fbpx

อาจจะไปไม่ถึงดวงจันทร์(?) : ว่าด้วยความฝันเรื่องการไปดวงจันทร์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย

กมลวรรณ มาดายัง เรื่อง


“เร็วๆ นี้ ไทยจะเป็นชาติที่ 5 ของเอเชียที่สามารถผลิตยานอวกาศและส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 7 ปี”

คือคำพูดของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่เปิดเผยกับสื่อมวลชนในช่วงเปิดงาน ‘วัคซีนเพื่อคนไทย’ เมื่อเดือนธันวาคม 2563

คำพูดดังกล่าวนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมหลายทิศทาง พร้อมกับคำถามเกิดตามมามากมาย เพราะเอนกไม่ได้ให้ความชัดเจนใดๆ ถึงวัตถุประสงค์และกระบวนการส่งยานไปดวงจันทร์ แต่กลับขอให้ประชาชนช่วยระดมทุนสนับสนุนโครงการ อย่างไรก็ดี คำถามที่ประชาชนน่าจะอยากรู้มากที่สุดคือ “คนไทยจะได้อะไรจากโครงการไปดวงจันทร์” เพราะหลายคนต่างมองว่าประเทศไทยยังมีปัญหาอื่นที่รอการแก้ไขอีกนับไม่ถ้วน และอาจจะเร่งด่วนยิ่งกว่าการไปดวงจันทร์ก็เป็นได้

101 ชวนคุณสำรวจผลประโยชน์ที่ได้จากการสร้างยานอวกาศต่อเศรษฐกิจไทย ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ และอุปสรรคที่ไทยต้องข้ามไปให้ได้ ถ้าต้องการจะไปให้ถึงดวงจันทร์ — หรืออย่างน้อยก็ยังอยู่ท่ามกลางดวงดาว


ไทยไปดวงจันทร์ แล้วไทยได้อะไร?


ปี 1969 ผู้คนทั่วโลกต่างร่วมเป็นสักขีพยานความสำเร็จของยาน Apollo 11 ที่พามนุษย์กลุ่มแรกไปเหยียบบนพื้นผิวดวงจันทร์และสามารถกลับมายังโลกได้อย่างปลอดภัย (Manned Mission) ถือเป็นการเอาชนะความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของมวลมนุษยชาติ

ความสำเร็จในครั้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นและจบไปในเวลาอันสั้น แต่ยังสร้างคุณูปการอื่นอย่างมหาศาลให้กับโลก โดยเฉพาะเทคโนโลยีขั้นสูงหลายอย่างได้ถือกำเนิดขึ้นระหว่างทางก่อนที่ยาน Apollo 11 จะทะยานขึ้นสู่อวกาศ อย่างเช่นนวัตกรรมการถนอมอาหารด้วยระบบสุญญากาศ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากความพยายามถนอมอาหารให้แก่นักบินอวกาศเมื่อออกสู่นอกโลก

ผ่านมา 52 ปี ประเทศไทยก็ประกาศความฝันที่จะไปโคจรรอบดวงจันทร์ พร้อมกับคำถามที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางจากสาธารณชนว่า “เราจะไปเพื่ออะไร” แม้ยังไม่มีการประกาศถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้อย่างชัดเจน แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งก็ออกมาให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ประโยชน์ของโครงการนี้ไม่ใช่เพียงแค่การประกาศศักดาของไทยบนเวทีโลก หากแต่คือ ‘ผลพลอยได้’ (Spill-over Effect) ที่จะเกิดขึ้นระหว่างทางมากกว่า

การพัฒนาโครงการอวกาศที่มีความซับซ้อน แน่นอนว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากอุตสาหกรรมหลายภาคส่วน มารับภารกิจสร้างชิ้นส่วนแตกต่างหลากหลาย การผลิตชิ้นส่วนที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงนี้เองจะทำให้แต่ละภาคอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมภารกิจจำเป็นต้องยกระดับเทคโนโลยีและศักยภาพการผลิตของตัวเอง

ท้ายที่สุด การลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีจะไม่ใช่แค่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอวกาศ แต่ยังก่อกำเนิดพื้นฐานองค์ความรู้หรือนวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างสิ่งประดิษฐ์หรือผลิตสินค้าใหม่ๆ ได้ในอนาคต จึงกล่าวได้ว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมอวกาศสามารถนำไปสู่ ‘การประหยัดต้นทุนโดยรวมในการผลิต’ (Economies of scope) เพราะสามารถนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการลงทุนนี้มาปรับใช้ได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากนัก

นอกจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว อานิสงส์จากโครงการพัฒนาอวกาศยังไหลไปสู่ภาควิชาการ (Academic sector) เช่นกัน เพราะจะก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมามหาศาล อีกทั้งยังช่วยสร้างแหล่งรองรับกำลังคน (Manpower) ที่มีความรู้ความสามารถให้แสดงศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ เป็นประโยชน์ต่อวงการการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยอย่างที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศที่มีการพัฒนาโครงการอวกาศมาก่อนหน้า

และหากมองผลประโยชน์ที่กว้างไปกว่านั้น การพัฒนาโครงการอวกาศจะนำไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศสู่การเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเข้มข้น (Capital-intensive Industry) และเป็นสายพานเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้บางประเทศสามารถนำตัวเองหลุดออกจากสถานะประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เช่นกลุ่มเสือเศรษฐกิจเอเชียอย่างฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ที่ประสบความสำเร็จในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20

ขณะที่ประเทศไทยยังคงเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้น (Labor-intensive Industry) โดยไม่มีการยกระดับอุตสาหกรรมขึ้นมาสู่ขั้นสูงอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเดินตามเส้นทางความสำเร็จของเสือเศรษฐกิจ ยังคงติดหล่มอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมาหลายสิบปี และยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะหลุดออกในเวลาอันใกล้

การพัฒนาโครงการอวกาศที่ต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจึงอาจเกิดผลพลอยได้ส่งต่อให้อุตสาหกรรมการผลิตของไทยสามารถยกระดับเทคโนโลยีขึ้นได้อย่างจริงจัง และหากทำได้จริง ก็จะฉุดเศรษฐกิจไทยขึ้นมาจากกับดักรายได้ปานกลาง และกลับมาพุ่งทะยานได้เหมือนเดิม


ผลประโยชน์มหาศาล แต่ต้นทุนก็มหาศาล


ถึงแม้การพัฒนาโครงการอวกาศจะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้ประเทศได้มากมาย แต่เราต้องอย่าลืมว่ากว่าจะเดินหน้าโครงการให้สำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยต้นทุนมหาศาล ทั้งงบประมาณ กำลังคน และทรัพยากรต่างๆ เมื่อบวกกับความจริงที่ว่าประเทศไทยเองก็ไม่ใช่ประเทศร่ำรวย ยังมีคนยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมอยู่มาก จึงนำมาสู่คำถามว่า การทุ่มทุนไปกับโครงการอวกาศขณะที่ประเทศยังมีปัญหาหลายเรื่องที่ต้องแก้ จะคุ้มกับผลประโยชน์ที่จะได้รับหรือไม่ หรือจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศได้จริงหรือไม่

เพื่อตอบคำถามข้อนี้ วิธีหนึ่งคือการดูจากกรณีศึกษาของประเทศที่มีการพัฒนาโครงการอวกาศท่ามกลางปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำ ซึ่งประเทศที่สามารถนำมาเทียบเคียงกับไทยได้ก็คือ ‘อินเดีย’

อินเดียเริ่มเดินหน้าโครงการอวกาศมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1960 โดยองค์การวิจัยด้านอวกาศแห่งอินเดีย (Indian Space Research Organization: IRSO) ทุ่มงบสนับสนุนการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้จำนวนเงินเพิ่มขึ้นทุกปีดังตารางด้านล่าง


ตาราง Research Sponsored by ISRO

Source: Department of Space, complied by the author from the Annual Reports, 1975-81.


เงินลงทุนที่อินเดียทุ่มไปมหาศาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาค่อยๆ ปรากฏให้ประชาคมโลกเห็นความสำเร็จชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ผลพลอยได้จากการพัฒนาโครงการอวกาศทำให้อินเดียมีระบบการสื่อสารโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีข้อมูลอื่นๆ พัฒนาขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ตั้งแต่ช่วงปี 1983[i] และในภาพรวม อินเดียก็มีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและไอทีอย่างก้าวกระโดด นำหน้าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ทำให้อินเดียทุกวันนี้ถูกขนานนามว่าเป็น Silicon Valley of Asia

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จนี้กลับไม่ได้ช่วยให้ภาพรวมสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของคนอินเดียดีขึ้นมากเท่าไรนัก ช่องว่างความเหลื่อมล้ำยังคงกว้าง คนยากจนยังมีจำนวนมาก และยังมีแนวโน้มที่ปัญหาจะรุนแรงมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตอนนี้ด้วย

หากเรามองกรณีของอินเดีย คำถามที่ผุดขึ้นมาคือตกลงแล้วโครงการอวกาศดีจริงหรือไม่ ทุกคนในชาติจะได้รับประโยชน์ร่วมกันจริงหรือ เพราะหากประโยชน์ที่เกิดขึ้นตกอยู่กับคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นี่อาจไม่ใช่หนทางที่จะพาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตประสิทธิภาพและยั่งยืน มิหนำซ้ำอาจทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยประสบอยู่ในทุกวันนี้รุนแรงขึ้นไปกว่าเดิม

แม้ต้นทุนการพัฒนาอวกาศทุกวันนี้จะลดลงมามากแล้วเมื่อเทียบกับในอดีต อย่างโครงการจันทรายาน-2 ของอินเดีย ก็สามารถทำได้ด้วยต้นทุนถูกที่สุดราว 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากนำมาคิดเทียบกับขนาดเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2562 โครงการจันทรายาน-2 ถือว่ามีต้นทุนคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.58 เท่านั้น

อย่างไรก็ดี เราต้องไม่ลืมว่าต้นทุนที่ต่ำของโครงการจันทรายาน-2 นั้นยังไม่ได้คิดรวม ‘ต้นทุนแฝง’ ที่เกิดจากการลงทุนสะสมเพื่อพัฒนาโครงการอวกาศมานานหลายสิบปีของอินเดีย ดังนั้น หากประเทศไทยอยากเดินหน้าโครงการไปดวงจันทร์เหมือนอย่างอินเดีย เราอาจไม่สามารถทำด้วยต้นทุนที่เท่ากับโครงการจันทรายาน-2 เพราะยังต้องทุ่มงบ R&D เพื่อวางรากฐานอีกมาก และหากมองดูงบประมาณของประเทศไทยที่ลงไปในส่วน R&D ในปี 2562 ยังอยู่เพียงร้อยละ 1.11 ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอินเดีย

นอกจากต้นทุนที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังมีต้นทุนอีกประเภทที่ต้องจ่ายคือ ‘ต้นทุนค่าเสียโอกาส’ (Opportunity Cost) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น เพราะการที่รัฐเลือกอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ หมายความว่าจะเกิดการถ่ายโอนทรัพยากรจากส่วนอื่นๆ มายังอุตสาหกรรมที่ถูกเลือกนี้ก่อน ไม่ต่างอะไรจากการเลือกอุตสาหกรรมผู้ชนะ (Picking the winner) และอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกเลือกก็อาจจะถูกกีดกันโดยธรรมชาติในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ทำให้ไม่อาจพัฒนาขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้

คำถามคือ รัฐรับประกันได้หรือไม่ว่าอุตสาหกรรมอวกาศจะเป็นผู้ชนะได้จริง เพราะหากรัฐไม่มีศักยภาพมากพอหรือรับประกันได้ว่าจะทำได้ตามเป้าหมายทั้งที่ทุ่มทรัพยากรลงไปจำนวนมาก อาจทำให้คนไทยเสียผลประโยชน์มหาศาลจากการทุ่มทรัพยากรลงไปในที่ใดที่หนึ่งเช่นนี้ และต้องอย่าลืมว่าเงินทุนที่ทุ่มลงไปนี้ ส่วนหนึ่งย่อมมาจาก ‘ภาษี’ ที่ประชาชนร่วมกันจ่าย

เมื่อสิ่งที่ต้องเสียไปเกิดขึ้นก่อนผลประโยชน์ที่จะได้รับ และไม่อาจรับรู้ได้อย่างแท้จริงว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร การไปดวงจันทร์จึงถือเป็น ‘ความเสี่ยง’ ที่คนไทยต้องแบกรับจากโครงการดังกล่าวไปจนกว่าผลประโยชน์จากการลงทุนนี้จะเกิดขึ้นจริง


ต้นทุนที่แพงที่สุดคือการไม่ทำอะไรเลย


โดยปกติแล้ว คนตัดสินใจลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนอย่างที่คาดการณ์หรือมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้ผลลัพธ์อาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แต่ ‘การไม่ลงมือทำอะไรเลย’ ก็ไม่ใช่วิธีการหลีกหนีความเสี่ยงที่ควรทำ[ii] เพราะนั่นคือการปิดโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนไปอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม เมื่อลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘รัฐ’ เป็นผู้ลงทุนด้วยแล้ว การป้องกันความเสี่ยงยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับประเทศไทย หนึ่งในความเสี่ยงใหญ่ที่สุดคือ ‘ความไม่เชื่อมั่น’ ของประชาชนที่มีต่อรัฐเสียเอง เพราะคนทั่วไปรู้ดีว่ารัฐไทยเป็น ‘รัฐราชการ’ ที่อาจไม่มีความสามารถมากพอที่จะนำการพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้ จากการถอดบทเรียนของ The Celtic Tiger ต่อประเทศไทย เขียนโดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ได้ทำการย้ำชัดว่ารัฐไทยยังไม่ใช่รัฐพัฒนา (Developmental State) และได้รับคำนิยามโดยหลวมๆ ว่าเป็นเพียงรัฐขีดความสามารถปานกลาง (Intermediate State) เท่านั้น

แม้ว่า ‘รัฐราชการ’ ของไทยในปัจจุบันไม่ได้มีความหมายคล้ายเช่นในอดีต กล่าวคือ ไม่ได้มีอำนาจในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เหลือไว้เพียง ‘ระบบราชการ’ ในการดำเนินงานตามการวางแผนของฝ่ายบริหารอีกที แต่การดำเนินงานในลักษณะ ‘ระบบราชการ’ นี้ได้กลายเป็นตัวรั้งประสิทธิภาพในการพัฒนาของรัฐไทยเรื่อยมา เพราะมีขนาดใหญ่ มีการทำงานที่ซับซ้อนแต่ไม่สัมพันธ์กัน ในหลายครั้งการแบ่งหน้าที่ในความรับผิดรับชอบ (Accountability) ระหว่างหน่วยงานก็ไม่มีความชัดเจน

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำงานของภาครัฐมีประสิทธิภาพต่ำนี้ เป็นผลพวงของการดำเนินการตาม ‘ระเบียบราชการ’ (Red Tape) มากกว่าคำนึงถึงประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวม ทำให้เกิดความล่าช้า มีประสิทธิภาพต่ำ ถ้าเทียบกับต่างประเทศ เราจะเห็นว่าคุณภาพของรัฐไทยต่ำกว่าประเทศอย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ที่มีการใช้ภาครัฐนำการพัฒนา หรือต่อให้เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งเชิงเศรษฐกิจสำคัญ ก็จะพบว่าประสิทธิภาพรัฐไทยเราต่ำกว่าเช่นกันดังข้อมูลที่ปรากฎในภาพด้านล่าง


ภาพ The comparison in quality of government

Source: The Quality of Government Institution


ยิ่งไปกว่านั้น คุณภาพของรัฐไทยยังอาจเรียกได้ว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับคุณภาพของภาครัฐทั่วโลก ฉะนั้นการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่นั้น ทางหนึ่งอาจต้องเริ่มจากการปรับปรุงการทำงานของภาครัฐเองเสียก่อน

“ต้นทุนที่แพงที่สุดคือการไม่ทำอะไรเลย” ในที่นี้ จึงไม่ได้หมายความถึงการพัฒนาโครงการอวกาศ แต่หมายความว่าหากรัฐไม่ยอมปรับตัวอะไรเลยจะทำให้ต้นทุนแพงมหาศาล เพราะไม่ว่าจะหยิบจับอุตสาหกรรมไหนขึ้นมาชูธง ใช่หรือไม่ใช่อุตสาหกรรมอวกาศ ถ้ารัฐไม่มีประสิทธิภาพก็คงจะยากจะบรรลุฝั่งฝันได้โดยง่าย ซ้ำร้ายยังเสี่ยงต่อการสร้างภาระก้อนโตทิ้งไว้ให้กับประเทศ

และผู้ที่แบกรับต้นทุนจากการที่รัฐไม่ทำอะไรเลย ก็หนีไม่พ้นประชาชนคนไทย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กล่าวทั้งหมดเป็นเพียงการคาดการณ์ที่เกิดขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งเพียงเท่านั้น จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้มีการยืนยันในด้านวัตถุประสงค์จากหน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนโครงการอวกาศอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ฉะนั้น สาธารณชนยังคงต้องติดตามต่อไปว่าแท้จริงแล้วรัฐไทยจะไปดวงจันทร์เพื่อประโยชน์ของคนในชาติจริงหรือไม่ อย่างไร  



[i] Anita Bhatia, India’s space program: Cause for Concern?

[ii] ความเสี่ยงโดยแท้จริงไม่ได้หมายถึงเพียงความเสี่ยงในเชิงลบ กล่าวคือ ความเสี่ยงเกิดจากความน่าจะเป็นที่ผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นนั้นเบี่ยงเบนไปจากค่าคาดหวัง (Expected value) ในทีนี้จึงเป็นไปได้ว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นคือโอกาสของการได้ผลตอบแทนที่มากกว่า แต่ความเสี่ยงในลักษณะนี้มักไม่ถูกนับเป็นความเสี่ยง และนักลงทุนก็มักที่จะคาดหวังถึงความเสี่ยงในลักษณะนี้มากกว่าที่จะได้รับเพียงผลตอบแทนเท่าที่คาดไว้เสียด้วยซ้ำ


อ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจ. (2562). ‘อินเดีย’ เจ้าเจ้าอวกาศโลว์คอสต์. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/ news/detail/840617

ฉัตร คำแสง. (2563). สภาวะรัฐรุงรังแต่ดันไร้น้ำยา. สืบค้นจาก https://www.the101.world/shaggy-but-ineff icientstate/

________. (2564). โรคสมองกับกล้ามเนื้อไม่สัมพันธ์กันในภาครัฐ. สืบค้นจาก https://www.the101.world /thai-gov-dyspraxia/

เดลินิวส์. (2563). ชี้ไทยไปดวงจันทร์ได้จริงภายใน 7 ปี แค่ไร้ทิศ-ทำไปเพื่ออะไร? สืบค้นจาก https://www.dai lynews.co.th/education/812830

ไทยรัฐ. (2563). ฝันไป หรือทำได้จริง อีก 7 ปี ไทยส่งยานอวกาศ สำรวจดวงจันทร์ ชาติที่ 5 ในเอเชีย. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1995499

แบ๊งค์ งามอรุณโชติ. (2564). และแล้วเสือตัวที่ห้าก็ปรากฏ…บทเรียนจาก The Celtic Tiger ต่อประเทศไทย. สืบค้นจาก https://www.the101.world/the-celtic-tiger/

ประสาน ไตรรัตน์วรกุล. (2563). รัฐและระบบราชการไทยกับความท้าทายข้างหน้าของประเทศ. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.

รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์. (2563). ความไร้ประสิทธิภาพคือธรรมชาติของทุกรัฐบาล. สืบค้นจาก https://themomen tum.co/why-the-federal-government-fails/?fbclid=IwAR0wE8nwPsQV56HOFOd4Rp5_VT 8NNmtPWt2yxT1IyN3V93wRpKAfFNOTK1c

ศรัณย์ โปษยะจินดา, พันธ์อาจ ชัยรัตน์, และ ปิติ ศรีแสงนาม. (21 มกราคม 2564). ดำเนินรายการ โดย สุทธิชัย หยุ่น [ถ่ายทอดสด]. คนไทยได้อะไรจากการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ (EP.2). ถอดรหัสไทยจะไปดวงจันทร์. NARIT Facebook Live, สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ.  

Anita Bhatia. (1985). India’s Space Program: Cause for Concern? Asia Survey, 25 (10), 1013-1030.

Dupont. (2019). Apollo 11: How Innovation and Partnership Prepared us for Space. Retrieved from https://www.dupont.com/news/innovation-and-partnership-prepared-us-for-spa ce.html

Jean Creighton. (2019). Opinion: 5 innovations of the Apollo moon program that changed life here on Earth. Retrieved from https://www.marketwatch.com/story/thank-the-apollo-moon-program-for-the-gps-you-use-every-day-2019-07-08

Jonathan Amos. (2014). Why India’s Mars mission is so cheap – and thrilling. Retrieved from https://www.bbc.com/news/science-environment-29341850

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save