fbpx

ความสมดุลระหว่างเทคนิคและเรื่องเล่าใน “ในปีที่ยี่สิบเจ็ดและเรื่องสั้นอื่นๆ”

ในบรรดาวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ที่เรามักเรียกกันว่า ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’ ซึ่งเป็นประเภทของวรรณกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 เป็นผลมาจากการหลอมรวมประนีประนอม (เกี้ยเซียะก็ว่า) ระหว่างวรรณกรรมเพื่อชีวิตกับรสนิยมทางวรรณกรรมของปัญญาชนเสรีนิยมกระฎุมพี (อนุรักษ์นิยม)[1] มักจะนำเสนอการสะท้อนสังคมในแง่มุมต่างๆ ด้วยลีลาและกลวิธีที่แปลกใหม่ การสะท้อนภาพสังคมในวรรณกรรมสร้างสรรค์นั้นมีความหลากหลายในแง่ของมุมมอง แต่จุดร่วมที่มีเหมือนกันเกือบหมดก็คือ ความพยายามจะสะท้อนปัญหาสังคมที่ต้องแก้ไขปรับปรุง เพียงแต่มีข้อแม้ว่าปัญหาเหล่านั้นต้องไม่หดหู่เกินไปและมีกลวิธ๊ที่สร้างสรรค์[2]

ประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ วรรณกรรมสร้างสรรค์ในสังคมไทยเป็นประเภท (genre) ของวรรณกรรมที่มักจะถูกเข้าใจไปว่ามีความซีเรียส จริงจัง และอ่านยากมีความเข้มข้นทางวรรณกรรมสูงมาก ความยากของวรรณกรรมประเภทนี้ก็คือ กลวิธีและเทคนิคทางวรรณกรรมที่ซับซ้อนในการนำเสนอ น้ำเสียงของงานเขียนที่ไม่ได้มีความตรงไปตรงมาหรือมีความชัดในหลายๆ ครั้ง การซ่อนความหมาย นัยยะ ผ่านสัญลักษณ์และวิธีการเล่าเรื่องที่มีหลายชั้น ความยุ่งยากเหล่านี้เรียกร้องประสบการณ์ในการอ่านจากผู้อ่านมาก ผนวกกับปัญหาสังคมที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ การทับซ้อนของปัญหาต่างๆ ในสังคมไทย ทำให้วรรณกรรมประเภทนี้อาจได้รับความนิยมน้อยกว่าวรรณกรรมประเภทอื่นๆ ในสังคมไทย

นักเขียนไทยจำนวนไม่น้อยผสมผสานเทคนิควรรณกรรมกับการนำเสนอปัญหาสังคมได้อย่างกลมกลืน สอดประสานกันได้อย่างลงตัว ในขณะเดียวกันนักเขียนไทยอีกจำนวนมากเช่นกันไม่ประสบความสำเร็จในการเล่าเรื่องปัญหาสังคมไทยด้วยลีลาและกลวิธีที่แปลกใหม่ บางครั้งการเล่าเรื่องดูล้ำสมัยแต่ไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะโน้มน้าวให้ผู้อ่านเห็นปัญหาสังคมยิ่งไปกว่านั้นไม่เห็นแม้กระทั่งตัวเรื่องที่กำลังเล่าเพราะมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับเทคนิคในเชิงช่างแต่ไม่นำพาเรื่องราวที่ต้องการจะเล่าทั้งๆ ที่ทั้งเทคนิคและเรื่องที่ต้องเล่ามีควาสำคัญไม่ย่อหย่อนไปกว่ากัน นักเขียนจำนวนไม่น้อยไม่ขาย ‘เรื่อง’ ของตัวเอง แต่ชอบขายวิธีการเล่า เราจึงเห็นวิธีการเล่าเรื่องที่ล้ำยุคล้ำสมัยแต่ประเด็นทางสังคมกลับทื่อมะลื่อเหมือนมีดที่สับอะไรก็ไม่ขาด ทุบกระเทียมก็ไม่แตก

‘ในปีที่ยี่สิบเจ็ดและเรื่องสั้นอื่นๆ’ ของ ชาคริต คำพิลานนท์ เป็นรวมเรื่องสั้นที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งในบรรดาแวดวงวรรณกรรมสร้างสรรค์ของไทย แน่นอนว่างานชิ้นนี้เป็นงานที่พยายามสะท้อนปัญหาสังคมหรือพูดถึงปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อนและในบางเรื่องไม่สามารถพูดได้อย่างตรงไปตรงมา พื้นที่ของวรรณกรรมในฐานะพื้นที่ของเรื่องแต่ง เรื่องสมมติและจินตนาการทำให้การพูดถึงปัญหาในสังคมที่เป็นอยู่จริงเป็นไปได้ในเรื่องสมมติ นอกจากนี้วิธีการเล่าของเรื่องสั้นแต่ละเรื่องในรวมเรื่องสั้นชุดนี้มีความโดดเด่นหลากหลายประการ ไม่ใช่เพราะชาคริตขนสารพัดเทคนิคและกลวิธีลงไปในเรื่องเล่าของเขาได้มากหรือเสกความสลับซับซ้อนของวิธีการเล่าได้ราวกับพ่อมดหมอผี แต่เป็นเพราะวิธีการเล่าทั้งหมดของชาคริตนั้น ‘พอดี’ กันกับเรื่องที่เขากำลังเล่า วิธีการเล่ากับเรื่องเล่าที่ไปด้วยกันช่วยทำให้รวมเรื่องสั้นของชาคริต คำพิลานนท์เล่มนี้น่าสนใจมากที่สุดเล่มหนึ่งในบรรดาประเภทของ ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’

จากข้อมูลในเว็ปไซต์สำนักพิมพ์สมมติ ชาคริต คำพิลานนท์นั้นเกิดและเติบโตที่จังหวัดกระบี่ เริ่มเขียนเรื่องสั้นครั้งแรกหลังจากการรัฐประหารของ คสช. ปี 2557 นอกจากนี้เขายังมีผลงานอยู่ประปรายตามนิตยสารและวารสารที่หลากหลาย เช่น ชายคาเรื่องสั้น, ราหูอมจันทร์, Writer (ปิดตัวไปแล้ว) และเว็บไซต์ต่างๆ เช่น the paperless, บล็อกกาซีนประชาไท นอกจากนี้มีผลงานประกวดในเวทีมติชนอวอร์ดคือเรื่อง ‘เรือนร่างของความเหนื่อยหน่าย’ ปัจจุบันเขาทำงานรับราชการอยู่ที่จังหวัดพังงา รวมเรื่องสั้น ‘ในปีที่ยี่สิบเจ็ดและเรื่องสั้นอื่นๆ’ เป็นผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มแรกในชีวิตของเขา เรื่องสั้นจำนวนเก้าเรื่อง ตีพิมพ์ตามที่ต่างๆ ตั้งแต่ปี 2558-2562 ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมการเมืองไทยครุกรุ่นจนถึงเดือดพล่าน งานของเขาจึงสะท้อนให้เห็นแง่มุมที่หลากหลายจากปรากฏการณ์และสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ปกติเช่นนี้

จากประวัติส่วนตัวที่บอกว่าชาคริตเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกหลังจากการรัฐประหารของ คสช. เมื่อปี 2557 เราจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองนั้นผลักดันให้เขาเริ่มเขียนหนังสือ และเมื่อพิจารณาเรื่องสั้นทั้งเก้าเรื่องที่อยู่ในรวมเรื่องสั้น ‘ในปีที่ยี่สิบเจ็ดและเรื่องสั้นอื่นๆ’ เราได้รับรู้ถึงความอึดอัดและอัดอั้นตันใจ ความหดหู่ ความตรอมตรมจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายและมีทีท่าว่าจะไม่มีอะไรดีขึ้น ความรู้สึกต่างๆ เหล่านั้นถูกเล่าออกมาผ่านกลวิธีที่น่าสนใจที่มีความพอดีกับตัวเรื่องที่กำลังเล่า สิ่งที่ผมสนใจมากที่สุดในงานของชาคริตก็คือความละเอียดลออในการจับเอาอารมณ์ความรู้สึกมาร้อยเรียงเป็นถ้อยคำที่ชัดเจน ง่าย ไม่ต้องสลับโครงสร้างไวยากรณ์ สลับคำทำให้ซับซ้อน มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในการบรรยาย/เล่า ชาครติทำให้ความง่ายของภาษากลายเป็นความซับซ้อนทางอารมณ์ได้อย่างกลมกลืน ดังนั้นความตรอมตรมอันเนื่องมาจากสภาพสังคมการเมืองซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกสามารถเชื่อมโยงกับสภาวะอัดอั้น สับสน ทุกข์ตรมภายในจิตใจของตัวละครผ่านกลวิธีที่ไม่มากไม่น้อยเกินไป

เรื่องสั้น ‘ในปีที่ยี่สิบเจ็ด’ เป็นเรื่องสุดท้ายและเป็นเรื่องที่นำมาใช้เป็นชื่อชุดรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ด้วย ตัวเรื่องเป็นการเล่าถึงความคิดของตัวละครชายอายุ 27 ที่พยายามตอกย้ำอยู่เสมอว่าตนเองตายไปแล้ว ตัวเรื่องบรรยายถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครที่ได้ประสบพบเจอกับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตทั้งหมดเกี่ยวข้องกับสภาพสังคมการเมืองชีวิตส่วนตัวที่ตัวเขาเองไม่อาจเข้าใจได้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แม้เขาจะเพียรหาคำตอบแต่เหมือนว่ามันยิ่งทำให้เขารู้สึกแปลกแยก ดังนั้นตัวเรื่องทั้งหมดมันจึงเป็นการบรรยายสภาวะภายในจิตใจของตัวละครที่ปะทะกับโลกภายนอกอย่างรุนแรง

วิธีการเล่าของเรื่องสั้นเรื่องนี้ ชาคริตใช้วิธีแบบกระแสสำนึกที่เป็นการเล่าโดยปล่อยให้จิตใต้สำนึกของตัวละครไหลไปเรื่อยๆ ดูเหมือนจะไม่มีทิศทางที่ชัดเจนเพราะจิตใต้สำนึกนั้นเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ เป็นความดิบ เถื่อน ไร้ระเบียบ จิตใต้สำนึกเป็นเสมือนคลังของสิ่งที่เรากักเก็บความทรงจำ อารมณ์ความรู้สึกเอาไว้โดยที่เราไม่รู้ว่ามันมีอยู่หรือเราเก็บไว้เอง แต่ความรู้สึกเหล่านี้ -ซึ่งอาจเรียกว่า ‘ความปรารถนา’- ถูกกดทับเอาไว้ด้วยกรอบและบรรทัดฐานทางสังคมจึงไม่สามารถแสดงออกมาในเวลาปกติได้ การใช้วิธีแบบกระแสสำนึกในการเล่าเรื่องจึงเป็นการเปิดประตูให้อารมณ์ความรู้สึกลึกๆ ของตัวละครที่ถูกกดทับ เก็บกักเอาไว้ได้ออกมาโลดแล่น เป็นการปลดปล่อยความปรารถนาให้พ้นจากกรอบทางสังคม

เรื่องสั้นเรื่องนี้จึงเป็นการปล่อยให้ความคิดของตัวละครไหลไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีจุดหยุดพัก ไม่มีย่อหน้า ผู้อ่านจะได้รับรู้ถึงความอึดอัด คับข้องใจของตัวละคร เช่น

“…ผิวศพของฉันเหมือนดั่งคำสารภาพอันผิวเผินของความโกหก เป็นคำโกหกคำโตเกี่ยวกับความฝัน ความรัก ความสุนทรีย์ และความลึกซึ้งเกี่ยวกับชีวิต ว่าแท้จริงแล้วไม่มีห่าอะไรเลย ไม่มีห่าเหวอะไรเลยเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ สำหรับคนที่ตายไปแล้วชีวิตเคยเป็นแค่มายากลชุดที่ดีที่สุดชุดหนึ่ง มันหลอกตา และเมื่อมองย้อนกลับไป ฉันได้ร็เฉลยของมันก่อนฉันตายเสียอีก…” (หน้า 124)

“…เมื่อนานมาแล้ว ฉันเคยเชื่อว่าตัวเองยังมีชีวิตก็เมื่อฉันยังคงคิดว่าสังคมที่ฉันเป็นส่วนหนึ่งจะดีขึ้นได้ ยุติธรรมขึ้นได้ เสมอภาคขึ้นได้ แม้มันเป็นถ้อยคำลมๆ แล้งๆ สำหรับตอนนี้เสียแล้ว แต่ครั้งหนึ่งฉันเคยปักใจเชื่ออย่างเต็มเปี่ยม นั่นทำให้ฉันยังมีชีวิตอยู่” (หน้า 126)

ตัวละครพยายามเน้นย้ำถึงความตายของตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่ความตายที่ว่านี้เป็นได้ทั้งความตายในทางกายภาพในความหมายของการสิ้นสุดชีวิตและเป็นได้ทั้งความตายในเชิงสัญญะ ความตายเชิงสัญญะของตัวละครในเรื่องสั้นเรื่องนี้ผมคิดว่าคือการที่ตัวละครตระหนักถึงความสัมพันธ์ของตัวเองที่มีต่อโลกที่ดำรงอยู่ว่าตัวเขาเองนั้นหาได้มีความหมายใดๆ ต่อโลกใบนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเคยเข้าใจเคยเชื่อล้วนทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกไร้ความหมาย โลกที่ดำรงอยู่นั้นไม่อาจทำให้เขามีความหมายใดๆ และไม่มีความหมายใดๆ ที่ทำให้เขาสามารถเข้าใจและดำรงอยู่ร่วมกันได้ หากมนุษย์ดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความเชื่อที่ว่าตัวมนุษย์เองมีความจำเป็นมีความหมายต่อโลกใบนี้อยู่บ้างพวกเขาจึงดำรงอยู่แต่เมื่อพวกเขารู้สึกว่าตัวเองหมดหน้าที่ไร้ความหมายบนโลกใบนี้แล้วแม้จะยังมีชีวิตทางกายภาพหน้าที่เชิงสัญญะที่เขามีต่อโลกนี้จึงได้หมดไปความตายจึงเป็นสิ่งที่ถูกเน้นย้ำอยู่ในเรื่องสั้นนี้

ผู้อ่านจะได้เข้าใจความอึดอัดคับข้องใจที่มีต่อโลกใบนี้ของตัวละครผ่านกลวิธีของกระแสสำนึก ความละเอียดลออของการจับอารมณ์ความรู้สึกตัวละครเพื่อนำเสนอต่อผู้อ่านของชาคริตนั้นทำได้น่าสนใจอย่างยิ่ง เราจะรู้สึกว่ามีเรื่องให้เรากำลังติดตามและตัวเรื่องนี้เองจะนำไปสู่การเข้าใจสภาวะแปลกแยก โกรธ สับสน อึดอัด ที่อยู่ภายในจิตใจของตัวละคร ผมคิดว่าชาคริตสร้างสมดุลให้กับตัวเรื่องและวิธีการเล่าได้อย่างดี ทำให้ผู้อ่านไม่รู้สึกว่ากำลังถูกยัดเยียดทั้งตัวเรื่องและวิธีการเล่าเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป

เรื่องสั้น ‘บ้าน’ เป็นอีกเรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจ เพราะมันเป็นการเล่าถึงความทรงจำของตัวละครที่มีต่อบ้านหลังหนึ่ง ความทรงจำเป็นสิ่งที่ไร้ระเบียบเช่นเดียวกับจิตใต้สำนึก การจัดระเบียบความทรงจำเท่ากับเป็นทั้งการตัดทอน เพิ่มเติม เหตุการณ์ต่างๆ ที่อยู่ในอดีตให้สอดคล้องกับความต้องการที่จะจดจำในปัจจุบัน ความต้องการจะจดจำอะไรบางอย่างเป็นสิ่งที่ควบคุมได้และจัดการได้ ดังนั้น ความทรงจำไม่ใช่วัตถุวิสัยที่รอคอยให้คนเข้าไปรู้ไปเห็นหรือความทรงจำไม่ใช่สิ่งที่เราจำได้เองทำให้เรานึกถึงสิ่งต่างๆ ในอดีตได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะความทรงจำไม่เคยตรงไปตรงมาโดยตัวมันเองอยู่แล้ว

ชาคริตนำเสนอความทรงจำในลักษณะที่ไม่ได้มีการจัดระเบียบอย่างเรียบร้อย หรือไม่ได้มีโครงเรื่องในการนำเสนอความทรงจำ ความทรงจำของตัวละครที่มีต่อบ้านหลังนั้นจึงไม่ปะติดปะต่อ ไขว้ไปมาซ้อนทับกันระหว่างเรื่องราวต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะไม่มีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวแต่มันไปเกาะเกี่ยวกับอีกเหตุการณ์หนึ่งอยู่เสมอ แต่ทั้งหมดนั้นไม่ได้นำเสนออย่างเป็นลำดับเวลา เราจะได้เห็นความยุ่งเหยิงของความทรงจำที่จัดระเบียบไม่ได้ เพราะมันไม่เคยเป็นสิ่งที่จัดระเบียบได้อยู่แล้วจนกระทั่งมนุษย์มีวิชาที่เรียกว่าประวัติศาสตร์นั่นเอง คำถามที่น่าสนใจของผมหลังจากที่ได้อ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็คือ ก่อนที่เราจะสามารถจดจำสิ่งต่างๆ ในอดีตได้อย่างเป็นระบบนั้น เราจำอดีตอย่างไร อดีตดำรงอยู่อย่างในความทรงจำของเรา

สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ความสามารถในการจับเอาอารมณ์ความรู้สึกที่ตัวละครมีต่อวัตถุต่างๆ และเหตุการณ์ในอดีตได้ละเอียดลออ แต่พยายามพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจวัตถุและเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างใกล้ชิด ราวกับทำให้ผู้อ่านกำลังอยู่ในห้องแห่งหนึ่งเพื่อนั่งดูตัวละครหยิบฉวยวัตถุและเหตุการณ์ต่างๆ ที่สามารถคว้ามาได้นำเสนอต่อคนอ่านและพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับวัตถุและเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างใกล้ชิด ผมคิดว่าในจุดนี้ชาคริตทำได้กลมกลืนและมีความละเอียดอ่อนต่อถ้อยคำที่ใช้ในการบรรยาย

เรื่อง ‘โยเซฟ คา’ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะนำเอาตัวละครมาจากนวนิยาย the trial ของ ฟรานซ์ คาฟกา (Franz Kafka -นักเขียนชาวเยอรมัน) มาใช้ในตัวเรื่อง แต่ก็เป็นการใช้ในลักษณะของการเปรียบเทียบเพื่อเล่าเรื่องปรากฏการณ์ในสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความอยุติธรรม

“มีคนเคยพูดว่าหากตัวเราบริสุทธิ์ เราก็ต้องต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อพิสูจน์ตัวเราเอง นั่นน่ะใช้ไม่ได้เลย ถ้าคิดจะสู้กับคดีลึกลับนี้ อย่าหวังเสียดีกว่า เลิกพูดถึงโลกภายนอกเสียเพราะยังไม่เคยมีใครชนะคดีนี้…” (หน้า 18)

“คุณจะถูกพิจารณาอย่างลับๆ ฝากขังต่อไปเรื่อยๆ เริ่มจากครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สอง แล้วก็สาม สี่ ห้า ฯลฯ มันฟังดูไร้เหตุผลสิ้นดี แต่พวกเขาจะไม่ทำอะไรมากกว่านั้น พวกเจ้าหน้าที่ของศาลก็อย่างเดียวกัน พวกเขารั้งรอให้คุณเอ่ยปากอีกนั่นแหละ รอให้คุณพูดว่าคุณผิด สารภาพออกมาว่าคุณเป็นภัยต่อความมั่นคง โทษของคุณคือความไม่รักดี เพราะเมื่อถึงตอนนั้นคดีความก็จะเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ พวกเขาจะได้ปิดคดีของคุณไปเสียที เพราะยังมีผู้ต้องหาแบบเดียวกับคุณอีกเยอะ” (หน้า 19-20)

แน่นอนว่านี่อาจเป็นเรื่องของโยเซฟ คา ก็ได้ เรื่องของนักโทษการเมืองก็ได้ นักโทษคดีความมั่นคงของประเทศใดประเทศหนึ่งก็ได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวล มันคือความอยุติธรรม…

ผมคิดว่าชาคริต คำพิลานนท์ เป็นนักเขียนที่น่าสนใจคนหนึ่ง มีจังหวะที่ดีในการเล่าเรื่อง ทำให้ผลงานของเขามีความสมดุลระหว่างเทคนิคกับตัวเรื่อง ภาษาของเขาไม่ใช่ภาษาสวิงสวายประดิดประดอยจนเกินพอดี เป็นภาษาที่สื่อความหมายได้ง่ายและซับซ้อนในเวลาเดียวกัน ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หาได้ยากในงานของนักเขียน ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’ ของไทย และบางคนกว่าจะหาจุดที่ลงตัวของตัวเองได้อาจต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ชาคริตกลับแสดงให้เห็นในการรวมเล่มเรื่องสั้นชุดแรกของเขา

น่าสนใจไม่น้อย…


[1] ผมเคยเขียนถึงเอาไว้ในประเด็นนี้ โปรดดูต่อใน https://www.the101.world/artit-srijan-and-thai-literature-through-the-year/

[2] ในประเด็นนี้โปรดดูต่อในบทความ “บทบาทของรางวัลวรรณกรรมต่อการสร้างและการเสพวรรณกรรม” ใน ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. 2558. อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง. พิมพ์ครั้งที่ 2 ปรับปรุงใหม่. กรุงเทพฯ: อ่าน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save