fbpx
ตัดแว่นเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม มองสังคมไทยในยุค COVID-19 กับ ธานี ชัยวัฒน์

ตัดแว่นเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม มองสังคมไทยในยุค COVID-19 กับ ธานี ชัยวัฒน์

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรียบเรียง

 

 

101 ชวนมองวิกฤต COVID-19 ผ่านแว่นตา “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม”

สนทนากับ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าของผลงานวิจัยล่าสุด “Behavioral Insights ของครัวเรือนไทยภายใต้สถานการณ์ COVID-19” เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมและข้อจำกัดของคนไทยในการตอบรับมาตรการสาธารณสุขหยุดไวรัส COVID-19 และการใช้ความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาเป็นกรอบในการออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อพาสังคมไทยออกจากวิกฤตไวรัสครั้งได้อย่างราบรื่น

 

ตัดแว่นเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม มองสังคมไทยในยุค COVID-19

 

ก่อนอื่นต้องตั้งต้นก่อนว่า เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม คือการนำองค์ความรู้จิตวิทยามาช่วยอธิบายหรือวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ โดยจะมองอยู่ 3 เรื่องหลัก คือ หนึ่ง มองเรื่อง ความเสี่ยง (risk preference) ว่าคนกล้าเสี่ยงแค่ไหน ภายใต้สถานการณ์แบบไหน หากเสี่ยงแล้วผลตอบแทนคุ้มหรือไม่ เช่น การลงทุน การซื้อหวย สอง มองเรื่อง เวลา (time preference) ว่าคนอดทนรอได้แค่ไหน ผลตอบแทนของการอดทนรอคุ้มค่าไหม เช่น การอดทนออกกำลังกาย การเลิกสูบบุหรี่ และสาม มองเรื่อง สังคม (social preference) ว่าเราจะช่วยเหลือผู้อื่นหรือสังคมมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่เราพึงมี ซึ่งเป็นเรื่องของความเมตตา ความเชื่อใจ

หากมอง COVID-19 ในมุมเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เราจะเห็น 3 ประเด็นที่ว่ามา ซึ่งความเสี่ยงก็คือเรื่องความเสี่ยงต่อการติดไวรัส เวลาคือการอดทนอยู่บ้านรอมีงานทำ หรือรอใช้ชีวิตตามปกติ และสุดท้าย สังคมคือเรื่องว่าคนอื่นปฏิบัติตามมาตรการป้องกันไวรัสแค่ไหน แล้วเราจะปฏิบัติแค่ไหน เพราะฉะนั้นโจทย์ทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมยุค COVID-19 ในเบื้องต้นคือการหาสมดุลระหว่างความเสี่ยง เวลา และการคำนึงถึงสังคม

แต่โจทย์เรื่อง COVID-19 ในสังคมไทยซับซ้อนยิ่งขึ้นไปกว่าโจทย์เรื่องเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เพราะ ไวรัส และ การจัดการไวรัส นั้นต่างกัน การระบาดของไวรัสเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และระบาดไม่เลือกคน แต่ความสามารถในการจัดการไวรัส ทั้งการป้องกัน ชะลอ หรือหยุดยั้งการระบาดของไวรัสเป็นเรื่องของกลไกเชิงสถาบัน ทั้งสถาบันทางสังคมและสถาบันทางการเมือง ดังนั้นภายใต้โครงสร้างเชิงสถาบันที่ครอบสังคมไทยอยู่ การจัดการการแพร่ระบาดไวรัสได้ดีแค่ไหน ในด้านใดบ้าง จะเป็นตัวชี้วัดว่าเรามีสถาบันด้านใดที่เข้มแข็ง และด้านใดที่อ่อนแอ

ดังนั้นเมื่อตั้งโจทย์เช่นนี้แล้ว เราต้องไปดูกลไกสถาบันที่ครอบสังคมไทยและกำหนดเงื่อนไขเชิงพฤติกรรมของคนด้วย ซึ่งเวลาพูดถึงกลไกสถาบัน มันคือกลไกในการสะสมทุนของสังคม

เมื่อเรามองเรื่องความเสี่ยง จะพบว่าพฤติกรรมเสี่ยงเป็นผลกระทบจากโครงสร้างสถาบันทางสังคม เช่น คนที่มีทุนความรู้เยอะ จะสามารถปรับตัวและทำงานจากที่บ้านได้ ไม่ต้องออกไปเสี่ยงติดไวรัส แต่คนที่มีทุนความรู้น้อย แม้เขาจะกลัวติดไวรัสเช่นเดียวกัน แต่เขาต้องยอมออกไปเผชิญความเสี่ยง จนสุดท้ายจำใจต้องกล้าเสี่ยงมากขึ้น ความกล้าเสี่ยงก็เลยขึ้นกับการสะสมทุนความรู้ผ่านระบบการศึกษาในสังคม

เมื่อเรามองเรื่องเวลา เราจะเห็นกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ดูเหมือนไม่สามารถอดทนรออยู่บ้านเฉยๆ ได้ ซึ่งอาจไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่มีวินัยในการออม หรือไม่ขยันจนมีเงินออมน้อย ไม่เพียงพอต่อการหยุดอยู่บ้านหยุดเชื้อได้ แต่เพราะพวกเขาถูกกดค่าจ้างมาตลอดชีวิต จนไม่สามารถออมเงินได้ จึงมีความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่จะต้องออกไปทำงานแม้ไวรัสระบาด

และเมื่อเราพูดถึงประเด็นเรื่องสังคม โครงสร้างสังคมอย่างสังคมชนบทที่คนช่วยเหลือกัน พึ่งพาอาศัย แบ่งปันกัน อาจจะทำให้คนอยู่ได้ง่ายกว่าในโครงสร้างสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่ มีความร่วมมือในสังคมไม่มาก และพึ่งพาระบบตลาดที่ต้องใช้เงินเป็นหลัก

เพราะฉะนั้น เมื่อเราตั้งโจทย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม สถานการณ์ COVID-19 เผยให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่า พฤติกรรมและสถาบันมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก โครงสร้างสถาบันของสังคมไทยกำหนดพฤติกรรมเรื่องความเสี่ยง เวลา และสังคมของคน แต่ที่น่าสนใจมากก็คือ ในเหตุการณ์เดียวกัน ในสังคมเดียวกัน คนแต่ละคนมีความจำเป็นในชีวิตต่างกันมาก เราจึงเห็นคนที่มีพฤติกรรมแตกต่างกันสุดขั้ว สิ่งนี้สะท้อนว่า ภายใต้สังคมเดียวกันมีความหลากหลายของสถาบัน และมันทำให้คนแต่ละคนมีโอกาสสะสมทุนได้แตกต่างกันอย่างมหาศาล มันมีชื่อสั้นๆ ว่า ความเหลื่อมล้ำ ถ้าชื่อยาวๆ ก็ ความเหลื่อมล้ำมหาศาล

หากเราจะออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวในบริบทสังคมไทย ด้วยเงื่อนไขเชิงสถาบันที่ซับซ้อน การออกแบบนโยบายจึงไม่ใช่เพียงแค่การสร้างสมดุลระหว่างพฤติกรรมเรื่องความเสี่ยง เวลา และสังคมของปัจเจกเท่านั้น แต่จะต้องเป็นการออกแบบสมดุลระหว่างพฤติกรรมเรื่องความเสี่ยง เวลา และสังคม ภายใต้โครงสร้างสถาบันที่เหลื่อมล้ำด้วย นี่ไม่นับว่าสังคมไทยยังมีค่านิยมเกี่ยวกับครอบครัวทับซ้อนเข้าไปอีกชั้น

 

ฉายพฤติกรรมสังคมไทยในยุค COVID-19

 

โจทย์ของงานวิจัยตั้งคำถามว่าใครในสังคมที่ทำตามมาตรการสาธารณสุขได้หรือไม่ได้บ้าง ทำได้มากน้อยแค่ไหน และเพราะอะไร งานวิจัยพยายามตั้งกรอบ 3 กรอบเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว

กรอบที่หนึ่ง คือ KAP (Knowledge-Attitude-Practice) ซึ่งกรอบนี้จะดูว่าปัจเจกในแต่ละกลุ่ม ‘รู้หรือไม่รู้เกี่ยวกับมาตรการสาธารณสุข’ ‘มีทัศนคติต่อมาตรการอย่างไร’ และ ‘ปฏิบัติตามมาตรการหรือไม่’ เพราะในเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม หากคนไม่รู้ ก็เป็นไปได้ยากที่จะคนมีทัศนคติยอมรับมาตรการและปฏิบัติตาม แต่ถ้าหากถ้ารู้แล้วมีทัศนคติที่ยอมรับ การปฏิบัติได้หรือไม่ได้นั้นจะอยู่ที่ข้อจำกัด กรอบนี้จะช่วยให้เราเข้าใจข้อจำกัดของคนแต่ละกลุ่ม

ส่วนกรอบที่สองนั้นพยายามจะดูเรื่องครอบครัว โดยใช้กรอบเส้นทางชีวิต (life journey) ดูเส้นทางชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะพื้นที่ในบ้าน และรอยต่อระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อหรือติดเชื้อ

และกรอบสุดท้ายคือพื้นที่สาธารณะ

งานวิจัยนี้ออกแบบการเก็บแบบสอบถามโดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาเพื่อที่จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมในระยะยาวทั้งหมด ระยะแรกเริ่มเก็บข้อมูลช่วงที่เริ่มปิดเมือง คือช่วงวันที่ 5-9 เมษายน จากนั้นเก็บข้อมูลระยะที่สองหลังจากระยะแรก 2 สัปดาห์ คือวันที่ 18-19 เมษายน และระยะที่สาม เก็บข้อมูลในวันที่ 22-24 เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีข่าวเปิดเมือง

เกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มคนในเขตเมือง กลุ่มคนจนเขตเมือง กลุ่มคนชนบท และกลุ่มคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มมีอยู่ 3 เกณฑ์ ประกอบไปด้วยเกณฑ์เรื่องเขตที่อยู่ รายได้ และจำนวนสมาชิกต่อห้องนอน เพื่อดูขนาดบ้าน

เมื่อนำกรอบการวิจัย KAP มาอธิบายผลสำรวจ พบว่าคนทุกกลุ่มมีความรู้เรื่อง COVID-19 ไม่แตกต่างกัน และรู้ถึงความเสี่ยงและปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด รวมถึงทัศนคติของคนแต่ละกลุ่มก็มีความกลัว ความวิตกกังวลต่อการติดเชื้อในระดับไม่ต่างกัน จึงยืนยันว่าการปฏิบัติตตามมาตรการสาธารณสุขได้หรือไม่นั้นอยู่ที่ข้อจำกัด เพราะแต่ละกลุ่มปฏิบัติได้ดีไม่เท่ากัน

ในบรรดา 4 กลุ่ม พบว่ากลุ่มที่มีทางเลือกที่เอื้อให้ปฏิบัติตามมาตรการได้ง่ายที่สุดคือกลุ่มคนในเขตเมือง เพราะจำนวนสมาชิกในครัวเรือนต่ำ แต่ละคนมีห้องนอนแยก กลุ่มคนในเขตเมืองจึงสามารถเว้นระยะห่างทางสังคมได้ง่าย แต่กลุ่มที่น่ากังวลที่สุดคือกลุ่มคนจนเมือง เพราะสมาชิกในครัวเรือนมีจำนวนมาก และนอนรวมในห้องเดียวกันหลายคน ส่วนคนชนบท แม้ว่าจะมีจำนวนสมาชิกในครัวเรือนเยอะ แต่ก็ไม่ได้อยู่กันอย่างแออัด อย่างไรก็ตามประเด็นของคนชนบทไม่ได้อยู่ที่การเว้นระยะห่างทางสังคม แต่อยู่ที่ว่ามีวัฒนธรรมที่ต้องพบปะไปมาหาสู่กัน และสุดท้าย กลุ่มคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความท้าทายเรื่องการประกอบพิธีทางศาสนาและการพบปะกัน เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กลุ่มคน 4 กลุ่มจะมีโจทย์และทุนทางกายภาพที่ต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขชีวิตและข้อจำกัดของสถาบันทางสังคม

เมื่อเราดูในกรอบเรื่องเส้นทางชีวิตประจำวันของคนทั้ง 4 กลุ่มว่าตั้งแต่เช้าจรดเย็นมีกิจวัตรอะไรในบ้านบ้าง และกิจวัตรไหนที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อ โดยสรุปจะพบว่ากลุ่มคนทุกกลุ่มยกเว้นกลุ่มคนในเขตเมืองนั้นมีเงื่อนไขเชิงสถาบันที่ทำให้เว้นระยะห่างทางสังคมได้ยาก คนในเมืองใช้ชีวิตค่อนข้างแยกห่างจากกัน คนกลุ่มอื่นที่เหลืออีก 3 กลุ่มนั้น โดยวิถีชีวิตแล้วยังกินข้าวร่วมสำรับกัน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน นอนห้องเดียวกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกัน แม้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะพยายามปรับตัว เปลี่ยนกิจวัตรเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ก็มีขีดจำกัดให้เว้นระยะห่างทางสังคมได้แค่ประมาณหนึ่งเท่านั้น เช่น กลุ่มคนจนเมืองไม่มีรายได้เพียงพอที่จะขยับขยายให้บ้านกว้างขึ้น หรือยังต้องอาศัยรถสาธารณะไปทำงานเนื่องจากไม่มีเงินพอที่จะซื้อรถยนต์ส่วนตัว สำหรับคนชนบท เมื่องานและรายได้หายไปจากวิกฤตเศรษฐกิจ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องไปมาหาสู่บ่อยขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรกันผ่านความสัมพันธ์ทางสังคมแทนการใช้เงิน ส่วนคนในสามจังหวัดชายแดนก็ยังต้องประกอบพิธีทางศาสนาและไปมาหาสู่กันอยู่ (แต่ก็ลดลงมาก)

ส่วนกรอบที่สาม เรื่องพื้นที่สาธารณะนั้น ใช้การสำรวจข้อมูลจากคนทั้ง 4 กลุ่มว่าเดินทางออกไปไหนบ้าง และได้ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขในพื้นที่สาธารณะหรือไม่ จากผลสำรวจ พบว่าคนทุกกลุ่มพร้อมใจกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อในพื้นที่สาธารณะเป็นอย่างดีในช่วงแรก

แต่เมื่อเก็บข้อมูลในระยะที่ 2 ห่างออกไป 2 สัปดาห์ กลับพบผลตรงกันข้ามว่า คนทุกกลุ่มปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขลดลงถึง 30% คนเริ่มออกจากบ้านมากขึ้น หรือเริ่มเดินทางไปในพื้นที่แออัด ซึ่งตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนเริ่มอดทนไม่ไหว บางกลุ่มเพราะความเบื่อหน่าย บางกลุ่มเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ สิ่งเดียวที่ทำได้ดีคือการเว้นระยะห่างทางสังคมในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งที่บ้านทำไม่ได้ ดังนั้น หากรัฐจะออกนโยบาย รัฐควรออกนโยบายแยกแนวทางปฏิบัติระหว่างแนวปฏิบัติในพื้นที่สาธารณะและในพื้นที่ส่วนตัว

จากผลการสำรวจ เราจะเห็นว่าพฤติกรรมเสี่ยงของคนแต่ละกลุ่มนั้นถูกหล่อหลอมด้วยสถาบันทางสังคมที่สร้างข้อจำกัดและความจำเป็นที่ต่างกันในแต่ละกลุ่ม เช่นเดียวกันกับพฤติกรรมเรื่องเวลา จะเห็นได้ว่าความอดทนของคนแต่ละกลุ่มที่ลดลงหลังจากปิดเมืองได้สองสัปดาห์ก็มาจากข้อจำกัดที่ต่างกันเช่นกัน ขณะที่พฤติกรรมทางสังคมของไทยนั้นแข็งแกร่งมาก ด้านหนึ่งคนยังไปมาหาสู่กัน ซึ่งอาจจะเสี่ยงแพร่เชื้อ แต่ก็เป็นเพราะเขาพยายามช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน

 

ตีกรอบเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ออกแบบนโยบายต้าน COVID-19

 

จากงานวิจัย ข้อสรุปเกี่ยวกับสังคมไทย 3 ประเด็นที่จะนำไปสู่การออกนโยบายเพื่อสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยง เวลาและสังคมก็คือ

ในเรื่องพฤติกรรมเสี่ยง คนทุกกลุ่มมีความรู้เกี่ยวกับ COVID-19 ไม่แตกต่างกัน บทบาทของรัฐในที่สาธารณะยังจำเป็นในการควบคุมมาตรการ แต่ต้องไว้ใจให้ประชาชนดูแลในบ้านของตัวเอง การบอกว่าต้องเว้นระยะห่างในบ้านด้วย คนที่ทำไม่ได้จะยิ่งไม่สนใจปฏิบัติตามมาตรการไปเสียทั้งหมด อาจจะต้องมีข้อเสนอแนะให้คนในบ้านดูแลรับผิดชอบกันเอง และคนที่น่าจะเป็น influencer ได้คือ แม่หรือเด็กรุ่นใหม่ในบ้าน

ส่วนเรื่องเวลานั้น จากผลสำรวจพบว่ายิ่งคนที่มีรายได้น้อยเท่าไร ยิ่งกล้าเสี่ยงมากขึ้น เพราะจำเป็นต้องทำงานทันที ไม่สามารถรอได้ มาตรการทางการคลังที่เร็วจึงสำคัญมากไม่น้อยไปกว่ามาตรการที่ทั่วถึง จากแบบสอบถาม เราถามว่าระหว่างได้รับเงิน 5,000 บาททันทีกับได้รับเงิน 10,000 บาทในอีก 1 เดือนข้างหน้าที่ได้แน่นอน กลุ่มคนรายได้น้อยเกือบทั้งหมดเลือกที่จะได้เงิน 5,000 บาททันที ทั้งๆ ที่การลงทุนนี้ให้ผลตอบแทนถึง 100% ต่อเดือน มันกำลังบอกว่าเขามีความจำเป็นสูงมาก นอกจากนี้ เงิน 5,000 บาทที่รวดเร็วยังกลับไปช่วยเรื่องความเสี่ยงของการติดเชื้อจากการอยู่บ้านได้นานขึ้นด้วย

สำหรับประเด็นพฤติกรรมสังคม รัฐอาจจะต้องมองหน่วยการป้องกันโรคที่ระดับครอบครัวและชุมชน เพราะครอบครัวเป็นจุดสมดุลระหว่างการที่รัฐใช้อำนาจกำกับในพื้นที่สาธารณะได้เต็มที่แล้วคนพร้อมที่จะปฏิบัติตาม กับในขณะที่เมื่อเข้าไปอยู่ในครอบครัว แต่ละครอบครัวก็มีข้อจำกัดที่ต่างกันออกไป แต่ละครอบครัวจะหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันโรคได้เอง ในขณะที่ชุมชน อาจจะใช้การสื่อสารภายในชุมชนกระตุ้นให้คนปฏิบัติตามมาตรการต่อเนื่อง และสร้างความร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนทรัพยากรเพื่อความอยู่รอด

รัฐจึงควรจะใช้โอกาสนี้สร้างความเชื่อใจจากประชาชนว่า เราใช้อำนาจเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ เราเชื่อใจว่าประชาชนดูแลตัวเองในบ้านได้ เรามีมาตรการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว และเราพร้อมสนับสนุนความร่วมมือของประชาชน

 

ปรับพฤติกรรมคน เปลี่ยนโครงสร้างสถาบัน

 

เมื่อตัดเงื่อนไขเชิงสถาบันออกไปแล้ว หากจะปรับพฤติกรรมของปัจเจกให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ขัดต่อธรรมชาติของมนุษย์อย่างเช่นการเว้นระยะห่างทางสังคม ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในบริบทสังคมไทยคือ วัฒนธรรม โดยเฉพาะการปฏิบัติเหมือนกันสอดคล้องกัน (conformity) ตราบเท่าที่คนในสังคมปฏิบัติตามมาตรการ ทั้งสังคมก็จะยอมร่วมมือปฏิบัติตามทั้งหมด แต่ถ้าหากเห็นว่าคนเริ่มไม่ปฏิบัติ คนก็จะรู้สึกว่าการไม่ปฏิบัติตามมาตรการเป็นสิ่งที่ทำได้และเลิกทำในที่สุด อย่างไรก็ตาม การออกนโยบายให้คนปฏิบัติในระดับสังคมอาจเป็นระดับที่ใหญ่เกินไป ดังนั้น นโยบายที่จะได้ผลต้องมาจากการที่รัฐสื่อสารและออกนโยบายให้คนปฏิบัติตามในระดับชุมชน หรือระดับกลุ่ม รวมทั้งให้ชุมชนมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติ กำกับ ควบคุมได้เองในระดับหนึ่ง

ในปัจจุบัน คนส่วนมากยอมรับมาตรการต่างๆ ในมิติการปฏิบัติ คือผลที่ออกมาคนปฏิบัติไม่แตกต่างกันมาก แต่สิ่งที่ต่างกันมากคือความเจ็บปวดที่อยู่ในใจ มันคือมิติของความรู้สึก เราแบ่งคนออกได้เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ปฏิบัติตามมาตรการโดยไม่ได้มีข้อจำกัด และกลุ่มที่พยายามปฏิบัติตามมาตรการแต่มีข้อจำกัด ปัญหามันอยู่ที่ว่า แต่ละกลุ่มไม่เข้าใจกันเลย กลุ่มคนที่ไม่มีข้อจำกัดมองไม่เห็นและไม่เข้าใจว่าทำไมคนอีกกลุ่มถึงไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ในขณะที่คนที่มีข้อจำกัดก็จะรู้สึกว่าตัวเองถูกมองว่าเป็นคนไม่ดีที่ไม่อยู่บ้าน และอาจทำให้เชื้อแพร่ระบาด ทั้งๆ ที่พวกเขาได้ใช้ความพยายามจนถึงที่สุด มันก็จะกลับไปเป็นโจทย์ของเศรษฐศาสตร์สถาบัน เพราะปัญหานี้เกิดจากความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก มากเสียจนคนสองกลุ่มเหมือนอยู่คนละโลกบนพื้นที่เดียวกัน

แต่เมื่อนำโจทย์เชิงสถาบันกลับเข้ามาคิด สถานการณ์นี้มันเป็น natural experiment แบบหนึ่งที่เราลองใส่ intervention ที่เท่าเทียมเข้าไป แต่ผลออกมากลับกลายเป็นเหลื่อมล้ำมหาศาล มันกำลังบอกว่า สิ่งที่รัฐและสังคมต้องแก้ไขคือความเหลื่อมล้ำ เพราะไวรัสเกิดโดยธรรมชาติ ธรรมชาติของไวรัสไม่เหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะรวยหรือจน หากติดไวรัสก็ป่วยได้เหมือนกันหมด แต่การจัดการไวรัสขึ้นอยู่กับสถาบัน เมื่อสถาบันสร้างความเหลื่อมล้ำ คนแต่ละกลุ่มจะเผชิญและจัดการปัญหาจากไวรัสได้ไม่เท่ากัน ยิ่งไปกว่านั้น กลไกรัฐเองกลับไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่จะสามารถจัดการปัญหาไวรัสอย่างเท่าเทียมได้ ยิ่งยืนยันความเหลื่อมล้ำในกลไกรัฐที่สั่งสมมาจากอดีตมากเข้าไปอีก natural experiment นี้ทำให้เราเห็นรากของปัญหาในสังคมเป็นจำนวนมาก ทั้งความยากจน ความไม่ไว้ใจกัน ความล่าช้า จนทำให้เราเห็นโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีของคนแต่ละคนไม่เท่ากัน และไม่ได้มาจากการกระทำของตัวพวกเขาเอง

จากวิกฤตครั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมีโจทย์ให้ต้องคิดต่อเยอะมาก เพราะการเข้าสู่ new normal คือการเปลี่ยนพฤติกรรมหลายอย่างในเกือบทุกมิติของชีวิตมนุษย์ แต่ละคนจะเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรให้ราบรื่นที่สุด และทำอย่างไรให้คนรู้สึกเต็มใจที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม แต่สำหรับในไทยก็จะมีโจทย์ที่ใหญ่กว่าควบคู่กันไปด้วยนอกเหนือจากการเปลี่ยนพฤติกรรม คือ new normal ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างการเรียนออนไลน์ หรือทำงานจากที่บ้านจะตอกย้ำความเหลื่อมล้ำหรือจะสร้างความเท่าเทียม ก็ขึ้นกับข้อจำกัดและโครงสร้างสถาบันในอนาคต ต้องร่วมกันคิดว่าเราจะสร้างสถาบันใหม่เพื่อปรับพฤติกรรมคนได้อย่างไร

 

หมายเหตุ: งานวิจัยเรื่อง “Behavioral Insights ของครัวเรือนไทยภายใต้สถานการณ์ COVID-19” จัดทำโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนักวิจัยคือ ธานี ชัยวัฒน์, จารุวัฒน์ เอมซ์บุตร, นิชาภัทร ไม้งาม, ชนลักษณ์ ชัยศรีลักษณ์, ปกรณ์สิทธิ ฐานา และณัฎฐ์ศุภณ ดำชื่น ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save