สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
ในปี 2562 (2019) มหาวิทยาลัย Singapore University of Technology and Design (SUTD) ของสิงคโปร์ที่มีการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ Massachusetts Institute of Technology (MIT) สถาบันการศึกษาชื่อก้องโลก ประกาศหลักสูตรปริญญาตรีใหม่ชื่อ Design and AI หรือดีไซน์และปัญญาประดิษฐ์
หันมามองในประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดโปรแกรมใหม่ BASCii หรือ ปริญญาตรีหลักสูตรศิลปศาสตรและวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขานวัตกรรมบูรณาการ และไม่นานมานี้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังดึง สถาบันการเรียนโปรแกรมมิ่ง Ecole 42 ‘มหาวิทยาลัย’ ชื่อดังระดับโลกที่ไม่ให้ปริญญา ไม่มีห้องเรียนและไม่มี ‘ครู’ สอน ก็ได้มาเปิดที่ประเทศไทย
โลกมหาวิทยาลัยมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่?
ลองคิดดูสิครับ หากเรายังอยู่ในทศวรรษที่แล้วคงรู้สึกงงเป็นไก่ตาแตกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ แต่เพียง 10 ปีต่อมาเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป มันกลายเป็นเรื่องจำเป็นที่ขาดไม่ได้หากเราต้องการสร้างการศึกษาแห่งอนาคต
ในยุค 2020 พรมแดนแห่งการเรียนรู้จะจางหายไปและถูกเขียนใหม่ การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นมาสักพักแล้ว และเร่งให้เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นอีกในอนาคต
เรียนรู้จากทุกวิชา
เส้นที่ขีดแบ่งแต่ละคณะภาควิชาจะค่อยๆ ละลายหายไป ส่วนหนึ่งเพราะในวันหน้าเราไม่รู้ว่าวิชาไหนจะเป็นที่ต้องการ จึงต้องกระจายความเสี่ยง แต่เหตุผลที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็เพราะโจทย์ในโลกความเป็นจริงที่คนจบมาต้องเผชิญ นับวันยิ่งเต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน และมักต้องใช้หลายทักษะผสมผสานกัน เช่น ดีไซเนอร์ควรรู้จักวิธีใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์, Data Scientist ต้องมีความเข้าใจธุรกิจถึงจะตั้งคำถามถูกต้องแม่นยำ, หมออาจสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลคนไข้ เป็นต้น
แต่ที่ยิ่งสำคัญกว่านั้นคือ การเรียนรู้ข้ามพรมแดนคณะอาจทำให้เราได้พบคนหลากหลาย และเพื่อนที่มองโลกต่างเลนส์ มหาวิทยาลัยไม่ควรทำให้ใครกลายเป็น ‘แกะดำ’ แต่สร้างสังคม ‘แกะหลากสี’ เพราะความแตกต่างเป็นเชื้อเพลิงของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ทั้งยังเป็นการฝึกทักษะการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy) และทำงานเป็นทีม
เรียนได้จากทุกที่และทุกคน
ทุกวันนี้ คอร์สออนไลน์ แบบที่เรียกว่า Massive Open Online Course (MOOC) ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกแล้ว 900 มหาวิทยาลัยทั่วโลกเปิดคอร์สเหล่านี้กว่า 10,000 คอร์ส และแหล่งความรู้ในอินเตอร์เน็ตยังมีอีกมากมาย ตั้งแต่วีดีโอ ถึง Podcast ทำให้การเรียนสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา
หากมีมากเกินไปจนงง ไม่รู้จะเรียนอะไรดี ก็ยังมีเครื่องอำนวยความสะดวกเป็นเทคโนโลยีทางการศึกษา ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์ม RiPPle ที่มหาวิทยาลัย Queensland ใช้ สามารถช่วยประเมินว่านักเรียนแต่ละคนมีจุดอ่อนด้านไหน ควรเรียนวิชาอะไร ควรทำงานกลุ่มกับเพื่อนคนใด และมี content เกี่ยวข้องอะไรบ้างที่แนะนำ
โดยเนื้อหาเหล่านั้นอาจไม่ได้เป็นตำราที่อาจารย์ใส่เข้ามาเท่านั้น แต่อาจเป็นเหมือน ‘สมุดโน๊ต’ สรุปวิชาต่างๆ ที่เพื่อนนักเรียนคนอื่นทำใส่ไว้ออนไลน์ก็ได้ (ไม่ต่างจากยุคเก่าที่เราจะเวียนสมุดโน้ตของคนเก่งกันไปหลายรุ่นจนกระดาษเหลือง) แปลว่าอาจารย์เป็น ‘ผู้นำการเรียนรู้’ ในห้องเรียน แต่ไม่ได้เป็นผู้ ‘ผูกขาด’ การสอนแต่เพียงผู้เดียว
ต่อไปการศึกษาอาจยิ่งคล้ายกับการดู Netflix ที่มีซีรี่ย์จากหลายเจ้า และมีแพลตฟอร์มช่วยแนะนำสิ่งที่เหมาะกับเรา เพียงแต่อาจแนะนำสิ่งที่เราควรเรียน มากกว่าแนะนำตามความชอบ
เรียนรู้ทุกช่วงชีวิต
พรมแดนของนักเรียนและคนทำงานจะจางหายไป โดยแบ่งเป็นสองส่วน ข้อหนึ่ง เด็กมหาวิทยาลัยต้องเริ่มรู้จักการทำงานในโลกความจริงตั้งแต่อยู่ในมหาวิทยาลัย
ทั้งคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ทั้งแจ็ค หม่าแห่งอาลีบาบา ได้พูดไว้ในงาน OECD: Forum for World Education 2019 ถึงความสำคัญของการเรียนรู้จากการทำจริง เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้จากสังคมจริง
ในทำนองเดียวกันนั้น ข้อมูลบทสำรวจเยาวชนอาเซียนของบริษัทเทคโนโลยี Sea ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) พบว่า 81% ของคนรุ่นใหม่คิดว่าการฝึกงานนั้น ‘สำคัญเทียบเท่าหรือยิ่งกว่า’ การเรียนในโรงเรียน โดยมากบอกว่า เพราะต้องการนำสิ่งที่เรียนมาในห้องไปลองใช้ในบริบทการทำงานจริง
ข้อสอง กลับกันกับข้อแรกคือ คนทำงานต้องมีความเป็นนักเรียนตลอดเวลา เพราะความรู้นั้นอายุสั้นลงในยุคที่คนอายุยืน ไม่ใช่เรื่องแปลกหากทุกวันนี้บางคนที่เกษียณตั้งแต่ตอนอายุ 60 อาจจะใช้ชีวิตในวัยเกษียณนานกว่าที่เคยเรียนหนังสือในโรงเรียนมาชั่วชีวิต แนวคิดที่ว่าชีวิตสามช่วง “เรียน-ทำงาน-เกษียณ” จะต้องหมดไป หลีกทางให้กับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning)
ความยากของการเรียนรู้ตลอดชีวิตอาจไม่ใช่เรื่องการหาคำตอบ เพราะทรัพยากรการเรียนรู้มีอยู่มากมายทุกแห่งหนอย่างที่อธิบายข้างบน แต่กลับเป็นเรื่อง ‘การหาคำถาม’ หรือ ความกระตือรือร้นอยากเรียนรู้ ที่บ่อยครั้งจะเสื่อมถอยเมื่อทำงานมาหลายปี ความกลัวที่ออกจาก Comfort Zone เปิดใจรับสิ่งใหม่ที่ตนเองไม่คุ้น ลดอีโก้ ถอดหมวกความเป็นนายผู้รู้ทุกอย่าง และกลับไปเป็นนักเรียนผู้อยากเรียนรู้จากทุกคน
บทสำรวจของ Sea-WEF ชี้ให้เห็นว่า ในหมู่คนอายุ 15-35 ปี สัดส่วนของคนที่ให้ความสําคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทยนั้นต่ำกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียน ในขณะที่สัดส่วนดังกล่าวของเวียดนามสูงมากที่สุดในภูมิภาค
เราคงต้องพยายามช่วยกันตอบว่า ทำอย่างไรจะให้คนไทยมีความกระตือรือร้นต่อการพัฒนาตนเองตลอดชีวิตมากขึ้น ให้มีความหลงไหลกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ และสามารถก้าวข้ามความกลัวต่อความล้มเหลวได้ เพราะหากไม่ระวังและตื่นตัวประเด็นนี้ อาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากการมี Mindset ที่เข้าใจถึงความสำคัญ และพร้อมกลับไปเรียนใหม่ จะมีผลโดยตรงกับความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) ต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
มหาวิทยาลัยยุค 2020 อยู่ที่ไหน?
ในอนาคตอาจต้อง ‘อยู่ทุกที่’
ยุค 2020 ทุกองค์กรจำเป็นต้องมี ‘พื้นที่การเรียนรู้’ เสมือนเป็น ‘มหาวิทยาลัย’ หรือสถาบันการศึกษา ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าบริษัท องค์กรรัฐ หรือ NGO ต้องให้ปริญญา เพียงแต่ต้องคอยสร้างระบบนิเวศน์ที่กระตุ้นการเรียนรู้ การพัฒนาตนเองตลอดเวลาให้คน ต้องมีการลงทุนและสนับสนุนการเรียนรู้ทักษะใหม่ ผู้นำต้องไม่เป็นแค่บอสสั่งงาน แต่ต้องมีความเป็น ’ครูที่ดี’ ให้กับคนในทีม
นอกจากคนจะต้องการให้ทุกที่มีพื้นที่การเรียนรู้แล้ว (Demand Side) เทคโนโลยีทางการศึกษาต่างๆ เช่น MOOC แพลตฟอร์มการเรียนรู้ ยังจะช่วยให้ทุกองค์กรที่ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้สามารถสร้างพื้นที่มหาวิทยาลัยในองค์กรของตนเองได้ง่ายขึ้น (Supply side)
แต่หากลองคิดดูจริงๆ คำตอบนี้เปิดประเด็นความท้าทายสำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน
หากในยุคใหม่ทุกคนสามารถเรียนได้จากทุกที่ ทุกเวลา ทุกสาขาวิชา ในทุกองค์กร โดยไม่ต้องอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยจริง คำถามที่ตามมาก็คือ บทบาทของมหาวิทยาลัยในยุค 2020 ควรจะเป็นอย่างไร?
จะตอบคำถามนี้ได้อาจต้องตีโจทย์ให้แตกก่อนว่า อะไรที่มหาวิทยาลัยทำได้ แต่องค์กรอื่นๆ ทำไม่ได้ (หรือทำได้ไม่ดีเท่า) ในเรื่องการเรียนรู้และพัฒนาคน
โดยส่วนตัวผมว่ามีหลายข้อที่มหาวิทยาลัยได้เปรียบองค์กรอื่น แต่ขอติดไว้มาคุยกันตอนหน้า
การเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยยุคใหม่ การปรับตัวของมหาวิทยาลัย การปรับตัวขององค์กร มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยในอนาคต การศึกษา สันติธาร เสถียรไทย Life-long learning
Group Chief Economist ของ Sea Limited ซึ่งมีกิจการในเครืออย่าง AirPay, Shopee และ Garena | อดีต Head of Emerging Asia Economics Research ของ Credit Suisse