fbpx

อาจจะไปไม่ถึงดวงจันทร์(?) : ว่าด้วยความฝันเรื่องการไปดวงจันทร์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย

กมลวรรณ มาดายัง เรื่อง


“เร็วๆ นี้ ไทยจะเป็นชาติที่ 5 ของเอเชียที่สามารถผลิตยานอวกาศและส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 7 ปี”

คือคำพูดของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่เปิดเผยกับสื่อมวลชนในช่วงเปิดงาน ‘วัคซีนเพื่อคนไทย’ เมื่อเดือนธันวาคม 2563

คำพูดดังกล่าวนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมหลายทิศทาง พร้อมกับคำถามเกิดตามมามากมาย เพราะเอนกไม่ได้ให้ความชัดเจนใดๆ ถึงวัตถุประสงค์และกระบวนการส่งยานไปดวงจันทร์ แต่กลับขอให้ประชาชนช่วยระดมทุนสนับสนุนโครงการ อย่างไรก็ดี คำถามที่ประชาชนน่าจะอยากรู้มากที่สุดคือ “คนไทยจะได้อะไรจากโครงการไปดวงจันทร์” เพราะหลายคนต่างมองว่าประเทศไทยยังมีปัญหาอื่นที่รอการแก้ไขอีกนับไม่ถ้วน และอาจจะเร่งด่วนยิ่งกว่าการไปดวงจันทร์ก็เป็นได้

101 ชวนคุณสำรวจผลประโยชน์ที่ได้จากการสร้างยานอวกาศต่อเศรษฐกิจไทย ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ และอุปสรรคที่ไทยต้องข้ามไปให้ได้ ถ้าต้องการจะไปให้ถึงดวงจันทร์ — หรืออย่างน้อยก็ยังอยู่ท่ามกลางดวงดาว


ไทยไปดวงจันทร์ แล้วไทยได้อะไร?


ปี 1969 ผู้คนทั่วโลกต่างร่วมเป็นสักขีพยานความสำเร็จของยาน Apollo 11 ที่พามนุษย์กลุ่มแรกไปเหยียบบนพื้นผิวดวงจันทร์และสามารถกลับมายังโลกได้อย่างปลอดภัย (Manned Mission) ถือเป็นการเอาชนะความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของมวลมนุษยชาติ

ความสำเร็จในครั้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นและจบไปในเวลาอันสั้น แต่ยังสร้างคุณูปการอื่นอย่างมหาศาลให้กับโลก โดยเฉพาะเทคโนโลยีขั้นสูงหลายอย่างได้ถือกำเนิดขึ้นระหว่างทางก่อนที่ยาน Apollo 11 จะทะยานขึ้นสู่อวกาศ อย่างเช่นนวัตกรรมการถนอมอาหารด้วยระบบสุญญากาศ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากความพยายามถนอมอาหารให้แก่นักบินอวกาศเมื่อออกสู่นอกโลก

ผ่านมา 52 ปี ประเทศไทยก็ประกาศความฝันที่จะไปโคจรรอบดวงจันทร์ พร้อมกับคำถามที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางจากสาธารณชนว่า “เราจะไปเพื่ออะไร” แม้ยังไม่มีการประกาศถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้อย่างชัดเจน แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งก็ออกมาให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ประโยชน์ของโครงการนี้ไม่ใช่เพียงแค่การประกาศศักดาของไทยบนเวทีโลก หากแต่คือ ‘ผลพลอยได้’ (Spill-over Effect) ที่จะเกิดขึ้นระหว่างทางมากกว่า

การพัฒนาโครงการอวกาศที่มีความซับซ้อน แน่นอนว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากอุตสาหกรรมหลายภาคส่วน มารับภารกิจสร้างชิ้นส่วนแตกต่างหลากหลาย การผลิตชิ้นส่วนที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงนี้เองจะทำให้แต่ละภาคอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมภารกิจจำเป็นต้องยกระดับเทคโนโลยีและศักยภาพการผลิตของตัวเอง

ท้ายที่สุด การลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีจะไม่ใช่แค่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอวกาศ แต่ยังก่อกำเนิดพื้นฐานองค์ความรู้หรือนวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างสิ่งประดิษฐ์หรือผลิตสินค้าใหม่ๆ ได้ในอนาคต จึงกล่าวได้ว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมอวกาศสามารถนำไปสู่ ‘การประหยัดต้นทุนโดยรวมในการผลิต’ (Economies of scope) เพราะสามารถนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการลงทุนนี้มาปรับใช้ได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากนัก

นอกจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว อานิสงส์จากโครงการพัฒนาอวกาศยังไหลไปสู่ภาควิชาการ (Academic sector) เช่นกัน เพราะจะก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมามหาศาล อีกทั้งยังช่วยสร้างแหล่งรองรับกำลังคน (Manpower) ที่มีความรู้ความสามารถให้แสดงศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ เป็นประโยชน์ต่อวงการการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยอย่างที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศที่มีการพัฒนาโครงการอวกาศมาก่อนหน้า

และหากมองผลประโยชน์ที่กว้างไปกว่านั้น การพัฒนาโครงการอวกาศจะนำไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศสู่การเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเข้มข้น (Capital-intensive Industry) และเป็นสายพานเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้บางประเทศสามารถนำตัวเองหลุดออกจากสถานะประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เช่นกลุ่มเสือเศรษฐกิจเอเชียอย่างฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ที่ประสบความสำเร็จในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20

ขณะที่ประเทศไทยยังคงเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้น (Labor-intensive Industry) โดยไม่มีการยกระดับอุตสาหกรรมขึ้นมาสู่ขั้นสูงอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเดินตามเส้นทางความสำเร็จของเสือเศรษฐกิจ ยังคงติดหล่มอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมาหลายสิบปี และยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะหลุดออกในเวลาอันใกล้

การพัฒนาโครงการอวกาศที่ต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจึงอาจเกิดผลพลอยได้ส่งต่อให้อุตสาหกรรมการผลิตของไทยสามารถยกระดับเทคโนโลยีขึ้นได้อย่างจริงจัง และหากทำได้จริง ก็จะฉุดเศรษฐกิจไทยขึ้นมาจากกับดักรายได้ปานกลาง และกลับมาพุ่งทะยานได้เหมือนเดิม


ผลประโยชน์มหาศาล แต่ต้นทุนก็มหาศาล


ถึงแม้การพัฒนาโครงการอวกาศจะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้ประเทศได้มากมาย แต่เราต้องอย่าลืมว่ากว่าจะเดินหน้าโครงการให้สำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยต้นทุนมหาศาล ทั้งงบประมาณ กำลังคน และทรัพยากรต่างๆ เมื่อบวกกับความจริงที่ว่าประเทศไทยเองก็ไม่ใช่ประเทศร่ำรวย ยังมีคนยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมอยู่มาก จึงนำมาสู่คำถามว่า การทุ่มทุนไปกับโครงการอวกาศขณะที่ประเทศยังมีปัญหาหลายเรื่องที่ต้องแก้ จะคุ้มกับผลประโยชน์ที่จะได้รับหรือไม่ หรือจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศได้จริงหรือไม่

เพื่อตอบคำถามข้อนี้ วิธีหนึ่งคือการดูจากกรณีศึกษาของประเทศที่มีการพัฒนาโครงการอวกาศท่ามกลางปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำ ซึ่งประเทศที่สามารถนำมาเทียบเคียงกับไทยได้ก็คือ ‘อินเดีย’

อินเดียเริ่มเดินหน้าโครงการอวกาศมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1960 โดยองค์การวิจัยด้านอวกาศแห่งอินเดีย (Indian Space Research Organization: IRSO) ทุ่มงบสนับสนุนการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้จำนวนเงินเพิ่มขึ้นทุกปีดังตารางด้านล่าง


ตาราง Research Sponsored by ISRO

Source: Department of Space, complied by the author from the Annual Reports, 1975-81.


เงินลงทุนที่อินเดียทุ่มไปมหาศาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาค่อยๆ ปรากฏให้ประชาคมโลกเห็นความสำเร็จชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ผลพลอยได้จากการพัฒนาโครงการอวกาศทำให้อินเดียมีระบบการสื่อสารโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีข้อมูลอื่นๆ พัฒนาขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ตั้งแต่ช่วงปี 1983[i] และในภาพรวม อินเดียก็มีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและไอทีอย่างก้าวกระโดด นำหน้าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ทำให้อินเดียทุกวันนี้ถูกขนานนามว่าเป็น Silicon Valley of Asia

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จนี้กลับไม่ได้ช่วยให้ภาพรวมสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของคนอินเดียดีขึ้นมากเท่าไรนัก ช่องว่างความเหลื่อมล้ำยังคงกว้าง คนยากจนยังมีจำนวนมาก และยังมีแนวโน้มที่ปัญหาจะรุนแรงมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตอนนี้ด้วย

หากเรามองกรณีของอินเดีย คำถามที่ผุดขึ้นมาคือตกลงแล้วโครงการอวกาศดีจริงหรือไม่ ทุกคนในชาติจะได้รับประโยชน์ร่วมกันจริงหรือ เพราะหากประโยชน์ที่เกิดขึ้นตกอยู่กับคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นี่อาจไม่ใช่หนทางที่จะพาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตประสิทธิภาพและยั่งยืน มิหนำซ้ำอาจทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยประสบอยู่ในทุกวันนี้รุนแรงขึ้นไปกว่าเดิม

แม้ต้นทุนการพัฒนาอวกาศทุกวันนี้จะลดลงมามากแล้วเมื่อเทียบกับในอดีต อย่างโครงการจันทรายาน-2 ของอินเดีย ก็สามารถทำได้ด้วยต้นทุนถูกที่สุดราว 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากนำมาคิดเทียบกับขนาดเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2562 โครงการจันทรายาน-2 ถือว่ามีต้นทุนคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.58 เท่านั้น

อย่างไรก็ดี เราต้องไม่ลืมว่าต้นทุนที่ต่ำของโครงการจันทรายาน-2 นั้นยังไม่ได้คิดรวม ‘ต้นทุนแฝง’ ที่เกิดจากการลงทุนสะสมเพื่อพัฒนาโครงการอวกาศมานานหลายสิบปีของอินเดีย ดังนั้น หากประเทศไทยอยากเดินหน้าโครงการไปดวงจันทร์เหมือนอย่างอินเดีย เราอาจไม่สามารถทำด้วยต้นทุนที่เท่ากับโครงการจันทรายาน-2 เพราะยังต้องทุ่มงบ R&D เพื่อวางรากฐานอีกมาก และหากมองดูงบประมาณของประเทศไทยที่ลงไปในส่วน R&D ในปี 2562 ยังอยู่เพียงร้อยละ 1.11 ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอินเดีย

นอกจากต้นทุนที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังมีต้นทุนอีกประเภทที่ต้องจ่ายคือ ‘ต้นทุนค่าเสียโอกาส’ (Opportunity Cost) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น เพราะการที่รัฐเลือกอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ หมายความว่าจะเกิดการถ่ายโอนทรัพยากรจากส่วนอื่นๆ มายังอุตสาหกรรมที่ถูกเลือกนี้ก่อน ไม่ต่างอะไรจากการเลือกอุตสาหกรรมผู้ชนะ (Picking the winner) และอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกเลือกก็อาจจะถูกกีดกันโดยธรรมชาติในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ทำให้ไม่อาจพัฒนาขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้

คำถามคือ รัฐรับประกันได้หรือไม่ว่าอุตสาหกรรมอวกาศจะเป็นผู้ชนะได้จริง เพราะหากรัฐไม่มีศักยภาพมากพอหรือรับประกันได้ว่าจะทำได้ตามเป้าหมายทั้งที่ทุ่มทรัพยากรลงไปจำนวนมาก อาจทำให้คนไทยเสียผลประโยชน์มหาศาลจากการทุ่มทรัพยากรลงไปในที่ใดที่หนึ่งเช่นนี้ และต้องอย่าลืมว่าเงินทุนที่ทุ่มลงไปนี้ ส่วนหนึ่งย่อมมาจาก ‘ภาษี’ ที่ประชาชนร่วมกันจ่าย

เมื่อสิ่งที่ต้องเสียไปเกิดขึ้นก่อนผลประโยชน์ที่จะได้รับ และไม่อาจรับรู้ได้อย่างแท้จริงว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร การไปดวงจันทร์จึงถือเป็น ‘ความเสี่ยง’ ที่คนไทยต้องแบกรับจากโครงการดังกล่าวไปจนกว่าผลประโยชน์จากการลงทุนนี้จะเกิดขึ้นจริง


ต้นทุนที่แพงที่สุดคือการไม่ทำอะไรเลย


โดยปกติแล้ว คนตัดสินใจลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนอย่างที่คาดการณ์หรือมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้ผลลัพธ์อาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แต่ ‘การไม่ลงมือทำอะไรเลย’ ก็ไม่ใช่วิธีการหลีกหนีความเสี่ยงที่ควรทำ[ii] เพราะนั่นคือการปิดโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนไปอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม เมื่อลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘รัฐ’ เป็นผู้ลงทุนด้วยแล้ว การป้องกันความเสี่ยงยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับประเทศไทย หนึ่งในความเสี่ยงใหญ่ที่สุดคือ ‘ความไม่เชื่อมั่น’ ของประชาชนที่มีต่อรัฐเสียเอง เพราะคนทั่วไปรู้ดีว่ารัฐไทยเป็น ‘รัฐราชการ’ ที่อาจไม่มีความสามารถมากพอที่จะนำการพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้ จากการถอดบทเรียนของ The Celtic Tiger ต่อประเทศไทย เขียนโดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ได้ทำการย้ำชัดว่ารัฐไทยยังไม่ใช่รัฐพัฒนา (Developmental State) และได้รับคำนิยามโดยหลวมๆ ว่าเป็นเพียงรัฐขีดความสามารถปานกลาง (Intermediate State) เท่านั้น

แม้ว่า ‘รัฐราชการ’ ของไทยในปัจจุบันไม่ได้มีความหมายคล้ายเช่นในอดีต กล่าวคือ ไม่ได้มีอำนาจในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เหลือไว้เพียง ‘ระบบราชการ’ ในการดำเนินงานตามการวางแผนของฝ่ายบริหารอีกที แต่การดำเนินงานในลักษณะ ‘ระบบราชการ’ นี้ได้กลายเป็นตัวรั้งประสิทธิภาพในการพัฒนาของรัฐไทยเรื่อยมา เพราะมีขนาดใหญ่ มีการทำงานที่ซับซ้อนแต่ไม่สัมพันธ์กัน ในหลายครั้งการแบ่งหน้าที่ในความรับผิดรับชอบ (Accountability) ระหว่างหน่วยงานก็ไม่มีความชัดเจน

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำงานของภาครัฐมีประสิทธิภาพต่ำนี้ เป็นผลพวงของการดำเนินการตาม ‘ระเบียบราชการ’ (Red Tape) มากกว่าคำนึงถึงประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวม ทำให้เกิดความล่าช้า มีประสิทธิภาพต่ำ ถ้าเทียบกับต่างประเทศ เราจะเห็นว่าคุณภาพของรัฐไทยต่ำกว่าประเทศอย่างเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ที่มีการใช้ภาครัฐนำการพัฒนา หรือต่อให้เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งเชิงเศรษฐกิจสำคัญ ก็จะพบว่าประสิทธิภาพรัฐไทยเราต่ำกว่าเช่นกันดังข้อมูลที่ปรากฎในภาพด้านล่าง


ภาพ The comparison in quality of government

Source: The Quality of Government Institution


ยิ่งไปกว่านั้น คุณภาพของรัฐไทยยังอาจเรียกได้ว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับคุณภาพของภาครัฐทั่วโลก ฉะนั้นการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่นั้น ทางหนึ่งอาจต้องเริ่มจากการปรับปรุงการทำงานของภาครัฐเองเสียก่อน

“ต้นทุนที่แพงที่สุดคือการไม่ทำอะไรเลย” ในที่นี้ จึงไม่ได้หมายความถึงการพัฒนาโครงการอวกาศ แต่หมายความว่าหากรัฐไม่ยอมปรับตัวอะไรเลยจะทำให้ต้นทุนแพงมหาศาล เพราะไม่ว่าจะหยิบจับอุตสาหกรรมไหนขึ้นมาชูธง ใช่หรือไม่ใช่อุตสาหกรรมอวกาศ ถ้ารัฐไม่มีประสิทธิภาพก็คงจะยากจะบรรลุฝั่งฝันได้โดยง่าย ซ้ำร้ายยังเสี่ยงต่อการสร้างภาระก้อนโตทิ้งไว้ให้กับประเทศ

และผู้ที่แบกรับต้นทุนจากการที่รัฐไม่ทำอะไรเลย ก็หนีไม่พ้นประชาชนคนไทย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กล่าวทั้งหมดเป็นเพียงการคาดการณ์ที่เกิดขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งเพียงเท่านั้น จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้มีการยืนยันในด้านวัตถุประสงค์จากหน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนโครงการอวกาศอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ฉะนั้น สาธารณชนยังคงต้องติดตามต่อไปว่าแท้จริงแล้วรัฐไทยจะไปดวงจันทร์เพื่อประโยชน์ของคนในชาติจริงหรือไม่ อย่างไร  



[i] Anita Bhatia, India’s space program: Cause for Concern?

[ii] ความเสี่ยงโดยแท้จริงไม่ได้หมายถึงเพียงความเสี่ยงในเชิงลบ กล่าวคือ ความเสี่ยงเกิดจากความน่าจะเป็นที่ผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นนั้นเบี่ยงเบนไปจากค่าคาดหวัง (Expected value) ในทีนี้จึงเป็นไปได้ว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นคือโอกาสของการได้ผลตอบแทนที่มากกว่า แต่ความเสี่ยงในลักษณะนี้มักไม่ถูกนับเป็นความเสี่ยง และนักลงทุนก็มักที่จะคาดหวังถึงความเสี่ยงในลักษณะนี้มากกว่าที่จะได้รับเพียงผลตอบแทนเท่าที่คาดไว้เสียด้วยซ้ำ


อ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจ. (2562). ‘อินเดีย’ เจ้าเจ้าอวกาศโลว์คอสต์. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/ news/detail/840617

ฉัตร คำแสง. (2563). สภาวะรัฐรุงรังแต่ดันไร้น้ำยา. สืบค้นจาก https://www.the101.world/shaggy-but-ineff icientstate/

________. (2564). โรคสมองกับกล้ามเนื้อไม่สัมพันธ์กันในภาครัฐ. สืบค้นจาก https://www.the101.world /thai-gov-dyspraxia/

เดลินิวส์. (2563). ชี้ไทยไปดวงจันทร์ได้จริงภายใน 7 ปี แค่ไร้ทิศ-ทำไปเพื่ออะไร? สืบค้นจาก https://www.dai lynews.co.th/education/812830

ไทยรัฐ. (2563). ฝันไป หรือทำได้จริง อีก 7 ปี ไทยส่งยานอวกาศ สำรวจดวงจันทร์ ชาติที่ 5 ในเอเชีย. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1995499

แบ๊งค์ งามอรุณโชติ. (2564). และแล้วเสือตัวที่ห้าก็ปรากฏ…บทเรียนจาก The Celtic Tiger ต่อประเทศไทย. สืบค้นจาก https://www.the101.world/the-celtic-tiger/

ประสาน ไตรรัตน์วรกุล. (2563). รัฐและระบบราชการไทยกับความท้าทายข้างหน้าของประเทศ. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.

รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์. (2563). ความไร้ประสิทธิภาพคือธรรมชาติของทุกรัฐบาล. สืบค้นจาก https://themomen tum.co/why-the-federal-government-fails/?fbclid=IwAR0wE8nwPsQV56HOFOd4Rp5_VT 8NNmtPWt2yxT1IyN3V93wRpKAfFNOTK1c

ศรัณย์ โปษยะจินดา, พันธ์อาจ ชัยรัตน์, และ ปิติ ศรีแสงนาม. (21 มกราคม 2564). ดำเนินรายการ โดย สุทธิชัย หยุ่น [ถ่ายทอดสด]. คนไทยได้อะไรจากการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ (EP.2). ถอดรหัสไทยจะไปดวงจันทร์. NARIT Facebook Live, สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ.  

Anita Bhatia. (1985). India’s Space Program: Cause for Concern? Asia Survey, 25 (10), 1013-1030.

Dupont. (2019). Apollo 11: How Innovation and Partnership Prepared us for Space. Retrieved from https://www.dupont.com/news/innovation-and-partnership-prepared-us-for-spa ce.html

Jean Creighton. (2019). Opinion: 5 innovations of the Apollo moon program that changed life here on Earth. Retrieved from https://www.marketwatch.com/story/thank-the-apollo-moon-program-for-the-gps-you-use-every-day-2019-07-08

Jonathan Amos. (2014). Why India’s Mars mission is so cheap – and thrilling. Retrieved from https://www.bbc.com/news/science-environment-29341850

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save