคัญมากมิใช่เพราะความตายเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะเท่าที่ผมทราบ มีผู้คนหลายกลุ่มให้คำอธิบายเกี่ยวกับความตาย – และคนตาย – ว่าไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเลย ตรงกันข้าม กลับเป็นคำอธิบายที่ทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างความตายและการมีชีวิต ระหว่างโลกของคนที่ยังมีลมหายใจและโลกของคนตาย สะท้อนถึงจินตนาการของผู้คนเหล่านี้ที่มิได้หยุดอยู่ที่ความตาย กล่าวคือความตายไม่ใช่จุดจบ แต่เป็น “ทางผ่าน” หรือ “ช่องทาง” ที่เปิดทะลุภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง หรือถ้าจะพูดว่าความตายเป็นการเดินทางผ่านต่างมิติก็คงไม่ผิดนัก (ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมจะกล่าวถึงข้างหน้า)

ประการที่สอง ผมสนใจเรื่องจินตนาการของมนุษย์ ซึ่งรวมถึงจินตนาการเกี่ยวกับความตายและหลังความตาย Claude Lévi-Strauss ปรมาจารย์ทางมานุษยวิทยาผู้โด่งดัง ได้เสนอไว้ว่าความคิดเยี่ยงอนารยชน (savage thought) มีลักษณะเชิง “ศาสตร์แห่งรูปธรรม” (a science of the concrete) ในขณะที่ความคิดสมัยใหม่ (modern thought) มีลักษณะเชิงนามธรรมมากกว่า ชนบรรพกาล (ซึ่งรวมถึงศิลปหัตถกรรมของชนรุ่นหลังในสังคมเช่นนี้) สร้างความหมาย ตอบคำถามและแก้ปัญหาโดยเปรียบเทียบกับวัตถุที่ตนสร้างขึ้น (ซึ่งนำไปสู่การสร้างความหมายของวัตถุต่างๆ) เช่น การประดิษฐ์ “Totemism” ซึ่งเป็นที่มาของคำอธิบายความแตกต่างของผู้คนหลากกลุ่ม เปรียบเทียบกับสัตว์ประเภทต่างๆ ในขณะที่ความฝันถูกอธิบายว่าเป็นวิญญาณคู่แฝดของมนุษย์ (spirit-doubles) ในอีกโลกหนึ่ง

ตรงกันข้าม ความคิดสมัยใหม่ตั้งอยู่บนฐานของการแก้ปัญหาด้วยการใช้แบบจำลอง (models) ที่มีเหตุมีผล แต่กลับมีความเป็นจินตนาการน้อยกว่า[2] (จะเรียกว่าไม่สามารถเตลิดเปิดเปิงทางจินตนาการได้เช่นเดียวกับความคิดเยี่ยงอนารยชนก็อาจจะได้) เลวี-สโทรสส์จึงเห็นว่ามนุษย์สมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมตะวันตก ตัดขาดตัวเองจากโลกที่มองไม่เห็น จึงปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ และขาดจินตนาการเกี่ยวกับโลกหลังความตาย

ความคิด ความเชื่อ ธรรมเนียมปฏิบัติและพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับความตาย ไม่ว่าจะเป็นของชนกลุ่มใดก็ตาม เป็นเรื่องสำคัญที่ปรมาจารย์ด้านมานุษยวิทยาส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ศึกษาเรื่องศาสนา ให้ความสนใจและทำการศึกษา พร้อมทั้งผลิตผลงานเขียนมากมายที่นักเรียนอย่างผมต้องอ่าน ไม่ว่าจะสนใจเรื่องนี้หรือไม่ก็ตาม ทว่า ความเป็นจริงของชีวิตผู้คนที่เป็นเป้าหมายของงานมานุษยวิทยาทำให้ผมมีประสบการณ์ รับรู้ และเรียนรู้เกี่ยวกับการตายบ่อยครั้ง ซึ่งมักเป็นเหตุบังเอิญ มิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ผมกำลังค้นคว้าอยู่ก็ตาม

 

-1-

 

ทำไมมนุษย์จึงตาย? คงเป็นคำถามที่ผู้คนจำนวนมากฉงน กึ่งอยากรู้กึ่งขลาดกลัว ขวนขวายหาคำตอบมายาวนาน (และอาจมีความหวังว่าหากค้นพบคำตอบ อาจหาวิธีการหรือหนทางที่จะไม่ต้องตายก็ได้?) ผมลองเข้าไปค้นดูในอินเทอร์เน็ตพบว่ามีหลากหลายคำอธิบาย ทั้งที่คนไทยอาจพอคุ้นเคยหรือเคยได้ยินมาบ้าง เช่น คัมภีร์ไบเบิลในศาสนาคริสต์พาดพิงถึง “Fall of man” อธิบายว่า เพราะมนุษย์คู่แรก Adam และ Eve ซึ่งอาศัยอยู่ในสวนอีเดน มีชีวิตอมตะ แต่เพราะทั้งสองไม่เชื่อฟังคำสั่งของพระเจ้าที่ห้ามกิน “ผลไม้ต้องห้าม” บนต้น “tree of knowledge of good and evil”

ฤทธิ์เดชของผลไม้ต้องห้ามนี้ทำให้ทั้งสองเกิดความละอายที่ร่างกายเปลือยเปล่าล่อนจ้อน พอทราบเรื่อง พระเจ้าก็ลงโทษทั้งคู่ด้วยการขับไล่ออกจากสวนอีเดน ทำให้ไม่ได้กินผลไม้ของ “tree of life” ผลที่ตามมาคือมนุษย์คู่แรกต้องตาย (และเป็นผลให้มนุษย์ทุกคนต้องตายด้วย) มีคำอธิบายเพิ่มเติมว่าแม้ว่าคัมภีร์ไบเบิลจะมิได้ระบุไว้ก็ตาม แต่เรื่อง “Fall of man” นี้มีต้นตอมาจากการตีความตามเรื่องราวที่เล่าใน “Genesis” บทที่ 3 ในศาสนายูดาห์ของชาวยิว[3]

คำอธิบายที่ว่าเหตุใดมนุษย์จึงตายอีกชุดหนึ่งมาจากปกรณัมปรัมปรา (Myth) ของชาวเมารีที่ผมเคยอ่านสมัยเรียนหนังสือที่นิวซีแลนด์ เล่าถึงเมาวิ (Maui) วีรบุรุษเชิงวัฒนธรรมผู้มากด้วยกลอุบาย หลงเชื่อคำพูดของพ่อที่ว่า หากเขาต้องการเป็นอมตะเขาจะต้องทำลาย (ฆ่า) ไฮเนนุยเตโพ (Hine-nui-te-po ซึ่งมีความหมายว่า “Great Woman of Night”) เทพเจ้าแห่งความตายและยมโลก (ผู้คอยต้อนรับและนำวิญญาณของคนตายไปสู่ยมโลกเพื่อเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ [ในภพนั้น] เชื่อกันว่าท้องฟ้าสีแดงยามเย็นมาจากสีบนร่างกายของนาง) โดยเขาจะต้องเข้าไปในร่างของนางผ่านทางช่องคลอดแล้วออกทางปาก ถ้าทำสำเร็จนางจะตายและมนุษย์จะเป็นอมตะ

เมาวิจึงเดินทางไปหาไฮเนนุยเตโพ รอจนนางหลับก็แปลงร่างเป็นไส้เดือนเพื่อเข้าสู่ช่องคลอดของนาง แต่นางสะดุ้งตื่นเพราะเสียงร้องของนกพิวากะวากะ พอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นนางก็ใช้ฟันหินออบซีเดียนที่ช่องคลอดกัดเขาจนเสียชีวิต ในปกรณัมปรัมปราของชาวเมารี เมาวิเป็นมนุษย์คนแรกที่ต้องตาย[4] ซึ่งทำให้ไม่มีมนุษย์คนใดที่เป็นอมตะ บางครั้งชาวเมารีจึงพาดพิงว่าความตายคือ “บ้านแห่งเคราะห์ร้าย” (te whare o aitua – the house of misfortune)[5]

พิธีศพของชาวเมารีเริ่มด้วยการร้องบทสวด (karakia) ที่เรียกว่า inoi tuku เพื่อเป็นการปลดปล่อยวิญญาณ (wairua) จากร่างกายเพื่อเริ่มต้นการเดินทางไปตาม “ถนนวิญญาณ” (te ara wairua – the road of the spirit) สู่ “หนทางแห่งวิญญาณ” (Te rerenga wairua – flight of the spirit) ซึ่งอยู่บนยอดเขาสูงทางทิศเหนือของเกาะเหนือในประเทศนิวซีแลนด์ที่เรียกกันว่า Cape Reinga เมื่อวิญญาณถึงจุดนั้นแล้วก็จะหยุดพักชั่วครู่ แล้วเดินทางลงสู่พื้นมหาสมุทรเพื่อเริ่มต้นการเดินทางใหม่ (อีกครั้ง) ณ ที่นั่น ไฮเนนุยเตโพจะรอรับวิญญาณผู้ตาย เธอมีหน้าที่ปกป้องวิญญาณจากปีศาจอันชั่วร้าย (Whiro) ในยมโลก (Rarohenga) เพื่อให้วิญญาณเดินทางถึงยมโลกอย่างปลอดภัย[6]

 

-2-

 

โดยส่วนตัว ผมชอบเรื่องเล่าเกี่ยวกับความตายของชาวเมารี เพราะดูแปลกและมีจินตนาการมาก เป็นปกรณัมปรัมปราที่มีรายละเอียดมากมาย หลายเรื่องก็เกินการคาดเดาของผมว่าจะเป็นไปได้ อาจพูดได้ว่าเป็นจินตนาการที่ลึกล้ำยิ่ง เรื่องเล่าประเภทนี้ของชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ดูน่าทึ่งมากคือตำนานม้ง เล่าขานผ่านเพลงที่ร้องในพิธีศพ พาดพิงถึง “จุดกำเนิด” (Creation) ของมนุษย์และสรรพสัตว์-สรรพสิ่ง มีความย่อๆ ว่า กบผู้มีนามว่า Nplooj Lwg เป็นผู้สร้างโลกแห่งมนุษย์และวิญญาณ ทว่า เขาต้องจบชีวิตลงด้วยน้ำมือของมนุษย์ที่โกรธเคืองเพราะถูกกบหลอกว่า โลกมนุษย์มีขนาดเท่ากับฝ่ามือหรือส้นเท้าเท่านั้น (แต่มนุษย์มาค้นพบว่าความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้น จึงโมโหและทำร้ายกบ)

ก่อนสิ้นใจ กบได้สาปแช่งมนุษย์ให้ต้องเผชิญกับการเจ็บป่วยและความตาย ให้ใบไม้ร่วงหล่นจากต้นและป่าไม้จะหดขนาดลงเรื่อยๆ มนุษย์จะต้องทนทรมานกับฝน ความร้อนและแสงแดด โลกที่มนุษย์เคยอาศัยอยู่ร่วมกับวิญญาณจะถูกแบ่งออกเป็นโลกมนุษย์และโลกแห่งวิญญาณ และมนุษย์จะไม่สามารถฟื้นคืนชีวิตในวันที่สิบสามหลังจากที่ตายไปแล้วได้อีก (ไม่เหมือนที่เคยฟื้นมีชีวิตได้อีก)

ในยมโลก มียมบาลที่น่าสะพรึงกลัวและดุร้ายอยู่สององค์ องค์หนึ่งมีนามว่า Ntxwj Nyug ผู้ตัดสินว่าหลังจากที่ตายแล้ววิญญาณมนุษย์จะไปเกิดใหม่เป็นสัตว์ ผัก หรือมนุษย์อีกครั้ง องค์นี้อาศัยอยู่บนยอดเขาสูง คอยเฝ้าดูและป้องกันประตูที่เป็นทางผ่านของวิญญาณมนุษย์ไปสู่หมู่บ้านของบรรพบุรุษ ท่านชอบงานเลี้ยงเป็นยิ่งนัก และยังเลี้ยงวัวฝูงใหญ่ไว้ ซึ่งก็คือวิญญาณของคนม้งบางคนที่กลายเป็นวัวในยมโลก มียมบาลอีกองค์คู่กายชื่อ Nyuj Vaj Tuam Teem มีหน้าที่ออกใบอนุญาตให้วิญญาณไปเกิดใหม่ได้ ใบอนุญาตนี้วางอยู่บนโต๊ะเขียนหนังสือที่อลังการ ตั้งอยู่หน้าบัลลังก์อันโอ่อ่าและน่าหวาดกลัวที่ยมบาลองค์นี้ประทับอยู่ Ntxwj Nyug และ Nyuj Vaj Tuam Teem เป็นยมบาลที่ควบคุมชีวิตและความตายเมื่อใบอนุญาตให้มีชีวิตของคนม้งคนใดหมดอายุลง มีแต่หมอ/คนทรง (shaman) เท่านั้นที่บางครั้งบางคราวอาจต่อรองกับ Ntxwj Nyug ให้ผู้นั้นมีชีวิตต่อในโลกมนุษย์ได้อีกระยะหนึ่ง[7]

คนม้งเรียกหมอ/คนทรงว่า “Txiv Neeb” ซึ่งแปลว่าพ่อหรือเจ้านายของวิญญาณ (father/master of spirits) เป็นบุคคลที่สามารถติดต่อกับโลกวิญญาณ/ภูติผีได้ ตามความเชื่อดั่งเดิมของคนม้ง มนุษย์ประกอบด้วยสองส่วนคือร่างกายและวิญญาณ (ซึ่งผมสันนิษฐานว่าอาจเทียบได้กับจิต หรือขวัญ ในความเชื่อของคนไต/ไท เพราะคนม้ง โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในประเทศลาว ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับคนลาวมายาวนาน) หากวิญญาณหนีออกจากร่าง[8] คนผู้นั้นก็อาจล้มป่วยลง Txiv Neeb จะถูกเชิญมารักษาผู้ป่วยผ่านพิธีเข้าทรง ซึ่ง Txiv Neeb ต้องเดินทาง (ผ่านการเข้าทรง) ไปสู่โลกของวิญญาณเพื่อหาสาเหตุของการป่วย และต้องต่อรอง เอาใจวิญญาณ เพื่อรักษาผู้ป่วยให้กลับคืนสู่สภาพปรกติ[9]

เรื่องเล่าเกี่ยวกับโลกและภพหน้าของชนอีกกลุ่มที่ผมสนใจมากคือคนไทดำ ซึ่งคนไทยคงคุ้นเคย เพราะนอกจากจะพูดภาษาในตระกูลภาษาไต/ไท ที่ภาษาไทยถูกจัดอยู่ด้วย ก็ยังมีขนบ ธรรมเนียมปฏิบัติ ความเชื่อ คล้ายกับคนไทย เป็นกลุ่มที่อยู่กระจัดกระจายในพื้นที่หลายแห่งในประเทศไทย แต่สถานที่ที่คนกลุ่มนี้อ้างว่าเป็นบ้านเกิดเมืองนอนนั้นอยู่ทางภาคเหนือของเวียดนาม แม้ว่าผมยังมิได้ไปถึงสถานที่แห่งนั้นก็ตาม แต่ก็ได้ไปเยือนชุมชนไทดำหลายแห่งในบริเวณจังหวัดเงียอาน (Nghệ An) ช่วงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 เรื่องราวที่จะเล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากการเดินทางในครั้งนั้น[10]

ผมได้พบคนไทดำหลายคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ หนึ่งในนั้นเป็นอดีตครูที่เกษียณอายุแล้ว จะเรียกว่าเป็นปราชญ์พื้นเมืองไตเมือง (หมายถึงคนไทดำที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง – ครูเรียกคนไทดำว่า “ไต” ซึ่งผมจะใช้เรียกสลับกับคำว่าไทดำในที่นี้) ก็ได้ เป็นคนหนึ่งที่มีความรู้อย่างดีเยี่ยมเรื่องโตเมืองหรืออักษรของคนไตเมือง ครูให้คำอธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทดำมากมาย พร้อมด้วยสารพันเรื่องเล่า ซึ่งรวมถึงความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยา (cosmology) ของคนไตที่ว่าในจักรวาลนี้มี 3 โลก ได้แก่

  • โลกมนุษย์ ที่ที่คนไทดำและชนกลุ่มอื่นๆ อยู่ร่วมกัน
  • ฟ้า – ครูใช้คำนี้ ซึ่งหมายถึงบนฟ้า ไม่ใช่สวรรค์ (ทำให้ผมสันนิษฐานว่าคนไตอาจไม่มีความคิดความเชื่อเกี่ยวกับสวรรค์และนรกเช่นที่คนไทยเชื่อกัน) เป็นสถานที่ที่ “แถน” และผีบรรพบุรุษอาศัยอยู่ เมื่อคนไตในโลกมนุษย์เสียชีวิตลง ผี (หรือวิญญาณ) ก็จะไปอยู่บน “ฟ้า” ร่วมกับแถนและผีบรรพบุรุษ

ทว่า หากเป็นการตายแบบผิดปกติ เช่น ป่วยไข้ โรค อุบัติเหตุ หรือภัยอื่นๆ ก็จะกลายเป็นผีตายโหง ซึ่งจะไม่ได้ขึ้นไปอยู่บน “ฟ้า” แต่วิญญาณจะล่องลอยอยู่ในโลกมนุษย์ และมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายหรือก่อเภทภัยต่างๆ ต่อมนุษย์บนโลก

  • โลกของมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่ผีบนฟ้า เป็นโลกของมนุษย์กลุ่มนี้ต่างหาก แยกจากโลกมนุษย์ แต่ไม่ยุ่งเกี่ยวหรือทำอันตรายต่อมนุษย์

ผมมิใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องคนไทดำ/ไต ไม่สามารถวินิจฉัยว่าคำบอกเล่าของครูผู้นี้ถูกต้องหรือไม่[11] ทว่า มีรายงานว่าในความเชื่อของคนไทดำ ชีวิตหลังความตาย (บน “ฟ้า” หรือในโลกของบรรพบุรุษ) ก็มีความแตกต่างของลำดับชั้นทางสังคมเช่นเดียวกับในโลกมนุษย์ กล่าวคือ มีผี/วิญญาณที่เป็นชั้นนายซึ่งมีหลายระดับ และชั้นคนธรรมดาสามัญ กลุ่มหลังนี้ รวมไปถึงเด็กที่ตายก่อนอายุ 5 ขวบ ผี/วิญญาณจะเข้าไปอยู่ในหมู่บ้าน Lam Loi ที่มีสภาพและความเป็นอยู่คล้ายหมู่บ้านในโลกมนุษย์[12]

 

-3-

 

หลังจากอ่านเกี่ยวกับจินตนาการเรื่องชีวิตและโลกหลังความตายของชนหลายกลุ่ม ผมมีข้อสังเกตว่าบางทีสิ่งที่มนุษย์เกรงกลัวที่สุดอาจมิใช่ความตาย เพราะจินตนาการเกี่ยวกับโลกหลังความตายหรือภพหน้ามิได้ดูน่าสยดสยองจนทนไม่ได้ ตัวอย่างที่ดีคือจินตนาการของคนไทดำเกี่ยวกับโลกหลังความตาย ซึ่งก็คือภพที่บรรพบุรุษอาศัยอยู่ หากลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ประพฤติตนตามธรรมเนียมและความเชื่อ เคารพ เซ่นไหว้วิญญาณของบรรพบุรุษ และปฏิบัติต่อสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวตามขนบประเพณี ช่วยเหลือเกื้อกูลญาติพี่น้อง ชีวิตในโลกหน้าหรือภพของบรรพบุรุษของพวกเขาก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องวิตกกังวลมากนัก เพราะนอกจากจะได้พบบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว วิถีชีวิตหลังความตายก็ดูจะไม่แตกต่างจากชีวิตในโลกมนุษย์มากนัก ดังเช่นเรื่องเล่าเกี่ยวกับหมู่บ้าน Lam Loi ของคนไทดำ

สำหรับชนหลายกลุ่ม สิ่งที่ดูน่าสะพรึงกลัวกว่าโลกหลังความตายอาจเป็นการตายที่ไม่ปกติ เช่น เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โรคระบาด หรือจากสถานการณ์ที่เกินการคาดเดาอื่นๆ ที่คนไทยเรียกว่า “ตายโหง” (ดังเช่นกรณีของหญิงชาวมหาสารคามที่ฝันถึงแม่และน้องชายที่เสียชีวิตแบบตายโหง ซึ่งผมได้กล่าวถึงในงานเขียนชิ้นที่แล้ว) ทว่า สิ่งที่ดูจะเลวร้ายและน่าหวาดกลัวกว่าการตายโหงคือการตาย(โหง)ที่ไร้ศพ ซึ่งทำให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่และรักใคร่คนตายไม่สามารถนำศพมาทำพิธีกรรมที่ถูกต้องตามประเพณีความเชื่อ

ตัวอย่างของการตายเช่นนี้มีมากมายในบ้านเรา แต่กรณีที่น่าสนใจมากเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย เรื่องของชายมุสลิมชื่อ Mohammad Shareef ช่างซ่อมจักรยานผู้ตามหาลูกชายที่หายสาปสูญไปนานถึง 27 ปี เมื่อเกิดเหตุจลาจลระหว่างคนฮินดูและมุสลิมในปี 1992 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบสองพันคน หลังเกิดเหตุราวหนึ่งเดือนตำรวจได้มาบอกโมฮัมหมัดว่าลูกชายของเขาเสียชีวิตแล้ว แต่ไม่มีศพให้เขาไปทำพิธี ที่แย่กว่านั้นคือตำรวจไม่ทราบด้วยซ้ำว่าศพอยู่ที่ใดหรือฝังอยู่ที่ไหน ทำให้โมฮัมหมัดกระวนกระวายใจมาก วิตกว่าหากไม่มีการฝังศพตามพิธี ตามความเชื่อในศาสนาอิสลาม วิญญาณของลูกชายก็จะล่องลอย ไม่ได้ไปพบพระเจ้า ไม่มีความสงบสุขในโลกหลังความตาย

แล้วเขาก็ต้องยิ่งตกใจ หวาดกลัวมากขึ้นอีกเมื่อเห็นตำรวจโยนศพลงไปในแม่น้ำ (เพราะมีคนตายเป็นจำนวนมากจนไม่มีใคร–แม้แต่ตำรวจเอง–สนใจที่จะฝังหรือทำพิธีศพให้เหมาะสม) เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาตระหนักว่าศพของลูกชายอาจถูกโยนลงในแม่น้ำเช่นกัน ด้วยความห่วงใยและเป็นกังวลว่าคนตายจะไม่ได้รับการทำพิธีศพตามหลักศาสนา (เช่นเดียวกับที่เขาห่วงใยและวิตกเกี่ยวกับศพของลูกชายที่หาไม่พบ และไม่มีพิธีศพ) ทำให้เขาเริ่มเก็บศพที่ถูกทิ้งไว้ตามยถากรรมมาทำพิธี หากเขาคิดว่าผู้ตายเป็นคนมุสลิมก็จะทำการฝังตามพิธีของศาสนาอิสลาม ถ้าเป็นคนฮินดูก็จะเผาตามศาสนาฮินดู มีผู้ประมาณการว่าโมฮัมหมัดได้ทำพิธีศพไปแล้วราว 2,500 ศพ

ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งคืออินเดียเป็นสังคมที่มีวรรณะ การทำพิธีศพเป็นหน้าที่ของคนในวรรณะที่ต่ำที่สุดในสังคม จัดว่าเป็นพวกจัณฑาล (untouchables) แม้แต่คนมุสลิมก็คิดและเชื่อเรื่องวรรณะ จึงไม่มีผู้ใด–แม้แต่คนในครอบครัวของเขาเอง–ที่เห็นด้วยกับการกระทำของเขา แต่โมฮัมหมัดไม่ย่อท้อ มุ่งมั่นเก็บศพที่ไร้นามไร้ญาติมาทำพิธีทางศาสนา

ในที่สุดความปรารถนาดีและการมีจิตใจดีของเขาก็บรรลุผล หลังจากผ่านไปหลายปีรัฐบาลอินเดียตัดสินมอบรางวัลอันทรงเกียรติแก่เขา เจ้าของร้านรวงต่างๆ ในเมืองที่เขาอาศัยอยู่หันมาช่วยเหลือเขาด้านการเงิน แม้แต่คนแปลกหน้าก็ส่งเงินให้เขาเพื่อใช้จ่ายในการผ่าตัดดวงตา ทำให้เขาสามารถว่าจ้างผู้ช่วยทำงานได้สองคน เขายังมุ่งมั่นที่จะทำภารกิจนี้ (การเก็บศพเพื่อทำพิธี) ไปจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ แม้ว่าลูกชายที่เหลืออยู่อีกสองคน และหลานๆ ไม่ใส่ใจที่จะช่วยเขาเลยก็ตาม[13]

กรณีของโมฮัมหมัดอาจเป็นตัวอย่างที่ดีในการยืนยันถึงความสำคัญของพิธีศพ ซึ่งถ้าไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามความเชื่อทางศาสนาก็อาจเป็นผลร้ายต่อวิญญาณของผู้ตาย ต้องล่องลอยไปอย่างไร้จุดหมาย ไม่สามารถเดินทางถึงจุดหมายที่วิญญาณควรไป และไม่พบความสงบสุขในภพหน้า ความเชื่อนี้นอกจากจะมีนัยของความห่วงใยต่อวิญญาณผู้ตายแล้ว ยังแสดงถึงความรักของคนในโลกมนุษย์ที่มีต่อผู้ที่จากไป

คราวหน้าผมจะเขียนถึงความตายกับคนที่เรารักใคร่

 

อ้างอิง

[1] ดู August Kleinzahler, “Under Lockdown in San Francisco”, LRB blog, 20 March 2020

[2] Nigel Rapport & Joanna Overing, Social and Cultural Anthropology: The Key Concepts, (London and New York: Routledge, 2000), p. 52

[3] ดู Wikipedia, the free encyclopedia, “Fall of man”, และ Wikipedia, the free encyclopedia, “Book of Genesis

[4] Antony Alpers, Maori Myths & Tribal Legends (Longman Paul, 1989)

[5] James Irwin, An Introduction to Maori Religion: Its character before European Contact and its survival in contemporary Maori and New Zealand culture (Bedford Park, South Australia: Australian Association for the Study of Religions, 1984), p. 51

[6] Ibid.

[7] Nicholas Tapp, “Hmong Religion”, Asian Folklore Studies Vol. 48 (1989), pp. 59-60

[8] ในหนังสือเรื่อง The Spirit Catches You and You Fall Down ซึ่งแต่งโดย Anne Fadiman (New York: Farrar, Straus, and Giroux, 1997) กล่าวถึงถึงเด็กหญิงม้งนาม Lia Lee ซึ่งเป็นโรคลมชัก (Epilepsy) มีรายละเอียดและเรื่องราวต่างๆ มากมายที่ผมอยากชวนให้ทุกคนอ่าน แต่ประเด็นเล็กๆ ที่ผมจะพาดพิงถึงในที่นี้คือเมื่อเลียลียังเป็นทารก อายุได้สามเดือน เธอมีอาการชักเป็นครั้งแรก แต่ในตอนนั้นพี่สาวเธอปิดประตูแรง เสียงดังมากจนทำให้เธอตกใจ ครอบครัวเธอเชื่อว่ามีวิญญาณมาเข้าทรงเธอ เพราะเธอมีญาณพิเศษหรือคุณสมบัติของการเป็น Txiv Neeb ซึ่งทำให้เธอต่างจากคนม้งทั่วไป – ตอนที่เธอตกใจและเชื่อกันว่าวิญญาณมาเข้าทรง ผมสันนิษฐานว่าหากเทียบกับความเชื่อของคนไต/ไทก็คือ “ขวัญ” ของเธอตกใจมาก และหนีกระเจิดกระเจิงออกจากร่างกายไป

[9] Tapp, op. cit., p. 74

[10] ตามคำเชิญและการรับรองอันยอดเยี่ยมของนักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยนครพนม มี อ. ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี ดร. โสรัจจ์ ประวีณวงศ์วุฒิ อ. สุริยันต์ สุรเกรียงไกร และ รศ. ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการเดินทางที่ผมได้รับความรู้มากมาย และความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ได้ลิ้มชิมรสอาหารเวียดและไทดำที่แสนอร่อย เบียร์เย็นๆ หลากยี่ห้อ และมิตรภาพอันงดงาม – ผมขอขอบคุณทั้งสี่ท่านในที่นี้ด้วย

[11] จริงๆ แล้ว ผมไม่เห็นด้วยกับการตัดสิน/วินิจฉัยว่าเรื่องเล่า/เรื่องราวอะไรก็ตาม ของชนกลุ่มใดก็ตาม มีเพียงชุด (version) เดียว เนื่องจากผมคิดว่าเรื่องเล่าเรื่องเดียวกันอาจมีได้สารพัดชุด ความแตกต่างของเรื่องเล่าอาจเป็นผลมาจากเงื่อนไขด้านสถานที่ เวลา การเคลื่อนย้าย และอื่นๆ ดังนั้น เราควรสนใจพิจารณาว่าเหตุใดเรื่องเล่า/เรื่องราวเหล่านี้จึงแตกต่างกันมากกว่า

[12] Frank M. Lebar, Gerald C. Hickey, John K. Musgrave (eds.), Ethnic Groups of Mainland Southeast Asia (New Haven: Human Relations Area Files, 1964), p. 223

[13] Swaminathan Natarajan & Khadeeja Arif, “Saviour of the dead: Burying the bodies India forgets”, BBC World Service, 13 March 2020

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Life & Culture

1 Feb 2019

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่าด้วยนิยาม รูปแบบ คำอธิบายของความสุขในความเจ็บปวด ไปจนถึงความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตามหาผู้มีรสนิยมแบบเดียวกัน พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดง ‘ชิบาริ’ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังอย่างถึงเนื้อถึงหนัง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

1 Feb 2019

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save