การศึกษาทางเลือกที่ไม่มีทางเลือก

การศึกษาทางเลือกที่ไม่มีทางเลือก

ชลิดา หนูหล้า เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ทางเลือก (Alternative) คืออะไร

ทางเลือกคือคำตอบของคำถามปลายเปิด คือความเป็นไปได้ซึ่งไม่ถูกสถาปนาเป็นทางหลัก ทางเลือกปะชุนรอยแหว่งบนระเบียบและบรรทัดฐาน โอบอุ้มความหลากหลายของมนุษย์ ไม่ให้หล่นร่วงเหือดหาย ปัญหาจึงปรากฏเมื่อผู้คนถูกกีดกันจากทางเลือก กระทั่งทางเลือกไม่ใช่ทางเลือกต่อไป

การศึกษาทางเลือก (Alternative Education) ก็เป็นเช่นนั้น คือเป็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาและอุ้มชูตนเอง เป็นหนึ่งในหลายคำตอบที่นอกเหนือจากการจัดการศึกษากระแสหลักในระบบโรงเรียน

ในต่างประเทศ การศึกษาทางเลือกจึงเกิดขึ้นและมีความเป็นมายาวนานเท่ากับการศึกษาภาคบังคับ ขับเคลื่อนโดยนักการศึกษาในแต่ละวัฒนธรรม ผู้ชี้ว่าการศึกษากระแสหลักในพื้นที่นั้นๆ บกพร่องอย่างไร การจัดการศึกษาทางเลือกในแต่ละพื้นที่จึงมีรายละเอียดแตกต่างกัน โดยเน้นการเรียนรู้ภายใต้หลักสูตรที่ยืดหยุ่น ยึดโยงกับความสนใจและความต้องการของผู้เรียนซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเอง[1]

ในประเทศไทย แม้การศึกษาทางเลือกจะเป็นที่พูดถึงและเริ่มเป็น ‘ทางเลือก’ มากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่หากมองจากพัฒนาการและสถานะล่าสุดแล้ว อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาทางเลือกของไทยกำลังมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ

 

พัฒนาการของการศึกษาทางเลือกในประเทศไทย

 

บทความการศึกษาทางเลือก วารสารออนไลน์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒระบุว่าการจัดการศึกษาทางเลือกในไทยนั้นเริ่มต้นใน พ.ศ. 2522 หลังการก่อตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จังหวัดกาญจนบุรีเพื่อจัดการศึกษาแก่เด็กๆ ที่ถูกกระทำทารุณกรรม กำพร้า หรือขาดแคลนทุนทรัพย์ ติดตามด้วยการก่อตั้งโรงเรียนทางเลือกหลายโรงเรียนซึ่งมีแนวทางการจัดการศึกษาและปรัชญาการศึกษาทางเลือกที่ยึดถือแตกต่างกัน อาทิ โรงเรียนรุ่งอรุณ ที่เน้นการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม (Holistic Learning) หรือการพัฒนาบุคคลในหลายมิติ ทั้งเจตคติ พุทธิปัญญา และทักษะที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้หนึ่งๆ[2]

ในที่สุด พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จึงให้การรับรองการจัดการศึกษาทางเลือกในไทย ในมาตรา 12 ความว่า “นอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” สอดคล้องกับมาตรา 18 (3) ซึ่งระบุประเภทสถานศึกษาที่จัดการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐานได้

การจัดการศึกษาทางเลือกในไทยซึ่งมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่องนับแต่นั้น ประกอบด้วยทางเลือกที่หลากหลายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรียน (Home School) โรงเรียนทางเลือก สถาบันอุดมศึกษาทางเลือก เช่น ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เน้นการจัดการเรียนรู้ภายใต้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Learning) หรือการเรียนรู้ผ่านการฟัง ใคร่ครวญ และสังเกตการณ์โดยปราศจากอคติ เพื่อความเข้าใจตนเองและการพัฒนาทักษะสังคม ฯลฯ ศูนย์การเรียนที่มุ่งตอบสนองความต้องการของชุมชนหรือผู้เรียนเฉพาะกลุ่ม อาทิ ศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน ที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เด็กๆ ในชุมชนปกาเกอะญอ บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเน้นการเรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น

เครือข่ายผู้จัดการศึกษาทางเลือกเหล่านี้ให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันในภาคีเครือข่ายการศึกษาทางเลือก กระทั่งนำไปสู่การจัดตั้งสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยหรือ สกล. ใน พ.ศ.2554 เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาการจัดการศึกษาทางเลือกต่อไป

 

YouTube video

การจัดการศึกษาทางเลือกในศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน

 

โดยทั่วไป การจัดการศึกษาทางเลือกไม่ว่าในศูนย์การเรียนหรือบ้านเรียน ต้องผ่านการจดทะเบียนเพื่อขออนุญาตจัดการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในท้องที่ดังกำหนดในกฎกระทรวง ว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2555 ครอบคลุมการจัดทำแผนการศึกษาเฉพาะของศูนย์การเรียนหรือบ้านเรียนนั้นๆ ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือสถานศึกษาที่สำนักงานมอบหมาย ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการ แนวทางการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ซึ่งต้องเป็นการ ‘วัดผลและประเมินผลตามสภาพจริงของพัฒนาการของผู้เรียนเป็นรายบุคคล’ และหากศูนย์การเรียนหรือบ้านเรียนนั้นๆ จัดการเรียนรู้ร่วมกับสถานศึกษาอื่นๆ ก็ต้องวัดและประเมินผลการเรียนรู้ร่วมกับสถานศึกษานั้นๆ ด้วย[3]

นอกจากนี้ ศูนย์การเรียนทุกประเภทยังสามารถรับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนจากรัฐหรือองค์กรเอกชนสำหรับการจัดการศึกษาดังระบุในกฎกระทรวงข้อ 13 ซึ่งโดยมากหมายถึงเงินอุดหนุนรายหัว อาหารกลางวัน อาหารเสริมนม ชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียน

 

https://youtu.be/9buDkiPNidI

แนวทางและขั้นตอนจัดการศึกษาโดยครอบครัวหรือบ้านเรียน

 

เมื่อการศึกษาทางเลือกไม่อาจเป็นทางเลือกของทุกคน

 

แม้จะมีกฎหมายรับรอง ได้รับความสนับสนุนจากทั้งองค์กรภาครัฐ เอกชน และชุมชน มีการสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายการศึกษาทางเลือก รวมถึงมีความต้องการการเรียนรู้หลากหลายในไทยที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง แต่สถานการณ์การจัดการศึกษาทางเลือกในไทยในทางปฏิบัติกลับยังประสบปัญหา ทั้งปัญหาเร่งด่วนและปัญหาเรื้อรัง กระทั่งไม่อาจเป็น ‘ทางเลือก’ ที่โอบอุ้มความแตกต่างระหว่างบุคคลได้อย่างแท้จริง

กลางเดือนสิงหาคม 2563 สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทยมีจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา องค์กรคุ้มครองสิทธิเด็ก นักวิชาการ ครู อาจารย์ และผู้รักความเป็นธรรมทั่วประเทศ กรณีสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือ สพฐ. มีหนังสือถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ แจ้งการแก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน เกี่ยวกับคุณสมบัติผู้เรียนของศูนย์การเรียน และการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เกี่ยวกับแนวทางการติดตามและประเมินผลการเรียนรู้

 

จดหมายเปิดผนึกของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย

จดหมายเปิดผนึกของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย

 

เดิมผู้เรียนในศูนย์การเรียนประเภทต่างๆ นั้น ต้องเป็น “ผู้ขาดโอกาสในการเข้าเรียนในระบบโรงเรียนปกติ หรือ ผู้ที่ต้องการเข้าเรียนในศูนย์การเรียน” ทว่าหนังสือดังกล่าวตัดข้อความ “ผู้ที่ต้องการเข้าเรียนในศูนย์การเรียน” จากคู่มือออกไป นอกจากนี้ การติดตามและประเมินผลการเรียนรู้ในการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ยังตัดข้อความที่กล่าวถึงสิทธิหารือร่วมกับภาคีเครือข่ายบ้านเรียน และภาคีเครือข่ายการศึกษาทางเลือกของผู้ปกครอง ส่งผลให้การติดตามและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนผูกพันกับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและครูจากสถานศึกษาในระบบโรงเรียนเท่านั้น ขัดกับหลักการจัดการศึกษาทางเลือกที่ยึดโยงกับความต้องการการเรียนรู้ที่หลากหลายเป็นสำคัญ

สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกแห่งประเทศไทยชี้ว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก จึงเป็นการละเมิดสิทธิด้านศึกษา และขัดต่อแนวทางปฏิรูปการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ละเมิดสิทธิของผู้จัดการศึกษา ไม่เป็นธรรมกับผู้เรียนที่มีความต้องการหลากหลาย รวมถึงขาดความชอบธรรมอย่างยิ่ง เนื่องจากขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียและองค์กรที่เกี่ยวข้อง

ยิ่งกว่านั้น จดหมายเปิดผนึกและบุคลากรทางการศึกษาผู้เชี่ยวชาญการจัดการศึกษาทางเลือก ยังกล่าวถึงปัญหาเรื้อรังในการจัดการศึกษาทางเลือกในไทย โดยเฉพาะความล่าช้าในการได้รับเงินอุดหนุนดังระบุในกฎกระทรวงข้อ 13 โดยจดหมายเปิดผนึกระบุว่า ผู้เรียนในศูนย์การเรียนและบ้านเรียนจำนวนกว่า 2,000 คนทั่วประเทศไม่ได้รับเงินอุดหนุนดังกล่าวตั้งแต่ พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา โดยอาจเป็นผลของความไม่ชัดเจนของกฎกระทรวงข้อ 13 ความว่า “ศูนย์การเรียนอาจได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรเอกชนอื่นสําหรับการจัดการศึกษาได้” การได้หรือไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ข้างต้นจึงผูกพันกับวิจารณญาณของผู้แจกจ่ายสิทธิประโยชน์มากกว่าความจำเป็นของผู้เรียน

ปัญหาดังกล่าวยังสอดคล้องกับปัญหาเรื้อรังอีกประการหนึ่งในจดหมายเปิดผนึก คือข้อมูลของผู้เรียน ศูนย์การเรียน และบ้านเรียนจำนวนมากยังไม่เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลการจัดการศึกษาในไทย การจัดการศึกษาทางเลือกซึ่งไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนี้ จึงไม่อาจพัฒนาตนเองได้อย่างที่ควรเป็น

นอกจากนี้ กระบวนการจดทะเบียนที่ขาดความเข้าใจความต้องการเรียนรู้ที่หลากหลายในหลายพื้นที่ยังขัดต่อวัตถุประสงค์การจัดการศึกษาทางเลือก โดยบางครอบครัวประสบปัญหาการออกแบบแผนการจัดการศึกษาแบบบ้านเรียน เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการให้แผนการจัดการศึกษา รวมถึงแนวทางติดตามและประเมินผลการเรียนรู้ยึดโยงกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระ อันประกอบด้วยมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด ดังที่ปรากฏในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นแนวทางหลักของการจัดการศึกษากระแสหลักในระบบโรงเรียน แทนที่จะยึดโยงกับกลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ 7 กลุ่มประสบการณ์

กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ 7 กลุ่มประสบการณ์ซึ่งอาจไม่เป็นที่คุ้นเคยนักสำหรับหลายคนนี้ หมายถึงองค์ความรู้และทักษะที่เน้นตอบสนองความต้องการของผู้เรียนหรือชุมชน โดยอาจแตกต่างกันในแต่ละศูนย์การเรียนและบ้านเรียน อาทิ กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้ของศูนย์การเรียนชุมชนวิถีไท ประกอบด้วย กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้จิตวิญญาณ สุขภาพ สัมพันธภาพทางสังคม ภาษาและวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สัมมาชีพและเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงกลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้นิเวศวัฒนธรรม

แม้กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้จะแตกต่างจากกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระที่หลายคนรู้จักอย่างเห็นได้ชัด ก็มีที่มาจากแนวทางผลการเรียนรู้ที่คาดหวังตามมาตรา 23 ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งครอบคลุมองค์ความรู้เกี่ยวกับตนเอง ความสัมพันธ์ระหว่างตนเองและสังคม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ ภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และทักษะการประกอบอาชีพเช่นกัน

ปัจจุบัน จดหมายเปิดผนึกรวมถึงข้อเรียกร้องของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ได้เดินทางถึงสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในกลางเดือนสิงหาคม และสมาคมได้ติดตามผลการดำเนินงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยตรงระหว่างการสัมมนาวิชาการ เรื่อง ‘เหลียวหลังแลหน้าปฏิรูปการศึกษาไทย’ โดยสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา ในวันที่ 28 สิงหาคม 2563 แล้ว

ความคืบหน้าของการพัฒนาและปรับปรุงการจัดการศึกษาทางเลือกนั้น เป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปร่วมกับบุคลากรทางการศึกษาและสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สังคมตระหนักถึงศักยภาพ บุคลิกภาพ และความต้องการที่หลากหลายของมนุษย์ การจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่สุด จึงหมายถึงการจัดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการเรียนรู้เฉพาะของบุคคลหรือชุมชน สร้างเสริมทักษะและองค์ความรู้ด้วยกลวิธีที่ ‘เหมาะสม’ ที่สุด ไม่ใช่ ‘สะดวก’ ที่สุด หรือ ‘เป็นที่นิยม’ ที่สุด

ท่ามกลางความผันผวนในปัจจุบัน และความรวนเรในอนาคต วันหนึ่ง แนวทางการจัดการศึกษากระแสหลักอาจถูกแทนที่ด้วยแนวทางการจัดการศึกษาทางเลือกในวันนี้ ทว่าความจำเป็นของทางเลือกในการจัดการศึกษาจะคงอยู่ กระนั้น ทางเลือกที่ตอบโจทย์ ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ไม่อาจเลือก หรือทางเลือกที่ต้องเลือกอย่างเสียไม่ได้ ในโลกที่มีความเป็นไปได้ใหม่ๆ เสมอ คำตอบที่หลากหลายเท่านั้นจะโอบอุ้มความไพศาลของคำถามปลายเปิดในวันหน้า ทุกทางเลือกในการจัดการศึกษาจึงควรได้รับการสนับสนุนและความสำคัญอย่างเสมอภาค มีคุณภาพและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

 

อ้างอิง

[1] สืบค้นข้อมูลที่มา พัฒนาการ และการทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) เบื้องต้นเกี่ยวกับการศึกษาทางเลือกได้จากข้อเขียนของแอนน์ สลิวคา (Anne Sliwka) นักการศึกษาชาวเยอรมัน เผยแพร่โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือ OECD

[2] สืบค้นตัวอย่างการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวมได้ที่เว็บไซต์สถาบันอาศรมศิลป์ หนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาทางเลือกในไทย

[3] อีกตัวอย่างแนวทางและประโยชน์ของการจัดการศึกษาบ้านเรียน ได้แก่ การจัดการศึกษาโดยครอบครัววงศ์ทรัพย์อินทร์ แก่วงศ์ทรัพย์ วงทรัพย์อินทร์ นักกีฬาแบดมินตันรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ที่ออกจากโรงเรียนเพื่อมุ่งเป็นนักกีฬาแบดมินตันมืออาชีพ

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save