fbpx

‘Thai Hot Guys’ เมื่อหนุ่มฮ็อตจากเมืองไทย ฮ็อตเกินไปในมาเลเซีย

ภาพประกอบ: Facebook – Malaysia Pub 马来西亚酒吧

น่าเห็นใจหนุ่มกล้ามใหญ่แต่งหน้าทาปากในชุดชั้นในเซ็กซี่ของหญิง 4-5 คนที่ปรากฏตัวในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การแสดง ‘Thai Hot Guys’ (หนุ่มไทยสุดฮ็อต) ผู้ได้รับเชิญไปแสดงในงานเปิดไนต์คลับ ไปรเวซี ตุน ราซัก (Privacy Tun Razak) บนถนน ตุน ราซัก กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา หนุ่มเหล่านี้คงจะงงกันไม่น้อยว่าเหตุใดความฮ็อตของตัวเองกลายเป็นเรื่องใหญ่โตในมาเลเซียจนถึงกับถูกยกเลิกการแสดง

แผนการแสดงครั้งนี้ยังคลุมเครืออยู่ว่าจะมุ่งเป้าไปที่ผู้ชมกลุ่มใดกันแน่ จะเป็นชายรักชาย หญิงรักหนุ่มล่ำ หรือทั้งสองกลุ่ม หรือจัดเพื่อความบันเทิงแบบขำๆ แบบใครใคร่ดูก็เชิญตามสบาย ซึ่งการแสดงแบบนี้ไม่ได้มีปัญหาในประเทศไทย แต่ที่มาเลเซีย เรื่องนี้กลับไม่ขำ โดยเฉพาะในสายตาของนักการเมืองพรรคพาส (PAS: Parti Islam SeMalaysia) ซึ่งเป็นพรรคอิสลาม และพรรคอัมโน (UMNO) สายอนุรักษนิยม 

สาวๆ หรือหนุ่มๆ ในมาเลเซียหลายคนอาจจะกรี๊ดกับโปสเตอร์สุดฮ็อต แต่กลุ่มที่กรี๊ดดังกว่าใครเพื่อนคือนักการเมืองกลุ่มที่ว่า เริ่มจาก ทากียุดดีน ฮัสซัน (Takiyuddin Hassan) เลขาธิการพรรคพาส ที่ออกแถลงการณ์ประณามคลับไปรเวซีว่าจัดการแสดงอนาจาร ส่งเสริมพฤติกรรมสำส่อน ขาดความละเอียดอ่อน ไร้ศีลธรรม และน่าขยะแขยง ขัดแย้งกับค่านิยมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งยังขัดกับจุดยืนของอิสลามที่เป็นศาสนาของประเทศ แถมยังจะจัดในช่วงเดือนรอมฎอน เดือนแห่งการถือศีลอดอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม ซึ่งยิ่งทำให้ฉุนขาดเข้าไปใหญ่ มิหนำซ้ำชื่อของคลับยังเป็นการลบหลู่อดีตนายกรัฐมนตรี ตุน อับดุล ราซัก (Tun Abdul Razak; บิดาของอดีตนายกรัฐมนตรี Najib Razak) ผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย ดังนั้นจึงขอให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องระงับการจัดแสดงโดยพลัน และถึงแม้จะเป็นไปได้ว่าหนุ่มในโปสเตอร์จะไม่ใช่มุสลิม แต่อูลามา อาห์หมัด ซาอาด @ ยาห์ยา (Ahmad Saad @ Yahaya) ประธานสภาอูลามาแห่งพรรคพาสก็ชิงประกาศว่าการแสดงที่ชายแต่งกายด้วยชุดชั้นในถือเป็นการกระทำที่ผิดทางอาญาตามกฎหมายอิสลาม และยังจะเป็นสาเหตุแพร่เชื้อเอชไอวีในหมู่ชายรักชายในมาเลเซียด้วย

ส่วนฝั่งพรรคอัมโนก็ไม่น้อยหน้า มูฮัมหมัด อัคมาน สาเลห์ (Muhammad Akmal Saleh) ประธานกลุ่มยุวชนพรรคอัมโนก็ประกาศว่าทางกลุ่มกำลังจะไปแจ้งตำรวจเพื่อเอาผิดผู้จัด และถ้ายังไม่ยอมยกเลิกรายการ “เรา (กลุ่มยุวชนอัมโน) ก็จะไปเลิกงานให้เอง”

งานนี้ผู้ไกล่เกลี่ยคือเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียที่รับแจ้งความถึง 60 ครั้ง จนต้องรีบเข้าพูดคุยกับผู้จัดการคลับขอให้ยกเลิกรายการก่อนเรื่องจะร้อนไปกว่านี้ ทางไนต์คลับก็เข้าใจเป็นอันดี จึงตัดสินใจอย่างรวดเร็วออกประกาศยกเลิกรวดเดียวสามภาษา เป็นอันจบเรื่องแล้วกันไป 

คิดดีๆ อานิสงส์ของเรื่องนี้คือช่วยให้คนอย่างเราๆ สนใจกับความละเอียดอ่อนในมิติต่างๆ ของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น   และเชื่อเถอะว่าสำหรับเรื่องเพศสภาพแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านพรมแดนติดกันอย่างมาเลเซียนั้นละเอียดอ่อนในทุกมิติ 

ความเกือบโชคร้ายของคลับตุน ราซัก เรื่องแผนจัดรายการเซ็กซี่ที่คลุมเครือเรื่องเพศสภาพ ถือเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดกับชาว LGBT ในมาเลเซียบางราย มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศ 64 ประเทศที่มีกฎหมายลงโทษผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับเพศเดียวกัน เป็นหนึ่งในประเทศเครือจักรภพ (Commonwealth) อดีตเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักรที่มีทั้งสิ้น 53 ประเทศ โดย 29 ประเทศในนั้นยังเก็บกฎหมายลงโทษผู้มีพฤติกรรมรักร่วมเพศที่ได้มรดกมาจากอังกฤษนายเก่ามาตั้งแต่ยุคอาณานิคม นอกจากมาเลเซียแล้ว ยังรวมถึงประเทศอย่างสิงคโปร์และอินเดีย จะต่างกันแต่เพียงว่าทั้งสองประเทศนี้ได้ยกเลิกกฎหมายที่ว่าไปไม่นานนี้เอง

สำหรับมาเลเซีย ความเก๋อยู่ที่ว่า นอกจากจะกอดมรดกชิ้นนี้เอาไว้อย่างเหนียวแน่นแล้ว ยังมีการต่อยอดด้วยการเพิ่มบทลงโทษผู้หญิงเข้าไปด้วยจากกฎหมายต้นฉบับของอังกฤษที่ลงโทษเฉพาะชาย กฎหมายมาเลเซียได้รับอิทธิพลจากอังกฤษตั้งแต่ยุคก่อนประกาศเอกราช ปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญา ค.ศ.1936 มาตรา 377A/377B ห้ามการมีเพศสัมพันธ์ที่ผิดธรรมชาติของทั้งชายและหญิง มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 20 ปี และ/หรือลงโทษด้วยการโบย และมาตรา 377D ห้ามพฤติกรรมอนาจาร โดยมีบทลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี

ที่ลึกซึ้งกว่านั้นคือสำหรับประชากรมุสลิมที่มีมากกว่าร้อยละ 60 ของประชากรในประเทศ พฤติกรรมรักร่วมเพศและการแสดงออกทางเพศสภาพที่ไม่สอดคล้องกับกำเนิด พูดง่ายๆ คือกลุ่มคน LGBT ถูกควบคุมโดยกฎหมายอาญาของประเทศไปพร้อมๆ กับกฎหมายอิสลาม (Sharia Law) ทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ

ชีวิตของคนข้ามเพศ หญิงรักหญิง หรือชายรักชาย โดยทั่วไปไม่ใช่เรื่องง่าย และในมาเลเซียอาจยากกว่าหลายแห่ง เห็นได้จากกรณีของ นูร ซาจัท (Nur Sajat) เจ้าของกิจการเครื่องสำอางคนดังที่มีผู้ติดตามในอินสตาแกรมกว่าล้านคน ที่ต้องระเห็จขอลี้ภัยอยู่ในออสเตรเลียในปี 2564 ในวัย 36 ปี อันเนื่องมาจากการตามล้างตามเช็ดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและศาลอิสลาม  ในบัตรประชาชน นูร ซาจัท มีเพศอย่างเป็นทางการเป็นชาย ภาพถ่ายพาสปอร์ตที่อ้างว่าเป็นของเธอที่แพร่ในในโซเชียลมีเดีย ระบุชื่อนาย Muhammad Sajjad Kamaruz Zaman แต่ตัวตนในโซเชียลมีเดียของเธอเป็นสาวสวยเอวบางร่างน้อยในชุดของสตรีมุสลิมที่ชอบออกมาพูดเรื่องการแต่งหน้าและความสวยความงาม

เมื่อปี 2560 จากที่ดังอยู่แล้วเธอก็ตกเป็นข่าวตูมตามเมื่อโพสต์ภาพของตนในชุดขาวแบบสตรีมุสลิมแต่งหน้าสวยงามที่มัสยิดอัลฮะรอมหรือมัสยิดใหญ่แห่งมักกะฮ์ระหว่างไปแสวงบุญ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ร้อนถึง มูจาฮีด ยูซุฟ ราวา (Mujahid Yusof  Rawa) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการอิสลาม (Islamic Affairs) มาเลเซีย ภายใต้นายกรัฐมนตรีมูยีดดีน ยาซซีน (Muhyiddin Yassin) ต้องออกมากล่าวเรื่องการแต่งหญิงในมัสยิดของเธอว่า เขารู้สึกเสียใจที่เธอทำประหนึ่งว่าไม่ได้ทำอะไรผิด และเกรงว่าเรื่องนี้อาจสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียและซาอุดีอาระเบียด้วย  

ดูเหมือน นูร ซาจัท จะใช้การแต่งกายที่สวยงามต่อสู้กับการควบคุมอย่างกลายๆ ก่อนหน้านั้นเธอตกเป็นเป้าของหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ดูแสสอดส่องด้านอิสลามที่เรียกว่า Jakim (Malaysian Islamic Development Department) ที่พยายามให้เธอเข้ากระบวนการระบุบ่งชี้เพศสภาพมาแล้ว หลังเกิดเหตุที่ซาอุดีอาระเบีย มีรายงานว่าสำนักงานมุฟติส่วนกลาง (Federal Territory Mufti Office of Malaysia) ซึ่งเป็นหน่วยงานของอูลามาที่ทำหน้าที่ออกคำพิพากษาตามกฎหมายอิสลาม (fatwa) ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่หน่วยงานทะเบียนราษฎร์ เพื่อขอข้อมูลเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของเธอ การแต่งหญิงของนูร ซาจัท จึงกลายเป็นปัญหาระดับชาติไปเสียแล้ว

ก่อนหลบหนีออกนอกประเทศ ชีวิตของ นูร ซาจัท ทำท่าจะอยู่ยากขึ้น เพราะศาลอิสลามแห่งเมืองชาห์ อาลาม (Shah Alam Syariah High Court) เมืองหลวงของรัฐสลังงอร์ออกหมายจับเธอในข้อหาไม่ไปปรากฏตัวในกระบวนการพิจารณาคดีในข้อกล่าวหาเรื่องแต่งกายข้ามเพศที่ผิดกฎหมายอิสลาม นอกจากนั้นเธอยังถูกหมายศาลในคดีให้ข้อมูลเท็จในบัตรประชาชนตามกฎหมายแพ่ง อันเกิดจากการแต่งกายของเธออีกนั่นแหละ แค่นั้นยังไม่พอ เธอยังติดคดีลบหลู่ศาสนาอิสลามซึ่งหากพบว่ามีความผิดอาจถูกจำคุกได้ถึงสามปี และเป็นไปได้ว่าจะเป็นการจำคุกในที่คุมขังนักโทษชาย

เมื่อศาลชาห์ อาลามออกหมายจับ นูร ซาจัท จึงหนีข้ามพรมแดนมายังประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายเพราะถูกยึดพาสปอร์ตเธอไปเรียบร้อยแล้วก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่ไทยควบคุมตัวเอาไว้พักหนึ่งแต่โชคดีที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสหประชาชาติได้ทันท่วงทีก่อนจะถูกส่งตัวกลับตามคำขอของเจ้าหน้าที่มาเลเซีย นูร ซาจัท ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลออสเตรเลีย  ปัจจุบันเธออาศัยอยู่ที่นั่น

ถึง นูร ซาจัท จะพบปัญหาสารพัดเมื่ออยู่มาเลเซีย แต่ก็นับว่าเธอโชคดีเมื่อเทียบกับสาวข้ามเพศหัวอกเดียวกันอีกมากมาย  รายงานการสำรวจการแบ่งแยกกีดกันคนข้ามเพศในกรุงกัวลาลัมเปอร์และรัฐสลังงอร์ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมาเลเซียที่ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2562 ซึ่งสำรวจจากกลุ่มคนข้ามเพศ 100 คนในช่วงอายุ 18–70 ปี พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจบอกว่าตนเองรู้สึกไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัยในประเทศมาเลเซีย และร้อยละ 72 คิดเรื่องการย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในประเทศที่มีการคุ้มครองทางกฎหมายที่ดีกว่านี้ แทบทั้งหมดหรือร้อยละ 93 ของผู้ตอบคำถามบอกว่าตนเองมีประสบการณ์ได้รับความรุนแรงด้านต่างๆ เนื่องจากการแสดงอัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศของตน โดยเฉพาะความรุนแรงทางวาจาที่มาจากคนแปลกในที่สาธารณะ

บทลงโทษตามกฎหมายอาญาและกฎหมายอิสลามอาจจะน่าพรั่นพรึง แต่มันอาจไม่น่ากลัวเท่ากับทัศนะของคนในสังคมบางกลุ่มที่เห็นดีด้วยการลงโทษชาว LGBT เมื่อเดือนกันยายน 2561 สตรีมุสลิมสองคน วัย 22 และ 32 ถูกศาลอิสลามแห่งรัฐตรังกานูตัดสินลงโทษตามกฎหมายอิสลาม ให้ปรับคนละ 3,300 ริงกิตมาเลเซีย และโบยด้วยหวายคนละหกครั้ง หลังจากเจ้าหน้าที่ทางศาสนาที่ตระเวนสอดส่องพบว่าคนทั้งสองมีเจตนามีความสัมพันธ์ทางเพศในรถยนต์ส่วนตัว ถึงการโบยครั้งนั้นจะทำในห้องปิด แต่ก็ไม่ได้ป้องกันคนทั้งสองจากความอับอาย เพราะในห้องมีประจักษ์พยานจำนวน 100 คน ประกอบด้วยสมาชิกในครอบครัวของคนทั้สอง ผู้แทนด้านกฎหมาย องค์กรพัฒนาเอกชน และสื่อมวลชน

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในมาเลเซียรายงานทัศนะของผู้หญิงในรัฐกลันตันเกี่ยวกับการโบยครั้งนั้น ข่าวระบุว่าผู้หญิงมุสลิมในรัฐกลันตันหลายคนเห็นด้วยกับการลงโทษคู่รักเลสเบี้ยนทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงกลุ่มอายุน้อยระหว่าง 22-32 ปี ที่รายหนึ่งกล่าวว่ารัฐกลันตันควรดำเนินการตามตัวอย่างของตรังกานูเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมเลสเบี้ยนขึ้น

ความเกลียดชัง LGBT แทรกอยู่ในสังคมและวัฒนธรรมและหลายกลุ่มก็ไม่พยายามปกปิดความรู้สึกนี้ เมื่อปี 2563 วงดนตรีร็อกมาเลเซียชื่อ Bunkface ออกมิวสิกวิดีโอเพลงใหม่ชื่อ Akhir Zaman (The End of Times) ที่ท่อนหนึ่งอ้างถ้อยคำจากอัลกุรอานและพูดถึงชาว LGBT ว่าเป็นคนบาป ก่อนจะลงเอยว่า “LGBT boleh pergi mampus” หรือ “LGBT ไปตายซะ” หรืออาจแปลได้ว่า “ไปลงนรกซะ” เมื่อถูกโจมตีจากนักสิทธิมนุษยชนและกลุ่ม LGBT วง Bunkface ออกแถลงการณ์อ้างหลักศาสนาอิสลาม กล่าวว่าเพลงนี้ไม่ได้มุ่งเป้าสร้างความเกลียดชังต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ต้องการแสดงจุดยืนว่าตนไม่สนับสนุนขบวนการที่พยายามส่งเสริมสิทธิ LGBT ในมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มมุสลิม

ไม่นานเพลงดังกล่าวถูกแบนใน YouTube และ Spotify โดยก่อนถูกแบน มิวสิกวิดีโอใน Youtube มียอดวิวราว 700,000 ครั้งและมีการแสดงความเห็นต่อต้าน LGBT จำนวนมากโดยเฉพาะจากผู้มีจุดยืนทางศาสนา

ในขณะที่ชาว LGBT พยายามหลบหลีกการคุกคามหรือบางรายต่อสู้ด้วยตัวเอง แต่ในภาครัฐและภาคการเมืองยังเชื่องช้าเป็นเต่าคลาน ผิดกับสิงคโปร์เพื่อนบ้านที่เมื่อปีที่แล้วรัฐสภาผ่านกฏหมายยกเลิกมาตรา 377A (Section 377A) ในประมวลกฎหมายอาญา ที่เอาผิดผู้มีพฤติกรรมมีความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างชายด้วยกัน ซึ่งเจ้าอาณานิคมอังกฤษบรรจุไว้ในกฎหมายอาญาสิงคโปร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ได้สำเร็จ แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากชุมชนอิสลามและคริสต์ก็ตาม

สำหรับมาเลเซียเองเรื่องนี้อาจซับซ้อนกว่าสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่รัฐบาล ‘คุมได้’ แทบทุกสถานการณ์ การจัดการกับประเด็น LGBT ในมาเลเซียดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่กว่าสิทธิของชุมชน LGBT ธรรมดา แต่เป็นการงัดข้อทางความคิดและบางครั้งก็รวมเอาผลประโยชน์ของนักการเมือง สถาบันทางศาสนา และสถาบันศาล โดยมีประชาชนแบ่งฝ่ายเป็นกองเชียร์   ในแง่ของกฎหมาย แม้ว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศและมีสถานะเหนือกฎหมายอิสลาม แต่ในทางปฏิบัติคำ ถามที่ว่าระหว่างกฎหมายอาญาของรัฐบาลกลางและกฎหมายอิสลาม กฎหมายใดจะทำหน้าที่ตัดสินใจขั้นสุดท้ายสำหรับประชากรมุสลิม เรื่องนี้ยังดูลักลั่นและทับซ้อนและแข่งขันกันกลายๆ ตั้งแต่ระดับรัฐทั้ง 13 รัฐจนถึงระดับประเทศ นอกจากประมวลกฎหมายอาญาของรัฐบาลกลางแล้ว ปัจจุบันกฎหมายอาญาและกฎหมายอิสลามในระดับรัฐทุกรัฐของมาเลเซียมีบทลงโทษพฤติกรรม LGBT โดยพร้อมเพรียงกัน

การเรียกร้องสิทธิ LGBT ในมาเลเซียเป็นเสมือนการเล่นชักกะเย่อระหว่างการเมือง ศาสนา และวัฒนธรรม ที่บางครั้งปัจเจกบุคคลเช่น นูร ซาจัท ต้องลงมือสู้ตามลำพัง ใน พ.ศ. 2557 ศาลอุทธรณ์แห่งปุตราจายาตัดสินว่าบทบัญญัติในกฎหมายอิสลามที่ให้การแต่งกายข้ามเพศเป็นอาชญากรรม เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากสตรีข้ามเพศสามคนที่รัฐเนกรีเซมบิลันยื่นฟ้องต่อศาลว่าศาลอิสลามของรัฐละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของตน แต่คำตัดสินนี้ก็ตกไปเมื่อถูกศาลสูงสุดของรัฐบาลกลางยกเลิกด้วยเหตุผลทางเทคนิคว่ากระบวนการตัดสินของศาลปุตราจายาที่ท้าทายอำนาจศาลอิสลามขาดความเหมาะสม เป็นเหตุให้ปัจจุบันการแต่งกายข้ามเพศของคนมุสลิมเช่นในกรณีของ นูร ซาจัท ยังถือเป็นอาชญากรรมในทุกรัฐ

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะพ่ายแพ้ไปเสียทั้งหมด ในปี 2564 ชาย LGBT มุสลิมวัย 30 กว่าๆ ยื่นฟ้องศาล หลังจากที่เขาถูกจับในรัฐสลังงอร์ด้วยข้อหาเจตนาจะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเพศเดียวกัน ซึ่งเขาปฏิเสธ ในคำฟ้อง เขาโต้แย้งการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐสลังงอร์ว่า สลังงอร์ไม่มีอำนาจบังคับใช้บทบัญญัติของศาสนาอิสลามเรื่องห้ามการมีเพศสัมพันธ์ที่ผิดธรรมชาติ เพราะพฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายอาญาตามกฎหมายของประเทศอยู่แล้ว เรื่องนี้ผู้พิพากษาแห่งศาลแห่งรัฐบาลกลาง (Federal Court) ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของประเทศ ตัดสินเป็นเอกฉันท์ว่าบทบัญญัติอิสลามในรัฐสลังงอร์ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเจ้าหน้าที่สลังงอร์ไม่มีอำนาจในการใช้บทบัญญัตินี้จับกุมตัวผู้ต้องสงสัย การใช้อำนาจของรัฐใดรัฐหนึ่งในการลงโทษตามความผิดนี้จะต้องอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ คำพิพากษานี้ช่วยลดความกลัวในกลุ่ม LGBT ต่อการใช้อำนาจเกินของเขตของเจ้าหน้าที่ในแต่ละรัฐลงได้บ้าง

ในฝั่งของนักการเมืองและข้าราชการประจำ จุดยืนต่อต้าน LGBT ดูเหมือนจะหนักหนากว่าสถาบันตุลาการ ใน พ.ศ. 2563 มาเลเซียลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายที่เสนอโดยรัสเซีย ที่ให้เลขาธิการสหประชาชาติถอนเรื่องการให้สวัสดิการเจ้าหน้าที่สหประชาชาติที่เป็นคู่รักเพศเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายนี้ตกไปในที่ประชุมคณะกรรมาธิการด้านการบริหารและงบประมาณของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

ไม่กี่เดือนถัดมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Ministry) ในรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรีมูยีดดีน ยาซซีน ประกาศยกเลิกร่างกฎหมายความปรองดองแห่งชาติ (National Harmony Bill) ที่มีการเสนอมาตั้งแต่ปี 2557 และมีจุดประสงค์จะแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มที่ได้รับความคุ้มครอง ก่อนหน้านี้มีรายงานด้วยว่า มาตราว่าด้วยการให้ความคุ้มครองสิทธิทางเพศและเพศสภาพได้ถูกตัดออกจากร่างกฎหมายไปก่อนแล้ว

ใน พ.ศ. 2564 นาย อาห์หมัด มาร์ซุค ชาอารี (Ahmad Marzuk Shaary) รัฐมนตรีช่วยว่าการสำนักนายกรัฐมนตรีฝ่ายกิจการศาสนากล่าวว่าตนเองได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ศาสนาของรัฐทุกรัฐดำเนินการกับกลุ่ม LGBT ที่ไม่ประพฤติตนตามความเหมาะสม  แนะว่าควรมีบทลงโทษกลุ่ม  LGBT ที่หนักกว่าบทลงโทษที่มีอยู่ซึ่งถือว่ายังไม่หนักมากพอ และเสนอให้แก้กฎหมายอิสลาม Syariah Courts Act ค.ศ. 1965 หรือ Act 355 ซึ่งจำกัดบทลงโทษของศาลอิสลาม ทั้งนี้เพื่อจัดการกับการกระทำผิดด้วยการเพิ่มบทลงโทษให้เข้มขึ้น

ปัจจุบันยังคงยากที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิ LGBT ในประเทศมาเลเซีย เพราะกลุ่มที่ควรจะเป็นหัวหอกในทางนโยบายซึ่งก็คือนักการเมืองทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด ยังคงเงียบกริบ จะมีก็แต่นักการเมืองอิสลามนิยมอนุรักษนิยมที่แข่งกันแสดงความเกลียดชังต่อกลุ่ม LGBT ด้วยเหตุผลหลายประการทั้งความเชื่อหรืออคติส่วนตัว รวมทั้งผลพลอยได้ที่อาจจะตามมา ซึ่งก็คือคะแนนสนับสนุนจากประชาชนฝั่งอนุรักษนิยม ส่วนนักการเมืองที่ไม่เห็นด้วยก็ถือคตินิ่งเสียหนึ่งตำลึงทอง

จะมีก็แต่อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ผู้ที่ทุกคนเชื่อว่าอนาคตทางการเมืองของเขาได้ดับลงแล้วตั้งแต่ถูกตัดสินจำคุกในข้อหามีความสัมพันธ์ทางเพศที่ผิดธรรมชาติถึงสองครั้งสองครา ครั้งแรกคือในปี 2543 หลังจากอันวาร์ถูกขับจากรัฐบาลมหาเธร์และพรรคอัมโน เขาถูกตั้งข้อหาว่ามีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนขับรถของภรรยาผู้ให้การปรักปรำเขาในศาล ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกอันวาร์เก้าปี แต่ในปี 2547 ศาลสูงสุดกลับคำพิพากษาบนเหตุผลว่าหลักฐานไม่สมเหตุสมผล แต่ชะตากรรมของอันวาร์ยังไม่จบแค่นั้น ในปี 2551 ผู้ช่วยทางการเมืองเพศชายคนหนึ่งของเขาเข้าแจ้งตำรวจกล่าวหาอันวาร์ว่ามีความสัมพันธ์ทางเพศกับตน เขาถูกตัดสินจำคุกห้าปีใน พ.ศ. 2557 โดยครั้งนี้ศาลสูงสุดตัดสินให้เขามีความผิด อันวาร์ยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งสองครั้ง โดยชี้ว่าเป็นการโจมตีทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งทุกคนในมาเลเซียทราบดีว่าคืออดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด และพรรคอัมโนนั่นเอง 

เมื่อแนวร่วมฝ่ายค้าน ปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan) จับมือกับอดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมอัมหมัด ก่อตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2561 มหาเธร์ผู้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ขอพระราชทานอภัยโทษแก่อันวาร์ตามเงื่อนไขความร่วมมือกับแนวร่วมปากาตัน ฮาราปันก่อนการเลือกตั้ง ก่อนที่อันวาร์จะได้ออกจากคุก และในเดือนกันยายนปีเดียวกันอันเป็นเวลาที่ที่สิงคโปร์เริ่มขยับยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 377A  ของตน เขาก็ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว อัล จาซีรา (Al Jazeera) เรียกร้องให้แก้กฎหมายเอาโทษการมีพฤติกรรมทางเพศที่ผิดธรรมชาติ ที่ในมาเลเซียเรียกสั้นๆ ว่า anti-sodomy laws โดยต้องมีการแก้ไขกฎหมายนี้ให้มีกระบวนการที่ยุติธรรม เป็นเรื่องพฤติกรรมสาธารณะที่ไม่เหมาะสมกับบรรทัดฐานของทุกศาสนาในประเทศ  และไม่เกี่ยวกับรสนิยมทางเพศส่วนบุคคล

อันวาร์เรียกมันว่าเป็นเศษซากที่หลงเหลืออยู่ของลัทธิล่าอาณานิคม และเป็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม เพราะสามารถใช้ลงโทษใครก็ได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานเพียงพอ

ไม่นานนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ผู้ที่กว่า 20 ปีก่อนหน้าเป็นคนส่งอันวาร์เข้าคุกในข้อหานี้ด้วยตัวเอง ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่ามาเลเซียจะไม่ยกเลิกกฎหมาย anti-sodomy เพราะมาเลเซียเป็นประเทศอิสลามที่ไม่อดทนต่อการมีพฤติกรรมทางเพศที่ผิดพรรมชาติ “ถ้าโลกทั้งโลกจะทนก็ทนไป แต่เราไม่ทน” ผู้เฒ่ากล่าว

การเมืองผันแปรประหนึ่งนิยาย ปัจจุบันมหาเธร์กลายเป็นนักการเมืองที่สิ้นความสำคัญ ในขณะที่อันวาร์นั่งเก้าอี้นายกฯ แต่ยังไม่มีใครในรัฐบาลนี้รวมทั้งอันวาร์เองลงมือแตะต้องประเด็นสิทธิ LGBT ชะรอยนายกฯ คนใหม่จะยังไม่อยากกวนน้ำให้ขุ่น  เปิดช่องให้ถูกโจมตีทางการเมือง และสร้างความตกใจให้ประชากรสายอนุรักษนิยมมากเกินไป

ดูแต่แค่โปสเตอร์โฆษณา Thai Hot Guys ที่ทำเอาตกอกตกใจกันมากมาย ย้ำเตือนว่าเสรีภาพฮ็อตๆ แบบนี้ยังเป็นเรื่องผิดที่ผิดเวลาในมาเลเซีย ตามที่เว็บไซต์กินและเที่ยวหนึ่งในมาเลเซียกระจายข่าวยกเลิกการแสดงว่า

 “ร้านนี้ตัดสินใจยกเลิกการเชิญคณะ #ThaiHotguy มายังมาเลเซีย ท่านที่ปรารถนาจะดูการแสดงจะต้องไป (ดู) ที่กรุงเทพฯ แทน”


เอกสารประกอบ

https://www.thevibes.com/articles/news/88509/up-against-hot-thai-guys-pas-umno-slam-event-with-lingerie-clad-men

https://www.thepinknews.com/2020/03/10/malaysia-bunkface-band-gay-lgbt-death-hate-spotify-youtube-apple-music-akhir-zaman/

https://www.bbc.com/news/world-43822234

https://www.malaymail.com/news/malaysia/2018/09/21/anwar-anti-sodomy-laws-archaic-completely-unjust/1675013

https://www.nst.com.my/news/nation/2018/09/416096/malaysia-will-not-repeal-anti-sodomy-laws

https://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2018/09/03/100-attend-public-caning-of-couple-in-terengganu-lesbian-sex-case/

https://www.nst.com.my/news/nation/2018/09/408170/kelantan-women-welcome-caning-lesbian-couple

https://www.humandignitytrust.org/country-profile/malaysia/

https://www.newarab.com/news/malaysian-transgender-celebrity-taken-out-mecca-after-umrah

https://www.ohchr.org/sites/default/files/Documents/Issues/SexualOrientation/SocioCultural/NHRI/Malaysia_Human_Rights_Commission.pdf

https://www.reuters.com/article/malaysia-lgbt-rights/malaysian-man-wins-landmark-challenge-against-muslim-gay-sex-ban-idUSL8N2KV0PD

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save