fbpx

เรื่องเล่า ‘คนตาย’ แกล้ง ‘คนเป็น’ ในสังคมญี่ปุ่น

เป็นที่เข้าใจกันดีว่าสังคมที่มีประชากรผู้สูงวัย(高齢化社会)มาก ย่อมเป็นภาระของรัฐบาลและประชากรวัยทำงาน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุข เห็นได้ชัดเจนในประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น แต่ขณะนี้สังคมญี่ปุ่นกำลังตื่นตัวกับอีกปัญหาหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับผู้สูงวัยคือการเป็น ‘สังคมที่มีผู้เสียชีวิตมาก’(多死社会)จากสังคมผู้สูงวัย ขาดแคลนประชากรวัยเด็กที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน  พัฒนาไปสู่สังคมที่เต็มไปด้วยประชากรผู้ร่วงโรยเหี่ยวเฉาปลิดปลิวไปตามกาลเวลา

ปัจจุบันปี 2023 ญี่ปุ่นมีประชากรราว 124 ล้านคน มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จนถึงปี 2100 หรือประมาณอีก 70 กว่าปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าอาจจะมีประชากรในช่วงมากที่สุดราว 64 ล้านคน และน้อยที่สุดราว 37 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนพอๆ กับจำนวนประชากรย้อนกลับไปหนึ่งร้อยกว่าปีจากปัจจุบัน ในช่วงครึ่งหลังของสมัยเมจิ (1868-1912) มีประชากรราว 33 ล้านคน และเมื่อถึงตอนนั้นจะมีผู้สูงวัยถึง 40% ของประชากรทั้งหมด            

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขและแรงงาน เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรตลอดปี 2022 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 1.56 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 8.9% นับเป็นจำนวนมากที่สุดตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติผู้เสียชีวิตมาตั้งแต่ปี 1899 และคาดว่าจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นติดต่อกันไปเช่นนี้จนถึงในปี 2040 หรืออีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้านี้ จะมีผู้เสียชีวิตปีละราว 1.67 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนพุ่งสูงสุดแล้วหลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ลดลง จนถึงปี 2070 คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตราว 1.5 ล้านคน 

สาเหตุของการเสียชีวิต 3-4 ปีที่ผ่านมามีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สาเหตุของการเสียชีวิตที่มากที่สุดคือ ‘มะเร็ง’ จำนวน 3.8 แสนคน คิดเป็น 24% โรคเกี่ยวกับหัวใจ จำนวน 2.3 แสนคน 14% แก่ชรา 1.8 แสนคน 11% และอันดับสุดท้ายคือติดโควิด-19 เสียชีวิต 4.7 หมื่นคน

สถานการณ์จากนี้เป็นต้นไป ผู้เสียชีวิตมีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน จึงมีปัญหาเกี่ยวกับ ‘การเผาศพ’(火葬)ให้ทันเวลา ครอบครัวของผู้เสียชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนในเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น กำลังประสบปัญหาต้องรอคิวเพื่อเผาศพญาติของตัวเองนานวันขึ้น ขณะนี้มีข่าวว่ามีผู้รอคิวนานถึง 12 วัน เป็นปัญหาที่น่าตกใจทีเดียว

การจัดการเผาศพตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวญี่ปุ่น จำเป็นต้องใช้เวลารอนานกว่าที่ผ่านๆ มา และแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายก็เพิ่มมากขึ้นตามเวลาที่รอด้วย มีกรณีหญิงวัย 40 ปีในจังหวัดคานากาวา ใกล้กรุงโตเกียว จัดการงานศพให้คุณยายวัย 94 ปี แทนพ่อแม่ที่อยู่ในวัยชรา เธอจัดการพิธีศพแบบย่นย่อที่สุดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว แต่เมื่อถึงขั้นตอนเผาศพ กลับต้องรอคิวอีก 11 วัน ในระหว่างที่รอ จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเก็บรักษาศพในห้องเย็น วันละ 13,000 เยน รวมทั้งสิ้น 150,000 เยน   แต่หากจะไปใช้บริการให้เร็วขึ้นในจังหวัดใกล้เคียงห่างออกไปก็ต้องจ่ายค่าเคลื่อนย้ายศพอีก เธอบอกว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นภาระหนักสำหรับพ่อแม่ของเธอที่มีเพียงเงินบำนาญเลี้ยงชีพ เป็นครั้งแรกที่เธอตระหนักว่าการจัดการเผาศพต้องรอนาน  และมีค่าใช้จ่ายส่วนเกินเพิ่มขึ้นอีก

ตัวอย่างทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นในเมืองใหญ่มีประชากรหนาแน่นอย่าง โยโกฮามา มีสถานฌาปนกิจที่บริหารโดยท้องถิ่น 4 แห่งปีที่ผ่านมา ฌาปนกิจจำนวน 34,000 ราย เฉลี่ยต้องใช้เวลารอแต่ละรายประมาณ 5-6 วัน เป็นเหตุให้ต้องละทิ้งความเชื่อเรื่องวันธงชัย วันอธิบดี วันอุบาทว์ ตัวอย่างเช่น ‘วันเรียกมิตร’(友引)ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นวันเหมาะแก่การอันเป็นมงคล เช่น งานแต่งงาน การเข้าอยู่บ้านใหม่ การออกรถใหม่ เป็นต้น ห้ามทำพิธีศพในวันนี้ เพราะเชื่อว่าผู้เสียชีวิตจะเรียกคนที่ยังอยู่ตามไปพร้อมกันด้วย แต่ขณะนี้ถ้าได้คิวเผาศพเป็นวันดังกล่าว ก็มีญาติหลายรายจำต้องยอมรับกันบ้างแล้ว 

บริษัท ทัตสึมิโคเงียว(たつみ工業)ซึ่งมีโรงงานผู้ผลิตตู้เย็นขนาดใหญ่แบบเดียวกับตู้เย็นในร้านสะดวกซื้อ ปีที่แล้วมียอดสั่งผลิตเพิ่มมากขึ้นถึง 5 เท่าและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก มีคำสั่งผลิตตู้เย็นโดยปรับรูปแบบเพื่อเก็บรักษาศพ เห็นได้ชัดว่าธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการศพได้ปรับตัวรับสถานการณ์กันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทจัดการศพในโตเกียวและปริมณฑล  นอกจากนี้ ยังมีองค์กรส่วนท้องถิ่นใกล้เคียงกับเมืองใหญ่ๆ เริ่มปรับปรุงสถานฌาปนกิจที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นรองรับความต้องการ หรือวางแผนก่อสร้างแห่งใหม่ แต่การหาพื้นที่ก่อสร้างก็จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ ซึ่งมีองค์กรส่วนท้องถิ่นหลายแห่งต้องติดขัดเพราะเหตุนี้

ผู้เสียชีวิตจากไปแล้วไปลับ… ไม่ได้ล่วงรู้เลยว่าผู้ที่ยังอยู่ ลูกหลานหรือญาติมีภาระ และถือเป็นหน้าที่ที่ต้องจัดการงานศพให้อย่างเรียบร้อย โดยต้องประสบปัญหาใหม่ๆ อะไรบ้างดังที่กล่าวมา ไม่แต่เพียงเท่านี้ ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งที่ผู้เสียชีวิตทิ้งภาระไว้ให้ ไม่เฉพาะเพียงญาติ แต่เป็นชุมชนโดยรวมด้วย

ปัจจุบัน แทบจะทุกพื้นที่ทั่วประเทศญี่ปุ่นมีห้องพักในอาคารที่กลายเป็น ‘ห้องร้าง’ ไม่ใช่มีเฉพาะ ‘บ้านร้าง’ เท่านั้นที่สร้างปัญหา สภาพสังคมและวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ห้องร้างถูกทิ้งไว้เมื่อผู้อาศัยเดิมเสียชีวิต จะเป็นด้วยวัยชราหรือเจ็บป่วยก็ตาม ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันทุกอย่างถูกทิ้งไว้อยู่ในสภาพเดิม เพียงแต่ไร้ตัวผู้อาศัย และไม่ปรากฏลูกหลานหรือญาติมาจัดการกับสิ่งของเหล่านั้น ที่สำคัญคือค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นเวลานาน สร้างปัญหาเมื่อจำเป็นต้องใช้เงินปรับปรุงอาคารด้วย

นอกจากอาคารของเอกชน ยังมีอาคารที่บริหารจัดการโดยท้องถิ่นจำนวนมากประสบปัญหานี้ ผู้จัดการอาคารไม่สามารถถือสิทธิ์เข้าไปเคลียร์ห้องให้ว่างได้ แม้มีผู้รอคิวอยากเข้าพักอาศัยอยู่อีกจำนวนมาก กฎหมายกำหนดให้ ‘ทายาทผู้รับมรดก’(相続人)เป็นผู้มีสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้เสียชีวิต ผู้เกี่ยวข้องเป็นทายาทตามกฎหมายญี่ปุ่นมีหลายชั้นซับซ้อนกว่าของไทย ส่วนใหญ่จึงมิใช่มีทายาทเพียงไม่กี่คน บางกรณีทายาทหลายคนไม่เคยรู้จักกันเลย นอกจากนี้การตามหาทายาทหลายคนมาลงความเห็นและยินยอมร่วมกันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มิหนำซ้ำยังกินเวลานานด้วย

การเป็น ‘ผู้รับมรดก’ ตามกฎหมายแพ่งของญี่ปุ่นกำหนดเกี่ยวกับ ‘การรับมรดก’ ไว้ 3 แบบคือ ‘การสละสิทธิ์เป็นผู้รับมรดก’(相続放棄)กรณีนี้ ผู้รับมรดกคำนวณแล้วว่าเจ้ามรดกมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน จึงขอสละสิทธ์ไม่รับทั้งทรัพย์สินและหนี้สิน

การ ‘รับโดยไม่มีเงื่อนไข’(単純承認)คือยอมรับทั้งทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งต้องคำนวณแล้วว่า ‘ได้’ มากกว่า ‘เสีย’

การ ‘รับโดยมีข้อจำกัด’(限定承認)ผู้รับมรดกยังไม่รู้จำนวนทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้ามรดกอย่างแน่ชัด ต้องใช้เวลาสืบทรัพย์หรือดำเนินการอีกนาน เมื่อมีการหักกลบชำระคืนหนี้สินแล้ว หากยังเหลือทรัพย์สินเท่าใดก็ขอรับเพียงเท่านั้น การเลือกแบบนี้ต้องให้ผู้มีสิทธิ์ในมรดกทุกคนเห็นชอบร่วมกัน หากมีผู้ไม่เห็นด้วยแม้เพียงคนเดียวก็เลือกแบบนี้ไม่ได้  

ในเมืองใหญ่อย่างโอซากามีห้องในอาคารที่บริหารโดยท้องถิ่นและมีสภาพเก่า ทรุดโทรมอยู่ประมาณหนึ่งแสนกว่าห้องที่ต้องรื้อทิ้งสร้างใหม่ จำนวนห้องเสื่อมโทรมจึงลดจำนวนลงตามการพัฒนาของเมืองให้ทันสมัยน่าอยู่ แต่ห้องที่มีผู้สูงอายุและอาศัยอยู่เพียงลำพังจนเสียชีวิตกลับเพิ่มจำนวนมากขึ้น เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเรียกห้องเหล่านี้ว่า ‘ห้องพักที่ตายอย่างโดดเดี่ยว’(単身死亡住宅)ไม่ต้องอธิบายให้มากความ ได้ยินแล้วนึกภาพออกทันที เจ้าหน้าที่จัดทำแฟ้มประวัติเจ้าของห้องเหล่านี้ไว้  มีจำนวนหลายร้อยห้องทีเดียว บางห้องทิ้งไว้นาน 6-7 ปี รอทายาทมาแสดงตัว 

ปี 2017 รัฐบาลได้ออกระเบียบปฏิบัติเพื่อจัดการกับ ‘ห้องพักที่ตายอย่างโดดเดี่ยว’ นี้ เมื่อพยายามติดต่อแล้วแต่ไม่พบตัวทายาท กำหนดให้เจ้าหน้าที่อาคารคัดแยกทรัพย์สิน และเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาในสถานที่อื่นได้ แต่ระเบียบนี้ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดอย่างชัดเจน ทำให้เจ้าหน้าที่อาคารของท้องถิ่นต้องปฏิบัติงานอย่างหายใจไม่ทั่วท้อง เกรงจะมีความผิดหากทายาทมาแสดงสิทธิ์ในภายหลัง

ท้องถิ่นแต่ละแห่งจึงพยายามกำหนดระเบียบปฏิบัติของตนเองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวอย่างโอซากากำหนดเงื่อนเวลาไว้ เมื่อจำเป็นต้องจัดการทรัพย์สินภายในห้อง ให้เวลา 5 เดือนกรณีทราบว่าไม่มีทายาท และ 7 เดือน หากมีทายาทแต่ไม่มาติดต่อ  สามารถเคลื่อนย้ายทรัพย์สินมีค่า และทรัพย์สินที่มีค่าต่อความทรงจำ เช่น อัลบั้มรูป ป้ายชื่อบรรพบุรุษ เป็นต้น นำไปเก็บไว้ที่อื่นได้ ส่วนสิ่งของอื่นๆ ให้อำนาจกำจัดทิ้งได้ หากพบเงินสดต้องร่วมกันนับจำนวนเงินแล้วบันทึกไว้ สุดท้ายหากไม่มีทายาทก็ตกเป็นของแผ่นดิน

กฎหมายแพ่งของญี่ปุ่นกำหนดการแสดงสิทธิ์เป็นเจ้าของทรัพย์มีเวลา 20 ปี เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องเก็บรักษาทรัพย์สินของห้องดังกล่าวกันต่อไป ในอาคารจึงต้องมีห้องเก็บของที่อัดแน่นไปด้วยกล่องและลังจำนวนมาก และต้องรับผิดชอบต่อการสูญหาย ไฟไหม้ อีกด้วย กลายเป็นภาระมาก ที่ผ่านมาแทบไม่ปรากฎมีผู้ใดมาแสดงตนขอรับทรัพย์สินเหล่านี้เลย นอกจากการไม่รู้ข่าวคราวของกันและกันแล้ว อาจเป็นเพราะต่างก็เป็นผู้สูงวัยเช่นเดียวกัน หรืออยู่คนละจังหวัดห่างไกลกันไม่สะดวก ไม่อยากเสียค่าใช้จ่ายเดินทางมาแสดงตนเพื่อรับทรัพย์สินจิปาถะ ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น 

เรื่องราวเหล่านี้ ของสังคมผู้สูงวัยและวิถีชีวิตในเมืองใหญ่ โดดเดี่ยว ไร้ญาติมิตร ทำให้หลายๆ คนเริ่มหันมาคิดอย่างจริงจังว่าก่อนจะถึงวันที่ชีวิตเดินทางมาถึงวันสุดท้าย ต้องคิดทบทวนว่ามีผู้ใดจะรับช่วงต่อทรัพย์สินของตน เขาจะยินดีรับหรือไม่  หรืออยากมอบของมีค่าให้แก่ใคร ผู้ที่ใช้ชีวิตโดยลำพังมาตลอดควรพยายามติดต่อญาติให้ได้เป็นครั้งสุดท้าย แม้มีเรื่องขุ่นข้องหมองใจกัน หากไม่เหลือญาติอีกแล้วก็แจ้งความจำนงที่ชัดเจนของตนต่อผู้เกี่ยวข้องในชุมชนเพื่อมิให้เป็นภาระต่อไป

เรื่องเล่าของญี่ปุ่น พอจะเป็นข้อคิดเล็กๆ ให้ ‘คนเป็น’ …

ตัวจากไปแล้ว…แต่ไม่ให้กลายเป็น ‘คนตาย’ แกล้ง ‘คนเป็น’…จะดีกว่าไหม?

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save