ภาพปกจาก Photo by Lauren Owens Lambert / AFP
ก่อนจะเข้าเรื่อง ผู้เขียนอยากขอให้ผู้อ่านลองนึกถึง ‘นักเศรษฐศาสตร์’ สักคน ไทยก็ได้ต่างชาติก็ดี คุณนึกถึงใคร… เมื่อนึกออกแล้วลองดูต่อว่า ท่านผู้นั้นเป็นผู้ชาย ใช่หรือไม่ ถ้าตอบว่า ‘ใช่’ คำตอบของคุณคือคำตอบของคนส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม คำตอบนี้ไม่ได้น่าแปลกใจเท่าไร เพราะแม้กระทั่งในทำเนียบรางวัลเศรษฐศาสตร์โนเบลที่เป็นรางวัลที่ทรงค่าที่สุดอันหนึ่งของวงวิชาการเศรษฐศาสตร์โลก ก็มีนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นผู้หญิงเพียง 2 คนเท่านั้นจากทั้งหมด 93 คน
จนกระทั่งในปี 2023 ล่าสุดนี้ที่ Professor Claudia Goldin แห่ง Harvard University ได้เป็นผู้หญิงคนที่ 3 ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ และนับเป็นครั้งแรกที่นักเศรษฐศาสตร์หญิงไม่ต้องรับเป็นรางวัลร่วมกับใครเลยทั้งสิ้น นั่นจึงทำให้วงการนักเศรษฐศาสตร์รวมถึงตัวผู้เขียนเอง ตื่นเต้นกับผลประกาศรางวัลปีนี้เป็นอย่างยิ่ง
บทความนี้จึงขอมาเล่าอย่างคร่าวๆ ว่า Professor Claudia Goldin มีคุณูปการอย่างไรบ้างทั้งต่อการสร้างความรู้ในวงการเศรษฐศาสตร์ และต่อการวางรากนโยบายสาธารณะ (ทั้งด้านตลาดแรงงาน ด้านการศึกษา สาธารณสุข) ซึ่งกรรมการรางวัลโนเบลได้ให้เหตุผลในการให้รางวัลอาจารย์ว่า “for having advanced our understanding of women’s labour market outcomes” (สำหรับการยกระดับและพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลของตลาดแรงงานและการทำงานของผู้หญิง)
นักเศรษฐศาสตร์หญิงผู้ทุบ ‘เพดานกระจก’
ในบริบทของงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์เมื่อ 50 ปีที่แล้ว เมื่อนักเศรษฐศาสตร์ทำงานศึกษาวิจัยเรื่องตลาดแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน การเลือกอาชีพ ฯลฯ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในการศึกษาจเป็นแรงงานชายมาตลอด ซึ่งเป็นเหตุมาจากทั้ง (1) ข้อจำกัดทางข้อมูล กล่าวคือ ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้หญิงในตลาดแรงงานมากนัก เพราะในอดีต ผู้หญิงมักถูกจัดให้ทำ ‘อาชีพ’ แม่บ้าน) และ (2) ข้อจำกัดทางมุมมอง นั่นคือ การที่นักวิชาการ และผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นผู้ชาย
แต่ด้วยความที่อาจารย์ Claudia มีความเชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ข้อจำกัดทางข้อมูลจึงไม่เป็นปัญหามากนัก (เพราะนักประวัติศาสตร์มักต้องเผชิญกับข้อจำกัดของข้อมูลในระดับที่แสนเข็ญอีกหนึ่งระดับ) และอาจารย์ก็สามารถค้นหารวบรวมข้อมูลจากหลากหลายแหล่งมาใช้เพื่อประกอบการบูรณาการเรื่องสภาวะในตลาดแรงงานของผู้หญิงตลอดหลายช่วงทศวรรษ
ความพิเศษของอาจารย์ Claudia ในโลกวิชาการเศรษฐศาสตร์คือ ท่านเป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์หญิงจำนวนหยิบมือที่ต้องทำงานในบริบทที่กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำทั้งในมหาวิทยาลัยระดับโลกและในองค์กรสำคัญต่างๆ ล้วนเป็น ‘ชายผิวขาว’ (white Caucasian men) เกือบทั้งหมด (และเป็นเหตุผลที่ทำให้โลกเศรษฐศาสตร์ยุคนั้นมีมุมมองจำกัด จากการขาด representation) ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อาจารย์ Claudia สามารถเอาชนะข้อจำกัดด้านมุมมอง (perspectives) และเปิดโอกาสให้เศรษฐศาสตร์เริ่มเข้าใจผู้หญิงจากมุมมองของผู้หญิงเอง โดยไม่ต้องให้ชายใดมาคิดแทนอีกต่อไป
นอกจากนี้ อาจารย์ Claudia ยังเป็นศาสตราจารย์หญิงด้านเศรษฐศาสตร์คนแรกของ Harvard University (ในปี 1990) ซึ่งแปลว่า อาจารย์คือคนที่ ‘ทุบเพดานแก้ว’ (glass ceiling) ของแวดวงวิชาการและมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ว่ากันว่าเป็น ‘ยอดงาช้างที่สูงที่สุด’
ในทางวิชาการ งานของอาจารย์ Claudia เสมือนเป็นการถอดสลักกลอนประตูบานใหญ่ และผลักออกมาให้คนเห็นว่า เราไม่สามารถที่จะเพิกเฉยต่อพลังของผู้หญิง ซึ่งเป็นประชากรครึ่งหนึ่งของโลกได้อีกต่อไป และถ้าอยากให้เธอเหล่านั้นทำงานได้อย่างเต็มที่และเต็มใจ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการมองจากมุมมองของพวกเธอ ที่ทั้งมีแรงผลักและข้อจำกัดล้วนต่างจากผู้ชายอย่างยิ่ง
มากไปกว่านั้น ต้องอย่าลืมว่า การตัดสินใจใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดแรงงาน เช่น การเลือกงาน หรือการเลือกสาขาที่จะเรียน ไม่ได้มาจากปัจจัยที่เกิดขึ้น ณ ตอนที่ตัดสินใจเท่านั้น แต่เกิดมาจากการมองไกลถึงอนาคตด้วย เช่น เรียนจบไปแล้วจะมีงานทำหรือไม่ จะทำงานได้นานเท่าไร แล้วถ้าอยากแต่งงานล่ะ มันจะกระทบอะไร แล้วถ้ามีลูกจะเกิดอะไรขึ้น เจ้านายจะเห็นใจไหม และจะกระทบกับการเลื่อนตำแหน่งหรือเปล่า งานที่ทำอยู่จะรอดอีกนานแค่ไหน และสุดท้ายจะเกษียณสักเมื่อไร กล่าวโดยสรุปคือ การตัดสินใจในตลาดแรงงานคือการทำ cost-benefit analysis แบบมองระยะยาวตลอดชีวิต (life cycle) แล้วค่อยเลือกตัดสินใจลงทุนทางเวลา ทรัพยากร และการเลือกเส้นทางเดินของชีวิต
ยาคุมและความเป็นแม่: ชวนอ่าน (บาง) งานวิชาการของ Claudia Goldin
ด้วยความที่อาจารย์ Claudia มีการคิดแบบไม่ติดกรอบ มีความคิดหักมุมต่างจากนักเศรษฐศาสตร์แรงงานส่วนใหญ่ในขณะนั้น ทำให้อาจารย์มีงานที่อ่านสนุกอยู่เยอะมาก ในครั้งนี้ผู้เขียนจึงขอยกมาเล่าสักสองเรื่อง (เลือกจากความประทับใจและความตะลึงในงานตอนที่ผู้เขียนได้อ่านเป็นครั้งแรก)
1. ‘อำนาจมหัศจรรย์ของยาคุมกำเนิด’ (The Power of the Pills)
ในบทความเรื่อง ‘The Power of the Pill: Oral Contraceptives and Women’s Career and Marriage Decisions’ ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2002 อาจารย์ Claudia ได้ตั้งข้อสังเกตไว้เริ่มแรกว่า ทำไมผู้หญิงในสมัยหนึ่ง (ในสหรัฐฯ) จึงไม่เลือกที่จะเรียนต่อในระดับสูง โดยเฉพาะสาขาด้านการแพทย์ กฎหมาย หรือ MBA ซึ่งในสหรัฐฯ สาขาเหล่านี้เป็นสาขาที่ต้องเรียนในมหาวิทยาลัยก่อน 4 ปี แล้วจึงจะมาเรียนต่อทางนี้ได้ นั่นหมายความว่า ถ้ารักจะเป็นแพทย์ กว่าจะเรียนจบ ทำอินเทิร์น แล้วต่อบอร์ด อย่างเร็วก็อายุ 30 ปี จึงจะเงยหน้าดูโลกภายนอกได้ ซึ่งหากเป็นผู้ชายก็คงไม่คิดมากในเรื่องนี้
แต่สำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ ‘อยากเป็นแม่’ (ตามค่านิยมหลักของยุคสมัยนั้น) การตั้งต้นเริ่มเส้นทางอาชีพในวัย 30 ปี ถูกจำกัดอย่างเลือกไม่ได้ด้วยนาฬิกาชีวภาพ (biological clock) ผู้หญิงจำนวนมากจึงตัดสินใจไม่เข้าสู่สนามตั้งแต่แรก เพราะการเลือกอยู่นอกสนามตั้งแต่แรกแล้วไม่เสียโอกาสเท่ากับการเข้าสู่สนาม แล้วโดนบังคับออกกลางคัน เช่น ความเสี่ยงของการตั้งท้องในช่วงที่พวกเธอกำลังต้องต่อบอร์ด ย่อมต้องกลายเป็นอุปสรรคในการไปต่อในสนามนี้ทันที ทำให้เมื่อเราดูที่สถิติของการเลือกเส้นทางการศึกษาในกลุ่มคนที่เติบโตมาก่อนยุค 1970 เราจะเห็นผู้หญิงจำนวนน้อยมากที่เลือกเรียนสาขาที่ ‘ต้องลงทุนสูง’
หากแต่ว่า แนวโน้มดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่ประมาณยุค 1970 เป็นต้นไป ซึ่งงานของอาจารย์ Claudia ได้ชี้ว่า เกิดมาจากการค้นพบยาคุม (แบบกิน) และการที่ อย. ของสหรัฐฯ ประกาศให้การเข้าถึงยาคุมมีความเป็นเสรีกับผู้หญิงโสดมากขึ้น (ก่อนนั้น เปิดให้ซื้อได้แค่ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว) ในแง่นี้ ความมหัศจรรย์ของยาคุม คือการทำให้ผู้หญิงสามารถควบคุมความเสี่ยงต่อการลงทุนใน ‘ทุนมนุษย์’ ของพวกเธอ และยังกำหนดได้ด้วยว่า ถ้าเธอยังอยากโลดแล่นในสนามแข่งเพราะเธอได้คุณค่าจากการทำงานมากกว่า เธอก็ทำได้ และเมื่อเธออยากมีลูก เธอก็เลือกได้เช่นเดียวกัน
ผู้เขียนได้อ่านงานนี้แล้วอยากปรบมือให้อาจารย์ Claudia เพราะยาคุมกำเนิดกับการตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิต (ผ่านการเลือกสาขาวิชาเรียน) ดูเหมือนเป็นเรื่องราวจากคนละโลก แต่อาจารย์สามารถเชื่อมทั้งสองเรื่องด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างมีเหตุผล พร้อมสรุปไว้ว่า การวางนโยบายใดๆ ต้องบูรณาการมิติที่หลากหลายเข้าด้วยกัน เช่น ในกรณีนี้ นโยบายด้านการศึกษา ตลาดแรงงาน และ การสาธารณสุข ล้วนสัมพันธ์กันทั้งสิ้น ถ้าคิดไม่ตกผลึก การแก้ปัญหาก็จะเป็นไปอย่างฉาบฉวย หรือไม่ได้ผลลัพธ์ใดๆ
2.บทลงโทษความเป็นแม่ และการก่อให้เกิดช่องว่างทางเพศในตลาดแรงงาน (parenthood penalty and gender gap)
บทสรุปในหัวข้อนี้มาจากงานวิจัยต่อเนื่องหลายๆ งานของอาจารย์ Claudia ที่ได้เริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่าช่องว่างทางเพศในตลาดแรงงานมีอยู่ในมิติใดบ้าง และปัจจัยใดที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ช่องว่างเหล่านี้กว้างเหลือเกิน โดยงานของอาจารย์พบข้อสังเกตแรกคือ ค่าจ้าง/เงินเดือนระหว่างชายหญิงในกลุ่มจบใหม่ที่เพิ่งจะเข้ามาทำงาน (first jobber อายุรุ่น 20-25 ปี) มีช่องว่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากเปรียบเทียบกับคนทำงานในกลุ่มอาชีพเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ช่องว่างด้านรายได้กลับเริ่มกว้างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคนเริ่มอายุมากขึ้น (10 ปีผ่านไป คืออายุรุ่น 30-35 ปี) โดยที่รายได้ของผู้ชายมากกว่าหญิง) และเมื่อดูลึกลงไปจะพบว่า ผู้หญิงมีการลางานมากกว่าผู้ชาย
ดูข้อมูลเช่นนี้ ผู้อ่านบางท่านอาจฉุกคิดว่าคือ อ้าว ผู้หญิงลางานมากกว่า การได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าก็ดูเป็นเรื่องสมเหตุสมผลดี แต่สำหรับท่านที่มีลูกเล็กอาจพอคิดตามได้ว่า การลาของผู้หญิงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการมีลูก เช่น เวลาลูกป่วย (เด็กเล็กยิ่งป่วยบ่อย) โรงเรียนขอให้มารับกลับ หรือป่วยเข้าโรงพยาบาลต้องมีคนเฝ้าไข้ คนเป็นแม่คือคือคนที่ต้องลางาน หรือหากมีกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับลูก แม่ก็มักเป็นคนต้องลางานมารับผิดชอบเป็นหลัก (แต่พ่ออยู่ออฟฟิศทำงานต่อไป) ข้อสรุปนี้สอดคล้องกับสิ่งที่อาจารย์ Claudia ค้นพบ นั่นคือ ช่องว่างทางค่าจ้าง และอัตราการได้โปรโมตที่ชายได้มากกว่าหญิงนั้น เกิดมาจากหน้าที่และความรับผิดชอบของการเป็นแม่ (และพ่อ) นั่นเอง
แต่ที่มากไปกว่านั้นคืออาจารย์ยังพบด้วยว่า ด้วยข้อจำกัดที่มาจากบรรทัดฐานของสังคมแบบดั้งเดิม (traditional social norm) ที่กำหนดให้ ‘ผู้หญิงต้องเป็นแม่’ ผู้หญิงหลายคนจึงเลือกอาชีพที่เอื้อต่อการลางาน หรือการทำงานแบบไม่เป็นเวลาปกติ เพื่อให้พวกเธอได้ทำหน้าที่แม่ได้อย่างเต็มที่ งานกลุ่มมีความผ่อนปรนยืดหยุ่นด้านเวลางานสูง (flexibility) ทว่าส่วนใหญ่เป็นงานที่จ่ายค่าตอบแทนไม่สูง อนาคตของการเติบโตในองค์กรมีไม่มาก และมักมีการ training ในระดับต่ำ
มองจากกรอบการลงทุนใน ‘ทุนมนุษย์’ ของตัวเอง การตัดสินใจเช่นนี้เป็นเรื่องสมเหตุสมผล เพราะหากผู้หญิงกลุ่มหนึ่งประเมินอนาคตแล้วเห็นว่า สุดท้ายพอมีลูก พวกเธอก็ถูกลดโอกาสในการได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม หรือการเลื่อนขั้นอยู่ดี แล้วจะลงทุนเรียนไปตั้งแต่แรกให้เสียเงิน เสียเวลาทำไม ซึ่งกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ หากไม่ได้รับการแก้ไข
ประเทศไทยกับงานวิจัยของ Claudia Godin
งานของอาจารย์ Claudia Goldin ยังมีให้ตามอ่านอีกเยอะ (ทั้งย้อนหลังและที่ออกมาเรื่อยๆ) โดยส่วนตัว ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจจากงานของอาจารย์ Claudia ตั้งแต่วันที่ได้อ่านงานของท่านครั้งแรกจนถึงทุกวันนี้ และทำให้มาหวนคิดเสมอถึงประเด็นต่างๆ ในมิติของสังคมแบบไทยๆ ซึ่งแม้จะมีสัดส่วนผู้หญิงในตลาดแรงงานอยู่ค่อนข้างสูง แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังต้องการ ‘คำถาม’ และ ‘คำตอบ’ ที่จะนำไปสู่นโยบายแบบคิดลึก คิดรอบ และคิดแบบบูรณาการ
ตัวอย่างเช่น ปัญหาการมีเด็กเกิดน้อยในสังคมสูงวัย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ทว่าผู้วางนโยบายของไทยส่วนใหญ่ยังมองว่า การมีลูกน้อยเป็นปัญหาของผู้หญิงเท่านั้น และคิดแก้ปัญหาด้วยนโยบายที่เพิ่มแรงจูงใจให้ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์หาคู่ และรีบท้อง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากเราลองพิจารณาตามกรอบความคิดที่อาจารย์ Claudia เสนอไว้จะเห็นว่า การตัดสินใจมีลูกไม่ได้เกิดขึ้นแบบปุ้ปปั้บ แต่มาจากปัจจัยตั้งแต่การเริ่มเลือกวิขาเรียน ความกังวลถึงผลกระทบด้านรายได้ทั้งปัจจุบันและอนาคต ไปจนถึงเงินออมเมื่อสูงวัย ดังนั้น หากต้องการจะกระตุ้นให้ผู้หญิงมีลูกเพิ่มมากขึ้นจริงๆ ผู้ออกแบบนโยบายต้องออกชุดนโยบายที่ปรับโครงสร้างทั้งหมด โดยต้องเลิกคิดว่ามีแค่ผู้หญิงเท่านั้นที่เป็นเจ้าของเรื่อง นโยบายชุดใหม่ควรให้ความสำคัญกับการลด ‘ความเสี่ยงต่อการทำงาน’ ซึ่งแยกไม่ออกจากสวัสดิการและระบบสนับสนุน (support system) ในการดูแลเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน ฯลฯ ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงก็ต้องมาจากหลายระดับทั้งนโยบายรัฐ นโยบายองค์กร รวมถึงบรรทัดฐานทางสังคม (social norm) ที่ต้องให้ส่งเสริมทัศนคติที่ว่า ทั้งพ่อและแม่มีหน้าที่ดูแลลูกช่วยกัน และสามารถดูแลได้ดีทั้งคู่ ไม่ใช่ภาระของคนใดคนหนึ่ง
การตั้งคำถาม (จากมุมมองผู้หญิง) เป็นสปิริตสำคัญของวิชาการแบบอาจารย์ Claudia ซึ่งเราสามารถหยิบยืมมาใช้ในการวิเคราะห์สังคมไทยได้ เช่น ทำไมสังคมไทยจึงมีการแบ่งโดยคำนึงถึงเพศและปฏิบัติกับเพศชายและหญิงต่างกัน ทำไมเรายังมีคำว่า แพทย์ กับ แพทย์หญิง (ทำไมไม่ใช้แค่ ‘แพทย์’) ทำไมคำนำหน้าผู้หญิงต้องเป็น ‘นางสาว’ กับ ‘นาง’ การแบ่งเช่นนี้ส่งผลต่อการกีดกันในตลาดแรงงานหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น หรือเวลามองในวุฒิสภาเรามีผู้หญิงเพียง 26 คน (นับเป็นร้อยละ 10 ของกลุ่ม ‘ผู้ทรงคุณวุฒิ’ ของชาติ) และมี ส.ส. หญิงเพียง 1 ใน 6 ของสภา ทั้งยังไม่มีตัวแทนผู้หญิงในศาลรัฐธรรมนูญเลย รวมถึงเวลาเราเห็นในเวทีงานใหญ่ต่างๆ ทั้งบนจอหรือนอกจอ ทำไมมันเต็มไปด้วยผู้ชายใส่สูท นี่เป็นเพราะเราขาดผู้หญิงที่มีความสามารถใช่ไหม หรือเป็นเพราะเราไม่ได้ ‘คิดมาก’ เพียงพอ หรือเป็นเพราะว่าชายและหญิงมีภาระครอบครัวที่ต่างกันทำให้ฝ่ายหนึ่งไม่สามารถจะมีเวลาที่คล่องตัวได้เท่าที่ควรจะเป็น
สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคนไทยเหล่านี้เองที่จะกลายเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเด็กรุ่นต่อไป เวลาพวกเขาเริ่มวางอนาคต วางแผนการเรียนและมองหาอาชีพที่เขาคิดว่าจะดีต่ออนาคตเขา สังคมแบบไทยๆ จะเดินหน้าอย่างไรนั้น งานของอาจารย์ Claudia ได้ทุบเพดานกระจกนำรอไว้แล้ว ขึ้นอยู่กับว่า เรามองเห็นและจะเลือกเดินตามเส้นทางนั้นทันหรือไม่
อ้างอิง
Goldin Claudia, Lawrence F. Katz. 2002. “The Power of the Pill: Oral Contraceptives and
Women’s Career and Marriage Decisions.” Journal of Political Economy, 110(4): 730–770.
Goldin, Claudia, and Lawrence F. Katz. 2000. “Career and Marriage in the Age of the
Pill.” American Economic Review, 90(2): 461–465
Goldin, Claudia and Lawrence F Katz. 2008. The Race between Education and Technology.
Cambridge, MA: Harvard University Press.
Goldin, Claudia, and Lawrence F. Katz. 2011. “The Cost of Workplace Flexibility for High Powered Professionals.” Annals of the American Academy of Political and Social Science 638: 45–67.
Goldin, Claudia. 2006. “The Quiet Revolution That Transformed Women’s Employment,
Education, and Family.” American Economic Review, 96(2): 1–21ใ
Goldin, Claudia. 2014. “A Grand Gender Convergence: Its Last Chapter.” American Economic Review, 104(4): 1091–1119.
Bertrand, Marianne, Claudia Goldin, and Lawrence F. Katz. 2010. “Dynamics of the Gender
Gap for Young Professionals in the Financial and Corporate Sectors.” American Economic Journal: Applied Economics, 2(3): 228–255.
นพพล วิทย์วรพงศ์, เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู และ สมทิพ วัฒนพงษ์วานิช “เศรษฐศาสตร์และการส่งเสริมการมีบุตร :องค์ความรู้ทางทฤษฎีและงานวิจัยเชิงประจักษ์” (2563)