สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพ
ในยุคผิดปกติใหม่ (New Abnormal) ที่เรายังต้องอยู่กับความไม่แน่นอนเรื่องการเปิด-ปิดเมืองและการเว้นระยะห่างทางสังคม จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์บนฐานความเข้าอกเข้าใจ ว่าคนแต่ละกลุ่มได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ อย่างไร
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ผมว่ามีประโยชน์มากในการวางยุทธศาสตร์ด้านนโยบายในช่วงเวลานี้คือบทความชื่อ “เมื่อ โควิด-19 ปิดเมือง: ผลกระทบต่อแรงงานไทยในมิติ supply-side” โดย ดร.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟูและคณะ
ผู้เขียนใช้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของอาชีพต่างๆ เจาะดูว่ากลุ่มไหนบ้างที่มีความเปราะบางในยุคโควิด โดยใช้สองปัจจัยหลักๆ คือ งานของเขาทำที่บ้านได้ง่ายแค่ไหน (อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติได้ไหม)? และ งานของเขาต้องพบปะผู้คนอย่างใกล้ชิดมากน้อยเพียงใด (ยิ่งใกล้ยิ่งเสี่ยงรับ-แพร่เชื้อ)
บทความที่ว่านี้แบ่งอาชีพเป็น 4 กลุ่ม ตามตารางด้านล่าง โดยมีสามกลุ่มที่เปราะบางอย่างชัดเจนและต้องการความช่วยเหลือในรูปแบบต่างกัน
1. กลุ่มเปราะบางที่สุด
คือกลุ่มอาชีพที่ทำงานที่บ้านได้ยากและปกติยังต้องพบผู้คนจำนวนมาก เช่น ครู พนักงานในสถานที่เลี้ยงเด็ก พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร มัคคุเทศก์ ฯลฯ
แม้จะเริ่มมีการเปิดเมือง คนกลุ่มนี้อาจเป็นกลุ่มที่สามารถกลับมาทำงานได้เต็มที่ในรอบหลังๆ เพราะมีความเสี่ยงที่จะติด/แพร่เชื้อสูง (และถ้าไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็น่าคิดว่าเราเปิดล็อกดาวน์แบบถูกขั้นตอนหรือยัง)
หนทางแก้ปัญหาสำหรับกลุ่มนี้มีอย่างน้อยสองวิธี
หนึ่ง รัฐบาลควรให้เงินสนับสนุนให้เขาอยู่บ้านได้อย่างไม่อดอยาก เนื่องจากหลายอาชีพในกลุ่มนี้มีรายได้น้อย สายป่านสั้นและทำงานในเมือง หากเขามีปัญหาปากท้องต้องออกมาทำงานก็ย่อมเกิดความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อ
ผมเคยเขียนถึงประเด็นนี้ไปแล้วใน “บาซูก้าการคลังที่ดีต้องมี 5T” แต่นอกจากบทบาทรัฐบาลแล้วเรายังได้เห็นบทบาทภาคประชาสังคมที่ออกมาช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะในรูปแบบของเงินบริจาคหรือการให้อาหาร เครื่องใช้จำเป็น
สอง รัฐบาลอาจช่วยสร้างงานชั่วคราวให้เขาทำ เพราะงานไม่ได้ให้แค่เงิน แต่ให้ความหมายและความรู้สึกมีคุณค่าของคนซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อสภาพจิตใจในยามนี้อีกด้วย
ยกตัวอย่างในสิงคโปร์ มีการตั้ง Care Ambassador และ Social Distancing Ambassador โดยเอาพนักงานจากสิงคโปร์แอร์ไลน์และภาคท่องเที่ยวที่ไม่มีงานตอนนี้มาทำงานช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาล สถานที่พักกักตัว ตามถนน และร้านค้าเพื่อให้คนเดิน-ยืนห่างกัน คอยวัดไข้ ฯลฯ โดยมีเงินเดือนให้
หลายคนบอกว่ายังได้ประสบการณ์และทักษะใหม่ๆ จากการทำงานนี้อีกด้วย
2. กลุ่มเสี่ยงถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์
กลุ่มนี้คือพวกที่ทำงานที่บ้านได้ยาก เพราะต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์เฉพาะ หรือใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทำที่บ้านได้ยาก แต่ข้อดีคือตัวงานมักจะไม่ต้องเจอคนใกล้ชิดมากนัก เช่น งานในโรงงานอุตสาหกรรม งานก่อสร้าง
ในระยะสั้นกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่กลับไปทำงานได้ก่อน (หรืออาจไม่ถูกล็อกดาวน์เลย) แต่ต้องมีมาตราการรองรับ เช่น การจำกัดคนในโรงงาน การใส่หน้ากากและใช้เจลล้างมือ
โลกหยุด แต่อนาคตมาถึงเร็วขึ้น
แต่โดนส่วนตัวผมมองว่าความเสี่ยงที่แท้จริงของกลุ่มนี้คือการถูกแทนที่ในระยะยาว เพราะงานที่ไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนมากนัก และหากไม่ได้ใช้ทักษะซับซ้อนก็มักเป็นกลุ่มที่ถูกแทนที่โดย ‘หุ่นยนต์’ ได้โดยง่าย
โดยเทรนด์นี้มีอยู่ก่อนโควิดแล้ว แต่ไวรัสตัวนี้อาจมาเร่งให้อนาคตมาถึงเร็วขึ้น ลองนึกภาพดูว่าระหว่างที่เรายังต้องทำการเว้นระยะห่าง จำกัดคนงาน หากโรงงานใครมีแต่หุ่นยนต์เป็นส่วนใหญ่เท่ากับว่าการผลิตของเขาแทบจะไม่ถูกกระทบเลย
แล้วถามว่า พอไวรัสผ่านไปเขาจะกลับมาจ้างคนแทนหุ่นยนต์หรือไม่?
ดังนั้น ทางแก้ปัญหาของคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีเพียงการปล่อยให้เขาทำงานในระยะสั้น แต่ต้องเตรียมรับมือกับความเสี่ยงที่งานของเขาอาจหายไปในอนาคตอันใกล้ ควรจะต้องพิจารณาอย่างยิ่งยิ่งให้มีโครงการแนะแนวทางการเปลี่ยนอาชีพและสร้างทักษะใหม่ๆ (reskilling/upskilling) และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีพ เช่น SkillsFuture ที่สิงคโปร์ (อ่านเพิ่มเติมในบทความว่าด้วยอนาคตแห่งการเรียนรู้)
3. กลุ่มเสี่ยงเข้าไม่ถึงดิจิทัล
กลุ่มนี้เป็นพวกที่งานตามปกติต้องพบคนมาก แต่ข้อดีคือสามารถเปลี่ยนมาทำเป็นรูปแบบดิจิทัลได้ เช่น พนักงานขายของ ครูโรงเรียนมัธยม
แม้อาชีพเหล่านี้จะสามารถทำงานผ่านทางดิจิทัลได้ในทางทฤษฎี แต่ไม่ได้แปลว่าในทางปฏิบัติและในบริบทของประเทศไทยคนกลุ่มนี้สามารถใช้ช่องทางออนไลน์เหล่านี้ได้จริง ทำให้เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงดิจิทัล (digital divide) ขึ้น โดยอาจมีสาเหตุและวิธีแก้ที่ต่างกันไป
หนึ่ง ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพในราคาที่จ่ายไหว
ไม่ใช่ว่ามีมือถือแล้วจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้หมด หลายคนอยู่ในเขตที่จุดสัญญาณอาจไม่เสถียร และการใช้อินเทอร์เน็ตนานๆ อาจทำให้ค่าอินเทอร์เน็ตแพงเกินไป นี่เป็นปัญหาใหญ่ด้านการศึกษาออนไลน์ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กในที่ห่างไกลจากเมือง ความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงการศึกษาเป็นประเด็นใหญ่ เพราะอาจทำให้ความไม่เท่าเทียมกันของเจเนอเรชันนี้ถูกลากไปถึงคนรุ่นต่อไปที่เป็นอนาคตของเรา
สอง ขาดทักษะดิจิทัล
แม้จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แต่อาจไม่มีทักษะและความเชี่ยวชาญในการนำมาปฏิบัติจริงอย่างมีประสิทธิภาพ ในวงการศึกษาแม้แต่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ควรจะมีความพร้อมสูงก็ยังพบว่าการสอนผ่านช่องทางออนไลน์เพียงอย่างเดียวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการสอบ
การทำธุรกิจขายของออนไลน์ก็เช่นกัน จะบอกให้ SMEs หันไปทำอีคอมเมิร์ซแต่ในความเป็นจริงการจะทำให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องมีทักษะและความรู้เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจออนไลน์
ทางออกคือการปรับหลักสูตรอบรมทักษะดิจิทัลเหล่านี้ที่เคยทำแบบออฟไลน์ให้เป็นรูปแบบออนไลน์ ให้คนเรียนรู้ได้สะดวกและง่ายขึ้นขณะอยู่ที่บ้าน โดยอาจจะใช้ความร่วมมือระหว่างรัฐและแพลตฟอร์มดิจิทัล
สำหรับรุ่นใหญ่ที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับการอบรมผ่านช่องทางออนไลน์อาจให้ลูกหลานที่ปัจจุบัน ‘ติดอยู่ที่บ้าน’ เหมือนกันช่วยเป็น ‘ยุวทูตดิจิทัล’ ลูกสอนพ่อแม่ หรือหลานสอนปู่ย่า เป็นการเปลี่ยนวิกฤตที่คนรุ่นใหม่กลับไปอยู่ที่บ้านและอาจว่างจากงานหรือโรงเรียนให้เป็นประโยชน์ได้ระดับหนึ่ง
สาม กฎหมายบีบรัด
คนอาจเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ใช้เป็น แต่สุดท้ายก็ยังต้องไปนั่งใส่หน้ากากในห้องประชุมหรือยืนเข้าคิวหน้าหน่วยงานรัฐบาลเพราะกฎหมายบังคับให้ต้องทำเช่นนั้น
ช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้เปิดโปงให้เราเห็นว่าที่ผ่านมาเราถูกเชือกเถาวัลย์คดเคี้ยวในชื่อของ “กฎกติกาที่ล้าสมัย” พันแข้งพันขาอยู่จนเดินไปข้างหน้าได้ยาก
ในยามปกติการจะตัดพวกเถาวัลย์เหล่านี้ให้ขาด ปลดล็อกให้ธุรกิจและประชาชนเข้าสู่ยุค 4.0 ที่แท้จริงอาจยากมาก แต่เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลก็เพิ่งออก พ.ร.ก. ว่าด้วยการประชุมสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดเงื่อนไขต่างๆ เช่น การบังคับให้ต้องมี 1 ใน 3 ขององค์ประชุมอยู่ที่เดียวกัน เราอาจถามต่อว่าทำเพิ่มอีกได้ไหม? เช่น ทำเรื่อง e-signature ให้หน่วยงานรัฐบาลสามารถรับเอกสารที่มีการเซ็นทางออนไลน์ได้
ในยามวิกฤติอาจเป็นโอกาสทองที่จะกลับมาดูเรื่องการปรับลดกฎกติกาเหล่านี้แบบโครงการ Regulatory Guillotine
4. กลุ่มที่ยืดหยุ่นที่สุด…ก็อาจต้องการความช่วยเหลือ
สุดท้ายกลุ่มอาชีพที่ยืดหยุ่นที่สุด คือพวกที่สามารถทำงานที่บ้านได้ไม่ยากและไม่ต้องพบคนมากนัก เช่น นักเศรษฐศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ นักทำ Big data สื่อบางประเภท
แต่ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะไม่ถูกกระทบเลย เพราะแม้ว่างานเขาอาจทำที่บ้านได้ แต่บริษัทที่เขาทำอยู่อาจไปไม่รอดในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำและสภาพคล่องขาดแคลน เช่น กลุ่มสตาร์ทอัพที่อาจจะมีหลายคน สามารถทำงานที่บ้านได้ แต่ในยุคโควิดอาจไม่มีออเดอร์ หรือขาดแหล่งเงินทุนที่ปกติเคยหาได้จากการระดมทุน ทำให้ขาดสภาพคล่องอย่างแรง
กลุ่มนี้คือ Digital Talent ที่จะเป็นหัวหอกรับมือกับอนาคตที่จะมาถึงเร็วขึ้นในโลกหลังโควิด เราควรต้องช่วยเหลือให้ฝ่าฟันช่วงวิกฤตนี้ไปได้
ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลอาจพิจารณาใช้มาตราการช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อต่อสายป่านให้สตาร์ทอัพไทย เช่นในรูปแบบ Matching fund ลงทุนร่วมกับสถาบันการเงินที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนด้านสตาร์ทอัพอยู่แล้ว (เช่น VC, CVC) โดยอาจมีเงื่อนไขว่าสตาร์ทอัพที่ได้รับการช่วยเหลือต้องไม่เลิกจ้างงานคนเกินร้อยละที่กำหนด จะได้เป็นตัวช่วยแรงงานที่มีทักษะ 4.0 ไม่ใช่แค่ช่วยผู้ถือหุ้นบริษัทเท่านั้น
นอกจากนี้รัฐบาลอาจช่วยจ้างงานให้สตาร์ทอัพเหล่านี้มาช่วยชาติ พัฒนาแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์กับยุคโควิด แบบที่เราได้เห็นในไต้หวัน
ยุทธศาสตร์ 4 ทิศสำหรับคน 4 กลุ่มใหญ่ในยุคเปลี่ยนผ่านนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการใช้นโยบายแบบที่เข้าอกเข้าใจความลำบากของคนแต่ละกลุ่ม โดยต้องมีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
เพราะประเทศที่ปรับตัวได้ดีในเวลานี้ จะเป็นผู้ได้เปรียบในโลกหลังโควิดแน่นอน