fbpx

ความน่าจะอ่าน: หนังสือชวนอ่านรับปี 2023 โดยคอลัมนิสต์ 101

หลายคนบอกว่าปี 2022 ที่ผ่านมา เป็นปีแห่งการหยุดพักเพื่อเริ่มต้นใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้สังคมต้องเผชิญกับวิกฤตรอบด้าน ทั้งเรื่องโรคระบาด เศรษฐกิจ และการเมือง

แต่ถึงอย่างนั้น ปี 2022 ก็อาจไม่ได้ใจดีกับเราเท่าไรนัก เมื่อมองไปที่สถานการณ์โลกที่มีทั้งสงคราม ความเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก ไปจนถึงภาวะข้าวยากหมากแพงที่กระจายไปทั่วทุกหัวระแหง แม้ในประเทศที่โครงสร้างพื้นฐานแข็งแรง

ในช่วงที่เราก้าวเข้าสู่ปี 2023 นี้ 101 ชวนคอลัมนิสต์กว่า 30 คน มาเลือกหนังสือคนละ 1 เล่ม ที่คิดว่า ‘น่าจะอ่าน’ รับปีใหม่ หลากหลายเนื้อหาและรูปแบบ บางเล่มคลาสสิก บางเล่มเนื้อหาสดใหม่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน 

ดูรายชื่อหนังสือทั้งหมดได้ในบรรทัดถัดไป

1.There’s Always Spring: เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน

ผู้เขียน: iLaw

สำนักพิมพ์: Mob Data Thailand

แนะนำโดย: ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์

การส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่สำหรับใครหลายคนคือช่วงเวลาในการทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมาและ/หรือตั้งปณิธานสำหรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ดิฉันเลือกหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน หลังจากเห็นมิตรสหายหลายคนพูดถึงด้วยความประทับใจ อันที่จริงจะเรียกว่าอ่านหนังสือแต่เพียงลำพังก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะนอกจากเนื้อหาที่เป็นข้อเขียนแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังนำเสนอภาพถ่ายจากการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยนับตั้งแต่ปี 2563 เอาไว้อย่างน่าสนใจด้วย

ในห้วงปีที่ผ่านมา แม้ว่าผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจะต้องเผชิญกับการกดขี่ปราบปรามโดยรัฐอย่างต่อเนื่อง หากพวกเขาก็หาได้ยอมจำนน แต่ยังคงมุ่งมั่นและเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดยั้ง แม้ผู้เขียนจะสรุปในตอนท้ายของหนังสือว่า “ปลายปี  2565 ขณะที่หนังสือเล่มนี้กำลังตีพิมพ์ออกมา ฐานข้อมูลม็อบดาต้าไทยแลนด์ (Mob Data Thailand) ก็เริ่มเคลื่อนไหวน้อยลงเพราะการชุมนุมเบาบางลง ทั้งจำนวนกิจกรรม จำนวนผู้เข้าร่วม…บรรยากาศที่คนรุ่นใหม่เคย ‘เบ่งบาน’ เต็มท้องถนนจืดจางไป” แต่ดิฉันเห็นว่านั่นหาใช่ตัวชี้วัดว่าความหวังในการเปลี่ยนแปลงกำลังถดถอยลงแต่อย่างใด ในทางกลับกัน ดิฉันกลับเห็นว่า ‘การต่อสู้’ ได้แปรเปลี่ยนไปเป็น ‘การต่อต้านในชีวิตประจำวัน’ (Resistance in everyday life) มากขึ้น ผ่านการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์นับไม่ถ้วน การเลือกบริโภคสินค้าและบริการ ตลอดจนบทสนทนาในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ภายในสังคม ไม่ต่างกับที่ผู้เขียนเทียบเคียงการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยกับ ‘ดอกไม้ตามธรรมชาติ’ ที่ “เมื่อถึงฤดูกาลก็จะผลิบานเจิดจรัสงดงาม หลังผลิบานแล้วก็อาจต้องเจอกับแดดแรง เมฆหมอกหรือห่าฝนจนร่วงโรยตามกาลเวลา แต่เมื่อเวลาวนมาถึงก็จะกลับมาผลิบานอีกครั้ง ตราบที่วงจรของอำนาจอันไม่ชอบธรรมยังไม่สิ้นสุด ดอกไม้แห่งความหวังก็จะทำหน้าที่ของมันอยู่เสมอ” นั่นเอง

2.Custodians of the Internet: Platforms, content moderation and the hidden decision that shape social media

ผู้เขียน: Tarleton Gillespie

สำนักพิมพ์: Yale University Press

แนะนำโดย: อัครพัชร์ เจริญพานิช

ข้อมูลเท็จและข่าวปลอมกลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับโลก สังคมเริ่มส่งมอบหน้าที่ใหม่ให้แก่แพลตฟอร์มโดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แพลตฟอร์มเหล่านั้นจะต้องเข้มงวดกับข้อมูลที่กระจายอยู่บนแพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น

Tarleton Gillespie เป็นนักวิจัยให้ไมโครซอฟต์และเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เขาตีแผ่กระบวนการควบคุมข้อมูล (content moderation) ของแพลตฟอร์มอย่างแหลมคมและครบถ้วน เขาวิเคราะห์กระบวนการนี้ได้อย่างเร้าใจ และกล่าวว่า content moderation เป็นกิจกรรมที่เป็น ‘แก่น’ ของแพลตฟอร์ม แต่กระบวนการนี้ถูก ‘ซ่อน’ ไปจากผู้ใช้

ทุกแพลตฟอร์มควบคุมข้อมูลที่ถูกกระจายอยู่บนแพลตฟอร์มมาตั้งแต่ต้น แต่จะทำให้ถูกใจผู้ใช้ทุกคนนั้นอาจเป็นไปไม่ได้เลย เพราะผู้ใช้แต่ละคนมีมุมมองไม่เหมือนกันว่าอะไรควรและอะไรไม่ควรที่จะถูกกระจายอยู่บนแพลตฟอร์ม ภารกิจนี้มีความซับซ้อนและยุ่งยากมาก

ล่าสุดอีลอน มัสก์เข้าซื้อทวิตเตอร์ และลดจำนวนพนักงานที่ทำงานด้าน content moderation ลง ดูเหมือนอีลอน มัสก์จะไม่เข้าใจถึงความสำคัญและความซับซ้อนของ content moderation เท่าไรนัก น่าเป็นห่วงมากว่าทวิตเตอร์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันของโลกจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต ปีหน้าพวกเราคงต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป

3.Populism

ผู้เขียน: Benjamin Moffitt

สำนักพิมพ์: Polity Press
แนะนำโดย เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์

เสียงฆ้องแห่งการเลือกตั้งในประเทศไทยกำลังดังเข้ามา แต่ละพรรคก็พยายามเสนอนโยบายของตนเองให้กับประชาชน แนวความคิดเรื่อง ‘นโยบายประชานิยม’ ได้รับการกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นในปีนี้กระผมขอแนะนำหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประชานิยมที่เล่มไม่ใหญ่มาก แต่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหา อันได้แก่หนังสือเรื่อง ‘Populism’ (Polity Press, 2020) ของ Benjamin Moffitt นักวิชาการแห่ง The National School of Arts, Australian Catholic University

ในหนังสือเล่มนี้อธิบายถึงความหมายและข้อถกเถียงในหมู่นักวิชาการที่สนใจศึกษาเรื่องประชานิยมอย่างรอบด้าน นอกจากนี้ยังอธิบายผลกระทบของประชานิยมต่อสังคมในมิติต่างๆ ที่สำคัญคือมีการเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่องประชานิยมกับแนวคิดทางการเมืองอื่น ไม่ว่าจะเป็นกับชาตินิยม สังคมนิยม เสรีนิยม และประชาธิปไตยอย่างละเอียดลึกซี้ง สร้างความเข้าใจให้คนอ่านว่าแท้จริงแล้วประชานิยมคืออะไรกันแน่ 

หนังสือเล่มเล็กๆ จำนวน 114 หน้านี้ น่าจะเป็นหนังสือที่ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือนักวิชาการทั้งที่ชื่นชอบและวิพากษ์ประชานิยม ควรอ่านเพื่อให้เข้าใจก่อนว่าประชานิยมคืออะไร และแตกต่างจากแนวคิดทฤษฎีทางการเมืองอื่นๆ อย่างไร ไม่ใช่แต่โจมตีว่าแนวคิดประชานิยมเป็นสิ่งเลวร้าย ดังที่คนในสังคมไทยจำนวนมากได้รับการปลูกฝังมาโดยตลอดนั่นเอง

4.”แม่ง โคตรโฟนี่เลย” 

ผู้เขียน: ไอดา อรุณวงศ์

สำนักพิมพ์: Bookscape

แนะนำโดย: ภิญญพันธ์ พจนะลาวัณย์

“แม่ง โคตรโฟนี่เลย” หนังสือเล่มพอดีมือที่รวมบทความต่างกรรมต่างวาระ เป็นงานเขียนที่เปี่ยมไปด้วยพลังอันยิ่งใหญ่ ไอดาสะท้อนภาพอันตอแหลในแวดวงวิชาการ สถาบันการศึกษาระดับสูง นักเขียนผู้สยบยอม องค์กรอยุติธรรม ที่เป็นแค่กลุ่มกาฝากแต่ดันอ้างตัวเป็นเสาหลัก ทำให้เราเชื่อว่าเทพยดาที่ถูกปรุงแต่งอาจเป็นแค่เปรตผู้หิวโหย 

เธอคือคนในผู้เป็นคนนอกในคณะอักษรฯ และชำแหละให้เห็นว่า วรรณกรรมชั้นดีถูกอ่านด้วยเวทมนตร์ฝ่ายขวาไทยแบบไหน การเรียนระดับอุดมศึกษายังควบคุมเรือนร่างไปจนถึงความคิด ไอดาเชื่อในการเขียนเรื่องสามัญชนและโดยสามัญชน สมรภูมิคนเสื้อแดงและกฎหมายหมิ่นชนชั้นสูงคือเนื้อนาอันอุดมที่คอยฉีกหน้ากากความเปลือกปลอมของคนเดือนตุลาจำนวนมากที่หันหลังกลับไปแทบจะอัษฎางคประดิษฐ์ คล้ายกับว่าห้วงตุลาและสงครามกลางเมืองที่ผ่านมาพวกเขาได้ฝันเปียกไป

เธอผลักดันให้เกิดหนังสืออย่าง ‘รักเอย’ โดย รสมาลิน หรือ ‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’ โดย ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ทั้งเป็นปากคำของสามัญชนและเป็นเสียงของผู้หญิงที่ถูกเบียดบังอยู่บ่อยครั้งทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ งานเขียนถึง ร.จันทพิมพะ ดูจะเป็นงานเขียนที่สะท้อนถึงความหวังและความใฝ่ฝัน รวมถึงความน่าเสียดายในบทบาทความเป็นหญิงที่ชัดเจนที่สุดบทหนึ่ง

สำหรับเธอ ลำดับศักดิ์ของภาษาเป็นปัญหาใหญ่ แต่ไม่ใช่เพราะราชบัณฑิตไร้น้ำยาสั่งสอน แต่เพราะอำนาจทางวัฒนธรรมที่กดหัวเราอย่างเอกสารราชการ โดยเฉพาะคำร้องขอประกันตัวนักโทษการเมืองที่พรากเสรีภาพคนได้อย่างถูกกฎหมายในนามรัฐและผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน

งานเขียนของไอดาทำให้ผมรู้สึกว่าควรจะทำอะไรสักอย่างกับชีวิตและงานเขียน ไม่ใช่เพราะไม่อยากเป็นผู้ใหญ่ที่โคตรกะล่อนแบบที่สุลักษณ์ชอบด่าอย่างเดียว แต่มันยังอยู่ในวิสัยที่จะทำให้ปากกาของเราเป็นอาวุธที่จะสู้กับความฉ้อฉล ‘โฟนี่’ ของแวดวงต่างๆ ที่เราเกี่ยวข้องไปด้วย

5.A Soldier King: Monarchy and Military in the Thailand of Rama X

ผู้เขียน: สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

สำนักพิมพ์: ISEAS – Yusof Ishak Institute

แนะนำโดย: อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

งานเรื่อง ‘ทหารพระราชา’ ของสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ที่จัดพิมพ์โดย Institute of Southeast Asian Studies-ISEAS ซึ่งเป็น think tank ระดับโลกของสิงคโปร์ เพิ่งพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2022 นี่เอง

ทหารพระราชาบอกอะไรบ้าง?

สุภลักษณ์ชี้ให้เห็นว่าการก่อตัวและการสถาปนาอำนาจทางการเมืองของทหารสมัยใหม่นั้นเกี่ยวพันกับยุคก่อตัวของรัฐประชาชาติ (nation-state) ในศตวรรษที่ 19 ที่เริ่มต้นและเด่นชัดด้วยพระบรมราโชบายของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เพื่อต่อกรกับพลังและอันตรายของลัทธิอาณานิคม (colonialism) จากชาติตะวันตกที่ล่าและยึดครองเมืองขึ้นได้แก่ จีน อินเดีย แล้วคืบคลานสู่เวียดนาม เขมร ลาว พม่า สยาม มลายู อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

สำหรับผม นอกจากสายพระเนตรที่ยาวไกลของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ที่ทรงก่อตั้งทหารขึ้นมาแทนระบบไพร่ ด้วยการส่งพระราชโอรสและพระเจ้าน้องยาเธอหลายพระองค์ไปทรงศึกษาวิชาทหารยังประเทศตะวันตกหลายประเทศซึ่งคือเจ้าอาณานิคมแล้ว ยังปรับระบบไพร่ที่เป็นระบบควบคุมกำลังพลเพื่อเศรษฐกิจ ภาษี การค้า ศึกสงครามและการเมืองของชนชั้นนำอันล้าสมัยไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมสมัยนั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ในแง่วิชาการ ผมและนักวิชาการท่านอื่นๆ รวมทั้งสุภลักษณ์เห็นด้วยว่า ทหารพระราชาหรือกองทัพสมัยใหม่ที่สถาปนาขึ้นเพื่อเผชิญหน้ากับลัทธิอาณานิคมนั้น ทหารสมัยใหม่ยุคนั้นไม่ได้รบครั้งสำคัญและเป็นสถาบันหลักที่เผชิญภัยคุกคามจากภายนอก (external threat)

แม้ช่วงล่าอาณานิคม สยามก็สร้างกองทัพสมัยใหม่เพื่อทำหน้าที่หลักในการล่าอาณานิคมภายใน (internal colonialism) คือภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ของสยาม เป็นการใช้กองทัพสมัยใหม่รวบรวม ผนวก ยึดครองดินแดนนอกสยามเวลานั้นให้เป็นสยาม (Siamization) และใช้กองทัพสมัยใหม่ประกอบการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolutism)  สร้างความมั่งคั่งจากการสะสมทุนในระบบทุนนิยมที่ไหลบ่าสู่สยามจากระบบทุนนิยมโลก ด้วยวิธีการจัดเก็บภาษีอากรรูปแบบต่างๆ ยิ่งความมั่งคั่งของระบบเศรษฐกิจสยามถูกรีดเร้นและขูดรีดด้วยสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring treaty) ตั้งแต่ปี 1885 ด้วยเงื่อนไขของสนธิสัญญาสยามเก็บภาษีการค้าได้ไม่เกินร้อยชัก 3  

กล่าวโดยย่อ กองทัพสมัยใหม่จึงเป็นทหารพระราชาที่ทำหน้าที่ปกป้องและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นหลัก และนี่เองเป็นสิ่งที่ Greg Raymond นักวิชาการด้านความมั่นคงและกิจการทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นว่านี่เป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมความมั่นคง (culture of security) ของชนชั้นนำและทหารสยามจนเป็นหลักที่สืบทอดและต่อเนื่องมาตลอด

กล่าวโดยย่อ วัฒนธรรมความมั่นคง ได้แก่ การพึ่งพากองกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์และอิทธิพลทางการเมืองของชาติมหาอำนาจ ในการทำสงครามในแบบฉบับ (traditional warfare) ต่อภัยคุกคามจากศัตรูและภัยคุกคามจากภายนอก (external threat) ของสยามและไทยในเวลาต่อมา ดังนั้นสยามจึงไม่ตั้งใจและไม่ได้พัฒนาความทันสมัย (modernization) ไม่ได้ใช้ทรัพยากรและลงทุนเพื่อสร้างกองทัพอันทันสมัยและพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ก้าวหน้าเหมือนหลายรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้องต่อต้านการล่าอาณานิคมจากตะวันตก แม้ว่ารัฐเหล่านั้นจะพ่ายแพ้ต่อลัทธิล่าอาณานิคมและตกเป็นเมืองขึ้นในที่สุดก็ตาม

สยามมีนโยบายความมั่นคงคือสร้างระบบพันธมิตรกับชาติมหาอำนาจ ในช่วงที่ชนชั้นนำของไทยรู้สึกว่าเสียสมดุล (underbalance) ด้านกำลังรบ ทหาร การเมือง และกิจการต่างประเทศ

ในยุคสงครามเย็นช่วงทศวรรษ 1950-1970 วัฒนธรรมความมั่นคงของชนชั้นนำและทหารสมัยใหม่ของไทยยิ่งเห็นได้ชัด กองทัพอาศัยอาวุธ กำลังทหาร ข้อมูลลับ ข่าวกรอง และอิทธิพลทางการของสหรัฐอเมริกา ต่อต้านและทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์จากจีน เวียดนาม กัมพูชา และลาว รวมทั้งต่อกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วย

ตัวอย่างนี้เกิดขึ้นอีกในช่วงทศวรรษ 1980 ชนชั้นนำไทยเลือกไม่เร่งใช้จ่ายงบประมาณให้เพียงพอต่อการป้องกันภัยจากภายนอกเพื่อเอาชนะการรุกรานของเวียดนามต่อกัมพูชา แม้ว่าภัยคุกคามคือการดำรงอยู่ของกองกำลัง 160,000 นาย พร้อมกำลังอาวุธ ที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 300 กิโลเมตร ช่วงการยึดครองกัมพูชาของเวียดนาม* แต่ชนชั้นนำไทยเลือกใช้พันธมิตรชาติมหาอำนาจภายนอกคือจีน อาวุธจีน อิทธิพลทางการเมืองของจีนในภูมิภาคและในโลกเพื่อคานกำลังทหารเวียดนาม แนวความคิดที่ทรงพลังนี้ก็เหมือนกับการหยิบฉวยใช้กองกำลังและอาวุธของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเกาหลี (ทศวรรษ 1950) และสงครามเวียดนาม (ทศวรรษ 1960) แทนที่การใช้กำลังทหารและอาวุธของไทยเองเพื่อทำหน้าที่หลักต่อสู้กับภัยคุกคามจากภายนอก** 

แน่นอนว่าไม่มีใคร – รวมทั้งผมและสุภลักษณ์ด้วย ไม่ให้ความสำคัญกับทหารพระราชา ในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980  ในการเมืองไทย อย่างไรก็ตาม จำนวนที่เพิ่มขึ้นของอาวุธทันสมัยในยุคอเมริกันเรืองอำนาจและจีนผงาดรุ่งโรจน์ นายทหารนักเรียนนอกจากสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ทหารพระราชากลับต่อกรกับพลพรรคของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีมิติภายในเป็นด้านหลัก พร้อมด้วยการแข่งขันทางการเมืองระหว่างฝักฝ่าย (factionalism) ระหว่างทหารวงค์เทวัญ บูรพาพยัคฆ์ นายทหาร จปร. 1 5 และ 7 ทหารเหล่าต่างๆ ระหว่างทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ จะมีนายทหารหน่วยรบพิเศษ ทหารสื่อสารบ้างก็มีแต่พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธเท่านั้น 

ทหารพระราชาจึงเป็นตัวละครหลักในสมการการเมืองใหม่ ภัยคุกคามจากภายนอกถึงจะมีอยู่จริง แต่จะรุนแรงและสำคัญเท่าความขัดแย้งระหว่างเหล่าทัพ (intra-conflict) ด้วยกันเอง ยังเติร์กและทหารประชาธิปไตย (democratic solider) ก็ถูกประกอบสร้างขึ้นมาเพื่อชิงอำนาจทางการเมืองในกองทัพและรัฐบาลในช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ (semi democracy) ภายใต้การนำของทหารม้าชื่อพลเอก เปรม ติณสูลานนท์

น่าสนใจยิ่งกว่าว่าบัดนี้ทหารพระราชาจัดวางตัวเองเหนือกองทัพไทย ทรงพลานุภาพ รวมศูนย์บัญชาการ แต่อาจเป็นความเสี่ยงทางการเมืองยิ่งกว่าฝักฝ่ายจากสังกัดราบ ม้า ปืน ทหารเจ้า ทหารบ้านนอก วงค์เทวัญ บูรพาพยัคฆ์

ทหารคอสีอะไรต่างหากที่เป็นภัยคุกคามและเปราะบางยิ่งกว่า

อ้างอิง

* Greg Reymond, “ How Thailand’s Junta threatens its external threat security”, East Asia Forum 6 April 2018. : 3.

**Ibid., : 2.

6.Ultraman-เส้นชัยไร้เหตุผล

ผู้เขียน: นิ้วกลม

สำนักพิมพ์: KOOB

แนะนำโดย: สมศักดิ์ จันทวิชชประภา

มันอาจเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่เล่าถึงประสบการณ์วิ่งอัลตร้าเทรล 100 กิโลเมตร ซึ่งอาจฟังดูธรรมดา แต่พลังงานที่แถมมากับหนังสือเล่มนี้ไม่ธรรมดาเลย 

Ultraman เป็นหนังสือที่อ่านแล้วจะพบกับพลังจากความไม่ยอมแพ้มากมายในเล่มนี้ พลังจากหนังสือเล่มนี้มีมากพอที่จะดึงคนอ่านให้ลองมาทำเรื่องที่ไม่เคยทำอย่างลุกการวิ่งออกกำลังกาย พิชิตเป้าหมายอะไรง่ายๆ สักอย่าง ไปจนถึงการทำเรื่องที่คิดว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ สำหรับคนคนนั้นเลยก็ได้

7.The Alignment Problem: Machine Learning and Human Values

ผู้เขียน: Brian Christian

สำนักพิมพ์: W. W. Norton & Company

แนะนำโดย: สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

ชวนอ่านเรื่องยากแต่ (น่าจะ) อ่านสนุก

ผู้ติดตาม 101 ทุกคนน่าจะรู้ว่า AI (artificial intelligence) กำลังกลายเป็นสิ่งที่จะมีผลต่อเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ บ้างก็อาจรู้ว่ามีข้อจำกัดมากมาย และคิดว่าจะไม่พึ่งพา AI บ้างก็อาจจะกำลังประมาทว่าอย่างไร AI ก็เป็นได้แค่ตัวช่วย ที่สักพักก็คงเลิกเห่อ และคงไม่มีทางฉลาดกว่ามนุษย์เราไปได้ แต่ใครที่เชื่อ Yuval Harari ก็คงไม่กล้าประมาทอิทธิพลของ AI เพราะ (คนที่พัฒนา AI) อาจมีอำนาจระดับพระเจ้า 

หนังสือที่อยากชวนอ่านพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า the alignment problem 

คำว่า alignment แปลว่า ‘ไปด้วยกันได้’ แต่ผู้เขียนพูดถึงการ ‘ไปด้วยกันไม่ได้’ ระหว่างปัญญาประดิษฐ์กับปัญญามนุษย์ ในระดับที่เรียกว่า values ที่น่าจะแปลเป็นไทยได้ทำนองว่าค่านิยม

Brian Christian ผู้เขียนชี้ว่าในขณะที่เราพยายามทำให้ปัญญาประดิษฐ์ตัดสินใจแทนมนุษย์ได้ โดยไม่ใช่แค่ตอบคำถามหรือเล่นเกมแข่งกับมนุษย์เท่านั้น เราต้องบอกได้ว่า สิ่งที่มนุษย์น่าจะอยากได้คืออะไร แต่เท่าที่ผ่านมาดูเหมือนเราจะบอกยากมากว่าสิ่งที่เราอยากได้ในสถานการณ์ต่างๆ นั้นคืออะไร  เราจึงทำได้แค่ AI ที่ตัดสินใจแทนเราได้ ภายใต้เป้าหมายบางอย่าง 

ไม่นับปัญหาที่รู้กันมาพักใหญ่แล้วสองปัญหาเป็นอย่างน้อย คือการที่ความรู้หรือข้อสรุปของ AI ในเรื่องหนึ่งๆ มาจากการประมวลความจริงโดยใช้หลักสถิติที่มาจากความสัมพันธ์ (correlation) ไม่ใช่เหตุปัจจัยและผลลัพธ์ (causation) กับปัญหา ข้อมูลจำนวนมากไม่อาจเป็น ‘ตัวแทนของความจริง’ (อย่างน้อยก็ในกรณีที่เป็นตัวแทนความหลากหลายในธรรมชาติ) ดังนั้นไม่ว่าจะให้มันมีความสามารถในการเรียนจากข้อมูลด้วยตนเองโดยใช้เทคนิคที่เรียกกันว่า deep learning ก็เป็นการเรียนที่มาจากความรู้ที่มี ‘อคติ’ (bias)

อ่านแล้วทำให้เรียนรู้ว่าความจริงแล้ว สิ่งที่มนุษย์อยากได้หรือใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต อาจซับซ้อนและเปลี่ยนแปลง (ตามบริบท) และน่าจะยากที่มีปัญญาประดิษฐ์ใดมาทำหน้าที่แทน  

ถ้าจะมีก็อาจเป็นเพียงการตัดสินใจหรือการทำกิจกรรมในเรื่องที่ไม่ซับซ้อนมาก และอาจทำนายได้ไม่ยาก แต่เราอยากให้ AI มาทำหน้าที่แทนเราไปเรื่อยๆ หรือเปล่า แล้วชีวิตที่พึ่งแต่ AI จะทำให้สมองของเราฝ่อหรือความเป็นมนุษย์ของเราเปลี่ยนไปแค่ไหน

อ่านแล่วอยากรู้จักคนเขียน พอได้รู้ยิ่งทำให้เรื่องที่เขาพูดดูจริงจัง น่าเป็นห่วง และน่าติดตามว่ามนุษย์จะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อ AI มาอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะวงการแพทย์และสุขภาพ ที่เชื่อกันว่ามันจะมาช่วยแก้ปัญหาความขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุขที่มีจำกัด และเราอาจจำลองสมองของผู้เชี่ยวชาญหรือ วิชาชีพที่เรียนยากๆ มาไว้ในสมองกลที่เรียนรู้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีประสบการณ์ (กรณีตัวอย่าง) มากขึ้นเรื่อยๆ

อยากชวนอ่านจริงๆ เผื่อจะรู้จักดีขึ้น ทั้ง AI และความเป็นมนุษย์ของตัวเราเอง

8.วินนีเดอะพูห์ (Winnie the Pooh)/ บ้านมุมพูห์ (The House at Pooh Corner)

ผู้เขียน: เอ.เอ.มิลน์

ผู้แปล: ธารพายุ

สำนักพิมพ์: แพรวเยาวชน

แนะนำโดย: นรา

ถ้าเรือแตกต้องไปติดอยู่บนเกาะร้าง แล้วมีสิทธิเลือกหนังสือไปอ่านได้ 1 เรื่อง ผมเลือกเรื่องนี้โดยไม่ต้องเสียเวลาคิดมาก ชอบเนื้อเรื่อง ชอบตัวละครทั้งหมด ชอบอารมณ์ขันที่คลื่นตรงกันกับผม ชอบการแปลเป็นไทยที่รักษาอรรถรสในการเล่นกับภาษาถ้อยคำได้อย่างไม่ตกหล่น ชอบภาพประกอบฝีมือ อี.เอช.เชปเพิร์ด

แต่ที่ชอบที่สุดคือมันเป็นหนังสือที่ทำให้มีความสุขทุกครั้งเมื่อได้อ่าน

9.อันนา คาเรนินา 

ผู้เขียน: เลียฟ ตอลสตอย

ผู้แปล: สดใส

สำนักพิมพ์: ยิปซี

แนะนำโดย: ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

นวนิยายเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือคลาสสิกโดยตอลสตอยที่มีคนพูดถึงไม่น้อย วรรคแรกที่เปิดเรื่องให้แก่นวนิยายเรื่องนี้ซึ่งกลายเป็นวรรคทองของผู้อ่านและนักวิจารณ์วรรณกรรมคือ “ครอบครัวที่มีความสุข ล้วนสุขเหมือนๆ กัน แต่ครอบครัวที่มีทุกข์ ย่อมทุกข์ตามวิถีของตน” (Happy families are all alike; every unhappy family is unhappy in its own way) เป็นวรรคที่ติดใจติดความคิดผมมานาน ตอนอ่านเจอครั้งแรกยังไม่ได้อ่านนิยายเรื่องนี้ ภายหลังเมื่อรู้ที่มาจึงลงมืออ่านด้วยความประหลาดใจว่า นี่เป็นแนวเรื่องที่ไม่ใช่แบบตอลสตอยที่เรารู้จักและคุ้นเคย เพราะมันเป็นนวนิยายพื้นๆ ในเรื่องความรัก ครอบครัว และชะตากรรมของตัวละครทั้งหลาย เลยอ่านไม่จบเสียที เพราะยาวมาก 851 หน้าในภาษาไทย หาจุดหมายในการอ่านไม่ได้

คราวนี้ผมหาจุดหมายที่ว่านั้นได้แล้ว ทำไมอันนาถึงต้องฆ่าตัวตาย บอกแค่นี้คงไม่ทำให้นักอ่านหมดความสนุกในการอ่านไป ประเด็นที่ผมตามหาในนวนิยายนี้คือมูลเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่มีส่วนในการผลักดันให้อันนาตัดสินใจกระทำในสิ่งที่ยากที่สุดอันหนึ่งในชีวิตนั่นคือการยุติมัน ว่าไปแล้วลำพังอ่านตอลสตอยคนเดียว ก็คงไม่ทำให้ผมคิดถึงโจทย์นี้ได้ แต่มาจากการคิดอย่างเปรียบเทียบกับนวนิยายอีกเล่มที่เขียนโดยนักเขียนเพื่อชีวิตไทย ‘ศรีบูรพา’ เรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ที่ตอนจบของเรื่องก็คือความตายของนางเอก ตรงนี้เองที่ทำให้ผมสงสัยและเริ่มค้นหาว่าทำไมผู้ประพันธ์ทั้งสองถึงคิดอะไรที่คล้ายกันในการใช้โศกนาฏกรรมมาเป็นคำตอบให้แก่ชีวิตมนุษย์

ตอบอย่างสั้นๆ ในที่นี้ การสร้างจินตนาการถึงด้านลึกแห่งจิตใจของมนุษย์พบว่าการแสดงออกผ่านสตรีเพศให้ความรับรู้และสะเทือนใจได้ดีกว่าบุรุษ ความเป็นหญิงที่คนอื่นและสังคมมีความคาดหวังในแบบฉบับที่แน่นอน ทำให้จุดเด่นของการแสดงออกถึงความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง อันเป็นคุณลักษณะที่ทำให้ตัวตนสมบูรณ์ขึ้น เป็นเรื่องที่ท้าทายและในหลายกรณีเป็นเรื่องแตกหักที่ไม่อาจยอมได้ ทั้ง ม.ร.ว.กีรติและอันนาต่างประสบและผ่านประสบการณ์ด้านลบเหล่านี้มาอย่างเต็มที่ น่าสนใจที่อันนาแสดงออกถึงความเป็นอิสระและเป็นเจ้าของตัวเองทั้งทางกายและใจอย่างเปิดเผยและไม่มีพื้นที่ให้แก่การต่อรอง ไม่ว่าจากมโนสำนึกทางชนชั้นหรือทางสังคม อันนาจึงก้าวสู่การเป็นผู้หญิงเสรีอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องของเพศสัมพันธ์ เมื่อเธอตระหนักว่าหลงรักเคาต์วรอนสกี้ นายทหารม้าหนุ่ม ขณะนั้นเธอมีสามีแล้ว เป็นข้าราชการอาวุโสและมีลูกหนึ่งคน แต่เมื่อพบวรอนสกี้ทุกอย่างก็หมดสิ้นความหมายไป

สำหรับอันนา ความรักเป็นจุดหมายใหญ่ที่บันดาลทุกอย่างในปัจจุบัน เป็นเสมือนพลังขับเคลื่อนให้วิญญาณของเธอไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริงได้ เธอต้องการอยู่กับความจริง มีชีวิตจิตใจ เธอกล่าวว่าพระเจ้าสร้างเธอเพื่อให้ได้รัก ได้มีชีวิต ทำให้เธอตัดสินใจในเวลาไม่นานเพื่อบอกความจริงแก่สามีว่า บัดนี้เธอมีความรักกับวรอนสกี้แล้ว และต้องการอยู่กับเขาอย่างจริงจัง 

คนอ่านรู้จักและซึมซับความเป็นคนหัวใหม่ของอันนาจากความสัมพันธ์ของเธอกับคนรอบข้างสำคัญๆ เช่นสามีและคนรัก และกับคนรอบตัวรองต่อไปเช่นเลวินและภรรยา ทุกคนล้วนต้องคิดและทำความเข้าใจในตัวอันนาเพื่อสามารถจัดวางปฏิสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับเธอได้ ความลำบากและยอกย้อนที่ปรากฏในผู้คนที่เวียนว่ายรอบๆ อันนากลายเป็นประจักษ์พยานของความเป็นตัวตนของอันนา นอกจากผ่านคำพูดและการกระทำของเธอซึ่งเป็นเจ้าของวาทกรรมทั้งหมดนี้ 

ตามท้องเรื่องอันนาต้องการชนะวรอนสกี้ที่คลายความรักในเธอลงไปด้วยความตาย กระนั้นก็ตามหากอ่านตอลสตอยทั้งหมดในเล่มนี้ ความตายของอันนาอาจไม่ใช่เป็นเพียงการตัดสินใจของคนคนเดียว แต่เป็นนัยถึงอนาคตของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในรัสเซียด้วยว่า หากความปรารถนาในความเปลี่ยนแปลงของประชาชนไม่อาจเป็นจริงได้ ความตายก็อาจเป็นคำตอบต่ออนาคตที่ไม่แน่นอนได้ ดังที่ความบังเอิญในจุดเริ่มต้นของความรัก ถูกทำให้กลายเป็นความแน่นอน ทั้งอันนาและคู่รักได้เปลี่ยนแปลงท่ามกลางการเติบใหญ่ของโลกสมัยใหม่ ที่ทำให้ความแน่นอนในที่สุดกลับกลายมาเป็นความไม่แน่นอนอีก

10.ปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังแขวนคอ: ชีวิตและการลี้ภัยในยุคสมบูรณาญาสิทธิ์ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์

ผู้เขียน : ทามารา ลูส

ผู้แปล : ไอดา อรุณวงศ์

สำนักพิมพ์: อ่าน

แนะนำโดย : นริศ จรัสจรรยาวงศ์

‘ปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังแขวนคอ’ เป็นหนังสือดีที่สุดที่เล่าถึงชีวิตของเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความสามารถองค์สำคัญและครองชีวิตยืนยาวถึง 83 ปี ผ่าน 5 แผ่นดิน นับจากการประสูติกาลเมื่อปีแรกของรัชกาลที่ 4 กระทั่งสิ้นพระชนม์หลังรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติไม่ถึงเดือน จบการศึกษาชั้นสูงด้านวิศวกรรมจากประเทศอังกฤษ รับราชการในตำแหน่งสำคัญๆ จนเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 5 แต่ด้วยเหตุขัดแย้งบางประการภายในราชสำนักถึงกับจำต้องเนรเทศตนเองออกจากราชอาณาจักร และออกผนวชเป็นพระภิกษุในประเทศลังกาก่อนกลับมาใช้ชีวิต 20 ปีสุดท้ายในบ้านเกิด 

ทามารา ลูส ประพันธ์หนังสือเล่มนี้พิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกที่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยคอร์เนลเมื่อปี 2559 และ มิ่งมิตรของเธอ ไอดา อรุณวงศ์ จัดแปลเป็นภาษาไทยสำเร็จ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่านเมื่อปี 2565 

ถึงแม้จะเป็นงานวิชาการที่อุดมไปด้วยเชิงอรรถและบรรณานุกรมหายากจำนวนมากจากเอกสารทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงดัชนีค้นคำที่อำนวยความสะดวก แต่การดำเนินเรื่องในหนังสือเล่มก็ทำให้ผู้อ่านบันเทิงถึงกับวางไม่ลงในระดับที่สามารถอ่านรวดเดียวจบได้ประหนึ่งนวนิยายชั้นเลิศ ยิ่งเมื่อได้รับการแปลจากนักวรรณกรรมมือฉมัง ฉบับพากย์ภาษาไทยยิ่งเพิ่มอรรถรสและเพิ่มคุณค่าให้กับหนังสือเล่มนี้เป็นกำลังทวี ลำพังคำนำใหม่ที่ผู้เขียนบรรจงบันทึกให้ฉบับแปลไทยนี้ก็นับวิเศษนัก 

หนึ่งในประโยคสำคัญที่เจ้าของผลงานกล่าวถึงผู้แปลไว้ คือ “ไอดาก็ได้มุมานะจนสำเร็จเป็นงานแปลที่ประณีตและสง่างาม” และว่า “ในระหว่างกระบวนการแปลนี้เองที่ได้มีการพบข้อผิดพลาดต่างๆ ในฉบับภาษาอังกฤษของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะแก้ไขต่อไปหากมีการตีพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษครั้งใหม่” นี้คือหนังสือที่ครองใจอันดับหนึ่งประจำปี 2565

11.Charles Dickens and the House of Fallen Women

ผู้เขียน: Jenny Hartley

สำนักพิมพ์: Methuen Publishing

แนะนำโดย: สมชัย สุวรรณบรรณ

หนังสือ non-fiction ของศาสตราจารย์เจนนี ฮาร์ตลี (Jenny Hartley) เป็นผลงานการศึกษาค้นคว้าบทบาทของชาร์ลส์ ดิกเกนส์ในฐานะผู้ก่อตั้งบ้าน Urania Cottage ในชานกรุงลอนดอนทางด้านทิศตะวันตกเพื่อเป็นที่รองรับนักโทษหญิงที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำให้เข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอบรมฝึกฝนทักษะเป็นแม่บ้าน งานครัว งานเย็บปักถักร้อย และสวนครัว แล้วทยอยส่งอดีต ‘คนคุก’ เหล่านี้ให้ไปตั้งต้นชีวิตใหม่ในดินแดนอาณานิคมเช่น ออสเตรเลีย แคนาดา แอฟริกาใต้ โดยทิ้งเบื้องหลังและประวัติอาชญากรรมไว้ในอังกฤษ มีทักษะการดำเนินชีวิตและได้ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างไร้มลทิน

ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ เป็นนักเขียนนวนิยายที่เจาะถึงแก่นสภาพสังคมในอังกฤษในยุคสมัยที่จักรวรรดิอังกฤษยึดครองดินแดนต่างๆ ไปทั่วโลก สร้างความมั่งคั่งให้กับตระกูลขุนนางใหญ่ๆ แต่ในทางตรงข้าม สังคมชาวบ้านชนชั้นล่างในแผ่นดินอังกฤษอยู่ในสภาพอดอยากแร้นแค้นภายใต้โครงสร้างระบบชนชั้นที่เอารัดเอาเปรียบอย่างโหดร้ายในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก

ในเวลาต่อมา วรรณกรรมของเขามีพลังที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ ผลักดันการปฏิรูปสังคมและมีส่วนในการสร้างค่านิยมเอื้ออาทรจนเกิดแนวคิดสวัสดิการของสังคมในเวลาต่อมา จึงเรียกได้ว่าชาร์ลส์ ดิกเกนส์เป็น social reformer คนหนึ่ง

งานวิจัยของศาสตราจารย์เจนนี ฮาร์ตลี ทำให้เห็นว่าชาร์ลส์ ดิกเกนส์ได้วัตถุดิบมากมายจากประวัติชีวิตอันลำเค็ญของบรรดาอดีตนักโทษหญิงเหล่านั้น นำมาเป็นตัวละครในนวนิยายของเขาและเขาใช้ชื่อเสียงความที่เป็นนักเขียนขายดีไปชักชวนมหาเศรษฐีในยุคนั้นให้ส่งเงินช่วยโครงการตัวอย่าง Urania Cottage ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดโครงการแบบเอ็นจีโอในเวลาต่อมา

12.ความจริงไม่ได้มีหนึ่งเดียว

ผู้เขียน: นิ้วกลม

สำนักพิมพ์: KOOB

แนะนำโดย: นำชัย ชีววิวรรธน์

หนังสือเล่มนี้มีจุดเด่นอยู่ที่การนำผู้อ่านไปสำรวจความแตกต่างระหว่างเราแต่ละคนด้วยภาษาที่เรียบง่ายแต่มีพลัง หนังสือให้ข้อมูลกับเราว่าอะไรทำให้เราแต่ละคนแตกต่างกัน ทั้งความแตกต่างภายนอกที่เห็นได้ง่าย ไม่ว่าความอ้วนหรือความผอม ไปจนถึงอุปนิสัยอย่างขี้เหงาหรือรักความอิสระ โปรดความเป็นโสด และคุณลักษณะประจำตัวต่างๆ เช่น คอทองแดงหรือคอแป้บ (เดียว) ฯลฯ เรื่องทั้งหลายเหล่านั้นมีรากฐานมาจากอะไรกันแน่ 

ไม่แต่เพียงเท่านั้น ‘นิ้วกลม’ ยังไม่ลืมสำรวจถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมต่อการกำหนด ‘ความคิด’ ซึ่งนำไปสู่ ‘ความจริง’ ในโลกของแต่ละคน และอาจถึงกับทำให้คนเราคล้ายกันหรือแตกต่างกัน รักชอบกันหรือเกลียดชังกัน และปฏิบัติต่อคนอื่น โดยเผลอคิดไปว่า ‘พวกเรา’ ฉลาดหรือเหนือกว่าผู้อื่น ไม่ว่าจะเหนือสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หรือแม้แต่คนกลุ่มอื่น เผ่าพันธุ์อื่น เชื้อชาติอื่น และสุดท้าย มนุษย์เราเป็นคนดี มีเมตตา อยากช่วยเหลือคนอื่นมาแต่เกิด หรือตรงกันข้าม เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชั่วร้าย เอารัดเอาเปรียบ และพร้อมทำร้ายทำลายกัน เพราะทุกคนล้วนแล้วแต่ถือเอาตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล จึงต้องมีวัฒนธรรมและกฎหมายที่เข้มงวดคอยกำกับ 

และที่สำคัญที่สุด เราอาจเห็นคำตอบอยู่ที่ปลายอุโมงค์ว่า ควรใช้ชีวิตอย่างไรในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงดังทุกวันนี้ ศาสนายังมีความจำเป็นหรือไม่ และอันที่จริงคนยุคนี้ควรมี ‘อุดมคติ’ ในชีวิตเช่นไร ซึ่งทั้งหมดที่ว่าอาจเริ่มจากการตระหนักง่ายๆ ว่า ‘ความจริงไม่ได้มีหนึ่งเดียว’ ดังชื่อหนังสือเล่มนี้นั่นเอง  

13.The House of Gucci: A Sensational Story of Murder, Madness, Glamour, and Greed

ผู้เขียน: Sarah Gay Forden

สำนักพิมพ์: Custom House

แนะนำโดย: ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์

ปลายปี 2021 ได้ดูหนังเรื่อง House of Gucci เล่าถึงฆาตกรรมผู้บริหารแบรนด์แฟชั่น ซึ่งมีสาเหตุจากการชิงรักหักสวาทและอื่นๆ จากนั้นไม่นานก็มีคนใจดีมอบหนังสือ House of Gucci ให้แทนของขวัญปีใหม่ หนังสืออยู่บนโต๊ะหัวเตียงนานเป็นเดือนอยู่ (ห้าร้อยหน้านิดๆ) ปกติชอบการอ่านเรื่องจริงมากกว่าเรื่องแต่งอยู่แล้ว นับถือการค้นข้อมูลด้วยสารพัดวิธี (สัมภาษณ์คนเป็นร้อย เอกสารต่างๆ นานา) เพื่อได้วัตถุดิบมาเขียนถึงความรักหักเหลี่ยมโหด และอุตสาหกรรมแฟชั่นในมิลานในยุค 80 และ 90 และก่อนหน้านั้น 

นอกจากนั้นยังมีเรื่องการทำธุรกิจเสื้อผ้า เรื่องราวของตระกูลกุชชีและแปตทริเซีย เรจจิอานี-กุชชี (Patrizia Reggian-Gucci) ผู้ที่เชื่อว่าเป็นคนสั่งฆ่าสามี (หากดูหนังซึ่งเอามาสร้าง 20 ปีหลังหนังสือวางแผง ก็คงรู้เรื่องหมดแล้ว) เขียนสนุกมาก เล่ากันเป็นฉากๆ เห็นภาพ ให้ความรู้สึก ราวกับนิยาย หรือราวกับคนเขียนไปนั่งอยู่ตรงนั้น ซาราห์ เกย์ ฟอร์เดนเป็นนักข่าวสายแฟชั่นมาก่อน (นิตยสาร WWD ที่สำนักงานมิลาน) ใช้เวลาหลายปีค้นคว้าจนออกมาเป็นหนังสือ เราจะใช้เวลาอ่านนานหน่อย นางคงไม่ว่าอะไร

14.“แม่ง โคตรโฟนี่เลย” 

ผู้เขียน: ไอดา อรุณวงศ์

สำนักพิมพ์: Bookscape
แนะนำโดย: วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

แค่อ่านบทแรกของหนังสือ ผมก็เดินมาเปิดคอมพ์ฯ พิมพ์อย่างไม่ลังเล ส่งเรื่องนี้มาให้ ‘ความน่าจะอ่าน’ แนะนำสำหรับคนที่อยากเล่นกระดานโต้คลื่นหรือกระโดดบันจีจัมป์ แต่ยังไม่มีแรงเดินทาง เพราะภาษาและเรื่องราวในหนังสือให้ความรู้สึกวูบวาบ ตื่นเต้น สั่นไหวไม่แพ้กัน ชอบที่ผู้เขียนอธิบายประเด็นในแวดวงวรรณกรรมเพิ่มเติมให้คนนอกวงการพอจะเข้าใจได้ด้วย อ่านร่วมกับ ‘ไกลกะลา’ และ ‘ปฤษฎางค์’ ยิ่งเพิ่มอรรถรส

15.Mission Economy: A Moonshot Guide to Changing Capitalism 

ผู้เขียน: Mariana Mazzucato

สำนักพิมพ์: Penguin Books
แนะนำโดย: รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

เศรษฐศาสตร์กระแสหลักสอนให้เราเกลียดองค์กรภาครัฐเพราะความเทอะทะและไร้ประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเสนอให้มีการจำกัดบทบาทของภาครัฐให้เหลือเพียง ‘อำนวยความสะดวก’ ภาคเอกชนพร้อมทั้งตามปะชุนปัญหาความล้มเหลวของตลาด (market failure)

นักเศรษฐศาสตร์ผู้บูชาตลาดไปไกลกว่านั้น พวกเขาเสนอว่าความจริงแล้วรัฐอาจไม่ต้องตามแก้ไขความล้มเหลวของตลาดด้วยซ้ำ เพราะนโยบายภาครัฐอาจนำมาซึ่งความล้มเหลวของรัฐ (government failure) ที่อาจเลวร้ายกว่าการปล่อยให้ตลาดทำงานไปแบบพังๆ โดยไม่เข้าไปแทรกแซง

แต่หนังสือเล่มนี้เสนอแนวคิดที่แทบจะตรงข้ามกับสองย่อหน้าข้างต้นอย่างสิ้นเชิง มารีอานา แมซซูคาโต อาจารย์จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนชวนเราไปสำรวจความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ในอดีตที่มีรัฐบาลเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักนั่นคือการส่งมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์ หรือโครงการอพอลโล พร้อมกับข้อเสนอที่ว่ารัฐคือผู้เล่นสำคัญที่สามารถสร้าง ‘คุณค่า’ ในระบบเศรษฐกิจอย่างมหาศาลในฐานะผู้ประสานงานของแต่ละฝ่าย กำหนดทิศทางของเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม

เชื่อไหมครับว่าสารพัดนวัตกรรมที่เราพึ่งพาในปัจจุบันไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากปราศจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายอินเทอร์เน็ตหรือคอมพิวเตอร์ขนาดกะทัดรัด แมซซูคาโตมองว่ารัฐบาลสามารถมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้โดยต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดจากผู้ตามล้างตามเช็ดภาคเอกชน สู่ผู้นำที่คอยกำหนดว่าเศรษฐกิจควรจะมุ่งหน้าไปยังทิศทางใดผ่าน กฎเกณฑ์ กรอบนโยบาย และงบประมาณมหาศาลในมือ

16.รวมเรื่องสั้นสิงคโปร์ Ministry of Moral Panic 

ผู้เขียน: Amanda Lee Koe 

สำนักพิมพ์: Epigram Books 

แนะนำโดย: ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง

นานมาแล้วในยุคอาณานิคม เด็กหญิงชาวดัตช์ผู้พรากจากครอบครัวเผยความในใจเรื่องการเติบโตในครอบครัวมุสลิมจนเกิดคดีฟ้องร้องที่สิงคโปร์ภายใต้อังกฤษจนนำสู่การจลาจลตาย 18 ศพ เวลาผ่านไปถึงทศวรรษ 1960 ประเทศใหม่ชื่อสิงคโปร์ก็ถือกำเนิด  ไม่นานความรักระหว่างนักดนตรีหนุ่มมลายูกับหมวยวัย 18 ลูกสาวเจ้าของผับ Flamingo Valley ก็ผลิบานแต่ต้องลาจากอย่างแสนจะเจ็บปวด แต่ 50 ปีให้หลัง รักที่คล้ายจะเลือนหายเหมือนความทรงจำทางประวัติศาสตร์เก่าๆ ที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้รับรู้  ก็คืนชีพขึ้นมาอีกครั้งเพื่อจะจบลงอย่างหัวใจสลายซ้ำสอง  

ความรื่นรมย์ของยุค 60 จากไป ยุคใหม่ของความเคร่งเครียดจากการแข่งขันก็เข้ามาแทน ที่ตึกสำนักงานแห่งหนึ่ง สาวออฟฟิศใจเหงาทุ่มทุนซื้อรักจากหนุ่มแรงงานอพยพลูกจ้างร้านข้าวจนหมดหน้าตัก  ในยุคเดียวกันศิลปินหนุ่มใหญ่ปรารถนาใช้ความเจ็บปวดสร้างผลงานที่โลกไม่ลืม แต่กลับลงเอยด้วยการตกเป็นเหยื่อเสียเอง  

ลีลาการเล่าเรื่องเรื่องราวชีวิตบนเกาะสิงคโปร์หลายยุคที่โรแมนติก ท้าทายทางศีลธรรมและวัฒนธรรม และหลายครั้งหักมุมอย่างไร้ความปราณีผ่านเรื่องสั้น 14 เรื่อง ของ Amanda Lee Koe นักเขียนหญิงชาวสิงคโปร์ ทำให้หนังสือรวมเรื่องสั้น Ministry of Moral Panic ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นงานวรรณกรรมสำหรับผู้ประสงค์จะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อนของสังคมสิงคโปร์ที่ลึกซึ้งกว่าเปลือกนอกของความเป็นสมัยใหม่ที่ปรากฏอยู่ทั่วไป เหมาะสำหรับผู้แสวงหาความรู้คู่ความสุนทรีที่งานวรรณกรรมดีๆ สามารถให้ได้ 

ทั้งนี้หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลด้านวรรณกรรม Singapore Literature Prize for English Fiction (2014) และ Singapore Book Award for Fiction (2016)

17.ให้คนดีปกครองบ้านเมือง: การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย

ผู้เขียน: ประจักษ์ ก้องกีรติ

สำนักพิมพ์: ฟ้าเดียวกัน

แนะนำโดย: สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

เคยถามหลายคนว่าทำไมจึงเข้าร่วมกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในการประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรระหว่างปี 2556-2557 มักจะได้คำตอบเดียวว่า ไม่ต้องการให้คนในตระกูลชินวัตรมีอำนาจทางการเมืองอีกต่อไป บางคนก็ว่าไม่ต้องการอยู่ร่วมโลกกับคนตระกูลนี้และเหล่าบริวารของพวกเขาด้วยซ้ำไป แต่เมื่ออ่านหนังสือเล่มใหม่ของนักรัฐศาสตร์นามอุโฆษ ประจักษ์ ก้องกีรติ เรื่อง ‘ให้คนดีปกครองบ้านเมือง: การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย’ จะได้คำตอบมากกว่านั้นว่า จริงๆ แล้วพวกเขาต้องการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารในปี 2557 เพื่อสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้กับระบอบอภิชนาธิปไตย ด้วยวิธีการแบบอนารยะขัดขืน เหนือกฎหมาย ลดทอนความเป็นมนุษย์ผู้อื่นๆ เหยียดเพศ เหยียดชนชั้น ใช้ความรุนแรงเชิงศีลธรรม พร้อมๆ กับการทำลายประชาธิปไตย 

หนังสือเล่มนี้ช่วยรื้อถอน ‘วาทกรรมคนดี’ และอธิบายความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันและอาจจะต่อเนื่องไปในอนาคตในกรณีที่คนดีหรืออภิชนทั้งหลายเกิดแพ้เลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในปี 2566   

18.Mission Economy: A Moonshot Guide to Changing Capitalism 

ผู้เขียน: Mariana Mazzucato

สำนักพิมพ์: Penguin Books
แนะนำโดย: แบ๊งค์ งามอรุณโชติ

หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยการเตือนพวกเราว่า “ทุนนิยมกำลังก้าวเข้าสู่วิกฤตระดับโครงสร้าง” เช่น การจ้างงานที่เปราะบาง การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำ กลุ่มทุนและภาคการเงินที่มุ่งผลกำไรระยะสั้นในอุตสาหกรรมแคบ ๆ และการแปรปรวนของสิ่งแวดล้อมระดับโลก เป็นต้น

ปัญหาเหล่านี้ไม่อาจแก้ไขได้ด้วย ‘กลไกตลาด’ เท่านั้น หนังสือเล่มนี้เสนอว่ารัฐเป็นพลังสำคัญที่ต้องเข้ามาร่วมในการแก้ปัญหาอย่างแข็งขัน มากไปกว่าแค่ “การช่วยให้ตลาดทำงานได้ดีขึ้นแล้วถอยออกไป”

…รัฐทำได้มากกว่านั้นหากมีจินตนาการและวิธีการใหม่

จินตนาการและวิธีการใหม่ที่หนังสือเล่มนี้เสนอ คือการพัฒนาแบบ ‘มุ่งพันธกิจซึ่งมีความหมาย’ (Mission-oriented approach) มัซซูคาโตขยายความต่อว่าการคิดแบบมุ่งพันธกิจไม่ใช่เรื่องใหม่ ลองนึกถึงการคิดแบบสร้างอาสนวิหาร (Cathedral thinking) ในยุโรปยุคกลางดูจะเข้าใจ 

เมื่อผู้คนรวมตัวกันสร้างอาสนวิหารเพื่อพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาต้องระดมคนจากหลากหลายสาขา ทั้งพระ พ่อค้า วิศวกร ศิลปิน ฯลฯ เข้ามาร่วมมือกัน งบประมาณที่สูง ระยะเวลาที่ทอดยาวออกไป และความไม่แน่นอน ถึงแม้จะเสี่ยงแต่พวกเขาก็พร้อมจะร่วมมือฝ่าฟันทำจนสำเร็จ เพราะมีสำนึกร่วมกันว่าสิ่งนี้เป็นพันธกิจอันยิ่งใหญ่และมีความหมาย 

เพื่อให้รัฐสามารถจะคิดแบบมุ่งพันธกิจได้ หนังสือเล่มนี้จึงรื้อสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบทบาทภาครัฐ (บทที่ 3) และให้กรณีศึกษาและแนวปฏิบัติต่อการที่รัฐจะแสดงบทบาทเชิงรุกในแบบมุ่งเน้นพันธกิจ (บทที่ 4-6) 

หนังสือเล่มนี้นำประเด็นบทบาทภาครัฐต่อการพัฒนากลับมาถกเถียงอีกครั้ง ในบริบทของโลกตะวันตก (หลังจากที่บทบาทนำของภาครัฐถูกมองเป็นลายเซ็นของรัฐพัฒนาทางฝั่งเอเชียตะวันออกเพียงลำพัง) และเสนอว่า “การจะเปลี่ยนทุนนิยมต้องเปลี่ยนรัฐด้วย” และ “รัฐกับตลาดหาใช่คู่ตรงข้าม หากแต่เป็นสหายร่วมรบ” ในการบรรลุพันธกิจที่มีความหมายต่อโลกของเรา

หนังสือเล่มนี้จึงมีคุณูปการต่อการขับเคลื่อนนโยบายจริงๆ และดีเบตทางทฤษฎี (ว่าด้วยบทบาทภาครัฐต่อการพัฒนาและสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐและตลาด) จึงมีค่าควรอ่านและคิดตาม

19.The Last Heroes: Foot Soldiers of Indian Freedom 

ผู้เขียน: P. Sainath 

สำนักพิมพ์ Penguin Books

แนะนำโดย: ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก 

เวลาเรากล่าวถึงประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวตัวผู้นำหรือบุคคลเด่นๆ ในช่วงเวลานั้นๆ ส่งผลให้บางครั้งเกิดช่องว่างทางความเข้าใจ รวมถึงบทบาทขององคาพยพอื่นๆ ที่มีส่วนสร้างปรากฎการณ์ทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้น หนังสือที่ผมแนะนำในครั้งนี้เป็นเรื่องราวการเขียนประวัติศาสตร์ผ่านบทสัมภาษณ์คนธรรมดาสามารถที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในประเทศอินเดีย และมีส่วนสำคัญต่อการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ

หนังสือเล่มนี้ไม่มีการจัดโครงร่างอย่างเป็นระบบ ไม่มีบทเกริ่นนำ หรือไล่เรียงเรื่องราวเป็นเส้นประวัติศาสตร์ ไม่มีการระบุเวลาที่ชัดเจนมากมายอะไรนัก แต่กลับเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกและทัศนคติ รวมถึงมุมมองที่หลากหลายจากบุคคลธรรมดาในช่วงประวัติศาสตร์การเรียกร้องเอกราชของอินเดีย ที่สำคัญความหลากหลายทางด้านชาติพันธ์ุ ภาษา วัฒนธรรม ตลอดจนชนชั้น วรรณะ ทำให้เราเห็นชัดเจนถึงการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประชาชนคนธรรมดาที่ไม่ได้ต่างไปจากกลุ่มชนชั้นนำที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ทางการของประเทศอินเดีย หนังสือเล่มนี้จึงเป็นอีกเล่มที่ผมอยากแนะนำให้ทุกคนลองหยิบขึ้นมาอ่านในปี 2023 ที่จะถึงนี้

20.Fighting for Virtue: Justice and Politics in Thailand  

ผู้เขียน: Duncan McCargo

สำนักพิมพ์: Cornell University Press

แนะนำโดย: มุนินทร์ พงศาปาน

หนังสือภาษาอังกฤษเล่มนี้นำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายตุลาการและสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้จะเป็นเรื่องที่คนไทยจำนวนมากอาจเคยผ่านหูผ่านตามาบ้างแล้ว แต่ข้อมูลที่ถูกนำเสนอในหนังสือเล่มนี้มาจากการศึกษาวิจัยที่เข้มข้นและลุ่มลึก และยังได้นำเสนอแง่มุมทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่น่าสนใจ ผู้เขียนพยายามสืบสาวแนวคิดอนุรักษ์และความผูกพันกับพระมหากษัตริย์ของฝ่ายตุลาการว่าพัฒนาขึ้นได้อย่างไร โดยเจาะลึกกระบวนการคัดเลือก อบรม การเลื่อนตำแหน่ง และวิถีชีวิตของผู้พิพากษา 

หนังสือไม่ได้เหมาะกับเฉพาะผู้ที่ทำงานวิชาการทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยาเท่านั้น แต่ผู้อ่านทั่วไปก็สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย อย่างไรก็ดี กลุ่มคนที่ควรอ่านที่สุดน่าจะเป็นผู้พิพากษาและคนที่คิดจะเป็นผู้พิพากษา หนังสือเล่มนี้จะเป็นกระจกที่สะท้อนสิ่งที่คนนอกมองเห็นผู้พิพากษาไทยในปัจจุบันได้ชัดเจนที่สุดอีกบานหนึ่ง

21.Thailand’s Political History From the 13th Century to Recent Times

ผู้เขียน: Barend Jan Terwiel

สำนักพิมพ์: River Books

แนะนำโดย: เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

ช่วงที่ผ่านมามีการถกเถียงเรื่องนโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่ให้สอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยเพิ่มเติม จึงอยากจะแนะนำ Thailand’s Political History From the 13th Century to Recent Times ของ Barend Jan Terwiel 

ประวัติศาสตร์ก็เหมือนกับอาหารหรือดนตรี ที่อาหารจานเดียวกันหรือดนตรีท่อนเดียวกัน อาจถูกพ่อครัวหรือวาทยากรหยิบขึ้นมาตีความตามจริตของแต่ละคนจนเกิดความหลากหลายไม่รู้จบ ในเล่มนี้ Terwiel หยิบประวัติศาสตร์ไทยที่เราทุกคนคุ้นชินกันดีมานำเสนอผ่านมุมมองของตนเอง ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์กว่าประวัติศาสตร์จานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ 

Terwiel เล่าประวัติศาสตร์ไทยได้อย่างเป็นระบบ ออกไปนอกกรอบพงศาวดาร ซึ่งเน้นแต่กษัตริย์และชนนั้นนำไม่กี่คน โดยแนะนำตัวละครอื่นๆ และเอาไทยไปเชื่อมกับบริบทของโลกและภูมิภาค สนับสนุนโดยหลักฐานจำนวนมากนอกพงศาวดาร เช่น เอกสารการค้าของชาวยุโรปในสมัยนั้นๆ หนังสือเล่มนี้จึงประเมินความสำเร็จและล้มเหลวของตัวละครในประวัติศาสตร์ไทยด้วยรสชาติที่ ‘กลมกล่อม’ และแปลกใหม่กว่าความจำเจที่เยาวชนไทยอาจจะต้องเผชิญกันอยู่ทุกวันและตลอดไป 

หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นตัวอย่างอันดีของการชวนตั้งคำถามว่า วิชาประวัติศาสตร์คืออะไรกันแน่ และเรามีวิธีการอื่นในการศึกษาประวัติศาสตร์อันแสนจะจำเจได้หรือไม่

22.Confucius Analects: With Selections from Traditional Commentaries 

ผู้แปลและเรียบเรียง: Edward Slingerland 

สำนักพิมพ์: Hackett Publishing

แนะนำโดย : อติเทพ ไชยสิทธิ์

เมื่อเอ่ยถึงขงจื่อ อาจมีคำถามว่าขงจื่อและคำสอนของเขายังมีความสำคัญกับโลกในศตวรรษที่ 21 อยู่อีกหรือไม่? บ้างอาจถามว่าการพูดถึงค่านิยมแบบขงจื่อ อย่างมนุษยธรรม ธรรมเนียม ความถูกต้อง ฯลฯ จะสู้การเอาเวลาไปพูดถึงเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยกำลังขาดแคลนไม่ดีกว่าหรือ?

คำวิจารณ์เหล่านี้มีเหตุผล และเมื่อพิจารณาว่าคุณธรรม จริยธรรม และความดีถูกผูกขาดเป็นเครื่องมือของฝ่ายอนุรักษนิยมในความขัดแย้งทางการเมืองอันยาวนานนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 การพูดถึงคุณธรรมจรรยาในยุคสมัยนี้จึงอาจกลายเป็นการประกาศเลือกข้างทางการเมืองไปเสียแล้ว แต่ในขณะเดียวกันหากเราคิดว่าสังคมไทยก็เคยชินกับนิยามของคุณธรรม จริยธรรม และความดีของ ‘ศาสนาพุทธแบบไทยๆ’ มาเป็นเวลาช้านาน การเปิดมุมมองเกี่ยวกับคุณค่าทางคุณธรรมในรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะจากโลกตะวันตกหรือโลกตะวันออกก็อาจช่วยท้าทายความหมายแบบไทยๆ ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยยึดถือว่าถูกต้องก็เป็นได้

ถึงแม้ค่านิยมขงจื่อจะให้ความสำคัญกับคุณธรรมและจริยธรรมเป็นหลักแต่ยังมีความคิดขงจื่อในอีกหลายแง่มุมที่สังคมไทยไม่คุ้นชิน ยกตัวอย่างเช่น ความกตัญญูแบบขงจื่อที่ให้ความสำคัญกับการทัดทานผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือแม้กระทั่งพ่อแม่ การให้ความสำคัญกับความรู้สึกผิดจากการกระทำผิดมากกว่าการลงโทษด้วยกฎหมาย รวมทั้งการกลับมาของแนวคิดแบบขงจื่อในศตวรรษที่ 21 เช่น แนวคิดขงจื่อแผนใหม่ (New Confucianism) ในสหรัฐอเมริกาที่ผสานแนวคิดบางส่วนของเสรีนิยม (liberalism) เข้ากับคำสอนขงจื่อ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจะเข้าใจค่านิยมแบบขงจื่อในแง่มุมต่างๆ ได้ก็ควรจะย้อนกลับไปอ่านหนังสืออันเป็นรากเหง้าของคำสอนขงจื่อเสียก่อน นั่นก็คือ ‘หลุนวอี่’

หลุนอวี่ (論語) คือ ‘หนังสือ’ รวบรวมบทสนทนาระหว่างขงจื่อและสานุศิษย์ของเขา และคำว่า ‘หลุนอวี่’ ในภาษาจีนก็มีความหมายที่ตรงไปตรงมาว่า ‘รวมบทสนทนา’ นั่นเอง ที่ผู้เขียนเน้นคำว่า ‘หนังสือ’ เป็นพิเศษก็เพราะหลุนอวี่ไม่ใช่หนังสือในความหมายสมัยใหม่ที่มีการเขียนครั้งหนึ่งแล้วก็ตีพิมพ์ออกมาเป็นฉบับตีพิมพ์ครั้งนั้นๆ ไป แต่หลุนอวี่ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันเกิดจากการรวบรวมบทสนทนาระหว่างขงจื่อและสานุศิษย์ที่กระจัดกระจายเข้าเป็นหมวดหมู่ บางครั้งในหมวดหมู่หนึ่งๆ อาจจะเป็นการรวบรวมเนื้อหาที่ไม่เข้าพวกและจัดพวกไม่ได้เข้าด้วยกัน ด้วยเหตุนี้เอง การอ่านหลุนอวี่ที่ดีจึงควรเป็นการอ่านไปพร้อมกับอรรถาธิบายที่ช่วยชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างข้อความในบทหนึ่งกับอีกบทหนึ่งที่ไกลออกไป ยังไม่นับว่าหลุนอวี่เขียนขึ้นด้วยภาษาจีนโบราณและมีการอ้างอิงถึงแนวคิดหรือบริบททางประวัติศาสตร์ที่มักไม่ได้มีการระบุอย่างตรงไปตรงมาเช่นในหนังสือยุคปัจจุบัน อรรถาธิบายจึงอาจช่วยทำให้เราเข้าใจความหมายของข้อความที่คลุมเครือได้ดียิ่งขึ้น

เอ็ดเวิร์ด สลิงเกอร์แลนด์ทำหน้าที่รวบรวมอรรถาธิบายของปัญญาชนจีนยุคโบราณและอธิบายเสริมส่วนที่ขาดบริบทให้ชัดเจนยิ่งขึ้นได้อย่างดี ผู้เขียนเชื่อว่าหลุนอวี่เป็นหนึ่งในหนังสือที่ควรอ่านและน่าอ่านในปี 2566 อย่างแน่นอน

สวัสดีปีใหม่ 2566 ครับ

23.วารสาร Southeast of Now: Directions in Contemporary and Modern Art in Asia

แนะนำโดย: ธนาวิ โชติประดิษฐ

ปลายปี 2557 นักเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ ภัณฑารักษ์ และศิลปินกลุ่มหนึ่งเริ่มพูดคุยกันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการทำวารสารวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและวัฒนธรรมทางสายตา ที่ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ยุคสมัยใหม่ถึงร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้เขียนถูกชวนเข้ามาโดยเพื่อนชาวมาเลเซียที่ในขณะนั้นกำลังทำปริญญาเอกอยู่ที่ซิดนีย์ 

ตอบตกลงไปอย่างง่ายๆ ด้วยเหตุผลว่า “อยากรู้ว่าคนอื่นเขียนอะไรกัน” 

สำหรับประวัติศาสตร์ศิลปะอันเป็นศาสตร์ที่ลงหลักปักฐานอยู่ในโลกตะวันตกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 งานวิชาการเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอะไรที่มีอายุน้อยกว่ากันมาก ในโลกประวัติศาสตร์ศิลปะนั้น เมื่อกล่าวถึงอาณาบริเวณที่ ‘ไม่ใช่ตะวันตก’ ก็มักหมายถึงศิลปะ ‘ก่อนสมัยใหม่’ อันได้แก่ ศิลปกรรมและสิ่งก่อสร้างจากอาณาจักรหรืออารยธรรมโบราณ งานเขียนเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นประหนึ่ง ‘ติ่ง’ ที่มักจะต้องไปห้อยติดอยู่ในวารสารในกลุ่มอาณาบริเวณศึกษา เราไม่มีพื้นที่ของตัวเอง 

วารสาร Southeast of Now: Directions in Contemporary and Modern Art in Asia ถือกำเนิดขึ้นด้วยเหตุแห่งความขาดพร่องดังกล่าว นักประวัติศาสตร์ศิลปะและภัณฑารักษ์รุ่นบุกเบิกที่ทำงานในทศวรรษ 1980-1990 หลายคนให้ความช่วยเหลือในฐานะที่ปรึกษา ส่วนพวกเราที่รวมทีมกันเป็นกองบรรณาธิการนั้นกระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ วารสารฉบับแรกออกเมื่อปี 2560 ในธีม ‘Discomfort’ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ NUS Press โดยอ่านออนไลน์ได้ฟรีผ่าน Project MUSE ด้วยความสนับสนุนของ Chen Chong Swee Asian Arts Programme (Yale-NUS College) และ Foundation for Arts Initiatives นอกจากนี้ยังมีกลุ่มในเฟซบุ๊กทำหน้าที่เป็นชุมชนแลกเปลี่ยนข่าวสารต่างๆ 

ในปีที่ 6 ของวารสารที่ออกปีละสองครั้ง เราคือลาที่กระโดดงับแครอตที่ชื่อว่า ‘Scopus’ ได้สำเร็จ และไม่ว่าเราหรือใครจะมีความเห็นต่ออุตสาหกรรมการศึกษาและการตีพิมพ์อันบ้าคลั่งนี้อย่างไรบ้างก็ตาม ลึกๆ แล้วเราก็ยังเชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันสร้างและส่งต่อ ความรู้เป็นเรื่องที่ลงแรง การต่อรองเชิงอำนาจมีอยู่ในทุกที่ไม่เว้นแม้แต่ในหน้ากระดาษที่กองอยู่ในหอคอยงาช้าง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะอยู่ในเกมนี้อย่างไรให้เท่าทันและยังคงทำในสิ่งที่เชื่อ 

ผู้เขียนมีความยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า เงินบริจาคจากผู้บริจาคผู้ไม่ประสงค์ออกนามได้ถูกใช้เป็นทุนสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ (Emerging Writers Fellowship: EWF) และทุนนักแปลหน้าใหม่ (Emerging Translators Fellowship: ETF) พวกเขาจะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินและคำปรึกษาเป็นเวลาหนึ่งปี ในปีนี้ บทความอันเป็นผลจากทุน EWF คือ ‘The Horizon and the Holy: Re-Imaging the Thai Monarchy Following the 2020 Protest’ โดย Ariana Chaivaranon ว่าด้วยศิลปะกับการประท้วงระลอกล่าสุดในเมืองไทย 

สำหรับงานเขียน ไม่มีอะไรจะชวนใครมากไปกว่า ‘ชวนอ่าน’

24.The New York Times Book Review : 125 Years of Literary History

บรรณาธิการ: Tina Jordan, Noor Qasim 

สำนักพิมพ์: Clarkson Potter

แนะนำโดย: แมท ช่างสุพรรณ

17/1/2022

เพิ่งจะบอก Clara ไปไม่กี่วันเองว่าปีนี้จะซื้อหนังสือให้น้อยลง ขอกลับไปอ่านของปีก่อนเก่าให้หมดก่อน สุดท้ายก็ไม่รอด เรื่องมันเริ่มจากไม่มีอะไรทำระหว่างรอเวลานัด เลยไปดูโน่นดูนี่ที่ K ฆ่าเวลา (เดินเล่นใน minefield แท้ๆ) หลังจากเดินวนไปวนมาอยู่ 2-3 รอบอย่างมั่นใจว่ารอดแน่ๆ ก็ดันไปเห็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งยืนอ่าน Duino Elegies and The Sonnets of Orpheus อยู่ ไม่เคยเห็นใครอ่านหนังสือเล่มนี้ให้เห็นต่อหน้ามาก่อนเลย และอาจเป็นเพราะเอนเอียงไปทาง Rilke มาตลอดจึงยืนมองอย่างตราตรึง พอจะถอนสายตาออกมาก็ดันเหลือบไปเห็น The New York Times Book Review : 125 Years of Literary History รู้ตัวในทันทีเลยว่าเหยียบกับระเบิดเข้าให้แล้ว

31/01/2022

ได้เปิดอ่านจริงจังเสียที ดีใจที่วันนั้นไม่รอด แค่บท A Review of the Review ของ Parul Sehgul ตอนเปิดเล่มก็ใส่มาไม่ยั้งแล้ว

8/02/2022

จบแล้ว แต่ก็รู้แน่ว่าต้องมีซ้ำรักซ้ำรอย ให้ความรู้สึกเดียวกับตอนอ่าน London Review of Books: An Incomplete History เพียงแต่เปลี่ยนจากชุดสูททางการมาเป็นเดนิมที่ลำลอง

หนังสือพาย้อนไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นจาก The New York Daily Times ในปี 1851 (ให้เห็นภาพหน่อยก็ตั้งแต่สมัย ร.4) ก่อนจะเป็นฉบับแรกของ The New York Times Saturday Book Review Supplement อย่างเป็นทางการในปี 1896 หลังจากนั้นก็แบ่งช่วงเวลาออกเป็น 5 บท บทละ 25 ปี ในแต่ละบทก็เลือกเอาบันทึกต่างๆ ภาพถ่าย รายงาน บทสัมภาษณ์ บทรีวิว รวมไปถึงเรื่องเร้นเรื่องเล่าที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนมาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน เพื่อให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับวรรณกรรมอเมริกันสมัยใหม่และการอ่านในช่วงนั้นๆ 

“From whiter than white to getting less white every year.” 

พูดอีกแบบมันก็คือบันทึกการเปลี่ยนแปลงทางรสนิยมการอ่านของพวกอเมริกันจากหนังสือพิมพ์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดเล่มหนึ่งนั่นแหละ แต่มันเจ๋งตรงที่ว่ามันไม่ได้เป็นแค่หนังสือปกแข็งเล่มใหญ่เฉลิมเกียรติเมื่อครบวาระเลขสวยปีมงคล ตรงที่มันระลึกให้เห็นด้วยว่ามีอะไรเฮงซวยตรงไหนมาบ้างบนเส้นทางของมัน ยิ่งพอเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ความคิดจากหนังสือแล้วมันยิ่งสนุก อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เรานึกขึ้นมาได้บ้างว่าที่เรามาเถียงกันในเรื่องต่างๆ ในวันนี้ตอนนี้นั้นมีที่มาอย่างไร ถ้ามัวแต่เฉลิมเกียรติกันก็คงไม่มีอะไรเหลือไว้ให้เรียนรู้ เพราะนั่นมันคือการบังคับให้จำ

(ความเห็นชั่ววูบถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ติดใจ คัดลอกมาจาก Diary 2022)

25.A Bright Ray of Darkness

ผู้เขียน: Ethan Hawke

สำนักพิมพ์: Penguin Random House

แนะนำโดย: เพชร มโนปวิตร

นอกจากเป็นนักแสดงฝีมือฉกาจ อีธาน ฮอว์ก ยังพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นนักเขียนฝีมือดี ผ่านนวนิยายเล่มแรกในรอบ 20 ปี A Bright Ray of Darkness เป็นเรื่องแต่งที่มีความคล้ายคลึงกับชีวิตจริงของอีธานมาก จนหลงคิดไปได้ง่ายๆ ว่านี่เป็นอัตชีวประวัติของเขา เรื่องราวของวิลเลียมนักแสดงฮอลลีวู้ด ผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูง แล้วก็ตกต่ำอย่างถึงที่สุดจากชีวิตแต่งงานที่ล้มเหลว และพยายามกอบกู้ตัวเองผ่านการแสดงละครเวทีบรอดเวย์

จุดเด่นมากๆ คือบทสนทนาและการพูดคนเดียว (monologue) ที่คมคาย มีเลือดมีเนื้อ มีชีวิต น่าติดตามจนวางไม่ลง ว่าด้วยชีวิตนักแสดงละครเวที ความรัก การแต่งงาน การนอกใจ การหย่าร้าง บาดแผลความเจ็บปวด ความไร้เดียงสา ความหวัง และการกอบกู้เศษซากปรักหักพังของชีวิต แม้ท่วงทำนองโดยรวมจะหม่นเศร้า แต่เรารับรู้ได้ถึงประกายแสงแห่งความหวังให้ชีวิตยังดำเนินต่อไป 

ใครเป็นแฟนหนังชุด Before Sunrise/Sunset/Midnight ที่อีธานนำแสดง และชอบ Dilogue/Monologue ยาวๆ  อยากแนะนำ Audio Book ของหนังสือเล่มนี้ ที่อีธานเป็นคนให้เสียงเอง จะบอกว่าเป็น Audio Book ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งที่เคยฟังมา ขึ้นหิ้งไปกับ Born A Crime ของ Trevor Noah ได้เลย ทั้งคู่เป็นคนที่ใช้เสียงได้มีพลังอย่างน่าทึ่ง 

ท่ามกลางความมืดมิด ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป และบางครั้งหนังสือดีๆ ก็เป็นเหตุผลเพียงพอให้เรายังมีความหวัง

26.Wretchedness

ผู้เขียน: Andrzej Tichý

แนะนำโดย: ปรีดี หงษ์สต้น

ลืมปรัชญาแบบฮุกกะ (Hygge)  ของเดนมาร์ก หรือปรัชญาแบบลากอม (Lagom) ของสวีเดนไปได้เลย หากอยากอ่านนิยายอะไรที่มาจากสแกนดิเนเวีย จับเอาชีพจรความเป็นสแกนดิเนเวียสมัยใหม่ แต่ยังศรัทธาในสมัยใหม่นิยม ผมขอแนะนำ Wretchedness (2021) ที่นำเอาชีวิตผู้อพยพ ความหนุ่มสาว เหล้า ยา ความยากจน ชีวิตชานเมือง ชุมชนแออัด ความรุนแรง และความเหลวแหลกของชีวิตมารวมกัน พร้อมๆ กับเปิดเพลงสวดศพคลอไปด้วย – นี่คือปรัชญาสแกนดิเนเวียที่เราไม่ค่อยมีโอกาสได้พิจารณานัก  

หนังสือเล่มนี้เข้ารอบ longlist ของ International Man Booker Prize ในปี 2021 ผู้เขียนถือเป็นตัวแทนของเสียงจากสวีเดนสมัยใหม่ที่ผมอยากจะแนะนำ 

ป.ล. ผมคิดว่าเป็นนิยายที่น่าแปลเป็นอย่างยิ่ง ถ้าสำนักพิมพ์ใดสนใจ โปรดติดต่อมาคุยกันกับผมนะครับ  

27.Sejarah Kerajaan Melayu Patani

ผู้เขียน : Ibrahim Syukri

แนะนำโดย : อรอนงค์ ทิพย์พิมล

แนะนำหนังสือเรื่อง ‘Sejarah Kerajaan Melayu Patani’ เขียนโดย Ibrahim Syukri (อิบรอฮิม ชุกรี) ตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษามลายูอักขระรูมีใน ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) โดยสำนักพิมพ์ Jabatan Hal Ehwal Ugama Islam Kelantan ที่รัฐกลันตัน หลังจากตีพิมพ์ออกมาแล้วหนังสือเล่มนี้ถูกสั่งห้ามเผยแพร่โดยรัฐบาลมาเลเซียตามคำขอของรัฐบาลไทย 

Sejarah Kerajaan Melayu Patani ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษใน ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) ในชื่อ History of the Malay Kingdom of Patani โดยนักวิชาการชาวอเมริกันสองท่านคือ Conner Bailey และ John N. Miksic แห่ง Center for International Studies ของมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นถูกตีพิมพ์ซ้ำในภาษาอังกฤษโดยสำนักพิมพ์ Silkworm Books ใน ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) ซึ่งเป็นปีเดียวกับการถูกตีพิมพ์ในภาษามลายูอักขระรูมีเป็นครั้งที่สอง

หนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาไทยใน พ.ศ. 2525 โดยศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในชื่อ ‘ตำนานเมืองปัตตานี’ และมีการตีพิมพ์ครั้งที่สองในพ.ศ. 2549 แปลโดย หะสัน หมัดหมาน เรียบเรียงโดย ประพนธ์ เรืองณรงค์ และมีการแปลอีกสำนวนใน พ.ศ. 2541 ในชื่อว่า ‘ประวัติราชอาณาจักรมลายูปะตานี’ ภายใต้โครงการแปลและเรียบเรียงตำราของโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยผู้แปลคือ ดร.หะสัน หมัดหมาน และมะหามะซากี เจ๊ะหะ โดย ผศ.ดลมนรรคจ์ บากาเป็นผู้เรียบเรียง ซึ่งต่อมามีการพิมพ์ครั้งที่สองใน พ.ศ. 2549 โดยสำนักพิมพ์ Silkworm Books โดยชื่อเรื่องมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเป็น ‘ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี’

หนังสือเล่มนี้เรียกได้ว่าเป็นคัมภีร์พื้นฐานของงานเขียนประวัติศาสตร์ปาตานีจากมุมมองของคนปาตานี เป็นงานที่ส่งอิทธิพลที่สำคัญที่สุดต่องานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานี เป็นงานที่ถูกอ้างอิงมากที่สุดในประวัติศาสตร์นิพนธ์ปาตานีโดยเฉพาะที่เขียนโดยชาวมลายูปาตานี นอกจากนั้นหนังสือเล่มนี้ยังมีอิทธิพลต่อความคิดของขบวนการต่อต้านรัฐไทยด้วย แม้ไม่อาจพูดได้ว่าหนังสือเล่มนี้มีความเป็นกลาง แต่ต้องไม่ลืมว่ารัฐไทยผูกขาดการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ปัตตานีในแบบฉบับของทางการมาโดยตลอดซึ่งก็ไม่ใช่ความเป็นกลางเช่นกัน ในห้วงเวลาที่สังคมเรามีการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นกรณี ‘เอ็นร้อยหวาย’ กับ ‘ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์’ หนังสือเล่มนี้ก็น่าจะถูกหยิบมาอ่านอย่างยิ่ง

28.เกร็ดตำนานที่จารมิจบ แห่งนูเมนอร์ และมิดเดิ้ลเอิร์ธ

ผู้เขียน: เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน

ผู้แปล: ธิดา จงนิรามัยสถิต

สำนักพิมพ์: แพรวเยาวชน

แนะนำโดย: ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

หยิบเล่มนี้มาอ่านด้วยอยากรู้ว่าโทลคีนจะเขียนอะไรได้อีก แล้วก็ต้องยอมแพ้ว่าเขาเขียนอะไรได้อีกจริงๆ ตอนที่หยิบอ่านก็มิใช่จะจำชื่อตัวละครได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่จำใบหน้าตัวละครจากหนังไตรภาคเสียมากกว่า แต่ครั้นอ่านๆ ไปค่อยๆ ระลึกได้เองว่าตัวละครที่อ่านคือใครในหนัง หรือน่าจะเป็นบรรพบุรุษของใครในหนัง ส่วนที่ยากมากกว่ากลับเป็นแผนที่ทางภูมิศาสตร์ซึ่งจำเป็นมากต่อการอ่าน แล้วอดรู้สึกทึ่งมิได้ อีกทั้งรู้สึกได้ว่าฉบับแปลไทยนี้น่าจะได้รับคำชมเชยมากกว่าต้นฉบับเสียอีก เพราะหากมิใช่ฝีมือแปลระดับนี้ก็น่าจะอ่านเข้าใจได้ยาก หนังสือยากยิ่งต้องอ่าน จะไปอ่านทำไมหนังสือไม่ยาก ได้ทั้งสภาพจิตตัวละครและความเป็นไปของประวัติศาสตร์โลก

อ่านจบก็ทำใจ ทรราชไม่ตายง่ายจริงๆ และคนตัวเล็กตัวน้อยมีความสำคัญมากกว่าที่เราเคยรู้สึกจริงๆ ด้วย

29. Enforcing Order: An Ethnography of Urban Policing

ผู้เขียน: Didier Fassin

สำนักพิมพ์: Polity

แนะนำโดย: สมชาย ปรีชาศิลปกุล

หนังสือเล่มนี้เดิมตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสในชื่อ La Force de l’ordre. Une anthropologie de la police des quartiers เมื่อ ค.ศ. 2011 ก่อนจะตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในสองปีถัดมา

โดยทั่วไป สำหรับคนที่ไม่ได้มีความรู้ใดๆ ทางด้านมานุษยวิทยาแบบผม เมื่อนึกถึงคำว่า Ethnography หรือ ‘ชาติพันธุ์วรรณนา’ ก็มักจินตนาการไปถึงงานศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มคนที่อยู่ในสถานะชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ คนไร้บ้าน แรงงานภาคบริการ เป็นต้น ด้วยวิธีการศึกษาในแบบที่พยายามเข้าไปเป็น ‘คนใน’ (อันเป็นแนวการศึกษาที่ผมยอมรับว่าไม่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญที่จะกระทำได้อย่างแน่นอน)

หนังสือเรื่อง Enforcing Order แม้จะใช้วิธีการแบบชาติพันธุ์วรรณนา แต่กลุ่มเป้าหมายของงานชิ้นนี้เป็นผู้ประกอบอาชีพตำรวจซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตรอบเมืองของปารีส อันเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนที่หลากหลายเชื้อชาติรวมถึงมีการใช้อำนาจและความรุนแรงต่อผู้คนในพื้นที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง Didier Fassin ได้เข้าไปทำการศึกษาด้วยการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับตำรวจทั้งบนโรงพัก การออกตรวจตรา การออกปฏิบัติการ เพื่อทำความเข้าใจถึงชีวิต มุมมอง ท่าทีของกลุ่มคนเหล่านั้น ซึ่งได้พบว่าไม่ใช่แค่เพียงคำสั่งหรือนโยบายของรัฐบาลเท่านั้นที่ส่งผลต่อตัวตนและการทำงานของตำรวจ หากมีแง่มุมที่หลากหลาย เช่น ภาพมายาเกี่ยวกับงานตำรวจ, การเลือกปฏิบัติกับคนต่างชาติพันธุ์, ผลกระทบจากการทำงานของหน่วยงานอื่น เป็นต้น

หากหวนกลับมามองในสังคมไทยที่มีการใช้ความรุนแรงของตำรวจอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน งานชิ้นนี้อาจช่วยกระตุ้นให้เกิดการพยายามทำความเข้าใจในแง่มุมที่แตกต่างออกไป ตำรวจ (โดยเฉพาะตำรวจชั้นผู้น้อย) มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร มีคำอธิบายต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตนเช่นไร ความเข้าใจต่อการใช้ความรุนแรงเป็นแบบใด ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเป็นคำถามที่อาจไม่ได้มีความพยายามอย่างจริงจังมากนักในสังคมไทย ในแง่นี้ก็อาจกล่าวได้ว่าตำรวจชั้นผู้น้อยก็เป็นเสมือนชนเผ่าหนึ่งที่ถูกละเลยและมองข้ามในทางวิชาการมาไม่น้อย

30.ความจำที่สาบสูญ (The Memory Police)

ผู้เขียน: Yoko Ogawa

ผู้แปล: อาภาพร วิมลสาระวงค์

สำนักพิมพ์: Chaichai Books

แนะนำโดย: วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา

สำหรับตัวผมเอง ความรู้สึกที่มีต่องานเล่มก่อนหน้าของโยโกะ โอกาวะ อย่าง Revenge นั้นค่อนข้างห่างเหิน ในหนังสือเล่มนั้นราวกับว่าเธอเล่าเรื่องความพยาบาทอย่างสะอาดเอี่ยมเกินไป หนังสือทั้งเล่มจึงให้ความรู้สึกเหมือนศพที่ถูกชำแหละในห้องผ่าตัดที่ฆ่าเชื้ออย่างดี ความสะอาดและเยือกเย็นทำให้ตัวเองรู้สึกว่ามันเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องเหมือนมองจากระยะไกล

แต่กับเล่มนี้ กลายเป็นว่าความสะอาดแบบเดียวกันกลับทรงพลังมากๆ เรื่องว่าด้วยเกาะที่จะมีบางอย่างหายไปเรื่อยๆ และพออะไรหายไปก็จะถูกลืม ใครที่จำได้จะถูกตามจับโดยตำรวจความทรงจำ สิ่งของที่หายไปจากความคิด ตัววัตถุจะถูกเอามาทำลาย เพราะมีครอบครองไว้ก็ไม่รู้จักมันอีกแล้ว ตัวนางเอกเป็นนักเขียนนิยายที่แม่โดนตำรวจความจำจับ พ่อที่เป็นนักดูนกตายลงไม่นานหลังจากนกถูกทำให้หายไป วันหนึ่งเธอพบว่า บก. ของเธอเป็นพวกที่จำได้ เธอเลยวางแผนซ่อนตัวเขาจากตำรวจความจำ ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี จนวันหนึ่งสิ่งที่ถูกทำให้หายไปคือนิยาย

มันเป็นเหมือน 1984 ฉบับญี่ปุ่น หากโฟกัสกลับอยู่ที่คนที่ไม่ต่อต้านขัดขืน ทั้งเพราะไม่มีปัญญาจะขัดขืนและไม่ประสงค์จะขัดขืน นิยายพูดถึงชีวิตที่ค่อยๆ ไร้เรี่ยวแรงลงทีละน้อยและทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อความอ่อนล้า สิ้นหวังสาบสูญกลืนกินทุกสิ่ง

นิยายเต็มไปด้วยความเศร้าสร้อยเซื่องซึม ความเฉื่อยชาง่อยเปลี้ยเสียขาของตัวละคร ไม่มีการต่อสู้เกิดขึ้น มากที่สุดคือหลบหนี แต่ที่เหลือมีแต่การยอมจำนน ความพ่ายแพ้ที่อยู่รอบการสาบสูญไป ความสะอาดของการตามจับความจำ และความเยือกเย็นของโยโกะ โอกาวะ ทำให้ความอ่อนเปลี้ยของโลกที่ตัวละครอาศัยนั้นเข้มข้น แต่หมายถึงเข้มข้นเหมือนอากาศที่บางเบาเรื่อยๆ จนหายใจไม่ได้อีกต่อไป

กล่าวตามสัตย์ จริงๆ คิดอยู่เสมอว่าสังคมไทยอาจกลายเป็นแบบนี้ เราจะลืม สิ่งที่ถูกลืมจะหายไป ความพยายามดิ้นรนใช้ชีวิตของเราในข้อจำกัด ถึงที่สุดจะทำลายเรา 

ป.ล. ส่วนตัวชอบ ‘รูปเล่ม’ ของหนังสือที่สุดในรอบหลายปี ทั้งกระดาษปก-เนื้อใน ภาพปก texture ของหนังสือสวย จับแล้วรู้สึกไม่อ่อนหรือแข็งจนเกินไป พอดีลงตัวไปหมด

ประทับใจ

31.Barefoot Runner: The Life of Marathon Champion Abebe Bikila 

ผู้เขียน: Paul Rambali

สำนักพิมพ์: Profile Books

แนะนำโดย: ณัฐกร วิทิตานนท์

ผมเพิ่งได้อ่านหนังสือเล่มนี้ในช่วงปลายปี แฟนซื้อจากสนามบินแห่งชาติเอธิโอเปียระหว่างรอเปลี่ยนเครื่อง ทั้งๆ ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2006 แต่ก็ยังคงมีวางขายที่นั่นอยู่จนถึงทุกวันนี้ ด้วยความที่เป็นหนังสือว่าด้วยนักวิ่ง และบนปกระบุว่าเป็นหนังสือกีฬาแห่งปี 2006 ของวิลเลี่ยม ฮิลล์ สำหรับเรามันน่าสนใจมาก

Barefoot Runner เปรียบได้กับชีวประวัติโดยละเอียดของ Abebe Bikila ตำนานนักวิ่งผู้ยิ่งใหญ่ชาวเอธิโอเปียเจ้าของฉายา King of Marathon ในฐานะคนแอฟริกันคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกจากการวิ่งระยะมาราธอน (42 กิโลเมตร) ในโอลิมปิก ทั้งที่เขาก็ไม่เคยลงแข่งขันรายการระดับนานาชาติมาก่อน ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือ เขาเป็นนักวิ่งเท้าเปล่า ไม่ใส่รองเท้าวิ่งมาแต่ไหนแต่ไร 

เขียนโดย Paul Rambali นักเขียนชาวอังกฤษที่ผันตัวจากนักข่าวสายดนตรีร็อก

แบ่งออกเป็นตอนๆ รวม 58 ตอน ช่วงต้นยังไม่ได้เล่าเรื่องเรียงตามลำดับเวลา และสลับสับเปลี่ยนสถานที่แทบทุกตอนต่อมาถึงพอจะปะติดปะต่อเรื่องราวเข้าด้วยกันได้ ซึ่งมีอยู่ 3 เส้นเรื่องหลัก เกี่ยวกับชีวิตคน 3 คนที่มีความผูกพันกันลึกซึ้ง ระหว่างนักวิ่ง โค้ช และกษัตริย์

Abebe Bikila เกิดที่หมู่บ้านในชนบทเมื่อปี 1932 ชีวิตตอนเด็กทุกข์ยากลำเค็ญ อาศัยอยู่ในกระท่อมเล็กๆ กับพ่อแม่ที่มีฐานะยากจน กระทั่งอายุ 16 จึงตัดสินใจรับใช้ชาติโดยสมัครเป็นกองกำลังอารักขาของจักรพรรดิ Selassie จึงได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่ Addis Ababa เมืองหลวงของประเทศ ที่นั่นเองที่ทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น และได้พบกับ Onni Niskanen โค้ชกรีฑาสวีเดนคู่กาย ผู้ที่ทั้งปลุกปั้นเขา และเสมือนเป็นเพื่อนตาย

Niskanen เกิดในครอบครัวชาวฟินแลนด์ที่อพยพหนีสงครามไปอยู่ในสวีเดนตั้งแต่ยังเล็ก เริ่มจากเข้ามาเป็นอาสาสมัตรของกาชาดสากลอยู่ในเอธิโอเปีย ก่อนจะมีโอกาสได้ช่วยฝึกอบรมหน่วยอารักขาส่วนพระองค์จนได้รับพระราชทานยศทหาร เขาได้รับมอบหมายจากกษัตริย์ให้การวางแผนและพัฒนานักกีฬาเพื่อเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ซึ่งเอธิโอเปียได้รับการเชื้อเชิญจาก IOC ตั้งแต่เมื่อคราวลอนดอนเป็นเจ้าภาพจัดในปี 1948

เขาลองนำเอาวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้ทดสอบ พบว่านักกรีฑาเอธิโอเปียมีความแข็งแกร่ง อาจด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ซึ่งอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 2,500 เมตร การฝึกซ้อมในสภาพแวดล้อมมีออกซิเจนค่อนข้างน้อยย่อมส่งผลให้สภาพร่างกายมีความได้เปรียบ Abebe กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ไปโดยไม่รู้ตัว

Haile Selassie จักรพรรดิผู้ปกครองประเทศอย่างยาวนาน แม้มีบ้างช่วงที่ต้องระหกระเหินลี้ภัยระหว่างที่อิตาลีเข้ายึดครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เห็นความสำคัญของกีฬาที่จะช่วยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศเป็นที่รู้จักกว้างขวางแม้นจะมีภาระค่าใช้จ่ายสูงมากตามมา จึงดึง Niskanen เข้ามาเพื่อช่วย และมี Abebe เป็นนักกีฬาตัวความหวังขึ้นมาจากผลงานที่เคยทำได้ในการแข่งขันกีฬาภายในของกองทัพ ซึ่งบางครั้งดีกว่าสถิติโอลิมปิกเสียอีก ในอีกแง่หนึ่งถูกมองว่านี่คือกระบวนการชาตินิยมของคนผิวสีที่ต่อมาแผ่ขยายไปสู่ระดับทวีป

ที่สุดเอธิโอเปียก็สามารถทำสำเร็จได้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ชาติ ณ กรุงโรม, อิตาลีเมื่อปี 1960 หลังเรียนรู้ความล้มเหลวจากการเข้าร่วมแข่งขันครั้งแรกที่เมลเบิร์น, ออสเตรเลียในปี 1956

Abebe Bikila ในวัย 27 ปี ลงแข่งมาราธอนโอลิมปิกครั้งแรกก็คว้าเหรียญทองได้เลย หลังเริ่มวิ่งมาราธอนจริงจังมาได้เพียง 4 ปี จบด้วยเวลา 2:15:16 นับเป็นการทำลายสถิติโลกในเวลานั้นอีกด้วย ซึ่งการแข่งครั้งนั้น เขาตัดสินใจวิ่งด้วยเท้าเปล่า เพราะรู้สึกถนัดกว่า และวิ่งได้เร็วกว่า นับเป็นคนแรกและคนเดียวที่ทำเช่นนี้ได้

ทว่าจุดหักเหสำคัญในชีวิตของเขาเกิดขึ้นหลังจากเขาได้แชมป์โอลิมปิก เมื่อมีความพยายามที่จะยึดอำนาจระหว่างที่กษัตริย์เสด็จเยือนบราซิล แต่ล้มเหลว เขาถูก Selassie มองว่าเป็นคนทรยศ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มกบฏ ฐานไม่ยอมฆ่าฝ่ายตรงข้ามทั้งที่สบโอกาส ภายใต้การนำของผู้บัญชาการกองกำลังเดียวกันกับที่เขาสังกัดอยู่ โทษหนักถึงขั้นประหารชีวิต ระหว่างที่ติดคุกรอความตายอยู่นั่น Niskanen พยายามทำทุกวิถีทาง เป็นต้นว่าเรียกร้องให้นานาชาติใช้หลายมาตรการกดดัน รวมทั้งให้คนทั่วโลก โดยเฉพาะชาวแอฟริกาส่งจดหมายมาอ้อนวอนขอไว้ชีวิตจักรพรรดิถึงยอมใจอ่อน Abebe ได้รับการอภัยโทษ กลับมาอยู่บนเส้นทางที่จะคว้าเหรียญทองมาราธอนโอลิมปิกติดต่อกันสองครั้งซ้อนเป็นคนแรก ขณะที่เนลสัน แมนดาลาพยายามเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ชาติแอฟริกันร่วมกันคว่ำบาตรโอลิมปิกปี 1964

1 ปีก่อนจะถึงโอลิมปิกที่โตเกียว เขาได้รับเชิญให้ไปวิ่งในรายการบอสตันมาราธอน เข้าเส้นชัยมาเป็นอันดับที่ 5 ด้วยเวลาที่น่าพึงพอใจ แต่กระนั้น อีกแค่เพียงเดือนเศษ เขาก็เป็นไส้ติ่งอักเสบต้องเข้ารับการผ่าตัด หมอลงความเห็นว่าเขาไม่น่าจะพร้อมทันการแข่งขัน แต่เขาก็กลับหายทันเหลือเชื่อ แต่ยังไม่เคยลงซ้อมถึงระยะฟูลมาราธอนก่อนแข่งจริงเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ในการแข่งขันครั้งนี้เขาเลือกที่จะใส่รองเท้าลงวิ่ง ซึ่ง Dassler (ผู้ก่อตั้ง Adidas) เคยเอารองเท้ามาให้ลองใส่วิ่งก่อนใครเพื่อน แต่สุดท้ายเขาเลือกใช้รองเท้ายี่ห้อเจ้าภาพคือ Asics แทน (ขัดกับข้อมูลหลายแหล่งในอินเทอร์เน็ตที่ระบุว่าใส่ Puma) จนสามารถคว้าเหรียญทองมาราธอนโอลิมปิกมาครองได้อย่างยิ่งใหญ่อีกสมัยหนึ่งด้วยเวลา 2:12:11

Abebe มีความมุ่งหวังที่จะทำแฮททริกโดยคว้าแชมป์มาราธอนโอลิมปิกสามสมัยติดต่อกันให้ได้ แต่แล้วเขาทำไม่เสร็จ ในโอลิมปิกเมื่อปี 1968 ที่เม็กซิโก เขาต้องออกจากการแข่งขันกลางคัน เมื่อวิ่งไปได้เพียง 15 กิโลเมตร ด้วยอาการเจ็บเข่าอย่างรุนแรง

Abebe ได้รับการยกย่องเยี่ยงวีรบุรุษของชาติ เขาได้สิทธิพิเศษเหนือคนทั่วไป จากประสบการณ์ที่ได้เดินทางไปในหลายประเทศ เขารู้ดีว่าประเทศของเขายังต้องการการพัฒนาอีกมาก แต่ภายใต้ระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ยากยิ่งที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเขาเองก็นึกเสียใจที่ไม่สามารถจะผลักดันอะไรไปได้มากกว่านี้

ในช่วงท้าย ชีวิตของแต่ละคนล้วนแต่มีชะตากรรมที่แตกต่างกัน

ปี 1969 Abebe ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์อาการค่อนข้างสาหัสสากรรจ์ จนต้องไปรับการผ่าตัดรักษาที่ลอนดอนและไม่อาจกลับมาเดินได้อีกเลย อีก 3-4 ปีหลังจากนั้น เขาก็ต้องเสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 41 ปี

ปี 1974 Selassie ถูกโค่นล้มจากอำนาจโดยฝ่ายทหารที่สมาทานอุดมการณ์มาร์กซิสต์ สืบเนื่องจากเหตุการณ์นักศึกษาลุกฮือประท้วงเพื่อต่อต้านการขึ้นภาษีทั่วประเทศ และอีก 1 ปีให้หลัง เขาก็ถูกลอบสังหารภายในวังที่กลายสภาพเป็นคุกคุมขังเขานั้นเอง

พิธีฝังศพ Abebe จึงเป็นการปรากฏตัวครั้งสุดท้ายต่อหน้าสาธารณชนของ Selassie จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจักรวรรดิเอธิโอเปีย

ส่วน Niskanen กลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่สวีเดน ก่อนจะจากไปด้วยวัยชราในปี 1984

หนังสือเล่มนี้บอกเราว่าการเมืองกับกีฬาแยกกันไม่ออก ระบอบ Selassie อาศัย Abebe เป็นเครื่องมือฟื้นฟูความนิยมท่ามกลางสงครามชนชั้น และสงครามเย็นที่คุกรุ่น

แน่นอน ความสนุกของหนังสือเล่มนี้จึงอยู่ที่ฉากหลังอุดมไปด้วยบริบทสำคัญทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกที่รายล้อมการกีฬา ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อความเป็นไปของเอธิโอเปียไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ชวนให้คนอ่านสงสัย และค้นต่อขณะเดียวกันก็เป็นหนังสือที่สร้างกำลังใจได้อย่างดีในยามที่เราท้อถอย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save