fbpx
การใช้ ‘Blockchain’ เพื่อความโปร่งใส : ตัวอย่างในต่างประเทศ และความเป็นไปได้ในไทย

การใช้ ‘Blockchain’ เพื่อความโปร่งใส : ตัวอย่างในต่างประเทศ และความเป็นไปได้ในไทย

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

Thailand Institute of Justice (TIJ) ภาพ

ช่วงสองสามปีมานี้ ‘Blockchain’ เป็นคำที่เราได้ยินบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมอนาคต โดยที่ผ่านมา คนทั่วไปมักจะรู้จัก Blockchain ว่าเป็นระบบหลังบ้านที่ขับเคลื่อนสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin ทว่าด้วยคุณลักษณะเด่นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สามารถย้อนกลับไปตรวจสอบความโปร่งใสได้ เทคโนโลยีนี้จึงเริ่มถูกนำมาใช้ประโยชน์กับเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากโลกการเงินด้วย

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ Change Fusion และภาคีเครือข่าย จัดงาน Roundtable on Technology for Justice Series ในหัวข้อ ‘เทคโนโลยี Blockchain เพื่อความโปร่งใสและความรับผิดชอบ’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Project J : jX Justice Experiment เพื่อระดมความคิดเห็น ถกปัญหา และแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในหลายภาคส่วน ว่าด้วยการนำเทคโนโลยีอย่าง Blockchain มาประยุกต์ใช้ในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะการใช้เป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสและความยุติธรรม

TIJ, Project J : jX Justice Experiment, สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

ความน่าสนใจของงานครั้งนี้ คือการที่ภาคีเครือข่ายต่างๆ มาร่วมวงสนทนาแบบโต๊ะกลม เพื่อนำเสนอและต่อยอดองค์ความรู้ใหม่อย่างเรื่อง Blockchain อย่างรอบด้าน โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งนักวิชาการ ตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ ผู้บริหารระดับสูงของเอกชนรายใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพ และตัวแทนจากภาคประชาสังคม

นวัตกรรมเพื่อระบบยุติธรรม

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เล่าว่า Project J : jX Justice Experiment เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะ ‘Redesigning Justice’ หรือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ด้วยการคิดใหม่ ทำใหม่ โดยใช้เครื่องมือและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วย เพื่อแก้ไขสิ่งเก่าที่เคยล้มเหลวในอดีต

จากประสบการณ์การทำงานในกระบวนการยุติธรรมมาหลายสิบปี เขายอมรับว่าแม้จะมีความพยายามในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอยู่หลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่มักล้มเหลว ซึ่งเขามองว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน

ปัจจัยแรก คือการพัฒนาหรือปฏิรูปโดยอาศัยผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมอย่างเดียว ซึ่งทำให้เกิดการปฏิรูปจริงๆ ได้ยาก เพราะขาดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรม

“ประเด็นอยู่ที่ว่า จะทำยังไงให้คนที่เป็นผู้ใช้บริการ (user) ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์หรือผลกระทบโดยตรง เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ทางหนึ่งที่เราคิดกันก็คือ ต้องมีแพลตฟอร์มที่นำมาสู่การรวมตัวกันของคนที่หลากหลาย ซึ่งไม่จำกัดอยู่แค่คนในกระบวนการยุติธรรมหรือวงการกฎหมายอย่างเดียว”

ปัจจัยต่อมา คือวิธีคิดหรือ mindset ของคนในกระบวนการยุติธรรม “ถ้าคนในกระบวนการยุติธรรม คิดถึงเรื่ององค์กรตัวเองอย่างเดียว ยังไงก็ปฏิรูปไม่สำเร็จ”

กิตติพงษ์ขยายความว่า ทุกวันนี้มีแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า Design Thinking หรือ System Thinking ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือระบบใดๆ ก็ตาม โดยยึดจากความต้องการของ user เป็นหลัก โดยเขาชี้ว่านี่คือเครื่องมือหนึ่งที่น่าจะช่วยเปลี่ยน mindset เดิมๆ ของคนในกระบวนการยุติธรรมได้ โดยการจัดเสวนาแบบโต๊ะกลม (roundtable) ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ นับเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้เช่นกัน

ส่วนปัจจัยสุดท้าย คือโอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะโอกาสจากเทคโนโลยี ซึ่งกิตติพงษ์เห็นว่ามีโอกาสอยู่มากมาย ตั้งแต่เรื่อง Blockchain รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ อย่าง AI หรือ Open Data โดยชี้ประเด็นสำคัญว่า การนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ จะเอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากคนที่หลากหลาย เกิดการกระจายอำนาจ อันจะนำไปสู่ภาวะ “ปลาเล็กช่วยกันตรวจสอบปลาใหญ่” จากเดิมที่ปลาใหญ่หรือผู้มีอำนาจ เป็นฝ่ายกินปลาเล็กมาโดยตลอด

Blockchain คืออะไร เกี่ยวข้องกับ ‘ความโปร่งใสอย่างไร

สุนิตย์ เชรษฐา
สุนิตย์ เชรษฐา

 

สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion อธิบายคำนิยามของ Blockchain ไว้อย่างกระชับ ว่าเป็น ‘ฐานข้อมูลดิจิทัลแบบไม่รวมศูนย์’ กล่าวคือมีลักษณะเป็นระบบฐานข้อมูล (database) ประเภทหนึ่งซึ่งถูกเก็บแบบกระจาย แทนที่จะรวมไว้ที่ใดที่หนึ่ง หรือใครคนใดคนหนึ่ง เปรียบคล้าย ‘บัญชีหนังหมา’ ของยมบาลซึ่งเรามองไม่เห็น ประเด็นคือหากใครหากทำเรื่องผิดปกติวิสัย (ในที่นี้คือการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูล) ยมบาลจะรู้และบันทึกไว้ทันที ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ Blockchain ยังมีลักษณะพิเศษคือ เป็นทั้ง open data คือคนอื่นๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ แต่ขณะเดียวกันก็มีความเป็นส่วนตัว (private) คือจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตหรือมีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น

ปฏิพัทธ์ สุสำเภา กรรมการผู้จัดการบริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด ขยายความเพิ่มเติมว่า หากอธิบายให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาหน่อย Blockchain ก็คือ Block + Chain หมายถึงลักษณะการเก็บข้อมูลเป็น Block โดยที่แต่ละบล็อกเรียงร้อยกันเป็น Chain

ปฏิพัทธ์เล่าว่าจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ Blockchain คือ เป็นระบบที่ยากต่อการถูกแฮ็ก หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลแต่ละครั้ง ต้องอาศัยฉันทามติ (consensus) ของคนส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ใช้ Blockchain นั้นๆ มีจำนวน 10 คน การจะแก้ไขข้อมูลบางอย่างได้ ต้องได้รับการยินยอมจากคนอย่างน้อย 6 คน หรือถ้าในกรณีที่แฮกเกอร์จะเจาะเข้ามาลบหรือแก้ข้อมูล แฮกเกอร์คนนั้นต้องลบหรือแก้ข้อมูลให้เหมือนกันอย่างน้อย 6 เครื่อง จึงจะสามารถลบหรือแก้ไขข้อมูลนั้นๆ ได้

blockchain

ด้วยเหตุนี้ Blockchain จึงเป็นระบบฐานข้อมูลที่มีความปลอดภัย ยากต่อการแก้ไข และเอื้อให้เกิดความโปร่งใสได้อย่างแท้จริง โดยปฏิพัทธ์ชี้ว่า เหมาะแก่การนำไปใช้ในธุรกิจหรือการทำงานใดๆ ก็ตาม ที่ผู้มีส่วนได้เสียนั้นมี ‘ความไม่ไว้ใจกัน’ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะยิ่งไม่ไว้ใจกันเท่าไหร่ ข้อมูลจะยิ่งถูกตรวจสอบและโปร่งใสมากขึ้นเท่านั้น

ทว่าในทางกลับกัน ด้วยลักษณะแบบนี้อาจมีช่องโหว่อยู่บ้าง ในกรณีที่เกิดการ ‘ฮั้ว’ กันของคนใน Blockchain นั้นๆ เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลบางอย่าง

ด้าน พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคม Thailand Tech Startup เสริมว่า มากกว่าการเชื่อมโยงข้อมูลที่โปร่งใส สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ Blockchain ก็คือ ‘Internet of value’ จากเดิมที่เป็นแค่ ‘Internet of data’ หมายความว่า จากเดิมที่ฟังก์ชันของอินเทอร์เน็ตคือการรับส่งข้อมูลเป็นหลัก แต่ Blockchain จะยกระดับขึ้นไปกว่านั้น คือรับส่ง ‘คุณค่า’ หรือ ‘สิทธิ’ ในข้อมูลหรือสิ่งของนั้นๆ ไปด้วย เช่น สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงสิทธิ์จากการทำธุรกรรมต่างๆ

Blockchain นำไปใช้กับอะไรได้บ้าง

 

ปริญญ์ พานิชภักดิ์
ปริญญ์ พานิชภักดิ์

แม้ Blockchain จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ปัจจุบันหลายประเทศนำระบบนี้มาใช้กันสักระยะแล้ว ปริญญ์ พาณิชภักดิ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรรมการทรงคุณวุฒิสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ยกตัวอย่างที่น่าสนใจจากหลายประเทศด้วยกัน อาทิ

– สิงคโปร์ นำ Blockchain มาใช้ในระบบราชการ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การกำหนดราคากลาง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

– อังกฤษ กรมตำรวจนำระบบ Blockchain มาใช้ ตั้งแต่รับแจ้งความ สอบสวน ไปจนถึงชั้นศาล เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูล และลดการใช้กระดาษ

นอกจากนี้ยังมีเคสตัวอย่างที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในวงเสวนาอีก อาทิ

– อินโดนีเซีย นำ Blockchain มาใช้ในอุตสาหกรรมประมง เพื่อความโปร่งใส เป้าหมายคือต้องการให้ผู้บริโภคสามารถรับรู้ได้ว่าปลาที่กำลังรับประทานอยู่ ถูกจับที่ไหน โดยใคร และเมื่อไหร่

– เอสโตเนีย เป็นผู้นำการใช้ Blockchain ในการจัดการข้อมูลบัตรประชาชนและการเข้าถึงสิทธิพลเมืองทั้งระบบ

– เกาหลีใต้ กำลังลงทุนเพื่อใช้ Blockchain ในการจัดการเลือกตั้ง

– UNHCR ใช้ Blockchain ในการบันทึกข้อมูลของผู้อพยพ และใช้เป็นกลไกออกเงินตราดิจิทัลเพื่อให้ผู้อพยพสามารถใช้ซื้ออาหารและของใช้ที่จำเป็น

พณชิต กิตติปัญญางาม
พณชิต กิตติปัญญางาม

ในส่วนประเทศไทย ปัจจุบันกำลังมีความพยายามนำมาใช้ในอุตสาหกรรมประมง โดยกำลังอยู่ในระหว่างการระดมสมองเพื่อออกแบบและพัฒนาระบบ

ในประเด็นนี้ พณชิตเสริมว่าสิ่งสำคัญของการเริ่มต้นใช้ Blockchain คือ ‘การทำความเข้าใจระบบก่อนใช้จริง’ โดยเขามองว่าสิ่งที่ยากจริงๆ ไม่ใช่การเขียนโปรแกรมหรือพัฒนาซอฟต์แวร์ แต่คือการออกแบบระบบและกระบวนการ เพื่อให้การใช้ Blockchain ตอบโจทย์ที่ต้องการมากที่สุด

“ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า เราต้องมีหรือต้องใช้ แต่อยู่ที่ว่า เมื่อเรามีแล้วจะนำไปใช้อย่างไร เพราะถ้าใช้อย่างไม่เข้าใจ context และ philosophy ของมัน นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว อาจทำให้ปัญหาเดิมๆ เกี่ยวกับไอทีที่ยังแก้ไม่ได้ ขยายใหญ่ไปกว่าเดิม”

ความเป็นไปได้ในไทย : โอกาสและอุปสรรค

ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค

เมื่อพูดถึงความโปร่งใส แน่นอนว่าขั้วตรงข้ามย่อมหนีไม่พ้นคำว่าทุจริตหรือคอร์รัปชัน หนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีการอภิปรายวงเสวนานี้ คือแนวทางในการนำเทคโนโลยีอย่าง Blockchain มาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ควรเป็นอย่างไร

ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้ง Hands Social Enterprise เปิดข้อมูลจากงานวิจัยว่า ในประเทศไทยมีการออกมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันเยอะมาก ทว่าภาพลักษณ์และสถานการณ์การคอร์รัปชันกลับไม่ดีขึ้นนัก พร้อมเสนอหลัก ‘3P’ ที่เมื่อนำประยุกต์ใช้กับ Blockchain น่าจะสามารถช่วยอุดรอยรั่วในการคอร์รัปชันได้ ดังนี้

1) People

ต่อภัสสร์ชี้ว่า ที่ผ่านมาประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องคอร์รัปชันที่หลากหลาย และผู้ออกมาตรการอาจยังไม่เข้าใจกลุ่มบุคคลต่างๆ มากพอ โดยข้อมูลจากงานวิจัยชี้ว่า กลุ่มคนอายุมากกว่า 30 ปี มองว่าคอร์รัปชันเป็นเรื่องของ ‘นักการเมือง’ ส่วนกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 30 ปีจะมองว่าเป็นเรื่องของ ‘ข้าราชการ’ กล่าวคือคนแต่ละกลุ่ม มีการรับรู้และการตอบสนองต่อเรื่องคอร์รัปชันในลักษณะที่แตกต่างกันไป

จุดที่น่าสนใจคือ ถ้ามีการนำ Blockchain มาใช้ เพื่อให้เกิดการแชร์ข้อมูลของทุกหน่วยงานร่วมกัน บนพื้นฐานของความปลอดภัย อาจทำให้ภาครัฐเข้าใจความแตกต่างตรงนี้ได้ดีขึ้น และนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุดมากขึ้น

2) Professional

ต่อภัสสร์ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมามีคนที่แสดงออกว่าไม่พอใจและต่อต้านคอร์รัปชันกันค่อนข้างเยอะ โดยปัจจุบันมีกว่า 30 องค์กรที่เดินหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน คำถามคือเหตุใดเราจึงไม่สามารถหยุดยั้งการโกงหรือคอร์รัปชันได้สักที

ในประเด็นนี้ เขาวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะที่ผ่านมาแต่ละภาคส่วนยังขาดการร่วมมือกันอย่างจริงจัง ทั้งในแง่ของข้อมูลและทรัพยากร ซึ่งการใช้ Blockchain น่าจะเข้ามาช่วยอุดช่องโหว่ตรงจุดนี้ได้

3) Platform 

ที่ผ่านมาประเทศไทยยังขาดพื้นที่ในสร้างความเปลี่ยนแปลง แม้โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก จะสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและเป็นระบบ โดยต่อภัสสร์มองว่า Blockchain อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่เข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ได้

ทั้งนี้ เขามองว่าการนำ Blockchain มาใช้ อย่างน้อยที่สุดมันจะช่วยให้ข้อมูลทุกอย่างขึ้นไปอยู่ในระบบได้ทันที โดยที่ทุกหน่วยงานสามารถเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้

ปฏิพัทธ์ สุสำเภา
ปฏิพัทธ์ สุสำเภา

จากข้อเสนอขอต่อภัสสร์ ปฏิพัทธ์เสริมว่าขั้นแรกที่ภาครัฐควรทำ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการนำ Blockchain มาใช้ ก็คือเปลี่ยนระบบฐานข้อมูลจากที่อยู่ในกระดาษ ให้เป็น ‘Digltal Database’ ทั้งหมด ทั้งในแง่รูปแบบของข้อมูล เช่น เป็นไฟล์ดิจิทัล และในแง่รายละเอียดของข้อมูลที่กำกับอยู่บนไฟล์นั้นๆ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

นอกจากนี้ เขายังตั้งข้อสังเกตว่า การออกแบบฐานข้อมูลในเมืองไทยในอดีตที่ผ่านมา มีปัญหาอยู่หลายประการด้วยกัน ตั้งแต่การใช้ข้อมูลแบบรวมศูนย์ ง่ายต่อการแก้ไขโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นระบบที่ไม่มีกลไกการตรวจสอบความแน่นอนของข้อมูล ซึ่งปัญหาที่ว่ามา ล้วนตรงข้ามกับหลักการของ Blockchain ทั้งสิ้น

แม้เทคโนโลยี Blockchain จะก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ มากมาย ทว่าผู้ร่วมอภิปรายหลายคนต่างให้ความเห็นตรงกันว่า สุดท้ายแล้ว Blockchain ไม่ใช่ ‘ยาสารพัดนึก’ ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง สิ่งที่ต้องพึงระวังก็คือ ถ้าใช้ไม่ดี หรือใช้โดยที่ไม่เข้าใจหลักการของมัน เทคโนโลยีนี้ก็อาจแปรเปลี่ยนเป็น ‘โทษมหันต์’ ได้เช่นกัน


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save