fbpx
คุยกับ นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ เชื่อมเทคโนโลยีกับการแพทย์ ทำบ้านให้เป็นโรงพยาบาลด้วย Health at Home

เมื่อโรคอยู่ในลมหายใจคนไทย : เอกซเรย์ความคิด นพ.ทรงกลด เอี่ยมจตุรภัทร

ชลธร วงศ์รัศมี เรื่อง

 ธิติ มีแต้ม ภาพ

ไซนัสและภูมิแพ้เป็นโรคที่กำลังมาแรง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ พ่อแม่หลายคนกังวลใจที่จู่ๆ โรคเหล่านี้มีความชุกในเด็กเล็กเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ใหญ่ร่างกายแข็งแรง เมื่อได้ลองย้ายมาอยู่ในเขตการจราจรหนาแน่น มีการก่อสร้างขนาดใหญ่ผุดขึ้นใกล้บ้าน พ่วงด้วยการเดินทางที่ต้องสูดซับอากาศขมุกขมัวด้วยมลภาวะทุกวัน ร่างกายของหลายคนกลับพบว่าต้านทานไม่ไหว เริ่มฟ้องอาการของโรคทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว

 

“ถ้าเราดูภาพจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ คนปกติถ้าโพรงไซนัสไม่มีอะไรกีดขวางภาพต้องเป็นสีดำทั้งหมด อย่างเคสที่เห็นอยู่นี้ถือว่าเป็นขั้นรุนแรง สีดำไม่ค่อยมีแล้ว” รศ.นพ.ทรงกลด เอี่ยมจตุรภัทร อาจารย์ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ การผ่าตัดส่องกล้องโรคจมูกและไซนัส แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  ไล่นิ้วไปตามฟิล์มเอกซเรย์พลางอธิบาย

ในแต่ละเดือน มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจมากมายมาพบเขาอย่างเปี่ยมความหวังว่าจะได้รับการผ่าตัดอันประณีต หมอทรงกลดเล่าว่าคนไข้อายุน้อยที่สุดของเขาคือเด็กอายุ 4 ขวบ ซึ่งคบหาไซนัสเป็นเพื่อนสนิทมาตั้งแต่จำความได้

ไข้หวัด : เรื่องเล็กๆ ที่ไม่เล็ก

 

 

ในบรรดาโรคทางเดินหายใจต่างๆ ‘ไข้หวัด’ ดูเป็นโรคที่น่าห่วงน้อยที่สุด เพราะมีอาการเพียงแค่เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูก ครั่นเนื้อครั่นตัว แต่ทรงกลดอธิบายว่า ความจริงแล้วไข้หวัดนับเป็นจุดตั้งต้นของหลายๆ โรค

“การเจ็บป่วยในแต่ละวันของมนุษย์บนโลก ครึ่งหนึ่งคือโรคหวัด คนที่เป็นโรคไซนัสเฉียบพลันส่วนใหญ่ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ เกิดจากไข้หวัดก่อน  ถ้าเราเป็นไข้หวัดจะมีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ในผู้ใหญ่ประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ ในเด็กประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะโครงสร้างจมูกในเด็กและผู้ใหญ่ไม่เหมือนกัน”

ทรงกลดกล่าวว่าโรคไข้หวัดซึ่งเป็นโรคที่ใครๆ ก็ดูเบาว่าเป็นโรคจิ๊บจ๊อย อาจหายได้ยากขึ้นหรือส่งผลต่อโรคทางเดินหายใจได้มากกว่าที่คิด เพราะมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไข้หวัดอยู่ไม่น้อยที่กลายเป็นข้อจดจำในสังคม

“ประการแรก คนมักเข้าใจว่าเมื่อเป็นไข้หวัดแล้วต้องกินยาปฏิชีวนะ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่ายาแก้อักเสบ จริงๆ แล้วไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส แต่ยาปฏิชีวนะมีไว้สำหรับฆ่าแบคทีเรีย ไม่เกี่ยวกับไวรัสแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นการใช้ยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด ถือว่าเกินความจำเป็นครับ และจะทำให้เชื้อดื้อยา เกิดผลเสียต่อร่างกายได้

“ประการที่สอง คือความเข้าใจว่าไข้หวัดจะหายด้วยภูมิต้านทานของเรา หลายคนพูดว่าคุณเป็นไข้หวัดธรรมดา กินยาทำไม กินน้ำเยอะๆ นอนพักก็พอแล้ว จริงๆ เราใช้ยาบรรเทาได้ครับ ถ้าครั่นเนื้อครั่นตัวก็กินยาแก้ปวดลดไข้ได้ ถ้ามีอาการคัดจมูกก็กินยาลดการคัดจมูกได้ มีน้ำมูกกินยาลดน้ำมูกได้ เพียงแต่ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ

“ประการที่สาม คือความเข้าใจว่าถ้าเราเป็นไข้หวัด ต้องการลดน้ำมูก แล้วเราจะกินยาต้านฮิสตามินหรือยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ง่วงนอนได้ แต่ความจริงคือ ยาต้านฮิสตามินชนิดไม่ง่วงนอน ไม่มีฤทธิ์ลดการทำงานของต่อมสร้างน้ำมูก แต่มีไว้เพื่อรักษาโรคจากกลไกมูกใหญ่ๆ เช่น จมูกอักเสบ ภูมิแพ้ กล่าวโดยสรุปว่าถ้าเป็นไข้หวัด อยากลดน้ำมูก ต้องกินยาต้านฮิสตามีนชนิดง่วงนอน แต่ถ้าเป็นจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ ที่ไม่ใช่ไข้หวัด ให้กินยาต้านฮิสตามีนชนิดไม่ง่วงนอน”

 

 

เพราะอะไรการถูกขับของ ‘มูก’ อย่างถูกต้อง จึงเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจอย่างจริงจัง ทรงกลดกล่าวว่า มูกมีความสำคัญมากต่อระบบทางเดินหายใจ มูกมีทั้งที่เรามองเห็นและไม่เห็น มูกที่มองเห็นคือมูกที่เราสั่งออกมาทางจมูก ใช้กระดาษชำระเช็ดได้ แล้วเรียกว่า ‘น้ำมูก’ ส่วนมูกที่ไม่ได้ถูกขับออกมาทางจมูก คือสายพานลำเลียงเชื้อโรคออกจากระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งทำงานตลอดเวลาในขณะที่มนุษย์หายใจเอาสารพัดสิ่งเข้าไป

“ถ้ากลไกร่างกายเราปกติดี มูกจะออกมาอยู่แล้วเป็นธรรมชาติ จากนั้นขนเล็กๆ ที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่าที่อยู่ตามเยื่อบุของไซนัส จะขับมูกเหล่านั้นออกมา ผ่านช่องเปิดของไซนัสออกมาทางจมูก ในจมูกก็ขับต่อลงคอ แล้วกลืนลงไป โดยที่เราไม่รู้ตัวว่าวันหนึ่งร่างกายเราขับมูกออกมาเป็นลิตรๆ  แล้วค่อยๆ พัดออกไป”

 

ไซนัสกับความลึกลับในโพรงอากาศ

 

โพรงอากาศที่อากาศไหลเวียนได้ตามปกติ เมื่อมองผ่านฟิล์มเอกซเรย์จะมีสีดำทึบ แต่โพรงอากาศในผู้ป่วยไซนัสจะมีสีเทา

 

นอกจาก ‘ไข้หวัด’ ที่เป็นโรคทางเดินหายใจยอดฮิต ยังมีอีกโรคหนึ่งที่ฮิตไม่แพ้กันคือ ‘ไซนัส’

หมอทรงกลดอธิบายว่า โรคทางเดินหายใจส่วนบน สามารถแบ่งได้สองประเภทใหญ่ๆ หนึ่งคือไข้หวัด สองคือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และจากไซนัส

‘ไซนัส’ คือชื่อโรคที่นำมาจากชื่อของส่วนหนึ่งในร่างกายที่เรียกว่า ‘โพรงอากาศ’ ซึ่งโพรงนี้กระจายอยู่ในทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ข้างจมูก กระโหลกศีรษะบริเวณใกล้ฐานสมอง ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในโพรงอากาศนี้ ส่งผลให้คนที่เป็นไซนัสมีอาการปวดร้าวตามใบหน้า (facial pain) หรือมีอาการปวดหัวจนแทบรับมือไม่ได้

“อาการปวดร้าวตามใบหน้า เกิดจาก หนึ่ง มีมูกคั่งในไซนัสแล้วทำให้ปวด แล้วจะเป่ง สอง อาจเกิดจากความผิดปกติในร่างกายที่ช่องเปิดของไซนัสแคบ แล้วความดันอากาศของไซนัสลดลง พอลดปุ๊บเกิดเป็นความดันอากาศต่ำ ที่ทำให้มีอาการปวดได้ เป็นความกดอากาศที่ไม่ดี (negative pressure) ลองสังเกตเวลาเราขึ้นเครื่องบิน บางทีเราจะปวดแบบนี้ อาการปวดร้าวตามใบหน้า จะกระตุ้นไปที่อาการปวดหัวได้ และไซนัสบางจุดอยู่ติดกับฐานสมอง พออยู่ติดกันก็ทำให้ปวดหัวได้”

โรคไซนัสสามารถแยกออกเป็นสองกลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกเป็นแบบเฉียบพลัน มีอาการน้อยกว่า 3 เดือน อีกกลุ่มเป็นแบบเรื้อรัง มีอาการมากกว่า 3 เดือน

ในกรณีของไซนัสเฉียบพลันทรงกลดชี้ว่ามักเกิดจากการมีพฤติกรรมเสี่ยงก่อน แล้วไม่หาย เช่น การเป็นไข้หวัดแล้วมีเชื้อแทรกซ้อนเข้ามา

“ปัจจัยไหนบ้างที่จะทำให้ไม่หาย หนึ่งคือสภาพร่างกาย ถ้าหากร่างกายเราโอเค ฟิตดีทุกอย่าง เราเป็นแล้วอาจจะหาย แต่ถ้าคนไม่ฟิต อ่อนแอ ไม่ได้พักผ่อน โอกาสเป็นจะมากกว่า  สอง อาจเป็นลักษณะของเชื้อไวรัสเอง ที่บางตัวอาจมีความรุนแรงถึงขั้นไปทำลายเซลล์ของเยื่อบุไซนัสได้ ทำให้การขับมูกไม่ดี พอขับมูกไม่ดีอาจทำให้มูกค้าง  สาม คือมลพิษ ถ้าเรามีการอักเสบจากเชื้อหวัดอยู่ แล้วได้รับมลพิษ เท่ากับอักเสบซ้ำซ้อน มลพิษจะเสริมให้อาการรุนแรงขึ้น โอกาสที่จะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนจะเพิ่มมากขึ้น มลพิษเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เป็นไซนัสได้ เพราะทำให้เซลล์บวม หรือจนถึงขั้นที่ทำให้เซลล์ป้องกันผิดปกติ หรืออาจทำให้เซลล์เยื่อบุผิวที่มีขนเล็กๆ เสียไปแล้วพัดโบกมูกได้ไม่ดี

 

 

สำหรับปัจจัยจากมลพิษ ทรงกลดยกตัวอย่างผลการศึกษาที่ชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างฝุ่น PM 2.5 และไซนัสที่น่าสนใจว่า “จากผลการศึกษาในอเมริกา เมืองพิสต์เบิร์ก ปี 2017 พบว่าคนที่เป็นโรคไซนัสอักเสบ แล้วสูด PM 2.5 ความรุนแรงของโรคไซนัสจะเยอะกว่าคนที่ไม่ได้สูด และถ้ารับการรักษาแล้ว คนกลุ่มที่สูด PM 2.5 เยอะ มีโอกาสที่จะต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดมากกว่ากลุ่มที่สูด PM 2.5 น้อย ก็คือใช้ยารักษาไม่หายนั่นเองครับ”

สำหรับกลุ่มที่เป็นไซนัสแบบเรื้อรัง ทรงกลดกล่าวว่ามีหลายสาเหตุด้วยกัน แต่โดยหลักแล้วมักจะเกิดจากโครงสร้างของกระดูกในทางเดินหายใจที่ผิดปกติ ทำให้ช่องทางการขับมูกตีบแคบ

“บางคนเกิดจากมีเซลล์อักเสบในเยื่อบุจมูกกับไซนัสเยอะกว่าปกติ บางคนเกิดจากมีโครงสร้างในไซนัสที่ผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้ช่องเปิดของไซนัสตัน พอมันตัน มูกข้างในออกไม่ได้ จึงเกิดการอักเสบและติดเชื้อตามมา อีกสาเหตุคืออาจมีสิ่งแปลกปลอมเช่นเชื้อรา เข้าไปอยู่ในไซนัส ซึ่งอาการจากสิ่งแปลกปลอมยังแบ่งได้เป็นอีกสองประเภท คือสิ่งแปลกปลอมนั้นทำให้จมูกอักเสบ แล้วมีอาการเหมือนโรคภูมิแพ้ธรรมดา คือคัดจมูก จาม กับอีกอาการหนึ่งคือ แพ้แล้วเป็นไซนัสอักเสบ น้ำมูกจะเหนียวข้น ปวดศีรษะ ปวดร้าวตามใบหน้า และอาจได้กลิ่นผิดปกติ”

นอกจากนี้ทรงกลดยังเสริมว่าโรคภูมิแพ้ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เป็นโรคไซนัสได้ด้วย “ภูมิแพ้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เยื่อบุจมูกบวม เวลาเราเป็นไซนัส ส่วนใหญ่มักเกิดจากช่องเปิดของไซนัสตีบแคบ มูกที่อยู่ในไซนัสถูกขับออกมาลำบาก เราต้องไปดูว่าปัจจัยไหนทำให้ช่องเปิดตีบแคบ อาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง”

 

ภูมิแพ้กรุงเทพฯ มีอยู่จริง

 

 

“คนไทยมีแนวโน้มจะเป็นโรคแพ้อากาศ เป็นโรคปอดอักเสบ จมูกอักเสบ จากภูมิแพ้มากขึ้น ประชากรไทยเป็นโรคภูมิแพ้ราว 30 เปอร์เซ็นต์ เราเดินไปตามท้องถนนเจอคนสิบคน เป็นโรคภูมิแพ้สามคนแล้ว เพียงแต่ในสามคนนี้อาจไม่ได้มีอาการเยอะถึงขั้นที่ต้องรักษาทุกคน” ทรงกลดเอ่ยถึงภาพรวมของโรคทางเดินหายใจ และเสริมว่าคนกรุงเทพฯ ป่วยด้วยโรคนี้คิดเป็นสัดส่วนแล้วมากกว่าคนในต่างจังหวัด

“สาเหตุของโรคเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัยด้วยกันคือ  หนึ่ง พันธุกรรม  สอง สภาพร่างกาย ถ้าร่างกายแข็งแรง แม้เราจะมีพันธุกรรม แต่อาการของเราอาจน้อยลงได้  สาม สารก่อภูมิแพ้  สี่ สิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศ แต่ปัจจัยที่ผมคิดว่าจะทำให้คนเป็นกันมากขึ้น คือปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นหรือเป็นตัวเสริมทำให้อาการที่เราเป็นมากขึ้น เช่น ทำให้จมูกเราไวมากขึ้น พอเราไปเจอสารก่อภูมิแพ้เล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้เรามีอาการ หรือในคนที่เป็นโรคทางเดินหายใจอยู่แล้ว บางครั้งไม่ต้องมีสารก่อภูมิแพ้เลย การเปลี่ยนแปลงของมลภาวะที่เป็นพิษทั้งหลายก็ทำให้มีอาการได้”

แม้ว่าจะมีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจไม่น้อย ตั้งข้อสังเกตเช่นเดียวกับทรงกลดว่า มลพิษเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักรุนให้พวกเขาต้องมาโรงพยาบาล ทว่าในทางการแพทย์ โรคทางเดินหายใจกลับเป็นโรคที่ยากจะชี้ชัดว่ามีสาเหตุมาจากการรับมลพิษ

เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

“ถ้าป่วยจากสารก่อภูมิแพ้ เราจะสามารถทดสอบทางผิวหนังหรือเจาะเลือดไปตรวจดูได้ว่าเราแพ้เพราะอะไร แพ้มากน้อยแค่ไหน แต่พอเป็นปัจจัยที่เกิดจากมลพิษ เราไม่มีตัวชี้วัดทางการแพทย์ที่เป็นรูปธรรม ยกเว้นคนไข้จะต้องสังเกตตัวเอง เช่น ไปต่างจังหวัดแล้วอาการดีขึ้น หรือไปต่างประเทศ เผื่อยาไปเยอะแต่ปรากฏว่ายาที่เตรียมไปไม่ต้องใช้เลย การป่วยจากมลพิษไม่มีตัวชี้วัดทางการแพทย์ที่ชัดเจน ส่วนใหญ่จะออกมาในลักษณะที่คนไข้สังเกตตัวเองและรู้ตัวเอง

“โรคทางเดินหายใจส่วนบนส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่มีหลายปัจจัยร่วมกัน (multi factorial) ทั้งการได้รับเชื้อไวรัสที่รุนแรง โครงสร้างจมูกของแต่ละคน รวมทั้งมลพิษ โครงสร้างบางอย่างในจมูก เมื่อร่วมกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมก็อาจทำให้มีอาการขึ้นมา ในกรณีที่เกิดจากปัจจัยของเชื้อ บางครั้งเราก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ปัจจัยที่เราป้องกันและแก้ไขได้คือเรื่องมลพิษกับปัจจัยเรื่องสภาพร่างกาย

“ในส่วนของสภาพร่างกาย เราสามารถป้องกันในส่วนที่ทำได้ ดูแลตัวเองให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ทำตัวเป็นคนดี หมายความว่าทานอาหารที่ครบถ้วน เหมาะสม พอดีๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำใจให้สบาย โรคก็จะลดน้อยลง สองคือเลี่ยงมลพิษ เท่าที่ทำได้ ”

เมื่อพูดถึงเรื่องมลพิษ ทรงกลดชี้ว่ามีทางหนึ่งซึ่งบุคลากรทางการแพทย์สามารถช่วยวัดได้ คือการทำ ‘การระบาดวิทยาทางคลินิก’ หมายถึงการทำสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างอาการเจ็บป่วยและปัจจัยการเกิดโรคนั้นๆ ดังที่เขายกตัวอย่างในกรณีของโรคทางเดินทางหายใจว่า

“มีทางหนึ่งที่ทางการแพทย์ช่วยวัดได้ คือการทำ ‘ระบาดวิทยาทางคลินิก’ โดยทำสำรวจในระดับใหญ่มากๆ (mass) เช่น สำรวจอาการของคนที่เป็นโรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจส่วนบน ทั้งในถิ่นที่มีมลพิษเยอะและไม่เยอะ แล้วเราอาจนำมลพิษที่อยู่ในดัชนีวัดคุณภาพอากาศของเรา รวมทั้งมลพิษที่อยู่ในข้อถกเถียงว่าควรถูกนับรวมในดัชนีวัดคุณภาพอากาศหรือไม่ เช่น PM 2.5 มาเทียบเคียงกับอาการที่คนไข้เป็นแต่ละช่วง แล้วดูว่ามีความสัมพันธ์กันมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนไปนำเสนอ ให้เห็นค่าใช้จ่ายที่สังคมต้องเสียไปกับการเป็นโรคเหล่านี้ ซึ่งหากมีการทำสำรวจจนได้ตัวเลขในระดับหนึ่ง ก็น่าจะทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญมากขึ้น”

อย่างไรก็ดี หมอทรงกลดชี้ว่าการทำ ‘ระบาดวิทยาทางคลินิก’ นั้น ต้องใช้ระยะเวลาทำหลายปี กว่าจะมีข้อมูลที่หนักแน่นพอ เพื่อให้รัฐนำไปประกอบการออกนโยบายสำหรับแก้ไขปัญหามลภาวะได้ เช่น เพิ่มการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศให้มากขึ้น ยกระดับมาตรฐานดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศให้สูงขึ้น อุดหนุนงบประมาณด้านเวชศาสตร์เชิงป้องกันสำหรับปัญหามลพิษ หนุนเสริมขนส่งสาธารณะเพื่อจำกัดปริมาณรถยนต์ ไปจนถึงการจำกัดปริมาณมลพิษจากแหล่งปลดปล่อยที่สำคัญแหล่งอื่นๆ

วันเริ่มต้นมีอากาศสะอาดให้หายใจ ?

 

 

เมื่อมลพิษยังไม่หายไปไหน ในขณะที่เรายังต้องใช้ชีวิตและหายใจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คำถามสำคัญคือเราควรเริ่มต้นแก้ปัญหานี้อย่างไร และจะมีวันที่เราสามารถสูดหายใจได้อย่างเต็มปอดจริงๆ หรือไม่ ทรงกลดทิ้งท้ายไว้ให้ขบคิดว่า

“ด้วยความที่เราอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา เพราะฉะนั้นนโยบายส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นที่ปัจจัยพื้นฐาน ที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์โดยตรงกับปัจจัย 4 มากกว่า ซึ่งผมเข้าใจว่า ปัจจัยของโรคที่ว่ามาเหล่านี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับมลพิษ อาจเป็นปัจจัยที่ 5-7 หมายความว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย อาจยังไม่ตระหนักถึงจุดนี้มากพอ

“เวลามีปัญหาหนึ่งครั้ง เราก็ลงไปดูหนึ่งครั้ง แล้วพอปัญหานั้นลดลง เรามักจะเงียบๆ ไป เว้นแต่ว่าปัญหานั้นลุกลามใหญ่ขึ้น จนไม่ไหวจริงๆ เราถึงจะหาวิธีแก้ไขกันอย่างจริงจัง ส่วนเรื่องที่ทำเฉพาะหน้า อย่างการฉีดละอองน้ำเพื่อกันฝุ่น มันช่วยได้นิดเดียวเท่านั้น และช่วยได้แค่ชั่วคราว ล้างถนนก็เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ไม่ใช่ทำแค่นั้นแล้วพอ

 

“สุดท้ายแล้วปัญหามลพิษก็จะเกิดขึ้นในอนาคตอยู่ดี ปีนี้หายไป แต่ปีหน้า ปีถัดไป มันก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงการแก้ปัญหา อยากให้มองเชิงรุกมากกว่ารับครับ คนที่รับหน้าที่ตรงนี้อาจต้องเริ่มมาคิดอย่างจริงจังแล้ว ซึ่งพอคิดปุ๊บ ก็ต้องเข้าใจด้วยว่ามันคงไม่สามารถแก้ได้ทันที ไม่ว่าจะเริ่มต้นแก้ไขปัญหานี้ด้วยวิธีไหน กว่าจะสำเร็จจริงๆ ผมคิดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-6 ปี เพื่อรอให้หลายฝ่ายได้ตั้งตัว”

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save