fbpx

ปัญหาอาชญากรรมใน ‘ฮอนดูรัส’ แดนอันตรายแห่งลาตินอเมริกา

เมื่อวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีหญิง Xiomara Castro ของประเทศฮอนดูรัส ในทวีปอเมริกากลาง ออกประกาศห้ามประชาชนออกนอกบ้านในยามวิกาลเนื่องจากเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ในเมือง Choloma ระหว่างงานเลี้ยงวันเกิด มีผู้เสียชีวิต 13 คน ขณะเดียวกันก็มีเหตุฆาตกรรมตามสถานที่ต่างๆ ในภูมิภาค Sula Valley ทางตอนเหนือในวันเดียวกันรวมกันถึง 20 ราย ซึ่งทางการของฮอนดูรัสตั้งข้อสันนิษฐานว่าทั้งหมดเป็นการฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการลักลอบขนส่งยาเสพติดจากประเทศในอเมริกาใต้ เช่น โคลอมเบีย เปรู และโบลิเวีย ผ่านประเทศต่างๆ ในอเมริกากลาง ก่อนไปถึงประเทศปลายทางคือสหรัฐอเมริกา รัฐบาลฮอนดูรัสประกาศส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 1,000 คนลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อเท็จจริงและจับตัวผู้กระทำการ มีการประกาศให้เงินรางวัลจำนวน 33,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่ผู้ที่แจ้งเบาะแสจนนำไปสู่การจับกุมผู้ก่อเหตุได้

การประกาศห้ามประชาชนออกนอกบ้านในยามวิกาลได้ถูกนำมาใช้ในหลายๆ รัฐของฮอนดูรัสตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วโดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลที่จะรับมือกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของแก๊งอาชญากรรมต่างๆ โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะลดปัญหาอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา สำหรับเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนี้ ผู้รอดชีวิตให้การว่าเป็นการปะทะกันระหว่างสองแก๊งมาเฟียค้ายาเสพติดที่สำคัญในอเมริกากลาง คือแก๊ง The 18th Street และแก๊ง MS-13

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ในวันอังคารที่ 20 มิถุนายน ก็ได้เกิดความวุ่นวายในเรือนจำหญิงของประเทศ โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 46 คน รัฐบาลฮอนดูรัสพบว่า ผู้เคราะห์ร้ายส่วนใหญ่เกิดจากถูกไฟไหม้ ขณะที่บางส่วนก็พบว่าถูกยิง ถูกแทง หรือถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต ทางการฮอนดูรัสได้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อหาสาเหตุว่าเหตุใดจึงมีอาวุธปืนและมีดลักลอบเข้าไปอยู่ในเรือนจำได้ ประธานาธิบดี Castro ประกาศว่าตัวเธอเองรู้สึกช็อกกับเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นอย่างมากและจะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น เธอยังประกาศปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงของประเทศ Ramón Sabillón และแต่งตั้งนายพลตำรวจ Gustavo Sánchez ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขึ้นมาแทนที่ โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ก็มีสาเหตุเหมือนกับเหตุการณ์ในวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน คือเกิดจากความขัดแย้งระหว่างแก๊ง The 18th Street และแก๊ง MS-13 ซึ่งเริ่มจากการทะเลาะเบาะแว้งของทั้งสองฝ่ายก่อน จากนั้นก็มีการจุดไฟเผาที่นอนจนทำให้เกิดการลุกลามไปทั่วเรือนจำ ทางสำนักข่าวท้องถิ่นได้เผยแพร่ภาพกลุ่มควันไฟที่ลอยโขมงจากเรือนจำหญิงดังกล่าว ที่ตั้งห่างจากเมืองหลวง กรุงเตกูซิกัลปา ไปทางเหนือประมาณ 25 กิโลเมตร และมีผู้ต้องขังหญิงอยู่ในเรือนจำกว่า 900 คน โดยก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้ ทางเรือนจำได้มีความพยายามที่แยกผู้ต้องขังที่มีปัญหาขัดแย้งออกจากกัน แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถสกัดกั้นการปะทะกันได้

ผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้เรือนจำหญิงดังกล่าวให้การกับเจ้าหน้าที่ว่า ผู้เสียชีวิตส่วนมากเป็นผู้ที่หลบหนีไฟไหม้เข้าไปอยู่ในห้องน้ำ มีการพบศพเรียงทับกันสูงในห้องน้ำ ขณะเดียวกันบางส่วนก็พบร่องรอยการถูกอาวุธปืนยิงหรือถูกแทงจนถึงแก่ความตาย อย่างไรก็ตามมีผู้เสียชีวิตบางรายที่ไม่เกี่ยวข้องกับแก๊งอาชญากรรมทั้งสองถูกลูกหลงในเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้ไปด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นอดีตตำรวจหญิงซึ่งถูกศาลตัดสินสั่งจำคุก 15 ปีในข้อหาฆาตกรรมเพื่อนตำรวจด้วยกันเอง ขณะที่ผู้ต้องหาที่เสียชีวิตรายหนึ่งกำลังจะถูกปล่อยตัวในอีกไม่กี่วัน หลังถูกจำคุกในข้อหาลักพาตัว

โดยพื้นฐาน ฮอนดูรัสเป็นประเทศที่ประสบปัญหาเรื้อรังทั้งในเรื่องการคอร์รัปชัน รวมทั้งปัญหาอาชญากรรมจากแก๊งผิดกฎหมายต่างๆ จนส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อของสถาบันทางการเมืองต่างๆ ในประเทศ และที่น่าเป็นห่วงไม่น้อยก็คือปัญหาการฆาตกรรมที่แก้ไม่ตก จนทำให้มีผู้สังเวยชีวิตให้กับการฆาตกรรมในฮอนดูรัสสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเหตุปัจจัยสำคัญของปัญหานี้สืบเนื่องมาจากการที่ฮอนดูรัสและประเทศใกล้เคียงในอเมริกากลาง ไม่ว่าจะเป็นเอลซัลวาดอร์หรือกัวเตมาลา ต่างก็เป็นทางผ่านของยาเสพติดโดยเฉพาะโคเคน นอกจากนี้ ประเทศเหล่านี้ยังประสบปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ โดยเฉพาะผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องกับแก๊งมาเฟียและแก๊งค้ายาเสพติดต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาการกระทบกระทั่งกันอยู่บ่อยๆ จนนำไปสู่การปะทะกันและก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมตามมา

ปัญหาอาชญากรรมในฮอนดูรัสที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนชาวฮอนดูรัสเป็นอย่างมาก โดยอัตราการฆาตกรรมเคยพุ่งขึ้นไปสูงสุดในปี 2012 ที่ 20 รายต่อวัน ขณะที่ปัญหาเกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น ปัญหาการกรรโชกทรัพย์ และการลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่ ก็เกิดขึ้นอย่างดาษดื่นในประเทศ จนส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกองกำลังตำรวจในประเทศ ขณะเดียวกันก็ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในฮอนดูรัสที่มีแนวโน้มแย่ลง ทำให้นานาชาติต้องหันมาช่วยเหลือรัฐบาลฮอนดูรัสในการจัดการกับปัญหานี้

ลาตินอเมริกาถือเป็นภูมิภาคที่มีความอันตรายสูง โดยแม้ว่าจะเป็นภูมิภาคที่มีประชากรอยู่ร้อยละ 8 ของประชากรทั่วโลก แต่กลับมีอัตราการฆาตกรรมสูงถึงร้อยละ 37 ของอัตราการฆาตกรรมทั่วโลก และในลาตินอเมริกานี้ ฮอนดูรัสก็จัดว่าเป็นประเทศที่อันตรายสูงเป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาค โดยในปี 2012 อัตราการฆาตกรรมได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น โดยมีผู้เสียชีวิตจากการฆาตกรรมถึง 7,172 รายทั่วประเทศ และสาเหตุส่วนใหญ่ของการเสียชีวิตนั้นเกิดจากอาวุธปืนเป็นหลักถึงร้อยละ 83.4 และฮอนดูรัสก็มีอัตราการฆาตกรรมสูงกว่าในสหรัฐอเมริกาถึง 18 เท่า โดยผู้ที่ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นชายวัยฉกรรจ์อายุระหว่าง 15-34 ปี ซึ่งโดยส่วนมากไม่เป็นสมาชิกของแก๊ง The 18th Street ก็เป็นสมาชิกของแก๊ง MS-13

ถัดมาอีก 10 ปี ในปี 2022 อัตราการตายจากการฆาตกรรมในฮอนดูรัสอยู่ที่ 36 คนต่อประชากร 100,000 คน ถึงแม้ว่าตัวเลขจะลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2012 แต่ก็ไม่ทำให้ฮอนดูรัสหลุดจากประเทศที่อันตรายไปได้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก การลดลงของอัตราการฆาตกรรมดังกล่าวมีหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นผลจากการเจรจายุติความขัดแย้งกันระหว่างแก๊งต่างๆ กับรัฐบาลฮอนดูรัส ความช่วยเหลือทางการเงินจาก The United States Agency for International Development ที่ให้การสนับสนุนโครงการป้องกันความรุนแรง และการปรับปรุงตัวกฎหมาย Mano Dura Laws ที่มุ่งจัดการปัญหาการฆาตกรรมอย่างเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่ ผู้กระทำการฆาตกรรมมักจะหลบหนีจากการลงโทษได้ หรือถ้าถูกตำรวจจับได้ก็เป็นผู้กระทำการในระดับล่างๆ ขณะที่ผู้กระทำการในระดับที่สูงขึ้นไปกลับไม่โดนข้อกล่าวหา โดยมีเพียงร้อยละ 4 ที่ถูกรัฐบาลฮอนดูรัสจับได้และนำตัวขึ้นพิจารณาในศาล

นอกจากจะมีการก่อเหตุโดยแก๊งอาชญากรรมแล้ว ฮอนดูรัสยังมีการก่ออาชญากรรมโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐเองเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกรรโชกทรัพย์ต่อประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น จากการสำรวจโดยองค์การไม่แสวงหาผลกำไรภายใต้การสนับสนุนของคริสตจักรในฮอนดูรัสพบว่าในปี 2022 มีการกรรโชกทรัพย์ต่อประชาชนเกิดขึ้นมากกว่า 200,000 ราย และพบว่าประชาชนถึงร้อยละ 99 ไม่กล้าแจ้งความ นี่ทำให้ประธานาธิบดี Castro ประกาศให้ปัญหาการกรรโชกทรัพย์ต่อประชาชนเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาแก้ไขอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ความหวาดกลัวและความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นจากปัญหาการฆาตกรรมยังเป็นสิ่งกีดขวางไม่ให้หน่วยงานหรือองค์กรใดๆ เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะต่างก็เกรงว่าตัวเองจะตกเป็นเหยื่อของการฆาตกรรมไปด้วย

และหากมองไปที่คนตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในฮอนดูรัส ก็พบว่าคนที่ตกเป็นเหยื่อมีหลายกลุ่ม ทั้งที่เป็นเยาวชน ผู้หญิง เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร นักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ผู้สื่อข่าว นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือกระทั่งเจ้าหน้าที่ตุลาการและผู้พิพากษา เป็นต้น

ในปี 2021 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปัญหาความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงเป็นปัญหาร้ายแรงที่บ่อนทำลายความสงบสุขในสังคมฮอนดูรัส โดยอัตราการฆาตกรรมผู้หญิงในฮอนดูรัสอยู่ที่ร้อยละ 6.62 ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งสูงที่สุดในทวีปอเมริกา นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติยังรายงานว่ามีผู้หญิงถูกสังหารในฮอนดูรัสถึง 278 คนในปี 2020 ขณะเดียวกัน การสำรวจจากความร่วมมือระหว่าง The National Autonomous University of Honduras กับ The National Observatory of Violence ก็พบว่าในปี 2021 ทุกๆ 27 ชั่วโมงจะมีผู้หญิงถูกฆาตกรรม 1 คนในฮอนดูรัส

ส่วนความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นพบว่า ในเดือนธันวาคม 2009 ผู้บัญชาการกองกำลังต่อต้านการค้ายาเสพติด นายพล Julian Aristides Gonzalez ถูกลอบสังหารในกรุงเตกูซิกัลปา ตามด้วยในปีต่อมาก็มีความพยายามลอบสังหารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคง Óscar Álvarez ซึ่งเหตุการณ์ทั้งสองนั้น The Honduran Department of National Directorate of Criminal Investigation สรุปว่าเป็นฝีมือของแก๊งค้ายาเสพติดในประเทศเม็กซิโก นอกจากนี้ยังมีผู้สื่อข่าวถูกลอบสังหาร เช่น David Meza ผู้สื่อข่าวประจำสถานีวิทยุ El Patio ที่ทำหน้าที่นี้มากว่า 30 ปี โดยเขาถูกลอบสังหารในเดือนมีนาคม 2010 จากการเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอรายงานข่าวเกี่ยวกับการค้ายาเสพติดในประเทศ นอกจากนี้ Nahúm Elí Palacios Arteaga ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว The Canal 5 ก็ถูกสังหารในเดือนมีนาคม 2010 เช่นเดียวกัน

แก๊งนอกกฎหมายในฮอนดูรัส รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ฉ้อฉลรับสินบนจากองค์กรอาชญากรรม ยังคงข่มขู่ผู้สื่อข่าวอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้นำเสนอข่าวที่ถูกต้อง รวมถึงละเมิดเสรีภาพในการทำข่าวของสื่อมวลชนอยู่เสมอ The Honduran College of Journalists รายงานว่าระหว่างปี 2001-2020 มีสื่อสารมวลชนอย่างน้อย 86 คนถูกลอบสังหารในฮอนดูรัส และร้อยละ 92 ของการฆาตกรรมดังกล่าวยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้

ขณะที่ในส่วนความรุนแรงของแก๊งนอกกฎหมายในฮอนดูรัสที่มีต่อเยาวชนนั้นพบว่า ฮอนดูรัสเป็นมีอัตราการฆาตกรรมเยาวชนสูงที่สุดในโลก โดยเยาวชนที่อาศัยอยู่ในฮอนดูรัส กัวเตมาลา และเอลซัลวาดอร์ มีความเสี่ยงที่จะถูกฆาตกรรมจากการกระทำขององค์กรอาชญากรรมนอกกฎหมายมากกว่าเป็น 10 เท่าของเยาวชนในสหรัฐอเมริกา และยังพบว่าเยาวชนชายในฮอนดูรัสทุกๆ 9 คน จะถูกสังหาร 1 คน การฆาตกรรมของเยาวชนในฮอนดูรัสในปัจจุบันนั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการใช้ความรุนแรงของแก๊งนอกกฎหมาย

กล่าวโดยสรุป ปัจจุบันนี้ฮอนดูรัสยังเป็นประเทศที่อันตรายประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกา อันเป็นผลมาจากแก๊งอาชญากรรมผิดกฎหมายที่ดูแลเส้นทางขนส่งยาเสพติดจากอเมริกาใต้ขึ้นไปอเมริกาเหนือ รัฐบาลปัจจุบันของ Castro พยายามอย่างยิ่งที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่จากเหตุการณ์และสาเหตุของการเกิดความรุนแรงที่ได้กล่าวไปแล้วทั้งหมด จะพบว่าหนทางการแก้ไขปัญหายังเผชิญขวากหนามอยู่ไม่น้อย เราคงต้องเฝ้าติดตามดูปัญหาอาชญากรรมในฮอนดูรัสว่าจะได้รับการแก้ไขหรือว่าแย่ลงกว่าเดิมต่อไปอย่างใจจดใจจ่อ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save