fbpx

101 Visual Journal 2021 : Conceptual Photography

:: 101 Visual Journal 2021 : Conceptual Photography ::

เปิดบันทึก ‘101 Visual Journal 2021 : Conceptual Photography’ เล่าเบื้องหลังงานภาพถ่ายแนวความคิด (Conceptual Photography) โดย กมลชนก คัชมาตย์

‘สร้างภาพ’ อาจจะเป็นอีกหนึ่งคำจำกัดความของการถ่ายภาพแนวความคิด 

การ ‘สร้างภาพ’ ให้ออกมาสื่อสารความหมาย เรื่องราว ความรู้สึกเป็นสิ่งที่ยาก หากยิ่งต้องสื่อสารให้ครบถ้วนกับเนื้อหาที่เข้มข้นยิ่งทวีความยากเข้าไปอีก และในโลกที่เต็มไปด้วยการสื่อสารทางความคิดมากมาย การจะเหลาความคิดให้คมและแตกต่างก็เหมือนจะยากแบบไม่มีที่สิ้นสุด 

แค่คิดก็หัวจะระเบิด

2021 เป็นปีที่วิ่งรับไม้พลัดต่อจากปี 2020 ได้อย่างสมบรูณ์แบบ (ในด้านความหายนะ) ในปีที่ผู้คนเริ่มชาชินกับความสิ้นหวังนี้ พวกเราขอเป็นพื้นที่ที่ ‘สร้างภาพ’ เพื่อกระตุกความคิด เพิ่มสีสัน และเปิดพื้นที่ถกเถียงประเด็นต่างๆ ในสังคม 

เชิญชม 10 เบื้องหลังแนวคิดของ ‘นักสร้างภาพ’ ว่ากว่าจะเป็น ‘ภาพที่สร้าง’ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

เรื่องและภาพโดย กมลชนก คัชมาตย์


มานุษยวิทยาต้องรอด! : How to be human เปิดบทเรียนความเป็นมนุษย์ (ที่ดีกว่าเดิม)

ภาพประกอบบทความมานุษยวิทยาต้องรอด! : How to be human เปิดบทเรียนความเป็นมนุษย์ (ที่ดีกว่าเดิม) กับ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ 

เราเริ่มคิดจากความหมายของมานุษยวิทยาว่า “มานุษยวิทยาเป็นเป็นวิชาที่พยายามที่จะเข้าใจความเป็นมนุษย์” ดังนั้นภาพที่จะถ่ายทอดถึงมานุษยวิทยาได้มากที่สุดควรเป็นภาพของ ‘มนุษย์’ หากแต่การจะทำความเข้าใจมนุษย์นั้นไม่สามารถมองเห็นแค่เพียงมนุษย์อย่างเดียวได้ เพราะวัฒนธรรมหรือความเป็นอยู่ของมนุษย์ถูกกำกับและทำให้เป็นไปได้ด้วยสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ดังนั้นเราจึงวางคอนเซปให้ภาพนี้เป็นการสร้างภาพของมนุษย์โดยใช้สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์มาเป็นองค์ประกอบ

ภาพเบื้องหลังการถ่ายทำและภาพร่างในกระดาษก่อนถ่ายจริง

เรานำปรากฏการณ์ Pareidolia หรือปรากฏการณ์ที่เราเห็นสิ่งของเป็นหน้าคนมาเป็นเทคนิคในการถ่ายภาพครั้งนี้ และศึกษางานประเภท Surrealism อย่างภาพวาด Old Age, Adolescence, Infancy (The Three Ages) ของ Salvador Dali และ Mother Nature ของ Jim Warren เพื่อเป็นการอ้างอิงในการถ่ายภาพครั้งนี้

ภาพ Old Age, Adolescene, Infancy (The Three Ages) ของ Salvador Dali (ซ้าย), ภาพ Mother Nature ของ Jim Warren (ขวา)


รัฐศาสตร์ต้องรอด! : “หน้าที่ของรัฐศาสตร์ คือการทำให้สังคมรู้เท่าทันอำนาจ”

ภาพประกอบบทความ รัฐศาสตร์ต้องรอด! : “หน้าที่ของรัฐศาสตร์ คือการทำให้สังคมรู้เท่าทันอำนาจ” ประจักษ์ ก้องกีรติ 

สิ่งที่ยากที่สุดของการคิดภาพภาพนี้คือการหาสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมของรัฐศาสตร์การปกครอง เนื่องจากรัฐศาสตร์เป็นมีความเป็นนามอธรรมสูง เรานึกอะไรไม่ออกนอกจากอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย พานรัฐธรรมนูญ สิงห์ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นภาพตัวแทนของรัฐศาสตร์ไทยที่ยังไม่สากลมากพอ เราจึงกลับมาตั้งต้นที่แก่นแท้ของรัฐศาสตร์จริงๆ นั้นก็คือ  ‘อำนาจ’ 

เมื่อพูดถึงอำนาจ ทำให้เราเลือกใช้เกมส์อย่างหมากรุกมาเป็นภาพแทนของรัฐศาสตร์ เพราะหมากรุกเป็นเกมส์ที่สะท้อนภาพของคนในสังคมที่ถืออำนาจและทำหน้าที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการวางยุทธวิธีเพื่อชัยชนะไม่ต่างจากเกมส์การเมือง  

เราใช้ตัวเบี้ยให้เป็นจุดสนใจหลักของภาพเพื่อเป็นภาพแทนถึงเราทุกคนในสังคม 

และใส่เงามือที่มองไม่เห็นกำลังเล่นหมากกระดานนี้อยู่ เพื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันที่เราต้องเผชิญ

กระดาษร่างภาพก่อนถ่ายจริง


แพทยศาสตร์ต้องรอด! : เมื่อมนุษย์ซับซ้อน ความรู้การแพทย์จึงไม่สิ้นสุด

ภาพประกอบบทความ แพทยศาสตร์ต้องรอด! เมื่อมนุษย์ซับซ้อน ความรู้การแพทย์จึงไม่สิ้นสุด : นพ.มานพ พิทักษ์ภากร

‘เหมือนดวงอาทิตย์ – ราวกับว่าอยู่ตรงนั้นมาตลอด หมอกับการเดินทางของมนุษยชาติดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น’ นี่คือจุดเริ่มต้นของไอเดียภาพถ่ายชิ้นนี้ 

เราใช้หุ่นกายวิภาคมาเป็นสัญลักษณ์ของแพทยศาสตร์ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพร่างกายมนุษย์ ใช้หูฟังแพทย์มาเน้นย้ำภาพจำของแพทย์ให้คนดูเข้าใจมากยิ่งขึ้น และยิงไฟมาจากทางด้านหลังเพื่อสร้างดวงไฟให้คล้ายกับดวงอาทิตย์ โดยเราเปรียบเทียบองค์ความรู้ทางการแพทย์กับการเดินทางของของมนุษยชาติสู่ดวงอาทิตย์ ที่ทุกคนต่างก็มองเห็นว่ามีอยู่แต่ไม่เคยศึกษาได้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียที สุขภาพร่างกายของมนุษย์ก็เช่นกัน ยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่เกิดโรคระบาดอย่างโควิด-19 การศึกษาด้านการแพทย์ก็เหมือนการเดินทางที่ไกลออกไปทุกที เราจึงใช้ถุงมือแพทย์มาทำเป็นปีกที่ด้านหน้าของภาพ (Foreground) เพื่อให้สื่อถึงการเดินทางมากยิ่งขึ้น


นิติศาสตร์ต้องรอด! : “หัวใจสำคัญของนิติศาสตร์คือ การทำให้คนเชื่อว่ายังมีความยุติธรรมอยู่”

ภาพประกอบบทความ นิติศาสตร์ต้องรอด! : “หัวใจสำคัญของนิติศาสตร์คือ การทำให้คนเชื่อว่ายังมีความยุติธรรมอยู่” – เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

ตราชูเป็นสัญลักษณ์ของนิติศาสตร์ที่ทุกคนรู้จักกันดี เราจึงเลือกนำมาใช้เพื่อสะท้อนภาพจำของนิติศาสตร์  โดยให้ตราชูอยู่เหนือตำรากฎหมาย และจัดไฟแบบ Spotlight ไปที่ตราชูเพื่อแสดงภาพสถานการณ์ปัจจุบันที่ระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักที่สุดครั้งหนึ่ง 

หากเพ่งมองสักเล็กน้อยจะเห็นว่าเงาที่สะท้อนถาดทั้งสองข้างไม่เท่ากันเนื่องจากทิศทางของแสง ซึ่งเป็นความตั้งใจของเราที่อยากจะตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมว่าแท้จริงแล้ว ตราชูอันนี้ยังใช้การได้ดีอยู่หรือไม่


มนุษย์รอยต่อ : เมื่อจุดเปลี่ยนชีวิตมีโควิด-19 เข้ามาแทรก

ภาพถ่ายเซต มนุษย์รอยต่อ : เมื่อจุดเปลี่ยนชีวิตมีโควิด-19 เข้ามาแทรก เป็นภาพถ่ายที่เกิดจากการตีความบทสัมภาษณ์ของคนที่ต้องรับมือกับโควิด-19 ในช่วงเวลาที่เป็นรอยต่อของชีวิต โดยเรานำคำว่า ‘รอยต่อ’ มาเป็นคอนเซปของภาพถ่ายชุดนี้

“ทุกอย่างดูริบหรี่ไปหมด จะทำอนาคตตัวเองให้ดีขึ้นก็ทำไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าเราต้องเจอกับอะไรต่อไป”

เสียงความกังวลจากน้องโอปอ นักเรียนม.3 จะขึ้นม.4 ที่ต้องเผชิญกับสถาณการณ์โควิดเมื่อต้นปีที่ผ่านมากล่าว เราแทนภาพรอยต่อในช่วงชีวิตม.3 จะขึ้นม.4 ของน้องโอปอกับเสื้อนักเรียนชั้นม.ต้นและชั้นม.ปลาย ที่ถูกเย็บต่อกันอย่างไม่เรียบร้อย เส้นด้ายหลุดลุ่ย รอยต่อที่ยับย่นนี้เปรียบได้กับการก้าวข้ามผ่านช่วงชีวิตที่ยากลำบากและไม่แน่นอนของชีวิตเนื่องจากสถานณการณ์โควิด-19


ไม่มีเด็กคนไหนควรกินนมข้นหวานใส่น้ำอุ่น : เงิน 600 บาทซื้ออะไรให้ลูกได้บ้าง?

ภาพถ่ายเซต ไม่มีเด็กคนไหนควรกินนมข้นหวานใส่น้ำอุ่น : เงิน 600 บาทซื้ออะไรให้ลูกได้บ้าง? เป็นเซตภาพถ่ายที่เล่าเรื่องราวของพ่อแม่จากหลายภูมิภาคหลากฐานะว่าหากได้รับเงิน ‘เงินอุดหนุนเด็กเล็ก’ 600 บาท พวกเขาจะนำเงินนั้นไปซื้ออะไรให้ลูก และชวนมองต่อไปว่าทำไมภาครัฐจึงสมควรดูแลเด็กเล็กทุกคนในสังคม

“ลูกอยากได้ตุ๊กตาแบบที่เป็นเด็กทารกมีเสียงร้อง ราคาร้อยกว่าบาท เด็กแถวบ้านเขาเล่นกัน เราก็บอกว่า ‘แม่ยังไม่มีเงินซื้อให้ เดี๋ยวค่อยเอา รอเงิน 600 ออกก่อน เดี๋ยวแม่ซื้อให้’”

เสียงของพร แม่เลี้ยงเดี่ยววัย 24 ปี เรานำเรื่องราวของพรมาตีความเป็นภาพ โดยใช้ตุ๊กตาเด็กทารกเป็นตัวแทนลูกของพร บนตักของเด็กเป็นตุ๊กตาเด็กทารกแบบที่ลูกของพรอยากได้ เราห่อหุ้มตุ๊กตาเด็กทารกด้วยเงิน 600 บาท เพื่อสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาว่าเงินอุดหนุนเด็กเล็ก สามารถเติมเต็มอะไรให้เด็กได้บ้าง และเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ด้วยการให้เหรียญลอยอยู่ในอากาศรอบๆ 

ในชีวิตจริงเงินอุดหนุนเด็กเล็กอาจไม่ได้ลอยมาจากฟ้าเหมือนในภาพ แต่ภาครัฐสามารถให้สวัสดิการเหล่านี้กับเด็กทุกคนได้

ภาพแบบร่างและภาพเบื้องหลังการถ่าย


อะไรก็ ‘ช่าง’

ภาพโปสเตอร์ Spotlight อะไรก็ ‘ช่าง’ ที่พูดถึงการศึกษาสายอาชีพอย่างรอบด้าน 

หากพูดถึงอาชีวะสิ่งแรกที่มักจะนึกถึงคงไม่พ้นช่างกล ช่างไฟ ช่างเทคนิคต่างๆ ซึ่งนั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในโลกของการศึกษาสายอาชีพเท่านั้น เราอยากสื่อสารให้ทุกคนรู้ว่าโลกของอาชีวะกว้างใหญ่กว่านั้นมาก ดังนั้นเราจึงนำอุปกรณ์เกี่ยวกับช่าง ที่คนจำได้มากที่สุดอย่าง ‘กระเป๋าเครื่องมือ’ มาเปลี่ยนเป็นเครื่องมือของ ‘ช่าง’ ที่เราอาจจะไม่คุ้นเคย เช่น แก้วเขย่าค็อกเทลของบาร์เทนเดอร์ ตะหลิวของเชฟ กรรไกรตัดผมของช่างตัดผม แป้นพิมพ์คีย์บอร์ดของโปรแกรมเมอร์ หรือ สายวัดตัวของแฟชั่นดีไซนเนอร์ อุปกรณณ์เหล่านี้คือ ‘ช่าง’ ที่อยู่ในโลกของการศึกษาสายอาชีพด้วยกันทั้งสิ้น


แฮปปี้วาเลนไทน์ คนคลั่งรักในศตวรรษที่ 21

รายการ 101 Gaze Ep.3 “แฮปปี้วาเลนไทน์ คนคลั่งรักในศตวรรษที่ 21” เป็นตอนที่ชวนสำรวจความรักในโลกยุคใหม่ ตั้งแต่เรื่องแอปพลิเคชันการหาคู่ รูปแบบความสัมพันธ์ การแต่งงาน ไปจนถึงการเมืองเรื่องความรัก

เราวางคอนเซปสำหรับภาพอินเสิร์ทในตอนนี้ให้เป็นเหมือนหนัง Rom-Coms โดยเล่าเรื่องราวของหญิงสาวที่เข้ามาใช้บริการแม่สื่อสุดไฮเทค และได้ทดลองตกหลุมรักในโลกเสมือนจริง ในโลกเสมือนเธอได้ผ่านบททดสอบต่างๆ กับคนที่เธอเลือก และได้เรียนรู้เรื่องราวมากมายของความรักในโลกยุคใหม่ เมื่อกลับมาในโลกจริง เธอจึงจะสามารถเลือกได้ว่าจะยังอยากไปต่อกับคนคนนี้อยู่หรือไม่ 

บททดสอบที่เธอต้องเจอคือปัจจัยมากมายของการใช้ชีวิตคู่ในโลกยุคปัจจุบัน ที่หากได้ทดลองในโลกเสมือนก่อนอาจจะทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้นว่าเราจะยังอยากไปต่อกับคนคนนี้ไหม แต่ในชีวิตจริงไม่มีโลกเสมือนให้ทดลอง เราทุกคนต่างก็ต้องออกไปลองผิดลองถูกกับความรักด้วยกันทั้งสิ้น

ภาพอินเสิร์ทบริการแม่สื่อแห่งศตวรรษที่ 21

ภาพ Mood board (ซ้าย), ภาพเบื้องหลังการถ่ายทำ (ขวา)


For Equality, To Eternity สู่ความเท่าเทียม จากฉันถึงคุณ

รายการ 101 Gaze Ep.4 “For Equality, To Eternity สู่ความเท่าเทียม จากฉันถึงคุณ” พาไปสำรวจปัญหาใต้ภูเขาน้ำแข็งที่ยังเกิดกับ LGBTIQA+ 

Come out of the closet สำนวนที่หมายถึงการออกมาเปิดเผยรสนิยมทางเพศ ถูกนำมาใช้เป็น คอนเซปสำหรับภาพอินเสิร์ทในรายการตอนนี้ ดอกไม้อันสวยสดงดงามหลากหลายชนิดเบ่งบานออกมาจากตู้เสื้อผ้า เปรียบเสมือนความหลากหลายของคนในสังคมที่เบ่งบานออกมาจากตู้ที่มีชื่อว่าประเทศไทย 

แต่ลึกลงไปในตู้นั้นยังคงมีดอกไม้อีกหลายชนิดที่หลบซ่อนอยู่ อีกหลายเสียงที่ยังเงียบงัน และอีกหลายปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข


หรือเรากำลังอยู่ใน ‘ดิสโทเปีย’ ?

รายการ 101 Gaze Ep.5 “หรือเรากำลังอยู่ใน ‘ดิสโทเปีย’ ?” ชวนสำรวจสังคมไทยในวิกฤตโรคระบาดและการเมือง เราสอบผ่านความเป็นดิสโทเปียหรือไม่ และความหวังของผู้คนในห้วงเวลามืดมนนี้จะส่องประกายอย่างไร

ภาพอินเสิร์ทในตอนนี้คือเรื่องราวของตัวละครที่ตั้งคำถามและมีความฝัน เราสร้างภาพชายชุดขาวที่ถูกจองจำในห้องที่เต็มไปด้วยหน้าจอรูปดวงตา โดยตีความจากลักษณะดิสโทเปียในงานวรรณกรรม ซึ่งการถูกจ้องมองตลอดเวลาถือเป็นหนึ่งในลักษณะของดิสโทเปีย ดวงตาที่จับจ้องทำให้รู้สึกอึดอัดราวกับถูกควบคุม เราใช้ภาพหน้าจอที่แตกต่างกันเชื่อมโยงสะท้อนถึงสภาพสังคมปัจจุบันที่เราเองก็อาจจะถูกจ้องมองและควบคุมผ่านหน้าจอเหล่านี้ก็ได้

MOST READ

Media

4 Nov 2022

จาก ‘เมนู’ สู่ ‘เมลิญณ์’ เมื่อถูกรัฐคุกคาม เยาวชนจึงลี้ภัย

เมลิญณ์ หรือชื่อเดิมคือ ‘เมนู-สุพิชฌาย์ ชัยลอม’ เยาวชนนักเคลื่อนไหวการเมือง จำต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังถูกคุกคามอย่างหนัก

ศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา

4 Nov 2022

Media

6 Aug 2020

Innerscape Ep.6 เป็นครูศิลปะแบบไหนที่ไม่ทำให้เด็ก ‘กลัว’ ศิลปะ

Innerscape ศิลปะบนผืนใจ ตอนใหม่ ชวนคุยเรื่อง ‘ครูศิลปะ’ ผู้เชื่อมโยงระหว่างเด็กและศิลปะ ตัวแปรสำคัญที่อาจกำหนดว่า ศิลปะจะถูกระบายไปถึงผืนใจของเด็กหรือไม่

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

6 Aug 2020

Media

13 Jul 2021

PRESSCAST EP.21 : เสียงคลื่นลูกใหม่ในสนามข่าว ‘วศินี พบูประภาพ’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ ชวน ‘วศินี พบูประภาพ’ อดีตนักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ผันตัวมาสู่เส้นทางนักข่าวสังกัด workpointTODAY คุยประสบการณ์และภาพวงการสื่อที่เธอมองเห็น

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

13 Jul 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save