fbpx

มองความเหลื่อมล้ำผ่านข้อมูลฝุ่น: เมื่อปัญหา PM2.5 ในกรุงเทพฯ เสียงดังกว่าต่างจังหวัด

เมื่อลมหนาวพัดเข้าสู่ประเทศไทย เหมือนเป็นธรรมเนียมที่ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) จะกลับมาปกคลุมท้องฟ้าทั่วทุกภูมิภาคจนกระทบกับสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้คน เกิดเป็นเสียงเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจังทุกปี

แต่เมื่อสถานการณ์ดูจะคลี่คลายลง โดยเฉพาะเมื่อปริมาณฝุ่นในกรุงเทพฯ เบาบางลงไป ความสนใจของสังคมต่อประเด็นการแก้ปัญหาฝุ่นก็เหมือนจะค่อยๆ ซาลงเช่นกัน ก่อนจะวนมาพูดถึงอีกครั้งเมื่อละอองฝุ่นกลับมาในปีถัดไป

ในความเป็นจริง ฝุ่นพิษขนาดจิ๋วนี้อยู่กับเราเกือบตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือที่สถานการณ์สาหัสกว่าพื้นที่อื่นอย่างชัดเจน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2023 จังหวัดเชียงใหม่ไต่ขึ้นไปอยู่ในอันดับ 5 ของเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก พร้อมกับค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของจังหวัดลำปางและพะเยาที่พุ่งสูงถึง 200 อยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก เช่นเดียวกับหลายจังหวัดในภาคอีสาน อย่างอุบลราชธานี มุกดาหาร และนครพนมที่ค่า AQI อยู่ในช่วง 100-150 ซึ่งกระทบต่อสุขภาพของเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนว่า แม้วันนี้คนกรุงเทพฯ จะหายใจได้สะดวกขึ้น แต่ประชาชนในอีกหลายจังหวัดของประเทศยังคงเผชิญอันตรายจากมลพิษทางอากาศที่อยู่ในขั้นสาหัสและได้รับการเหลียวแลจากรัฐและสังคมน้อยกว่า

101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ลองคลี่ข้อมูลคุณภาพอากาศรายวันตลอด 1 ปีในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ในภูมิภาคอย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และสระบุรี จากฐานข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษและรวบรวมโดย World Air Quality Project พบว่า แม้ช่วงพีกของฝุ่น PM2.5 ในเกือบทุกจังหวัดจะกินเวลาประมาณ 2 เดือนในช่วงธันวาคม-กุมภาพันธ์ แต่คุณภาพอากาศในช่วงเวลาที่เหลือก็ยังไม่ถือว่าเป็น ‘อากาศสะอาด’ ทั้งตามมาตรฐานของประเทศไทยและองค์การอนามัยโลก (WHO)[1]

ใน 1 ปีคนไทยได้สูดอากาศสะอาดไม่ถึง 100 วัน สระบุรีมีวันอากาศดีแค่ 5 วัน

หากใช้เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศจากข้อเสนอของกรีนพีซ ประเทศไทย ซึ่งกำหนดให้วันที่มีคุณภาพอากาศดี หมายถึง วันที่มีค่า AQI ไม่เกิน 50 หรือปริมาณ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 37 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในปี 2022 ทั้ง 5 จังหวัดข้างต้นจะมีสัดส่วนวันอากาศดีตลอด 1 ปี ไม่ถึง 30% หรือเฉลี่ยไม่เกิน 100 วัน ส่วนจังหวัดสระบุรีสถานการณ์ย่ำแย่ที่สุด คือมีวันที่คุณภาพอากาศดีเพียง 5 วัน (1.4%) เท่านั้นจาก 365 วัน

ในขณะที่คุณภาพอากาศส่วนใหญ่ใน 1 ปี ของ 5 จังหวัดนี้อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง (ค่า AQI 51-100 ปริมาณ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 38-50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ซึ่งเป็นระดับที่กรมอนามัยแนะนำให้ผู้เป็นโรคภูมิแพ้หรือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง

หมายเหตุ: 1) ใช้ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ซึ่งคำนวณจากปริมาณฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง จากฐานข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ 2) มาตรฐานคุณภาพอากาศอ้างอิงจากข้อเสนอของกรีนพีซประเทศไทย

หากดูแนวโน้มคุณภาพอากาศย้อนหลัง 5 ปี พบว่าจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา มีสัดส่วนวันอากาศดีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวยังนับว่าค่อนข้างน้อยมาก โดยเฉพาะขอนแก่นที่เพิ่มขึ้นเป็น 11.2% ในปี 2022 ส่วนกรุงเทพฯ และสระบุรีมีสัดส่วนวันอากาศดีน้อยลงในปีที่ผ่านมา 

ต่างจังหวัดมีเครื่องตรวจวัด PM2.5 น้อย หลายจังหวัดข้อมูลตกหล่น

นอกจากค่าดัชนีคุณภาพอากาศและความเข้มข้นของปริมาณ PM2.5 ข้อมูลอีกด้านที่สำคัญคือ จำนวนเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ แม้รัฐบาลจะมีนโยบายเพิ่มจำนวนสถานีตรวจวัดทุกปี แต่ก็ยังนับว่าค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับความเร่งด่วนของปัญหาและส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ 

ข้อมูลจากรายงาน Different Air Under One Sky: The Inequity Of Air Pollution โดยกรีนพีซ ประเทศอินเดีย ระบุว่า จากเครื่องตรวจวัดของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด 138 เครื่องทั่วประเทศไทย มากกว่า 50 เครื่องอยู่ในกรุงเทพฯ จำนวนเครื่องตรวจวัดที่กระจายตัวมากพอทำให้คนกรุงเทพฯ กว่า 95% สามารถเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศได้ในรัศมี 5 กิโลเมตร ยิ่งระยะห่างของเครื่องตรวจวัดกับประชาชนใกล้กันเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้รับข้อมูลคุณภาพอากาศที่แม่นยำมากขึ้น และสามารถเตรียมตัวป้องกันผลกระทบทางสุขภาพได้ทันท่วงที

ในขณะที่หลายจังหวัดยังไม่มีเครื่องตรวจวัดหรือเครื่องตั้งอยู่ไกลจากที่อยู่อาศัยของประชาชน เช่น จังหวัดสระบุรี ลำปาง และสตูล เครื่องตรวจวัดส่วนใหญ่อยู่ในรัศมี 10-15 กิโลเมตรจากบ้าน จังหวัดขอนแก่นส่วนใหญ่อยู่ในรัศมีมากกว่า 25 กิโลเมตร ในจังหวัดเหล่านี้มีประชาชนไม่ถึง 18% เท่านั้นที่บ้านอยู่ใกล้กับเครื่องตรวจวัดในรัศมี 5 กิโลเมตร

เครื่องตรวจวัดที่ตั้งอยู่ไกลจากที่อยู่อาศัย ทำให้ประสิทธิภาพของการใช้ข้อมูลคุณภาพอากาศลดลงไปด้วย ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลการเตือนภัยสุขภาพที่ถูกต้อง ส่วนหน่วยงานภาครัฐก็วิเคราะห์สาเหตุของฝุ่นในพื้นที่ต่างๆ ได้ยากขึ้น และอาจทำให้การกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นไม่ตรงจุดมากพอ

ยิ่งกว่านั้น ในจังหวัดที่มีการกระจายตัวของเครื่องตรวจวัดน้อยยังพบปัญหาข้อมูลคุณภาพอากาศรายวันตกหล่นเป็นจำนวนมาก เช่น ข้อมูลจังหวัดเชียงรายในปี 2019 หายไป 242 วัน และข้อมูลจังหวัดอุดรธานีในปี 2018 หายไป 245 วัน

อากาศสะอาดคือสิทธิพื้นฐานที่รัฐต้องประกันให้ประชาชนทุกคน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาฝุ่นเป็นประเด็นที่สลับซับซ้อนและเชื่อมโยงกับหลายเรื่อง การแก้ปัญหาจึงไม่จบที่นโยบายเดียว แต่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนนโยบายหลายส่วนไปพร้อมกัน ทั้งการควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดฝุ่นที่สำคัญอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะ และการก่อสร้าง ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน เพิ่มพื้นที่สีเขียว ตลอดจนการเจรจาเพื่อสร้างความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการจัดการปัญหาฝุ่นโดยรัฐบาลไทยเป็นเพียงการแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก เพื่อเอาตัวรอดให้พอผ่านวิกฤตเฉพาะหน้าไปได้เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการฉีดน้ำขึ้นไปในอากาศ ทำฝนเทียมลดฝุ่น บังคับไม่ให้จุดไฟเผาไร่ข้าวโพดและไร่อ้อยในพื้นที่ต่างๆ รณรงค์ให้ประชาชนงดจุดธูป หรือตรวจจับควันดำรถยนต์ ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่การแก้ที่ต้นเหตุและแทบไม่ช่วยให้ฝุ่นลดลงแม้แต่น้อย

อีกทั้งเมื่อภาคประชาชนเสนอร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ เพื่อสร้างกลไกการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศให้ชัดเจนในทางกฎหมายและเป็นการรับรองสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาดของประชาชน นายกรัฐมนตรีก็กลับปัดตกร่างกฎหมายด้วยเหตุผลว่าเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน[2] ทำให้การแก้ปัญหาฝุ่นของประเทศไทยยังคงไร้ทิศทางและไม่ทันการต่อความรุนแรงของปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญ

การได้ใช้ชีวิตท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับ รัฐมีหน้าที่ต้องรับรอง และทำให้เกิดขึ้นจริง ไม่ควรเป็นเพียงอภิสิทธิ์ของคนบางกลุ่มในสังคมที่โชคดีเกิดในพื้นที่ที่อากาศดีกว่า หรือมีเงินมากพอที่จะซื้อเครื่องกรองอากาศ ด้วยเหตุนี้ การผ่านร่างกฎหมายเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจึงเป็นปราการด่านแรกที่รัฐบาลต้องผลักดัน พร้อมกับดำเนินนโยบายรูปธรรมเพื่อทำให้อากาศสะอาดเป็นของประชาชนทุกคน

References
1 ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของ PM2.5 ให้ค่าเฉลี่ยรายปีต้องไม่เกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่วนข้อแนะนำของ WHO ล่าสุดในปี 2021 ระบุว่าค่าเฉลี่ยรายปีไม่ควรเกิน 5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่ควรเกิน 15 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
2 พิชชากร เรืองเดชาวิวัฒน์, “วิบากกรรมของร่างกฎหมายโดยประชาชน ในสภายุคประยุทธ์ 2,” https://www.the101.world/hardship-people-proposed-law/.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save