fbpx
“ต้องสั่นคลอนอำนาจรัฐ ประชาชนถึงมีอำนาจ” – นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

“ต้องสั่นคลอนอำนาจรัฐ ประชาชนถึงมีอำนาจ” – นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ธีรภัทร อรุณรัตน์ เรื่องและภาพ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่เคยร่วมต่อสู้กับเผด็จการ รสช. ก่อนที่อีก 2 ทศวรรษถัดมา เขาจะพาตัวเองเข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส. กลายเป็นเงื่อนไขให้สังคมไทยถอยหลังลงคลอง

วันนี้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ เขียนข้อความถึงคนรุ่นใหม่ลงเฟซบุ๊กเรื่อง คำขอโทษจากหัวใจ หลังพลังการชุมนุมของนักศึกษามาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพดานในการเรียกร้องประชาธิปไตยยกระดับไปถึงการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

“ไม่มีหรอกทางลัดสำหรับการสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในสังคม อำนาจพิเศษใดๆ เช่นรัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลเฉพาะกิจ ก็คืออีกอำนาจเผด็จการชนชั้นนำหนึ่งทั้งสิ้น ก้าวไม่ข้ามและวนในวงจรเดิม การเปลี่ยนแปลงใหญ่ต้องขยับจากฐานราก ต้องกระเพื่อมมาจากประชาราษฎร์ ต้องไม่ส่งไม้ผลัดให้กับทหารหรือชนชั้นนำ ต้องอดทนตามหนทางในระบอบประชาธิปไตยที่เคารพเสียงส่วนมากของสังคม”

แน่นอน, ไม่ใช่แค่คำขอโทษ แต่เขาประกาศเชื่อมตัวเองเข้ากับศักราชใหม่ของคนหนุ่มสาวอย่างชัดถ้อยชัดคำ

ผมก็ยืนยันที่จะเป็นอีกหนึ่งพลัง ในการร่วมขบวนการกับน้องๆ นักศึกษาในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยและสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไทยให้ก้าวข้ามจากอำนาจเผด็จการอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์”  ส่วนหนึ่งจากความในใจของเจ้าตัวที่ประกาศในโลกออนไลน์

101 สนทนากับ นพ.สุภัทร ที่กำลังยืนหยัดปกป้องทรัพยากรในอำเภอจะนะ – พื้นที่ทำงานและบ้านเกิดของเขาที่สุ่มเสี่ยงจะถูกเปลี่ยนให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กว่า 2 หมื่นไร่

จากจิ๊วซอว์เล็กๆ ระดับอำเภอ คำถามคือเขาขยายภาพมองภาพรวมระดับประเทศอย่างไรในการต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขาและคนรุ่นใหม่กำลังคิดฝัน

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

คุณหมอเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลและทำงานภาคประชาสังคมไปพร้อมกัน มองบทบาทตัวเองวันนี้อย่างไร

วันนี้หน้าที่ผมในโรงพยาบาล ทั้งผู้อำนวยการและแพทย์ลงตัวแล้ว อยู่มายี่สิบปี รู้ทุกซอกทุกมุม ผมบริหารงานทางโทรศัพท์ได้และรู้ว่าใครจะช่วยงานได้ตรงจุดไหน

ส่วนในชุมชน เรารู้จักกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้คนในพื้นที่ที่สามารถช่วยประสานงานสาธารณสุขได้ ทำให้ภาระในโรงพยาบาลไม่หนักเกินไป และมีเวลาทำส่วนที่สองโดยที่งานส่วนแรกไม่เสียหาย

งานส่วนที่สองนี่แหละที่มีความหมายกับตัวเองมาก ทั้งการทำให้พื้นที่จะนะเป็นพื้นที่สุขภาพยั่งยืน และเป็นการบอกกับวงการสุขภาพว่าต้องหันมาทำงานที่กว้างกว่ามดหมอหยูกยา ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะทางสังคม เราสร้างโมเดลให้กับเพื่อนได้ เช่น การติดโซลาร์เซลล์ที่โรงพยาบาลจะนะ เราอธิบายในเชิงลดค่าไฟของโรงพยาบาลและส่งเสริมพลังงานสะอาด รวมทั้งลดโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่จำเป็นว่าเป็นหมอแล้วต้องอยู่แต่ในโรงพยาบาลหรือรักษาโรคเท่านั้น

 

รัฐต้องการให้คุณหมอทำเกินหน้าที่ไหม

รัฐจะมองบทบาทของโรงพยาบาลเป็นแค่ตึกผู้ป่วยใน ห้องปฐมพยาบาล หรือดูแลผู้ป่วยที่มาถึงโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่ได้คิดถึงบทบาทเรื่องสิ่งแวดล้อมหรืองานทางสังคมกับชุมชนว่าเป็นสิ่งจำเป็นเหมือนกัน

โดยเฉพาะงานสิ่งแวดล้อมที่มีปฏิกิริยากับนโยบายของรัฐ จะยิ่งถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะไปยุ่ง บางคนอาจจะแอบชื่นชม แต่ในนามหน่วยงานรัฐอาจไม่ค่อยกล้ามาร่วมเท่าไหร่ เช่น การที่เราวิเคราะห์ว่านิคมอุตสาหกรรมเป็นภัยหรือเป็นคุณกับจะนะกันแน่ บทบาทเช่นนี้ส่วนราชการอื่นจะไม่กล้าเข้าร่วม

ทำไมคุณหมอถึงมีปัญหากับนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แล้วคนที่เห็นต่างเขามีปฏิกิริยาอย่างไร

ผมเห็นว่าเป็นภัยที่ใหญ่ที่สุดบนแผ่นดินจะนะในรอบ 30,000 ปี ตั้งแต่ยกตัวจากระดับน้ำทะเล

ในเชิงส่วนตัว ปรากฏการณ์ที่ชัดเจนที่สุดคือมีม็อบมาไล่ผมหน้าโรงพยาบาล ให้ผมออกจากพื้นที่เพราะถ่วงความเจริญของจะนะ นอกจากนั้นมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาเยี่ยมเยียนบ้างที่โรงพยาบาล

ในเชิงชุมชน ชาวบ้านโดนเยอะเหมือนกัน มีทหารตำรวจมาเยี่ยมที่บ้าน แม้จะมาโดยสุภาพแต่ก็เป็นการข่มขู่วิธีหนึ่ง

กรณีจะนะ ผมสรุปได้คำเดียวเลยว่าความเจริญของภาครัฐเป็น ‘คอนกรีตนิยม’ ทั้งการสร้างท่าเรือน้ำลึกก็เทคอนกรีตลงทะเล สร้างเขื่อนก็ตัดต้นไม้ทำลายป่าแล้วเทคอนกรีตขวางสายน้ำ สร้างนิคมอุตสาหกรรมก็เปลี่ยนแผ่นดินที่ปลูกต้นไม้ ต้นยาง ปลูกผักปลอดสารพิษ ฟักทอง แตงโม ให้เป็นลานคอนกรีตและโรงงาน

นิยามการพัฒนาแบบนี้เป็นรูปแบบของการทำลาย ทั้งที่โลกเปลี่ยนไปแล้ว เรามาถึงยุคที่เราต้องดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดี ต้องเลิกการพัฒนาขนาดใหญ่ เพราะมีส่วนที่ทำลายมากกว่าจะได้รับประโยชน์กลับมา โรงงานอายุ 30 ปีก็หมดสภาพและต้องไปสร้างที่อื่น

ฝ่ายชาวบ้านไม่ได้มีปัญหา ปัญหาอยู่ที่รัฐซึ่งมีวิธีคิดว่าการพัฒนานั้นต้องทำกำไร ต้องรวย ทั้งที่ชาวบ้านก็มีความสุขในระดับของที่คุณภาพชีวิตเพียงพอส่งลูกเรียนจบปริญญาตรี หรือส่งไปเรียนเมืองนอก มีเงินประกอบศาสนกิจ มีรถกระบะ ทีวี ตู้เย็น บางคนนอนห้องแอร์ แม้ภายนอกอาจดูไม่พัฒนา แต่แท้จริงรายได้เขามากกว่าค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทหลายเท่า จับปลาขึ้นมาที บางครั้งขายได้ตัวละเป็นพัน

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

คุณหมอเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลมาตั้งแต่ปี 2541 สัมผัสการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในพื้นที่อย่างไรบ้าง ทั้งโครงการโรงแยกก๊าซและโรงไฟฟ้าจะนะ

ขบวนภาคประชาชนที่ค้านโรงแยกก๊าซเข้มแข็งมาก ชาวบ้านห้าพันคนออกมาถือธงแดง ด้ามธงใหญ่มาก เป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่าเอาจริง เขาพร้อมปกป้องบ้านเกิด ผมคิดว่าชาวจะนะเป็นหนึ่งในขบวนภาคประชาชนที่เข้มแข็งที่สุดเลย แต่ภายหลังมา อำนาจรัฐจัดการชาวบ้านด้วยความรุนแรง เริ่มจากการทุบตีแล้วก็จับแกนนำ จากนั้นก็แจ้งความต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ตอนนั้นผมยังเด็กอยู่ แต่ก็ร่วมเป็นนักวิชาการทำข้อมูลในขบวน อ่าน EIA และให้ความรู้ชาวบ้าน วันที่เขาทุบแกนนำผมอยู่เวรพอดี ไม่ได้เข้าร่วม

นอกจากอำนาจรัฐ ยังมีการใช้อำนาจเงิน เช่น จ่ายชาวประมง 15,000 บาท เพื่อชดเชยเยียวยา พอชาวบ้านรับเงินไป ก็ไม่ได้ไปค้าน ที่สำคัญคือรัฐยังเอาทหารและตำรวจตระเวนชายแดนเป็นพันคนมาตั้งเป็นกองบัญชาการ ถึงกับนอนข้างโรงแยกก๊าซเพื่อให้ก่อสร้างได้ด้วย

อีกยี่สิบกว่าปีต่อมา รัฐยังใช้วิธีเดิมไหมกับกรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

วิธีที่รัฐใช้คล้ายกัน แต่ช่วงหลังก็ฉลาดขึ้น เรามีไครียะห์ เขาก็มีน้องยะห์อีกคนเหมือนกัน เรามีเฟซบุ๊ก เขาก็มีเหมือนกัน แต่สถานะที่ไม่เหมือนกับช่วงนั้นคือ ‘สื่อ’ กว่าเราจะได้ออกหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับยากมาก ข่าวสักสองสามข่าวได้ลงเราก็มีความสุขแล้ว แต่มันไม่พอสำหรับการสื่อสารต่อสังคม

ปัจจุบันการมีสื่อโซเชียลทำให้เราเป็นผู้สื่อข่าว บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเองได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ เช่น ภาพตำรวจเหน็บปืนที่ก้นไปตรวจค้นรถของชาวบ้านที่สตูลที่จะมาร่วมชุมนุมที่จะนะ หรือภาพเหตุการณ์ที่ชาวบ้านออกจากสตูลหกโมงเช้า สุดท้ายมาถึงจะนะบ่ายสามเพราะโดนตรวจทุกด่าน เรื่องราวแบบนี้ไม่มีทางเลยที่สื่อใหญ่จะเอาไปออก แต่เราสื่อสารผ่านสื่อโซเชียล ภาพพวกนี้ต้องสัมผัสได้จริง (real) เท่านั้นถึงจะออกมาแล้วมีพลัง

 

คราวที่จะเกิดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา คุณหมอผลักดันให้เกิดแผงโซลาร์เซลล์ที่โรงพยาบาล เพื่อแสดงให้เห็นว่าพลังงานสะอาดเป็นไปได้ นิคมอุตสาหกรรมคราวนี้จะทำอย่างไร

เป็นสิ่งที่ท้าทายความคิด ไม่เฉพาะผมเท่านั้น แต่เป็นทั้งขบวนการชาวบ้านและนักวิชาการที่ไม่เอานิคมอุตสาหกรรม เพราะการค้านถ่านหินนั้นง่ายและชัดเจนว่าทางออกของพลังงานสะอาดมีอยู่ อย่างแรกเราทำได้เองด้วยเงินบำรุงโรงพยาบาล 800,000 บาท ติดบนหลังคา 20 กิโลวัตต์ เล็กกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน 100,000 เท่า แต่ว่าเป็นวิธีคิดที่ใช่และมีความหวัง

กรณีนิคมอุตสาหกรรม จุดเด่นของเขามีข้อเดียวคือการสร้างงานแสนตำแหน่ง วิธีคิดเบื้องต้นของเราคือเป็นแนวคิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ใหญ่แต่ไม่ยั่งยืน คนที่ได้ประโยชน์เป็นข้างบน ชาวบ้านเป็นแค่ลูกจ้าง ขบวนการจะนะและเครือข่ายจึงตั้งองค์กรเถื่อนคือศูนย์อำนวยการบริหารจะนะยั่งยืน ล้อเลียนกับ ศอ.บต. นิดหน่อยเพื่อเปรียบเทียบกันว่าชื่อต่างกันนิดเดียว แต่ความคิดต่างกันมหาศาล ถ้าให้จะนะยั่งยืนต้องใช้วิธีคิด ‘small is beautiful’ กลับมาทำให้ผู้ประกอบการเล็กๆ ในชุมชนเติบโต

ส่วนวิธีคิดของ ศอ.บต. นิยามการพัฒนาเศรษฐกิจไม่เหมือนกัน เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบนายทุน ชาวบ้านเป็นแค่ลูกจ้าง อย่างนี้ไม่ได้ลดเงื่อนไขความขัดแย้งใดๆ เลย ถ้าเปลี่ยนความคิดมาเป็นพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ต้องค่อยๆ ทำ รีบไม่ได้ เพราะชาวบ้านต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตัวเอง เช่น โจทย์ที่ว่าคนรุ่นใหม่เรียนจบมา ทำยังไงให้เขากลับมาเป็นผู้ประกอบการที่บ้านได้ คำถามคือเขาจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างไร โจทย์เหล่านี้ต้องการกลไกบางอย่าง ซึ่งรัฐไม่ค่อยอยากทำ รัฐใช้วิธีง่ายๆ ง่ายๆ คือไปเชิญนักลงทุนจีนและบริษัทปิโตรเคมีมาทำนิคมเสียเลย ง่ายและเห็นผลในพริบตา แต่เรารู้ว่าไม่เป็นผลดีในระยะยาว เพราะพี่น้องจะตกงานและสูญเสียฐานทรัพยากรแบบกู่ไม่กลับ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

คุณหมอมองบทบาทของ ศอ.บต. ทั้งในการผลักดันนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และแก้ไขปัญหาสันติภาพอย่างไร

สั้นๆ คือผิดพลาดที่สุด การใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 มาตรา 10 เป็นครั้งแรกก็ไม่ควรใช้ในเรื่องแบบนี้ นิคมนี้เป็นของเอกชน เกี่ยวข้องกับอดีตสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งและบริษัทปิโตรเคมี ไม่ใช่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

ศอ.บต. แทนที่จะทำหน้าที่เป็นคนกลางหรืออยู่ตรงกลาง คอยดูว่านิคมมีปัญหาอะไรไหม แต่กลับเป็นหัวเรือใหญ่ ถือธงนำหน้าเลย แม้จะอ้างว่าเอกชนจะนำความเจริญมาสู่พื้นที่ก็ตาม แต่เป็นความเจริญแบบคุณพ่อรู้ดี

ศอ.บต. พยายามตอบโจทย์ผ่านการทำงานมวลชนในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่เป็นลักษณะปฏิบัติการจิตวิทยา ทำหน้าที่เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ และทำงานมวลชนแบบเดิมคือให้เงินสนับสนุนโครงการ 300,000 – 500,000 บาท หรือการช่วยเหลือชาวบ้านเป็นรายคน ซึ่งไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงถึงฐานราก คุณภาพชีวิตชาวบ้านไม่ได้ดีขึ้น

ศอ.บต. ยังไปไม่ถึงการสร้างสันติภาพ ถ้าจะไปถึงก็ยากเพราะเป็นปัญหาที่วิธีคิดของรัฐ รัฐกล้าส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนจริงๆ ไหม ศอ.บต. กล้าหยุดโครงการขนาดใหญ่ที่มาจากกรุงเทพไหม ทำไมถึงไม่หยุดโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี โดยกรมเจ้าท่าและกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งสร้างปัญหามากมายกับชาวประมง เพราะเขาหยุดไม่ได้ในเชิงกฎหมาย คนละกรม คนละกระทรวง แต่จริงๆ จะทำก็ทำได้ เพราะ ศอ.บต. และกอ.รมน. ก็มีอำนาจพิเศษในพื้นที่ แต่ความเป็นรัฐราชการไม่ต่างกัน

ในฐานะที่ร่วมก่อตั้ง Deep South Watch มองสถานการณ์ชายแดนใต้อย่างไร ทางออกอยู่ที่ไหน

สถานการณ์ดีขึ้นชัดเจน ขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มหลัก เรียนรู้ว่าการใช้ความรุนแรงไม่สามารถนำมาซึ่งเอกราชได้ เขาจึงใช้ความรุนแรงที่จำกัดกลุ่ม และทำงานเชิงการทูตมากขึ้น พยายามสร้างการยอมรับในต่างประเทศมากขึ้น แต่สำคัญอยู่ที่รัฐไทยจะปรับตัวอย่างไรกับสถานการณ์ที่ดีขึ้น จะทำอย่างไรให้มีสันติภาพได้โดยเร็ว

ปัญหารากฐานชายแดนใต้คือความเหลื่อมล้ำและการถูกปกครองโดยไม่เป็นธรรม เขารู้สึกว่ารัฐบาลไม่เข้าใจเขาในฐานะชาวบ้านและเป็นคนมุสลิมด้วย นี่คือสงครามความรู้สึก เราจะปลดปล่อยความรู้สึกชาวบ้านให้รู้สึกดีและอยากอยู่กับรัฐไทยอย่างไร

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรักษาฐานทรัพยากรให้สมบูรณ์ เพราะคน 3 จังหวัด 4 อำเภอ ชายแดนใต้มีชีวิตพึ่งพิงกับฐานทรัพยากร แต่กฎหมายของรัฐไทยแข็งตัว ใช้ทั้งประเทศ ไม่เอื้อให้ผู้คนใช้ชีวิตในวิถีที่เขาควรจะเป็น จะให้เขามาใช้ชีวิตแบบลูกจ้างในโรงงานอย่างเดียว ทุเรียนก็ไม่ให้เก็บ นาก็ทำไม่ได้ เพราะว่าถมดินจนทิศทางน้ำสับสน

อยากชวนคุณหมอทบทวนตัวเองสมัยเข้าร่วมกับ กปปส. วันนี้คิดอ่านตัวเองอย่างไร

ผมเข้าร่วมอย่างจริงจัง เป็นพวกที่ทำอะไรทำจริง ลงมือเต็มที่ไม่มีกั๊ก ไม่เป็นกลาง เพราะเป็นกลางไม่มีในโลก ต้องมีจุดยืนว่าจะเอาหรือไม่เอา

ตอนนั้น ในมุมของชมรมแพทย์ชนบทเขาเลือกจุดยืนแล้ว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือเผด็จการรัฐสภา เราต้องแยกระหว่างเสียงข้างมากกับเผด็จการรัฐสภา รัฐบาลเสียงข้างมากเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและเป็นความหวัง แต่เมื่อไหร่เสียงข้างมากในรัฐสภาไม่ฟังเสียงประชาชน ตัดสินอะไรเพื่อประโยชน์ของชนชั้นนำและทุนใหญ่ นี่คือเผด็จการซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นทหารที่มาจากรัฐประหารอย่างเดียว เผด็จการโดยพรรคการเมืองก็เช่นกัน

จุดยืนเราชัดเจนว่าเมื่อไหร่มีรัฐบาลที่มีแนวโน้มเป็นเผด็จการไม่ว่าจะมาจากไหน เราก็ควรจะแสดงปฏิกิริยาต่อรัฐบาลนั้น กรณี กปปส. ที่ผมเข้าไปร่วมเพราะเป็นหนึ่งในการสร้างขบวนการภาคประชาชน

ถ้าเปรียบเทียบในทางสุขภาพ จะแข็งแรงก็ต้องออกกำลังกาย ประชาธิปไตยจะแข็งแรง ประชาชนก็ต้องออกกำลังกายเช่นกัน ลำพังเลือกตั้งแล้วกลับไปนอนบ้านไม่ได้ ต้องแสดงออกเพื่อบอกถึงจุดยืนและเสียงของเราอย่างต่อเนื่อง เพราะเสียงของประชาชนมีความหมายมากกว่าผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่ชัดว่าพูดแทนเสียงของเราหรือเป็นความคิดตัวเอง หรือของพรรคกันแน่

กปปส. ผิดพลาดในตอนจบที่คุณสุเทพและผู้นำประเคนความหวังของประชาชนในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้กับทหารจนนำไปสู่การรัฐประหาร เราผิดหวังในด้านนี้ ผมและทีมก็ออกมาไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร

ตอนนั้นข้อเสนอของคุณหมอคืออะไร

เราต้องการการปฏิรูปขนานใหญ่และหาหลักประกันการปฏิรูปสังคมให้ได้ สายสิ่งแวดล้อมอย่างเราสู้กับโครงการขนาดใหญ่ที่กระทำกับชาวบ้านอย่างรุนแรงมาตลอด ไม่ว่ารัฐบาลไหน เพราะทุนใหญ่และรัฐไม่สนใจ เราคาดหวังการเปลี่ยนแปลงจริง แต่การรัฐประหารเป็นการเปลี่ยนแปลงจากข้างบน เปลี่ยนแปลงไม่จริง

มองว่าสถานการณ์ในช่วงนั้นเป็นทางตัน หรือยังไปได้อีก?

กลไกเหมือนปัจจุบันคือถูกครอบด้วยชนชั้นนำหมดแล้ว เราจะพึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ไหม พึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ไหม พึ่ง กกต. หรือศาลฎีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ไหม พึ่งไม่ได้ก็ต้องนำมาสู่ขบวนการภาคประชาชน ถ้าเรามีข้อเรียกร้อง 10-20 ข้อ แล้วขอให้ข้างบนเปลี่ยนหรือประทานมาให้มันไม่มีจริง ข้างบนจะจำยอมก็ต่อเมื่อข้างล่างเข้มแข็งและเอาจริง

ถ้าไม่มีการรัฐประหารตอนนั้น กปปส. และสังคมไทยจะเดินไปทางไหน

น่าสนใจมาก ถ้าไม่มีรัฐประหารตอนนั้น ผมคิดว่าอาจมีทางออกที่นึกไม่ถึงบางอย่างและเป็นไปได้หลายทาง รัฐบาลพระราชทานก็เป็นทิศทางที่เราไม่อยากได้ เพราะไม่แตกต่างจากการรัฐประหาร หรือไม่ก็อาจจะเกิดความโกลาหลอย่างยิ่ง เนื่องจากรัฐบาลทำหน้าที่ไม่ได้ ควบคุมสภาพในประเทศไม่ได้

ฝ่าย กปปส. เองก็จัดการประเทศไม่ได้หรอก เพราะองค์กรไร้เอกภาพและข้างในก็วุ่นวาย แต่ผมเชื่อว่าการจะเปลี่ยนแปลงต้องมีความโกลาหล และระหว่างนั้นสักช่วงหนึ่งจะเกิดอะไรบางอย่างขึ้นมา อาจเกิดปรากฏการณ์รัฐบาลนอกรูปแบบแล้วค่อยมาเจรจากัน

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ช่วงนั้นมีการเรียกร้องให้ใช้การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เป็นทางออก เพราะสันติที่สุด ตอนนั้นคุณหมอมีโจทย์นี้ไหม

ตอนนั้นผมสับสน กปปส. ชัดเจนว่าไม่เอาการเลือกตั้ง เพราะเลือกแล้วก็ได้ทีมและคนเดิม รวมทั้งวิธีคิดของสายพวกเราเองก็มองวิธีการที่จะทำอะไรก็ได้เพื่อชนะมากกว่าเป้าหมาย คือทำอย่างไรก็ได้อย่าให้มีการเลือกตั้ง สิ่งนี้ท้าทายวิธีคิดของผมมากเพราะตัวเองก็ชูป้ายเรียกร้องนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งมาตั้งแต่สมัยนักศึกษา

ผมคิดว่าในเงื่อนไขบริบทเวลาและสถานการณ์ขณะนั้นไม่ต่างจาก คสช. คือจัดการเลือกตั้งแบบที่เขาคุมสภาพได้ ถ้าเราได้รัฐบาลแบบเดิมจะยอมรับไหม ยอมรับก็ได้ แต่ต้องสู้กันไปอีก 4 ปี หรือไม่ยอมรับให้มีการเลือกตั้งก็ได้ เพราะสิ่งที่เราสู้อยู่คืออุดมคติของประชาธิปไตยที่ฟังเสียงประชาชน แต่คำว่าเสียงประชาชนไม่ใช่การผ่านกลไกอุปถัมภ์

ปัจจุบันเสียงของชาวบ้านในความเป็นจริงไม่ได้สวยใสเหมือนในตำรา จะลงเสียงเลือกตั้งเขาคิดหนักมากเพราะเจตจำนงเสรีไม่มีจริง ต่างคนอยู่ในระบบอุปถัมภ์ในชุมชน เขาต้องกู้เงินของนายทุนมาซื้อรถ ซื้อเรือ ยื่นเอกสารขอสงเคราะห์สวนยางแปลงใหม่ หรือขอเงินชดเชยน้ำท่วม ฯลฯ ต้องพึ่งพากำนันผู้ใหญ่บ้านเวลามีปัญหากับรัฐ ไม่เหมือนคนเมืองซึ่งอยู่ได้ด้วยตนเอง พึ่งพาคนอื่นน้อย

สมมติมีประชามติเรื่องนิคมอุตสาหกรรม คุณจะไม่ไปกาหรือ ยิ่งนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ยิ่งจบเลย เขาก็ต้องเลือกตามที่มีคนบอกให้เขาเลือกเพราะความจำเป็นในชีวิต

ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือกลับมาทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็งพอที่จะแสดงเจตจำนงเสรีของตัวเองให้ได้

คุณหมอทำยังไงให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง เป็นไปตามอุดมคติประชาธิปไตย

วิธีที่ผมใช้คือทำให้เขาเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในชุมชน เริ่มจากตรวจสอบอำนาจรัฐในโครงการที่จะกระทบชุมชน แล้วให้เขาส่งเสียงเพราะนั่นเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเขาที่สุด วิธีนี้จะทำให้เขากล้าพูดกับนายอำเภอ กล้าพูดกับกรมกองต่างๆ กล้าที่จะประสานงานและสร้างเครือข่ายกับนักวิชาการเพื่อทำข้อมูลให้แน่นขึ้นแล้วไปต่อรอง

จิตวิญญาณแบบนี้แหละจะเป็นฐานให้เขาไปทำเรื่องอื่นต่อไป อาจจะมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่ดีกว่าหลังจากเห็นแล้วว่าโครงสร้างอำนาจแบบนี้ไม่เอื้อกับภาคประชาชนก็ได้

เขาอาจจะไม่ได้เริ่มต้นที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือปฏิรูปการศึกษา หรือผลักดัน พ.ร.บ.สวัสดิการแห่งรัฐ เรื่องเหล่านี้ค่อนข้างไกลตัวและฟังยากสำหรับพวกเขา เพียงแต่ว่าเป็นหน้าที่พวกเราในฐานะนักกิจกรรมที่ต้องเชื่อมชาวบ้านในฐานสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนเชิงโครงสร้างข้างบน ถ้าเชื่อมกันได้จะมีพลัง

ช่วงที่ผ่านมา มองการเข้ามาของพรรคการเมืองใหม่ๆ อย่างอนาคตใหม่หรือก้าวไกลอย่างไรบ้าง

เป็นความหวังที่สำคัญมากของสังคม ยุครัฐบาลทักษิณก็เป็นความหวังนะ มีนโยบายในเชิงแคมเปญชัดเจน แต่ยังเป็นการเมืองเก่าที่ใช้กลไกหัวคะแนนให้ได้เสียงมา ทั้งหัวคะแนน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรืออำนาจรัฐในพื้นที่ คำพูดอย่าง “เงินไม่ไปกาไม่เป็น” ก็เป็นความจริง เพราะหัวคะแนนรับเงินมาแล้วต้องเอาเงินไปแจก ไม่แจกก็โดนยิง

แต่ปรากฏการณ์อนาคตใหม่ชัดมาก เป็นการก้าวข้ามระบบหัวคะแนน เพราะใช้สื่อโซเชียลสร้างกระแส ผู้สมัครเรายังไม่รู้จักเลยแต่เราเลือกเพราะอุดมคติบางอย่าง แม้เราไม่ได้ถูกใจนโยบายเขาทุกเรื่อง เรื่องการปกป้องฐานทรัพยากรของชาวบ้านมีน้อยมาก แต่ต้องเลือกเพราะเป็นกลไกการหาเสียงที่ก้าวข้ามระบบอุปถัมภ์เดิม

ส่วนเพื่อไทยวันนี้ ตอบได้ชัดเจนว่าน่าผิดหวัง อุตส่าห์ได้เสียงมากที่สุดในสภา แต่ทำเหมือนไม่มีเสียงและไม่สะท้อนเสียงของผู้คน แม้แต่เสียงของพี่น้องภาคเหนือ-อีสานที่เลือกมา ก็ไม่ได้นำเสนอความคิดใหม่ๆ ให้แก่สังคมเลย

เอาง่ายๆ อย่างคำถามว่าภาคเหนือ อีสาน หรือภาคใต้จะพัฒนาไปในทางไหน ทุกพรรคก็ต้องทำการบ้าน แต่ปัจจุบันพรรคการเมืองอ้อมแอ้มๆ เพราะประเทศไทยถูกปกครองโดยรัฐราชการ พรรคการเมืองมีหน้าที่ทำตามนโยบายของรัฐราชการ ซึ่งมันไม่ใช่ เขาได้เสียงเราไปต้องกล้าหาญในการเสนอนโยบาย สองพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์จึงน่าผิดหวัง

ยังคิดว่ารัฐสภาเป็นความหวังในการเปลี่ยนประเทศได้ไหม

คิดครับ การเมืองระบบรัฐสภาเป็นความหวังแน่นอน แต่ต้องมีขบวนภาคประชาชนที่เข้มแข็งในการหนุนเสริมด้วย เพราะพรรคการเมืองฝ่ายค้านในรัฐสภาเขาก็มีความยากลำบากในการสู้กับพรรครัฐบาลและราชการ เพราะฉะนั้นภาคประชาชนคือกำลังสำคัญที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงกับพรรคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองไม่สนใจขบวนประชาชน ไม่มีวันสู้ราชการได้หรอก ผมก็เป็นหนึ่งในกลไกรัฐ ผมรู้ดี นโยบายหลายอย่างสั่งมามันไร้ความหมายเพราะเป็นนโยบายที่ราชการไม่ปฏิบัติ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ในฐานะที่เคยเป็นนักกิจกรรมในรั้วอุดมศึกษา มองขบวนการนักศึกษาช่วงนี้อย่างไรบ้าง

เป็นยุคที่เบ่งบานอีกครั้งหนึ่งของขบวนการนักศึกษาอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะห่อเหี่ยวไปพักใหญ่ตั้งแต่สมัยพฤษภาคม 2535 จากที่ขบวนการนักศึกษาเติบใหญ่ หลังจากนั้นค่อยๆ ซาลงๆ แล้วปรากฏการณ์ที่นักศึกษาออกมาไม่เอา คสช. ก็เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดในรอบ 10-20 ปี ซึ่งน่าทึ่งและน่าชื่นชม ผมคิดว่านี่แหละเป็นอีกขบวนที่จะสั่นคลอนอำนาจรัฐ

ต้องสั่นคลอนอำนาจรัฐ ประชาชนถึงมีอำนาจ ถ้าอำนาจรัฐแข็งแกร่ง เสียงของเราจะไม่มีวันต่อรองกับเขาได้ เราทำได้เพราะอำนาจรัฐช่วงนั้นอ่อนแอ เสียงประชาชนเลยแข็งแรง ทุกอย่างสัมพัทธ์กัน

ผลลัพธ์ที่สำคัญยิ่งของขบวนนักศึกษาในระยะยาวคือนักศึกษาที่เคยแสดงออกจะกลายเป็นพลเมืองและนักกิจกรรมซึ่งจะมีผลในอีก 20 ปีข้างหน้า

จากคนที่เคยผ่านการต่อสู้กับเผด็จการ รสช.จนวันนี้เป็นเผด็จการ คสช. คุณหมอมีบทเรียนอะไรที่อยากให้กับคนรุ่นใหม่ไหม

ตอนที่ผมต่อต้าน รสช. 2 วันหลังการรัฐประหารในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 นักศึกษารามคำแหง 15 คนที่แสดงออกไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหารโดนจับเข้าคุก ผมอยู่จุฬาฯ เพิ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกอบจ. ยังไม่ได้ถูกแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ เรารวมตัวนัดแถลงข่าว 4 คนใต้ตึกจุลจักรพงษ์ เพราะถ้าเกิน 5 คนจะผิดกฎอัยการศึก เรามีเพื่อนอีก 10-20 คนมาห้อมล้อมแต่ว่าไม่เข้าร่วม

เราแถลงข่าวเรียกร้อง 2 ข้อ คือ หนึ่ง ยกเลิกกฎอัยการศึก แต่เราก็ยังไม่กล้าเรียกร้องให้คืนอำนาจจากการรัฐประหาร สอง ให้ปล่อยตัวนักศึกษาราม หลังจากการแถลงข่าวเราก็ทำกิจกรรมทั้งติดโปสเตอร์ในมหาวิทยาลัยบ้าง จัดเสวนาบ้าง กวนแป้งเปียกไปติดนอกมหาวิทยาลัยบ้าง ร่วมขบวนกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และเพื่อนๆ ธรรมศาสตร์ หลักการของผู้มีอำนาจน้อยกว่าคือ “แซะไปเรื่อย” ทั้งเช้าทั้งเย็น ทุกวัน ให้มันรู้ไป ไม่ต้องคิดเรื่องชัยชนะ แต่สู้เต็มที่ ทำหน้าที่ในสิ่งที่เราเชื่อ

วันนั้นไม่คิดว่าจะได้รับชัยชนะ ตอนแรกที่ทำก็เหนื่อยยาก ไม่เห็นแววเลย เพราะอำนาจเผด็จการแข็งแรงมาก แต่ไม่คิดว่าหลังจากรัฐประหารปีเดียวผู้คนลุกตื่น พอได้สุจินดา คราประยูร กลับมาเป็นนายกฯ ก็เกิดม็อบมือถือ-พฤษภา 2535

ผมคิดว่าการต่อสู้อย่าไปมุ่งเป้าที่ชัยชนะ เพราะเราจะไม่สนใจวิธีการ หัวใจคือเราทำหน้าที่ ถ้าเราใช้ทุกวิชาเพื่อชัยชนะ ขบวนเราจะสูญเสียการยอมรับจากสังคม เพราะสิ่งที่เราต้องการคือการยอมรับจากสังคมว่าเราอยู่ในจุดยืนและวิธีการที่ถูกต้อง แต่การแสดงออกด้วยสิทธิของเราถูกต้องอยู่แล้ว แม้ว่าจะผิดกฎหมาย แต่กฎหมายมันไม่ถูก สิทธิของเราใหญ่กว่า เรื่องพวกนี้นักศึกษาต้องแสดงออกให้มาก เพราะพวกเขาคือธงนำของสังคม ออกมาก่อนแล้วคนอื่นจะตามมา

หลังปี 2535 คนเชื่อกันว่าทหารจะไม่ยุ่งการเมืองแล้ว แต่ปัจจุบันตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง บทเรียนนี้สอนอะไร

ผมก็คิดว่าจะไม่มีรัฐประหารแล้วจริงๆ ทุกคนเชื่อเช่นนั้น แต่อาจจะด้วยภาคประชาชนไม่ได้เข้มแข็งจากฐานรากจริงๆ ขบวนการพฤษภาคม 2535 ก็เหมือนแฟลชม็อบแบบหนึ่ง แต่ยาวนานหน่อย แต่ขบวนการที่แท้จริงมันไม่เกิด ทุกคนแยกย้ายกลับไปทำงานและฝากความหวังให้รัฐบาลเลือกตั้งเหมือนเดิม จากนั้นรัฐราชการก็ค่อยๆ สยายปีกกลับมาใหม่ พรรคการเมืองก็จูบปากกับราชการเสียเยอะ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save