fbpx
ยุทธศาสตร์ 4 ทิศในยุค Abnormal

ยุทธศาสตร์ 4 ทิศในยุค Abnormal

สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ

 

ในยุคผิดปกติใหม่ (New Abnormal) ที่เรายังต้องอยู่กับความไม่แน่นอนเรื่องการเปิด-ปิดเมืองและการเว้นระยะห่างทางสังคม จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์บนฐานความเข้าอกเข้าใจ ว่าคนแต่ละกลุ่มได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ อย่างไร

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ผมว่ามีประโยชน์มากในการวางยุทธศาสตร์ด้านนโยบายในช่วงเวลานี้คือบทความชื่อ “เมื่อ โควิด-19 ปิดเมือง: ผลกระทบต่อแรงงานไทยในมิติ supply-side” โดย ดร.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟูและคณะ

ผู้เขียนใช้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของอาชีพต่างๆ เจาะดูว่ากลุ่มไหนบ้างที่มีความเปราะบางในยุคโควิด โดยใช้สองปัจจัยหลักๆ คือ งานของเขาทำที่บ้านได้ง่ายแค่ไหน (อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติได้ไหม)? และ งานของเขาต้องพบปะผู้คนอย่างใกล้ชิดมากน้อยเพียงใด (ยิ่งใกล้ยิ่งเสี่ยงรับ-แพร่เชื้อ)

บทความที่ว่านี้แบ่งอาชีพเป็น 4 กลุ่ม ตามตารางด้านล่าง โดยมีสามกลุ่มที่เปราะบางอย่างชัดเจนและต้องการความช่วยเหลือในรูปแบบต่างกัน

 

 

1. กลุ่มเปราะบางที่สุด

 

คือกลุ่มอาชีพที่ทำงานที่บ้านได้ยากและปกติยังต้องพบผู้คนจำนวนมาก เช่น ครู พนักงานในสถานที่เลี้ยงเด็ก พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร มัคคุเทศก์ ฯลฯ

แม้จะเริ่มมีการเปิดเมือง คนกลุ่มนี้อาจเป็นกลุ่มที่สามารถกลับมาทำงานได้เต็มที่ในรอบหลังๆ เพราะมีความเสี่ยงที่จะติด/แพร่เชื้อสูง (และถ้าไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็น่าคิดว่าเราเปิดล็อกดาวน์แบบถูกขั้นตอนหรือยัง)

หนทางแก้ปัญหาสำหรับกลุ่มนี้มีอย่างน้อยสองวิธี

หนึ่ง รัฐบาลควรให้เงินสนับสนุนให้เขาอยู่บ้านได้อย่างไม่อดอยาก เนื่องจากหลายอาชีพในกลุ่มนี้มีรายได้น้อย สายป่านสั้นและทำงานในเมือง หากเขามีปัญหาปากท้องต้องออกมาทำงานก็ย่อมเกิดความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อ

ผมเคยเขียนถึงประเด็นนี้ไปแล้วใน “บาซูก้าการคลังที่ดีต้องมี 5T” แต่นอกจากบทบาทรัฐบาลแล้วเรายังได้เห็นบทบาทภาคประชาสังคมที่ออกมาช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะในรูปแบบของเงินบริจาคหรือการให้อาหาร เครื่องใช้จำเป็น

สอง รัฐบาลอาจช่วยสร้างงานชั่วคราวให้เขาทำ เพราะงานไม่ได้ให้แค่เงิน แต่ให้ความหมายและความรู้สึกมีคุณค่าของคนซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อสภาพจิตใจในยามนี้อีกด้วย

ยกตัวอย่างในสิงคโปร์ มีการตั้ง Care Ambassador และ Social Distancing Ambassador โดยเอาพนักงานจากสิงคโปร์แอร์ไลน์และภาคท่องเที่ยวที่ไม่มีงานตอนนี้มาทำงานช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาล สถานที่พักกักตัว ตามถนน และร้านค้าเพื่อให้คนเดิน-ยืนห่างกัน คอยวัดไข้ ฯลฯ โดยมีเงินเดือนให้

หลายคนบอกว่ายังได้ประสบการณ์และทักษะใหม่ๆ จากการทำงานนี้อีกด้วย

 

2. กลุ่มเสี่ยงถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์

 

กลุ่มนี้คือพวกที่ทำงานที่บ้านได้ยาก เพราะต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์เฉพาะ หรือใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทำที่บ้านได้ยาก แต่ข้อดีคือตัวงานมักจะไม่ต้องเจอคนใกล้ชิดมากนัก เช่น งานในโรงงานอุตสาหกรรม งานก่อสร้าง

ในระยะสั้นกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่กลับไปทำงานได้ก่อน (หรืออาจไม่ถูกล็อกดาวน์เลย) แต่ต้องมีมาตราการรองรับ เช่น การจำกัดคนในโรงงาน การใส่หน้ากากและใช้เจลล้างมือ

โลกหยุด แต่อนาคตมาถึงเร็วขึ้น

แต่โดนส่วนตัวผมมองว่าความเสี่ยงที่แท้จริงของกลุ่มนี้คือการถูกแทนที่ในระยะยาว เพราะงานที่ไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนมากนัก และหากไม่ได้ใช้ทักษะซับซ้อนก็มักเป็นกลุ่มที่ถูกแทนที่โดย ‘หุ่นยนต์’ ได้โดยง่าย

โดยเทรนด์นี้มีอยู่ก่อนโควิดแล้ว แต่ไวรัสตัวนี้อาจมาเร่งให้อนาคตมาถึงเร็วขึ้น ลองนึกภาพดูว่าระหว่างที่เรายังต้องทำการเว้นระยะห่าง จำกัดคนงาน หากโรงงานใครมีแต่หุ่นยนต์เป็นส่วนใหญ่เท่ากับว่าการผลิตของเขาแทบจะไม่ถูกกระทบเลย

แล้วถามว่า พอไวรัสผ่านไปเขาจะกลับมาจ้างคนแทนหุ่นยนต์หรือไม่?

ดังนั้น ทางแก้ปัญหาของคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีเพียงการปล่อยให้เขาทำงานในระยะสั้น แต่ต้องเตรียมรับมือกับความเสี่ยงที่งานของเขาอาจหายไปในอนาคตอันใกล้ ควรจะต้องพิจารณาอย่างยิ่งยิ่งให้มีโครงการแนะแนวทางการเปลี่ยนอาชีพและสร้างทักษะใหม่ๆ (reskilling/upskilling) และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีพ เช่น SkillsFuture ที่สิงคโปร์ (อ่านเพิ่มเติมในบทความว่าด้วยอนาคตแห่งการเรียนรู้)

 

3. กลุ่มเสี่ยงเข้าไม่ถึงดิจิทัล

 

กลุ่มนี้เป็นพวกที่งานตามปกติต้องพบคนมาก แต่ข้อดีคือสามารถเปลี่ยนมาทำเป็นรูปแบบดิจิทัลได้ เช่น พนักงานขายของ ครูโรงเรียนมัธยม

แม้อาชีพเหล่านี้จะสามารถทำงานผ่านทางดิจิทัลได้ในทางทฤษฎี แต่ไม่ได้แปลว่าในทางปฏิบัติและในบริบทของประเทศไทยคนกลุ่มนี้สามารถใช้ช่องทางออนไลน์เหล่านี้ได้จริง ทำให้เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงดิจิทัล (digital divide) ขึ้น โดยอาจมีสาเหตุและวิธีแก้ที่ต่างกันไป

หนึ่ง ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพในราคาที่จ่ายไหว

ไม่ใช่ว่ามีมือถือแล้วจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้หมด หลายคนอยู่ในเขตที่จุดสัญญาณอาจไม่เสถียร และการใช้อินเทอร์เน็ตนานๆ อาจทำให้ค่าอินเทอร์เน็ตแพงเกินไป นี่เป็นปัญหาใหญ่ด้านการศึกษาออนไลน์ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กในที่ห่างไกลจากเมือง ความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงการศึกษาเป็นประเด็นใหญ่ เพราะอาจทำให้ความไม่เท่าเทียมกันของเจเนอเรชันนี้ถูกลากไปถึงคนรุ่นต่อไปที่เป็นอนาคตของเรา

สอง ขาดทักษะดิจิทัล

แม้จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แต่อาจไม่มีทักษะและความเชี่ยวชาญในการนำมาปฏิบัติจริงอย่างมีประสิทธิภาพ ในวงการศึกษาแม้แต่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ควรจะมีความพร้อมสูงก็ยังพบว่าการสอนผ่านช่องทางออนไลน์เพียงอย่างเดียวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการสอบ

การทำธุรกิจขายของออนไลน์ก็เช่นกัน จะบอกให้ SMEs หันไปทำอีคอมเมิร์ซแต่ในความเป็นจริงการจะทำให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องมีทักษะและความรู้เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจออนไลน์

ทางออกคือการปรับหลักสูตรอบรมทักษะดิจิทัลเหล่านี้ที่เคยทำแบบออฟไลน์ให้เป็นรูปแบบออนไลน์ ให้คนเรียนรู้ได้สะดวกและง่ายขึ้นขณะอยู่ที่บ้าน โดยอาจจะใช้ความร่วมมือระหว่างรัฐและแพลตฟอร์มดิจิทัล

สำหรับรุ่นใหญ่ที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับการอบรมผ่านช่องทางออนไลน์อาจให้ลูกหลานที่ปัจจุบัน ‘ติดอยู่ที่บ้าน’ เหมือนกันช่วยเป็น ‘ยุวทูตดิจิทัล’ ลูกสอนพ่อแม่ หรือหลานสอนปู่ย่า เป็นการเปลี่ยนวิกฤตที่คนรุ่นใหม่กลับไปอยู่ที่บ้านและอาจว่างจากงานหรือโรงเรียนให้เป็นประโยชน์ได้ระดับหนึ่ง

สาม กฎหมายบีบรัด

คนอาจเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ใช้เป็น แต่สุดท้ายก็ยังต้องไปนั่งใส่หน้ากากในห้องประชุมหรือยืนเข้าคิวหน้าหน่วยงานรัฐบาลเพราะกฎหมายบังคับให้ต้องทำเช่นนั้น

ช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้เปิดโปงให้เราเห็นว่าที่ผ่านมาเราถูกเชือกเถาวัลย์คดเคี้ยวในชื่อของ “กฎกติกาที่ล้าสมัย” พันแข้งพันขาอยู่จนเดินไปข้างหน้าได้ยาก

ในยามปกติการจะตัดพวกเถาวัลย์เหล่านี้ให้ขาด ปลดล็อกให้ธุรกิจและประชาชนเข้าสู่ยุค 4.0 ที่แท้จริงอาจยากมาก แต่เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลก็เพิ่งออก พ.ร.ก. ว่าด้วยการประชุมสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดเงื่อนไขต่างๆ เช่น การบังคับให้ต้องมี 1 ใน 3 ขององค์ประชุมอยู่ที่เดียวกัน เราอาจถามต่อว่าทำเพิ่มอีกได้ไหม? เช่น ทำเรื่อง e-signature ให้หน่วยงานรัฐบาลสามารถรับเอกสารที่มีการเซ็นทางออนไลน์ได้

ในยามวิกฤติอาจเป็นโอกาสทองที่จะกลับมาดูเรื่องการปรับลดกฎกติกาเหล่านี้แบบโครงการ Regulatory Guillotine

 

4. กลุ่มที่ยืดหยุ่นที่สุด…ก็อาจต้องการความช่วยเหลือ

 

สุดท้ายกลุ่มอาชีพที่ยืดหยุ่นที่สุด คือพวกที่สามารถทำงานที่บ้านได้ไม่ยากและไม่ต้องพบคนมากนัก เช่น นักเศรษฐศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ นักทำ Big data สื่อบางประเภท

แต่ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะไม่ถูกกระทบเลย เพราะแม้ว่างานเขาอาจทำที่บ้านได้ แต่บริษัทที่เขาทำอยู่อาจไปไม่รอดในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำและสภาพคล่องขาดแคลน เช่น กลุ่มสตาร์ทอัพที่อาจจะมีหลายคน สามารถทำงานที่บ้านได้ แต่ในยุคโควิดอาจไม่มีออเดอร์ หรือขาดแหล่งเงินทุนที่ปกติเคยหาได้จากการระดมทุน ทำให้ขาดสภาพคล่องอย่างแรง

กลุ่มนี้คือ Digital Talent ที่จะเป็นหัวหอกรับมือกับอนาคตที่จะมาถึงเร็วขึ้นในโลกหลังโควิด เราควรต้องช่วยเหลือให้ฝ่าฟันช่วงวิกฤตนี้ไปได้

ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลอาจพิจารณาใช้มาตราการช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อต่อสายป่านให้สตาร์ทอัพไทย เช่นในรูปแบบ Matching fund ลงทุนร่วมกับสถาบันการเงินที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนด้านสตาร์ทอัพอยู่แล้ว (เช่น VC, CVC) โดยอาจมีเงื่อนไขว่าสตาร์ทอัพที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่เลิกจ้างงานคนเกินร้อยละที่กำหนด จะได้เป็นตัวช่วยแรงงานที่มีทักษะ 4.0 ไม่ใช่แค่ช่วยผู้ถือหุ้นบริษัทเท่านั้น

นอกจากนี้รัฐบาลอาจช่วยจ้างงานให้สตาร์ทอัพเหล่านี้มาช่วยชาติ พัฒนาแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์กับยุคโควิด แบบที่เราได้เห็นในไต้หวัน

ยุทธศาสตร์ 4 ทิศสำหรับคน 4 กลุ่มใหญ่ในยุคเปลี่ยนผ่านนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการใช้นโยบายแบบที่เข้าอกเข้าใจความลำบากของคนแต่ละกลุ่ม โดยต้องมีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม

เพราะประเทศที่ปรับตัวได้ดีในเวลานี้ จะเป็นผู้ได้เปรียบในโลกหลังโควิดแน่นอน

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save