เท่าที่ฟังดูเหมือนกับว่า มานุษยวิทยาเป็นศาสตร์ที่กว้าง มีผู้สนใจศึกษาเรื่องย่อยๆ ต่างกันออกไป แล้วเรามีจุดร่วมอะไรไหมที่ร้อยเรียงความสนใจศึกษาเรื่องย่อยๆ เหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน
ผมคิดว่าแก่นของมานุษยวิทยาคือ การเข้าใจว่าความเป็นมนุษย์เป็นอย่างไร คือศึกษาเพื่อตอบคำถาม how to be human? เพื่อว่าเราจะเป็นมนุษย์ที่เข้าใจคนอื่นมากกว่าเดิม เข้าใจโลกที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม จากที่เราเคยตัดสินว่าคนอื่นงมงาย หรือจากความเชื่อที่เราเคยสงสัยว่าเชื่อไปได้ยังไง ถ้าคุณได้เข้าไปอยู่ในโลกของเขาแล้ว ดีไม่ดีก็อาจจะเชื่อและปฎิบัติไม่ต่างไปจากเขาเลยก็ได้
อย่างเช่น เราอาจเคยได้ยินว่าบางคนจบปริญญาเอก บางคนจบแพทย์ แต่ก็ยังไปรักษากับคนทรงหรือทำพิธีกรรมรักษาโรค ถ้ามองเผินๆ ก็อาจตัดสินเอาง่ายๆ ว่ามันเป็นความงมงาย แต่สำหรับคนที่เป็นโรคซึ่งไม่มีทางรักษา เรียกว่าสิ้นหวังจากการแพทย์สมัยใหม่แล้ว หมอบอกว่าคุณตายแน่ๆ ในอีก 3 เดือน 6 เดือน แล้วจะให้เรานอนรอความตายหรือ เป็นเรา เราก็คงไม่ยอมหรอก เพราะฉะนั้นถ้ามีใครบอกว่าหมอพื้นบ้านที่ไหนดี สมุนไพรที่ไหนใช้ได้ หรือแม้แต่มีหมอผีหรือคนทรงที่ไหน เขาก็คงจะไป อย่างน้อยมันก็ยังเป็นความหวังได้บ้าง
แต่เราก็ไม่ต้องไปเผชิญชะตากรรมเดียวกันนี้จึงจะเข้าใจคนอื่นได้ ที่สำคัญ นักมานุษยวิทยาไม่ได้ ‘กลาย’ เป็นคนที่เราไปศึกษา กลายเป็นชาวบ้าน หรือเป็นพี่น้องชาติพันธุ์ หรือ LGBT แต่เราไปศึกษาอย่างมีความเข้าอกเข้าใจ เอาความเป็นมนุษย์ของเราไปสัมผัส เข้าไปเรียนรู้แบบไม่รีบตัดสิน มานุษยวิทยาถือว่าแม้เราจะแตกต่างกันมากมาย แต่มันก็เป็นไปได้ที่ความเข้าใจกันจะก้าวพ้นความแตกต่างนั้นได้ เพราะเราต่างมีความเป็นมนุษย์อันหนึ่งอันเดียวกันอยู่ก่อนแล้ว
จริงๆ แล้ว เรื่องความเป็นมนุษย์นี้อาจต้องทำความเข้าใจสักนิดก่อน คือปัจจุบันมีกระแสความคิดเรื่อง ‘พ้นมนุษย์’ (post-human) ที่เสนอว่า แนวคิดมนุษย์นิยมตะวันตกที่ถือว่ามนุษย์เป็นสิ่งพิเศษ แตกต่างจากสรรพสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตอื่นๆ สัตว์ หรือวัตถุสิ่งของ หรือที่เรียกว่า human exceptionalism เป็นผลผลิตของวิธีคิดที่แยกมนุษย์ออกจากสิ่งอื่น แยกออกจากธรรมชาติ ออกจากสังคม และที่สำคัญคือ เป็นการอ้างเอาคุณสมบัติบางอย่างว่าเป็นของมนุษย์ แต่ถ้าเอาเข้าจริงๆ หลายๆ อย่างที่เรามองว่าเป็นคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้มีอยู่แค่ในมนุษย์ สัตว์ก็มีอารมณ์ความรู้สึก มีความใส่ใจในการเลี้ยงลูก มีความคิดสร้างสรรค์ เชื้อโรคเชื้อราก็ขยายอาณานิคมออกไปไม่ต่างจากมนุษย์ขยายถิ่นที่อยู่อาศัย ดังนั้น คุณสมบัติหลายอย่างที่เราเรียกว่า ‘ความเป็นมนุษย์’ ก็ไม่ใช่ของมนุษย์นะ เพียงแต่เราอาจจะรู้จักมันจากการแสดงออกของมนุษย์ก่อน ก็เลยเหมารวมว่านี่คือความเป็นมนุษย์ไป ปัจจุบัน มานุษยวิทยาจึงมีการศึกษาสัตว์ (animal studies) รวมทั้งการศึกษาชาติพันธุ์นิพนธ์ของพืช (plant ethnographies) เพื่อที่จะเข้าใจภววิทยาหรือการดำรงอยู่ของความจริงที่แตกต่างออกไปจากการใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง
ถ้าจะพูดให้ชัดขึ้น คุณสมบัติหลายอย่าง เช่น การช่วยเหลือแบ่งปันกัน ก็ไม่ได้มีแต่ในมนุษย์ ถ้าเราสังเกตต้นไม้ในเมืองที่ถูกตัดโค่นเหลือแค่ตอ ภายในไม่กี่เดือนมันก็จะแห้งตาย แต่มีการศึกษาต้นไม้ในป่าที่สมบูรณ์พบว่า แม้บางต้นจะถูกโค่นลงมาหลายปี แต่โคนต้นที่เหลืออยู่ก็ยังเขียว ยังมีชีวิตอยู่แม้จะผ่านไปหลายสิบปี ทั้งๆ มันไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ แต่มันก็ไม่ตายเพราะมันได้สารอาหารที่ต้นไม้รอบๆ ส่งมาหล่อเลี้ยงมันไว้ นี่คือสิ่งที่เรารู้จักในนามความเอื้ออารีของความเป็นมนุษย์ แต่จริงๆ มันอยู่ในทุกสรรพสิ่ง
ในแง่นี้ มานุษยวิทยาจึงไม่ได้ไปมองหาแร่ธาตุ เอนไซน์ หรือสารประกอบแปลกใหม่ที่เราไม่รู้จัก เหมือนอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการค้นพบสปีชีส์ใหม่หรือนักควอนตัมฟิสิกส์อยากจะค้นพบอนุภาคใหม่ แต่นักมานุษยวิทยาไปทำความเข้าใจเพื่อจะได้สะท้อนกลับมาตอบคำถามว่า ‘ความเป็นมนุษย์’ คืออะไร
บทเรียนเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกันก็เป็นความเข้าใจที่พ้นมนุษย์ไปด้วย เพื่อจะไม่ให้เราติดกับดักการแบ่งโลกออกเป็นมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ วัตถุกับสังคม วิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์ หรือแบ่งโลกออกเป็นเราและคนอื่น ซึ่งเป็นที่มาของอคติที่ก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่าง การศึกษาของมานุษยวิทยาในระยะหลังจึงมุ่งรื้ออคติที่ฝังแฝงอยู่ในวิชามานุษยวิทยาเอง เป็นอคติที่ว่ามีแต่มนุษย์เท่านั้นที่มีวัฒนธรรม มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่เป็นผู้กระทำการ วัตถุสิ่งของหรือสัตว์อื่นล้วนแต่เนือยนิ่งและดำรงอยู่เพื่อรองรับการกระทำของมนุษย์
ทั้งหมดที่ว่ามาถือเป็นภารกิจใหญ่ของการสร้างความรู้ ไม่ใช่เฉพาะมานุษยวิทยา แต่รวมทั้งศาสตร์อื่นๆ เช่น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา มนุษยศาสตร์ ก็ต้องเข้ามาร่วมกันท้าทายวิธีคิดแบบนี้ด้วย
เราบอกได้ไหมว่า นี่คือความพยายามเข้าใจความเป็นมนุษย์ เพื่อสลายความเป็นมนุษย์
ใช่ครับ เหมือนที่พูดไปแล้วว่า ในระยะหลัง แนวคิดที่เรียกว่าพ้นมนุษย์ (post-human) จะมองว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก รวมถึงสภาวะโลกรวน เกิดจากวิธีคิดที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง คือ เอาประโยชน์ของมนุษย์เป็นสิ่งสูงสุด เช่น แม่น้ำ ผืนดิน ป่า ภูเขา ถูกมนุษย์ทำลายได้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง สิ่งต่างๆ ถ้ามันไม่เป็นประโยชน์กับมนุษย์ เราก็กำจัดมันทิ้งไปได้ เหมือนกับว่า ถ้ามันไม่สมประโยชน์ของมนุษย์ มันก็ไม่คู่ควรจะอยู่บนโลกใบนี้
หรืออย่างถุงพลาสติก ซึ่งเราใช้อย่างสะดวกสบาย ใช้เสร็จ หมดประโยชน์ก็ทิ้งไป แต่ปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่นก็อาจเข้าไปติดในถุง หรือพลาสติกที่กลายเป็นขยะท่วมท้นในปัจจุบัน มนุษย์เราก็ไม่แคร์ เราจะสนใจแต่เพียงความสะดวกสบายเท่านั้น นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่หันมามองความรู้ที่ไม่ใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางในระยะหลังมานี้
นอกจากการศึกษามานุษยวิทยาจะทำให้เราเข้าใจมนุษย์ได้ลึกซึ้งมากขึ้นแล้ว ในทางปฏิบัติ ความรู้ทางมานุษยวิทยาจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในสังคมหรือสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้อย่างไร
ความรู้ทางมานุษยวิทยาสามารถถูกนำไปใช้ได้ตั้งแต่ระดับนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิทางวัฒนธรรม สิทธิมนุษยชน การต่อสู้กับอคติทางสังคมต่างๆ แม้แต่เรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็มีมิติทางวัฒนธรรมที่ซ้ำเติมผู้เสียโอกาส หรือการเข้าใจเงื่อนไขและโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมของกลุ่มเปราะบางต่างๆ ก็ล้วนแต่ต้องการความเข้าใจเงื่อนไขบริบทของผู้ด้อยโอกาส หรือระบบบริการสาธารณะ เช่น ระบบโรงพยาบาล ถ้าออกแบบโดยไม่เข้าใจคนเลย แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือหรือเยียวยาก็อาจจะเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ หรือผลิตซ้ำวิธีคิดที่ลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้
ในระยะหลังมานี้ มีนักมานุษยวิทยาในตะวันตกไปทำงานในภาคธุรกิจมากขึ้น มีการนำเอาความรู้และวิธีวิทยาทางมานุษยวิทยาเพื่อใช้ศึกษาลักษณะการใช้งานของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ นักมานุษยวิทยาจึงเข้าไปมีบทบาทในการออกแบบสินค้า เฟอร์นิเจอร์ สถาปัตยกรรม โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่ใช้ข้ามวัฒนธรรม เพราะสิ่งที่อนุญาตให้ทำได้ในสังคมหนึ่งอาจผิดกาละเทศะหรือเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมหนึ่ง เช่น สินค้าบางชนิดอาจถูกออกแบบมาให้ใช้เท้าเขี่ย ก็คงไม่เป็นไรในสังคมตะวันตก แต่คนตะวันออกก็คงจะไม่นิยม เพราะเราถือว่าการใช้ขาทำกิจกรรมต่างๆ เป็นเรื่องไม่เหมาะสม แบบนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดถึงเช่นกัน
ทั้งหมดนี้ทำให้มานุษยวิทยาค้นพบประโยชน์ของตัวเองได้อย่างกว้างขวางขึ้น ทั้งในแง่การทำงานเพื่อให้สังคมเกิดความเป็นธรรมมากขึ้น หรือคอยวิพากษ์วิจารณ์ ให้ข้อชี้แนะในส่วนที่สังคมยังต้องการการเปลี่ยนแปลง ช่วยพัฒนาบริการทางสังคม หรือแม้แต่สินค้าและบริการภาคธุรกิจให้เหมาะสมและละเอียดอ่อนกับกลุ่มคนที่อาจจะไม่ได้เป็นตัวอย่างที่เขาคำนึงถึงในช่วงแรกที่ออกแบบสินค้าและบริการนั้น
ส่วนในประเทศไทย เราอาจจะเห็นคนเรียนมานุษยวิทยาไปทำงานด้านการสร้างเนื้อหา (content creator) เยอะ เช่น นักเขียน นักข่าว หรือทำสารคดี อีกส่วนก็จะเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ทางมานุษยวิทยาในการทำงานในวงการอื่นๆ เช่น การพัฒนา การศึกษา งานด้านสิ่งแวดล้อม หรือในวงการแพทย์และสาธารณสุข ในแวดวงโฆษณาและการบริหารงานบุคคล (HR) ที่ต้องการความเข้าใจมิติความเป็นมนุษย์ก็สามารถใช้ประโยชน์จากนักมานุษยวิทยาได้ เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่ต้องศึกษาการใช้พฤติกรรมการใช้สินค้าอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะนักมานุษยวิทยาจะมีเครื่องมือการวิจัยที่เรียกว่า ‘การสังเกตแบบมีส่วนร่วม’ ที่จะช่วยให้เข้าถึงความรู้สึกนึกคิดหรือบริบทการใช้ผลิตภัณฑ์ว่าจริงๆ แล้วผู้ใช้ใช้อย่างไร รู้สึกอย่างไร สินค้าบางชนิดอาจมีนัยเชิงสัญลักษณ์ ความรู้ความเข้าใจลักษณะนี้มักหาไม่ได้จากแบบสำรวจ แต่วิธีวิจัยแบบมานุษยวิทยาช่วยได้เยอะ เพราะเป็นการศึกษาจากการเข้าไปคลุกวงใน ทำให้เข้าใจมุมมองของคนใช้ เป็นต้น
ในกรณีที่นักมานุษยวิทยาได้เข้าไปศึกษาคนกลุ่มหนึ่งและนำข้อมูลที่ได้มาช่วยในเรื่องธุรกิจ แล้วจะเป็นไปได้ไหมว่า ข้อมูลที่เรานำเสนออาจกลับกลายเป็นช่องทางให้ภาคธุรกิจฉกฉวยประโยชน์จากคนกลุ่มนั้นแทน โดยที่นักมานุษยวิทยาเองก็อาจจะไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ แบบนี้นักมานุษยวิทยาควรจะวางตัวอย่างไร
โจทย์นี้น่าสนใจมากครับ ในต่างประเทศ มีนักมานุษยวิทยารวมตัวกันเป็นองค์กรชื่อว่า EPIC (Ethnographic Practitioners in Corporations) เพราะเขาต้องเจอกับปัญหานี้ การมารวมตัวกันก็เพื่อวางมาตรฐานทางจริยธรรมว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เพราะมานุษยวิทยาไม่ได้มีพันธะผูกพันแค่กับบริษัท แต่มีหน้าที่ต่อสังคมด้วย คือต้องไม่ยอมให้ข้อมูลหรือความรู้ที่เราสร้างขึ้นถูกใช้เพื่อเอารัดเอาเปรียบคนอื่น
ทีนี้ ถ้านักมานุษยวิทยาสักคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้คนเดียวก็อาจจะลำบาก เพราะลำพังตัวคนเดียวไม่มีอำนาจต่อรอง จึงเกิดการรวมตัวกันขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่ว่า