fbpx
สันติภาพชายแดนใต้ในสถานการณ์ COVID-19 : รอมฎอน ปันจอร์

สันติภาพชายแดนใต้ในสถานการณ์ COVID-19 : รอมฎอน ปันจอร์

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

 

เมื่อจังหวัดชายแดนภาคใต้เผชิญปัญหาความขัดแย้งรุนแรงมานานเกินทศวรรษ และรัฐไทยแก้ปัญหาด้วยการใช้กฎหมายความมั่นคงควบคุมพื้นที่-วิถีชีวิตผู้คนมาตลอด ขณะที่กระบวนการสันติภาพกำลังจะตั้งไข่ ปัญหาใหม่อย่าง COVID-19 ก็เข้าจู่โจมโถมทับ

101 ชวน รอมฎอน ปันจอร์ ภัณฑารักษ์แห่งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) มาวิเคราะห์สถานการณ์ที่สังคมไทยกำลังเผชิญ อะไรเป็นเงื่อนไขอันเปราะบางของกระบวนการสันติภาพในเวลานี้ และทางออกที่น่าจะเป็นไปได้อยู่ตรงไหน

 

พื้นที่ วิถีชีวิต และการต่อรอง

 

พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความหนาแน่นในการพบผู้ป่วยจากโควิด-19 มาก ด้วยหลายปัจจัย ทั้งเป็นพื้นที่ชายแดน ทั้งกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่โดยเฉพาะ เช่น กลุ่มแรงงานจำนวนมากที่ไปทำงานในมาเลเซีย และกลุ่มที่ไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่มาเลเซีย อินโดนิเซีย อินเดียและปากีสถาน ทั้งหมดนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข และชุมชนได้พยายามเรียนรู้ในการรับมือกับกลุ่มคนเหล่านี้

แต่สิ่งที่น่ากังวลคือถ้าสถานการณ์การระบาดยังไม่ยุติ ความตึงเครียดอาจจะสูงขึ้น เพราะมุสลิมกำลังจะเข้าสู่เดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วิถีชีวิตของผู้คนจะต่างไปจากการใช้ชีวิตปกติ เช่น การรวมตัวในตลาด ในมัสยิด ในหมู่บ้านจะหนาแน่นขึ้น นี่คือความท้าทายของคนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่อาจต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอันคุ้นเคย

ที่ผ่านมา ประเด็นที่บุคลากรสาธารณสุขกังวลมากจะเป็นส่วนของกิจกรรมทางศาสนา เนื่องจากวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่นั้นผูกโยงกับวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของคนแถบนี้เชื่อมโยงกับความเป็นมุสลิม และการรวมกลุ่มทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีทางวัฒนธรรม เช่น การละหมาดร่วมกันในมัสยิด ประเด็นเหล่านี้ถูกหยิบยกมาหารืออย่างค่อยเป็นค่อยไป จนมีมาตรการออกมา จากทั้งสำนักจุฬาราชมนตรีและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง

สิ่งที่ผมเห็นในสถานการณ์เวลานี้คือมีการใช้อำนาจในการโน้มน้าวจูงใจ เป็นอำนาจในรูปของความรู้ที่มาพร้อมกับวิถีทางการแพทย์ อำนาจในการตีความตัวบททางศาสนาให้สอดคล้องกับบริบทสมัยใหม่ สิ่งเหล่านี้เป็นอำนาจทั้งที่เป็นทางการและไม่ทางการ มีการต่อรองกัน ปะทะและประนีประนอมกันเสมอ

การต่อรองกันนำมาซึ่งการประกาศยกเลิกการทำละหมาดวันศุกร์ ซึ่งเป็นละหมาดใหญ่ มีระบุในตัวบทศาสนาอิสลามว่าต้องทำ มุสลิมจะขาดได้ไม่เกิน 3 ครั้ง เรื่องนี้กำลังเป็นประเด็นเพราะวิธีการจัดการที่ในทางการแพทย์แนะนำว่าให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม ด้วยการให้ละหมาดที่บ้านไป

พอมาตรการดังกล่าวเป็นคำสั่งออกมา ไม่ใช่ว่าจะได้รับการตอบสนองเสียทีเดียว จนกระทั่งมีประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งปิดมัสยิดเพิ่ม เป็นการใช้อำนาจฝ่ายปกครองควบคู่ไปด้วย ทั้งหมดนี้จึงเป็นการใช้อำนาจอย่างระมัดระวังเพราะเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งเป็นทุนเดิม

 

COVID-19 ปะทะกระบวนการสันติภาพ

 

การเข้ามาของโควิด-19 ทำให้การจัดลำดับความสำคัญของคนเปลี่ยนไป คือต้องเลือกรักษาชีวิตไว้ก่อน ต้องลดการติดเชื้อ ทุกคนประเมินว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเสี่ยงมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการติดต่อทางสังคมที่สูง เป็นพื้นที่ที่คนข้ามประเทศกันบ่อย เงื่อนไขตรงนี้ทำให้กลุ่มติดอาวุธอย่าง BRN ที่ต่อสู้กับรัฐไทยมานานต้องออกมาพูดว่าเราต้องร่วมมือกับสาธารณสุข

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เราพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นในฝ่าย BRN ตั้งแต่การตกลงเข้าร่วมพูดคุยกับฝ่ายรัฐบาลอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากที่กระบวนการพูดคุยสันติภาพเริ่มๆ หยุดๆ มาหลายปี เราได้เห็นกระบวนการพูดคุยแบบปิดลับระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐไทยกับคนของ BRN ที่ยุโรป ปิดลับชนิดที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไทยบางส่วนก็ไม่รู้เรื่องนี้ด้วยซ้ำ และคนที่อำนวยความสะดวกในการพูดคุยก็เป็นองค์กรเอกชนในยุโรปที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศในยุโรป นี่คือการหลอมรวม peace process ไว้ด้วยกัน

ต่อมา BRN ยังมีการลงนามในเอกสารว่าจะให้ความคุ้มครองปกป้องเด็กในพื้นที่ ไม่ดึงเด็กเข้ามาในความขัดแย้ง ละเว้นการปฏิบัติการต่อเด็ก นี่เป็นแบบแผนที่ประชาคมระหว่างประเทศได้วางหลักการไว้ มันแสดงให้เห็นว่าแม้ BRN เป็นตัวแสดงที่กระทำผิดกฎหมายภายในประเทศ แต่กลับยอมรับกติกาสากลบางอย่าง

เพราะฉะนั้นการประกาศหยุดปฏิบัติการชั่วคราวในพื้นที่เพื่อให้เกิดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการแพทย์ในวิกฤติโควิด-19 ก็เป็นผลจากการตอบสนองข้อเรียกร้องของเลขาธิการสหประชาชาติเมื่อไม่นานมานี้ว่าให้มีการหยุดยิงของทุกฝ่ายทั่วโลก

BRN เองก็มีแถลงการณ์ว่าจะหยุดปฏิบัติการบนเงื่อนไขว่าหากไม่ถูกโจมตีจากรัฐไทย แต่เหมือนว่าทางรัฐไทยยังไม่ได้ตอบสนองมาก เราเห็นฝ่ายความมั่นคงอย่าง กอ.รมน. ยังคงปฏิบัติงานตามกฎหมายตามที่ตนเองมีอำนาจต่อไป ผมเข้าใจว่าในสถานการณ์แบบนี้ กอ.รมน.ก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะเขามีอำนาจอีกแบบ จึงเป็นภาวะที่ยังงงๆ กันอยู่

ที่น่าสนใจคือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีการใช้กฎหมายฉุกเฉินสองแบบซ้อนกันอยู่ แบบแรกเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งถูกร่างมาเพื่อใช้แทนกฎอัยการศึก และให้อำนาจ กอ.รมน. เป็นผู้ถืออำนาจ ต่อมาเมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาด ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินในอีกเงื่อนไขหนึ่ง มันจึงมีภาวะอิหลักอิเหลื่อว่าความสัมพันธ์ทางอำนาจตรงนี้จะเป็นแบบไหน

เนื่องจากกิจกรรมของ กอ.รมน. ยังมีอยู่ปกติ เช่น การปิดล้อมตรวจค้น การเก็บตัวอย่าง DNA ของชาวบ้าน และสิ่งที่ชาวบ้านกังวลตอนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องถูกจับ แต่เขากลัวติดโรคจากเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัยด้วย ความอิหลักอิเหลื่อที่ว่านี้ผมเข้าใจว่าอีกสักพักเราอาจได้เห็นการใช้กฎหมายที่ไม่ลงรอยกันมากขึ้น

 

COVID-19 เปลือยวิถีอำนาจนิยม

 

ในความขัดแย้ง 15 ปีที่ผ่านมา อำนาจแบบ top down คุมพื้นที่ไม่ได้ และนั่นเป็นเหตุที่ทำให้เราเห็นความขัดแย้งในชุมชนซ้อนอยู่หลายชั้น ตั้งแต่การควบคุมกิจกรรมและชีวิตของคนในพื้นที่ กิจกรรมในทางศาสนา สถานการณ์วันนี้ยิ่งทำให้เห็นว่ารัฐไทยยังไม่สามารถควบคุมชีวิตของคนในพื้นที่ได้เบ็ดเสร็จ

หลังวิกฤติโควิด-19 เราจะเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจ จะมีคนว่างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น เรายังไม่รู้ว่ามาตรการรัฐจะเป็นอย่างไร BRN จะปรับตัวอย่างไรต่อ แต่ที่เรารู้ตอนนี้คือสถานการณ์เช่นนี้ทำให้อำนาจรัฐทำงานเต็มที่

ต่อให้มีชาวบ้านไม่พอใจรัฐเรื่องการครอบครองดินแดนแบบที่ผ่านมา แต่ทุกคนกำลังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือด้านสาธารณสุข คำถามคือประเด็นเรื่องความจำเป็นพื้นฐานดังกล่าวนี้จะถูกยกไปเป็นประเด็นทางการเมืองต่อไปหรือไม่ ต้องตามต่ออย่างใกล้ชิด

อย่าลืมว่าเรามีอำนาจรัฐที่ซ้อนกันอยู่อย่าง กอ.รมน. อำนาจการทหาร และล่าสุดอำนาจทางการแพทย์ ไปจนถึงอำนาจทางการปกครองในพื้นที่ สถานการณ์เช่นนี้ถ้าไม่ระวังให้ดี ชาวบ้านจะมีทางเลือกจำกัดมาก

อำนาจจากส่วนกลางแบบที่รัฐไทยเคยชินกับการควบคุมประชาชน เราเห็นว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่นำร่องในการทดลองหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลชีวมาตร (เก็บ DNA) การเก็บข้อมูลโทรศัพท์ (ลงทะเบียนซิมการ์ด) ถ้าไปดูแผนงบประมาณจะพบว่ามีโครงการบูรณาการข่าวกรองของฝ่ายความมั่นคง จะเห็นว่ามีการรวมการเก็บ database เหล่านี้ไปด้วย และเรื่องอำนาจทางการแพทย์ที่อาจจะผนวกรวมไปกับอำนาจเหล่านี้ด้วย

ในทางการเมืองระหว่างประเทศ ก็มีการถกเถียงกันว่าโควิด-19 จะทำให้การคลี่คลายความขัดแย้งและดุลอำนาจระหว่างรัฐเปลี่ยนไปไหม เราเห็นจีนเป็นตัวแทนอำนาจแบบหนึ่ง เขาจัดการด้วยขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและควบคุมประชากรแบบหนึ่ง ขณะเดียวกันยุโรปและอเมริกาก็ควบคุมประชากรอีกแบบหนึ่ง ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการประชันขันแข่งว่าแนวทางใดจะมีประสิทธิผลมากกว่ากัน คล้ายกับแนวทางการจัดการความขัดแย้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นกระแสการจัดการที่มีความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้น เพราะฉะนั้นข้อเสนอเรื่องการจัดสรรอำนาจร่วมกัน (power sharing) ยิ่งเป็นไปได้ยากในรัฐอำนาจนิยม

ขณะที่รัฐไทยซึ่งมีลักษณะอำนาจนิยมอยู่แล้ว ทิศทางการรวมศูนย์อำนาจที่เอาความรู้ทางการแพทย์และการทหารมารวมกันก็เป็นประเด็นที่ควรกังวล ขณะที่รัฐไทยรู้ว่าการควบคุมพื้นที่เหล่านี้ต้องได้รับความร่วมมือและการส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้นการให้ท้องถิ่นมีที่ทางจัดการตัวเองก็อาจเป็นไปได้ เพราะเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินกว่าที่รัฐจะจัดการได้ทั้งหมด

ดังนั้นพลังทางสังคมต้องรู้เท่าทันการใช้อำนาจแบบนี้และตรวจสอบได้ การกระจายอำนาจ กระจายความรู้ ทั้งทางศาสนา และการจัดการชุมชน รวมถึงสิทธิเสรีภาพก็เป็นสิ่งที่จะมาจัดสมดุลการใช้อำนาจแบบเดิมของรัฐไทย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save