fbpx

นักสันติวิธีท้าทายและทำให้ความรุนแรงเป็นเรื่องไร้เหตุผลได้อย่างไร

หมายเหตุ: บทความนี้มีเป้าประสงค์เพื่อแนะนำหนังสือ Can Political Violence Ever Be Justified? ของ Elizabeth Frazer และ Kimberly Hutchings

เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้ศึกษาการเมืองว่า แม้อาจมีองค์ประกอบและเนื้อหาที่แตกต่างกัน แต่การเมืองกับความรุนแรงคือสองประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง ดังที่ตำรารัฐศาสตร์จำนวนมากมักยอมรับโดยอ้อมว่าการดำรงอยู่ของกฎหมายและระเบียบทางการเมืองคือการดำรงอยู่บนเงื่อนไขของการรวมศูนย์ความรุนแรงไว้ที่รัฐ เฉกเช่นเดียวกับทฤษฎีการปฏิวัติส่วนใหญ่ที่มักยึดเอาการเคลื่อนไหวโดยใช้ความรุนแรงมาเป็นแนวทางสำหรับขับเคลื่อนขบวนการ

ด้วยเหตุนี้ ความรุนแรงจึงมักได้รับการพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบและปฏิบัติการทางการเมืองเสมอ เป็นไปได้หรือที่รัฐจะสามารถธำรงกฎระเบียบต่างๆ ในสังคมหากตัวรัฐเองขาดความสามารถในการลงโทษผู้ที่ละเมิดกฎระเบียบดังกล่าว? จริงหรือที่ลำพังแค่การเคลื่อนไหวแบบสันติโดยปราศจากกำลังในการต่อรองจะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมในสังคมได้?

ความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งระหว่างการเมืองกับความรุนแรงดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น มิเพียงชี้ชวนให้เห็นถึง ‘ความเป็นจริง’ ทางการเมืองที่ไม่อาจปฏิเสธได้ หากแต่ยังส่งผลต่อการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงของนักสันติวิธี โดยเฉพาะข้อวิพากษ์ต่อการรณรงค์ว่าไร้เดียงสา เพ้อฝัน ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงของโลก จริงอยู่ แม้คุณลักษณะของ ‘ความเป็นจริง’ ทางการเมืองอาจเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันได้ แต่ความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่างการเมืองกับความรุนแรงก็เป็นสิ่งที่ยากจะปฏิเสธ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงคุณค่าเชิงปทัสถานที่ส่งผลให้การใช้ความรุนแรงกลายเป็นสิ่งที่เหมาะสม ถูกต้องและชอบด้วยเหตุผล ในแง่นี้ ปฏิบัติการต่อต้านความรุนแรงของนักสันติวิธีจึงย่อมมิเพียงแต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงในปริมณฑลทางการเมือง หากแต่ยังรวมไปถึงการตั้งคำถามและท้าทายหลักปทัสถานต่างๆ ที่ทำให้การใช้ความรุนแรงทางการเมืองกลายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยเหตุผลตามไปด้วย

แต่คำถามมีอยู่ว่า อะไรคือหลักปทัสถานที่ทำให้การใช้ความรุนแรงในพื้นที่ทางการเมืองกลายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยเหตุผลเป็นเบื้องแรก? อะไรคือคุณลักษณะสำคัญของปทัสถานดังกล่าว? และถ้าปทัสถานดังที่ว่านี้คือเป้าหมายสำคัญที่นักสันติวิธีจำเป็นต้องท้าทาย อะไรคือหลักปทัสถานที่รองรับจุดยืนของนักสันติวิธีในการท้าทายและทำให้ปทัสถานของการใช้ความรุนแรงทางการเมืองกลายเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล?

คำถามดังกล่าวเป็นแกนหลักในหนังสือเล่มเล็กๆ ของเอลิซาเบธ เฟรเซอร์ (Elizabeth Frazer) และคิมเบอร์ลี ฮัทชิงส์ (Kimberly Hutchings) สองนักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เรื่อง Can Political Violence Ever Be Justified? หรือ ความรุนแรงทางการเมืองเป็นสิ่งที่ชอบด้วยเหตุผลหรือไม่?[1] ซึ่งแก่นแกนสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือการไต่สวนไปที่ปทัสถานของหลักเหตุผลที่สร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรง

เฟรเซอร์และฮัทชิงส์สำรวจและสรุปรวบยอดว่าหลักเหตุผลดังกล่าวสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 แบบด้วยกันคือ 1.หลักเหตุผลที่มองว่าการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ชอบธรรม หากเป้าหมายทางการเมืองของการใช้ความรุนแรงเป็นเป้าหมายที่ดี (pp.17-19) 2.หลักเหตุผลที่มองว่าการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ชอบธรรม หากผลของการใช้ความรุนแรงเป็นไปเพื่อปกป้องสิทธิของมนุษย์ (pp.19-21) และ 3. หลักเหตุผลที่มองว่าการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ชอบธรรมเพราะสอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมือง (pp.21-23)

การไต่สวนไปถึงเหตุผลแบบแรก คือหลักเหตุผลที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรง หากเป้าหมายทางการเมืองของการใช้ความรุนแรงเป็นเป้าหมายที่ดีนั้น เฟรเซอร์และฮัทชิงส์อ้างอิงไปถึงงานเขียนทางทฤษฎีของเท็ด ฮอนเดอริช (Ted Honderich) ผู้เป็นตัวแทนของหลักการแบบผลลัพธ์นิยม (consequentialism) อันเป็นหลักการที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงทางการเมืองภายใต้บริบททางการเมืองในยุโรปตะวันตกช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเต็มไปด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงจากขบวนการปฏิวัติฝ่ายซ้ายในอิตาลี หรือการก่อการร้ายโดยขบวนการ IRA ในไอร์แลนด์เหนือ ฯลฯ ทั้งนี้ สาระสำคัญในงานเขียนของฮอนเดอริช (ตามที่เฟรเซอร์และฮัทชิงส์สรุป) คือการชี้ให้เห็นว่าการใช้ความรุนแรงทางการเมืองสามารถกลายเป็นสิ่งที่ชอบธรรมได้หากการใช้ความรุนแรงดังกล่าวเป็นไปเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่า ตัวอย่างสำคัญที่ฮอนเดอริชอ้างถึงก็คือความพยายามของกลุ่มต่อต้านสงครามในเยอรมนีที่วางแผนลอบสังหารนายอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำของฝ่ายอักษะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อันสะท้อนให้เห็นถึงแก่นแกนของหลักเหตุผลแบบผลลัพธ์นิยมที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของเป้าหมายทางการเมืองว่าเป็นสิ่งที่มีระดับทางศีลธรรมสูงส่งจนสามารถบดบังวิธีการอันไม่ชอบธรรมอย่างการฆ่าได้ (pp.26-30)

แน่นอนว่าในการไต่สวนไปถึงหลักเหตุผลข้างต้นนั้น ทั้งเฟรเซอร์และฮัทชิงส์ไม่ได้ละเลยที่จะชี้ให้เห็นถึงความไม่คงเส้นคงวาทางตรรกะภายในหลักการแบบผลลัพธ์นิยม โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ว่าหลักผลลัพธ์นิยมนี้ยึดมั่นกับการคาดคำนวณสิ่งต่างๆ จากความเป็นไปได้บนสภาวะปัจจุบัน จนมองข้ามภววิทยาของความเป็นอนาคตซึ่งเต็มไปด้วยความไม่แน่ไม่นอน ที่ย่อมส่งผลให้การคำนวณผลได้เสียเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก (pp.33-35) ทว่า สิ่งที่ทั้งคู่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญยิ่งกว่า ก็คือรากฐานทางตรรกะที่รองรับหลักการแบบผลลัพธ์นิยมอันมีลักษณะที่แยกวิธีการออกจากเป้าหมายโดยเน้นอย่างหลังเหนือกว่าอย่างแรก ด้วยเหตุที่ว่า นอกจากจะเป็นฐานรากของหลักการแบบผลลัพธ์นิยมแล้ว การแยกวิธีการออกจากเป้าหมายยังเป็นเงื่อนไขของหลักเหตุผลแบบที่สองที่จัดวางความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรงภายใต้คุณค่าของสิทธิ โดยเฉพาะการพิจารณาว่าการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ชอบธรรมหากเป็นไปเพื่อปกป้องชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สินของมนุษย์

ทั้งนี้ เฟรเซอร์และฮัทชิงส์เน้นย้ำคำสอนทางการเมืองของจอห์น ล็อก (John Locke) นักปรัชญาผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งลัทธิเสรีนิยมว่า หัวใจสำคัญของหลักเหตุผลที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงภายใต้ข้ออ้างเรื่องการปกป้องสิทธิของมนุษย์นั้นคือการดำรงอยู่ของกฎธรรมชาติ (natural laws) ในสภาวะที่ปราศจากการดำรงอยู่ของสังคมการเมืองและรัฐ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามสภาวะธรรมชาติ (state of nature) (p.41) กล่าวคือแม้จะปราศจากรัฐและสังคมการเมือง แต่ล็อกก็มิได้มองสภาวะธรรมชาติว่าเป็นสภาวะที่ไร้ขื่อแป ไม่มีกฎหมาย ดังที่ตัวเขาเคยชี้ให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของกฎธรรมชาติ อันเป็นกฎที่มีอยู่ควบคู่ไปกับความสามารถในการคิดและไตร่ตรองสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผลของมนุษย์[2] ทำให้นอกจากจะมิใช่สภาวะสงครามที่ผู้คนต่างเข่นฆ่าโดยไม่เลือกวิธีการแล้ว สภาวะธรรมชาติ (ตามคำสอนของล็อก) ยังเป็นสภาวะที่ปัจเจกแต่ละบุคคลมีสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมตราบเท่าที่ไม่มีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกคนอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ เพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพดังกล่าว มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติจึงมีพันธะหน้าที่ในการพิทักษ์รักษากฎธรรมชาติ (ซึ่งย่อมมีความหมายรวมไปถึงการพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพของตนเอง) การใช้ความรุนแรงต่างๆ จึงกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมหากเป็นการใช้เพื่อปกป้องกฎธรรมชาติ ตลอดไปจนถึงสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการให้อำนาจแก่รัฐในการลงโทษผู้ละเมิดกฎธรรมชาติ หรือการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาล หากว่ารัฐบาลกระทำการฉ้อฉล ละเมิดกฎธรรมชาติเสียเอง (pp.41-46)

ถึงตรงนี้ จึงเป็นที่ชัดเจนว่าแม้อาจแตกต่างกันในเนื้อหา แต่หลักเหตุผลทั้งในแบบแรกและแบบที่สองต่างก็เป็นหลักเหตุผลที่วางอยู่บนตรรกะที่เน้นความสำคัญของเป้าหมายเหนือวิธีการ กล่าวคือแม้คุณค่าของเป้าหมายปลายทางที่หลักเหตุผลทั้งสองยึดมั่นอาจแตกต่างกัน แต่เฟรเซอร์และฮัทชิงส์ก็ได้ชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วหลักเหตุผลทั้งคู่ต่างก็มีแนวโน้มที่จะลดทอนความรุนแรงให้เป็นเพียงแค่วิธีการหรือทางเลือกหนึ่งๆ ท่ามกลางทางเลือกอื่นๆ ในการแข่งขัน/ต่อสู้ทางการเมือง ราวกับว่าความรุนแรงคือเครื่องมือบางอย่างที่ผู้ใช้สามารถใช้หรือระงับการใช้ได้โดยมิได้ส่งผลต่อคุณค่าของตัวเป้าหมายแม้แต่น้อย (p.52) นั่นจึงไม่แปลกที่เฟรเซอร์และฮัทชิงส์จะแยกหลักเหตุผลทั้งสองแบบออกจากหลักเหตุผลแบบที่สามซึ่งพิจารณาว่าการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ชอบธรรมเนื่องจากสอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมือง เพราะนอกจากจะมิได้มองความรุนแรงว่าเป็นเพียงแค่เครื่องมือหรือทางเลือกหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายแล้ว หลักเหตุผลในแบบที่สามยังยืนยันถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างความรุนแรงกับการเมืองชนิดที่ฝ่ายหลังไม่สามารถแยกขาดออกไปจากฝ่ายแรก จนทำให้การใช้ความรุนแรงหาใช่เพียงตัวเลือกหรือวิธีการหนึ่งในการบรรลุเป้าหมาย แต่เป็นเรื่องของความจำเป็น (necessity) ที่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันทางการเมืองไม่อาจปฏิเสธได้

ทั้งนี้ เมื่อสำรวจผ่านงานเขียนของนักปรัชญาสกุลสัจนิยม (เช่น มาคิอาเวลลี) และสกุลที่มุ่งการปฏิวัติ (ได้แก่ลัทธิมาร์กซ์และกลุ่มหลังอาณานิคม) เฟรเซอร์และฮัทชิงส์ชี้ให้เห็นแก่นสำคัญของหลักเหตุผลในแบบที่สามว่า เป็นเหตุผลที่ตั้งอยู่บนการจำแนกปริมณฑลทางการเมืองออกจากปริมณฑลทางศีลธรรม จนส่งผลให้กิจกรรมทางการเมืองกลายเป็นกิจกรรมอิสระที่ไม่ตกอยู่ภายใต้กรอบการควบคุมทางศีลธรรม โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นว่าในขณะที่หลักการทางศีลธรรมเป็นหลักนามธรรมจับต้องยาก กิจกรรมทางการเมืองกลับเป็นกิจกรรมที่สัมพันธ์กับโลกของความเป็นจริงซึ่งมีความรุนแรงเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างแยกไม่ออก จนส่งผลให้การปฏิเสธความรุนแรงกลายเป็นเพียงอุดมคติเพ้อฝัน ไม่สอดคล้องไปกับโลกที่เป็นอยู่ กระทั่งมองไม่เห็นความจำเป็นของการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ทางการเมือง อันเป็นประเด็นที่นักปรัชญากลุ่มนี้ (ตามคำอธิบายของเฟรเซอร์และฮัทชิงส์) มองว่ามีลักษณะกำกวมไม่ขึ้นกับหลักศีลธรรมใดๆ นอกจากตัวสถานการณ์เฉพาะหน้าซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการเอาชนะข้าศึกผู้พร้อมที่จะพรากชีวิตและคุณค่าทางการเมืองของฝ่ายตน (pp.54-69) ด้วยเหตุนี้ ประเด็นที่หลักเหตุผลในแบบที่สามให้ความสำคัญจึงมิใช่เรื่องของการพิจารณาไปที่ลักษณะของเป้าหมายที่สร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรง แต่จะเป็นเรื่องของการพิจารณาไปที่วิธีการที่ความรุนแรงจะถูกใช้ประโยชน์ เพื่อสนองคุณค่าที่ผู้ใช้ยึดถือ ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องระเบียบทางการเมือง (ในกรณีของมาคิอาเวลลี) หรือการปฏิวัติปลดแอกสังคมจากการกดขี่ของระบบทุนนิยม (ในกรณีของลัทธิมาร์กซ์) และมรดกทางความคิดของพวกเจ้าอาณานิคม (ในกรณีของทฤษฎีกลุ่มหลังอาณานิคม)(pp.69-71)

จริงอยู่ แม้หลักเหตุผลในแบบที่สามนี้อาจแตกต่างจากหลักเหตุผลในสองแบบแรก โดยเฉพาะการยืนยันว่าความรุนแรงมิใช่แค่เครื่องมือหนึ่ง (ท่ามกลางเครื่องมืออื่นๆ) ในการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง แต่ทั้งเฟรเซอร์และฮัทชิงส์ก็มิได้หลงลืมที่จะขับเน้นลักษณะร่วมของหลักเหตุผลที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงทั้งสามแบบว่ายังคงตั้งอยู่บนตรรกะที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายเหนือวิธีการ ต่างกันก็แต่เพียงแค่ในขณะที่หลักเหตุผลสองแบบแรกมิได้จัดวางความรุนแรงให้ไปไกลกว่าการเป็นอุปกรณ์ตอบสนองเป้าหมายของการบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง หลักเหตุผลในแบบที่สามกลับขยับขยายตำแหน่งแห่งที่ของความรุนแรงว่า นอกจากจะเป็นเครื่องมือแล้วยังดำรงอยู่เป็นสารัตถะสำคัญของสังคมการเมืองด้วย ดังนั้น พร้อมๆ ไปกับการไต่สวนปทัสถานของหลักเหตุผลที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ทางการเมือง เฟรเซอร์และฮัทชิงส์ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบด้วยเหตุผลของหลักเหตุผลทั้งสามแบบ โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นว่าตรรกะพื้นฐานของหลักเหตุผลทั้งสามแบบซึ่งเน้นความสำคัญของเป้าหมายเหนือวิธีการนั้น เป็นตรรกะที่ขัดแย้งกับธรรมชาติของกิจกรรมทางการเมืองชนิดที่ไม่อาจไปด้วยกันได้

ถึงตรงนี้ เฟรเซอร์และฮัทชิงส์ก็ได้นำเสนอปทัสถานที่ตนเองใช้เพื่อวิพากษ์และทำให้หลักเหตุผลที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงข้างต้นกลายเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล โดยทั้งคู่ได้อาศัยแนวคิดของฮานนา อาเรนท์ (Hannah Arendt) นักปรัชญาและนักทฤษฎีการเมืองคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 มาเป็นฐานรองรับปทัสถานของตน โดยเฉพาะการยืนยันว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้าม กระทั่งขัดแย้งในระดับมูลฐานกับกิจกรรมทางการเมือง

ทั้งนี้ ในงานเขียนชิ้นสำคัญเรื่อง On Violence หรือ ว่าด้วยความรุนแรง อาเรนท์ชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างการเมืองกับความรุนแรง กล่าวคือ สำหรับอาเรนท์แล้ว การเมืองมิใช่เรื่องของการใช้พละกำลังกดขี่บังคับให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องยอมศิโรราบต่ออีกฝ่าย หากแต่คือเรื่องของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะ บนฐานที่ว่าการแลกเปลี่ยนความเห็นคือ action หรือการแสดงออก อันเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ เพราะการแสดงออกคือการแสดงตัวตนผ่านการนำเสนอความคิดอันจำเพาะเจาะจงให้เป็นที่จดจำแก่เหล่าบุคคลผู้มีความคิด/ความเห็นแตกต่างหลากหลายในพื้นที่สาธารณะ[3] การเมืองจึงเป็นกิจกรรมที่ตั้งอยู่บนความหลากหลายของความคิดเห็นอันไม่สามารถกำหนดผลลัพธ์ได้ตั้งแต่ต้น จนส่งผลต่อเงื่อนไขของชัยชนะทางการเมืองที่จะไม่ใช่เรื่องของการใช้กำลังบีบบังคับ หากแต่เป็นเรื่องของโวหารและการเจรจาที่ทำให้ผู้ที่เห็นต่างมีฉันทมติบนความเห็นพ้องต้องกัน (ในช่วงเวลานั้นๆ) ดังนั้น การใช้ความรุนแรงซึ่งวางอยู่บนตรรกะที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายเหนือวิธีการจึงย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับกิจกรรมที่ไม่อาจคาดเดาผลลัพธ์อย่างกิจกรรมทางการเมือง เพราะนอกจากไม่อาจยืนยันได้ถึงผลสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองแล้ว การใช้ความรุนแรงยังเป็นการกระตุ้นให้อีกฝ่ายหันมาใช้ความรุนแรงโต้ตอบ จนส่งผลทำลายฐานรากของกิจกรรมทางการเมืองอย่างพื้นที่สาธารณะและความเป็นไปได้ของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันแตกต่างหลากหลาย[4]

โดยอาศัยแนวคิดที่อาเรนท์ใช้ข้างต้น เฟรเซอร์และฮัทชิงส์ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของหลักเหตุผลที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงทั้งสามข้อว่ามิเพียงตั้งอยู่บนความลักลั่นอันเกิดมาจากคุณลักษณะที่เข้ากันไม่ได้ระหว่างการเมืองกับความรุนแรง หากแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงเสียเอง เพราะการให้เหตุผลเพื่อทำให้การใช้ความรุนแรงในกรณีหนึ่งๆ เป็นสิ่งที่ชอบธรรมนั้น แท้จริงแล้วก็คือการใช้เหตุผลเพื่อทำให้การใช้ความรุนแรงในกรณีดังกล่าว (และกรณีอื่นๆ ที่คล้ายกัน) เป็นสิ่งที่ถูกต้องและสมควรกระทำ (p.114) ในแง่นี้ สำหรับเฟรเซอร์และฮัทชิงส์ สิ่งที่เป็นความรุนแรงเสียยิ่งกว่าการกระทำทางกายภาพ หรือการกดขี่จากโครงสร้างทางสังคม ก็คือการดำรงอยู่ของตัวปทัสถานที่รองรับหลักเหตุผลที่ทำให้การใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือการดำรงอยู่ของหลักเหตุผลที่ยอมจำนนต่อความรุนแรงจนถูกผนวกกลายเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพในปฏิบัติการของความรุนแรงเสียเอง 

จริงอยู่ แม้การที่เฟรเซอร์และฮัทชิงส์อาศัยแนวคิดของอาร์เรนท์มาเป็นหลักปทัสถานให้กับจุดยืนของตน อาจสร้างคำถามชวนฉงนต่อนิยามของสิ่งที่เรียกว่า ‘การเมือง’ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าความเข้าใจถึงสิ่งที่เรียกว่าการเมืองดังกล่าว เป็นความเข้าใจเชิงอุดมคติแตกต่างจากงานศึกษาของนักวิชาการจำนวนมากที่พยายามนำเสนอความลึกล้ำของความรุนแรงในการแทรกแซงเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นงานศึกษาของปรมาจารย์นักสันติวิธีอย่างโยฮัน กัลตุง (Johan Gultung) หรือนักปรัชญาจิตวิเคราะห์ชื่อดังอย่างสลาวอย ชิเชค (Slavoj Zizek) ตลอดไปจนถึงเหล่านักวิชาการสตรีนิยมผู้คุ้นเคยกับปฏิบัติการของอำนาจและความรุนแรงในระเบียบการเมืองที่เต็มไปด้วยความลับลมคมใน (pp.73-92) ทว่า เฟรเซอร์และฮัทชิงส์ก็ให้เหตุผลอย่างน่าคิดว่า แม้งานศึกษาข้างต้นอาจยืนยันถึงภววิทยาของการเมืองที่มิอาจปฏิเสธความรุนแรง แต่การเมืองดังกล่าวก็คือการเมืองของกดขี่และกีดกัน ซึ่งย่อมมีนัยว่าการยอมรับให้ความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองและความเป็นจริงของโลก คือการยอมจำนนต่อการเมืองของการกดขี่/กีดกัน จนอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งในการสานต่อและผลิตซ้ำการเมืองดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า (pp.119-120)

ในแง่นี้ การที่เฟรเซอร์และฮัทชิงส์อาศัยแนวคิดเรื่องการเมืองของอาเรนท์มาเป็นฐานสำหรับวิพากษ์หลักเหตุผลที่ให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงทางการเมือง จึงมิได้หมายความว่าทั้งคู่มองไม่เห็นความซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่พันตูกันระหว่างสังคมการเมืองกับความรุนแรง หากแต่เป็นการยืนยันถึงเป้าหมายของนักสันติวิธีว่าจะไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อ ‘ความเป็นจริง’ ที่เป็นอยู่ ด้วยการนำเสนอ ‘การเมืองอีกแบบ’ ในฐานะของเป้าหมายปลายทางที่มนุษย์ไปถึงได้  การต่อต้านความรุนแรงจึงเป็นการเมืองของนักสันติวิธีในแง่ของการยืนยันว่ามนุษย์คู่ควรกับสังคมในอุดมคติ นั่นก็คือมนุษย์นั้นคู่ควรกับการเมืองไร้ความรุนแรงที่ทุกคนต่างก็สามารถแสดงออกถึงตัวตนของตนได้อย่างเสมอภาค พร้อมถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างมีอารยะ โดยไม่เบียดเบียนใช้กำลังทำลายล้างซึ่งกันและกัน

References
1 Elizabeth Frazer and Kimberly Hutchings, Can Political Violence Ever Be Justified? (Cambridge: Polity Press, 2019) อนึ่ง การอ้างอิงถึงเนื้อหาของหนังสือเล่มในครั้งต่อๆ ไปจะเป็นการอ้างอิงแบบแทรกในเนื้อหา ขณะที่การอ้างอิงถึงงานเขียนอื่นๆ จะเป็นการอ้างอิงแบบเชิงอรรถ
2 ผู้สนใจสามารถดูตัวบทการให้ความสำคัญกับกฎธรรมชาติของล็อกดังกล่าวเพิ่มเติมได้ใน จอห์น ล็อก, ความเรียงที่สองว่าด้วยการปกครอง, สมบัติ จันทรวงศ์ (แปล)(กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2564), หน้า 8-10
3 Hannah Arendt, On Violence (New York: Harcourt Brace, 1969), p.82.
4 เพิ่งอ้าง, pp. 79-80. ควรกล่าวเพิ่มเติมในที่นี้ว่าข้อวิพากษ์ของอาเรนท์ซึ่งมองความรุนแรงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับกิจกรรมทางการเมืองนั้น มีต้นตอมาจากการพิจารณาว่าการใช้ความรุนแรงเป็นกิจกรรมภายใต้พื้นที่ของการทำงาน (work) อันเป็นกิจกรรมที่วางอยู่บนตรรกะที่ยึดผลสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายโดยไม่เกี่ยงวิธีการเป็นตัวตั้ง สำหรับอาเรนท์การใช้ความรุนแรงในพื้นที่ทางการเมืองจึงเป็นกิจกรรมที่มุ่งแทนที่การแสดงออกหรือ action ด้วยการประดิษฐ์ (fabrication) นั่นก็คือการเปลี่ยนพื้นที่ทางการเมืองให้กลายเป็นพื้นที่ของการทำงาน ดูรายละเอียดประเด็นนี้เพิ่มเติมได้ใน ณฐิญาณ์ งามขำ, “ทำความเข้าใจ “ว่าด้วยความรุนแรง” ของฮันนาห์ อาเรนดท์”, ข้า ค่า ฆ่า: อัตลักษณ์ คุณค่า ความรุนแรง, สุวรรรา สถาอานันท์และเกษม เพ็ญภินันท์ (บรรณาธิการ)(กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555), หน้า 465-468.สำหรับผู้สนใจแนวคิดทางปรัชญาของอาเรนท์ที่มุ่งจำแนกการทำงานออกจากการแสดงออกทางการเมือง สามารถดูรายละเอียดได้ใน Dana Villa, Arendt (Oxon: Routledge, 2021)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save