fbpx

‘พัทยา’ ไขปริศนานวนิยายการเมืองสุดลึกลับ กับชีวประวัติที่ไม่เคยเปิดเผยของ ‘ดาวหาง’

เชื่อว่านวนิยายชื่อ พัทยา ของ ‘ดาวหาง’ ที่ตีพิมพ์รวมเล่มเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2495 ความยาวสองเล่มจบ โดยสำนักพิมพ์ประชาช่าง เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านชาวไทยในวงกว้างจริงๆ เมื่อ พ.ศ. 2541 โดยคณะผู้วิจัยโครงการวิจัยเพื่อคัดเลือกและแนะนำหนังสือดีในรอบศตวรรษนำโดย วิทยากร เชียงกูล ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ประกาศให้ พัทยา เป็นหนึ่งใน ‘หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน’ หมวดนวนิยาย นับเป็นการเริ่มต้นปลุกกระแสให้ผู้อ่านรุ่นหลัง ๆ หันมาสนใจงานวรรณกรรมชิ้นนี้มากขึ้น

แต่อนิจจา หลังจากที่นวนิยายเรื่องนี้พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเมื่อปี 2495 ก็ไม่ปรากฏการพิมพ์ซ้ำในเวลาต่อมาเลย มิหนำซ้ำ การพิมพ์เผยแพร่ในครั้งแรก ซึ่งแบ่งออกเป็นเล่ม 1 และเล่ม 2 ทางสำนักพิมพ์ประชาช่าง ก็พิมพ์เล่มแรกออกวางจำหน่ายก่อนในช่วงต้นปี 2495 นัยว่าเพื่อรอดูผลตอบรับทางการตลาด และสัญญาไว้ในเล่มว่าจะจัดพิมพ์เล่มที่ 2 ในช่วงต้นเดือนเมษายน แต่เวลาก็ล่วงเลยหลังจากนั้นไปอยู่พักใหญ่ก่อนที่สำนักพิมพ์ประชาช่างจะจัดพิมพ์เล่มที่ 2 ตามออกมาอย่างล่าช้าในช่วงปลายปี นวนิยายเรื่อง พัทยา ทั้งสองเล่ม จึงออกวางจำหน่ายไม่พร้อมกัน แถมการพิมพ์เล่มที่ 2 ยังพิมพ์เผยแพร่แบบจำกัดจำนวน สถานการณ์ทั้งหมดนี้ส่งผลให้นวนิยาย พัทยา ของ ‘ดาวหาง’ กลายเป็นหนังสือที่ติดอันดับ ‘หายาก’ จนแทบไม่มีคนรุ่นหลังรายไหนได้อ่าน แม้แต่ร้านจำหน่ายหนังสือเก่าหนังสือมือสองที่เชี่ยวชาญในการสืบหาผลงานหายากทั้งหลาย ก็มักพบเฉพาะเล่มหนึ่ง นานๆ ครั้งจึงจะพบนวนิยายเล่มนี้รวมคู่ครบถ้วนทั้งเล่มแรกและเล่มที่สอง ซึ่งคอสะสมหนังสือเก่าก็จะแก่งแย่งหาซื้อกันจ้าละหวั่น จนผู้ขายตั้งราคาได้สูงถึงคู่ละเรือนหมื่นบาทเลยทีเดียว

ภาพใบหุ้มปกนวนิยาย พัทยา ของ ‘ดาวหาง’ เล่ม 1 และเล่ม 2
ฉบับบูรณะใหม่โดย เวียง-วชิระ บัวสนธ์ จากสำนักพิมพ์สามัญชน

ความเป็นมาอันลึกลับของงานวรรณกรรมชิ้นนี้ ทำให้ พัทยา กลายเป็นตำนานหนังสือหายากมาอย่างยาวนานกว่า 70 ปี มีแต่ผู้ที่ได้ยินกิตติศัพท์ในฐานะนวนิยายการเมืองเรื่องแรกๆ ของไทย ทว่า ไม่อาจหาตัวเล่มมาศึกษาหาอ่านได้ ไม่มีกระทั่งฉบับสมบูรณ์เก็บไว้ แม้แต่ที่หอสมุดแห่งชาติ หรือห้องสมุดสำคัญแห่งอื่นๆ อีกทั้งนามปากกา ‘ดาวหาง’ ก็ไม่เคยมีผู้พบประวัติมาก่อนเลยว่ามีชื่อเรียงเสียงจริงอย่างไร  รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับทั้ง นวนิยาย และ ผู้ประพันธ์ เรื่องนี้จึงกลายเป็นปริศนาดำมืดมายาวนาน มีแต่ตำนานที่เล่าขานเท่านั้นที่เป็นหลักฐานถึงการมีอยู่จริงของมัน

‘ดาวหาง’ คือใคร?

จากข้อมูลเพียงน้อยนิดในหน้าคำนำของนวนิยาย พัทยา ที่รวมพิมพ์สองเล่มจบโดยสำนักพิมพ์ประชาช่าง เมื่อ พ.ศ. 2495 ทำให้พอทราบว่า ‘ดาวหาง’ ประพันธ์นวนิยายเรื่องนี้ในช่วงปี 2477-2480 ก่อนจะทยอยลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ สุวรรณภูมิ (หรือ สุวันนภูมิ ในช่วงการปฏิรูปตัวอักษรไทยสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าลงพิมพ์ตั้งแต่ช่วง พ.ศ. ใด ถึง พ.ศ. ใด ทราบแต่เพียงว่า หนังสือพิมพ์ สุวรรณภูมิ ซึ่งมี อิศรา อมันตกุล เป็นบรรณาธิการคนแรก ออกเผยแพร่ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2484 และพบภาพถ่ายของหนังสือพิมพ์ สุวันนภูมิ ฉบับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2488 ตีพิมพ์ส่วนหนึ่งของเนื้อหานวนิยาย พัทยา ของ ‘ดาวหาง’ ซึ่งตรงกับฉบับพิมพ์รวมเล่ม เล่ม 1 หน้า 412 ปัจจุบันจึงยังไม่ทราบว่า นวนิยาย พัทยา ได้ทยอยตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ สุวรรณภูมิ/สุวันนภูมิ จนจบหรือไม่ ทราบเพียงว่าสุดท้าย ‘ดาวหาง’ ก็มีโอกาสรวมผลงานนวนิยาย พัทยา กับสำนักพิมพ์ประชาช่าง ด้วยเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อปี 2495 

หนังสือพิมพ์ สุวรรณภูมิ ฉบับปฐมฤกษ์ พ.ศ. 2484
และ สุวันนภูมิ ฉบับที่ปรากฏเนื้อหานวนิยายเรื่อง พัทยา พ.ศ. 2488

นวนิยาย พัทยา ที่ตีพิมพ์ลงใน สุวรรณภูมิ/สุวันนภูมิ น่าจะสร้างชื่อเสียงให้ ‘ดาวหาง’ ในหมู่ผู้อ่านในยุคนั้นได้มากพอสมควร หลังจากนั้น ‘ดาวหาง’ ก็มีผลงานสารคดี เรื่องสั้น และบทกวี หลายชิ้น ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร เอกชน รายสัปดาห์ ช่วง พ.ศ. 2489-2491 เรื่องสั้นชื่อ ‘ถิ่นสยอง’ ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร สยามสมัย ฉบับที่ 137 วันที่ 26 ธันวาคม 2492 รวมถึงเรื่องสั้นแนวการเมือง และแนวผจญภัยอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง ในนิตยสาร ปิยะมิตร รายสัปดาห์ และ ปิยมิตร วันจันทร์ ระหว่างปี 2495-2501

จนเมื่อ พ.ศ. 2502  ‘ดาวหาง’ ได้นำเรื่องสั้นหลายๆ เรื่องที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร ปิยะมิตร รายสัปดาห์ และ ปิยมิตร วันจันทร์ มารวมเล่มเป็นรวมเรื่องสั้นชื่อ จุดดำ กับสำนักพิมพ์เขษมบรรณกิจ ซึ่งในส่วนของคำนำ ‘ดาวหาง’ ได้กล่าวถึงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2501 หลังจากรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2500 ว่าเป็น “การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่ค่อนข้างสะอาดเป็นที่น่าพอใจแก่ทุกฝ่าย” (หน้า 1) ก่อนจะแนะนำตนเองไว้อย่างคลุมเครือและติดตลกว่า

“ผมนี้เกิดมาอวดได้เลยว่าเป็นไทย แต่ไม่รู้ตัวว่าฝักฝ่ายใด หรือเป็นชนชั้นใด หากจะเป็นศักดินาตามบรรพบุรุษที่มีบรรดาศักดิ์รับราชการมาตลอดอายุขัยจนเป็นฝ่ายทุนนิยมก็เป็นนายทุนประเภทมีมั่งไม่มีมั่ง จะเป็นกรรมาชีพก็เคยทำไร่ทำสวนขุดดิน โดยเฉพาะไม่กินจอบกินกะเทียมกะเขา ทั้งนี้ทั้งนั้นอวดเต็มปากคำไม่ได้เลย คนอย่างผม และอย่างอีกหลายแสนคนอย่างผมไม่มีท่าทีเป็นกรรมกรก้าวหน้ากะเขาสักนิด, ไม่มีท่วงทำนองของนายทุนอย่างสมาคมพ่อค้า รับรองไม่ว่าอย่างไหน ๆ จึงกลายเป็นชนชั้นกลาง ๆ โดยไม่รู้ว่ากลางนั้นหมายถึงอันใดสถาบันใดแน่. จะว่าผมเป็นอะไรก็ว่าเถิด ขออย่างเดียวอย่าว่าเป็นคอมมูนิสต์คอมมูหน่อยให้บาปตัวเปล่าเปล่าก็แล้วกัน” (หน้า 1-2)

ภาพใบหุ้มปกและสันรวมเรื่องสั้น จุดดำ ของ ‘ดาวหาง’
ฉบับบูรณะใหม่โดย เวียง-วชิระ บัวสนธ์ จากสำนักพิมพ์สามัญชน

ท่าทีทีเล่นทีจริง และสำนวนโวหารที่เล่นล้อกับสถานการณ์ด้านการเมืองต่างๆ อย่างตรงไปตรงมาในงานเขียนแทบทุกชิ้นของ ‘ดาวหาง’ ดังที่ได้ยกตัวอย่างไป คงจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ‘ดาวหาง’ ไม่เคยเปิดเผยชื่อ-สกุลจริง หรือตำแหน่งหน้าที่การงานใดๆ ให้สาธารณชนได้รับทราบเลย เพื่อพิทักษ์สวัสดิภาพของทั้งตนเองและครอบครัว โดยใช้สิทธิปฏิบัติของการเขียนงานด้วยนาม ‘นามปากกา’ มาเป็นเครื่องมือในการปิดบังอำพราง สร้างเสรีภาพในการคิดเขียนและแสดงออกได้ โดยไม่ยอมให้ใครรู้ชื่อเสียงเรียงนามอันรังแต่จะสร้างความเดือดร้อน แม้กระทั่งบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ สุวรรณภูมิ/สุวันนภูมิ อย่าง เสนีย์ เสาวพงศ์ ก็ยังเคยให้ข้อมูลในภายหลังว่าได้รับต้นฉบับนิยายเรื่อง พัทยา ทางไปรษณีย์จากชลบุรีโดยไม่ทราบเลยว่าผู้แต่งเป็นใคร (คณะผู้วิจัยโครงการวิจัยเพื่อคัดเลือกและแนะนำหนังสือดีในรอบศตวรรษ, 2541)

หลังจากตีพิมพ์รวมเรื่องสั้น จุดดำ นามปากกา ‘ดาวหาง’ ก็เริ่มเลือนหายไปจากวงการวรรณกรรมไทย มีการนำนวนิยายเรื่อง พัทยา มาศึกษาและกล่าวถึงแต่เพียงประปราย ด้วยความยากเย็นในการหาตัวบทวรรณกรรมเล่มนี้มาอ่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยหลังๆ และทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงนวนิยายเรื่อง พัทยา ในบทความหรือบทวิจารณ์งานวรรณกรรมเท่าที่เคยปรากฏมา จะต้องมีการกล่าวขวัญถึงความเร้นลับเบื้องหลังตัวตนจริงของนามปากกา ‘ดาวหาง’ และการเป็นหนังสือที่หาอ่านได้แสนยากของ พัทยา อยู่เสมอ

เจือ สตะเวทิน (2516) ซึ่งชื่นชมความคิดเห็นต่าง ๆ ในนวนิยายเล่มนี้มาก ตั้งข้อสันนิษฐานว่าตัวตนจริงของ ‘ดาวหาง’ น่าจะเป็นนักการทูตไทย เพราะเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ด้านการเมืองและความรู้อื่นๆ ทั้งจากโลกภายนอกอันไพศาลและวิถีชีวิตชนบทแบบไทยๆ และ พัทยา ก็น่าจะเป็นผลงานที่เป็นนวนิยายเชิงอัตชีวประวัติของเขา อิงอร สุพันธุ์สนิช (2519) คาดเดาได้เพียงว่า ‘ดาวหาง’ น่าจะอยู่ในแวดวงของผู้ที่สนใจวรรณคดีไทยและต่างประเทศไทย เพราะมีการอ้างอิงถึงงานประพันธ์อมตะมากมายหลายชิ้น ตรีศิลป์ บุญขจร (2532) ได้โอดครวญถึงความยากลำบากอย่างยิ่งในการหาอ่านนวนิยาย พัทยา เนื่องจากไม่สามารถหาจากห้องสมุดต่างๆ ได้ ขณะกำลังศึกษาเรื่อง ‘นวนิยายกับสังคมไทย 2475-2500’ และตั้งข้อสังเกตว่า ‘ดาวหาง’ อาจพยายามรักษาสวัสดิภาพของตนจากการกล่าวถึงประกาศ ‘รัฐนิยม’ ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยตรงในนิยาย ‘ศรีดาวเรือง’ (2536) ยอมรับว่าไม่สามารถหาข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับผู้ใช้นามปากกา ‘ดาวหาง’ ในการเขียนแนะนำ จุดดำ ของผู้แต่ง พัทยา ไม่มีกระทั่งภาพถ่ายหรือบัตรรายการนามประพันธ์ของหอสมุดแห่งชาติ แม้แต่ พิมล เมฆสวัสดิ์ (2542) ผู้เขียนแนะนำนิยาย พัทยา ใน สารานุกรมแนะนำหนังสือดี 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน ก็ไม่สามารถหาประวัติผู้แต่งของหนังสือเล่มนี้ลงในบทแนะนำได้ ทั้งยังกล่าวว่า พัทยา เป็นนิยายที่พิมพ์รวมเล่มเพียงครั้งเดียว ทำให้หาอ่านได้ยาก และจนบัดนั้นก็ยังไม่มีใครทราบว่า ‘ดาวหาง’ เป็นใคร

อย่างไรก็ดีหลังจากที่ ‘สิงห์สนามหลวง’ (2549) ได้เคยประกาศขอเบาะแสจากผู้ที่พอจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังนามปากกา ‘ดาวหาง’ ผ่านคอลัมน์ ‘สิงห์สนามหลวงสนทนา’ ในนิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ธรรมนูญ เรืองศิลป์ ได้พบข้อมูลในวารสาร สามมุข ของ ยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี เล่มที่ 262 ตุลาคม-ธันวาคม 2546 เปิดเผยว่านามจริงของผู้ใช้นามปากกา ‘ดาวหาง’ ผู้ประพันธ์นิยาย พัทยา คือ รัตน์ ศรีงาม ผู้อาศัยอยู่ในจังหวัดชลบุรี แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลใดๆ มากกว่านี้

วารสาร สามมุข ฉบับที่ 262 แจ้งชื่อสกุลจริงของ ‘ดาวหาง’ ว่า รัตน์ ศรีงาม

จนกระทั่งเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 เวียง-วชิระ บัวสนธ์ และคณะจากสำนักพิมพ์สามัญชนได้พบทั้งภาพถ่ายและข้อมูลของ รัตน์ ศรีงาม ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ ยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี จากข้อความแสดงความอาลัยหลังจากที่เขาได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2526 ในวารสาร สามมุข ฉบับที่ 155 เมษายน-พฤษภาคม 2526 สืบทราบจนได้พบทายาทซึ่งเป็นบุตรสาว และทราบข้อมูลว่าแท้แล้ว รัตน์ ศรีงาม เป็นเพียงนักธุรกิจที่มีกิจการอยู่ในจังหวัดชลบุรี ไม่เคยมีอาชีพด้านการทูตหรือการเมืองใดๆ ไม่เคยใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นระยะเวลานาน แต่มีนิสัยรักการศึกษาหาอ่านความรู้ต่างๆ จากหนังสือและนิตยสารทั้งไทยและเทศอยู่เสมอ การค้นพบครั้งนี้สร้างความกระจ่างต่อตัวตนจริงของ ‘ดาวหาง’ อันเป็นปริศนาดำมืดในวงการวรรณกรรมมาอย่างยาวนาน แม้ว่าจากการไล่อ่านวารสาร สามมุข ฉบับก่อนหน้า จะพบว่า ชลอ ชุ่มศรี บรรณาธิการได้เคยเปิดเผยข้อมูลตัวตนจริงของ ‘ดาวหาง’-รัตน์ ศรีงาม ผู้แต่งนวนิยาย พัทยา อย่างสาธารณะไว้ในวารสารตั้งแต่ฉบับ 140 เมื่อปี 2523 แล้ว เพื่อกล่าวขอบคุณที่ รัตน์ ศรีงาม และครอบครัว ได้สนับสนุน ‘กองบุญ’ สามมุข ด้วยดีเสมอมา (หน้า 120) แต่แวดวงวรรณกรรมกลับไม่มีใครล่วงรู้ข้อเท็จจริงอันนี้เลยวารสาร สามมุข ฉบับที่ 262 แจ้งชื่อสกุลจริงของ ‘ดาวหาง’ ว่า รัตน์ ศรีงาม

วารสาร สามมุข ฉบับ 140 ที่เปิดเผยชื่อจริงของ ‘ดาวหาง’ ผู้แต่งนิยาย พัทยา
ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก เมื่อพ.ศ. 2523

[เนื้อหาในส่วนต่อไป มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญจากนิยาย พัทยา]

แนวคิดการเมืองล้ำยุคล้ำสมัยใน พัทยา

สาเหตุสำคัญน่าจะทำให้นวนิยาย พัทยา ประสบความสำเร็จในหมู่ผู้อ่านในยุคสมัยนั้น จนกลายเป็นผลงานสร้างชื่อให้ ‘ดาวหาง’ ก็เห็นจะอยู่ที่น้ำเสียงและลีลาการประพันธ์วรรณกรรมแนวการเมืองเคล้ากลิ่นอายไพรัชนิยายที่แปลกและแตกต่างไม่เหมือนใคร สะท้อนความเข้าอกเข้าใจในปรัชญาแห่งระบอบปกครองรูปแบบต่างๆ อย่างกระจ่างถึงแก่นแท้ ตีแผ่แง่มุมเปรียบเทียบวัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบไทยๆ ภายใต้วิถีการปกครองสำนักต่างๆ อ้างอิงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้คนในประเทศอื่นได้อย่างเห็นภาพ

เรื่องราวของ พัทยา เริ่มต้นด้วยลีลาในแบบไพรัชนิยาย เมื่อ พระไมตรีราชรักษา เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียวเกษียณอายุราชการ และกำลังจะเดินทางกลับไปพักผ่อนในช่วงบั้นปลายชีวิต ณ หอแก้ว เมืองพัทยา กับหลวงพี่อู๋ ภิกษุอธิการผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งกำลังดูแลทั้งวัดพัทยา และโรงเรียนพัทยาสงเคราะห์ให้การศึกษาแก่เด็กกำพร้า และ แม่หนู ผู้เป็นน้องสาวที่ยังครองความเป็นโสดและหมดเวลาไปกับการดูแลเด็กๆ ก่อนเดินทางกลับ พระไมตรีราชรักษา ได้แวะไปพักผ่อนที่กรุงมอสโคว์ และบังเอิญได้พบกับ อวงเจ็งยี่ น้องชายของ วังจิงไว อดีตนายกรัฐมนตรีจีนสมัยสาธารณรัฐ สหายเก่าผู้เคยดำรงเป็นทูต แต่ปัจจุบันถูกทางการจีนกล่าวว่าหาแปรพักตร์ไปร่วมกับญี่ปุ่นจนต้องหลบหนีกลายมาเป็นกรรมกรหลังม่านคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียต

อวงเจ็งยี่ มีบุตรสาววัยรุ่นชื่อ เจ็งท้อ จึงฝากฝังให้ พระไมตรีราชรักษา ช่วยพากลับไปเมืองไทยและอุปการะเลี้ยงดู พระไมตรีราชรักษาเปลี่ยนชื่อจากเจ็งท้อเป็น มาลี  โดยเมื่อถึงพระนคร พระไมตรีราชรักษาได้แวะเดินทางไปยังวัดพุทธวงศ์ เพื่อนิมนต์ มหากลึง กิมสกุล ภิกษุแก่เปรียญ มาช่วยเป็นสมภารรองให้หลวงพี่อู๋ที่วัดพัทยา แม้จะได้ยินข่าวลือมาว่าวัดพุทธวงศ์เป็นอาศรมของสงฆ์นิกาย ‘พุทธิสม์’ ผู้ฝักใฝ่ระบอบสังคมนิยมโซเชียลลิสต์นุ่งห่มจีวรแดง เมื่อมหากลึงตอบตกลง วัดพัทยาจึงได้ให้การต้อนรับมหากลึง ในขณะที่เจ็งท้อหรือมาลีก็ได้เรียนรู้วิถีการเป็นสตรีไทย และได้เป็นผู้นำคณะเจ้าลูกหมี กลุ่มยุวชนลูกเสือแห่งโรงเรียนพัทยาสงเคราะห์นั่นเอง แต่อุดมการณ์ความคิดทางการเมืองของสงฆ์ผู้มาเยือน และความสาวและสวยของมาลีก็ทำให้ หอแก้ว พัทยา ของพระไมตรีราชรักษา ไม่สามารถจะสงบได้ดังที่คิด เมื่อมหากลึงเริ่มเผยแพร่ลัทธิพุทธิสม์แบบสังคมนิยม และมีชายหนุ่มเรียงรายกันมาชื่นชมความงามของมาลีไม่ขาดสาย

เมื่อพิจารณาจากโครงเรื่องทั้งหมดของ พัทยา คงจะเห็นได้ชัดว่ามีลักษณะเป็นนวนิยายวิพากษ์การเมืองอันเข้มข้นตามที่นักเขียนและนักวิชาการวรรณกรรมหลายๆ ท่านได้เคยเรียกขานไว้ แต่ความโดดเด่นของ พัทยา คงอยู่ที่วิธีการมองเรื่อง ‘รัฐศาสตร์และการเมือง’ ในมุมที่แตกต่างออกไป เนื่องจาก ‘ดาวหาง’ พยายามสำรวจที่มาที่ไปของรากฐานปรัชญาความคิดของรูปแบบการเมืองการปกครองลักษณะต่างๆ ซึ่งมักจะมีต้นตอจากต่างประเทศ เพื่อเทียบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนภายใต้แต่ละระบอบการปกครองจากประวัติศาสตร์การเมืองที่เกิดขึ้นจริง  พร้อมๆ กับการหันมามองเอกลักษณ์ของการเป็นคนไทยและชุมชนแบบไทยๆ ซึ่งอาศัยพุทธศาสนาเป็นจารีตสำคัญในการยึดเหนี่ยวจิตใจ และตั้งข้อสมมติฐานไปด้วยว่า สังคมไทยจะเป็นเช่นไร หากมิได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างที่เป็นอยู่

ชุดตัวละครต่างๆ ใน พัทยา จึงได้รับการออกแบบมาเพื่อการสำรวจทั้งปรากฏการณ์จริงและภาพสมมติเหล่านี้ เริ่มตั้งแต่ พระไมตรีราชรักษา ซึ่งเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด และเรียกตัวเองว่าคหบดีมีอันจะกิน ด้วยหน้าที่การงานเป็นข้าราชการระดับสูง มีทั้งการศึกษาและประสบการณ์การใช้ชีวิตในต่างประเทศอย่างกว้างขวาง มีพี่ชาย หลวงพี่อู๋เป็นอธิการวัดพัทยาซึ่งถือเป็นแหล่งพึ่งพิงทั้งทางด้านศาสนาและการปรึกษาปัญหาต่างๆ ของชาวบ้านในชุมชน ทั้งยังดูแลโรงเรียนพัทยาสงเคราะห์ อันเป็นสถานที่บ่มเพาะเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไปในสังคม และมีแม่หนูเป็นผู้แทนของกุลสตรีไทย อุทิศชีวิตของตัวเองให้กับกิจการของโรงเรียนแห่งนี้ด้วยอุดมการณ์ ทำให้ภาพของตำบล ‘พัทยา’ ในช่วงเวลานั้น สามารถใช้เป็นภาพแทนของชุมชนชนบทชาวพุทธอันเป็นศาสนาประจำชาติไทยได้อย่างดี การเลือกใช้ พัทยา เป็นฉากหลังจึงสะท้อนเจตนาในการมองบทบาทของระบอบรัฐศาสตร์การปกครองระดับมหภาค โดยให้ชุมชนนี้เป็นภาพแทน ซึ่งแตกต่างจากวรรณกรรมแนวการเมืองเรื่องอื่นๆ เช่นในผลงานนิยายขนาดสั้นหลาย ๆ เรื่องของ อิศรา อมันตกุล นักเขียนร่วมรุ่นเดียวกัน ที่มักจะเจาะเรื่องราวไปยังนักการเมืองหรือนักปกครองผู้อยู่ในกลไกโดยตรง

การสร้างตัวละคร มหากลึง กิมสกุล ให้เป็นสงฆ์พุทธผู้ฝักใฝ่ลัทธิโซเชียลลิสต์ก็เป็นการตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจของ ‘ดาวหาง’ ว่าศาสนาและการเมืองควรจะต้องแยกขาดออกจากกันจริงหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อทรรศนะความคิดบางอย่างในแบบสังคมนิยม เช่น แท้แล้วคนทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน เรื่องชนชั้นเป็นเพียงการสมมติ ก็ยังสามารถพ้องกับปรัชญาความคิดเชิงพุทธศาสนาที่ไม่นำพาต่อชนชั้นความมั่งคั่งในทางโลกเช่นเดียวกัน ตัวละครมหากลึง กิมสกุลซึ่งแม้จะไม่ได้ถึงกับนุ่งห่มจีวรแดงดังที่เคยกังวลกันไว้ จึงเป็นตัวแทนความคิดอ่านที่สะท้อนแง่มุมบางส่วนซึ่งอุดมการณ์ในแบบสังคมนิยมสามารถพ้องตรงกับชุมชนชาวพุทธแบบไทยๆ อย่างน่าใคร่ครวญกันต่อไป เปิดโอกาสให้ผู้อ่านพิจารณาเนื้อหารายละเอียดกันด้วยปัญญามากกว่าจะยึดติดกับกรอบความคิดแบบเดิมๆ

ส่วนตัวละครเจ็งท้อหรือมาลี ก็เป็นตัวละครที่มีความลื่นไหลในอัตลักษณ์แห่งเชื้อชาติ แม้จะมีบิดาเป็นอดีตรัฐบุรุษจีนที่ถูกผู้มีอำนาจเหนือกว่าปรักปรำ จนต้องระหกระเหเร่ร่อนเป็นกรรมกรคอมมิวนิสต์พลัดถิ่น แต่ก็สามารถจะกลายมาเป็นหญิงไทย มีความรู้สึกของการเป็นคนไทย และรังเกียจพวกคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะเหล่าอั้งยี่ศัตรูรายสำคัญของคณะเจ้าลูกหมี มิติของตัวละครในนิยาย พัทยา จึงสะท้อนว่า ‘ดาวหาง’ ไม่ได้เจตนาจะสร้างตัวละครคู่ขั้วอุดมการณ์เพื่อการปะทะกันแต่เพียงอย่างเดียว หากยังมีรายละเอียดความขัดแย้งในตัวเองของตัวละครแต่ละราย ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเหล่านี้มีความซับซ้อนแหลมคมมากขึ้น

ท่าทีในการวิพากษ์ระบอบการปกครองลักษณะต่างๆ ของ ‘ดาวหาง’ มีความพยายามในการรักษาความเป็นกลาง มิได้มุ่งโจมตีสำนักความคิดใดความคิดหนึ่งโดยตรง ดังที่พระไมตรีราชรักษาได้สรุปเอาไว้ตอนหนึ่งว่า “การเมืองระบอบใดขจัดปัดเป่า บรรเทาความยากจนขัดสนของปวงประชาราษฎรได้ไซร้ แม้จะมีชื่อใดก็ตาม ก็น่าเคารพยิ่งนัก” (เล่ม 1 หน้า 51) หรือ  “การเมืองรูปใด ดีหรือชั่วนั้นต้องแล้วกาละเทศะกับสาธารณมติ ถ้าประชาชนไทยรักเผด็จการแล้วผมคนเดียวก็ฉุดไม่ไหว” (เล่ม 2 หน้า 396) และถึงแม้พระไมตรีราชรักษา จะแถลงชัดเจนว่าบูชาประชาธิปไตย ให้สิทธิ์และเสียงในการปกครองต่อประชาชนอย่างเท่าเทียม แต่ก็ยังสารภาพอยู่ในทีว่า ที่เลือกเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะกระแสสังคม “เมื่อคนไทยทั้งปวง หลิ่วตาอย่างใด คราวใด ข้างใด ข้าพเจ้าก็ต้องหลิ่วตาอย่างนั้น คราวนั้นข้างนั้นบ้าง มิฉะนั้นจะถูกคว่ำบาตร์ หมดสิทธิเป็นไทยเป็นแน่” (เล่ม 1 หน้า 15-16)

แม้แต่ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ ฟาสซิสต์ สังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ ซึ่งกลายเป็นที่หวาดกลัวกันในสังคมไทยก็ล้วนมีที่มาจากอุดมการณ์อันบริสุทธิ์ “เลนินก่อรัฐประหารก็ว่าเพื่อสิทธิ สมภา เสรีภาพ ภราดรภาพ อะไร ๆ ยังงั้น-สตาลินก็ดี มุสโซลินีก็ดี ก็ว่าฉันแหละ เป็นตัวปราบยุคเข็ญ เพื่อสุข สันติ ของประชาราษฎร … รวมทั้งจางไคเช็คก็ว่าฉันเป็นผู้กู้ชาติจีน กับวังจิงไวก็ว่าอั๊วรักชาติจีน กู้ชาติจีนได้ผลดีกว่าจางไคเช็คอีก” (เล่ม 1 หน้า 527) หรือ “ลัทธิโซเชียลลิสม์ เป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรม ถ้าเหมาะแก่กาละเทศ โรเบอร์ต โอเวน, ชาร์ลส คิงสเลย์, วิลเลียม มอริส, ยอห์น เบอร์น ย่อมสนับสนุนข้อนี้ได้” (เล่ม 1 หน้า 126)  ในขณะที่ ‘ดาวหาง’ ก็ได้ยกตัวอย่างแสดงสภาพชีวิตจริงภายใต้การปกครองระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ในช่วงที่พระไมตรีราชรักษาไปพบกับอวงเจ็งยี่ ผู้ตกยากกลายเป็นกรรมกรในกรุงมอสโคว์ ไว้ด้วย ซึ่งแนวคิดที่เปิดกว้างนี้เองที่นำไปสู่การพินิจพิเคราะห์ในเวลาต่อมาว่า ระบอบการปกครองเหล่านี้เหมาะสมกับชาวบ้านไทยพุทธในตำบลพัทยาเพียงไหน ในฉากที่มหากลึงเทศนาต่อว่าระบบเจ้าขุนมูลนาย การแบ่งแยกไพร่-เจ้า นายทุนและแรงงาน เพื่อให้ชาวบ้านมีศักดิ์และสิทธิ์เท่าเทียมกับผู้มีฐานะทางสังคมสูงกว่า และฉากการปะทะคารมอุดมการณ์กันระหว่างพระไมตรีราชรักษากับมหากลึง ที่อภิปรายกันต่อว่า ที่ว่าคนเราเกิดมาเท่ากันนั้นจริงไหม ในเมื่อโดยลักษณะทางกายภาพแล้วมันไม่ใช่ และแรงศรัทธาที่พุทธศาสนิกชนมีต่อศาสนสถานจะถือเป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรมไหมในเมื่อมันเป็นเพียงความเลื่อมใสในวัตถุ

อย่างไรก็ดี  ‘ดาวหาง’ ยังได้แสดงให้เห็นความหวาดกลัวของเหล่าคหบดีมีฐานะผ่านจินตนาการของพระไมตรีราชรักษาเอง ว่าสังคมจะเป็นอย่างไรหากทุกคนหันไปเห็นดีเห็นงามกับระบอบคอมมิวนิสต์ ผ่านการสมมติ “หลักการของคอมมิวนิสต์ไม่ให้มีนายทุนนายเงิน และโดยเฉพาะทำลายทรัพย์ของธนบดีออกเฉลี่ยเพื่อสาธารณชนหรือรัฐ ก็ถ้าพวกคอมมิวนิสต์หลุดเข้ามาในที่ดินของเรานี้ เขาคงถือสิทธิเป็นเจ้าของ ถือเสรีภาพเสมอข้าพเจ้า เขาอาจทึ้งดอกรักเร่หรือเด็ดกุหลาบมาดม หรือเก็บช่อมะม่วงมาจิ้มน้ำพริกกิน” (เล่ม 1 หน้า 510) และฉากความฝัน “ฝันคืนนี้ผจญภัยตลอดคืน ฝันเห็นพลเมืองไทยเป็นคอมมิวนิสต์ ฝันว่าข้าพเจ้ากรอกรายการใช้จ่ายส่วนตัว ฝันว่าพระไมตรีราชรักษาถูกถอดเป็นมิสเตอร์ไมตรีสกี้ ๆ ต้องเขียนคำร้องขอกางเกงใหม่โดยตัวเก่าขาดจนปุปะมิได้ ฝันเห็นพระสงฆ์ลาพรตเพศสมณะออกเป็นกรรมกรด้วยข้อหาว่าเกียจคร้านต่ออาชีพบ้าง ทำลายกำลังของประเทศด้วยการถือบวชไม่มีการสืบพันธุ์บ้าง วัดกลายเป็นศาลาเทศบาล-อะไร ๆ จิปาถะ ล้วนวุ่นวายไร้สาระ” (เล่ม 1 หน้า 42) เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าภาพเหล่านี้เองที่ทำให้ผู้นำและประชาชนส่วนใหญ่ในเวลานั้นหวาดกลัว ซึ่งสุดท้าย พระไมตรีราชรักษาก็พยายามมองเลยผ่านสถานะของตัวเองไปแล้ววิเคราะห์ต่อว่าลักษณะของสังคมชนบทไทยอย่างในตำบลพัทยามันมีความเป็นมาเช่นไร และเหตุใดสถานการณ์จึงยังไม่เอื้อให้กับวิถีการปกครองรูปแบบหนึ่งๆ “แต่ว่า สมัยนี้เป็นประชาธิปไตย ท่านมหาเป็นโซเชียลลิสต์ และบ้านหอแก้วของเรามีการปกครองอย่าง เจ้าพระเดช นายพระคุณ ฟิวดัลซิสเต็มมาช้านานครั้งปู่ย่าตายาย ซึ่งฝังหัว ตาผ่อง ตาเหล็ง คนใช้ประจำตระกูลเสียแล้ว เมื่อนับแต่วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง (24 มิถุนา) เป็นต้นมา ตาผ่อง ตาเหล็ง ทั้ง ๆ ที่ได้รับแสงรัฐธรรมนูญก็ไม่เคยตีเสมอข้าพเจ้า ชาวบ้านพัทยาคงเรียกข้าพเจ้าว่า คุณพระ บ้าง ว่า นาย บ้าง และไม่เคยลดยศสักที” (เล่ม 1 หน้า 412)  ข้อถกเถียงโต้แย้งต่ออุดมการณ์ทางการเมืองอันหลากหลายใน พัทยา จึงมีลักษณะท่าทีเป็นการชวนอภิปรายอย่างปลายเปิดไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจนใดๆ แล้วปล่อยให้ผู้อ่านเป็นผู้พิเคราะห์ตัดสินจากเหตุการณ์และข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ

แต่ พัทยา ก็มิได้พิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ทางการเมืองการปกครองในระดับมหภาคเท่านั้น เนื้อหาในนิยายยังมีรายละเอียดที่สะท้อนบุคคลและตัวละครในระดับปัจเจกบุคคลอย่างมนุษย์นิยมด้วยเช่นกัน ราวกับว่ารายละเอียดของมนุษย์ตัวเล็กๆ ไม่สามารถแยกขาดกันได้กับความเป็นไปในสังคมภาพใหญ่ โดยสิ่งที่ ‘ดาวหาง’ ให้ความสนใจและเน้นย้ำอยู่เสมอในนิยายเรื่องนี้คือ สถานะทางครอบครัวของตัวละครแต่ละราย เริ่มตั้งแต่สามพี่น้องตระกูลราชรักษา ทั้งหลวงพี่อู๋ซึ่งเป็นภิกษุ พระไมตรี และแม่หนู ที่ล้วนครองความเป็นโสดด้วยอุดมการณ์ทางศาสนา การหมกมุ่นกับการแสวงหาความรู้ทางปัญญา และการอุทิศตัวให้กับการดูแลชาวบ้าน เด็กๆ และเยาวชน  ในขณะที่มาลีก็เป็นตัวละครที่มีเสน่ห์ดึงดูดทางเพศ และมักจะใช้จริตมารยาในการเล่นหัวกับหนุ่มๆ ที่พยายามมาติดพันเธออยู่เสมอ ทว่าสุดท้ายเธอก็ไม่ได้ลงเอยกับใครคนใด

ตัวละครที่อยู่ในกลุ่มชนชั้นสูงเหล่านี้ จะถูกเปรียบเทียบกับครอบครัวของชนชั้นแรงงาน นิด กับ เกด ซึ่งมีลูกด้วยกันถึง 11 คนและต้องมาขอความอุปการะทางการเงินจากหลวงพี่อู๋ ซึ่ง ‘ดาวหาง’ ก็ให้ทรรศนะว่ากามารมณ์และการสืบพันธุ์แท้แล้วเป็นครรลองของมนุษย์ ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมยังเป็นชาวบ้านที่ขาดการศึกษาและใช้ชีวิตทำมาหากินสร้างครอบครัวและทายาทไปตามธรรมชาติ ในขณะที่ตัวละครอย่างพระไมตรีราชรักษา แม่หนู หรือมาลี แม้จะเป็นฆราวาส แต่เมื่อสถานการณ์ไม่เอื้อให้สามารถมีคู่ครอง พวกเขาก็เหมือนจะเข้าสู่นิพพานทางโลกไปโดยปริยายเมื่อไม่ได้ทำหน้าที่ในการสืบพันธุ์ แม้ว่าจะยังมีความต้องการทางกามารมณ์อยู่ ขณะที่ตัวละครกลุ่มเด็กๆ อย่างคณะเจ้าลูกหมี ‘ดาวหาง’ ก็แสดงภาพของเยาวชนเหล่านี้เป็นดั่งผ้าขาวที่สามารถวาดระบายองค์ความคิดใดๆ ลงไปก็ได้ จะเห็นได้จากปฏิบัติการของคณะเจ้าลูกหมีในการปราบพวกจีนคอมมิวนิสต์อั้งยี่ ทั้งที่พวกเขาก็ไม่ได้เข้าใจเลยว่าคอมมิวนิสต์หรืออั้งยี่คืออะไร ในเมื่อพวกเขาได้รวมกันเป็นกลุ่มก้อนอย่างเป็นทางการแล้ว ก็จำเป็นต้องมีพันธกิจในการปราบศัตรูผู้ร้ายซึ่งพวกเขาอาจไม่ได้สนใจว่าเป็นใคร เพียงผู้ใหญ่จะคอยล้างสมองว่าพวกอั้งยี่คอมมิวนิสต์คือโจรผู้ร้ายและควรเคารพเชื่อฟังคำประกาศรัฐนิยมที่นายกรัฐมนตรีได้บัญญัติไว้ พวกเขาก็พร้อมที่จะประจัญบานและปฏิบัติตามในทันทีโดยไม่ต้องมีคำอธิบาย ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวในการรับอุดมการณ์ความคิดของเหล่าเยาวชนจากผู้ใหญ่ ที่ไม่ว่าจะหันหางเสือไปทางไหน ก็พร้อมที่พุ่งตัวไปแบบไร้คำถาม แม้แต่ในส่วนบทสรุปของมหากลึงเองก็เป็นผลลงเอยมาจากกิเลสส่วนตัวภายใน มิได้เป็นผลจากการใช้ศรัทธาเพื่อต่อสู้ปกป้องอุดมการณ์ทางการเมืองแบบโซเชียลลิสต์ของเขาเลย

สังคมศาสตร์หรรษาผ่านภาษาแบบ ‘ดาวหาง’

ถึงแม้ว่าเนื้อหาด้านการเมืองและลัทธิการปกครองซึ่งค่อนข้างจะหนักสมองของนิยายเรื่อง พัทยา จะหนักแน่นและดิ่งลึกในทุกประเด็นที่กำลังวิพากษ์ถึง แต่น้ำเสียงและวิธีการเล่าของ ‘ดาวหาง’ กลับแฝงไว้ด้วยอารมณ์ขันอันเบาสมองไปโดยตลอดทั้งเรื่อง ความขัดแย้งด้านความคิดอ่านทางการเมืองการปกครองถูกนำเสนอแบบทีเล่นทีจริง ทั้งจากความไม่ถือเนื้อถือตัวของพระไมตรีราชรักษา ปฏิบัติการไล่ล่าอั้งยี่สมุนของมหากลึงโดยคณะเจ้าลูกหมีที่มีอาวุธเป็นผลมะยมและมะกอกน้ำ และตัดกำลังกันด้วยการแอบไปเลาะกระดุมกางเกงของศัตรูเพื่อมิให้สวมใส่ได้ สมทบด้วยกิริยาอาการแก่นแก้วในแบบของหญิงสาวที่ไม่ได้ถูกอบรมให้เป็นกุลสตรีตั้งแต่เด็กของมาลี ที่กล้าหาญตั้งคำถามแทงใจต่อหน้าใครๆ อยู่เสมอ

นอกจากนี้ ‘ดาวหาง’ ยังนิยมเปรียบเทียบวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบไทยๆ กับองค์ความรู้ในระดับสากลอย่างมีอารมณ์ขัน เช่น ยกย่องว่าคนแจวเรือไทยตกพุ่มม่ายสามารถเข้าใจปรัชญาแห่งการสมรสแห่งจิตต์โดยปราศจากกายสัมผัสได้ไม่ต่างจากเมธีเยอรมัน อิมมานวล คันต์ (Immanuel Kant)  หรือหากโลกตะวันตกมีภาษาละตินเป็นภาษาโบราณสร้างความขลังให้บทอาราธนาไม่สามารถเข้าใจได้โดยง่าย บ้านเราก็มีภาษามคธที่ทำให้บทสวดมนต์ต่างๆ น่าเกรงขามขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งยังมีการเปรียบเทียบจังหวะการสวดมนต์ของผู้ใหญ่และเด็ก กับจังหวะลีลาศแบบวอลต์ซ (Waltz) และฟอกซ์ทรอต (Foxtrot) อย่างเห็นภาพ หรือในช่วงที่พระไมตรีราชรักษาได้ยินเสียงเกวียนไม้ ก็ถึงกับต้องออกปากชื่นชม “นับว่าคนไทยชนบทผู้สร้างเกวียนก็รู้หลักการทรงตัว (สเตบิลิตี้) ของวัตถุเหมือนกัน แม้จะไม่เข้าใจแคลคูลัสก็ตาม” (เล่ม 2 หน้า 506) สะท้อนว่าพระไมตรีราชรักษาเองก็ศรัทธาต่อภูมิปัญญาความสามารถต่างๆ ของคนไทยไม่แพ้ของฝรั่งที่เขาก็นิยมด้วยเช่นกัน

ในส่วนของการใช้ภาษาของ ‘ดาวหาง’ ใน พัทยา ก็ปรากฏทั้งการใช้ภาษาแบบชาวบ้านอ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายสื่อความอย่างตรงมาตรงไป สลับกับคำศัพท์วิชาการแขนงต่างๆ ทั้งทางด้านรัฐศาสตร์การเมืองการปกครองทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาตะวันตก ภาษาสันสกฤตและบาลีที่ใช้กันในพุทธศาสนา ไปจนถึงการประดิษฐ์คำขึ้นมาใหม่เช่น ‘พุทธิสม์’ ที่แสร้งสมาสคำ ‘พุทธ’ กับ ‘โซเชียลลิสม์’  ‘ภริยาธิปไตย’  ‘ตุบปะตุบเท่ง’ หรือ ‘สังคมสูตร์/เศรษฐกิจสูตร์’ เป็นต้น น่าสังเกตว่า ‘ดาวหาง’ เป็นนักประพันธ์ที่มีคลังคำและความรู้ทั่วไปทั้งในและนอกประเทศอย่างกว้างขวางมาก มีความรู้ทางภาษาศาสตร์เป็นอย่างดี สามารถใช้หรืออธิบายที่มาของคำภาษาต่างๆ ได้อย่างผู้รู้แจ้ง เช่น คำฝรั่งเศสที่ใช้ในภาษาทางทูต อาทิ attaché สำหรับตำแหน่งทูต หรือ Laissez-passer สำหรับหนังสืออภิสิทธิ์เข้าออกเมืองแบบพิเศษ หรือสำนวนฝรั่งเศส esprit de corps แทนความสามัคคีเป็นเอกฉันท์ของหมู่คณะ ที่มาของคำว่า Kindergarten หรือ สถานเลี้ยงเด็กอนุบาล ซึ่งแปลงจากคำเยอรมัน และสำนวนละตินโบราณ Laborare est orare ซึ่งแปลได้ว่า งานคือการสวดมนต์  ด้านคำไทยก็มีการใช้ศัพท์พุทธอันแปลกหู เช่น เวไนยสัตว์ ที่ใช้เรียกผู้ที่สามารถอบรมสั่งสอนได้ หรือในส่วนที่พระไมตรีราชรักษากล่าวถึงมหากลึงว่า “ประหนึ่งตัดโลกียกิเลสอาสวะสิ้นแล้ว เหลือแต่โลกุตรนิพพานเป็นปริโยสาณ ยังสนเท่ห์ไม่วายว่าท่านเป็นพระขีณาสพ หรือพระปัจเจกโพธิเจ้า หรือพระสมณะโคตภู หรือสมมุติสงฆ์กันแน่” (เล่ม 1 หน้า 202)

ไม่เพียงแต่ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และพุทธศาสนาเท่านั้น ‘ดาวหาง’ ยังสนใจองค์ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และสามารถนำมาใช้เป็นบทอุปมาพรรณนาสมบัติได้อย่างน่าทึ่งอีกด้วย อาทิ การใช้สูตรคณิตศาสตร์การแยกตัวประกอบผลต่างกำลังสอง a2 – b2 = (a + b)(a – b) แทนสัจพจน์ ที่ได้ผลลัพธ์เป็นจริงเสมอไม่ว่าจะแทนค่า a และ b ด้วยจำนวนใด  ย้อนแย้งกับความไม่แน่นอนในการทดลองเชิญมหากลึงมาที่วัดพัทยา  การอาศัยแนวคิดเรขาคณิตแบบ Non-Euclidean Geometry ที่ความโค้งของผิวโลกทำให้เส้นขนานไม่ขนานกันอีกต่อไป และมุมภายในของรูปสามเหลี่ยมรวมกันไม่จำเป็นต้องได้เท่ากับสองมุมฉากตามทฤษฎีเดิม เพื่อเปรียบเปรยการวิวัฒน์พัฒนาของวิทยาการต่างๆ ที่อาจทำให้ความจริงของทุกวันนี้ เป็นความเท็จของอนาคต หรือแม้แต่การใช้ความรู้เกี่ยวกับการสะท้อนและอัตราเร็วของแสงมาใช้อธิบายแสงประกายแพรวพราวระยับแวววับประภัสสรจากช่อฟ้าของลานระฆังอย่างมหัศจรรย์  โวหารอุปมาต่างๆ ในนิยาย พัทยา จึงฟ้องได้ชัดว่า ‘ดาวหาง’ เป็นนักประพันธ์ที่มีองค์ความรู้แขนงต่างๆ ในระดับปราชญ์ สามารถนำวัฒนธรรมทางปัญญาหลากแขนงเหล่านี้มาสร้างลีลาให้กับเรื่องเล่าปรัชญาการเมืองได้อย่างมีรสชาติ

อย่างไรก็ดีกลวิธีการเล่าของ ‘ดาวหาง’ ใน พัทยา ก็ดูจะมีลีลาที่แตกต่างออกไปจากขนบการเล่าของนวนิยายในสมัยนั้นอย่างเห็นได้ชัด แม้เรื่องราวทั้งหมดจะมีการวางโครงร่างต่างๆ เอาไว้อย่างชัดเจน แล้วค่อยๆ ดำเนินเหตุการณ์ไปสู่บทสรุปต่างๆ ของตัวละคร แต่ ‘ดาวหาง’ ก็ปล่อยให้ตัวละครหลักอย่าง พระไมตรีราชรักษา ในฐานะผู้เล่าหลักเตลิดไพล่ชวนผู้อ่านสนทนาในประเด็นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงเรื่องหลักอย่างอิสระ ปล่อยให้ความคิดอ่านของ พระไมตรีราชรักษาดำเนินไปตามกระแสสำนึกสะเปะสะปะ อยากจะเล่าอะไรนอกเรื่องก็เล่าไป อยากจะกลับมาเล่าประเด็นเดิมใหม่ก็ค่อยวกมา ภาพรวมการเดินเรื่องในนิยาย พัทยา จึงค่อนข้างจะเนิบช้าเพราะเสียเวลาออกนอกทางไปมาก ผิดกับขนบการแต่งนิยายซึ่งแต่ละรายละเอียดควรยังคงสอดคล้องกับประเด็นเรื่องหลักอันเป็นที่นิยมกันมากกว่า

แต่เมื่อพิจารณาน้ำเสียงการเล่ากันดีๆ ‘ดาวหาง’ ดูจะสนใจถ่ายทอดมุมมองความคิดอ่านของ พระไมตรีราชรักษา ต่อสถานการณ์และประเด็นต่างๆ มากกว่าจะตั้งหน้าตั้งตาเล่าเรื่องราวแต่เพียงอย่างเดียว จุดเด่นของเนื้อหาจึงอยู่ที่การวิวาทะความคิด คารม และอุดมการณ์กันระหว่าง พระไมตรีราชรักษา กับหลวงพี่อู๋ แม่หนู อวงเจ็งยี่ มหากลึง เจ้าคุณศรีวาทีวิมล-เอกอัครราชทูตคนใหม่ และ หม่อมเจ้าหญิงดารากร นักประพันธ์ผู้ใช้นามปากกาว่า ‘ดอนระกำ’ สำรวจความอยุติธรรมต่อชนชั้นกรรมาชีพอย่างไม่ถือยศศักดิ์ ผู้ช่วยเหลือในการเก็บรักษาสมบัติอันล้ำค่าของมาลี วิธีการประพันธ์ใน พัทยา จึงมีลักษณะที่ค่อนข้างคล้ายกับบท ‘สุนทรียสนทนา’ หรือ Socratic Dialogue ที่ปวงปราชญ์สมัยกรีกโบราณได้รจนาไว้ โดยเฉพาะใน Republic ของ เพลโต (Plato) ซึ่งบรรยายการสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นทางการเมืองระหว่าง โสกราติส ผู้เป็นอาจารย์ กับปวงปราชญ์รายอื่นๆ ในมุมประเด็นต่างๆ อย่างไม่มีการดำเนินเรื่องราวใดเป็นหลัก 

พัทยา จึงอาจยังมีสถานะเป็นบทอนุทินบันทึกของนักปราชญ์ผู้รอบรู้ในสรรพวิชาการ ผู้กำลังตั้งสมมติฐานว่าบ้านเมืองของเราจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร หากเราจะมิใช่ชาติประชาธิปไตยอย่างที่เป็นอยู่ในรูปแบบการเล่าของนวนิยาย  ซึ่งก็น่าประหลาดใจที่แม้ว่าสำนวนภาษาต่าง ๆ ของ พระไมตรีราชรักษา ใน พัทยา จะยังมีท่าที didactic แบบเทศนาโวหารมุ่งประกาศมุมมองความคิดอ่าน หากมันเป็นเทศนาโวหารที่กลับน่าฟังมากกว่าจะน่าต่อต้าน ด้วยพื้นฐานความรู้และสติปัญญาของผู้รจนาที่ไม่ว่าจะถกแถลงกระทู้ใดๆ ก็ช่างน่าพินิจพิจารณาตามได้ทั้งหมด

พัทยา ยุคโลกาภิวัตน์

น่ายินดียิ่งที่สำนักพิมพ์สามัญชนได้รับสิทธิ์อนุญาตในการตีพิมพ์ พัทยา ใหม่จากทายาทของรัตน์ ศรีงาม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้ พัทยา ของ ‘ดาวหาง’ มีโอกาสได้ฟื้นคืนชีพกลับมาท้าทายประสบการณ์การอ่านในหมู่ผู้อ่านรุ่นใหม่ๆ ในเดือนตุลาคม 2566 โดยจัดพิมพ์รวมเป็นเล่มเดียวพร้อมบทผนวกสี่ชิ้นสำคัญความหนารวม 839 หน้า หลังจากที่สูญหายไปจากบรรณพิภพมาเป็นเวลานาน  ซึ่งคงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านรุ่นใหม่ๆ ในการตัดสินประเมินว่าเนื้อหาของนวนิยายเล่มนี้ ยังคง ‘แปลกใหม่ล้ำสมัย’ หรือ ‘เก่าเชยอย่างเหลือใจ’ หลังจากที่เวลาได้ล่วงผ่านไปกว่า 80 ปี ที่ทำให้ ‘พัทยา’ ในทุกวันนี้แตกต่างจาก ‘ตำบลพัทยา’ ยุคประชาธิปไตยเริ่มตั้งไข่ไปแสนไกล ยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ยังคงเป็นสื่อที่ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลต่อผู้คน ก่อนการมาถึงของ โทรทัศน์ โทรคมนาคม อินเตอร์เน็ต และ Wi-Fi หากสำนึกและความรู้ทางการเมืองของ ‘ดาวหาง’ กลับล้ำหน้าไปไกลได้อย่างเหลือเชื่อ

ปก พัทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยสำนักพิมพ์สามัญชน

และหวังว่าเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากได้เผยแพร่นวนิยาย พัทยา ของ ‘ดาวหาง’ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ออกมาแล้ว สำนักพิมพ์สามัญชน จะกลับไปนำเอาเรื่องสั้นในเล่ม จุดดำ และเรื่องสั้นอื่นๆ ของ ‘ดาวหาง’ ที่เคยตีพิมพ์ใน เอกชนรายสัปดาห์ สยามสมัย ปิยะมิตรรายสัปดาห์ และ ปิยมิตรวันจันทร์ อีกกว่า 15 เรื่อง มารวมพิมพ์ใหม่ เพราะนวนิยาย พัทยา ที่ว่า ‘แซ่บ’ อย่างไร้กาลเวลาแล้ว เรื่องสั้นการเมืองอีกหลายเรื่องของ ‘ดาวหาง’ ก็จัดว่า ‘แซ่บแรง’ จนตำรวจสันติบาลยุคนั้นโมโหหน้าแดงส่งโนติ๊สสั่งปิดสำนักพิมพ์กันมาแล้ว!  ในอีกไม่นานเกินรอ . . .

บรรณานุกรม

คณะผู้วิจัยโครงการวิจัยเพื่อคัดเลือกและแนะนำหนังสือดีในรอบศตวรรษ. หนังสือดีไม่ได้มีแค่ 100 เล่ม. ศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2541

เจือ สตะเวทิน. พัทยานวนิยายการเมืองเรื่องแรกของไทย. บางกอกไดเจสต์, มกราคม 2516

ชลอ ชุ่มศรี. รอบ ๆ สามมุข. สามมุข. ฉบับที่ 140, 2523

ดาวหาง. จุดดำ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เขษมบรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 1, 2502

ดาวหาง. พัทยา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ประชาช่าง, พิมพ์ครั้งที่ 1, 2495

ดาวหาง. พัทยา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สามัญชน, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2566

ตรีศิลป์ บุญขจร. นวนิยายกับสังคมไทย 2475-2520. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ พิมพ์ครั้งที่ 1, 2523

พิมล เมฆสวัสดิ์. พัทยา. สารานุกรมแนะนำหนังสือดี 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, พิมพ์ครั้งที่ 1, 2542

ศรีดาวเรือง. ดาวหาง. ละครแห่งโลก. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ไรเตอร์ พิมพ์ครั้งที่ 1, 2537

สิงห์สนามหลวง. ดาวหาง และ ธิดา บุนนาค. เนชั่นสุดสัปดาห์, ปีที่ 14 ฉบับที่ 716, 17-23 กุมภาพันธ์ 2549

อิงอร สุพันธุ์วณิช. พัทยา นวนิยายการเมืองเรื่องแรกของไทย. อักษรศาสตร์พิจารณ์, มิถุนายน-กรกฎาคม 2519

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save