fbpx

ลดปัญหาความรุนแรงทางเพศ เพิ่มพื้นที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย

การรณรงค์ 16 วันเพื่อต่อต้านความรุนแรงบนฐานของเพศภาวะ หรือ 16 Days of Activism against Gender-based Violence เป็นโครงการที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1991[1]  โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล (International Day for the Elimination of Violence Against Women) จนถึงวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชน (Human Rights Day) ของทุกปี

ในปี 2018 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) เคยประมาณการณ์จากผลการสำรวจและงานวิจัยระดับประเทศทั่วโลก พบว่าประมาณ 30% ของผู้หญิงทั่วโลกเคยประสบความรุนแรงทางกาย และ/หรือทางเพศ จากคู่ของตนและ/หรือคนแปลกหน้า และ 38% ของคดีฆาตกรรมต่อผู้หญิงทั่วโลกเกิดจากการกระทำของคนรักหรือสามี[2]  

รายงานดังกล่าวของ WHO พบว่า ในประเทศไทยมีอัตราผู้หญิงวัย 15-49 ปี ที่ประสบความรุนแรงจากแฟนหรือสามีสูงถึง 24% ซึ่งสูงกว่าอินโดนีเซีย (22%) และเมียนมา (19%)[3] นำไปสู่คำถามว่า กว่าสามทศวรรษของการรณรงค์ในระดับโลก เหตุใดเกือบ 1 ใน 4 ของผู้หญิงไทยยังคงถูกทำร้ายโดยบุคคลใกล้ชิด และมีความเป็นไปได้สูงว่าตัวเลขดังกล่าวอาจจะเป็นการประเมินต่ำไป (underestimate) ด้วยซ้ำ เพราะคาดว่ามีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ออกมารายงานหรือปิดซ่อนประสบการณ์ถูกกระทำความรุนแรงไว้  ไม่ว่าจะเป็นเพราะความกลัวต่อผู้กระทำผิดซึ่งเป็นคนใกล้ชิด หรือความอับอายต่อชื่อเสียง โดยเฉพาะในสังคมที่มีความคาดหวังต่อคุณค่าของผู้หญิงที่ไม่ควรมีมลทินมัวหมอง

ประเทศไทยเองก็มีความพยายามแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย เช่น การออกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในความผิดเกี่ยวกับเพศเมื่อปี 2019 ฟากด้านกลไกให้ความช่วยเหลือเองก็มีการจัดตั้งศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง (One Stop Crisis Center – OSCC) หรือ ‘ศูนย์พึ่งได้’ ของกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2004

แต่หนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ UN เสนอไว้ แต่ดูเหมือนว่าในประเทศไทยจะยังไม่เคยได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง คือ การเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการกำหนดนโยบายหรือระดับบริหารขององค์กร ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสริมพลังทางการเมืองและเศรษฐกิจของผู้หญิงที่จะมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองแล้ว ยังสามารถส่งผลต่อสังคมแวดล้อมผ่านมุมมองและข้อเสนอแนะต่อนโยบายที่ตรงกับความต้องการของผู้หญิง ที่เป็นประชากรอีกครึ่งหนึ่งของประเทศได้

ในรายงาน Global Gender Gap 2022 ที่จัดทำโดย WEF ซึ่งจัดอันดับช่องว่างระหว่างเพศใน 146 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 79 ซึ่งถือเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคอาเซียน โดยตามหลังฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และลาว ทั้งนี้ หากดูในรายละเอียดของการวิเคราะห์ช่องว่างซึ่งแบ่งออกเป็นสี่ด้าน ได้แก่ การมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ (Economic Participation and Opportunity) ระดับการศึกษา (Educational Attainment) สุขภาพและความอยู่รอด (Health and Survival) และการเสริมพลังทางการเมือง (Political Empowerment) ในด้านสุดท้ายเป็นจุดอ่อนที่สุดของไทย คือ ได้อันดับ 130 จาก 146 ประเทศ ซึ่งตัวชี้วัดที่ไทยได้คะแนนต่ำที่สุดคือ สัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งรัฐมนตรี ไทยอยู่อันดับ 140 หรือเกือบสุดท้าย

การจัดอันดับดังกล่าวสะท้อนสถานการณ์ระดับการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในประเทศไทยที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง จากการเก็บข้อมูลเดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า กลไกการขับเคลื่อนระดับประเทศของไทยมีสมาชิกเป็นผู้หญิงในสัดส่วนที่น้อยมาก เช่น ในบรรดาคณะรัฐมนตรีไทยจำนวน 33 คน มีผู้หญิงเพียงแค่ 4 คน หรือคิดเป็นประมาณ 12% เท่านั้น และในฝั่งนิติบัญญัติ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไทยที่เป็นผู้หญิงมีเพียง 24 คน จากทั้งหมด 249 คน (9.6%) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ผู้หญิงมีจำนวน 78 คน จากทั้งหมด 483 คน (16.15%)

นอกจากนี้ กลไกการขับเคลื่อนประเทศไทยในปัจจุบันเต็มไปด้วยผู้ชายที่ค่อนข้างสูงวัย โดยค่ากลาง (มัธยฐาน) ของ ครม. ไทยอยู่ที่ 65 ปี ค่ากลางอายุ ส.ส. 58 ปี และ ส.ว. สูงถึง 68 ปี สะท้อนว่าเป็นกลุ่มคนที่อาจมีค่านิยมหรือมุมมองต่อเพศสภาพที่อาจไม่หลากหลายเท่าไหร่นัก จึงอาจไม่สามารถสะท้อนความต้องการของผู้หญิงและคนจากช่วงวัยอื่นที่มีต่อประเด็นและความท้าทายใหม่ของประเทศได้อย่างครอบคลุม

หากพิจารณาว่าผู้หญิงคือประชากรจำนวนครึ่งหนึ่งของประเทศ สัดส่วนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกลไกการขับเคลื่อนประเทศที่ยังไม่ถึง 20% จึงเป็นช่องว่างสำคัญในการพัฒนาประเทศ  หากผู้หญิงสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในระดับการกำหนดนโยบาย จะช่วยเพิ่มมุมมองต่อนโยบายหรือมาตรการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงที่ตอบสนองต่อบริบทของเพศสภาพ (gender responsive) ที่มีความแตกต่างระหว่างชายหญิงอันเนื่องมาจากความคาดหวังของสังคม รวมไปถึงการออกแบบกระบวนการให้ความช่วยเหลือและกระบวนการยุติธรรม ที่คำนึงถึงความอ่อนไหวด้านเพศสภาพ (gender-sensitive) ที่จะช่วยให้ผู้ประสบความรุนแรงซึ่งโดยมากเป็นผู้หญิง เข้าถึงและพึ่งได้อย่างแท้จริง


[1] https://www.unwomen.org/en/what-we-do/ending-violence-against-women/unite/16-days-of-activism

[2] https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/violence-against-women

[3] https://www.who.int/publications/i/item/WHO-SRH-21.10

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save