Blockchain เพื่อความโปร่งใส: เราทำอะไรได้บ้าง

Blockchain เพื่อความโปร่งใส: เราทำอะไรได้บ้าง

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย และ สมคิด พุทธศรี เรื่อง

ช่วงสองสามปีมานี้คำว่า ‘Blockchain’ เป็นคำฮิตติดหู ในฐานะเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมอนาคต โดยที่ผ่านมา คนทั่วไปมักจะรู้จัก Blockchain ว่าเป็นระบบหลังบ้านที่ขับเคลื่อนสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin ทว่าด้วยคุณลักษณะเด่นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สามารถย้อนกลับไปตรวจสอบความโปร่งใสได้ เทคโนโลยีนี้จึงเริ่มถูกนำมาใช้ประโยชน์กับเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากโลกการเงินด้วย

ว่ากันว่า ‘Blockchain’ จะเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีเขย่าโลก (disruptive technology) ที่เข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

Blockchain คืออะไร

Blockchain

Blockchain เป็น ‘ฐานข้อมูลดิจิทัลแบบไม่รวมศูนย์’ กล่าวคือมีลักษณะเป็นระบบฐานข้อมูล (database) ประเภทหนึ่งซึ่งถูกเก็บแบบกระจาย แทนที่จะรวมไว้ที่ใดที่หนึ่ง หรือใครคนใดคนหนึ่ง หากใครทำเรื่องผิดปกติวิสัย (ในที่นี้คือการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูล) ระบบก็จะรู้และบันทึกไว้ทันที ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

Blockchain เป็นระบบที่ยากต่อการถูกแฮ็ก หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลแต่ละครั้ง ต้องอาศัยฉันทามติ (consensus) ของคนส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ใช้ Blockchain นั้นๆ มีจำนวน 10 คน การจะแก้ไขข้อมูลบางอย่างได้ ต้องได้รับการยินยอมจากคนอย่างน้อย 6 คน หรือถ้าในกรณีที่แฮกเกอร์จะเจาะเข้ามาลบหรือแก้ข้อมูล แฮกเกอร์คนนั้นต้องลบหรือแก้ข้อมูลให้เหมือนกันอย่างน้อย 6 เครื่อง จึงจะสามารถลบหรือแก้ไขข้อมูลนั้นๆ ได้

Blockchain จึงเป็นระบบฐานข้อมูลที่มีความปลอดภัย ยากต่อการแก้ไข และเอื้อให้เกิดความโปร่งใสได้อย่างแท้จริง Blockchain เหมาะแก่การนำไปใช้ในธุรกิจหรือการทำงานใดๆ ก็ตาม ที่ผู้มีส่วนได้เสียนั้นมี ‘ความไม่ไว้ใจกัน’ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะยิ่งไม่ไว้ใจกันเท่าไหร่ ข้อมูลจะยิ่งถูกตรวจสอบและโปร่งใสมากขึ้นเท่านั้น

ภาครัฐโปร่งใสมากขึ้น

Corruption Perception Index, Block chain, คอรัปชั่น

สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความโปร่งใสสูงมาก โดยในปี 2017 สิงคโปร์มีดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) สูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลกและเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย

ปัจจุบันสิงคโปร์ได้ยกระดับความโปร่งใสไปอีกขั้น ด้วยการนำเอา Blockchain มาใช้ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทำให้สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ไม่เพียงเท่านั้น ระบบใหม่นี้ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเข้าไปดูราคากลางจากภูมิภาคทั่วโลกและรู้ได้ทันทีว่า หากจะประมูลวันนี้ควรจะได้ราคาเท่าไร

อุตสาหกรรมโปร่งใสมากขึ้น

เพขรเลือด

เพชรเลือด (blood diamond) หรือเพชรแห่งความขัดแย้ง มีต้นกำเนิดมาจาทวีปแอฟริกาในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเพชรสำคัญของโลก

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เพชรเหล่านี้ถูกควบคุมการผลิตโดยกลุ่มกบฏระดับนานาชาติ โดยใช้เป็นช่องทางทำเงินมหาศาล เพื่อสั่งสมกองทัพและอาวุธในการต่อสู้กับรัฐบาล ขณะเดียวกันก็มีการกดขี่แรงงานทาสจำนวนมากอย่างโหดร้ายทารุณ ก่อนที่เพชรเหล่านี้จะถูกส่งเข้าตลาดเพชรระดับโลก และขายอย่างถูกกฎหมาย เรื่องราวนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ Blood Diamond ในปี 2006

มีการประมาณการว่า ในปี 2017 เพชรเลือดหรือเพชรที่ได้มาอย่างไม่โปร่งใส ทำให้อุตสาหกรรมเพชรเสียหายกว่า 300 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 4% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเพชรเริ่มนำ Blockchain เข้ามาแก้ไขปัญหานี้ โดยกำหนดให้มีการบันทึกข้อมูลรายละเอียดในทุกขั้นตอนการผลิตเพชร ตั้งแต่เหมืองจนถึงร้านค้าขายปลีก เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถติดตามที่มาที่ไปของเพชรและมั่นใจได้ว่าเพชรเม็ดดังกล่าวไม่ใช่เพชรเลือด และไม่ใช่เพชรปลอม

Igor Chugunov ซีอีโอแห่ง Credits.com หนึ่งในผู้บุกเบิกการนำ Blockchain มาใช้ในอุตสาหกรรมเพชรเชื่อว่า “Blockchain จะทำให้อุตสาหกรรมเพชรเดินหน้าต่อไปได้

ธุรกิจโปร่งใสมากขึ้น

blockchain ธุรกิจ โปร่งใส

องค์กร Provenance นำ blockchain มาใช้ในอุตสาหกรรมปลาเพื่อสร้างความโปร่งใส โดนทำรายงานออกมาเพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าปลาตัวนี้ถูกจับที่ไหน โดยใคร เมื่อไหร่ (user centre design)

แนวคิดนี้เกิดขึ้นและทดลองใช้เป็นครั้งแรกที่เกาะสุลาเวสี (เหนือ) ประเทศอินโดนีเซีย ด้วยโจทย์ตั้งต้นว่า ทำอย่างไรจึงทำให้ปลาทูน่าแต่ละตัวแปลงเป็น ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ (digital asset) ได้ จึงมีการพัฒนาระบบให้ชาวประมงลงทะเบียนปลาทูน่าแต่ละตัวในระบบผ่าน sms ธรรมดา เมื่อลงทะเบียนแล้วปลาแต่ละตัวก็จะมีรหัส ID เป็นของตัวเอง และ ID จะถูกส่งไปตามสายพานการผลิต เมื่อปลาขึ้นฝั่งและต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนต่างๆ เช่น อัดครีบ แบ่งเนื้อปลา  ซึ่งเริ่มเกี่ยวข้องห่วงโซ่อุปทานอื่นๆ เช่น โรงงาน บริษัทขนส่ง และร้านค้าปลีก ก็จะมีการบันทึกข้อมูลทั้งหมด

ระบบ Blockchain สามารถทำให้ผู้บริโภครู้ได้เลยว่า ชิ้นส่วนปลานี้แล่มาจากปลาตัวไหน เรือลำใดเป็นคนจับ ใคร (หรือโรงงานไหน) เป็นคนแล่ โดยมั่นใจได้ว่าข้อมูลนี้จะไม่ถูกแก้ไข หรือปลอมแปลงระหว่างทาง

ภาคประชาสังคมโปร่งใสมากขึ้น

blockchain ภาคประชาสังคม โปร่งใส

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เริ่มใช้ private blockchain ซึ่งเป็นระบบปิดและเล็ก ในการจัดการกับปัญหาผู้อพยพชาวซีเรียในจอร์แดน

UNHCR ใช้วิธีการสแกนม่านตาเพื่อบันทึกข้อมูลตัวตนของผู้อพยพ ซึ่งนอกจากจะใช้ยืนยันตัวตนผู้อพยพแล้ว ระบบยังถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วย (Humanitarian Aid) โดยผู้อพยพสามารถชำระค่าอาหารและสินค้ากับร้านค้าที่ร่วมมือกับ UNHCR ด้วยระบบ ‘Eye Pay’ หรือสแกนม่านตาเพื่อจ่ายเงินได้ทันที ซึ่งข้อมูลการซื้อขาย เช่น ชนิดสินค้าและราคา จะถูกส่งไป UNHCR และองค์กรที่เกี่ยวข้อง (เช่น World Food Programme) และองค์กรเหล่านี้จะเป็นผู้ชำระเงินให้กับร้านค้าในภายหลัง

เทคโนโลยีนี้ช่วยให้ระบบการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมีความโปร่งใสมากขึ้น โดยลดปัญหาการโกงหรือช่วยเหลือที่ไม่ครอบคลุม ที่สำคัญคือ เทคโนโลยี Blockchain ยังมีความปลอดภัยสูง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการรักษาความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อพยพที่ย้ายประเทศหรือกลับประเทศตนเอง

ประเทศไทยจะโปร่งใสมากขึ้น?

blockchain ประเทศไทย โปร่งใส

ประเทศไทยมีศักยภาพในการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการสร้างความโปร่งใสเช่นเดียวกัน หลายองค์กรและภาคส่วนกำลังพัฒนานวัตกรรมต้นแบบที่น่าสนใจหลายโครงการ อาทิ การบันทึกข้อมูลระบบห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมประมงที่ช่วยแก้ปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมาย (คล้ายกับกรณีปลาทูน่าในอินโดนีเซีย) ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ผู้บริโภคก็สามารถเลือกที่จะไม่ซื้ออาหารทะเลที่มาจากเรือที่ใช้แรงงานผิดกฎหมายได้ รวมถึงประเทศผู้นำเข้าอาหารทะเลก็สามารถเลือก ‘แบน’ เฉพาะสินค้าที่ผู้ผลิตทำผิดกฎหมายได้ ไม่เหมารวมทั้งอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบข้อมูลเปิดเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน ระบบยืนยันตัวตนผู้ไร้สัญชาติในประเทศไทย เป็นต้น

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า Blockchain จะเข้ามาช่วยยกระดับความโปร่งใสในประเทศไทยได้แค่ไหน อย่างไร


อ่านเรื่องราวการใช้ Blockchain เพื่อความโปร่งใส เพิ่มเติมได้ ที่นี่

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save