fbpx

หมู่บ้านเล็กๆ ก็มีโรงเรียนดีได้: ‘โรงเรียนบ้านโกรกลึก’ กับการสอนที่ไม่ดับไฟในตัวเด็ก

‘บ้านโกรกลึก’ เป็นชุมชนเล็กๆ ในอำเภอด่านขุนทด โคราช ผู้คนส่วนใหญ่ทำไร่ทำนา พร้อมมีชื่อของอดีตนักมวย ‘แรมโบ้ ต.โกรกลึก’ เป็นที่เชิดหน้าชูตาว่าสร้างชื่อเสียงให้ชื่อหมู่บ้านนี้ไปถึงหูคนต่างถิ่น หมู่บ้านนี้ก็ไม่ต่างจากหมู่บ้านอื่นๆ ในแถบชนบทที่เด็กจำนวนมากอาศัยอยู่กับตายาย เพราะพ่อแม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น โดยที่มีจำนวนเด็กน้อยลงทุกปี เป็นผลจากการย้ายถิ่นฐานตามการทำงานของคนรุ่นพ่อแม่

กลางหมู่บ้านเป็นที่ตั้งของ ‘โรงเรียนบ้านโกรกลึก’ โรงเรียนประถมที่มีเด็กเพียงแค่ราว 160 คน แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ครูที่มีอยู่ 10 คนก็เพียงพอให้ดูแลเด็กๆ ได้ทั่วถึง

ยามบ่ายที่เราไปเยือน โรงเรียนดูเงียบสงบ แว่วเสียงพูดคุยของเด็กเบาๆ จากแต่ละห้องเรียน เมื่อลองชะโงกหน้าสำรวจห้องเรียนก็พบนักเรียนนอนกระจัดกระจายอยู่ที่พื้น วาดภาพระบายสีมายด์แมปเรื่องที่กำลังเรียนอย่างสบายอารมณ์ หากใครถนัดนั่งเขียนบนโต๊ะก็เลือกได้ มีโทรศัพท์มือถือวางข้างๆ เผื่อใช้ค้นคว้า โดยมีครูนั่งสังเกตการณ์การทำงานของเด็กแต่ละกลุ่มและชวนพูดคุยตั้งคำถามเป็นระยะ

เชื่อว่าหลายคนที่ผ่านชีวิตวัยเด็กจากโรงเรียนรัฐบาลคงเคยชินกับการต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ที่ไม่มีเหตุผล ถูกบังคับเข้มงวดโดยไม่จำเป็น ต้องเรียนเรื่องที่ไม่เคยได้เอามาใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง และถูกทำให้เชื่อว่าคำพูดของครูคือความจริงสุดท้ายที่ไม่อาจโต้แย้งได้

ภาพห้องเรียนแบบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นที่บ้านโกรกลึก โรงเรียนขนาดเล็กที่มีความพยายามขนาดใหญ่ในการปรับรูปแบบการสอนให้เหมาะกับการเรียนรู้ของเด็กในชุมชนนี้

หากถามเด็กๆ ที่บ้านโกรกลึกว่าป่าเบญจพรรณเป็นอย่างไร เด็กๆ คงตอบได้ทันที เพราะเป็นสิ่งที่เขาเห็นในชีวิตประจำวันใกล้ชุมชน แต่หากถามว่าป่าชายเลนเป็นอย่างไร เด็กๆ อาจตอบได้ด้วยเคยเห็นในรูปภาพ แต่ที่สุดแล้วนี่อาจเป็นความรู้ที่เขาเอาไปใช้ได้น้อย ขณะที่เด็กบางคนไม่เคยสัมผัสน้ำทะเลเลย

ในแบบเรียนที่ให้เด็กทั่วประเทศเรียนแบบเดียวกันมีความรู้จำนวนมากที่พวกเราล้วนตั้งคำถามว่าทำไมจึงต้องจดจำเรื่องนี้เพื่อไปสอบ ขณะที่เรื่องเกี่ยวกับชีวิตประจำวันที่ใช้ได้จริงไม่เคยถูกสอนอย่างใส่ใจ นี่คือเหตุผลว่าทำไมแต่ละพื้นที่ควรมีการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน

แม้บ้านโกรกลึกจะเป็นโรงเรียนเล็กๆ แต่ภายใต้การนำของผู้อำนวยการโรงเรียน การุณ ชาญวิชานนท์ ทำให้มีการเปลี่ยนรูปแบบการสอน พวกเขาเลือกได้ว่าเนื้อหาแบบไหนเหมาะกับเด็กในชุมชน หนังสือเล่มไหนที่เด็กควรอ่าน สอนแบบไหนที่เด็กจะได้เรียนรู้จริงๆ ทักษะแบบไหนที่เด็กควรจะมีติดตัวสำหรับการเติบโต

การุณ ชาญวิชานนท์

เมื่อโรงเรียนเล็กเปลี่ยนแปลงตัวเอง

การุณอยู่ที่โรงเรียนนี้มานานเกือบสามสิบปี จากครูผู้สอนจนกลายเป็นผู้บริหาร เขารู้จักชุมชนและผู้คนที่นี่ดี รวมถึงเห็นปัญหาของโรงเรียนว่า ‘ไม่มีเอกลักษณ์’ อันหมายถึงการไม่มีแนวทางการเรียนการสอนที่ชัดเจน ทดลองเปลี่ยนรูปแบบใหม่ที่คนอื่นว่าดีไปเรื่อยๆ จนจับทิศทางไม่ได้ ซึ่งที่จริงแล้วนี่คือปัญหาร่วมของโรงเรียนทั่วประเทศไทย

“เมื่อก่อนแผนการจัดการการเรียนรู้ของครูแต่ละคนจะหลากหลาย บางคนเอาหนังสือเรียนมากาง สอนตามหนังสือทุกหน้า ทำแบบฝึกทุกหน้าจนจบเล่ม ปรากฏว่าเด็กเรียนหนักมาก เนื้อหาเยอะมาก เด็กก็จำไม่ไหว ยิ่งบางคนที่พื้นฐานไม่ดี เจออย่างนี้เขาก็ไม่อยากเรียน ไม่อยากมาโรงเรียน เรียนแบบไม่มีความสุขทั้งครูทั้งเด็ก”

การุณเห็นเด็กในหมู่บ้านเรียนจบออกไปรุ่นแล้วรุ่นแล้ว ปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเรียนต่อในระดับสูงมีเด็กเลิกเรียนเยอะขึ้น บางคนออกไปทำงานก็ไม่ประสบความสำเร็จ แก้ปัญหาชีวิตไม่ได้ เขาจึงสรุปปัญหาสำคัญคือโรงเรียนอัดความรู้ให้เด็กจำไปสอบ แต่ไม่ได้สอนให้เด็กฝึกระบบการคิด การเรียนที่ผ่านมาให้เด็กจำโดยไม่ได้ให้เด็กคิด

“กระบวนการเรียนรู้ไม่ได้ให้เด็กฝึกคิดว่านักเรียนคิดอย่างไรกับสิ่งที่เรียน ไม่ได้ฝึกวิเคราะห์ เพราะครูต้องรีบเร่งสอนให้จบตามเนื้อหา หากเราอยากเปลี่ยนเด็ก เราต้องเปลี่ยนวิธีสอน ทำอย่างไรเด็กของเราจะสามารถคิดมากกว่านี้ เห็นความสำคัญของการเรียน เห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกับผู้อื่น”

การุณเริ่มต้นด้วยการชักชวนเพื่อนร่วมงาน คือคุณครูในโรงเรียน มาพูดคุยเพื่อให้เห็นปัญหาตรงกัน เพราะครูเองก็อาจมองว่าตัวเองทำเต็มที่อย่างดีที่สุดแล้ว แต่สุดท้ายทั้งทีมก็ต้องเห็นตรงกันว่าถ้าใช้วิธีการเดิม ผลที่ได้ก็เหมือนเดิม หรืออาจแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำไป

ผอ.ร.ร.บ้านโกรกลึกได้รับคำแนะนำให้ไปดูงานโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นโรงเรียนเล็กในชนบทเหมือนกัน โดยเป็นโรงเรียนที่เน้นการพัฒนาทักษะมาก่อนความรู้ โดยมีต้นแบบคือโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อเห็นว่าโรงเรียนเล็กๆ ในชนบทสามารถเปลี่ยนวิธีการสอนให้ดีขึ้นได้ การุณและครูโรงเรียนบ้านโกรกลึกจึงค่อยๆ เรียนรู้และทดลองในแนวทางนี้

ตั้งแต่ปี 2559 โรงเรียนบ้านโกรกลึกจึงใช้การสอนสามแนวทางคือ จิตศึกษา, PBL (problem-based learning) และ PLC (professional learning community) อันเป็นนวัตกรรมของมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา จนกลายเป็นหนึ่งในโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ

กล่าวอย่างย่นย่อ เด็กที่โรงเรียนโกรกลึกจะเรียนวิชาหลักช่วงเช้าคือ วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาที่เหลือ อย่างวิทยาศาสตร์ การงานอาชีพ สุขศึกษา พลศึกษา สังคมศึกษา จะเรียนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (problem-based learning) สลายวิชาเอาเนื้อหามารวมอยู่ในหน่วยการเรียนรู้

“อย่างชั้นประถม 6 เพิ่งเรียนเรื่องภาวะโลกร้อน สัปดาห์แรกเรียนเรื่องชนิดของป่าไม้ ซึ่งคือวิชาวิทยาศาสตร์ รวมถึงพลศึกษา เพราะเด็กต้องเดินไปเรียนรู้ว่าป่าของหมู่บ้านเราเป็นยังไง มีต้นไม้อะไรบ้าง เรียนประวัติของหมู่บ้าน เรียนภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นการศึกษาแบบที่เด็กได้ลงมือทำจริงๆ เห็นปัญหาจริงๆ เขาพบว่าป่าไม้มีน้อย แล้วปัญหาเกิดจากอะไร ก็เรียนต่อไปอีกว่ามีการตัดไม้ทำลายป่า มีการทำเกษตร เอาป่าไปเป็นที่ทิ้งขยะ พอเห็นขยะเต็มป่าก็มีโจทย์ใหม่ว่าครั้งต่อไปเขาอยากจะเรียนเรื่องขยะ การคัดแยกขยะ” การุณอธิบาย

นอกจากนี้คือการเรียนจิตศึกษา ซึ่งเป็นกิจกรรมแทรกระหว่างวัน เช่น ให้เด็กวิเคราะห์สถานการณ์ผ่านนิทาน ข่าว หรือคลิปจากยูทูบ ให้เด็กได้แลกเปลี่ยนและรับรู้ความเห็นของเพื่อน ให้เด็กได้รู้จักการเคารพผู้อื่น รู้จักการกำกับตัวเองให้ฟังผู้อื่น รู้จักแสดงความคิดเห็น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เอื้อต่อการเรียน PBL เพราะฝึกวิธีคิด การรับฟังและเคารพกัน

อีกรูปแบบการทำงานที่นำมาใช้คือ PLC ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานของครู เปลี่ยนโต๊ะประชุมที่ไม่มีใครกล้าแย้ง ผอ. ที่นั่งอยู่หัวโต๊ะ ให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนปัญหาการทำงานที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนมีโอกาสเสนอความเห็นและต้องรับฟังคนอื่น

เรียนในเรื่องที่อยากรู้ รู้ในเรื่องที่ลงมือทำ

ตามกำแพงห้องเรียนโรงเรียนบ้านโกรกลึกเต็มไปด้วยผลงานฝีมือนักเรียนจนแทบหาที่ว่างไม่ได้ ในการเรียนแต่ละเรื่อง หลังจากที่ครูชวนพูดคุยตั้งคำถามแล้วจะต้องมีการสรุปสิ่งที่เรียนรู้ออกมาเป็นแผนภาพอย่างเป็นระบบทั้งรูปแบบงานกลุ่มและงานเดี่ยว

กวาดตามองเร็วๆ ผ่านใบงาน เรื่องที่เรียนล้วนยึดโยงกับชีวิต อย่างเรื่องการออม โลกร้อน แสง ข่าวลวง หรือกระทั่งการเรียนเพศศึกษาผ่านซีรีส์ฮอร์โมน แต่คำถามสำคัญของการเปลี่ยนรูปแบบการสอน สลายวิชาแล้วรวมขึ้นเป็นหน่วยการเรียนรู้เช่นนี้คือ เนื้อหาที่เรียนจะครบถ้วนตามที่หลักสูตรกำหนดหรือไม่

การุณบอกว่าคำถามนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้โรงเรียนอื่นๆ กังวลและไม่กล้าเปลี่ยนแปลง แต่ในการเรียนแต่ละหน่วยการเรียนรู้จะมีการวัดประเมินผลนักเรียนอยู่แล้ว โดยครูจะต้องนำคะแนนนั้นไปเทียบว่าตรงกับผลตัวชี้วัดใดในวิชาอะไร โดยที่ต้องออกแบบว่าหากยังขาดตัวชี้วัดใดก็ต้องใส่ไว้ในหน่วยการเรียนรู้ถัดไปให้ได้ครบถ้วนตามที่หลักสูตรกำหนด

แน่นอนว่าการสอนตามตำราแบบที่ทำๆ กันมาคงสะดวกสบายกว่า แต่การุณบอกว่าการทำแบบนั้นทำให้เด็กต้องเรียนสิ่งที่คนอื่นเป็นคนกำหนด

“สมมติตำราเรียนว่าด้วยเรื่องป่าโกงกาง แต่อันที่จริงเด็กบ้านเราไม่รู้จักป่าโกงกางเลย ซึ่งรู้ไว้ก็ดี แต่เขาไม่ได้ใช้ บางทีปัญหาของชุมชนภาคกลางหรือภาคเหนือก็ไม่สอดคล้องกับชุมชนอีสาน แต่การเรียนแบบหน่วยการเรียนรู้ที่ใกล้ตัว เขาเอาไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า และเด็กจะมีความสนใจมากกว่า

“จะยากก็เรื่องตัวชี้วัดนี่แหละ แต่การผ่านตัวชี้วัดครบไม่ใช่สิ่งยืนยันว่าเด็กจะสามารถอยู่ในสังคมได้หรือเด็กจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งสำคัญมากกว่าคือทักษะที่ติดตัวเด็ก ให้เขามีทักษะการคิดรอบด้าน มีทักษะทำงานกับคนอื่น มีทักษะความอดทน”

แม้จะบอกว่าเป็นการเรียนที่เน้นทักษะนำความรู้ แต่การุณบอกว่าหลังเปลี่ยนการสอนมาหลายปีพบว่าเด็กโรงเรียนนี้ไม่ได้ด้อยในการสอบวัดประเมินผล ขณะที่เด็กจะได้เรียนวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ตามปกติ แต่วิชาอย่างวิทยาศาสตร์ซึ่งไม่ได้ถูกสอนแยกเป็นรายวิชาแต่รวมอยู่ในหน่วยการเรียนรู้ เมื่อทำข้อสอบโอเน็ตก็พบว่าเด็กได้คะแนนดี

“การที่เด็กเรียนรู้แบบนี้เขาจะจำได้นานกว่าการเรียนแบบเล็กเชอร์หรืออ่านในตำรา สมมติเขาได้รับมอบหมายให้ไปศึกษาป่า เขาต้องค้นคว้าว่าบ้านเรามีป่าแบบนี้ไหม เขาก็ต้องไปดูจริงๆ จนพบว่า อ๋อ บ้านเราไม่มีป่าดิบชื้นนะ นี่คือความรู้ที่ผ่านการลงมือทำ การนำเสนอ การค้นคว้าด้วยตนเอง เวลาเจอข้อสอบเขาจะจำได้ดีกว่าการท่องหนังสือ และจะเป็นความรู้ที่ฝังอยู่กับเขาไปนาน”

การเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานกระตุ้นให้เด็กคิดและตั้งคำถาม ซึ่งนี่อาจเป็นของแสลงสำหรับการศึกษาไทยที่มีค่านิยมหรือความจริงสำเร็จรูปในบางเรื่องไว้อยู่แล้ว การุณบอกว่าการเรียนรู้ด้วยวิธีนี้ต้องเปิดกว้าง หากเด็กอยากรู้เรื่องอะไร เขาต้องได้รู้ ซึ่งหากเป็นเรื่องที่เขาสนใจก็จะยิ่งอยากค้นคว้า

“การเรียน PBL สนุก เพราะเด็กอยากรู้ อยากค้นคว้าในเรื่องที่เมื่อก่อนครูไม่อยากจะสอนกัน แต่ทุกวันนี้ครูกับเด็กสามารถหาความรู้มานำเสนอกันได้ พูดคุยกันโดยมีครูอยู่ในวงด้วย ต่างจากเมื่อก่อนที่ครูอาจตัดสินว่าเธอไม่ต้องรู้เรื่องนี้หรอก ก็จบ ไม่ได้รู้” การุณกล่าว

หลังจากปรับวิธีการสอนมาหลายปี นักเรียนที่ไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นกลับมาเล่าให้ ผอ. ฟังว่า ได้รับคำชมจากครูระดับมัธยมว่านักเรียนกล้าคิด กล้าแสดงความเห็น สามารถค้นคว้าและนำเสนอได้ดี นี่คือผลลัพธ์ไม่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้ครูอย่างการุณได้ยินแล้วชื่นใจ

“ผมดีใจลึกๆ ที่เห็นความงอกงามของเด็กกลุ่มนี้ เขาถาม-ตอบได้ดีมากเกินวัยเด็ก ยิ่งสำหรับเด็กที่ได้เริ่มเรียนแบบ PBL ตั้งแต่ต้น เราน่าจะได้เห็นวิธีคิดดีๆ จากเขาอีกเยอะเลย”

ความพยายามของกลุ่มครูโรงเรียนบ้านโกรกลึกปรากฏชัดเจนอยู่ในห้องเรียนและทำให้โรงเรียนนี้โดดเด่นกว่าโรงเรียนอื่นในพื้นที่ การุณบอกว่า ไม่ว่าคณะกรรมการอะไรจะมาเยี่ยมโรงเรียน เขาไม่เคยต้องสั่งให้จัดนิทรรศการหรือจัดให้เด็กมารำต้อนรับ แต่คำตอบสำหรับผู้ที่จะมาประเมินสถานศึกษาปรากฏชัดเจนอยู่ในห้องเรียนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลงานนักเรียน บรรยากาศในห้องเรียน วิธีคิดและวิธีตอบคำถามของนักเรียน ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ครูและนักเรียนบ้านโกรกลึกทำอยู่แล้ว แม้รูปแบบอาจแตกต่าง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ควรจะมีอยู่ในการศึกษาสำหรับเด็กไทย

หมู่บ้านของเรา ลูกหลานของเรา ขอเราเลือกเอง

ตามห้องเรียนของโรงเรียนบ้านโกรกลึก นอกจากผลงานนักเรียนสีสันสดใสละลานตาแล้ว แต่ละห้องจะมีชั้นหนังสือเล็กๆ บรรจุหนังสือหลากประเภท ทั้งนิทาน วรรณกรรมเยาวชน ความรู้ทั่วไป และหนังสือแบบเรียนของกระทรวงที่วางไว้ให้รู้ว่าการสอนโดยทั่วไปแล้วให้เรียนอะไรบ้าง แต่ที่โรงเรียนบ้านโกรกลึกนี้เลือกหนังสือที่จะนำมาใช้เรียนเอง เช่น การเรียนภาษาไทยผ่านวรรณกรรมอย่าง เจ้าชายน้อย (โดย อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี) หรือ ลูกอีสาน (โดย คำพูน บุญทวี)

ลองนึกดูว่าใครจะอ่านลูกอีสานได้ ‘อิน’ และเห็นภาพเท่าเด็กอีสาน

เช่นเดียวกันเด็กในพื้นที่อื่นๆ ก็ควรได้อ่านวรรณกรรมที่ยึดโยงกับชีวิตและสะท้อนวิธีคิดร่วมของคนในพื้นที่นั้นๆ นี่คือเหตุผลที่การเรียนการสอนแบบเดียวไม่เหมาะสมกับคนทั้งประเทศ เพราะสุดท้ายคนที่รู้สึกว่าเข้ากับระบบไม่ได้ก็จะหลุดหายไปจากการศึกษา

การเรียนรู้ต้องเริ่มต้องจากความอยากรู้ เช่นที่เด็กบ้านโกรกลึกอยากรู้เรื่อง ‘ท้าวสุรนารี’ ครูก็จะให้เขาไปค้นคว้ามานำเสนอกับเพื่อนแล้วพูดคุยกันด้วยเหตุผล และคงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเด็กนักเรียนที่โคราชจะมีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนถกเถียงเรื่องท้าวสุรนารีมากกว่าเด็กในจังหวัดอื่น

การุณเห็นว่าการศึกษาไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิดที่จะทำให้โรงเรียนทุกแห่งเหมือนกัน เพราะแต่ละโรงเรียนจะรู้ดีว่าชุมชนเป็นอย่างไรและเด็กในชุมชนนั้นมีเงื่อนไขที่แตกต่างอย่างไร โรงเรียนจึงควรมีโอกาสจัดการศึกษาให้เหมาะกับชุมชน

“ผมคิดว่าต้องเปลี่ยนวิธีคิดที่จะต้องให้ทุกที่เหมือนกัน แต่ละโรงเรียนจะรู้ว่าชุมชนของเขาต้องการอะไร ลูกหลานของเขาควรได้รับโอกาสแบบไหน ควรให้โอกาสโรงเรียนเลือกวิธีการจัดการศึกษาเองโดยมีหลักสูตรที่กำหนดมากว้างๆ ไม่ได้ระบุว่าต้องสอนอะไรมากมาย แค่บอกให้รู้ว่าเราต้องพัฒนาเด็กในด้านใด แล้วก็ให้โรงเรียนคิดเอง ถ้าครูยังไม่มั่นใจในการจัดการเอง คุณก็มีตัวเลือกมาให้ เช่น นวัตกรรมเปลี่ยนแปลงเชิงระบบเป็นหนึ่งในตัวเลือกจากหลายๆ แบบ คุณก็เลือกแบบที่คิดว่าเหมาะกับโรงเรียนคุณ มีเส้นทางเดินให้ ดีกว่าไปลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ” การุณยืนยัน

ด้วยความเป็นอยู่ที่แนบชิดกับชุมชน โรงเรียนบ้านโกรกลึกมีกิจกรรมที่พาเด็กออกไปนอกรั้วโรงเรียนอย่างหลากหลาย เพราะต้องการให้เด็กรู้จักถิ่นกำเนิด รู้ความเป็นมาของหมู่บ้าน เมื่อเขามีความรักในชุมชนแล้ว หากโตขึ้นวันข้างหน้าเขาจะได้อยู่เป็นกำลังหลักของชุมชน

“ถ้าเป็นการศึกษาที่ไม่บูรณาการ เขาจะมองไม่เห็นตัวเอง เรียนจบก็ออกไปจากชุมชน แล้วชุมชนก็ถูกทิ้ง ถ้ามีชุมชนถูกทิ้งไปเยอะๆ มันยากจะทำให้สังคมเข้มแข็งได้” การุณบอก

เขาเล่าว่านอกจากพานักเรียนไปดูต้นไม้ในป่า ก็พาไปดูวิถีชีวิตและการทำอาชีพในชุมชนที่มีทั้งฟาร์มวัว ฟาร์มหมู เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ ทอผ้า ทำเสื่อกก หรือบางทีก็ชวนคุณยายในชุมชนมาสอนให้เด็กๆ หัดห่อข้าวต้มมัดที่โรงเรียน

“บางทีก็เดินไป บางทีก็นั่งรถกระบะของครูไป มีอยู่ปีหนึ่งพ่อแม่เด็กเขาดำนาอยู่ ก็สัญญากันไว้ว่าจะพาเด็กไปดู พอไปถึงเด็กก็เล่นน้ำขี้โคลนเลย ผมก็พาเด็กไปตกปลา หว่านแห ทำกับข้าวกินที่ทุ่งนาอยู่หลายครั้ง” การุณเล่าพร้อมหัวเราะ

พูดได้เต็มปากว่ามาถึงวันนี้โรงเรียนบ้านโกรกลึกเห็นแนวทางที่ชัดเจนแล้วว่าต้องการก้าวเดินไปแบบใด แต่ความฝันของการุณคือการทำให้เพื่อนโรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่มีโอกาสทดลองการสอนในรูปแบบนี้ที่เขาเห็นว่าทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น โจทย์ต่อไปคือการสร้างเครือข่ายซึ่งเป็นงานที่เขากำลังลงมือทำอยู่ โดยเห็นว่าหากมีการถ่ายทอดประสบการณ์ไปยังโรงเรียนอื่นจะสามารถจับมือกันสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เข้มแข็งได้

“ปัญหาที่ผมมองเห็นคือเด็กขาดทักษะการอยู่ในสังคมและทักษะในการใช้ชีวิต เด็กบางคนที่ขาดแคลน หากเขามีวิธีคิดก็จะแก้ปัญหาชีวิตให้ช่วยเหลือตัวเองให้ได้ ต่อไปก็อาจแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้สังคมดีขึ้น เราจะต้องให้เด็กเรียนหนังสือให้ได้ ไม่หลุดออกจากระบบ เป็นคนที่กำกับตัวเองได้”

ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ด้วยการศึกษาที่ตอบสนองต่อผู้เรียนที่หลากหลาย มองเห็นความอยากเรียนรู้ในระดับที่แตกต่างกันและในเรื่องที่แตกต่างกัน มองเห็นว่าการศึกษาจะทำให้ชีวิตผู้เรียนดีขึ้นอย่างไร แต่อุปสรรคใหญ่คือการเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้ตอบสนองโจทย์ต่างๆ เหล่านี้

“อุปสรรคใหญ่ของการทำให้การศึกษามีคุณภาพคือความเชื่อ ถ้าเขาเชื่อว่าโรงเรียนเราไม่ทางทำอะไรได้ดีกว่านี้ ผมว่าจบเลยนะ ถ้าเขาไม่เชื่อว่าเด็กน่าจะเรียนรู้ได้มากกว่านี้ ไม่เชื่อว่าครูทำอะไรได้มากกว่านี้ ไม่เชื่อว่าโรงเรียนบ้านนอกจะทำอะไรได้มากกว่านี้ จะทำให้เขาทำงานในลูปเดิมจนเกษียณอายุราชการ

“นอกจากนี้คือความกลัว ครูกลัวว่าทำแล้วจะไม่ตรงตามหลักสูตร ทำแล้วไม่ก้าวหน้า ประเมินวิทยฐานะแล้วไม่ได้รับการยอมรับ จึงไม่กล้าที่จะทำ”

นั่นคืออุปสรรคใหญ่ของการศึกษาไทย แต่การุณก็ไม่ได้มองว่านวัตกรรมโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบจะเป็นคำตอบสุดท้ายของทุกคน

“นวัตกรรมในประเทศไทยมีเยอะมาก แต่ละโรงเรียนต้องได้เลือกรูปแบบที่เหมาะกับตัวเอง เหมาะกับครู เหมาะกับพื้นที่ เพราะฉะนั้นถ้าเปิดโอกาสและเปลี่ยนความเชื่อ โรงเรียนบ้านนอกก็มีโอกาสทำได้ โรงเรียนมีครูแค่ห้าคนก็สามารถทำบางเรื่องได้ ขอให้เลือกในสิ่งที่เหมาะกับตัวเองและไม่ต้องกลัว ถ้าเราทำเพื่อเด็ก ทำเพื่อชุมชน ทำเพื่อโรงเรียน”

แน่นอนว่าการสนับสนุนจากส่วนกลางเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การสร้างความเปลี่ยนแปลงสะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการกระจายอำนาจการศึกษา

“ถ้ามีการกระจายอำนาจให้โรงเรียนมีสิทธิ์กำหนดทิศทางตามบริบทพื้นที่ของตัวเองจะช่วยได้เยอะเลย จะทำให้โรงเรียนกล้ามากขึ้น ถ้าไม่มีการกระจายอำนาจ ก็จะคิดแต่ว่าทำไปแล้วจะผิดไหม ทำไปแล้วจะไม่ครบหรือเปล่า การกระจายอำนาจจะทำให้ครูมีกรอบที่กว้างขึ้น ทำให้เขากล้าตัดสินใจ กล้าทำมากขึ้น นี่คือเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีการกระจายอำนาจ ต้องแก้ไขกฎต่างๆ” การุณเล่าถึงความหวัง

ภาพห้องเรียนบ้านโกรกลึกที่ปรากฏตรงหน้านี้คือผลลัพธ์ของความพยายามจัดการศึกษาให้ดีที่สุดในระบบที่มีข้อกำหนดมากมาย เมื่อเป้าหมายที่วางไว้ไม่ใช่การปั้นเด็กให้ไปแข่งขันความเป็นเลิศต่างๆ แต่เป็นการสร้างทักษะชีวิตและให้เด็กชอบการเรียนรู้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างห้องเรียนให้กลายเป็นโรงงานอัดความรู้ใส่สมอง

การุณบอกว่าเขาชอบนั่งฟังเด็กเรียน ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะได้ยินแต่เสียงครูดังมาจากห้องเรียน แทบไม่ได้ยินเสียงเด็กเลย แต่ห้องเรียนของเขาตอนนี้เต็มไปด้วยเสียงเด็กคุยกัน แทบไม่ได้ยินเสียงครู

“ห้องเรียนในหลายโรงเรียนจะมีครูพูดคนเดียว พูดจนเจ็บคอต้องใช้ไมโครโฟน มันไม่น่าจะใช่บรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี ถ้าไปฟังห้องเรียนของผมตอนนี้จะได้ยินเสียงเด็กดังเลย เด็กคุยกันในเรื่องที่เรียน นำเสนอ เสียงเด็กหัวเราะสนุก เสียงครูแทบจะไม่ได้ยิน จะได้ยินคำถามของครูว่า ‘แล้วเป็นยังไง’ ‘แล้วทำไมล่ะ’ ‘ทำอย่างนี้ดีไหม’ เสียงครูจะเบาลง บรรยากาศการเรียนรู้ต้องเป็นแบบนี้ ไม่ใช่มีแต่เสียงครูดัง” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโกรกลึกเล่าสะท้อนภาพจริง

ตกบ่ายแก่ เสียงออดโรงเรียนดัง เด็กๆ เริ่มเดินออกมาหาตายายที่ขับมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างมารอรับกลับบ้านกัน บ้างพูดคุย บ้างหยอกล้อหัวเราะ เป็นเรื่องง่ายสำหรับเด็กที่จะรู้สึกสนุก กระนั้นในความเป็นจริงห้องเรียนหลายๆ แห่งก็ยังสามารถดับความสนุกของเด็กลงได้ แต่ไม่ใช่สำหรับที่นี่… ที่บ้านโกรกลึก โรงเรียนเล็กที่ใส่ใจนักเรียนตัวน้อยๆ อย่างเต็มเปี่ยม


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save