fbpx

เมื่อตำรวจอังกฤษไม่จับผู้ชุมนุมที่ตะโกน ‘จีฮัด’ และบีบีซีไม่เรียกฮามาสว่า ‘กลุ่มก่อการร้าย’

หลังจากเกิดเหตุรุนแรงในวิกฤตตะวันออกกลาง เมื่อนักรับฮามาสในฉนวนกาซาบุกข้ามแดนสังหารชาวอิสราเอลพันกว่าคนและจับชาวต่างชาติและชาวอิสราเอลไปเป็นตัวประกันสองร้อยกว่า คนงานไทยจำนวนหนึ่งซึ่งทำงานในนิคมเกษตรอิสราเอล ก็ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ ซึ่งเป็นปัญหาท้าทายรัฐบาลไทย

ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นและปัญหามนุษยธรรมภายในฉนวนกาซา กลายเป็นวิกฤติการณ์ที่ร้ายแรงสร้างความสูญเสียและเจ็บแค้นในหมู่ชาวปาเลสไตน์ เกิดการปะทะคารมกล่าวโทษซึ่งกันและกัน แบ่งฝ่ายตอบโต้กันตามหัวเมืองใหญ่ๆ ของโลก ต่างฝ่ายต่างอ้างความชอบธรรมในประวัติศาสตร์ถอยหลังกลับไปนับพันปี และเมื่อล่าสุดมีการโต้ตอบอย่างฉับพลันจากฝ่ายความมั่นคงของอิสราเอลด้วยความรุนแรงเช่นกัน ทำให้เกิดการโต้เถียงขัดแย้งขยายวงออกไปทั่วโลก

ในลอนดอน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความหลากหลายและเปิดกว้างให้สิทธิเสรีภาพทางการแสดงออก มีการจัดชุมนุมทั้งฝ่ายที่สนับสนุนอิสราเอลและฝ่ายที่เห็นอกเห็นใจปาเลสไตน์ เป็นปัญหาให้ตำรวจนครบาลลอนดอนต้องจัดกำลังออกมาตรวจตราไม่ให้สถานการณ์ลุกลามตามอารมณ์ความโกรธแค้นพลุ่งพล่านของทั้งสองฝ่าย

แต่ก็เกิดประเด็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบของตำรวจลอนดอนที่เข้าไปดูแลการชุมนุมประท้วงของผู้สนับสนุนปาเลสไตน์กว่าแสนคน เมื่อมีการเปิดเผยผ่านสื่อสังคมว่า มีผู้ชุมนุมคนหนึ่งร้องตะโกน “จีฮัด…จีฮัด” ซึ่งอาจจะตีความได้ว่าเป็นการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรง แต่ตำรวจมิได้ดำเนินคดีกับผู้ที่ร้องตะโกน “จีฮัด” แม้จะมีการดำเนินคดีกับผู้ประท้วงคนอื่นๆ 34 คน ก็ตาม ทำให้เกิดการโต้เถียงประเด็นนี้ระหว่างรัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่งเป็นนักการเมือง และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ

สื่อมวลชนประเภทแทบลอยด์ ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์เลือกข้าง ออกมาตำหนิโจมตีผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เรียกร้องให้รัฐมนตรีมหาดไทยเล่นงานเซอร์มาร์ก ราวลี (Sir. Mark Rawley) ซึ่งเวลาต่อมารัฐมนตรีมหาดไทยของพรรคคอนเซอร์ทีฟ ซูลเอลา บราเวอร์แมน (Suella Braverman) นักการเมืองแนวอนุรักษ์ก็เลยเต้นไปตามจังหวะเคาะของสื่อแทบลอยด์ดังกล่าว 

ในการพบปะหารือระหว่างรัฐมนตรีมหาดไทยกับผู้บัญชาการตำรวจนครบาลลอนดอน เซอร์มาร์กชี้แจงว่าตำรวจดำเนินการตามหลักวิชาชีพและขอบเขตของกฎหมาย การตะโกนคำว่า “จีฮัด” นั้นทีมงานฝ่ายป้องกันการก่อการร้ายได้พิจารณาแล้วว่าไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย และตำรวจนครบาลไม่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมบังคับ ‘รสนิยมและความดีงาม’ (taste and decency) ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่จะดำเนินตามขอบเขตอำนาจที่กฎหมายระบุให้เท่านั้น 

ก่อนหน้านี้ ตำรวจนครบาลลอนดอนได้แถลงผ่านสื่อสังคม X (ทวิตเตอร์) ชี้แจงว่า “คำว่า jihad มีความหมายหลากหลาย แต่ประชาชนกลุ่มหนื่งมักจะเชื่อมโยงคำนี้เข้ากับ การก่อการร้าย ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีทีมงานเฉพาะกิจที่เชี่ยวชาญเรื่องการก่อการร้าย ทีมงานนี้ได้ประเมินคลิปวิดีโอดังกล่าว แล้วไม่พบว่ามีการทำผิดกฎหมายในคลิปนั้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากการใช้ภาษาแบบนี้อาจจะมีคนบางกลุ่มตีความว่ามีผลในการสร้างความแตกแยก เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งกับชายผู้ประท้วงคนนั้นให้ยุติการใช้ภาษาดังกล่าวในการชุมนุมประท้วงครั้งต่อๆ ไป”

 

ทางด้านบีบีซี ได้ให้บริบทของคำว่า Jihad ในภาษาอารบิกว่า เป็นการดิ้นรน (struggle) และในคำสอนอิสลามหมายถึงการ ดิ้นรนภายในจิตใจ (internal struggle) อย่างเช่นผู้มีความศรัทธาก็จะดิ้นรนที่จะใช้ชีวิตตามหลักการของความศรัทธาของตน อย่างไรก็ตาม ก็อาจจะมีการตีความว่าเป็นการต่อสู้ภายนอก หรือ สงคราม ซึ่งตามหลักคำสอนทางศาสนาจะต้องต่อสู้เพื่อป้องกันตนเองและภายใต้ขอบเขตจำกัด 

หนังสือพิมพ์ The Independent เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมารายงานอ้างคำพูดของนายตำรวจระดับสูงบางคนว่า วงการตำรวจมืออาชีพต่างก็เหนื่อยหน่ายต่อนักการเมืองที่ชอบเข้าแทรกแซงกดดันให้ตำรวจดำเนินการบางอย่างที่อยู่นอกขอบเขตของกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาความสงบระหว่างการชุมนุมประท้วง

เซอร์มาร์กแถลงหลังจากหารือกับรัฐมนตรีมหาดไทยว่า “ตำรวจลอนดอนปฎิบัติหน้าที่รักษาความสงบการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ตามขอบเขตของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ถ้าหากรู้สึกว่าตำรวจมิได้ทำหน้าที่อย่างที่ควร ก็เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะแก้ไขกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ตำรวจ” 

ดูเหมือนฝ่ายข้าราชการประจำจะเตะลูกบอลกลับมาที่นักการเมือง ปรากฏว่าในเวลาต่อมาก็มีคำแถลงจากทำเนียบนายกรัฐมนตรีถนนดาวนิ่งว่า รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะเพิ่มอำนาจให้ตำรวจดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมประท้วงที่ร้องตะโกนในภาษาที่อาจจะตีความหมายว่าเป็นการปลุกปั่นยุยง

การโต้เถียงระหว่างนักการเมืองกับตำรวจนครบาลลอนดอน มีลักษณะคล้ายกับการโต้เถียงระหว่างนักการเมืองกับบีบีซี เพราะในบทรายงานข่าวของบีบีซี เมื่อมีการพาดพิงถึงกลุ่มฮามาสจะไม่ใช้คำว่า ‘กลุ่มก่อการร้าย’ แต่จะเรียกว่า ‘กลุ่มติดอาวุธ’ หรือ ‘นักรบ’ ถ้าจะใช้คำว่าก่อการร้ายก็ต้องอ้างคำพูดของผู้พูดเท่านั้น (quoting, attributing) ซื่งทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมไม่พอใจมาก ฉวยโอกาสตำหนิในรายการที่บีบีซีโทรไปสัมภาษณ์สดๆ แต่นักข่าวบีบีซีได้ตอบกลับไปว่าบีบีซีปฏิบัติตามกรอบปฏิบัติ (Code of Conduct) ของ OFCOM หน่วยงานอิสระกำกับดูและสื่อวิทยุโทรทัศน์ คล้ายๆ กสทช. ของไทย 

ทางด้านโฆษกบีบีซีกล่าวว่า เมื่อรัฐบาลอังกฤษเรียกกลุ่มฮามาสว่าเป็นผู้ก่อการร้าย บีบีซีก็รายงานอ้างอิงตามคำแถลงของรัฐบาลอังกฤษ แต่หากเป็นการรายงานข่าวที่บีบีซีกล่าวถึง ไม่จำเป็นต้องเรียกฮามาสในแบบเดียวกัน ซึ่งบีบีซีใช้หลักการนี้มาหลายสิบปีแล้วก่อนเกิดเหตุการณ์รุนแรงต้นเดือนตุลาคมนี้ ทั้งนี้บีบีซีเป็นสื่อมวลชนอิสระมีหน้าที่รายงาน ให้คำอธิบายว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาเท่าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ ผู้ชมผู้อ่านผู้ฟัง จะเป็นผู้ที่ตัดสินใจเอง

จอห์น ซิมป์สัน (John Simpson) บรรณาธิการอาวุโสบีบีซี ให้ความเห็นใน X ว่า ความจริงแล้วนักการเมืองของอังกฤษก็เข้าใจดีว่าทำไมบีบีซีถึงหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าผู้ก่อการร้ายในบทบรรยายข่าว (narration) นอกจากจะเป็นการอ้างคำพูดของบุคคลที่สัมภาษณ์เท่านั้น ทั้งนี้เพราะบีบีซียึดหลัก due impartiality หรือการไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยใช้หลักการนี้มาโดยตลอดหลายสิบปีแล้ว ไม่ใช่เฉพาะกรณีอิสราเอล-ปาเลสไตน์  

สำหรับกรณีเหตุรุนแรงล่าสุด บีบีซีมีนักข่าวซึ่งเป็นชาวปาเลสไตน์สองคนในพื้นที่ โดยรายงานข่าวสะท้อนภาพข้อเท็จจริงออกมาจากฉนวนกาซ่าทุกวัน วันละหลายช่วงเวลา เพื่อสะท้อนมุมมองภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างเป็นจริงเทียบกับรายงานข่าวจากนักข่าวบีบีซีในเยรูซาเล็ม นอกจากบีบีซีแล้ว ทั้ง Sky News และ ITN ต่างก็หลีกเลี่ยงไม่ติดป้ายกลุ่มฮามาสว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย ทั้งนี้เป็นไปตามกรอบปฏิบัติวิชาชีพสื่อมวลชนของ OFCOM ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ

ทั้งกรณีตำรวจนครบาลลอนดอนและสื่อมวลชนวิชาชีพแบบบีบีซี ต่างแสดงให้เห็นว่าการทำงานจะต้องแม่นยำในมาตรฐานวิชาชีพ โดยเฉพาะในภาวะการเมืองที่อ่อนไหวภายใต้กระแสอารมณ์การเลือกฝักเลือกฝ่ายของกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม ซึ่งหลายครั้งกฌมักจะสร้างแรงกดดันให้นักการเมืองไหวเอียง แล้วมาออกมากดดันผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้เลือกข้างจนละเลยหลักการและมาตรฐานวิชาชีพของพวกเขา

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save