101 ชวน ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มาคุยว่าด้วยประเด็นวัคซีนโควิด-19

เมื่อมนุษย์ซับซ้อน ความรู้การแพทย์จึงไม่สิ้นสุด: นพ.มานพ พิทักษ์ภากร
เหมือนดวงอาทิตย์ – ราวกับว่าอยู่ตรงนั้นมาตลอด หมอกับการเดินทางของมนุษยชาติดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น
การรักษา ‘ความไม่ปกติ’ ของมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจเป็นศาสตร์ที่พัฒนาคู่กับการเติบโตของสังคมตลอดมา และนับเป็นศาสตร์ที่ผู้คนให้ความสำคัญอันดับต้นๆ เมื่อเราเชื่อกันว่าการมีชีวิตถือเป็นคุณค่าสูงสุด
นับแต่การสวดมนต์ไล่โรคภัยไข้เจ็บ การเจาะกะโหลก หรือในวันที่โลกไม่รู้จักเชื้อโรค มนุษย์ศึกษา ทดลอง จดบันทึก และทำซ้ำ จนตกผลึกออกมาเป็นองค์ความรู้ที่ส่งทอดกันมา ศาสตร์ทางการแพทย์เติบโตกลายเป็นศาสตร์ที่หนักแน่น มีความหมายกับผู้คน
อาชีพหมอกลายเป็นอาชีพที่ทุกสังคมต้องมี มีเรื่องติดตลกที่ว่ากันว่า หากมนุษย์ต้องย้ายดาว หมอเป็นอาชีพแรกๆ ที่ต้องพาขึ้นยานด้วย นั่นทำให้การเรียนหมอกลายเป็นเรื่องยากตั้งแต่สอบเข้าไปจนถึงจบมาประกอบวิชาชีพนี้อย่างจริงจัง เพราะการทำความเข้าใจมนุษย์นับเป็นความยุ่งยากซับซ้อนที่สุดอย่างหนึ่ง
ในอาชีพที่ดูเหมือนจะมั่นคง และศาสตร์ที่ดูเหมือนตกผลึกความรู้มาอย่างดีแล้วนั้น ยังมีปริศนาซุกซ่อนอยู่ตรงไหน การเรียนการสอนแพทย์ในโลกยุคใหม่ที่ความรู้ไปแรงและเร็วต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหม และต้องปรับตัวอย่างไร
ลึกลงไปใต้ชั้นผิวหนังและไหลไปตามเส้นเลือด การเป็นหมอต้องเผชิญกับอะไรบ้าง พวกเขารับมืออย่างไรกับความป่วยไข้และความตายที่แวะมาหาทุกวัน
101 ชวน ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มาพูดคุยว่าด้วยการเรียนการสอนแพทย์ในปัจจุบัน การเผชิญหน้ากับความตาย และพายุความรู้ใหม่ที่เข้ามาสั่นคลอนความเชื่อเดิม
เมื่อมนุษย์ต้องรอด แพทยศาสตร์ก็ต้องรอด

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น แก่นของวิชาแพทย์คืออะไร
แพทยศาสตร์เป็นวิชาวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง เกี่ยวข้องกับสุขภาพร่างกายมนุษย์ทั้งสภาวะปกติและไม่ปกติ ใช้องค์ความรู้หลายด้านแบบวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ส่วนใหญ่ใช้ด้านชีววิทยา แต่ก็ใช้องค์ความรู้ด้านอื่นด้วย เช่น เคมี ฟิสิกส์ แล้วเอามาใช้กับเรื่องสุขภาพมนุษย์และความเจ็บป่วย
วิชาการแพทย์พัฒนาไปพร้อมกับวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์สอนให้เกิดกระบวนการคิดแบบมีเหตุมีผล อธิบายได้ สิ่งสำคัญคือสามารถทำซ้ำได้ ถ้าสิ่งที่เรารู้นั้นเป็นจริง เมื่อคนอื่นมาทำเหมือนกันก็ย่อมได้ผลออกมาในทางเดียวกัน ในด้านการแพทย์ก็เหมือนกัน ในอดีตจะใช้เป็นการครูพักลักจำ มีความเชื่อต่อๆ กันมาว่าถ้าป่วยด้วยอาการแบบนี้น่าจะเป็นอะไรและต้องรักษาด้วยวิธีไหน สมัยก่อนเรารู้จักกันในชื่อแพทย์แผนพื้นบ้าน ซึ่งแต่ละประเทศก็มีลักษณะแตกต่างกันไป หลักการคล้ายๆ กันคือสืบทอดความรู้และความเชื่อต่อๆ กันมา
ถัดมาก็เริ่มใช้แบบแผนทางวิทยาศาสตร์เยอะขึ้น เช่น ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องพิสูจน์ได้ว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ทำให้มีการศึกษาในรายละเอียดเยอะขึ้น ปัจจุบันก็คือสิ่งที่เราเรียกว่าการแพทย์แผนตะวันตก คือการแพทย์ที่มีแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์
ส่วนการแพทย์แบบบอกต่อๆ กันมาหรือครูพักลักจำ หรือที่เมื่อก่อนเรียกว่าการแพทย์แผนตะวันออก ปัจจุบันมีการผสมผสานสองกลุ่มนี้เข้าด้วยกัน เพราะเราก็รู้ว่าองค์ความรู้ในสมัยก่อนอาจจะถูกต้อง แต่ไม่ได้มีกระบวนการวิเคราะห์เท่านั้นเอง เราเลยใช้องค์ความรู้ทั้งของตะวันตกและตะวันออกผสมกัน
ทำไมเราจึงเลือกการแพทย์แผนตะวันตกเป็นการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ
เริ่มต้นจากกรอบแนวคิดเรื่องกระบวนการคิดหรือการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ต้องมีการสังเกตุและอธิบายเหตุผลของที่มาที่ไปได้อย่างเป็นหลักการ อีกอย่างที่สำคัญคือมีความพยายามส่งต่อองค์ความรู้จากคนสู่คน มีรูปแบบของการเผยแพร่ข้อมูล เช่น การวิจัย การศึกษา การตีพิมพ์ ซึ่งในอดีตการแพทย์แผนตะวันออกไม่มีแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นสูตรลับตกทอดประจำตระกูลหรือเก็บเป็นองค์ความรู้ลับสุดยอด เลยทำให้การเผยแพร่ความรู้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ความรู้ส่วนหนึ่งอาจจะสูญหายไปเลย หรือจำกันมาผิดๆ
การแพทย์แผนตะวันตกเป็นกรอบแนวคิดที่เราใช้ได้ ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าการแพทย์แผนตะวันตกจะเป็นที่มาขององค์ความรู้ทั้งหมด เราใช้แค่หลักการ เพียงแต่หลักการพวกนี้ได้รับการพิสูจน์มาเป็นเวลานาน และมีการศึกษารายละเอียดแทบทุกขั้นตอน เลยทำให้เราหยิบองค์ความรู้พวกนี้มาใช้ได้ทันที
แนวโน้มนี้เป็นทั้งโลก เราใช้แกนหลักเป็นแพทย์แผนตะวันตกก่อน หลังจากนั้นถ้าเรามีองค์ความรู้อยู่เดิม ซึ่งในประเทศนั้นอาจมีการแพทย์แผนตะวันออกหรือการแพทย์ที่เก็บองค์ความรู้ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น ก็พยายามเอามาประยุกต์ โดยใช้แพทย์แผนตะวันตกเข้ามาจับเท่านั้นเอง
ระบบการเรียนการสอนแพทย์ของไทยรับมาจากที่ไหนเป็นหลัก
ระบบการเรียนหรือกระทั่งตำราของเราแทบจะคัดลอกจากสหรัฐอเมริกามา อาจเป็นเพราะมีการปรับหลักสูตรในสมัยที่มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์เข้ามาปรับราชแพทยาลัย ซึ่งปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแพทย์แห่งแรกของไทย ก็ใช้กรอบคิดนี้มาโดยตลอด
เพราะฉะนั้นเด็กก็เรียนจากหลักสูตรแบบนี้ และอาจารย์แพทย์ในรุ่นแรกส่วนมากก็จบมาจากอเมริกา ส่วนอาจารย์แพทย์ที่ไปเรียนต่อเฉพาะทางในต่างประเทศก็มักจะเลือกไปอเมริกาในช่วงแรกๆ หลักสูตรก็จะคล้ายๆ กัน แต่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น ที่รับเอาลักษณะการแพทย์แผนตะวันตกหรือการแพทย์แผนใหม่ ก็มีหลักสูตรการเรียนการสอนคล้ายกันอยู่แล้ว
คุณเคยเป็นทั้งนักเรียนแพทย์และปัจจุบันเป็นอาจารย์แพทย์ ย้อนกลับไปตอนที่สอบเข้าแพทย์สมัยนั้นสอบเข้ายากไหม และชีวิตการเรียนหมอเป็นอย่างไร
สอบเข้าก็ยากอยู่แล้ว ในปัจจุบันก็ยังมีแนวโน้มเหมือนเดิม แพทย์ยังเป็นหนึ่งในสาขาวิชาที่มีความต้องการสูง การแข่งขันสูง คะแนนก็สูงด้วย มีคนเก่งๆ มาสอบและเรียนเยอะ ซึ่งมีสาเหตุมาจากสองปัจจัย
หนึ่ง เมื่อแพทย์เป็นวิชาที่ศึกษายากจึงมีอุปทานจำกัดแต่มีอุปสงค์สูง และมนุษย์ให้ความสำคัญกับความเจ็บป่วยของร่างกายสูงมาก เพราะฉะนั้นทรัพยากรและค่าใช้จ่ายกับเรื่องนี้จึงสูงไปด้วย
ผลที่ตามมาคือต้องยอมรับว่าอาชีพแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะมีรายได้สูงพอสมควรเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่น อันนี้คือความมั่นคงในหน้าที่การงาน ทำให้คนนิยมเรียนหมอ โดยเฉพาะคนที่เรียนเก่ง คะแนนสูง ก็จะแข่งกันเข้าสาขานี้เยอะ
สอง เนื่องจากเรียนยาก ถ้าเราไม่ได้เก่งระดับหนึ่ง โอกาสที่จะเรียนจบได้จนทำงานเป็นแพทย์ก็จะฝ่าด่านไปได้ลำบาก เพราะฉะนั้นจำนวนของแพทย์ที่จบใหม่ต่อปีจึงไม่เยอะ ทำให้มีอุปสงค์-อุปทานไม่ตรงกันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้แพทย์ยังเป็นอาชีพที่มั่นคงอยู่ แม้จะผ่านมาหลายยุคหลายสมัยแต่ก็มีรายได้ค่อนข้างดี
อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการเรียนแพทย์
ยากสุดน่าจะเป็นในแง่รายละเอียด เพราะเนื้อหาการแพทย์เยอะ เนื่องจากเราต้องเรียนเกี่ยวกับทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ ไม่ใช่เฉพาะร่างกายเรา แต่เป็นสิ่งแวดล้อม เชื้อโรค มลพิษ ซึ่งโควิดก็เป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นว่ามีรายละเอียดมหาศาลมาก
มนุษย์มีความซับซ้อนสูงกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นมาก ทำให้ความรู้แทบจะไม่สิ้นสุด ฉะนั้นการเรียนแพทย์จึงมีรายละเอียดเยอะ พอมีรายละเอียดเยอะก็จำไม่หมด!

ศาสตร์ของแพทย์ต้องมีการพัฒนาปรับปรุงไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็มีเรื่องให้ท่องจำเยอะเหมือนกัน มีการสมดุลอย่างไรในการเรียนระหว่างความคิดสร้างสรรค์กับการการท่องจำศาสตร์ที่เชื่อกันว่าแม่นยำแน่นอนแล้ว
ต้องใช้เวลาพอสมควรที่จะเปลี่ยนความเชื่อว่าเรียนแพทย์ต้องจำเยอะๆ จำไปเลยโดยไม่ต้องคิดมาก เพราะวิชาแพทย์มีองค์ความรู้เปลี่ยนไปตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว และเพิ่มขึ้นทวีคูณ จำไม่หมดหรอก
แต่สิ่งสำคัญก็คือเรารวบรวมข้อมูลและทำความเข้าใจกับมันได้ดีหรือเปล่า ถ้าเราเข้าใจ หลังจากนั้นก็ไม่ต้องจำ ความเข้าใจหลักการเป็นแก่นของการศึกษา แล้วข้อมูลที่เหลือเราไปตามอัปเดตได้ ยิ่งเป็นโลกสมัยใหม่ยิ่งเห็นเลยว่าอัตราเร่งของการเพิ่มองค์ความรู้สูงขึ้นไปอีก เพิ่มกว่าสมัยผมเรียนมหาศาลมาก สมัยก่อนยังใช้ตำราได้ แต่เดี๋ยวนี้ตำราแทบจะหายไปเลย หรือนานๆ อัปเดตทีเพราะเขียนไม่ทัน
เพราะฉะนั้นการเรียนโดยอาศัยการท่องจำควรจะต้องเลิก ความรู้หรือข้อมูลที่เราจำไม่ได้ เรากลับไปอ่านได้ การเข้าถึงข้อมูลในปัจจุบันง่ายมาก เพราะฉะนั้นไม่ต้องจำ แต่เปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่าการเรียนต้องอาศัยความเข้าใจ และจะต้องเปลี่ยนแนวคิดการเรียนการสอนใหม่ เด็กต้องรู้ว่าจะหาข้อมูลและประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลอย่างไร
คุณเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ด้วย ถ้าไม่ให้ท่องจำแล้วต้องสอนอย่างไร
ถ้าเป็นวิชาบรรยาย ในปัจจุบันเราจะเน้นการสอนหลักการเป็นหลัก จริงอยู่ที่เราไม่สามารถตัดการท่องจำไปได้ เพราะบางเรื่องเป็นข้อมูลพื้นฐาน ของพวกนี้อย่างไรก็ต้องรู้ก่อน เหมือน 1+1 เป็น 2 จะคำนวณได้ก็ต้องรู้จักตัวเลขและหลักการบวกก่อน ไม่อย่างนั้นก็ไปต่อไม่ได้ แต่ถ้าเราสอนให้เด็กเข้าใจหลักการแล้ว ที่เหลือเขาสามารถไปค้นคว้าเองได้ เน้นไปที่การประยุกต์ดีกว่า เช่น การยกตัวอย่างสถานการณ์หรือการสอนจากคนไข้จริง จะทำให้เด็กเห็นภาพรวมได้ดีกว่า
มีแก่นอะไรที่ต้องสอนนักศึกษาแพทย์ตั้งแต่ต้น เป็นเรื่องพื้นฐานสุดๆ ที่นักศึกษาแพทย์ทุกคนต้องเข้าใจ
ก็พวกวิชาพื้นฐาน ถ้าเป็นปีหนึ่งก็เรียนฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เป็นเรื่องธรรมดา พอขึ้นปีสองก็เรียนวิชาพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับร่างกายมนุษย์ เช่น กายวิภาคศาสตร์ ต้องเข้าใจก่อนว่าร่างกายมนุษย์ลักษณะเป็นอย่างไร อวัยวะ กล้ามเนื้อ ระบบประสาท เส้นเลือด การพัฒนาตั้งแต่ตัวอ่อนจนถึงเป็นผู้ใหญ่เป็นอย่างไร เรียนชีวเคมี ทำความเข้าใจว่าสมดุลของการทำงานในเนื้อเยื่อหรือในเซลล์เป็นอย่างไร และเรียนสรีระวิทยาเกี่ยวกับการทำงานของร่างกาย พวกนี้คือเรียน ‘ความเป็นปกติ’
ถัดมาก็เรียนเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยหรือ ‘ความไม่ปกติ’ เช่น พยาธิวิทยา เรียนว่าความไม่ปกติเกิดจากอะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นโรคติดเชื้อ โรคมะเร็ง ฯลฯ เหล่านี้เป็นพยาธิวิทยาหมดเลย อีกเรื่องคือจุลชีพทั้งหลาย โรคติดเชื้อ แบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ เชื้อรา
สุดท้ายพอขึ้นชั้นคลินิกก็เอาความรู้พวกนี้ไปประยุกต์ ส่วนใหญ่แบ่งเป็นภาควิชา เช่น โรคเกี่ยวกับเด็ก การตั้งครรภ์และสตรี หู คอ จมูก โรคที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด ฯลฯ สุดท้ายคือเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาอื่น รวมกันเป็นอายุรศาสตร์ คือโรคทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา ก็แบ่งย่อยไปอีกตามอวัยวะ หัวใจ ไต สมอง ระบบทางเดินอาหาร ตับ เป็นต้น
ความเข้าใจหลักการเป็นแก่นของการศึกษา แล้วข้อมูลที่เหลือเราไปตามอัปเดตได้ ยิ่งเป็นโลกสมัยใหม่ยิ่งเห็นเลยว่าอัตราเร่งของการเพิ่มองค์ความรู้สูงขึ้นไปอีก สมัยก่อนยังใช้ตำราได้ แต่เดี๋ยวนี้ตำราแทบจะหายไปเลย หรือนานๆ อัปเดตทีเพราะเขียนไม่ทัน


สิ่งเหล่านี้สอนหมดได้อย่างไรในการเรียนมหาวิทยาลัย
ถึงต้องเรียนนานถึง 6 ปีไง เป็นเรื่องปกติ ต้องใช้เวลา เพียงแต่ว่า 6 ปีคือพื้นฐานความรู้ขั้นต่ำที่จะทำให้สามารถประกอบวิชาชีพแพทย์ได้ หลังจากนั้นก็ต้องไปเรียนเพิ่มเติมเพื่อเป็นหมอเชี่ยวชาญในด้านเฉพาะ เช่น อยากเป็นหมอที่เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัด ด้านการวางยาสลบ ฯลฯ ก็ต้องเรียนเพิ่มเติม
หลังจากนั้นยังมีเชี่ยวชาญเฉพาะลงไปลึกอีก เช่น ผ่าตัดเต้านม ผ่าตัดหลอดเลือด หรือผ่าตัดสมอง เป็นการเรียนที่มากขึ้นๆ การเรียนเชี่ยวชาญและเชี่ยวชาญเฉพาะก็อย่างน้อย 5-6 ปี รวมๆ แล้วเรียนหมอ 12 ปีเพื่อที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ที่เหลือก็ยังต้องเรียนไปตลอดชีวิต เพราะองค์ความรู้เปลี่ยนไปตลอดเวลา
มีคำวิจารณ์ว่าหมอเก่งมากเรื่องเกี่ยวกับร่างกาย มองความเจ็บป่วยทะลุปรุโปร่ง แต่หมอไม่เข้าใจสังคมข้างนอก คุณเห็นด้วยกับคำวิจารณ์นี้ไหม และในการเรียนจริงๆ มีการเชื่อมโยงเรื่องสังคมเข้ามาอย่างไรบ้าง
เห็นด้วย เพราะในอดีตเราสอนแค่วิชาการ แต่ปัจจุบันเราเริ่มปรับปรุงหลักสูตรใหม่ เด็กรุ่นใหม่จะไม่ได้เรียนเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เท่านั้น แต่เขาจะเรียน ‘การแพทย์แบบองค์รวม’ (holistic medicine) คือไม่ได้มองเฉพาะความเจ็บป่วยของอวัยวะเป็นส่วนๆ เช่น คนไข้มาด้วยโรคไตก็ไม่ใช่จะดูแค่ไตอย่างเดียว แต่เราดูทั้งหมด พื้นฐานครอบครัวเป็นอย่างไร มีปัญหาในการใช้ชีวิตหรือเปล่า กลับบ้านไปเขาจะดูแลรักษาตัวเองตามที่เราแนะนำได้ไหม เราบอกว่าเขาต้องกินอาหารแบบนี้ๆ แล้วเขาสามารถหาอาหารตามที่แนะนำได้หรือเปล่า มีการมองมิติอื่นๆ เพิ่มเติมจากความเจ็บป่วยของผู้ป่วย
อย่างไรก็ดี ชีวิตทำงานของหมอส่วนใหญ่วนเวียนอยู่แต่เรื่องคนไข้ คุยกันแต่เรื่องคนไข้หรือเรื่องเวร ชีวิตด้านอื่นไม่ค่อยมี คุยกับใครไม่ค่อยรู้เรื่อง อันนี้เป็นธรรมดา แต่หลังๆ เราจะเห็นว่าเปิดมากขึ้น มีกิจกรรมเพิ่มเติมนอกหลักสูตรให้นักเรียนแพทย์เยอะขึ้น อยากให้นักเรียนแพทย์ไปทำอะไรเหมือนที่คณะอื่นเขาทำกัน ให้มีชีวิตด้านอื่นด้วย ผมว่าเด็กรุ่นใหม่เปิดโลกมากขึ้นเยอะเลย
ในขณะที่มีกิจกรรมนอกหลักสูตรเพื่อให้นักเรียนแพทย์เปิดกว้างมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันดูเหมือนว่าระบบโซตัสในสถาบันก็ยังเข้มข้นอยู่ เพราะมีความเชื่อว่ารุ่นน้องจำเป็นต้องฟังรุ่นพี่และอาจารย์เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด เรื่องเหล่านี้ยังดำรงอยู่ไหม
สมัยก่อนเราอาจจะคิดแบบนั้น และสร้างระบบแบบนี้เพื่อให้มีการจัดลำดับชั้น โดยมีสองเหตุผล
หนึ่ง ในแง่ของการดูแลรักษาผู้ป่วย ประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเกิดข้อผิดพลาดขึ้นก็ถือเป็นเรื่องใหญ่
สอง ในแง่ของความรับผิดชอบ คนที่อาวุโสสุดก็ต้องมีความรับผิดชอบสูงสุด เวลาเกิดเรื่องขึ้นมาเด็กไม่ต้องรับผิด แต่คนรับผิดคืออาจารย์ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องถือการจัดลำดับแบบนี้เหมือนกัน คล้ายๆ สายบังคับบัญชา แต่ไม่ได้บังคับบัญชาโดยตรง เป็นไปในแง่การทำงานและความรับผิดชอบมากกว่า อันนี้อาจจะหลอมรวมไปกับระบบเลย ทำให้กลายเป็นระบบอาวุโสหรือโซตัสค่อนข้างแรง แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป ปัจจุบันก็น้อยลงเยอะ
เราสามารถพูดได้ไหมว่านักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ เข้าใจสังคมมากขึ้นและไม่ค่อยเชื่อในระบบอำนาจนิยม
ได้ เดี๋ยวนี้เราเห็นนักศึกษาแพทย์ที่ต่อต้านระบบอนุรักษนิยมค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นระบบที่คงประเพณีหรือแนวปฏิบัติเดิมๆ มานานในเรื่องของการเคารพผู้อาวุโส ไม่คัดค้านหรือตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ ปัจจุบันเราจะเห็นการเคลื่อนไหวแบบนี้มากขึ้น ซึ่งผมว่าไม่ใช่แค่โรงเรียนแพทย์ แต่เป็นกันทั้งสังคม



เท่าที่คุณได้คุยกับนักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ๆ เขามีอะไรที่เป็นกังวลบ้างไหมในการเรียนและการใช้ชีวิต
ปัญหามีทุกรุ่น สมัยผมก็บ่นแบบหนึ่ง สมัยนี้ก็อีกแบบ แต่ละเจเนอเรชันต่างมีปัญหาเป็นของตนเอง ไม่มีเจนฯ ไหนได้เปรียบกว่าอีกเจนฯ หนึ่ง สมัยเรียนเราก็บ่นเรื่องนู้นนี้ การเข้าถึงข้อมูล ลักษณะการทำงานที่เข้มงวดมากๆ ปัจจุบันก็หลวมขึ้น แต่เด็กก็จะบ่นเรื่องอื่น เช่น ความไม่เข้าใจของอาจารย์บ้าง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีสิทธิไม่มีเสียง ความรู้ซับซ้อน ยุ่งเหยิงไปหมด
พวกนี้ธรรมดา ของหลายอย่างเป็นการบ่น ซึ่งการแก้ไม่มีอะไรเลย ฟังอย่างเดียว การฟังถือเป็นการแก้ปัญหาเขาแล้วนะ เพราะบางทีเขาบ่นเพราะอยากหาคนฟัง เท่านั้นแหละ
ถ้าทุกวันนี้เด็กมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น อาจารย์จะสอนยากขึ้นไหม
ยากไม่ยากขึ้นอยู่กับอาจารย์และนักเรียนว่าจูนคลื่นตรงกันหรือเปล่า ทัศนคติตรงกันไหม อาจารย์รุ่นเก่าที่ปรับตัวยากกับการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในสังคม ก็อาจจะรู้สึกสอนยากขึ้น หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงในกรณีของโควิด ลักษณะและวิธีการสอนก็ต้องเปลี่ยนไป ถ้าเราปรับตัวได้ การสอนไม่ได้ยากขึ้นนะ
ถ้าเทียบจากประสบการณ์ส่วนตัว การมีโควิดทำให้ผมสอนง่ายขึ้น เพราะโควิดทำให้เห็นความไม่จำเป็นหลายอย่างที่เดิมเราทำมาโดยตลอดแล้วเราสามารถตัดออกได้ เช่น การสอนบรรยาย เด็กสามารถดูและอ่านเองนอกเวลาได้ ไม่จำเป็นต้องมานั่งฟังในชั่วโมงบรรยายเช้าจรดเย็นอีกต่อไป แล้วเราก็ใช้เวลามาสอนสิ่งที่เขาไม่สามารถหาได้จากยูทูบดีกว่า เช่น คลาสเรียนแบบมีปฏิสัมพันธ์ เมื่อก่อนการบรรยายเป็นแบบทางเดียว อาจารย์จะเตรียมสอนง่าย แต่การปฏิสัมพันธ์เตรียมยากกว่า ซึ่งถ้าเราเตรียมพร้อมก็สอนง่าย
ส่วนมากวิชาบรรยายจะเป็นการสอนพื้นฐานเกี่ยวกับร่างกาย แล้วจะปรับอย่างไร ในเมื่อเราจำเป็นต้องสอนคนให้รู้พื้นฐานตั้งแต่แรก
ถ้าเราบรรยายสักหนึ่งครั้ง หลังจากนั้นอัดวิดีโอแล้วอัปโหลดก็จบแล้ว การสอนที่ให้แค่ข้อมูลไม่จำเป็นอีกแล้วในกระบวนการที่ต้องมานั่งทำซ้ำๆ ในยุคแห่งข้อมูลข่าวสารแบบนี้ มีคนสอนในยูทูบเยอะแยะ แล้วบางคนก็สอนดีมาก ต่างกันแค่เขาสอนภาษาอังกฤษแล้วเราสอนภาษาไทย เพราะฉะนั้นถ้าเด็กไม่ได้มีอุปสรรคด้านภาษา เรียนแบบนั้นง่ายกว่าเยอะเลย เราก็ไม่ต้องมาสอนด้วย
เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดด้วยนะ ซึ่งอาจจะกลายเป็นภัยคุกคามสำหรับคนที่ไม่ปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง บทบาทของอาจารย์ไม่ใช่แค่คนเอาข้อมูลจากตำราไปสอนเด็ก ไม่จำเป็น เพราะเด็กไปอ่านเองหรือดูวิดีโอได้ อาจารย์ควรจะเป็นคนสร้างองค์ความรู้ที่ดึงจากองค์ความรู้เดิมบวกประสบการณ์มาสอนเด็กมากกว่า การสอนตามตำราไม่มีประโยชน์ อาจารย์ควรเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่เสริมสร้างองค์ความรู้หรือปรับวิธีการเรียนการสอนให้ดีขึ้น
กระแสแบบนี้เป็นกันหมดทั้งระบบมหาวิทยาลัย ไม่ใช่แค่คณะแพทย์ เราเห็นเลยว่าคณะสายศิลปศาสตร์ที่อ่านตำราแล้วมาสอนเด็กไม่มีประโยชน์อีกต่อไป ต้องหาวิธีการสอนแบบใหม่ เพราะฉะนั้นอาจารย์จะต้องทำหน้าที่สร้างความรู้ใหม่ ไม่ใช่แค่เอาความรู้ของคนอื่นมาสอน
แพทย์เป็นวิชาชีพที่ต้องการความแม่นยำและความน่าเชื่อถือสูงเพราะทำงานกับชีวิตคน ในปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำในแง่คุณภาพของนักศึกษาแพทย์ต่างมหาวิทยาลัยไหม
ถ้าดูจากคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็อาจมีคะแนนต่างกัน การเรียนการสอนแต่ละที่อาจมีทรัพยากรไม่เหมือนกัน แต่แพทย์เป็นวิชาชีพที่มีกระบวนการวัดมาตรฐาน คือการสอบที่ใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ไม่ว่าคุณจะจบจากไหนมาก็ตาม จะเอกชนหรือรัฐบาลก็ต้องสอบข้อสอบชุดเดียวกัน ฉะนั้นถ้าคุณไม่ผ่านก็คือไม่ผ่าน อันนี้เป็นข้อเรียกร้องขั้นต่ำ คุณจะต้องผ่านมาตรฐานตรงนี้ให้ได้ก่อน
มีไม่กี่วิชาชีพหรอกที่ต้องทำแบบนี้ แพทย์เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งการสอบวัดมาตรฐานทั้งประเทศทำตั้งแต่ระหว่างเรียน ไม่ใช่แค่จบแล้วต้องมาสอบใบอนุญาต แพทย์มีการสอบหลายรอบ จบปี 3 สอบทีหนึ่ง มาปี 6 ก็สอบอีก ใช้ข้อสอบชุดเดียวกันทั้งประเทศ
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าวิชาชีพแพทย์เป็นวิชาที่ทำกับคน แล้วคนเชื่อว่าต้นทุนมนุษย์สำคัญที่สุด ฉะนั้นมาตรฐานต้องสูงอยู่แล้ว เป็นเรื่องธรรมดา
เดี๋ยวนี้เราเห็นนักศึกษาแพทย์ที่ต่อต้านระบบอนุรักษนิยมค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นระบบที่คงประเพณีหรือแนวปฏิบัติเดิมๆ มานาน ปัจจุบันเราจะเห็นการเคลื่อนไหวแบบนี้มากขึ้น ซึ่งผมว่าไม่ใช่แค่โรงเรียนแพทย์ แต่เป็นกันทั้งสังคม

หมอเป็นอาชีพที่ตื่นมาก็เจอแต่ความเจ็บกับความตาย ไปโรงพยาบาลก็ต้องคุยกับคนป่วยซึ่งมีความทุกข์ มีวิธีรับมืออย่างไรกับอาชีพการงานที่ต้องเจอสิ่งนี้ทุกวัน
เนื่องจากเราเรียนตั้ง 6 ปีจึงมีความเคยชินอยู่ เรามองของทุกอย่างเป็นข้อเท็จจริง เราเรียนมาตั้งแต่ชั้นปีต้นๆ เห็นร่างกายมนุษย์เป็นอย่างไร การเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติเป็นอย่างไร คนเจ็บป่วยเป็นอย่างไร คนเสียชีวิตเป็นอย่างไร ของพวกนี้คือข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นจึงมีอารมณ์ร่วมน้อยลง
โดยปกติแล้ว เราจะพยายามใส่อารมณ์เข้าไปให้น้อยในการดูแลรักษาผู้ป่วย เพราะถ้ามีอารมณ์เข้าไปผสมด้วย การตัดสินใจของเราจะเริ่มไม่ถูกต้องเท่าไหร่ อันนี้จะเป็นแนวปฏิบัติที่รู้กัน เช่น เราจะไม่ยอมรักษาพ่อแม่ตัวเอง ต้องให้คนอื่นรักษาให้ เพราะถ้าเราเริ่มมีความรักและผูกพันเข้าไปผสม การตัดสินใจของเราจะเริ่มไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น อาจจะมีอคติไปในทางที่ดีหรือแย่ก็ได้ เช่น เราคิดว่าโรคจะรุนแรงกว่านี้จนทำอะไรเกินจริง หรือมองโลกดีเกินไปว่ายังสู้ได้อยู่จนรักษาผิดพลาด เป็นต้น
มีคำถามเชิงจริยธรรมที่พูดกันบ่อยว่า ถ้าหมอรู้ว่าคนคนนี้ฆ่าคนตายมาแล้วมาขอให้รักษา หมอจะตัดสินใจอย่างไร มีการสอนพื้นฐานกันอย่างไรในเรื่องพวกนี้
ความเจ็บป่วยคือความเจ็บป่วย เราไม่ได้สนว่าใครป่วย หน้าที่ของเราคือทำให้คนที่เป็นทุกข์อยู่คลายทุกข์ได้แค่นั้น ส่วนมิติอื่น ก็เป็นเรื่องของกฎหมายจัดการ ไม่ได้เกี่ยวกับเรา
กรณีล่าสุดที่เป็นข่าวครึกโครมที่มีคนไข้จิตเวชคุ้มคลั่ง แทงแพทย์ผู้ดูแลเกือบเสียชีวิต ถามว่าเราต้องไปทำอะไรกับตัวผู้กระทำหรือเปล่า ก็ตอบเลยว่าไม่ต้อง ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจหน้าที่
มีวิธีรับมืออย่างไร ถ้าคนไข้ที่รักษาตายไปต่อหน้าหรือรักษาไม่ได้แล้วต้องไปตายที่บ้าน หมอมีวิธีมองความตายอย่างไร
ผมเคยคุยกับคนไข้ที่เป็นระยะท้ายของชีวิต จริงๆ แล้วคนไข้ไม่ได้กลัวตายนะ ทุกคนมีชีวิตจำกัดอยู่แล้ว ไม่มีใครเป็นอมตะ แต่สิ่งที่คนไข้กลัวมากกว่าคือกลัวเจ็บกับกลัวเหนื่อย ถ้าเราทำให้เขาสบายมากที่สุด ความตายเป็นเรื่องธรรมดามาก เราช่วยในสถานการณ์ที่ช่วยได้ ถ้าเรารู้ว่าไม่สามารถเอาชนะสงครามนั้นได้ เราก็ไม่ยื้อนะ
ทุกครั้งของการตัดสินใจเรื่องการยื้อชีวิตตามแบบแผนแพทย์สมัยใหม่ เราดูสองอย่าง
หนึ่ง ประโยชน์ที่คนไข้จะได้จากการรักษาของเราคุ้มหรือเปล่า
สอง ในสถานการณ์ที่สำคัญกับชีวิตเขา เราจะให้เขาร่วมตัดสินใจด้วย เช่น เขาคิดอย่างไร ซึ่งต่างกับคนสมัยก่อนที่จะออกแนวเชื่อหมอเถอะ หมอตัดสินใจแทนหมด แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว เราต้องให้คนไข้รับรู้ถึงสถานการณ์ตนเองและร่วมตัดสินใจ เพราะเราเชื่อว่าทุกคนเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองได้เสมอ
แก่นที่ยึดถือในการเป็นหมอคืออะไร ใช้วิธีคิดอะไรเป็นหลักในการทำงาน
หัวใจสำคัญของแพทย์คือความเชื่อมั่นของผู้ป่วย และเรายึดถือประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นอันดับแรก แต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องบู๊ทุกอย่างเพื่อผู้ป่วย เราต้องดูว่าประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยคืออะไร เขาอาจจะบอกว่าไม่รักษาแล้ว อันนี้ถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุดเหมือนกัน
ส่วนในด้านการเรียนการสอน ก็ต้องยึดถือประโยชน์ผู้เรียนเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าตามใจ เราจะทำให้เขาประสบความสำเร็จได้อย่างไร เช่น ถ้าเขาไม่ถึงมาตรฐาน เราก็ต้องบอกว่าไม่ได้ ต้องตกนะ เพราะประโยชน์สูงสุดจริงๆ คือนักเรียนต้องมีความรู้ถึงมาตรฐาน
ช่วงโควิดที่ผ่านมา มีประเด็นเรื่องหมอกับการตัดสินใจทางนโยบายเยอะมาก เช่น หลายคนวิจารณ์ว่าหมอบางส่วนทำงานโดยเอาการเมืองนำความรู้ทางการแพทย์ คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้
ต้องแยกการเมืองและองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ออกจากกันอย่างเด็ดขาด
ความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางการเมืองเป็นสิ่งที่แต่ละคนห้ามไม่ได้ ความเห็นที่ต่างกันเป็นเรื่องปกติ ในประเทศที่มีความขัดแย้งทางความคิดเยอะๆ อย่างอเมริกาก็มีทั้งเสรีนิยมและอนุรักษนิยม ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ไม่ว่าคุณจะเชื่อการเมืองแบบใดก็ควรจะมีพื้นฐานเดียวกันคือองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เมื่อไหร่ที่พื้นฐานนี้เบี้ยวออกไปก็จะเกิดปัญหา
ปัญหาส่วนหนึ่งในวงการแพทย์หรือวิกฤตความน่าเชื่อถือที่ผ่านมาเกิดจากกรณีที่ไม่แยกการเมืองออกจากองค์ความรู้ ไม่ใช่ความเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน แต่โอเค ความเห็นทางการเมืองที่ต่างกันอาจจะสร้างการตัดสินใจบางอย่าง ฝั่งที่เชียร์รัฐบาลก็อาจรู้สึกว่ารัฐไม่เห็นทำอะไรผิดเลย ของบางอย่างอาจจะถูกมองข้าม ของบางอย่างกลับถูกขยายให้ใหญ่ขึ้น
ผมคิดว่าสิ่งสำคัญอยู่ที่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ไม่เลือกข้าง ข้อมูลผิดก็คือผิด ไม่ว่าใครพูดก็ตาม

คุณคิดว่าอาชีพหมอจะมีวันหายไปจากโลกไหม
ถ้าจะหายไปหมดเลย ยุคนั้นมนุษย์คงพึ่งคอมพิวเตอร์หรือระบบอัตโนมัติทั้งหมด ถึงตอนนั้นวงการแพทย์อาจจะไม่ต้องอาศัยมนุษย์อีก แต่ถ้ายังไม่ไปถึงขั้นนั้น อย่างไรอาชีพแพทย์ก็ยังคงอยู่ ไม่ว่าเราจะมีระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอัตโนมัติมาช่วยเราแค่ไหน มนุษย์ยังมีด้านที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร การใช้อารมณ์ หรือการติดต่อระหว่างบุคคลอยู่ดี มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราไม่สามารถอยู่โดยปราศจากมนุษย์เองได้
เวลาพูดถึงศาสตร์ทางการแพทย์ ฟังแล้วให้ความรู้สึกว่าเป็นอาคารคอนกรีตที่แข็งแรงซึ่งไม่มีวันล่มสลาย จริงๆ การเรียนการสอนแพทย์มีจุดเปราะบางบ้างไหม แล้วจุดนั้นคืออะไร
ผมยังไม่เห็นว่าจะเปราะบางอย่างไร ถ้าจะพังก็พังเพราะคนไม่ปรับตัวมากกว่า เพราะองค์ความรู้ด้านแพทยศาสตร์ก็เหมือนความรู้ทุกอย่างในโลกนี้ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ของที่เชื่อว่าถูกในปีนี้ ปีหน้าก็อาจจะผิดได้
เห็นชัดเจนได้จากโควิด ความรู้เกินครึ่งที่เชื่อมานั้นผิดหลายอย่าง หรือสิ่งที่เรารู้เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ตอนนี้เปลี่ยนแล้วก็มี ถ้าเราปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงในข้อมูลและองค์ความรู้ทัน ไม่มีปัญหา จะมีปัญหาเพราะเราปรับไม่ทันมากกว่า
มีความหวั่นวิตกเกิดขึ้นในวงการแพทย์ไหมพอเจอโควิด เช่น มีความรู้ใหม่ที่มาพลิกความเชื่อและความรู้เดิม
ถ้าเรามองว่านี่คือองค์ความรู้ใหม่ เราควรจะดีใจ แต่ถ้ามันสั่นคลอนความเชื่อเรา ก็ต้องถามตัวเองว่าแล้วเรายึดมั่นถือมั่นความรู้นั้นอยู่ทำไม ความรู้ทางการแพทย์เปลี่ยนเร็วและเปลี่ยนเยอะ แต่ในบางสายวิชาอาจจะเปลี่ยนช้า บางคนที่ยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่เขารู้ยังถูกอยู่เพราะมันเปลี่ยนช้าเท่านั้นเอง พอมาเจออะไรที่เปลี่ยนเร็วๆ ก็รับไม่ค่อยได้
อย่างผมศึกษาเรื่องพันธุศาสตร์หรือดีเอ็นเอ องค์ความรู้เปลี่ยนเร็วมาก จนเรามององค์ความรู้โควิดที่เปลี่ยนเร็วเป็นเรื่องธรรมดา เพราะองค์ความรู้ทางพันธุกรรมเกิดขึ้นเร็วมากจนไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี อยู่ในระดับเดียวกันกับโควิด องค์ความรู้หลายอย่างที่เรียนเมื่อ 5 ปีก่อน ส่วนหนึ่งไม่ถูกแล้วก็มี
ในการเปลี่ยนเร็วแบบนี้ พอเอาไปใช้จริงในการรักษาคนจะเปลี่ยนทันไหม
ในโรคใหม่ เราต้องสร้างสมดุลพอสมควร พยายามดูว่าเราปรับเร็วเกินไปไหม โดยที่เรายังไม่รู้ว่าองค์ความรู้เข้มแข็งพอหรือเปล่า ขณะเดียวกัน ถ้าเราปรับไม่ทัน ก็อาจจะพลาดโอกาสหรือพลาดสิ่งสำคัญก็ได้ ปัญหาพวกนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราเจอปัญหาหรือองค์ความรู้ใหม่ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน
โควิดเป็นตัวอย่างที่เห็นชัด ย้อนกลับไป 2 ปีที่แล้วคนไม่รู้จักเชื้อตัวนี้ด้วยซ้ำเพราะมันไม่เคยมี ฉะนั้นก็จะใช้กรอบแนวคิดแบบองค์ความรู้เก่ามาใช้ก็ไม่ได้ เพราะ 10 ปีที่แล้วยังไม่มีเชื้อตัวนี้เลย แล้วจะเอาอะไรมาเทียบเคียง เป็นไปไม่ได้
หัวใจของการเป็นหมอคือต้องรู้จักปรับตัวและยืดหยุ่น?
ใช่ ในอดีตอาจไม่เป็นแบบนี้เพราะองค์ความรู้เปลี่ยนช้า และส่วนใหญ่เกิดจากการส่งต่อจากผู้ใหญ่สู่ผู้น้อย องค์ความรู้ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ เนื่องจากเราไม่สามารถหาความรู้ได้เอง
โควิดเปลี่ยนโฉมหน้าของการได้มาซึ่งความรู้ การระบาดของโควิดเป็นครั้งแรกในวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ที่การแชร์ความรู้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมาก ทันทีที่นักวิทยาศาสตร์หรือแพทย์ค้นพบความรู้ในซีกโลกหนึ่ง ความรู้นี้ถูกแพร่ออกอย่างรวดเร็วมากในเวลาข้ามคืน และแชร์กันฟรี เพราะฉะนั้นองค์ความรู้เลยเพิ่มขึ้นเร็วมาก ซึ่งไม่เหมือนเมื่อก่อน ที่กว่าจะสั่งสมแบบเกิดขึ้นทีละน้อย ส่งต่อจากผู้มีประสบการณ์สูงสู่ผู้มีประสบการณ์น้อย จากอาจารย์มาถึงเด็ก แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ทุกคนอยู่ในระนาบเดียวกัน
มีความรู้อะไรใหม่ของโควิดที่เข้ามาแล้วเปลี่ยนวิธีคิดคนบ้าง
เยอะนะ ยกตัวอย่าง ความรู้เกี่ยวกับตัวเชื้อกลุ่มไวรัส Corona ซึ่งเมื่อก่อนคนไม่ค่อยรู้ มีสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่อ่อนด้อยมาก ทำให้เกิดโรคหวัดธรรมดา คนไม่ค่อยให้ความสนใจ คิดว่าเป็นไวรัสกระจอก กับอีกอันคือพวก SARS หรือ MERS ซึ่งเกิดขึ้นและรุนแรงมาก เป็นไวรัสที่ไม่แพร่ระบาดที่ไหนมาก เกิดขึ้นในวงเล็กๆ ฉะนั้นคนเลยไม่สนใจเท่าไหร่เพราะคิดว่าไม่ใช่ปัญหา
พอมาเจอโควิดก็เลยกลายเป็นแบบ โอ้โห มีหลายเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน เราไม่เคยรู้เลยว่าไวรัส Corona กลายพันธุ์เร็ว ทั้งที่องค์ความรู้เก่าก็บอกว่าไวรัสตระกูลนี้กลายพันธุ์ช้ามาก หวัดที่แพร่กระจายทั่วโลกไม่เห็นกลายพันธุ์อะไรเลย ยังเหมือนเดิม
พวกเรื่องระบบภูมิคุ้มกันที่เกี่ยวข้องกับการป่วย การติดเชื้อ และวัคซีนทั้งหลายก็เพิ่มขึ้นมาก และยังเปลี่ยนเร็ว องค์ความรู้นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย เพราะวัคซีนและภูมิคุ้มกันเป็นหัวข้อการศึกษาที่คนไม่ค่อยให้ความสนใจมานานมาก จนกระทั่งโควิดระบาด
พอคนศึกษาเรื่องวัคซีนเยอะก็จะเห็นองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันที่ก้าวกระโดดเลย ในขณะที่เมื่อก่อนผมชอบพูดเล่นกับเพื่อนตลอดว่าศาสตร์เรื่องภูมิคุ้มกันเป็นศาสตร์มืด เพราะเราไม่เข้าใจมันเยอะมาก เราไม่รู้ว่าร่างกายทำงานอย่างไรถึงจะสร้างภูมิคุ้มกันแบบนี้ได้หรือต่อสู้กับโรคได้ แต่โควิดทำให้เรารู้อะไรที่ไม่เคยรู้มาก่อน
โควิดเปลี่ยนโฉมหน้าของการได้มาซึ่งความรู้ การระบาดของโควิดเป็นครั้งแรกในวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ที่การแชร์ความรู้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมาก ทันทีที่นักวิทยาศาสตร์หรือแพทย์ค้นพบความรู้ในซีกโลกหนึ่ง ความรู้นี้ถูกแพร่ออกอย่างรวดเร็วมากในเวลาข้ามคืน และแชร์กันฟรี

ศาสตร์ภูมิคุ้มกันตอนนี้มีข้อค้นพบอะไรที่น่าสนใจบ้าง มนุษย์อ่อนแอลงหรือเข้มแข็งขึ้น
ระบบภูมิคุ้มกันเราดีมากอยู่แล้ว เพียงแต่พอโควิดเป็นเชื้อโรคใหม่ ก็เป็นธรรมชาติที่ทุกคนจะเริ่มจากศูนย์ คือไม่มีภูมิต่อต้านเลย เพราะฉะนั้นโควิดจึงระบาดรุนแรงไปในระดับโลก ทุกคนที่รับเชื้อเข้าไปมีโอกาสป่วยหนักได้หมด เพราะไม่มีใครเคยรู้จักเชื้อนี้มาก่อน จึงไม่มีภูมิคุ้มกันต่อต้านมันได้ แม้แต่บางส่วนก็ไม่มี
ในขณะที่คนบอกว่าที่เราเจอไข้หวัดตอนปี 2009 ที่ระบาดเร็ว คนตายเยอะ คนก็ยังไม่กลัวมาก เพราะยังเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ เราก็ยังพอมีความเข้าใจมันพอสมควร แต่โควิดนี่ไม่ใช่เลย บางคนติดเชื้อหายแล้วหรือแม้กระทั่งติดเชื้ออยู่ ใครจะไปคิดว่าคนที่ติด 40% ไม่มีอาการ เราก็รู้แค่ว่าที่อู่ฮั่นติดเชื้อแล้วตายเป็นเบือ ก็เพราะ 40% เป็นแล้วไม่แสดงอาการนี่ไงถึงได้แพร่ไปเรื่อยๆ คนมีอาการมีแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง เรารู้ว่าคนส่วนหนึ่งปอดอักเสบรุนแรง ส่วนหนึ่งมีอาการนิดเดียว จนถึงตอนนี้เราก็ไม่รู้นะว่าใครติดแล้วจะเป็นหนัก ใครติดแล้วไม่มีอาการ
เรื่องวัคซีนทำให้เห็นชัดเจนว่าองค์ความรู้เพิ่มขึ้นแทบจะแนวดิ่ง ไม่เคยมีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อและวัคซีนดีเท่าโควิดมาก่อน เราศึกษากันทุกแง่มุมจริงๆ ภูมิคุ้มกันจะอยู่นานเท่าไหร่ จะลดลงเท่าไหร่ ใช้เวลาเท่าไหร่ ผมว่าต่อไปเผลอๆ คงทำนายได้เลยว่าพอฉีดวัคซีนปุ๊บ เราจะเจาะภูมิคุ้มกันดูได้เลยว่าต่ำเกินไปนะ ต้องบูสต์ มีโอกาสสูงที่จะเป็นแบบนี้
สงครามโรคระบาดครั้งนี้เราจะชนะไหม
ชนะอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่เคยเจอมาก่อนในช่วงชีวิตเราเท่านั้นเอง เลยมองว่าน่ากลัว แต่ถ้าเรามองไปที่ประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าขนาดไข้หวัดใหญ่สเปนที่ระบาดกันทั่วโลกหรือกาฬโรคที่ระบาดหนักมาก คนตายไปประมาณ 1 ใน 3 ของทวีปยุโรป โรคยังหยุดได้
เพราะฉะนั้นการระบาดหยุดได้ แต่หยุดด้วยอะไรเท่านั้นเอง หยุดด้วยการที่เราป่วยกันทุกคนแล้วสุดท้ายคนส่วนหนึ่งรอดและเกิดภูมิ แต่ก็จะมีคนที่เสียชีวิตกันเป็นเบือ หรือเราเอาชนะได้ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน ซึ่งสุดท้ายจะหยุด
คำถามสุดท้าย แพทยศาสตร์รอดไหมในโลกยุคหน้า
รอด ของอะไรก็ตามที่ยังอยู่กับปัจจัยสี่ของมนุษย์ อย่างไรก็รอด ยกเว้นว่าต่อไปมนุษย์จะเป็นอมตะ ไม่มีใครป่วยเลย

What’s in your bag?
สำหรับหมอ ของชิ้นไหนที่ควรพกติดตัวไว้ – ต่อไปนี้คือคำแนะนำจาก นพ.มานพ พิทักษ์ภากร
เปิดกระเป๋าหมอ อะไรที่ควรพกติดตัว

ของชิ้นที่ 1
“แล็ปท็อป”

“ส่วนใหญ่ชีวิตการทำงานของผมจะไม่ค่อยนั่งอยู่ที่โต๊ะมาก แต่ละวันต้องเดินไปตรงนั้นตรงนี้ ทำงานตรงไหนก็ได้ มีแล็ปท็อปก็สะดวกดี เปิดทำงานได้เลย”
ของชิ้นที่ 2
“ปากกา”

“ผมใช้ปากกาเขียนทุกอย่าง บันทึกเวชระเบียน เขียนสั่งงาน
ผมใช้ปากกาเจลหมึกสีน้ำเงิน ตัวด้ามเป็นพลาสติกสีขุ่นๆ ใช้อยู่ยี่ห้อเดียวมานานแล้วด้วย ส่วนใหญ่ผมไปที่ร้านซื้อมาทีเดียวสิบแท่ง เพราะว่าใช้ตลอด”
ของชิ้นที่ 3
“หูฟัง”

“ผมใช้ AirPods Pro ใช้ประชุมซูม ฟังเพลง ฟังพอดแคสต์
ผมฟังเพลงไทย เพลงสากล ตามสมัยนิยม ช่วงนี้อะไรดังก็ฟังอันนั้น ผมก็ไม่ใช่คนตกรุ่นขนาดนั้น (หัวเราะ)
ส่วนใหญ่ถ้ามีโอกาสนั่งทำงานก็ฟังเพลงไปด้วย และตอนที่ผมฟังเสมอเลยคือตอนวิ่งช่วงเช้ามืด เปิดเพลงไปด้วยวิ่งไปด้วย”

เรื่อง: ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย
บรรณาธิการ The101.world สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และระดับปริญญาโทที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอดีตกองบรรณาธิการนิตยสาร WRITER และอดีตผู้ช่วยบรรณาธิการที่สำนักพิมพ์มติชน

ภาพถ่าย: กมลชนก คัชมาตย์
จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รักแมว ภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด สนใจการนำประเด็นทางสังคมมาทำเป็นสื่อสร้างสรรค์ชนิดใหม่ๆ

ภาพถ่าย: ธิติ มีแต้ม
สื่อมวลชน นักเขียน ช่างภาพ
Related Posts
- 101 One-On-One Ep.222 ทางเลือกวัคซีน ทางรอดประเทศไทย กับ มานพ พิทักษ์ภากร
- 'ทางเลือกวัคซีน ทางรอดประเทศไทย' กับ มานพ พิทักษ์ภากร
101 ชวน ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มาคุยว่าด้วยประเด็นวัคซีนโควิด-19
- การตรวจโรคจากพันธุกรรม : ทำนาย ป้องกัน รักษา แบบ 'เฉพาะจุด-เฉพาะคน' - ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร
คุยกับ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าสาขาวิชาเวชพันธุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ว่าด้วย 'การตรวจโรคจากพันธุกรรม' นวัตกรรมใหม่ที่อาจเปลี่ยนโฉมการรักษาโรคจากหน้ามือเป็นหลังมือ
- มองการเคลื่อนไหวในมุมผู้สังเกตการณ์ กับ นพ.ทศพร เสรีรักษ์
101 ชวน นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย มาย้อนมองและทบทวนการเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงในช่วงเวลาที่ผ่านมา จนเกิดคำถามว่าจะเป็นก้าวย่างที่ถูกต้องจริงหรือ และปิดท้ายด้วยคำถามที่หลายคนกำลังสงสัยว่าม็อบจะไปต่ออย่างไร
- ‘คิด-เพื่อ-ไทย’ กับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช
101 ชวน ‘หมอมิ้ง’ - นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช มันสมองเบื้องหลังปฏิบัติการ ‘คิด เพื่อ ไทย’ สนทนาสำรวจเบื้องลึกเรื่องปฏิรูปพรรคเพื่อไทย ปฏิรูปการเมืองไทย และปฏิรูปประเทศไทย
- คิด เคลื่อน ไทย ในมหาวิกฤต กับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม CARE อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย และตีโจทย์มหาวิกฤตอย่างไรเพื่อหาทางออก