fbpx

ฮัดชิ้ว! เรื่องราวของภูมิแพ้และค่าใช้จ่ายที่ไม่เคยถูกนับ

ภูมิแพ้

เมื่อฤดูก้าวเข้าสู่หน้าฝนก็เป็นเหมือนฝันร้ายของใครหลายคน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคภูมิแพ้และโรคหืด เพราะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าอาการคัดจมูก คันจมูก จาม น้ำมูกไหล มากมายสารพัดอย่างที่ร่างกายจะตอบสนองกำลังจะกลับมา และด้วยสถานการณ์มลพิษทางอากาศที่ผ่านมาของประเทศไทย ทำให้ฝันร้ายของพวกเขาที่มักเกิดขึ้นเพียงฤดูฝนหรือฤดูหนาวอาจถูกยืดออกไปเป็นตลอดทั้งปี

‘โรคภูมิแพ้’ นับเป็นหนึ่งในโรคที่พบเจอได้ในประชากรไทยจำนวนมาก หลายคนอาจสืบทอดมาจากกรรมพันธุ์ แต่อีกหลายคนนั้นก็เป็นภูมิแพ้จากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศที่รุนแรงจนสามารถก่อโรคให้ประชากรได้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่าง ‘เด็กและเยาวชน’ มีข้อค้นพบว่าภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรังอันดับ 3 ที่ทำให้เด็กในวัยเรียนต้องขาดเรียน

101 ชวนสำรวจเรื่องราวของโรคภูมิแพ้ ในวันที่ ‘ภูมิแพ้’ กลายเป็น ‘โรคใกล้ตัว’ ใกล้จนหลายคนเลือกไม่ไปพบแพทย์ แต่เลือกรับประทานยาด้วยตนเอง – ใกล้จนไม่มีใครเคยนับเลยว่าผู้ป่วยแต่ละคนมีค่าใช้จ่ายที่ไม่เคยถูกนับมากเท่าไหร่ หรือประเทศไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากเพียงใด

ภูมิแพ้’ พื้นที่ตรงกลางระหว่างเรื่องปกติที่น่ารำคาญใจกับโรคที่ต้องรักษา

“เราเป็นโรคภูมิแพ้อากาศและฝุ่น มันเป็นสิ่งที่ไม่หายไปจากโลกนี้ คงไม่เหมือนกับคนที่แพ้กุ้งแล้วไม่กินกุ้ง ฝุ่นเป็นสิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้เลย เราคงเลี่ยงที่จะไม่ออกไปข้างนอก หรือคงเลี่ยงที่จะไม่หายใจไม่ได้” ปรางค์ (นามสมมติ) บอกเล่าให้เราฟัง 

สำหรับปรางค์นั้นการเป็นภูมิแพ้ฝุ่นไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเธอ แต่เธอเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าภูมิแพ้นั้นเข้ามาอยู่กับเธอในฐานะโรคประจำตัวตั้งแต่เมื่อไหร่ ปรางค์รู้เพียงว่า ‘เธอเป็นภูมิแพ้’ จากคำบอกเล่าของแม่ และไม่เคยไปตรวจอย่างจริงจังว่าเธอแพ้อะไรกันแน่

“เราไม่เคยไปตรวจจริงๆ เลยว่าเราแพ้อะไรบ้าง เพราะการตรวจย่อมตามมาด้วยค่าใช้จ่ายสูง บางทีก็เป็นหลักพัน และยังมีค่าเดินทาง ค่าเสียโอกาสที่ต้องจ่ายเพื่อไปโรงพยาบาลอีกด้วย ยิ่งถ้าไปโรงพยาบาลรัฐก็ต้องรอคิวเป็นวัน หากวันนี้ไปตรวจแล้วรู้ว่าเราแพ้อะไร คำถามคือ แล้วยังไงต่อ ถ้าจะรักษาก็ต้องใช้วิทยาการทางการแพทย์ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก ดังนั้นหากเราพอรู้อยู่บ้างว่าเราแพ้อะไร หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหนแล้วจะเกิดอาการแพ้ เราก็เลือกที่จะไม่ทำแทน” เธอกล่าว

เช่นเดียวกับ พิม (นามสมมติ) ก็ไม่รู้เช่นกันว่าเป็นภูมิแพ้มาตั้งแต่กำเนิดหรือไม่ แต่ครั้งแรกที่เธอรู้ว่าเป็นภูมิแพ้มาจากการเลือดกำเดาไหล (อาการของภูมิแพ้ เช่น การจาม ทำให้เยื่อจมูกบาง ส่งผลให้เลือดกำเดาไหลได้ง่าย)

“มันมีช่วงหนึ่งที่เลือดกำเดาไหลบ่อยมาก ยิ่งไปกว่านั้นอาการของภูมิแพ้ก็มีน้ำมูกไหล ทำให้เรากังวลมากๆ ว่าแต่ละครั้งที่ไหลออกมา ของเหลวนั้นจะเป็นน้ำมูกหรือเลือด

“จริงๆ เราเคยคิดที่จะรักษาอาการเหล่านี้นะ แต่โดยปกติแล้วที่บ้านเราถ้าไม่ได้เป็นอะไรหนักมากๆ จะไม่ไปหาหมอกัน ในเมื่อแต่ละครั้งที่เราไปหาหมอเป็นเรื่องที่ที่บ้านต้องรับรู้ด้วย อีกทั้งค่าใช้จ่ายต่อการไปหาหมอหนึ่งครั้งก็แพง ซึ่งเราก็ยังมีทางเลือกอื่นอย่างการกินยา แม้อาจจะไม่ได้ดีขึ้นมาก เราก็เลือกที่จะกินยาแทน”

ที่ผ่านมา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย คนไทยมักซื้อยากินเองร้อยละ 15 ของผู้ป่วยทั้งหมด เป็นผลมาจากปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้มีการควบคุมการซื้อขายยาอย่างเข้มงวด อีกทั้งร้านขายยานั้นก็มีจำนวนมาก สามารถพบเจอได้ทั้งในห้างสรรพสินค้าทั่วไป และพื้นที่นอกห้างสรรพสินค้า โดยภายในปี 2565 มีอยู่ราว 17,000 แห่ง และมีมูลค่าตลาดทั้งหมดราว 2 แสนกว่าล้านบาท จึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่การซื้อยาในปัจจุบันเป็นเรื่องง่าย

นอกจากนี้ คงไม่ใช่พิมคนเดียวที่ตัดสินใจซื้อยาด้วยตนเองแทนการพบแพทย์ เพราะการพบแพทย์เป็นเหมือนเรื่องยุ่งยากและเสียเวลา จากสถิติเวลาที่ผู้ป่วยใช้ในการพบแพทย์โรงพยาบาลของรัฐโดยเฉลี่ย พบว่าเวลาที่ผู้ป่วยเดินทางไปและกลับโรงพยาบาลเฉลี่ย 2.45 ชั่วโมง และเวลาที่ใช้ในโรงพยาบาลเฉลี่ยอยู่ที่ 4.43 ชั่วโมง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการพบแพทย์หนึ่งครั้งต้องใช้เวลาเฉลี่ยมากถึง 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ หากผู้ป่วยต้องการพบแพทย์โดยที่เสียเวลาน้อยลง อาจต้องเลือกไปโรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายแพงขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ไม่ทราบว่าพวกเขาต้องไปพบแพทย์นานเท่าไหร่ บ่อยครั้งแค่ไหน ถึงจะสามารถรักษาหรือทำให้อาการของโรคคงที่ได้

“สุดท้ายแล้ว การรักษาภูมิแพ้ให้หายนั้นเป็นเรื่องที่ยาก หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ การจ่ายเงินหลายพันบาทแล้วหาย มันแทบเป็นไปไม่ได้เลย แล้วการไปหาหมอหรือเป็นผู้ป่วยมันเหนื่อยนะ เราต้องเหนื่อยในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการรักษาตนเอง ไปพบแพทย์ หรือต้องกินยา” ปรางค์กล่าว

สำหรับปรางค์แล้ว อาการภูมิแพ้เป็นเหมือนพื้นที่ตรงกลางระหว่างอาการน่ารำคาญใจทั่วไปในชีวิตของคนปกติ กับโรคที่มีอาการหนักจนต้องไปพบแพทย์และรักษาอย่างจริงจัง ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้หลายคนจึงไม่ทราบว่าอาการภูมิแพ้นั้นมีสิทธิในการรักษาอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันชีวิต หรือแม้แต่ประกันสังคม ขณะที่พิมเองก็รู้สึกนึกคิดต่ออาการภูมิแพ้ในทำนองเดียวกัน เธอเล่าว่าเมื่อต้องกรอกเอกสารสำคัญที่มีช่องว่างต้องใส่โรคประจำตัวลงไปนั้น หลายครั้งก็เกิดคำถามว่าต้องกรอกว่าภูมิแพ้เป็นโรคประจำตัวของเธอหรือไม่ เพราะ ‘ภูมิแพ้ดูไม่ได้เป็นโรค’ แต่ถามว่าเป็นเรื่องที่ต้องระวังหรือไม่ คำตอบคือพิมก็ต้องระวัง

ผู้ป่วยภูมิแพ้ในประเทศที่มีอากาศดีไม่ถึงร้อยวัน

หลายคนอาจมองว่าโรคภูมิแพ้นั้นเป็นผลมาจากกรรมพันธุ์ แต่ในความจริงแล้ว มีผู้ป่วยอีกไม่น้อยที่ประสบอาการภูมิแพ้ผ่านสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวัน ศ.ดร.พญ.อรพรรณ โพชนุทูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ระบุว่าปัจจัยสำหรับการเกิดอาการภูมิแพ้นั้นเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตมากกว่าพันธุกรรมเสียอีก เพราะผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้หรือโรคหืดนั้นเกินครึ่งไม่เคยมีประวัติทางพันธุกรรม

“ประชากรของประเทศไทยที่มีอาการภูมิแพ้นั้น นับเป็นจำนวนร้อยละ 40 ของจำนวนประชากรทั้งหมด สำหรับจำนวนที่มากขึ้นเป็นผลมาจากการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อม เช่น สภาพแวดล้อมที่มีมลพิษทางอากาศ หรือภาวะอ้วนเองก็เพิ่มความเสี่ยงของภูมิแพ้ เป็นปัจจัยในการก่อโรคมากกว่าพันธุกรรม และผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้อากาศนั้นมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเป็นโรคหืดมากขึ้น 3-5 เท่าจากผู้คนทั่วไป” อรพรรณกล่าว

สาเหตุที่อาการภูมิแพ้สร้างความเสี่ยงในการเป็นโรคหืด เพราะอาการของภูมิแพ้มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นจมูกอักเสบ อาการจำพวก ‘คัน คัด จาม ไหล’ หรืออาการที่แสดงออกทางผิวหนัง เป็นต้น เมื่อใดที่เชื้อลงมาที่หลอดลมหรือท่อทางเดินหายใจ (นับตั้งแต่ลูกกระเดือกลงมา) จะส่งผลให้หลอดลมตีบและกลายเป็นโรคหืดในที่สุด จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ผู้ป่วยอาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หลายคนจะเป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรคหืดด้วย

ที่ผ่านมา ผู้ป่วยโรคหืดและโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจส่วนบนมีจำนวนมากขึ้นทุกๆ ปี เป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้มีอาการภูมิแพ้ ทั้งมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM 2.5

“ในแต่ละวันหากเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐก็ตรวจผู้ป่วยวันละมากกว่าร้อยราย เพราะปัญหาของคนที่มีอาการของภูมิแพ้หรือโรคหืดเอง เป็นแล้วไม่ค่อยหาย เพราะฉะนั้นคนไข้จึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งคนไข้ใหม่และคนไข้เก่า ปัญหาที่ผ่านมาคือคนไข้เก่าก็เยอะขึ้นตาม เพราะคนไข้ไม่หายสักที ต้องมาติดตามนัดอย่างสม่ำเสมอ”

งานศึกษาของ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank หัวข้อ ‘มองความเหลื่อมล้ำผ่านข้อมูลฝุ่น: เมื่อปัญหา PM2.5 ในกรุงเทพฯ เสียงดังกว่าต่างจังหวัด’ ได้เข้าไปสำรวจค่าดัชนีคุณภาพอากาศโดยใช้เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศจากข้อเสนอของกรีนพีซ ประเทศไทย ซึ่งกำหนดให้วันที่มีคุณภาพอากาศดี หมายถึง มีค่า AQI ไม่เกิน 50 พบว่า ใน 1 ปีคนไทยได้สูดอากาศสะอาดไม่ถึง 100 วัน ขณะที่คุณภาพอากาศส่วนใหญ่ตลอดระยะเวลา 1 ปีนั้นอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง (ค่า AQI 51-100) ซึ่งเป็นค่าที่กรมอนามัยแนะนำให้ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

ผลของการศึกษาทำให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมของประเทศไทยไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หรือระบบทางเดินหายใจ กล่าวคือใช้ชีวิตได้โดยที่ไม่มีอาการกำเริบ อีกทั้งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชนทั่วไปที่ควรได้รับอากาศที่สะอาด จากสภาพแวดล้อมเป็นพิษดังกล่าวส่งผลให้ผู้ป่วยภูมิแพ้ที่มีอาการไม่หนักมักใช้ยาแก้แพ้รักษาเป็นหลัก ทั้งที่ในความจริงแล้ว ยาแก้แพ้เป็นเพียงเป็นการรักษาตามอาการมากกว่าแก้สาเหตุของโรค

“หากเรากินยาตามที่เหมาะสม หรือตามที่ได้รับการรับรอง แม้จะไม่ได้มีผลเสีย แต่มีความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เสียเงินค่ายาเยอะ คนไข้ต้องใช้ยาต่อเนื่องและเสียค่าใช้จ่ายตลอดเวลา ขาดเรียน ขาดงาน ขาดรายได้ ทำงานไม่ได้อย่างประสิทธิภาพ หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพแวดล้อม เช่น เครื่องกรองฝุ่น เป็นต้น” อรพรรณกล่าว

ราคาของ ยาแก้แพ้’ และค่าใช้จ่ายที่ไม่เคยถูกนับ

จากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนเป็นโรคภูมิแพ้ ทำให้ ‘ยาแก้แพ้’ เป็นเหมือนยาประจำตัวของผู้ป่วยเหล่านี้เลยก็ว่าได้ บางคนเลือกรับประทานเป็นประจำ บางคนก็เลือกรับประทานก็ต่อเมื่อมีอาการแพ้ หากสำรวจตลาดของยาที่ขายตามร้านค้าหรือโรงพยาบาล จะพบว่ายาแก้แพ้นั้นมีหลากหลายยี่ห้อให้เลือกใช้ ขึ้นอยู่กับราคา และผลข้างเคียงจากการรับประทานยา (อาทิ อาการง่วงซึม) ซึ่งหากผู้ป่วยเลือกไม่ไปพบแพทย์ก็ต้องเลือกใช้ยาแก้แพ้ด้วยตนเอง

“ยาแต่ละตัวก็ไม่เหมือนกันด้วยนะ บางตัวกินแล้วง่วง บางตัวไม่ บางทีกินแล้วก็ไม่หาย เราก็ต้องมาเลือกใช้ด้วย แต่ละเดือนเราไม่เคยบวกราคาเหมือนกันว่า หนึ่งเดือนต้องจ่ายค่ายามากเท่าไหร่ แต่ก็รู้สึกเสียดายทุกครั้งที่ซื้อ เพราะว่าเหมือนเราต้องมียาแก้แพ้อยู่ทุกที่ในชีวิตของเรา เพราะไม่มีใครรู้ว่าเราจะเกิดอาการแพ้เมื่อไหร่ แต่มันก็ไม่ใช่อาการฉุกเฉินจนเราต้องพกยาตลอดเวลาด้วย

“เหตุผลที่ไม่เคยนับเพราะว่าเราอาจจะซื้อจนชิน บางทีก็เป็นคนรอบตัวซื้อให้ เช่น แม่ เพื่อน จนเราจัดห้องล่าสุดแล้วพบว่า เรามียาแก้แพ้ 4-5 แผง ซึ่งมันยังไม่หมด เราก็เลยรู้ว่าเราเสียค่าใช้จ่ายกับมันเยอะเหมือนกัน” ปรางค์กล่าว

พิมเสริมว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของเธอในฐานะผู้มีอาการของภูมิแพ้นั้นมีมากกว่ายาแก้แพ้ เพราะเธอต้องจ่ายเพิ่มเติมอีกหลายอย่างเพื่อป้องกันอาการแพ้มารบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเธอ ซึ่งเธอเปรียบว่าโรคภูมิแพ้นั้นเป็นเหมือนโรคที่เต็มไปด้วยราคาที่ไม่เคยถูกนับ

“นอกจากค่ายาที่เราต้องทดลองไปเรื่อยๆ และจ่ายเงินไม่มีสิ้นสุด เรายังต้องเปลืองเงินไปกับค่าทิชชู่ด้วย แต่ละเดือนเราต้องใช้มันเยอะมาก การจามหนึ่งครั้งเราต้องหยิบทิชชู่หนึ่งที เราไม่สามารถจามหลายครั้งกับทิชชู่แผ่นเดิมได้ สมมติว่าในหนึ่งห่อมีทั้งหมด 50 แผ่น แปลว่าเราจามได้อย่างมาก 100 ที บางทีหนึ่งวันก็หมดห่อแล้ว และเวลาเป็นภูมิแพ้เราจะจามบ่อยขึ้นมากๆ ทว่าในความจริงแล้ว มันไม่ได้มีแค่อาการจามเท่านั้น แต่มีทั้งน้ำมูก น้ำตา ทำให้หนึ่งเดือนเราต้องจ่ายไปกับค่าทิชชู่เยอะมาก

“หากถามว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้มันทำให้ชีวิตลำบากขึ้นไหม ก็คงไม่ แต่คำถามคือเราจำเป็นต้องจ่ายหรือไม่ ถ้าเราไม่เป็นภูมิแพ้หรือสภาพแวดล้อมมันดีกว่านี้ เราก็คงจะเอาเงินนี้ไปทำอย่างอื่น” พิมกล่าว

การรักษาด้วยวิธีวัคซีนภูมิแพ้’ คือทางออกของการรักษา?

นอกจากการกินยาแก้แพ้เพื่อป้องกันอาการแพ้แล้ว ยังมีอีกวิธีสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการรักษาหรือมีอาการแพ้อย่างหนักจนกลายเป็นโรคหืด นั่นคือ ‘การรักษาด้วยวิธีวัคซีนภูมิแพ้ (immunotherapy)’ ซึ่งนับเป็นการรักษาจากต้นเหตุของโรค โดยเป็นการให้สารก่อภูมิแพ้ (ที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้) แก่ผู้ป่วยซ้ำๆ ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ส่งผลให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันตอบสนองเพื่อลดอาการ ลดการใช้ยาในผู้ป่วยภูมิแพ้โพรงจมูกและโรคหืด

รูปแบบการรักษาด้วยวิธีวัคซีนภูมิแพ้ในปัจจุบัน มีทั้งหมดสองรูปแบบคือ วิธีการรักษาแบบฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และวิธีการรักษาแบบการอมใต้ลิ้น

รูปแบบแรกอย่าง ‘วิธีการรักษาแบบฉีดเข้าใต้ผิวหนัง’ คือการฉีดเข้าในผิวหนังทีละน้อยๆ ในระยะเวลา 5-6 เดือนแรก ผู้ป่วยจะต้องมาโรงพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนสัปดาห์ละครั้ง และค่อยๆ เพิ่มปริมาณความเข้มข้นของสารก่อภูมิแพ้ไปเรื่อยๆ หลังจาก 6 เดือนผู้ป่วยสามารถรับได้มากขึ้นโดยไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ ผู้ป่วยต้องกลับมาฉีดกระตุ้นทุกๆ 3-4 สัปดาห์ให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายสามารถคงอยู่ในระดับสูงได้ตลอดเวลา ระยะเวลาของการรักษารูปแบบดังกล่าวจะต้องใช้ระยะเวลานานถึงสองปี

ต่อมาคือ ‘วิธีการรักษาแบบการอมใต้ลิ้น’ เป็นวิธีการรักษาโดยให้ผู้ป่วยอมวัคซีนภูมิแพ้ที่ถูกทำให้เป็นเม็ดไว้ใต้ลิ้นทุกๆ วัน อย่างต่อเนื่องจนครบ 3 ปี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยสามารถรักษาได้ที่บ้านของตนเอง ส่งผลให้รูปแบบการรักษาดังกล่าวมีแนวโน้มที่ผู้ป่วยจะลืมอมวัคซีนมากกว่าการมาฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาล

ทั้งสองวิธีย่อมตามมาด้วยผลข้างเคียงในการรักษา เพราะหลักการของการรักษาดังกล่าวคือการนำสารก่อภูมิแพ้ที่เราแพ้เข้าไปในร่างกาย เพื่อให้ร่างกายเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ทำให้การรักษาอาจจะสร้างอาการแพ้ เช่น คันตา ผื่นขึ้น หรือแม้กระทั่งหายใจไม่ออก ซึ่งเมื่อเกิดอาการแพ้ขึ้นมาผู้ป่วยจะต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ไวที่สุด

ที่ผ่านมา ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในผู้ป่วยที่ตัดสินใจเข้ารับการรักษาด้วยวิธีวัคซีนภูมิแพ้รูปแบบการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และพบผลข้างเคียงอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้ต้องฉีดยาอะดรีนาลีนเพื่อป้องกันอาการแพ้ให้เร็วที่สุด จึงพอจะทราบว่าในแต่ละสัปดาห์ที่ต้องไปฉีดยา ผู้ป่วยหลายคนจะไม่สามารถนัดใครล่วงหน้าได้ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าร่างกายจะเกิดอาการแพ้หรือไม่ โดยปกติในการไปฉีดยาหนึ่งครั้งจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง แต่เมื่อไหร่ที่มีอาการแพ้ ผู้ป่วยจะต้องใช้เวลาในโรงพยาบาลถึง 4-8 ชั่วโมง

นอกจากเรื่องของผลข้างเคียงแล้ว ยังมีเรื่องค่าใช้จ่าย แม้จะคุ้มค่ากว่าการรับประทานยาในระยะยาว แต่ในช่วงการรักษารูปแบบการฉีดยา ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินค่ายาฉีดด้วยตนเอง ซึ่งราคาจะอยู่ระหว่าง 400-1000 ต่อเข็ม ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล ในช่วง 6 เดือนแรกจะต้องฉีดทุกสัปดาห์ และใช้ระยะเวลาในการรักษานานถึง 2 ปี

เมื่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยไม่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ มิหนำซ้ำอาจก่อโรคให้แก่หลายคนที่ไม่เคยเป็นภูมิแพ้มาก่อน แพทย์อย่างอรพรรณจึงให้ความเห็นว่าทางออกคือการร่วมกันแก้ไขมลพิษทางอากาศจากทุกฝ่าย ซึ่งหมายความว่าไม่ใช่เป็นแค่หน้าที่ของรัฐบาล แต่รวมทุกคนที่อาจมีส่วนร่วมในการกำเนิดมลพิษมาดูแลแก้ไข ลดมลพิษและฝุ่นไปด้วย

“หน้าที่ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเป็นเรื่องของคนทุกคน ด้านภาครัฐก็ต้องช่วยกำหนดนโยบาย เพราะปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากประเทศเหล่านั้นต้องกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ดังนั้นหากรัฐไม่มีมาตรการที่กำหนดมาตรฐานหรือข้อบังคับได้ ปัญหามลพิษทางอากาศก็จะไม่สามารถแก้ไขอย่างยั่งยืน” อรพรรณกล่าว

ถึงที่สุดแล้ว ปัญหาโรคภูมิแพ้จึงไม่ใช่เพียงปัญหาในเชิงปัจเจกบุคคล เพราะรากเหง้าของปัญหาเป็นเรื่องของส่วนรวมที่เราต้องร่วมกันแก้ไข ทั้งสิทธิในการอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือการเข้าถึงและรับรู้สิทธิรักษาพยาบาลในระบบสาธารณสุขก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม เพื่อใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นปกติสุข ต่อให้คุณจะเป็นโรคภูมิแพ้ก็ตาม

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save