fbpx

‘พุทธธรรม’ พุทธแท้คืออะไร (?): การตีความธรรมะเพื่อตอบโจทย์สังคมที่พุทธไทยตามไม่ทัน

พุทธธรรม ของ ป.อ.ปยุตฺโต[1] จัดว่าเป็นหนังสือดีที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในฐานะเป็นหนังสือธรรมะที่ยอดเยี่ยม ทั้งยังถูกเลือกให้เป็น ‘หนังสือดีหนึ่งร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน’ แต่ไม่แน่ใจนักว่า นอกจากนักวิจัยและนักศึกษาทางพุทธศาสตร์อย่างเอาเป็นเอาตายแล้ว คนที่อ่านทั้งเล่มจนจบมีมากน้อยเพียงใด ด้วยความหนาของมัน 

หนังสือธรรมะมีกระบวนการผลิตที่อาจจะแปลกกว่าหนังสือประเภทอื่นตรงที่หากเป็นผลงานหรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระผู้ปฏิบัติดี-ปฏิบัติชอบ มักจะได้รับการลงเงินสนับสนุนในการจัดพิมพ์แบบไม่ติดขัดอะไรมากนัก หรืออาจกล่าวได้ว่า หนังสือธรรมะนั้นง่ายต่อการระดมทุนกว่าประเภทอื่นนั่นเอง จึงเป็นที่น่าสนใจว่า สำหรับพุทธธรรมแล้วมีประวัติในการตีพิมพ์อย่างไร ในบริบทของสังคมไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2510-2560

พุทธธรรม มีประวัติมายาวนานเกินครึ่งศตวรรษ ผ่านการปรับปรุง ขยายความ และเพิ่มเนื้อหาอยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าเติบโตไปพร้อมกับชีวิตของผู้แต่งมาโดยตลอด เมื่อแรกเขียนผู้แต่งได้หวังให้หนังสือเล่มนี้แสดงหลักวิชาทางพุทธศาสนาอย่างเป็นระบบ เหมาะสำหรับผู้ต้องการหาความรู้เกี่ยวกับธรรมะอย่างเอาจริงเอาจังหรือศึกษาพุทธศาสนาอย่างเป็นวิชาการ[2] โดยเคร่งครัดกับการแสดงหลักฐาน เพื่อใช้เป็นแกนหลักของหนังสือ ระบุข้อความตอนหนึ่งว่า

ความประสงค์อีกอย่างหนึ่งในการแสดงหลักฐานที่มาไว้มาก หรือถือเอาคัมภีร์ที่อ้างอิงเป็นหลักเป็นแกนเนื้อตัวของหนังสือนี้ ก็เพื่อทำให้หนังสือนี้เป็นอิสระจากผู้เขียน และให้ผู้เขียนเองก็เป็นอิสระจากหนังสือด้วย[3]

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง หนังสือไม่ได้เป็นอิสระจากผู้เขียนเลย เพราะผู้เขียนมีส่วนในการปรับปรุงหนังสืออย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ อย่างไรก็ตาม ป.อ.ปยุตฺโต ให้ความสำคัญกับเอกสารชั้นต้นอย่างไตรปิฎกเป็นสำคัญ โดยลำดับความน่าเชื่อถือของเอกสารที่รองลงมาได้แก่ อรรถกถาและฎีกาที่แต่งในชั้นหลังขึ้นมาเพื่อขยายความเอกสารชั้นต้นอีกที ความเชื่อมั่นและการยึดถือในไตรปิฎกของผู้แต่ง สัมพันธ์กับรากฐานของพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่ยึดเอามติสงฆ์ของเหล่าพระเถระที่ส่งผ่านกันมาผ่านการสวดหรือสังคายนา ก่อนจะมีการบันทึกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร พวกเขาจึงเชื่อมั่นว่า สิ่งทั้งหลายในไตรปิฎกสืบทอดมาจากคำบอกเล่าของภิกษุสำคัญที่จำคำกล่าวของพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่สมัยพุทธกาล[4]

พุทธธรรม จึงเป็นความทะเยอทะยานของการเรียบเรียงหลักฐานทางพุทธศาสนาออกมาอย่างเป็นระบบโดยยึดไตรปิฎกเป็นหลัก ผ่านการสร้างบทสนทนากับคนร่วมสมัยผ่านภาษาปัจจุบัน แต่มีลักษณะเป็นภาษาวิชาการ เขาได้แบ่งพุทธธรรมออกเป็นส่วนต่างๆ นั่นคือ ตอนหนึ่ง ชีวิตคืออะไร? ตอนสอง ชีวิตเป็นอย่างไร? ตอนสาม ชีวิตเป็นไปอย่างไร? ตอนสี่ ชีวิตควรให้เป็นอย่างไร? และ ตอนห้า ชีวิตควรเป็นอยู่อย่างไร? นั่นคือการนิยามชีวิต อุดมคติของชีวิต และการไปให้ถึง โดยขยายความผ่านหัวข้อธรรมะ ศัพท์บาลี และคำอธิบายเพิ่มเติมในคัมภีร์โบราณ

การชี้ว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการกระทำ (กรรมวาทและกิริยาวาท) เป็นศาสนาแห่งความเพียรพยายาม (วิริยวาท) ไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนปรารถนาหรือศาสนาแห่งความห่วงหวังกังวล[5] ย่อมแสดงให้เห็นถึงการตีความพุทธศาสนา ท่ามกลางยุคสมัยแห่งทศวรรษ 2510 ที่สังคมไทยเต็มไปด้วยศาสนาและความเชื่อที่ผสมผสานปนเป อีกทั้งมีภัยคุกคามจากแนวคิดแบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์เข้ามาด้วย หนังสือพุทธธรรมจึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นหลักยึดให้ชาวพุทธเถรวาทอ้างอิงได้กับไตรปิฎกหรือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มักเชื่อว่าเป็น ‘ความจริงแท้’ เช่นเดียวกับที่พระชื่อดังรุ่นก่อนหน้านั้นพยายามบุกเบิกมาก่อนอย่างพุทธทาส หรือกระทั่งรุ่นวชิรญาณภิกขุ ด้วยลักษณะเช่นนี้เองจึงส่งให้ ป.อ.ปยุตฺโต เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในฐานะนักวิชาการชาวพุทธที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งหลัง 14 ตุลาฯ

นี่คือ เส้นทางหนึ่งของการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘พุทธแท้’ ที่ชวนคนกลับไปยังตัวบทและคำสอนสมัยพุทธกาลที่ยังหลงเหลือร่องรอยในไตรปิฎก

ต้นกำเนิด ‘พุทธธรรม’ และชื่อเสียงของผู้ประพันธ์ ก่อน 14 ตุลาฯ 2516

นามเดิมของเขาคือ ประยุทธ์ อารยางค์กูร เกิดที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี 2481 ความเป็นนักบวชของเขาอาจได้เชื้อมาจากบิดา คือ มหาสำราญ ผู้เคยบวชที่สุพรรณบุรีบ้านเกิด แล้วไปอยู่ที่กรุงเทพฯ สอบได้จนถึงเปรียญ 4 ประโยค แต่มีเหตุต้องลาสิกขากลับบ้าน ในเวลาต่อมาได้แต่งงานกับลูกจีนชื่อชุนกี เปิดร้านค้าขายผ้าไหม ผ้าทอที่ตลาดริมน้ำท่าจีน อำเภอศรีประจันต์ ระหว่างนั้นก็ได้เปิดโรงเรียนมัธยมชื่อ บำรุงวุฒิราษฎร์ด้วย แต่เวลาต่อมาก็ปิดตัวลง[6]

ประยุทธ์ได้เรียนชั้นประถมแถวบ้าน จากนั้นบิดาผู้มีประสบการณ์ด้านการศึกษามาก่อนได้ส่งเขาไปศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดปทุมคงคาในพระนคร ผลการเรียนของเขาดีจนได้ทุนการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ อย่างไรก็ตาม ประยุทธ์มีปัญหาด้านสุขภาพ ว่ากันว่านี่คือเหตุผลที่เขาต้องกลับไปบวชเป็นสามเณรที่บ้านเกิด แต่ด้วยสติปัญญาของเขาพาเขาไปไกลถึงขนาดสอบเปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะที่เป็นสามเณร เมื่อปี 2496 นับเป็นรูปที่ 2 ในประวัติศาสตร์ จนได้รับพระราชทานให้อุปสมบทเป็น ‘นาคหลวง’ ในปี 2504 ปีต่อมาสอบได้ปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) เขายังได้สอนใน มจร. ตั้งแต่ปี 2505-2517   

แม้ว่า มจร. จะได้ชื่อพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 แต่บทบาทด้านกิจการการศึกษาสงฆ์ก็ไม่ชัดเจน เพิ่งได้รับการรื้อฟื้นมาเมื่อปี 2490 โดยทำการเรียนการสอน ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เปิดคณะพุทธศาสตร์เป็นคณะแรก ต้องรอจนถึงปี 2500 ถึงจะใช้ระบบการวัดผลมาเป็นระบบหน่วยกิต และรอถึงปี 2505 ถึงได้เปิดคณะเพิ่มคือคณะครุศาสตร์ ปีต่อมาคือคณะเอเชียอาคเนย์[7] ช่วงคาบเกี่ยวดังกล่าวเป็นช่วงที่การศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศกำลังขยายตัว มีการเปิดสอนมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาคเพิ่มเติม เช่น ม.เชียงใหม่, ม.ขอนแก่น, ม.สงขลานครินทร์ ฯลฯ 

ระหว่างนั้นก็มีโอกาสได้รับเชิญไปบรรยายในมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2515 ไม่เพียงเท่านั้นเขายังรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ช่วงปี 2515-2519[8] ทศวรรษ 2510 เป็นช่วงที่สังคมไทยอยู่ในยุคที่หนุ่มสาวแสวงหาคำตอบ มุ่งหวังที่จะมีสังคมที่ดี แวดวงปัญญาชนหนึ่งได้มีพื้นที่อย่างวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่เปิดพื้นที่ให้ปัญญาชนจากหลายกลุ่มความคิดทั้งก้าวหน้า อนุรักษนิยม และเสรีนิยมได้วิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งกัน[9] ป.อ.ปยุตฺโต ก็มีผลงานตีพิมพ์อย่างน้อย 1 ชิ้นในปี 2512 นั่นคือ บทความ ‘สถาบันสงฆ์ในสังคมไทย’ โดยมีหัวใจสำคัญที่เสนอว่า พระสงฆ์ไม่ควรแยกตัวออกไปจากประชาชน แต่มีลักษณะที่เกื้อกูลกัน แต่เหตุที่สัมพันธ์เสื่อมลงนั้นก็เพราะกระแสตะวันตกและการที่ประชาชนไปเกี่ยวข้องโดยปราศจากหลักยึดและข้อแนะนำแบบเดิมจากพระสงฆ์ โดยมีสถิติของพระภิกษุสามเณรและการจัดคำอธิบายแบบเป็นหลักวิชาการอย่างน่าเชื่อถือ[10] สิ่งที่ทำให้เขาต่างจากพระหัวก้าวหน้ายุคก่อนอย่างพุทธทาสภิกขุก็คือ วัยที่หนุ่มกว่า (พุทธทาสเกิดปี 2449 ป.อ.ปยุตฺโต ปี 2481) และจะมีบทบาทในมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและการจัดการศึกษาของสงฆ์กระแสหลักมากกว่า ยังไม่ต้องนับถึงสถานะของ ‘นาคหลวง’ และความเป็น ‘พระบ้าน’

พุทธธรรม 3 เวอร์ชัน กับ หนังสือธรรมะที่ถือกำเนิดระหว่างทาง

สำหรับมือใหม่หัดอ่าน พึงเข้าใจเสียก่อนว่าพุทธธรรมแบ่งได้เป็น 3 เวอร์ชัน นั่นคือ ฉบับเดิม, ฉบับแก้ไขและขยายความเพิ่มเติม และฉบับปรับขยาย เวอร์ชันแรกนั้นอาจเรียกได้ว่ามีชีวิตเป็นของตัวเอง แต่เวอร์ชันสองและสามดูมีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่ ในแต่ละเวอร์ชันก็มีการตีพิมพ์และปรับแก้ไขต้นฉบับที่ต่างกันไปออก บทความนี้จะชี้ให้เห็นว่า ภายใต้การผลิตต้นฉบับพุทธธรรม ป.อ.ปยุตฺโต ยังได้ผลิตงานเขียนในช่วงเวลาเดียวกันอะไรบ้าง และในบริบทเช่นใด

ต้นฉบับแรกที่เรียกกันว่า ‘ฉบับเดิม’ ได้การจัดพิมพ์เมื่อปี 2514 ในชุดหนังสือ ‘วรรณไวทยากร’ โอกาสที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ครบ 80 ปี[11] เป็นหนังสือขนาดย่อมที่มีเนื้อหา 206 หน้า พอๆ กับหนังสือทั่วไปในท้องตลาด ฉบับเดิมเน้นหลักฐานจากพระไตรปิฎกเป็นหลัก มีคัมภีร์รุ่นหลังอย่างอรรถกาน้อย ขณะนั้นเขายังเป็นอาจารย์อยู่ที่ มจร.

ระหว่างทางเขาก็ให้กำเนิด พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (2518) อันเป็นพจนานุกรมที่บรรยายธรรมะ และพจนานุกรมไทย-อังกฤษ, อังกฤษ-ไทย ที่แปลศัพท์บาลีต่างๆ ไว้ออกมาคำแปลภาษาอังกฤษ โดยถอดออกมาเป็นตัวอักษรโรมัน ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ทั้งสำหรับการใช้เปิดหาคลังคำเพื่อสื่อสารกับชาวตะวันตก หรือเพื่อค้นคว้าศัพท์บาลีที่ชาวตะวันตกใช้ในเอกสารของพวกเขาว่าตรงกับคำไทยว่าอย่างไร หรือในอีกด้าน มันสามารถใช้อ่านประกอบไตรปิฎกและพุทธธรรมเคียงกันไปด้วยได้ ส่วนหนึ่งของเล่มนี้เดิมเป็นเอกสารประกอบวิชาธรรมภาคภาษาอังกฤษในแผนกบาลี เตรียมอุดมศึกษา มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในปี 2506 ชื่อว่า พจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนา ไทย-บาลี-อังกฤษ เล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งที่ 2 และ 3 โดยกรมศาสนาเมื่อปี 2521[12] หนังสือฉบับนี้ได้รับการผลิตซ้ำอย่างน้อยพิมพ์ที่ 34 ครั้ง จนถึงปี 2559

ส่วนการพิมพ์ซ้ำของ พุทธธรรม ในครั้งที่ 2 (2519) และ 3 (2520) ยังถือว่าอยู่ในวงแคบเพราะเป็นอนุสรณ์งานศพของพระชั้นผู้ใหญ่ ในเวลาใกล้เคียงกันได้มีหนังสือ คู่มือดำเนินชีวิต (2519) เกิดขึ้นจากการเรียบเรียงขณะไปสอนศาสนาที่วิทยาลัย Swarthmore College ปี 2519 และมอบให้แก่พุทธศาสนิกชนผู้อุปถัมภ์ เนื้อหามาจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ที่จัดมาเรียบเรียงใหม่ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ธรรมนูญชีวิต (2522) ในการพิมพ์ครั้งที่ 4[13]

เล่มที่มีชื่อคล้ายกับเล่มเดิมอย่าง พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ (2522) นั้น เป็นความตั้งใจแต่เดิมที่จะทำในสารานุกรมทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ตั้งแต่ปี 2506 ซึ่งเป็นช่วงที่เขายังสอนอยู่ที่ มจร. เขาได้เริ่มทำจริงจังหลังกลับมาจาก Swarthmore College ในปี 2521 โดยตั้งต้นจากหนังสือ ศัพท์หลักสูตรภาษาไทย (สำหรับวิชาใหม่ในหลักสูตรนักธรรม) ที่ มจร.เคยพิมพ์ในปี 2503 ในที่สุดก็ออกมาเป็น พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับครู นักเรียน นักธรรม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ เมื่อปี 2527 ในคราพิมพ์ครั้งที่ 2[14] เล่มนี้เน้นแต่ตัวอักษรไทยที่เหมาะในการช่วยค้นคว้าความรู้ต่างๆ ที่มีอรรถาธิบายที่กว้างขวางแบบเดียวกับสารานุกรม

พุทธธรรม ได้ตีพิมพ์ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2526 ในครั้งนี้ กรมการศาสนาได้ตีพิมพ์เป็นคู่มือในการพัฒนาจริยศึกษาในโรงเรียน ที่ยกระดับไปอีกขึ้นก็คือ การที่หนังสือได้ออกสู่การจัดจำหน่ายอย่างจริงจังเมื่อสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ขอจัดพิมพ์เผยแพร่ทั่วประเทศ ถือเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 5 ในปี 2526 ซึ่งครั้งนี้ผู้เขียนได้ปรับปรุงความ แต่ยังคงจำนวนหน้าเท่าเดิม เข้าใจว่ามีตลาดพอควรทำให้สำนักพิมพ์พิมพ์ซ้ำในครั้งที่ 6 (2527), 7 (2528) และ 8 (2531) อย่างไรก็ตามในเวลาใกล้เคียงกันกับการพิมพ์ครั้งที่ 4 ได้มีการจัดทำ พุทธธรรม ฉบับแก้ไขและขยายความเพิ่มเติม ในปี 2525 ที่ขยายออกไปอย่างมาก ทำให้ฉบับเดิม ไม่ได้รับความสนใจมากเท่าใดนัก ต้องใช้เวลาอีก 12 ปีถึงมีการพิมพ์ครั้งที่ 9 (2543) ที่ตีพิมพ์ในฐานะหนังสืออนุสรณ์งานศพ อาจเป็นเพราะว่ามีจำนวนหน้าที่พอเหมาะต่างจากฉบับแก้ไขฯ ที่หนาเกินไป ในปี 2544 ก็ได้มีการตีพิมพ์อีกครั้งเป็นครั้งที่ 10 นอกจากพิมพ์ในวาระส่วนบุคคลแล้วยังถือว่าเป็น 30 ปีของพุทธธรรมด้วย ได้เพิ่มเนื้อหาเป็น 375 หน้า กลายเป็นว่าการปรับปรุง นำมาสู่การจัดพิมพ์ต่อไปอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การเพิ่มหน้าอีก นั่นคือ ครั้งที่ 38 (2562) เพิ่มเป็น 446 หน้า และครั้งที่ 39 เพิ่มเป็น 458 หน้า เรียกได้ว่ามากกว่าต้นฉบับแรกกว่า 2 เท่า

ส่วน พุทธธรรม เวอร์ชันที่ 2 ฉบับแก้ไขและขยายความเพิ่มเติมนั้น ได้ขยายเนื้อหาออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าการพิมพ์ครั้งแรก ต้นเหตุมาจากการที่เมื่อปี 2521 ระวี ภาวิไล ผู้ประสานงาน ‘คณะระดมธรรม’ ผู้อำนวยการธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ติดต่อมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ผู้ถือลิขสิทธิ์เพื่อขอตีพิมพ์แบบไม่แสวงหากำไรและได้รับอนุญาต เช่นเดียวกับผู้แต่ง (2549 : 925) หนังสือใช้เวลาเกือบ 4 ปีถึงจะสำเร็จ ในคำนำ ระวี ภาวิไล ได้บันทึกว่า การจัดพิมพ์ได้ประจวบเหมาะกับการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อปี 2525 ที่น่าสนใจคือ การได้รับการสนับสนุนจากทุนธนาคารที่กำลังโตวันโตคืน คือ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย (2549 : (4)) ผ่านไปอีก 4 ปีได้มีการขยายเนื้อหาส่วน ‘ไตรลักษณ์’ อีก 67 หน้า ในการตีพิมพ์ครั้งที่ 3 และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อันเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ผู้แต่งเคยสอนอยู่ได้ร่วมพิมพ์จำนวน 10,000 เล่ม และจะกลายเป็นผู้จัดพิมพ์จำนวนมากเช่นนี้อีกหลายครั้ง เช่น ครั้งที่ 6 (2538) จำนวน 11,000 เล่ม ครั้งที่ 9 (2543) จำนวน 8,000 เล่ม ครั้งที่ 39 (2557) จำนวน 15,000 เล่ม[15] รวมแล้วกว่า 44,000 เล่ม ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นผู้จัดพิมพ์รายใหญ่รายหนึ่งเลย

ฉบับปรับขยาย หรือเวอร์ชันที่ 3 นั้นเริ่มพิมพ์ครั้งแรกในปี 2555 ที่ขยายใหญ่โตไปมากกว่าเดิม ทั้งยังเริ่มมีการเผยแพร่ไฟล์ออนไลน์ให้ผู้อ่านเข้าถึงได้ง่ายรองรับกับการที่วัดญาณเวศกวันได้ทำเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ผลงานของ ป.อ.ปยุตฺโต ไปด้วย จะเห็นว่า ฉบับปรับขยายเองก็ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกถึงอย่างน้อย 22 ครั้ง

เวอร์ชันแรก ฉบับเดิม[1]เวอร์ชัน 2 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมและขยายความ (1,145 หน้า)[2]เวอร์ชัน 3 ฉบับปรับขยาย (1,360 หน้า)[3]
พิมพ์ครั้งแรก (2514) 206 หน้า,
ครั้งที่ 10 (2544) เพิ่มเติมเนื้อหาเป็น 375 หน้า 5,000 เล่ม, ครั้งที่ 11-19 (ปี 2544-2545) 22,068 เล่ม, ครั้งที่ 20 (กรกฎาคม 2545) 5,000 เล่ม
ครั้งที่ 38 (2562), ครั้งที่ 39 (2563), ครั้งที่ 40 (2563) 4,000 เล่ม
พิมพ์ครั้งแรก (2525) 2,000 เล่ม, ครั้งที่ 2 (2526) 1,500 เล่ม, ครั้งที่ 3 (2529) 11,010 เล่ม ครั้งที่แทรกเพิ่ม 67 หน้า, ครั้งที่ 4 (2531) 1,300 เล่ม, ครั้งที่ 5 (2532) 7,100 เล่ม, ครั้งที่ 6 (2538) 13,780 เล่ม, ครั้งที่ 7 (2541) 7,600 เล่ม, ครั้งที่ 8 (2542) 2,350 เล่ม, ครั้งที่ 9 (2543) 9.210 เล่ม, ครั้งที่ 10 (2546) 5,000 เล่ม, ครั้งที่ 11 (2549) 11,000 เล่ม (ครั้งที่ 12-30 ไม่มีข้อมูลปีและจำนวนที่พิมพ์) ครั้งที่ 31 (2553) ไม่ระบุจำนวนพิมพ์ครั้งแรก (2555) (หากนับต่อจากฉบับแก้ไขเพิ่มเติมและขยายความจะเป็นครั้งที่ 32), ครั้งที่ 6 (2556 หรือครั้งที่ 37), ครั้งที่ 22 (2562 หรือครั้งที่ 53) ครั้งที่ 24 (2557 หรือครั้งที่ 39) ครั้งที่ 44 (2565)

ตารางที่ 1 แสดงประวัติการพิมพ์ พุทธธรรม ใน 3 ฉบับ[16]

ต้นทุน ธุรกิจ และการพิมพ์ซ้ำ

แม้การตีพิมพ์ไม่ได้เน้นด้านธุรกิจเป็นหลัก แต่การจัดพิมพ์ของโรงพิมพ์ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความเกี่ยวข้องกับต้นทุนการพิมพ์ไม่น้อย เพราะมีค่าแรงและค่าวัสดุรวมอยู่ในนั้นกว่าที่หนังสือเล่มหนึ่งจะพิมพ์ออกมาได้ ถึงจะเป็นการพิมพ์ที่เท่าทุน กระนั้นการผลิตนั้นก็ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรไปแล้ว หนังสือเล่มหนากว่าหนึ่งพันหน้า และจัดพิมพ์ในหลักพันหลักหมื่น จำนวนการจัดพิมพ์ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีการใช้ทรัพยากรไม่น้อย

ตัวอย่างตัวเลขบริจาคของฉบับปรับปรุงและขยายความ ครั้งที่ 10 (2549) จำนวน 11,000 เล่ม ได้แจ้งรายการบริจาคไว้ท้ายเล่ม แบ่งประเภทการบริจาคเป็น 2 ส่วน นั่นคือ การบริจาคเป็นตัวเงิน จำนวน 458 รายการ ผู้เขียนนำมารวมกันนับเป็นเงิน 1,133,720 บาท และอีกส่วนบริจาคเป็นจำนวนเล่ม (น่าจะบริจาคตามราคาทุน) 331 รายการ รวมแล้ว 6,665 เล่ม ที่อาจจะเกลี่ยกันแล้วเป็นเงินที่มากพอจะพิมพ์ที่ยอด 11,000 เล่ม

เมื่อย้อนกลับไปดูการเติบโตของสำนักพิมพ์ทางพุทธศาสนา สำนักพิมพ์สุขภาพใจที่ก่อตั้งในปี 2525 โดย บัญชา เฉลิมชัยกิจ คนไทยเชื้อสายจีนที่เดินทางมาจากจีนพร้อมกับบิดาของเขาเมื่ออายุ 16 ปี เขามีความสนใจแนวคิดแบบสังคมนิยมแนวมาร์กซิสต์ เคยร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เขาชั่งใจว่าจะเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หรือไม่ แต่สุดท้ายเขาเลือกที่จะอยู่กับงานเผยแพร่ศาสนามากกว่า สำนักพิมพ์สุขภาพใจผลิตงานเขียนทางพุทธศาสนาในนามผลงานของพุทธทาส รวมไปถึงงานประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาตะวันออก และงานเขียนทางสังคมนิยม[17] อาจเป็นเพราะว่ากลางทศวรรษ 2520 นั้น แนวคิดฝ่ายซ้ายไม่ใช่ภัยคุกคามอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากความพ่ายแพ้ของ พคท. ทำให้การผลิตหนังสือในแนวนี้จึงมิได้เป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินเหมือนเคย

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าสุขภาพใจได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์ พุทธธรรม ฉบับเดิมในการตีพิมพ์ครั้งที่ 5 ในปี 2526 การพิมพ์ซ้ำในครั้งที่ 6 (2527), 7 (2528) และ 8 (2531) ก็น่าจะเป็นการชี้ให้เห็นว่าเป็นการลงทุนที่ถูกทางของสำนักพิมพ์ ขณะที่สังคมไทยกำลังมีระบบเศรษฐกิจที่เติบโต เช่นเดียวกับกลุ่มชนชั้นกลางและสื่อมวลชนที่กลายเป็นพื้นที่ทางสังคมสำคัญ เช่นเดียวกับประชาสังคมฝ่ายประชาธิปไตยที่เริ่มเกาะกลุ่มกันมากขึ้น ขณะเดียวกันปี 2530 ก็มีสำนักพิมพ์ธรรมะแห่งใหม่กำเนิดขึ้นนั่นคือ สำนักพิมพ์ธรรมสภา ที่พยายามอ้างอิงกับอุดมการณ์ของพระสุธรรมเมธี (บันลือ ธมฺมธโช) แห่งวัดธรรมาธิปไตย จังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักพิมพ์นี้[18] จะกลายเป็นสำนักพิมพ์สำคัญอย่างยิ่งในเวลาต่อมา จะเห็นว่านี่คือตลาดหนังสือธรรมะที่ขยายตัวไปพร้อมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมชาวพุทธไปด้วย

ที่น่าสนใจก็คือ ปี 2531 เกิดเหตุพิพาทสำคัญในวงการพุทธศาสนาและสะเทือนไปยังอำนาจรัฐ นั่นก็คือ กรณีสันติอโศกที่นำโดยพระโพธิรักษ์ ไม่ใช่เพียงแต่ศาสนา ความเกี่ยวข้องของพระโพธิรักษ์ยังไปสัมพันธ์กับนักการเมืองอย่างจำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม และจุดตัดสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ การที่ ป.อ.ปยุตฺโตออกหนังสือเรื่อง กรณีสันติอโศก ตีพิมพ์หลังจากปิดหีบเลือกตั้งทั่วไป 24 กรกฎาคม 2531 ซึ่งดูเป็นความตั้งใจของผู้แต่งที่เห็นว่า

หนังสือเล่มเล็กนี้พิมพ์ออกมาเผยแพร่ ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 ตรงกับวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นวันแห่งความเป็นกลาง ซึ่งผ่านพ้นระยะเวลาของการหาเสียงไปแล้ว และทั้งยังไม่ทราบผลว่า พรรคการเมืองใดจะได้รับเลือกตั้งเข้ามามากน้อยเพียงใด จึงแน่ใจได้ว่า การเผยแพร่หนังสือนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการหาเสียงของพรรคใดฝ่ายใด ในเวลาเดียวกัน ก็ไม่มีทางที่จะคิดเห็นไปว่า เป็นการมุ่งเอาอกเอาใจฝ่ายหนึ่ง ทับถมฝ่ายหนึ่ง หรืออจะมุ่งมาขัดแยงแข็งขันกับฝ่ายใด แต่มุ่งหมายว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามา มีส่วนร่วมสำคัญในการรับผิดชอบต่อชะตากรรมของสังค และประเทศชาติ ควรจะรู้เข้าใจเรื่องราวที่มีความสำคัญต่อสังคมของตนตามความเป็นจริง เมื่อรู้เขาใจแล้ว หากมีจิตใจเป็นธรรมและรักความชอบธรรม จักได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงนั้น[19]

หนังสือกรณีสันติอโศก เป็นที่นิยมขนาดว่าในเวลาเพียง 3 เดือนมีการตีพิมพ์ไป 6 ครั้ง รวม 43,000 เล่มเลยทีเดียว นับจากนั้น ป.อ.ปยุตฺโต ถือได้ว่าเป็นภิกษุผู้ทรงภูมิ และมีบทบาทอย่างสูงในการชี้นำและตัดสินว่าคำสอนเช่นใด วินัยเช่นใดที่เป็น ‘พุทธแท้’ ซึ่งเขาจะมีบทบาทสำคัญต่อกรณีธรรมกายในช่วงปี 2541 และอาญาสิทธิ์เช่นนี้ของเขา ก็ได้มาจากผลงานมาสเตอร์พีซอย่างพุทธธรรมที่เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับกันมาก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับบทบาทการเผยแพร่หนังสือธรรมะและการแสดงความเห็นต่างกรรมต่างวาระ

กล่าวได้เช่นกันว่า ป.อ.ปยุตฺโต ได้ผลิตผลงานมหาศาล เฉพาะต้นทศวรรษ 2530 ก็มีผลงานจำนวนมากที่ได้ระบุไว้ เช่น ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ (2530 (พิมพ์ครั้งแรก)), เครื่องวัดความเจริญของชาวพุทธ (2530), เทคโนโลยีกับศาสนา (2531 พิมพ์ 4 ครั้งยอดกว่า 13,000 เล่ม) จริยธรรมสำหรับคนรุ่นใหม่  (2530), ทางสายกลางของการศึกษาไทย (2530), ประโยชน์สูงสุดของชีวิตนี้ (2530 พิมพ์ไป 25,000 เล่ม ส่วนหนึ่งถวายเป็นพระราชกุศล รัชกาลที่ 9 พระชนมพรรษาครบ 5 รอบ), ทำอย่างไรจะหายโกรธ (2531 พิมพ์รวมกันกว่า 15,200 เล่ม), เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ (2531), ชีวิตกับการทำงาน (2532), ชีวิตนี้เพื่องานงานนี้เพื่อธรรม (2533), ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา : ข้อพิจารณาเกี่ยวกับวิชาพระพุทธศาสนาและจริยศึกษาในหลักสูตรการศึกษาของชาติ  (2533) เช่นเดียวกับสถานภาพของเขาที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกจากรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพโลก เมื่อปี 2537 [20]

ผลงานเหล่านี้สัมพันธ์กับบริบทสังคมไทยในขณะนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว ชนชั้นกลางผู้รู้หนังสือทั้งหลายเข้าถึงธรรมะผ่านการอ่าน หนังสือหลายเล่มมีเนื้อหาตรงใจและเป็นตัวแทนของคนยุคดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นในด้านอนุรักษนิยมอย่างศาสนาประจำชาติ ความทันสมัยและการพัฒนาที่มีพุทธศาสนาเป็นรากฐาน การจัดการชีวิตประจำวันและการงาน รวมไปถึงรากฐานสำคัญคือการศึกษาที่ควรผูกสัมพันธ์กับพุทธศาสนา

พุทธธรรม ฉบับเดิมที่มีขนาดไม่หนาเกินไป ทำให้ราคาไม่เกินเอื้อมและพกพาง่าย อ่านสะดวกเป็นที่นิยม ต่างไปจากฉบับปรับปรุงและแก้ไขที่เหมาะสำหรับใส่ตู้โชว์ หรือใช้อ่านเพื่อค้นคว้าเสียมากกว่า ในทางกลับกัน ฉบับปรับปรุงแก้ไขและฉบับขยายความที่หนาเกินพันหน้า สองฉบับหลังได้รับการจัดพิมพ์จากหน่วยงานภาครัฐรายใหญ่อย่างมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยที่จำนวนรวมการพิมพ์ทุกครั้งไม่ต่ำกว่า 44,000 เล่ม ซึ่งที่มาของการจัดพิมพ์ไม่แน่ใจนักว่าเพื่อนำไปแจกจ่ายยังสถานศึกษา หรือนักศึกษาพระมากน้อยเพียงใด

ป.อ.ปยุตฺโต ปัจจุบันก็มีอายุได้ 85 ปีแล้ว เมื่อปี 2559 เขาได้รับสมณศักดิ์เป็น ‘สมเด็จพระราชาคณะ’ ที่ ‘สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลสุนทรนายก ปาพจนดิลกวรานุศาสน์ อารยางกูรพิลาสนามานุกรม คัมภีรญาณอุดมวิศิษฏ์ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี’ หรือที่เรียกกันอย่างสั้นว่า ‘สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์’

ในตลาดปัจจุบัน พุทธธรรม ที่จัดจำหน่ายมีอยู่ 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับขยายความ (2557) อยู่ที่ราคา 700 บาทต่อเล่มในฉบับของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยที่ยังคงสมณศักดิ์พระพรหมคุณาภรณ์อยู่ แต่เมื่อเข้าไปค้นในเว็บไซต์ของวัดญาณเวศกวัน ระบุปีที่พิมพ์ครั้งล่าสุดคือ ครั้งที่ 44 (2565) ซึ่งเปลี่ยนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์แล้ว ขณะที่ฉบับเดิมที่บางกว่าและมีลักษณะเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คนั้นขายอยู่ที่ราคา 200 บาท มีสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เช่นกัน

เข้าใจว่า การจัดพิมพ์เพื่อขายในตลาดหนังสือทั่วไปนั้น อาจเหลื่อมซ้อนกับฉบับที่จัดพิมพ์เผยแพร่โดยวัดทั้งในรูปแบบออนไลน์ และการบริจาคเงินเพื่อจัดพิมพ์เพื่อแจกจ่ายเป็น ‘ธรรมทาน-ให้เปล่า’ ดังที่เคยปรากฏคำนี้ในฉบับปี 2549

ก็น่าสนใจว่า ประวัติของพุทธธรรมจะเป็นอย่างไรต่อไปอีก

หากเทียบกับพุทธทาสแล้ว งานเขียนของ ป.อ.ปยุตฺโต แม้จะมีความเป็นวิชาการ แต่ก็รับบทของผู้พิทักษ์ศาสนาพุทธมากกว่าพุทธทาส ที่ทดลองการสอนที่แหวกแนวจากยุคสมัยของเขา ข้ามไปทำความเข้าใจกับศาสนาต่างๆ อาจจะมีจุดร่วมบางอย่างต่อสิ่งแปลกปลอมในพุทธแบบไทยๆ ทั้งเรื่องไสยศาสตร์ เวทมนต์ แต่ไม่ค่อยปรากฏว่าพุทธทาสอภิปรายหรือเขียนหนังสือโจมตีสำนักที่ถือพุทธศาสนาที่นับว่านอกรีตนอกรอย ผิดกับ ป.อ.ปยุตฺโต ที่แสดงบทบาทดังกล่าวชัดเจนกับ 2 สำนักที่มีสานุศิษย์กว้างขวาง และนับว่ายิ่งใหญ่มากนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาอย่าง สันติอโศก หรือวัดพระธรรมกาย และอาจเป็นท่าทีของปัญญาชนที่ปกป้องพุทธศาสนาเช่นนี้เองที่ทำให้งานเขียนของเขาได้รับการสนับสนุนอย่างไม่ขาดสายในการตีพิมพ์หนังสือธรรมะที่มีเนื้อหาที่หนักแน่น และจำนวนหน้าที่หนาเกินกว่าจะอ่านกันสบายๆ แบบเดียวกับหนังสือธรรมะขนาดพ็อกเก็ตบุ๊คทั่วไป


[1] ชื่อเดิมคือ ประยุทธ์ อารยางกูร ป.อ.ปยุตฺโต จึงมาจากชื่อและนามสกุล ในที่นี้จะใช้คำว่า ป.อ.ปยุตฺโต เรียกแทน เนื่องจากว่า มีการเปลี่ยนแปลงราชทินนามบ่อยๆ ล่าสุดคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จึงใช้ชื่อดังกล่าวลำลอง ขณะเดียวกันเพื่อแสดงถึงความเรียบง่ายแบบสมัยพุทธกาลที่ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘สมณศักดิ์’

[2] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ (พิมพ์ครั้งที่ 11, กรุงเทพฯ : บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2549), หน้า (8)

[3] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), เรื่องเดียวกัน, หน้า 927

[4] ดูใน พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), รู้จักพระไตรปิฎก เพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้ (ครั้งที่ 9, มปท., 2546)

[5] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), เรื่องเดียวกัน, หน้า 927

[6] แผ่นพับ ชาติภูมิสถาน ป.อ.ปยุตฺโต

[7] มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. “ประวัติและพัฒนาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย”. สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2566 จาก http://oldweb.mcu.ac.th/site/history.php

[8] วัดญาณเวศกวัน. “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ประวัติ”. สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.watnyanaves.net/th/web_page/papayutto และ คอลัมน์ มงคลข่าวสด. “พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาแห่งยุคปัจจุบัน”. มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.mcu.ac.th/article/detail/14251 (12 สิงหาคม 2558)

[9] ดูใน วรรณนิภา นิยมไทย, “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” กับบทบาทในการพัฒนาภูมิปัญญาทางการเมืองในสังคมไทย วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533

[10] วัดญาณเวศกวัน. “สถาบันสงฆ์ในสังคมไทย”. สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2566 จาก https://www.watnyanaves.net/th/book-content-index/424

[11] สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม (ฉบับเดิม) (พิมพ์ครั้งที่ 40, มปท., 2563), หน้า 453-455

[12] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (พิมพ์ครั้งที่ 34, กรุงเทพฯ : มูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), 2559), หน้า 4-5

[13] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), ธรรมนูญชีวิต (กรุงเทพฯ : วัดญาณเวศกวัน, 2541), คำปรารภ

[14] สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ (พิมพ์ครั้งที่ 32, มปท., 2561), หน้า ข-ค

[15] ศูนย์เผยแพร่พระไตรปิฎกและหนังสือพระพุทธศาสนา. “พุทธธรรม-ฉบับปรับขยาย-พจนานุกรม-โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)”. สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน 2566 จาก http://www.trilakbooks.com/product/275612/หนังสือพุทธธรรม-700บาท.html (18 สิงหาคม 2564)

[16] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ (พิมพ์ครั้งที่ 11, กรุงเทพฯ : บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2549) และ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย (พิมพ์ครั้งที่ 53, กรุงเทพฯ : ม.เอเชียอาคเนย์, 2562)

[17] ผู้จัดการออนไลน์. “24 ปี สุขภาพใจ กับงานเผยแผ่ธรรมของพุทธทาส”. สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน 2566 จาก https://mgronline.com/live/detail/9490000069979 (29 พฤษภาคม 2549)

[18] ธรรมสภา. “กำเนิดธรรมสภา”. สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน 2566 จาก http://www.thammasapa.com/index.php?mo=54&opt=view_entry&form_id=2044

[19] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), กรณีสันติอโศก (พิมพ์ครั้งที่ 6, ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2531), หน้า 2

[20] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), เพื่ออนาคตของการศึกษาไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, 2538) 

References
1 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม (ฉบับเดิม) (พิมพ์ครั้งที่ 40, มปท., 2563
2 พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ (พิมพ์ครั้งที่ 11, กรุงเทพฯ : บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2549), หน้า 925
3 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย (พิมพ์ครั้งที่ 53, กรุงเทพฯ : ม.เอเชียอาคเนย์, 2562

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save