fbpx

นโยบายแจกเงินสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจได้จริงไหม? ย้อนมองกรณีศึกษาญี่ปุ่นและจีน

บัดนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะแม้หลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ หรือนักวิเคราะห์ จะแสดงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า สภาพเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติหนักถึงขนาดที่ต้องใช้การกระตุ้นอุปสงค์มวลรวม ผ่านมาตรการที่ต้องใช้การกู้เงินจำนวนมหาศาลถึง 6 แสนล้านบาท

มาตรการที่สร้างภาระทางคลังสูงขนาดนี้ย่อมถูกคาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคในปีหน้าเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งหากเป็นไปตามที่รัฐบาลวาดฝันไว้ จีดีพีของไทยในปีหน้าจะโตถึงร้อยละ 5 และเกิดโมเมนตัมที่ส่งต่อให้จีดีพีในปีถัดๆ ไปเติบโตตามในอัตราเดียวกัน

คำถามที่ประชาชนอยากรู้ในวันนี้คือ มาตรการแจกเงินของรัฐบาลจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีได้หรือไม่ นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยนี้จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มกับราคาที่คนไทยในวันข้างหน้าต้องจ่าย เพื่อชำระหนี้ที่รัฐบาลก่อในวันนี้หรือไม่

แม้วันนี้เราจะไม่มีลูกแก้ววิเศษที่สามารถมองเห็นอนาคตล่วงหน้า แต่เราสามารถจินตนาการถึงผลสัมฤทธิ์ของมาตรการแจกเงินต่อจีดีพีได้ ผ่านการถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ที่เคยใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะที่คล้ายๆ กันนี้ อาทิ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1999 ที่รัฐบาลได้แจกคูปองเงินสดมูลค่า 20,000 เยน หรือประมาณ 200 เหรียญสหรัฐฯ (ตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น) ให้กับครอบครัวที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยแต่ละครอบครัวจะได้คูปองตามจำนวนเด็กที่อยู่ในวัยดังกล่าว นอกจากครัวเรือนที่มีเด็กเล็กแล้ว รัฐบาลยังแจกคูปองให้กับกลุ่มประชากรสูงวัยที่เข้าเกณฑ์รับสิทธิ์อีกด้วย ซึ่งผู้ที่ได้รับคูปองมีจำนวน 32 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด โดยงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการแจกคูปองนี้อยู่ที่ 6.2 แสนล้านเยน หรือราว 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 

เห็นได้ว่าโครงการแจกคูปองเงินสดของญี่ปุ่นในปี 1999 นี้มีความละม้ายกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทยหลายประการ ไม่ว่าจะเรื่องงบประมาณที่ใช้ จำนวนประชากรที่เข้าเกณฑ์ได้รับแจกคูปอง และข้อกำหนดของการใช้คูปอง ที่จำกัดให้ใช้ได้เฉพาะร้านค้าในชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งการจำกัดระยะเวลาใช้คูปองไว้ที่ 6 เดือน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่งานศึกษานี้ถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบกับนโยบายพรรคเพื่อไทยในพื้นที่สื่อบ้านเราในช่วงเดือนที่ผ่านมา

Hsieh, Shimizutani and Hori ได้ประเมินผลสัมฤทธิ์ของนโยบายแจกคูปองเงินสดนี้ไว้ในบทความ ‘Did Japan’s shopping coupon program increase spending?‘ ที่ได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of Public Economics เมื่อปี 2010 ซึ่งงานวิจัยนี้ไม่พบหลักฐานในทางสถิติที่ยืนยันได้ว่า การแจกคูปองช่วยกระตุ้นให้ประชาชนเพิ่มการใช้จ่ายอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม

อย่างไรก็ดี หากเจาะดูรายจ่ายครัวเรือนตามประเภทสินค้า ผู้วิจัยกลับพบว่าในเดือนมีนาคม ที่รัฐบาลได้เริ่มกระจายคูปองให้กับประชาชนนั้น การใช้จ่ายของครัวเรือนในสินค้าประเภทกึ่งคงทนมีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับรายจ่ายในเดือนกุมภาพันธ์ ร้อยละ 1.3 (ระดับนัยสำคัญทางสถิติเท่ากับ 5 %)

แม้การใช้จ่ายในเดือนมีนาคมจะปรับเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ผู้วิจัยกลับพบว่า ครัวเรือนลดการซื้อสินค้าในกลุ่มนี้ลงในเดือนพฤษภาคม และต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม นั่นหมายความว่า ครัวเรือนเพียงแค่เลื่อนเวลาการซื้อสินค้ากึ่งคงทนให้เร็วขึ้น มาเป็นช่วงเดือนมีนาคมที่ได้รับคูปอง และลดการซื้อสินค้าประเภทนี้ในเวลาต่อๆ มาลง  พฤติกรรมเช่นนี้สะท้อนว่า มาตรการแจกคูปองเงินสดก่อให้เกิดการทดแทนการบริโภคข้ามเวลา หรือ Intertemporal Substitution แต่ไม่ได้จูงใจให้คนจับจ่ายซื้อสินค้ามากขึ้นแต่อย่างใด

ผู้วิจัยยังทำการคำนวณการตอบสนองของการบริโภคครัวเรือนต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากคูปองเงินสด หรือที่เรียกกันว่า ‘แนวโน้มการบริโภคหน่วยสุดท้าย’ (Marginal propensity to consume หรือ MPC) ไว้ด้วย โดย MPC ที่คำนวณได้มีค่าเท่ากับ 0.09 ในเดือนมีนาคม ซึ่งการใช้จ่ายในสินค้ากึ่งคงที่มีการเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ และค่า MPC ที่คำนวณได้ในเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคมมีค่าลดหลั่นลงไป จากบวกปริ่มๆ ค่อยปรับลดลงจนกลายเป็นลบในที่สุด โดยค่าของ MPC ที่คำนวณได้ เท่ากับ 0.06, -0.02, -0.03 และ -0.01 ตามลำดับ (ค่า MPC ที่ติดลบนั้นบ่งบอกว่าครัวเรือนที่ได้รับคูปองใช้จ่ายสินค้ากึ่งคงทนในเดือนดังกล่าว ลดลงกว่าที่เคยใช้จ่ายในเดือนกุมภาพันธ์)

ตัดมาที่ปี 2020 ที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จนขยายตัวกลายมาเป็นวิกฤติเศรษฐกิจระดับโลก ซึ่งในปีนั้นประเทศจีนประสบภาวะเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง โดยในไตรมาสแรกของปี GDP หดตัวในอัตราร้อยละ 6.8 อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสู่อัตราร้อยละ 6.2 ช่วงเวลาดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษ

เพื่อเป็นการพยุงเศรษฐกิจไม่ให้หดตัวไปกว่านี้ รัฐบาลและภาคเอกชนได้ออกคูปองดิจิทัลมูลค่ากว่า 19,000 ล้านหยวน หรือราว 85,000 ล้านบาท เพื่อการจับจ่ายในกว่า 100 เมือง 28 มณฑล  

โครงการนี้มีความต่างจากการแจกคูปองเงินสดของญี่ปุ่น (และเงินดิจิทัลของไทย) อยู่มาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้รายละเอียดของโครงการโดยสังเขปก่อน และเนื่องจากการแจกคูปองดิจิทัลนี้ดำเนินการโดยรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งแจกเงินในจำนวนที่แตกต่างกันไปในแต่ละรอบ แต่ลักษณะสำคัญของแต่ละท้องที่จะคล้ายคลึงกัน ในบทความนี้จะขอเลือกโครงการแจกคูปองดิจิทัลในเมืองหางโจวมาเป็นตัวอย่าง

รัฐบาลของหางโจวได้ประกาศโครงการแจกคูปองดิจิทัลเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อบริโภคโดยใช้งบประมาณ 500 ล้านหยวน โดยเริ่มกระจายคูปองตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2020 และหมดเขตการใช้คูปองในวันที่ 31 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ชาวเมืองหางโจวทุกคน (จำนวนราว 10 ล้านคน) จะมีสิทธิ์ที่จะได้รับคูปองนี้

ในรอบแรก รัฐบาลกระจายคูปอง 2 ล้านชุดให้กับประชาชนในตอนเช้าวันที่ 27 โดยแต่ละชุดประกอบด้วยคูปอง 5 ใบ ที่ประชาชนสามารถใช้ซื้อของตามร้านค้าในเมืองหางโจว แต่ไม่สามารถใช้เพื่อซื้อของออนไลน์ได้ และรัฐบาลตั้งเงื่อนไขการใช้คูปองว่า รัฐบาลจะสมทบจ่าย 10 หยวน ก็ต่อเมื่อมีการใช้จ่ายถึง 40 หยวน และผู้มีคูปองสามารถใช้คูปองได้เพียงใบเดียวในการซื้อสินค้าแต่ละครั้ง

สมมติว่าผู้ได้รับชุดคูปองรอบแรกไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในวันที่ 30 มีนาคม มูลค่า 78 หยวน โดยตามเงื่อนไข RMB 40-10 ผู้ใช้คูปองจะควักกระเป๋าจ่าย 68 หยวน และใช้คูปอง 10 หยวน (ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายเงินโดยตรงให้กับร้านค้าเอง)

เงื่อนไขนี้ละม้ายคล้ายโครงการ ‘คนละครึ่ง’ โดยมีความต่างกันตรงที่สัดส่วนเงินที่รัฐจ่ายเงินสมทบให้ไม่เท่ากันกับเงินที่ประชาชนควักกระเป๋าจ่ายเอง นอกจากนี้จำนวนเงินที่รัฐบาลจ่ายสมทบถูกกำหนดให้มีมูลค่าตายตัว คือในรอบแรกนี้ คูปองชุดหนึ่งได้รับเงินสมทบจากรัฐ 50 หยวนต่อราย ซึ่งไม่ใช่จำนวนเงินที่มากมายแต่อย่างใด (RMB 50 เท่ากับ USD 7 ในเวลานั้น หรือไม่ถึง 300 บาท) และชุดคูปองในรอบแรกนี้สามารถใช้จ่ายได้ภายใน 7 วันนับจากที่ได้รับแจก

ในรอบที่สอง รัฐบาลกระจายคูปองในวันที่ 3 เมษายน เป็นจำนวน 1.5 ล้านชุด ในแต่ละชุดมีคูปองสามชุดด้วยกัน ชุดแรกเป็นชุด RMB 100-20 นั่นคือหากใช้จ่าย 100 หยวน รัฐจะสมทบให้ 20 หยวน ชุดที่สองคือ RMB 200-35 และชุดที่สามคือ RMB 300-45 รวมเงินสนับสนุนจากรัฐบาลในรอบนี้เท่ากับ 100 หยวน ต่อชุดคูปอง การกระจายคูปองในรอบนี้ยังบังคับให้ผู้รับใช้คูปองภายในระยะเวลา 7 วัน เช่นเดิม นั่นคือหากใครที่ได้รับคูปองแล้ว ก็ต้องใช้คูปองให้หมดภายในวันที่ 9 เมษายนเท่านั้น

รัฐบาลแจกคูปองเป็นรอบที่สามในวันที่ 10 เมษายน โดยเงื่อนไขการใช้คูปองและมูลค่าเงินสมทบเป็นเช่นเดียวกันกับคูปองที่แจกในรอบแรก

รัฐบาลหางโจวแจกดิจิทัลคูปองผ่านทาง Alipay โดยผู้ที่ต้องการคูปองต้องเข้าไปกดรับคูปองทางแอปในมือถือ ในรอบแรกของการแจกชุดคูปอง ใช้เวลาเพียง 38 นาที คูปองทั้ง 2 ล้านชุดก็ถูกแจกจ่ายไปจนครบจำนวน ในรอบที่สองและรอบที่สามนั้น ชุดคูปองถูกกระจายไปหมดภายในเวลาไม่ถึง 3 นาทีและ 2 นาที ตามลำดับ เห็นได้ว่าประชาชนให้ความสนใจ ขอรับคูปองดิจิทัลเป็นจำนวนมากในแต่ละรอบ

งานวิจัยของ Liu, Shen, Li and Chen (2021) พบว่า ในการกระจายคูปองรอบแรกนั้น คนที่ได้รับดิจิทัลคูปองมีการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสูงขึ้น 125 หยวน (เทียบกับคนที่ไม่ได้รับคูปอง) คิดคำนวณจากการใช้คูปองโดยเฉลี่ยคนละ 3.5 คูปองต่อคนต่อสัปดาห์ (เพราะบางคนไม่ได้ใช้คูปองครบทั้ง 5 ใบในช่วง 7 วัน) นั่นหมายความว่ารัฐบาลท้องถิ่นจ่ายเงินอุดหนุนการใช้จ่ายประชาชนคนละ 35 หยวน (3.5 คูปองคูณด้วย 10 หยวน)

เนื่องจากเงินอุดหนุนจากรัฐคือรายได้ที่เพิ่มขึ้นของประชาชน ดังนั้นเงินอุดหนุนรายหัว 35 หยวน นำมาซึ่งการใช้จ่ายส่วนเพิ่ม 125 หยวน นั่นหมายความว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้น 1 หยวน จะก่อให้เกิดการใช้จ่ายของเอกชนที่เพิ่มขึ้น 3.57 หยวน (125/35) งานศึกษานี้จึงสรุปว่าค่า MPC ของผู้ได้รับดิจิทัลคูปองในรอบแรกนี้เท่ากับ 3.57

ยิ่งไปกว่านั้น การแจกคูปองดิจิทัลในรอบสองที่มีเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบในอัตรา 35:200 หยวน ผู้วิจัยคำนวณได้ว่าค่า MPC ของผู้ได้รับคูปองมีค่าสูงถึง 5.8 เลยทีเดียว

สังเกตได้ว่าทั้งสองงานวิจัยที่หยิบยกมาเล่าให้กับท่านผู้อ่านล้วนทำการคำนวณค่า MPC ของผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายแจกเงิน นั่นเป็นเพราะว่าค่า MPC มีนัยเชิงนโยบายต่อการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะ MPC เป็นตัวกำหนดสำคัญของ ‘ตัวคูณทวีทางการคลัง’ 

กล่าวคือเมื่อรัฐบาลเติมเงินเข้ากระเป๋าประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คนที่ได้รับเงินจะนำเงินไปใช้จ่าย ยิ่ง MPC มากเท่าไหร่ สัดส่วนการใช้จ่ายต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นยิ่งมากตาม (ในทางกลับกัน เงินที่ถูกเก็บออมไว้ ไม่ใช้จ่าย ก็จะมีสัดส่วนน้อย) ทำให้มีเงินจำนวนมากกระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค 

การใช้จ่ายที่เกิดขึ้นสร้างรายได้ให้กับคนอีกกลุ่มในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งหากคนกลุ่มนี้มีค่า MPC สูง คนกลุ่มนี้ก็จะนำรายได้ที่เพิ่มไปใช้จ่ายต่อในสัดส่วนที่สูงด้วยเช่นกัน เงินที่รัฐบาลแจกก็จะหมุนวนกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง

ดังนั้น เศรษฐกิจที่ประชาชนมีค่า MPC สูง เงินที่รัฐใส่เข้าไป จะหมุนกลับเข้ามาใช้จ่ายในระบบหลายรอบ สร้างให้เกิดรายได้และการผลิตในมูลค่าที่สูงเป็นทวีคูณ

กล่าวได้ว่า มาตรการกระเป๋าเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยนั้นจะกลายเป็น ‘พายุหมุน’ ทางเศรษฐกิจ ผลักดันให้ GDP เติบโตแบบก้าวกระโดดได้นั้น ประชาชนไทยจำต้องมีค่าตัวคูณทวีทางการคลัง (และค่า MPC) ที่สูงมาก

เมื่อเราย้อนกลับไปดูค่า MPC จากงานวิจัยทั้งสอง จะพบว่าในกรณีศึกษาคูปองเงินสดของประเทศญี่ปุ่นนั้น MPC ที่คำนวณได้มีค่าต่ำมาก บอกให้เราทราบว่าตัวคูณทวีของมาตรการแจกเงินจะมีค่าต่ำตามไปด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกว่ามาตรการแจกคูปองเงินสดในปี 1999 ไม่สามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตได้ดังคาด ต่างจาก MPC ที่คำนวณจากกรณีศึกษามาตรการคูปองดิจิทัลเมืองหางโจว ที่มีค่าสูงถึง 3.57-5.8

อย่างไรก็ดี เราคงไม่สามารถสรุปในทันทีได้ว่า ค่า MPC ที่สูงเกิน 1 นี้จะสร้างพายุหมุนทำให้เศรษฐกิจเมืองหางโจวเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผลผลิตแท้จริงของเมืองหางโจวเติบโตในอัตราเพียงร้อยละ 3.5 ในปี 2020 ซึ่งต่ำกว่า อัตราเติบโตร้อยละ 6.8 ในปี 2019 มาก (แต่หากไม่มีการแจกคูปองดิจิทัล อัตราการขยายตัวของผลผลิตแท้จริงอาจตกต่ำกว่านี้ หรืออาจติดลบก็เป็นได้)

สิ่งที่เราสามารถถอดเป็นบทเรียนจากการใช้นโยบายแจกคูปองดิจิทัล พอสรุปโดยสังเขปได้ดังนี้

  1. ค่า MPC สูงกว่า 1 นั้นเป็นผลของการออกแบบวิธีใช้คูปอง เพราะรัฐบาลจีนต้องการให้คนนำเงินที่เก็บออมไว้ออกมาใช้จ่ายในช่วงวิกฤติ ดังนั้นคนที่จะใช้คูปองเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า จำต้องควักกระเป๋าใช้เงินตัวเองด้วย และต้องใช้ในสัดส่วนที่มากกว่าเงินอุดหนุนที่ภาครัฐแจกให้ (ในสัดส่วน 40:10 ในรอบแรกและรอบสาม หรือ ในสัดส่วน 125:35 ในรอบสอง) ในเงื่อนไขนี้ จะเห็นได้ว่า มีความแตกต่างจากการแจกเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยมาก เพราะผู้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ต้องใช้เงินของตัวเองเลย ในเวลาที่นำเงินดิจิทัลออกจับจ่าย ดังนั้นค่า MPC ของการใช้เงินดิจิทัลจะไม่มีทางเกิน 1 แบบที่พบในกรณีของประเทศจีนได้
  2. คูปองดิจิทัลนี้ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวจีนนำเงินออมออกมาใช้จ่ายในช่วงวิกฤติ เพราะค่านิยมเรื่องความมัธยัสถ์ถือเป็นอัตลักษณ์ของชาวจีนมาแต่โบราณ ดังนั้นเพื่อให้คนยอมควักกระเป๋าเอาเงินที่ออมไว้มาใช้จ่าย ต้องใช้สิ่งล่อใจ ซึ่งรัฐบาลใช้หลักจิตวิทยาที่เรียกว่า Loss framing effect เป็นเครื่องมือ กล่าวคือสร้างสถานการณ์ที่ทำให้คนรู้สึกว่าคูปองดิจิทัลนี้ไม่ใช่จะได้มาง่ายๆ (ต้องวัดดวงกันลงทะเบียนรับสิทธิ์) แถมยังมีอายุการใช้งานเพียงแค่ 7 วัน ดังนั้นถ้าได้คูปองดิจิทัลแล้วไม่รีบใช้ก็จะสูญสิทธิประโยชน์นั้นไป ความกลัวจะสูญเสียนี้ส่งผลกระตุ้นให้คนที่มีคูปองนำเงินที่ออมไว้ออกมาใช้คู่กับคูปองดิจิทัลนั่นเอง

เมื่อย้อนมามองเทียบกับเงื่อนไขการใช้เงินดิจิทัลของไทยที่แจกให้กับผู้ที่ผ่านเกณฑ์และมีระยะเวลาการใช้เงินยาวถึง 6 เดือน จึงคิดว่าเงินดิจิทัลจะไม่สามารถสร้าง Loss framing effect ที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายดังในกรณีคูปองดิจิทัล

แม้ว่างานวิจัยของ Liu, Shen, Li and Chen (2021) จะพบว่าประชาชนชาวเมืองหางโจวตอบสนองต่อคูปองดิจิทัลด้วยการจับจ่ายเงินเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงการหมุนเงินเพียงรอบเดียว งานวิจัยไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า ในที่สุดแล้วเม็ดเงินจะหมุนวนในระบบเศรษฐกิจได้กี่รอบ สร้างให้เกิดมูลค่าการใช้จ่าย และการผลิตมากเพียงใด แต่หากคิดวิเคราะห์จากอุปนิสัยของชาวจีนแล้ว เชื่อว่าคงไม่ได้มีการใช้จ่ายต่อจากรอบแรกนี้มากเท่าใด เพราะด้วยสภาพเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากการระบาดของโควิด-19 ร้านค้าที่มียอดขายเพิ่มขึ้นจากมาตรการคูปองดิจิทัลน่าจะเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ไว้เป็นเงินออมเผื่อฉุกเฉิน มากกว่าเอาไปจับจ่ายซื้อของต่อ

หากพรรคเพื่อไทยยังยืนยันว่าประเทศไทยขณะนี้วิกฤติแล้ว พรรคเพื่อไทยควรตระหนักด้วยว่าการแจกเงินดิจิทัลไม่น่าจะทำให้เกิดค่าตัวคูณทวีที่มากเท่าใดนัก เพราะครัวเรือนไทยที่รายได้ไม่เติบโตมา 9 ปี และมีหนี้ท่วมหัว ไม่ได้มีเงินออมที่จะนำมาใช้จ่ายในช่วงวิกฤติได้ และบรรดาร้านค้าที่ได้รับเงินดิจิทัลไป น่าจะต้องการขึ้นเงินสดเพื่อเก็บออมไว้ มากกว่าจะนำมาใช้จ่ายต่อ เพราะกลัวในความเสี่ยงทางการคลังที่เกิดจากนโยบายเงินดิจิทัลนี้จะสร้างวิกฤติเศรษฐกิจอีกในอนาคต

ดูสภาพแล้ว มาตรการแจกเงินดิจิทัลคงไม่สามารถทำให้เกิดพายุหมุนได้แน่


เอกสารอ้างอิง


Hsieh C., Shimizutani S. and Hori M. (2010) “Did Japan’s shopping coupon program increase spending?” Journal of Public Economics, Vol. 94(7), pp. 523-529.


Liu, Q., Shen, Q., Li, Z. and Chen, S. (2021) “Stimulating consumption at low budget: evidence from a large-scale policy experiment amid the COVID-19 pandemic” Management Science, Vol.67 issue 12, pp. 7291-7307

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save