fbpx
ซึมเศร้า: การค้นหาคำตอบที่ซับซ้อน

ซึมเศร้า: การค้นหาคำตอบที่ซับซ้อน

นิติ ภวัครพันธุ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

 

คราวที่แล้วผมเขียนถึงการฆ่าตัวตาย ซึ่งบ่อยครั้งผู้เชี่ยวชาญจะมีความเห็นว่าเกี่ยวข้องกับ “depression” ซึ่งในภาษาไทยแปลว่า “โรคซึมเศร้า” แต่เนื่องจากในบทความนี้ผมจะอภิปรายถึงมุมมองเชิงมานุษยวิทยาในการวิเคราะห์และตีความเรื่อง “depression” ดังนั้น ผมจะขอใช้คำว่า “การซึมเศร้า” หรือ “อาการซึมเศร้า” แทน

เชื่อกันว่ามีผู้ป่วยด้วยอาการซึมเศร้านับล้านทั่วโลก แม้ว่าจะมีมาตรการต่างๆ ด้านจิตวิทยาเพื่อรักษาผู้ป่วย แต่นักจิตวิทยาก็ยังหาคำตอบหลายประการเกี่ยวกับการซึมเศร้าไม่ได้ มีรายงานว่าการซึมเศร้าเป็นอาการที่ปรากฏมานานแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่ 1,550 ปีก่อนคริสตกาล การซึมเศร้าถูกบันทึกอยู่ใน “The Egyptian Medical Eber Papyrus”[1] การซึมเศร้าส่งผลกระทบในหลายด้านและเป็นปัญหาที่น่ากังวลทีเดียว เช่น ข้อสรุปที่ว่าการซึมเศร้าอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย หรือการซึมเศร้าอาจนำไปสู่ปัญหาในครอบครัว หรือปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคล หรือปัญหาอื่นๆ

เท่าที่ทราบ มีแนวคิดหรือคำอธิบายด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับการซึมเศร้าหลายประการ บางแนวคิดก็ถูกอ้างอิงหรือพาดพิงถึงบ่อยครั้ง เช่น แนวคิดที่เรียกว่า “learned helplessness” ที่มาจากนักจิตวิทยานาม Martin Seligman ซึ่งเริ่มต้นด้วยการทดลองกับสุนัขในเรื่องความกลัวและการเรียนรู้

เซลิกแมนค้นพบว่าหลังจากที่สุนัขเรียนรู้ว่ามีอันตราย และเกิดความกลัวขึ้น สุนัขจะแสดงออกถึงความท้อแท้ (helplessness) ทำให้เขาสรุปว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างความกลัวและความท้อแท้ แม้จะไม่สามารถหาคำอธิบายได้ว่าทำไมคนเราจึงเกิดการซึมเศร้า แต่เขาก็พัฒนาข้อเสนอของเขาขึ้นว่า ความคิดอ่าน (thinking) ที่เป็นแง่ลบส่งผลต่อการเกิดการซึมเศร้า ผู้ที่มีอาการซึมเศร้ามักคิดอ่านในเชิงลบ (นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าในการรักษาอาการซึมเศร้า ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีความคิดอ่านเชิงบวก)[2]

แต่นักจิตวิทยาก็ไม่ได้ละเลยว่ามีเงื่อนไขอื่นๆ นอกเหนือจากด้านจิตใจที่อาจส่งผลต่อการเกิดการซึมเศร้าได้ เช่น เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ อาทิ การทำงานหนัก การบริโภคอาหารที่ไม่ครบถ้วน การนอนไม่หลับ การขาดการพักผ่อนหรือการขาดกิจกรรมหย่อนใจ การดื่มแอลกอฮอล์[3] หรือเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางสังคม เช่น การตายของคนที่ตนรัก ปัญหาในการแต่งงานหรือการหย่าร้าง การตกงาน ความรุนแรงในครอบครัว การถูกละเมิด ล่วงเกิน หรือทำร้าย ความรู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคม และอื่นๆ

ด้วยเหตุนี้ นักจิตวิทยาที่สนใจในเงื่อนไขเชิงสังคมจึงเห็นด้วยการรักษาผู้ป่วยอาการซึมเศร้าควรได้รับการช่วยเหลือและการสนับสนุนทางสังคม (social support) และการสร้างเครือข่ายการสนับสนุนทางสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนมีที่พึ่ง มีคนคอยให้ความช่วยเหลือ ไม่ต้องรู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป[4]

นอกจากนี้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาบางคนที่สนใจและค้นคว้าเกี่ยวกับมุมมองหรือความคิดในสังคมอื่นๆ ที่ไม่ใช่สังคมตะวันตกต่อการซึมเศร้า ซึ่งอาจสรุปเป็นคำอธิบายของความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมอื่นๆ ได้ ดังนี้[5]

  • วัฒนธรรมตะวันตกเน้นการมีอารมณ์เชิงบวก (positive emotions) และความรู้สึกที่ดี (feeling good) เกี่ยวกับตัวตน (the self) ที่เป็นปกติ (normal) และสุขภาพดี แต่วัฒนธรรมอื่นยอมรับการมีอารมณ์เชิงลบที่อาจเกิดขึ้นบางครั้งบางคราว (temporary negative emotions) ได้
  • มุมมองของตะวันตกต่อการซึมเศร้าวางอยู่บนรากฐานของวิชาประสาทชีววิทยา (neurobiological bases) ดังนั้น แนวคิดเรื่องการซึมเศร้าจึงกลายเป็นเรื่องชีววิทยามากขึ้นๆ ซึ่งต้องรักษาด้วยวิธีการทางการแพทย์ แต่วัฒนธรรมอื่นเห็นว่าเราไม่อาจแยกจิตใจ (mind) ออกจากร่างกายได้ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องรักษาควบคู่กันทั้งสองด้าน
  • เนื่องจากวัฒนธรรมตะวันตกเห็นว่าปัจเจกบุคคล (individuals) แต่ละคนมีตัวตนของตัวเอง แยกจากผู้อื่น (autonomous and selfcontained) อาการซึมเศร้าจึงเกี่ยวข้องกับความวุ่นวายภายใน (internal disturbances) แต่บางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ตะวันตกเห็นว่าปัจเจกบุคคลแต่ละคนเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับผู้อื่น จึงเห็นว่าปัญหาด้านอารมณ์เกี่ยวข้องกับบริบทด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal context) และเป็นอาการของความถดถอยทางสังคม (social withdrawal) มากกว่า

Gananath Obeyesekere นักมานุษยวิทยาชาวศรีลังกา ตั้งข้อสงสัยกับการวินิจฉัยทางการแพทย์ที่ระบุว่าการซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตประเภทหนึ่ง โดยโต้แย้งว่าในหลายสังคมการซึมเศร้ามิใช่ความผิดปกติ แต่เป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมยอมรับกัน เช่น ในสังคมอาซานติ (Ashanti) การซึมเศร้าในหมู่ผู้หญิงไม่ใช่การเจ็บป่วย แต่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงอยู่เสมอ[6]

นอกจากนี้ เขายังยกตัวอย่างคนศรีลังกาที่เป็นชาวพุทธปฏิบัติ เช่น คนที่ทำสมาธิ และมีความเชื่อตามพุทธศาสนาในเรื่องทุกข์ ความไม่จีรังยั่งยืน ฯลฯ ซึ่งทำให้เขาสรุปว่าในสังคมศรีลังกา – และอาจรวมถึงสังคมอื่นด้วย – อาการของผู้คนที่การแพทย์สมัยใหม่ระบุว่าเป็นโรคซึมเศร้านั้น ที่จริงแล้วคือ “ผลงานทางวัฒนธรรม” (work of culture) กล่าวคือ การซึมเศร้าที่ปรากฏในคนศรีลังกาเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาที่มีรากฐานอยู่บนวัฒนธรรมศรีลังกานั่นเอง

โอเบเยเซเกเร่แย้งว่าความเจ็บป่วยที่การแพทย์ตะวันตกระบุว่าคือโรคซึมเศร้านั้นเป็นผลผลิตของวัฒนธรรมการแพทย์ตะวันตก ซึ่งเป็นผลพวงแห่งอำนาจและเกียรติยศของสถาปนาทางการแพทย์ (power and prestige of medical establishment)[7]

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการรักษาผู้ป่วยอาการซึมเศร้าได้นำไปสู่การค้นคว้าและทดลองนวัตกรรมที่อาจช่วยในการรักษาได้ เช่น ในประเทศญี่ปุ่น มีรายงานการทดลองและวิจัยเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคอาหารและอาการซึมเศร้า โดยศึกษาจากผู้ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 1,112 คนในโครงการระยะยาว 5 ปี และผู้ที่เข้าร่วมการตรวจสุขภาพจิตในช่วงปี 2014-2015 โครงการนี้มีจุดประสงค์ว่าการบริโภคอาหารประเภทใดที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการซึมเศร้า โดยแบ่งอาหารออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ อาหารเมล็ด (grain dishes เช่น ข้าว) ผัก ปลาและเนื้อแดง (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “white and red meat” ซึ่งหมายถึงเนื้อสัตว์ทุกชนิด ตั้งแต่ปลา ไก่ ที่มีสีขาว และเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่มีสีแดง) นม ผลไม้ อาหารที่ให้พลังงานสูงและอาหารว่าง (Total energy and snack) และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ผลการทดลองเปิดเผยว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงในการเกิดอาการซึมเศร้า อาหารที่นักวิจัยคาดว่าอาจมีผลดีต่อผู้ป่วย เช่น อาหารเมล็ด ผัก ผลไม้ นม กลับมิได้มีผลในการลดความเสี่ยงในการเกิดอาการซึมเศร้ามากนัก แต่การบริโภคอาหารประเภทปลาและเนื้อแดงจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการซึมเศร้าให้ลดน้อยลงได้[8]

แม้แต่วงการแพทย์ตะวันตกที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอาการซึมเศร้าก็พยายามค้นหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วย ในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา มีการวิจัยและทดลองใช้ “Magic Mushrooms”[9] รักษาผู้ที่มีอาการซึมเศร้า โดยระบุว่าสารที่เรียกว่า “Psilocybin” ซึ่งพบในเห็ดชนิดนี้มีปฏิกิริยาต่อสมอง ช่วยคลายความกระวนกระวายใจ ความวิตกกังวลได้

ในการทดลองหลังจากที่ผู้ป่วยได้กินยาที่มีสารชนิดนี้ปนอยู่ แพทย์จะให้นอนพักผ่อนอยู่ในห้องพักที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งมีเพียงแสงไฟสลัวๆ เสียงดนตรีเบาๆ บรรยากาศที่ผ่อนคลาย ปรากฏว่าผู้ป่วยจำนวนมากมีอาการดีขึ้น หายจากอาการซึมเศร้า ทำให้วงการแพทย์ที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการซึมเศร้ามีความหวังว่าสาร Psilocybin จะช่วยให้การรักษาผู้ป่วยได้ผล[10]

ในส่วนนี้ ผมจะขอกลับไปที่ประเด็นเรื่องสังคมที่ไม่ใช่ตะวันตกและคำอธิบายเกี่ยวกับสภาวะต่างๆ ด้านจิตใจ แต่ก่อนอื่น ผมสังเกตว่าในวงการแพทย์-จิตเวช เมื่อกล่าวถึงเรื่อง “Depression” ก็มักจะพาดพิงถึงภาวะทางจิตใจที่เรียกว่าความวิตกกังวล (Anxiety) ด้วย ดังนั้น หากเราอภิปรายกันถึงข้อเสนอทางมานุษยวิทยาเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและการซึมเศร้า เราอาจคิดต่อได้อีกว่า มิได้มีเพียงการซึมเศร้าเท่านั้นที่ผู้คนในแต่ละสังคมพยายามหาคำตอบเชิงวัฒนธรรม ทว่า ยังมีสภาวะอื่นๆ เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว ความปรารถนาในความรัก ความหึงหวง ฯลฯ ที่ต้องการคำอธิบาย ซึ่งในหลายสังคมเป็นคำอธิบายเชิงจิตวิญญาณ เกี่ยวข้องพิธีกรรม และความเชื่อเชิงศาสนา[11] โดยมีผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้เป็นผู้ประกอบพิธี

ความปรารถนาในความรักและความหึงหวงเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นักมานุษยวิทยานาม Louis Golomb ศึกษาเกี่ยวกับพิธีเข้าทรงและการขับไล่ภูตผีปีศาจ (exorcism) ในสังคมไทยและมลายู กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เขาพบเจอที่สงขลาในปี 1978 ว่า ตำรวจไทยพุทธคนหนึ่งพาภรรยาของตน ทั้งคู่อายุสี่สิบกว่าปี ไปหาพระภิกษุผู้มีชื่อเสียงด้านการขับไล่ภูตผีปีศาจ นี่เป็นครั้งที่สามในช่วงยี่สิบปีที่ภรรยามีอาการของการถูกผีสิง และอาการครั้งก่อนๆ ก็เกี่ยวข้องกับการที่สามีมีเมียน้อยคนใหม่ สำหรับอาการในครั้งนี้ ภรรยารู้สึกเจ็บปวดที่แขนและขาอย่างรุนแรง ซึ่งแพทย์ที่โรงพยาบาลก็ไม่สามารถให้คำอธิบายได้ว่าคืออะไร

พระภิกษุผู้ทำพิธี ซึ่งทราบดีเกี่ยวกับสถานภาพการสมรสของทั้งสอง นั่งสมาธิอยู่ครู่หนึ่งก็ตอบว่าความเจ็บปวดนี้เกิดขึ้นจากการถูกผีเข้า ซึ่งมาจากวัตถุที่มีคุณไสยแล้วนำไปฝังไว้ใต้ถุนบ้านของทั้งสอง และว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งว่าจ้างหมอผีให้ทำวัตถุดังกล่าว หลายวันต่อมาสามีภรรยากลับไปหาพระภิกษุพร้อมตุ๊กตาที่เป็นเสมือนตัวจำลอง (effigy) ของภรรยาที่ทั้งคู่ค้นพบใต้บันไดหน้าบ้าน แล้วพระภิกษุก็ทำพิธีไล่ผีให้ภรรยา เริ่มด้วยการพรมน้ำมนต์ ท่องคาถา แล้วพระภิกษุก็เอ่ยท้าทายให้ผีปรากฏตัวและบอกว่าเป็นใคร

ไม่นานนักภรรยาก็เริ่มมีอาการถูกผีสิงและบอกว่าเป็นใคร มาจากไหน รวมทั้งบอกว่าเป็นผีที่เมียน้อยคนใหม่ของสามีส่งมา หลังจากนั้นก็กลับคืนสู่ภาวะปรกติ จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น และความเจ็บปวดที่แขนขาก็หายไป[12]

โกโลมป์วิเคราะห์และตีความเหตุการณ์นี้ไว้หลายประการ แต่ผมสนใจในแง่ที่ว่าความหึงหวง ความปรารถนาในความรัก ซึ่งอาจนำไปสู่อาการทางกายภาพ (ความเจ็บปวดที่แขน ขา หรือที่อื่นๆ) ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้รักษาไม่สำเร็จ แต่อาจอธิบายได้ด้วยความเชื่อเชิงศาสนา จนรักษาหรือทำให้ผู้ที่เจ็บปวดนั้นกลับคืนสู่ภาวะปรกติได้

ในการศึกษา งานเขียนอีกชิ้นหนึ่งของโกโลมป์ กล่าวถึงผู้ประกอบพิธีกรรมในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเชีย และในภาคใต้ของไทยที่เรียกกันว่าโบโมห์ (Bomoh)[13] ซึ่งจำนวนมากเป็นผู้ชายคนพุทธที่พูดภาษาไทย (แต่ก็พูดภาษามลายูได้) ที่เชี่ยวชาญด้านไสยศาสตร์ รู้จักใช้คาถาอาคมและอำนาจคุณไสยต่างๆ รวมถึงการรักษาผู้ที่ถูกคาถาอาคมและคุณไสยด้วย ผู้ที่เข้าใช้บริการของโบโมห์มีหลายกลุ่มคน หนึ่งในนี้เป็นกลุ่มหญิงวัยกลางคนชาวมลายูที่ประสบกับปัญหาหย่าร้าง บ่อยครั้งเพราะสามีไปมีภรรยาคนใหม่ ดังนั้น ผู้เป็นภรรยาจึงมาขอให้โบโมห์ทำคุณไสยด้านเสน่ห์ยาแฝดให้เธอเพื่อให้สามีกลับมาหลงรักเธออีกครั้ง[14]

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนคือความวิตกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตาย และคงไม่น่าแปลกใจที่ความความวิตกกังวลนี้อาจนำไปสู่ความเชื่อเรื่องการต่ออายุ

ตัวอย่างที่ใกล้ตัวเราที่สุดก็คือความเชื่อเรื่องการทำสะเดาะเคราะห์นอนในโลงของคนไทยปัจจุบัน ซึ่งมีวัดหลายแห่งเสนอให้บริการ และมีผู้ไปขอใช้บริการเป็นจำนวนมาก มีรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ณ วัดแห่งหนึ่ง ผู้ที่ไปร่วมในพิธีจะต้อง “นอนในโลงแล้วให้พระภิกษุประกอบพิธีบังสุกุลเป็น-บังสุกุลตาย เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุ เสริมดวงชะตาเปรียบเสมือนตายแล้วเกิดใหม่ โดยเมื่อผ่านพิธีการนอนโลงศพแล้ว เชื่อกันว่าจะมีสุขภาพแข็งแรง ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข และเสริมมงคลชีวิต

“ทั้งนี้การสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา พิธีสืบชะตา เป็นพิธีกรรมหนึ่งที่กระจายอยู่ในวัฒนธรรมแถบเอเชีย โดยเฉพาะในหมู่ชาวพุทธทุกนิกาย ทั้งชาวไทย จีน ไปจนถึงทิเบต รูปแบบประเพณี ก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของท้องถิ่น คนไทยมีความเชื่อเรื่องการต่อชะตา ซึ่งการนอนในโลงศพ แล้วให้พระภิกษุสงฆ์ทำพิธีบังสุกุลเป็นบังสุกุลตาย เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่ออายุ ที่นิยมมากในภาคเหนือ ทั้งนี้จะนิยมจัดในช่วงเทศกาสงกรานต์

“สำหรับพิธีการนอนโลงศพสะเดาะเคราะห์ จะใช้เวลาแต่ละครั้งประมาณ 5 นาที โดยพระสงฆ์ที่นิมนต์มาจำนวน 4 รูป จะสวดบังสุกุลตายให้ผู้ที่นอนในโลงศพ จะหันหัวไปทิศตะวันตก และกลับหัวมาทิศตะวันออก พระจะสวดบังสุกุลเป็น พร้อมให้ศีล ให้พร โดยทางวัดได้นำโลงศพใบเก่าไปทำพิธีฌาปนกิจตามประเพณี เพื่อให้สิ่งชั่วร้าย และสิ่งไม่ดีทั้งหลายทั้งปวง ให้มอดไหม้ไปกับกองไฟ จากนั้นเปลี่ยนโลงศพใบใหม่มาใช้ทำพิธีให้ญาติโยมตลอดปี”[15] แม้แต่พระสงฆ์หรือระดับพระเกจิอาจารย์ก็เชื่อในเรื่องนี้ เข้าร่วมพิธีหรือมีลูกศิษย์ประกอบพิธีให้[16]

ผมเองเคยมีประสบการณ์ ได้เข้าร่วมในพิธีสะเดาะเคราะห์ แต่มิใช่การนอนในโลง หากเป็นพิธีที่ซับซ้อนกว่านั้น ยี่สิบกว่าปีก่อนผมอาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ ใกล้ชายแดนพม่าเพื่อเก็บข้อมูลเขียนวิทยานิพนธ์ ผมอาศัยอยู่ในบ้านเช่าเล็กๆ ที่สร้างติดกันหลายหลังบนที่ดินของเจ้าของบ้านเช่า ผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ครูและพยาบาล พอผมย้ายเข้าไปอยู่ก็เริ่มสร้างมิตรภาพ ทำความรู้จักกับเพื่อนบ้าน ทั้งคนที่เช่าบ้านอยู่แบบผมและข้างบ้านที่มีบ้านและที่ดินของตนเอง

มีสามีภรรยาคู่หนึ่งที่ผมสนิทสนมด้วย ภรรยาเป็นคนไต (ที่คนไทยเรียกว่า “ไทยใหญ่”) ที่มาจากต่างอำเภอ พอเธอเริ่มตั้งครรภ์ แม้ว่าจะเป็นคนแข็งแรง สุขภาพดี อารมณ์แจ่มใส ยิ้มแย้มเสมอ สามีเธอก็อดเป็นห่วงไม่ได้เพราะเป็นลูกคนแรก เกิดความวิตกกังวล เกรงว่าจะมีภยันตรายต่างๆ ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับภรรยา

หลังจากปรึกษากับแม่ของภรรยาแล้ว สามีก็ไปว่าจ้าง “หมอ” คนไตจากฝั่งพม่ามาทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย และขอให้ผมไปช่วยในพิธี ซึ่งค่อนข้างซับซ้อนและนานถึง 2-3 วัน ผมจึงขอเล่าอย่างสั้นๆ ว่าหมอทำพิธีเริ่มด้วยการสะเดาะเคราะห์ให้ภรรยาก่อน ให้เธอนอนบนพื้นบ้านเสมือนว่าเธอได้เสียชีวิตลง แล้วทำพิธีศพให้เธอ (แต่เธอไม่ได้นอนในโลงอย่างพิธีที่ผมกล่าวถึงข้างบน) วันต่อมาหมอให้สามีหาตุ๊กตาผ้ามาหนึ่งตัว พร้อมกับสิ่งของประกอบพิธีต่างๆ เช่น อาหาร ดอกไม้ ธูปเทียน ใบไม้บางอย่างที่ผมไม่รู้จัก แล้วหมอก็เริ่มทำพิธีศพให้ตุ๊กตา เสมือนเป็นตัวจำลองของทารกที่จะเกิดมา

หมอท่องมนต์เป็นภาษาไต (ไทยใหญ่) อยู่นานทีเดียว ซึ่งอาจสรุปความสั้นๆ ได้ว่าทารกได้เสียชีวิตไปแล้ว ภูตผีปีศาจทั้งหลายจงรับรู้ไว้ อย่าได้มารบกวนผู้คนในบ้านนี้อีกเลย พอสวดเสร็จก็เอาผ้าห่อตุ๊กตา มัดอย่างแน่นหนา แล้วบอกสามีให้เอาห่อผ้า (ที่มีตุ๊กตาอยู่ข้างใน) และเสียมขุดดิน ส่วนผมให้เก็บสิ่งของทุกอย่างที่ใช้ในพิธี แล้วให้สามีและผมเดินไปหาที่ที่เป็นทางสามแพร่ง ระหว่างที่เดินไปนั้นห้ามหันกลับมาดูข้างหลัง เมื่อถึงที่ทางสามแพร่ง สามีก็ขุดดินเป็นหลุมใหญ่ เอาห่อผ้าตุ๊กตาลงไปฝังพร้อมกับสิ่งของต่างๆ ที่ผมเอาไปด้วย แล้วสามีก็กลบหลุมจนแน่ใจว่าแน่นหนาเพื่อป้องกันมิให้สัตว์ต่างๆ มาขุดคุ้ย แล้วเราสองคนก็เดินกลับบ้าน

เช่นเดียวกับขามา หมอทำพิธีห้ามเราทั้งสองหันกลับไปดูด้านหลัง – ข้อห้ามนี้เกิดจากความเชื่อที่ว่าหากหันหน้าไปดูข้างหลัง ภูตผีปีศาจจะทักทายและจะรู้ว่าเราสองคนไปไหน ทำอะไร จึงห้ามไม่ให้หันกลับไปดู – หลังจากเสร็จพิธี คู่สามีภรรยาและแม่ยินดีมาก รู้สึกคลายกังวลในเรื่องการคลอดลูก ซึ่งเป็นไปด้วยดี ทารกที่คลอดออกมาเป็นผู้ชาย แข็งแรง น่ารัก ฉลาดเฉลียว

สำหรับผม สถานภาพและคำเรียกถูกเปลี่ยนจาก “พี่” (ของสามีภรรยา) เป็น “ลุง” (ของลูกชาย) และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวนี้ตลอดมา แต่ที่น่าสนใจคือความเชื่อในการใช้ตุ๊กตาเป็นตัวจำลอง ทั้งในกรณีภรรยาที่ถูกผีเข้าที่สงขลา และทารกของเพื่อนบ้านของผม ผมไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นความเชื่อที่ปรากฏทั่วไปในสังคมไทยหรือไม่? หรือมีร่วมกันในกลุ่มคนที่พูดภาษาในตระกูลภาษาไต-ไทหรือไม่?

ความวิตกกังวลเป็นอีกหนึ่งอารมณ์ที่อาจช่วยให้บรรเทาลงได้ด้วยความเชื่อเชิงศาสนา มีกรณีที่น่าสนใจเกี่ยวกับหญิงมุสลิมมลายูในภาคใต้ของไทย “ฝันถึงพ่อที่เพิ่งเสียชีวิตไปได้ไม่นานว่าได้รับความลำบากและยังไม่ได้ไปอยู่กับอัลเลาะห์ เนื่องจากติดค้างหนี้สินเพื่อนไว้” แต่เธอไม่รู้ว่าเป็นใคร จึงติดต่อให้โบโมห์มาทำพิธีเรียกวิญญาณของพ่อ “มาเข้าทรงเพื่อสอบถามสารทุกข์สุกดิบ รวมไปถึงสอบถามเรื่องเจ้าหนี้”

เมื่อถึงเวลาทำพิธี หญิงคนนี้ได้บอกรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวกับพ่อให้ผู้ช่วยโบโมห์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลางถ่ายทอดทุกอย่างให้โบโมห์ฟัง หลังจากที่โบโมห์มีอาการของการถูกวิญญาณของพ่อเข้าสิง เริ่มเล่นตะลุง ซึ่งเป็นการแสดงที่พ่อชอบมาก แต่โบโมห์เต้นจนหมดแรงลงไปนั่งหลายครั้ง วิญญาณก็ไม่แสดงตนว่าเป็นใคร เวลาร่วงเลยไปนานจนผู้ช่วยโบโมห์ต้องสอบถามหญิงมลายูเกี่ยวกับชื่อของพ่อเธออีกครั้ง (ครั้งแรกเป็นชื่อมลายู) ว่าชื่อที่เป็นภาษาไทยคืออะไร ตรงตามชื่อในทะเบียนราษฎร์หรือไม่ แล้วเรียกวิญญาณที่เข้าสิงโบโมห์ด้วยชื่อในภาษาไทย วิญญาณก็ขานรับ ทำให้ทุกคนที่เข้าร่วมในพิธีต้องงวยงงกันหมด ได้รับคำตอบจากวิญญาณว่า “อาเย๊าะ (พ่อ) เปลี่ยนชื่อแล้ว อาเย๊าะก็ต้องเป็นคนไทย ตอนแรกที่ยังไม่มาก็เพราะว่าชื่อ (ในภาษามลายู) นั้นไม่ใช่ชื่ออาเย๊าะ[17]

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ ผู้เขียนและศึกษาเหตุการณ์นี้ ให้คำอธิบายที่พาดพิงเกี่ยวข้องกับเรื่องอำนาจรัฐ (ไทย) และอัตลักษณ์ของคนมลายู ซึ่งผมไม่ปฏิเสธ แต่เหตุการณ์นี้ก็ดูจะแสดงถึงความวิตกกังวลของลูกสาว หญิงมลายู ต่อพ่อที่ตายไปแล้ว ต่อสถานการณ์ของพ่อในอีกโลกหนึ่ง (ในสภาพของวิญญาณ) ว่ามีสภาวะเป็นเช่นไร จะสงบสุขหรือไม่? (สำหรับคนมุสลิม การได้อยู่กับอัลเลาะห์หลังจากการมีชีวิตในโลกนี้เป็นความสงบสุขที่แท้จริง)

ที่น่าสนใจคือความวิตกกังวลเรื่องความตายที่ปรากฏในประเทศไทยนั้น บ่อยครั้งเป็นความวิตกกังวลของปัจเจกบุคคลที่มีต่อคนที่ตนเองรักใคร่ที่เสียชีวิตไปแล้ว ดังเช่นหญิงมลายูที่มีต่อพ่อของตน เป็นความกังวลว่าคนที่ตนรักจะไม่มีความสงบสุขในอีกโลกหนึ่งภพหนึ่ง

ในสังคมคนอีสานก็มีกรณีที่คล้ายๆ กัน Charles Keyes นักมานุษยวิทยาอเมริกันผู้ทำวิจัยในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดสารคาม กล่าวถึงหญิงชาวบ้านที่ตนรู้จักว่ามีอาการซึมเศร้า น้ำหนักตัวลดลง ซูบผอม เพราะความวิตกกังวล – และความฝัน – เกี่ยวกับแม่และน้องชายของเธอที่เสียชีวิตจากการตายฮุง (ตายโหง – ในภาษาไทยกลาง) ซึ่งตามธรรมเนียมของคนท้องถิ่นจะไม่เผาเช่นการตายตามปกติ แต่จะฝังแล้วทิ้งไว้จนอาจนานเป็นเดือนหรือปี จึงจะขุดกระดูกขึ้นมาทำพิธีศพที่เหมาะสม การซึมเศร้าที่เกิดขึ้นกับหญิงผู้นี้จึงมีสาเหตุมาจากความกังวลห่วงใยต่อคนที่เธอรักใคร่ (เช่นเดียวกับหญิงมลายู) คายส์ – ซึ่งเห็นด้วยกับข้อเสนอของโอเบเยเซเกเร่ – สรุปว่าการซึมเศร้านี้เป็น “ผลงานทางวัฒนธรรม” นั่นเอง[18]

มีประเด็นสำคัญ 2-3 ประการที่ผมพยายามนำเสนอในที่นี้ กล่าวคือในมุมมองเชิงมานุษยวิทยา การซึมเศร้าไม่ใช่โรคหรือการเจ็บป่วยเช่นที่วงการแพทย์ระบุไว้ แต่อาจเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทางสังคม หรือเป็น “ผลงานทางวัฒนธรรม” ก็ได้ การซึมเศร้าอาจเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการแพทย์ตะวันตกสมัยใหม่ อาจเป็นผลพวงแห่งอำนาจและเกียรติยศของสถาปนาทางการแพทย์ตามข้อสรุปของโอเบเยเซเกเร่ก็ได้

ดังนั้น เราอาจต้องพิจารณาเรื่องการซึมเศร้าด้วยมุมมองใหม่ๆ ที่กว้างไกลกว่าข้อเสนอทางการแพทย์ที่มีอยู่ในขณะนี้

 

อ้างอิง

[1] Sallie Oliver, “Depression Across Cultures

[2] Rashmi Nemade, “Cognitive Theories of Depression – Seligman. Seligman’s Learned Helplessness”

[3] Rashmi Nemade, “Lifestyle Factors and Environmental Causes of Depression

[4] Rashmi Nemade, “Social and Relational Factors in Depression. Stress, Trauma, and Depression

[5] อ้างอิงใน Celia Jaes Falicov, “Culture, society and gender in depression”, Journal of Family Therapy (2003) 25, p. 375

[6] Gananath Obeyesekere, “Depression, Buddhism, and the Work of Culture in Sri Lanka”, in Culture and Depression Studies in the Anthropology and Cross-Cultural Psychiatry of Affect and Disorder, edited by Arthur Kleinman and Byron J. Good (Berkeley and Los Angeles: University of California, 1985), p. 135

[7] Ibid., pp. 134-152

[8] Ryo Okubo, Yutaka J. Matsuoka, Norie Sawada, Masaru Mimura, Kayo Kurotani, Shoko Nozaki, Ryo Shikimoto & Shoichiro Tsugane, “Diet quality and depression risk in a Japanese population: the Japan Public Health Center (JPHC)-based Prospective Study”, Scientific Reports Volume 9, Article number 7150 (2019)

[9] ข้อเขียนบางชิ้นแปลคำว่า “Magic Mushrooms” ว่าคือ “เห็ดวิเศษ” หรือ “เห็ดขี้ควาย” – ดู The Matter, “ออสเตรเลียจะลองใช้ ‘Magic Mushroom’ กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย หวังช่วยพวกเขาลดทอนความทุกข์ในช่วงปลายชีวิต”, 19 January 2019

[10] ชมและฟังรายละเอียดได้จากวีดีโอหลายชิ้น เช่น ใน EXCLUSIVE: Could magic mushrooms treat depression? BBC Newsnight, Could Magic Mushrooms Be Used To Treat Depression? ,และ What magic mushrooms do to your brain and body

[11] คำว่าความเชื่อเชิงศาสนา เป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษคำว่า “Religious beliefs” ซึ่งในทางมานุษยวิทยามีความหมายครอบคลุมถึงความเชื่อต่างๆ เช่น การนับถือ/กราบไหว้ผี (Animism) การบูชาบรรพบุรุษ (Ancestor worship) “Totemism” (ซึ่งบางคนแปลว่า “สัญลักษณ์เกี่ยวกับบรรพบุรุษ”) “Shamanism” (บางคนแปลว่า “ลัทธิบูชาอำนาจของผู้วิเศษ”) “Magic” และอื่นๆ อีกมากมายนอกเหนือจากคำว่า “ศาสนา(หลัก)” (Religions) ที่ใช้กันทั่วไปในภาษาไทย

[12] ดู Louis Golomb, An Anthropology of Curing in Multiethnic Thailand (Urbana: University of Illinois Press, 1985), pp. 240-241

[13] เป็นคำในภาษามลายู โดยมีข้อเสนอว่าคำเรียกนี้มาจากคำว่า “หมอ” ในภาษาไทย

[14] Louis, Golomb, Brokers of Morality: Thai Ethnic Adaptation in a Rural Malaysian Setting (Honolulu: University Press of Hawaii (Asian Studies at Hawaii No. 23), 1978)

[15] ดูรายละเอียดใน MThai, “‘นอนโลงศพ’ สะเดาะเคราะห์ ต่อชะตารับปีใหม่”, 4 มกราคม 2020

[16] ร้านตุ้มเมืองตาก, “พิธี ‘สวดศพ-เผาหุ่น’ ต่ออายุ หลวงปู่แย้ม-เกจิเมืองนนท์”, 27 กันยายน 2555

[17] ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ, มันยากที่จะเป็นมลายู (กรุงเทพฯ: มติชน, 2559), น. 219-221

[18] Charles F. Keyes, “The Interpretive Basis of Depression”, in Culture and Depression Studies in the Anthropology and Cross-Cultural Psychiatry of Affect and Disorder, edited by Arthur Kleinman and Byron J. Good (Berkeley and Los Angeles: University of California, 1985), pp. 153-174

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save