fbpx

คนไทยเข้าถึงบริการการเงินแค่ไหนในยุคเศรษฐกิจผันผวน

ในยุคที่คนไทยกำลังเผชิญยุคที่เศรษฐกิจเผชิญความท้าทายจากทั้งภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้น หนี้ครัวเรือนสูงและความเสี่ยงต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า ภาคการเงินมีหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งในการช่วยประคับประคองให้คนไทย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางเช่น ครัวเรือนรายได้น้อยและธุรกิจ MSME ผ่านความท้าทายเหล่านี้ไปได้ 

แต่คำถามที่สำคัญคือ คนไทยในยุคดิจิทัลสามารถเข้าถึงบริการการเงินได้มากน้อยเพียงใดในยามที่เราต้องพึ่งภาคการเงินมากขึ้น สถานการณ์ในปัจจุบันยังคงมีช่องว่างตรงไหนบ้าง และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะมีส่วนช่วยการเข้าถึงบริการการเงินได้มากน้อยเพียงใด

Sea Insights พยายามตอบคำถามเหล่านี้ผ่านบทสำรวจคนยุคดิจิทัลอาเซียน ประจำปี 2565 (2022 ASEAN Digital Generation Report) ซึ่งบริษัท Sea ทำร่วมกับสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) โดยในปีนี้ เราได้ทำการสำรวจคนยุคดิจิทัลผู้ที่มีอายุระหว่าง 16-60 ปีผ่านแพลตฟอร์มของ Garena, Shopee รวมถึงช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ มีผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 90,000 คน โดยในจำนวนนั้นเป็นคนไทย 8,400 คน เจ้าของกิจการธุรกิจ MSME 1,400 ราย ข้อค้นพบทั้งหมดสามารถกลั่นออกมาเป็น 9 ข้อคิดสำคัญดังนี้

บริการการเงินในอุดมคติของคนไทยยุคดิจิทัลเป็นอย่างไร

1. การบริการทางการเงิน คือที่พึ่งยามยากสำคัญของคนไทย 

คนไทยยุคดิจิทัลเป็นชาติเดียวที่มองว่า หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของภาคการเงินคือการเป็น ‘ตาข่ายรองรับทางสังคม’ หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ การเข้าถึงบริการการเงินจะเป็นที่พึ่งพิงยามยากเมื่อเกิดพบปัญหาในชีวิตหรือปัญหาทางธุรกิจ ซึ่งแตกต่างจากผลการศึกษาในประเทศอื่นที่เราพบว่า ประเทศอื่นจะให้ความสำคัญต่อบริการทางการเงินประเภทอื่นๆ เช่น การออมเงินเพื่ออนาคต

ข้อค้นพบดังกล่าวส่วนหนึ่งอาจสะท้อนปัญหาการเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการที่เพียงพอในประเทศไทย ซึ่งโดยปกติแล้วจะทำหน้าที่เป็นตาข่ายรองรับให้แก่ประชาชนยามตกทุกข์ได้ยาก อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนสวัสดิการส่งผลให้บทบาทความสำคัญของภาคการเงินมีเพิ่มมากขึ้น ผู้คนเมื่อเผชิญปัญหา ก็จำเป็นต้องหันมาพึ่งพิงภาคการเงินเพื่อทดแทนระบบสวัสดิการผ่านการกู้เงินด่วน เป็นต้น

คำตอบในประเด็นนี้ยังอาจช่วยอธิบายเหตุผลว่าทำไมสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยถึงได้สูงกว่าประเทศอื่นๆ เหตุผลหนึ่งคือ ครัวเรือนไทยอย่างน้อยส่วนหนึ่งอาจจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อความจำเป็นในการอยู่รอด เมื่อชีวิตประสบปัญหา ไม่ว่าจะจากล้มป่วย รายได้ลดลง รายจ่ายพุ่งสูงขึ้น ตกงาน เป็นต้น เนื่องจากไม่มีที่พึ่งพาอื่น

2. ขอแค่ให้ปลอดภัยและโดนใจ รัฐกำกับหรือไม่เป็นเรื่องรอง

เมื่อถึงเวลาพิจารณาเลือกผู้ให้บริการด้านการเงิน บทสำรวจพบว่าคนไทยยุคดิจิทัลส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านความปลอดภัยในการใช้บริการในอันดับสูงสุดเช่นเดียวกับผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสิ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสนใจในลำดับถัดมา เราพบประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เลือกให้ความสำคัญกับการที่ผู้ให้บริการจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมโดยหน่วยงานภาครัฐควบคู่กันไปกับประเด็นความปลอดภัย แต่สำหรับคนไทยแล้ว การกำกับโดยภาครัฐกลับไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่คนไทยมองหาในผู้ให้บริการด้านการเงิน 

สำหรับคนไทยแล้ว สิ่งที่สำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ รองลงมาจากประเด็นความปลอดภัยคือ ความสามารถของบริการทางการเงินในการตอบโจทย์ที่ตนต้องการ หากบริการทางการเงินสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการได้ คนไทยยุคดิจิทัลจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศอื่นๆ แล้ว คนไทยให้น้ำหนักกับการเงินที่ตอบโจทย์ที่ตัวเองต้องการมากกว่าอย่างชัดเจน 

คนไทยยุคดิจิทัลเข้าถึงบริการเงินแค่ไหนในระบบระบบปัจจุบัน

3. คนไทยเข้าถึงการเงินแค่ ‘พื้นฐาน’ แต่ยังไปได้ไม่ถึง ‘ชั้นบน’

ระบบการเงินในปัจจุบันของประเทศไทยเปรียบเสมือนกับอาคารสูง ที่ชั้นล่างมีผลิตภัณฑ์การเงินขั้นพื้นฐาน เช่น บัญชีออมทรัพย์ และบริการชำระเงิน ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ขั้นแอดวานซ์ เช่น สินเชื่อ การลงทุน ประกันภัย อยู่บนชั้นที่สูงขึ้นไป

สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยในเบื้องต้นถือเป็นภาพที่ดี เนื่องจาก 90% ของคนไทยยุคดิจิทัลมีบัญชีออมทรัพย์และสามารถเข้าถึงการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งถือว่าทำได้ดีเทียบกับประเทศอื่นๆ เรียกได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่สามารถก้าวเข้าตึกมาใช้บริการผลิตภัณฑ์ในชั้นล็อบบีด้านล่างได้อย่างไม่มีปัญหา 

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในปัจจุบันของการเข้าถึงด้านการเงินในประเทศไทย คือ คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหนือกว่าผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน เปรียบเสมือนว่าเราเข้าไปในตึกที่ไม่มีลิฟต์หรือบันไดเชื่อมระหว่างชั้นล่างและชั้นบนที่ให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่แอดวานซ์ โดยบทสำรวจพบว่าคนไทยยุคดิจิทัลประมาณ 70% ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินขั้นแอดวานซ์ที่มีความสำคัญอย่างสินเชื่อ การลงทุน และการประกันภัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ MSMEs ผู้หญิง คนรุ่นใหม่ และคนที่อาศัยในพื้นที่ชนบท ถือเป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในปัจจุบันของการเข้าถึงด้านการเงินในประเทศไทย คือ คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหนือกว่าผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน เปรียบเสมือนว่าเราเข้าไปในตึกที่ไม่มีลิฟต์หรือบันไดเชื่อมระหว่างชั้นล่างและชั้นบนที่ให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่แอดวานซ์ โดยบทสำรวจพบว่าคนไทยยุคดิจิทัลประมาณ 70% ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินขั้นแอดวานซ์ที่มีความสำคัญอย่างสินเชื่อ การลงทุน และการประกันภัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ MSMEs ผู้หญิง คนรุ่นใหม่ และคนที่อาศัยในพื้นที่ชนบท ถือเป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการเงินบางส่วนได้ กลุ่มคนเหล่านี้จึงจำเป็นต้องหันไปพึ่งพาบริการทางการเงินนอกระบบเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินของตน (สอดคล้องกับที่พบว่าภาคการเงินคือที่พึ่งยามยาก) ผู้ตอบแบบสอบถามในงานศึกษาจำนวนหนึ่ง ระบุว่าจำเป็นต้องกู้ยืมจากทางเลือกอื่นๆ เช่น ครอบครัวหรือเพื่อนฝูง และบางส่วนอาจลงเอยด้วยการพึ่งพาบริการทางการเงินนอกระบบ (Informal finance) ซึ่งเต็มไปด้วยการฉ้อโกงและความไม่เป็นธรรม

4. อัตราดอกเบี้ยไม่ใช่กำแพงที่สำคัญที่สุดในการเข้าถึงสินเชื่อ

ในกลุ่มผู้ที่ต้องการสินเชื่อ การสำรวจพบว่าธนาคารพาณิชย์ให้บริการสินเชื่อได้ไม่ถึง 50% ของผู้ต้องการสินเชื่อทั้งหมด โดยผู้กู้จำเป็นต้องไปพึ่งพาแหล่งสินเชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่ากลุ่มธุรกิจขนาดย่อย (Micro enterprise) สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้น้อยกว่าธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (SMEs) อย่างชัดเจน ดังนั้นเราจึงไม่ควรเหมารวมว่ากลุ่ม MSME นั้นมีความสามารถและพฤติกรรมในการเข้าถึงด้านการเงินคล้ายคลึงกันหมด แนวทางที่ควรปฏิบัติจึงควรต้องมีการพิจารณาถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อช่วยธุรกิจรายย่อยโดยเฉพาะ

ที่สำคัญเราพบว่าอุปสรรคสำคัญอันดับหนึ่งในการเข้าถึงสินเชื่อของคนไทยยุคดิจิทัลไม่ใช่ประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สูงไป แต่คือปัญหากระบวนการขอสินเชื่อที่ต้องใช้หลักประกันที่ยุ่งยากและซับซ้อน ส่งผลให้ธุรกิจและประชาชนประสบปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อ งานวิจัยพบการรายงานปัญหาอัตราดอกเบี้ยสูง อย่างไรก็ตาม การสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่รายงานถึงปัญหาต้นทุนดอกเบี้ยสูง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มตัวอย่างที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในระดับหนึ่งแล้วจึงรายงานปัญหาดอกเบี้ยที่ตนเองพบเจอ ในขณะที่กลุ่มผู้ที่ต้องการสินเชื่อที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ มักไม่ได้ระบุปัญหาดอกเบี้ยที่สูง เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ก็ยังคงไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับไปอย่างไรก็ตาม

5. คนไทยครองแชมป์การ ‘ลงทุน’ ในล็อตเตอรีและทองคำ 

ในขณะเดียวกัน ศึกษาการเข้าถึงด้านการลงทุนพบว่าไม่ถึง 30% ของคนไทยยุคดิจิทัลลงทุนในตลาดการเงิน (หุ้น พันธบัตร และกองทุนรวม) โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่กว่า 60% เลือกที่จะเก็บออมเงินไว้ในบัญชีเงินฝากเป็นหลัก นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบในระดับภูมิภาค พบว่าคนไทยครองแชมป์การลงทุนในทองคำและล็อตเตอรีสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

นอกจากนี้ยังพบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลเป็นอันดับ 2 รองจากฟิลิปปินส์ อีกทั้งโปรไฟล์ของผู้ที่ลงทุนใน Cryptocurrencies หรือสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับผู้ที่ลงทุนในตลาดหุ้นมากทั้งในด้านการศึกษา ความรู้ด้านการเงิน ฯลฯ ต่างกันเพียงเล็กน้อยที่อายุเฉลี่ยของผู้ที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจะต่ำกว่า

เทคโนโลยีเพิ่มการเข้าถึงบริการการเงินได้อย่างไร

6. คนไทยใช้แอปพลิเคชันด้านการเงินดิจิทัลสูงที่สุดในภูมิภาค

บทสำรวจของเราพบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ใช้บริการแอปพลิเคชันด้านการเงินดิจิทัล ซึ่งประกอบไปด้วยธุรกรรมธนาคารและกระเป๋าเงินดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน สูงที่สุดในภูมิภาค (สูงถึงว่า 83% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด) โดยสัดส่วนการใช้งานการเงินดิจิทัลของไทย ถือว่ามีสัดส่วนสูงยิ่งกว่าอัตราการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทย ยิ่งไปกว่านั้นเราพบว่า ผู้ที่ใช้งานการเงินดิจิตอลแล้ว มีความต้องการที่จะใช้บริการทางการเงินผ่านทางช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นไปอีกในอนาคต โดย 94% ของคนไทยยุคดิจิทัลในบทสำรวจต้องการที่จะใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นไปอีกในอนาคต โดยความต้องการใช้งานการเงินดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้จำกัดแค่ในเฉพาะกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงบริการด้านการเงิน แต่ในกลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงบริการการเงินที่ดีอยู่แล้ว กว่า 98% ก็ระบุถึงความต้องการใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน 

7. เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยนำไปสู่การเข้าถึงบริการทางการเงินที่ครอบคลุม (financial inclusion) มากขึ้น

การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการด้านการเงินสามารถช่วยนำไปสู่การเข้าถึงบริการทางการเงินที่ครอบคลุมมากขึ้นผ่านทางสองช่องทาง 

ในช่องทางแรก การเงินดิจิทัลเปรียบเสมือนเป็น ‘บันได’ ที่สามารถช่วยให้ผู้ขาดโอกาสในการเข้าถึงด้านการเงินสามารถเข้าถึง ‘ชั้นที่สูงขึ้น’ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่แอดวานซ์มากขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น การใช้บริการการเงินผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถรับบริการทางการเงินได้สะดวกมากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการใช้บริการต่ำลง เนื่องจากผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาทำธุรกรรมเองที่ธนาคาร หรือการที่บริษัทเทคโนโลยีการเงิน (Fintech) ประยุกต์นำข้อมูลดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามาให้บริการทางการเงินก็มีส่วนช่วยให้กลุ่มลูกค้าบางกลุ่ม เช่น กลุ่มธุรกิจรายย่อย (Micro) หรือกลุ่มคนอายุน้อย ที่โดยปกติแล้วไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นจากการกู้ยืมเงินผ่าน Fintech

การที่มีคนเข้าถึงบริการทางการเงินเพิ่มมากขึ้นถือเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะผู้ให้บริการ Fintech ที่นำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ เท่านั้น เพราะเมื่อเพิ่มจำนวนคนผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่าฐานผู้ใช้บริการที่กว้างขึ้นก็จะสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินเพิ่มเติมใน ‘ชั้นที่สูงขึ้น’ ส่งผลผู้ให้บริการทางการเงินแบบดั้งเดิม เช่น ธนาคารพาณิชย์ ได้รับประโยชน์จากฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน การเปิดประตูให้มีการเข้าถึงด้านการเงินโดยอาศัยเทคโนโลยีจะมีส่วนสำคัญในการดึงกลุ่มผู้ใช้บริการทางการเงินนอกระบบให้เข้ามาเป็นผู้ใช้บริการใหม่ในระบบ

นอกเหนือจากการเปิดรับผู้ใช้บริการหน้าใหม่ อีกช่องทางที่เทคโนโลยีสามารถช่วยให้เกิดการบริการที่ครอบคลุมมากขึ้นคือการยกระดับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีอยู่แล้วบนชั้นสูงให้ช่วยตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลของแต่ละคนได้แม่นยำขึ้น โดยอาศัยการใช้ข้อมูล เช่น Insurtech และ Wealthtech ที่สามารถคัดเลือกและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับความต้องการและระดับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลได้ 

ความรู้ด้านการเงิน Financial Literacy สำคัญแค่ไหนและควรสร้างอย่างไร

8. เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่พอ ต้องเพิ่มความรู้ด้านการเงินและดิจิทัลด้วย

แม้เทคโนโลยีจะเป็นส่วนสำคัญในฐานะบันไดเชื่อมให้การเข้าถึงด้านการเงินเพิ่มมากขึ้น แต่เทคโนโลยีอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ในยุคที่บริการทางการเงินถูกปรับเป็นรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น ความรู้ทางด้านการเงิน (Financial literacy) และทักษะดิจิทัล (Digital literacy) ถือเป็นส่วนสำคัญที่เราควรสร้างให้มีควบคู่ เพื่อทำหน้าที่เป็น ‘ราวจับ’ ที่ป้องกันคนไทยจากความเสี่ยงและภัยต่างๆ ในยุคดิจิทัล ซึ่งมีมากมายหลายรูปแบบทั้งการฉ้อโกงทางการเงิน การหลอกลวงจาก Call center และการกู้เงินเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้ในมากในช่วงปีที่ผ่านมา

งานวิจัยของเราพบว่าการเพิ่มความรู้ความเข้าใจด้านการเงินจะนำไปสู่การใช้บริการทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในการใช้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านการลงทุนและบริหารการเงินส่วนตัว ยิ่งไปกว่านั้น บทสำรวจยังพบอีกว่า ผลิตภัณฑ์การเงินที่คนไทยยุคดิจิทัลขาดความรู้ความเข้าใจมากที่สุด คือ สินเชื่อและบัตรเครดิต 

9. ความรู้ด้านการเงินต้องมาจากการลงมือทำ ไม่ใช่แค่ท่องจำในห้องเรียน

เมื่อสอบถามถึงรูปแบบการเรียนรู้ทักษะทางการเงินในอุดมคติว่ารูปแบบการเรียนใดที่มีประสิทธิผลมากที่สุด ปรากฏว่าคนไทยยุคดิจิทัลเชื่อว่า การเรียนรู้จากการทดลองทำเอง (Learning by doing) คือวิธีการเรียนรู้ด้านการเงินที่ดีที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยการเรียนรู้จากครอบครัวและเพื่อนเป็นอันดับสอง และมีการเรียนรู้จากพนักงานที่ขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน จากสื่อออนไลน์ และจากผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน เป็นลำดับถัดมา 

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงประสบการณ์การเรียนรู้ด้านการเงินจริงของคนไทย พบว่าคนไทยยังคงมีช่องว่างในการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ผ่านพนักงานของสถาบันการเงินและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน โดยคนไทยยุคดิจิทัลมีประสบการณ์การเรียนรู้ด้านการเงินผ่านทางสองช่องทางดังกล่าวในสัดส่วนที่ต่ำ ไม่สอดคล้องกับความเชื่อในอุดมคติ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังน่าสนใจอีกว่าการเรียนรู้ด้านการเงินจากในโรงเรียนตกลงมาอยู่ในอันดับท้ายๆ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่มองว่าการเรียนรู้ด้านการเงินในโรงเรียนไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร ซึ่งอาจสะท้อนถึงคุณภาพการสอนด้านทักษะทางการเงินในโรงเรียนในปัจจุบัน

ข้อคิดส่งท้าย – สร้างเครือข่าย ‘อาสาสมัครการเงิน x ดิจิทัลในพื้นที่

ในหนังสือ The Great Remake สู่โลกใหม่ ผมเคยได้เสนอถึงการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัลให้คนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นผู้ช่วยถ่ายทอดทักษะด้านดิจิทัลให้คนในชุมชนที่ตัวเองคุ้นเคย บทสำรวจชิ้นนี้ทำให้คิดต่อไปว่าแทนที่จะถ่ายทอดแค่ทักษะดิจิทัล อาสาสมัครเหล่านี้ควรถ่ายทอดความรู้ด้านการเงินขั้นพื้นฐานควบคู่ไปด้วยกัน เนื่องจากในยุคดิจิทัล ทั้งสองทักษะนี้ต่างมีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องกันพอควร ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาการหลอกลวงต้มตุ๋นหลายครั้ง ซึ่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้มาจากการขาดทักษะดิจิทัลเท่านั้น แต่อาจเป็นการขาดความรู้ด้านการเงินในการพิจารณาถึงผลตอบแทนด้านการลงทุนที่สมเหตุสมผล

อาสาสมัครเหล่านี้ต้องผ่านการฝึกอบรมเพื่อให้สามารถถ่ายทอดความรู้ด้านดิจิทัลและการเงินให้คนในชุมชนได้อย่างถูกต้อง ทั้งในด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น วิธีใช้แอปฯ อย่างปลอดภัย ตลอดจนการใช้งานด้านการเงิน เช่น วิธีจัดการด้านการเงินส่วนบุคคลและการจับสังเกตการฉ้อโกง เพื่อให้คนไทยยุคดิจิทัลสามารถเข้าถึงการเงินได้มากขึ้นแบบมีภูมิคุ้มกันและปลอดภัย


หากผู้อ่านท่านใดสนใจรายละเอียดในงานวิจัยของ Sea Insights สามารถอ่านรายงานการศึกษาฉบับเต็มได้ที่นี่

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save