fbpx
มนุษย์รอยต่อ : เมื่อจุดเปลี่ยนชีวิตมีโควิด-19 เข้ามาแทรก

มนุษย์รอยต่อ : เมื่อจุดเปลี่ยนชีวิตมีโควิด-19 เข้ามาแทรก

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย และ ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

ถ้ามองเส้นทางชีวิตเป็นแบบช่วงชั้นลำดับขั้น ช่วงเวลาน่าเหน็ดเหนื่อยกังวลใจที่สุดย่อมหนีไม่พ้นห้วงจังหวะที่ยืนอยู่บนรอยต่อ รอการเปลี่ยนผ่านจากวัยหนึ่งไปสู่อีกวัยหนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ชั้นประถมครั้งแรก เปลี่ยนจากมัธยมต้นเป็นมัธยมปลาย นักเรียนกลายเป็นนักศึกษา หรือว่าเพิ่งเรียนจบออกมาหางาน การก้าวข้ามรอยต่อแต่ละครั้งล้วนมีเรื่องราวไม่ราบรื่นแฝงอยู่เสมอ

ลำพังปัญหาส่วนตัวก็ชวนให้หนักอกหนักใจมากพอแล้ว แต่ ณ วินาทีนี้กลับมีวิกฤตระดับชาติอย่างโควิด-19 เข้ามาแทรกแซงให้การออกแบบชีวิตและอนาคตยากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว อะไรคือสิ่งที่มนุษย์บนรอยต่อต้องเผชิญ และอะไรคือสิ่งที่พวกเขาอยากบอกให้คนเข้าใจ

101 พาไปฟังเสียงของคนที่ต้องรับมือกับโควิด-19 ในช่วงเวลาอ่อนไหวของชีวิต ความฝัน ความหวัง และการมองไปยังวันพรุ่งนี้ที่ไม่แน่นอน

ณัชชา คุณแม่ของลูกเล็กเตรียมขึ้นป.1 อายุ 40 ปี

“ลูกชายคนโตของพี่อายุ 5 ขวบ 10 เดือน กำลังจะ 6 ขวบปลายเดือนหน้า ตอนนี้เรียนอยู่ชั้นอนุบาล 3 กำลังจะเข้าป.1 เดือนมิถุนายน เลื่อนจากกำหนดการเดิมคือช่วงเดือนพฤษภาคม ส่วนลูกคนเล็กอายุเพิ่งจะ 2 ขวบ กำลังเรียนเตรียมอนุบาล แต่ช่วงนี้ต้องหยุดอยู่บ้านกันทั้งคู่เพราะมีโควิด-19 ก็อยู่ด้วยกันพ่อแม่ลูก 4 คน

“ตัวพี่กับแฟนเป็นข้าราชการทั้งคู่ ตอนที่เกิดการระบาดรอบแรกเราเป็นคนที่ได้ทำงานแบบ Work From Home หลังสุด เพราะทำงานในหน่วยงานใกล้ชิดรัฐบาล เขาต้องการกำลังคนไว้ช่วยเหลือ แต่พอสถานการณ์รุนแรงขึ้นรัฐก็ประกาศให้ทำงานจากที่บ้าน เข้ามาที่สำนักงานได้ไม่เกิน 40% ของคนทั้งหมด พี่กับแฟนเลยสลับกันเข้าอาทิตย์ละ 2 วัน 3 วัน แต่ถ้าวันไหนจำเป็นต้องเข้าที่ทำงานทั้งคู่ พี่จะพาลูกๆ ไปด้วยกัน โชคดีที่ที่ทำงานมีเพื่อนคนอื่นพาลูกเล็กเข้าไปเลี้ยงที่ทำงานเหมือนกัน ทำให้มีคนคอยดูแลน้องๆ

“การใช้ชีวิตประจำวันก็เปลี่ยนไปตั้งแต่มีโควิด-19 จากเดิมวันเสาร์-อาทิตย์ เราจะพาน้องไปหาคุณปู่คุณย่าที่ต่างจังหวัดอาทิตย์เว้นอาทิตย์ก็ต้องหยุดไป หันมาให้เด็กๆ วิดีโอคอลคุยกับคุณปู่คุณย่าแทน การพาน้องออกไปเที่ยวห้างบ้าง สวนสัตว์บ้าง หรือไปทะเล ทุกอย่างงดหมดเลย

“เราพยายามกันไม่ให้เด็กๆ ได้รับความเสี่ยง ยกเว้นว่าจำเป็นจริงๆ ค่อยออกไปนอกบ้าน และต้องพกแอลกอฮอล์ล้างมือ ทิชชู่เปียก สวมแมสก์ตลอดเวลา ตอนที่เกิดการระบาดรอบสองช่วงแรกๆ น้องต้องไปโรงเรียนอยู่ พี่ก็ฝึกให้เขาใส่แมสก์จนชิน สอนเขาว่าถอดได้เฉพาะทานอาหาร ดื่มน้ำนะ พกเจลล้างมือใส่กระเป๋า เมื่อกลับบ้านมาแล้ว ก็ต้องล้างจมูก กลั้วคอด้วยน้ำเกลือเพื่อทำความสะอาดทุกวัน

“เวลาสอนลูก พี่จะใช้วิธีเปิดทีวีให้เขาดูข่าวเรื่องโควิด-19 บางจังหวะเขาได้เห็นภาพเด็กติดโควิด-19 แล้วหมอมาแยกตัวเด็กกับพ่อแม่ออกจากกัน พี่ก็จะบอกเขาว่าถ้าใช้ชีวิตแบบไม่ระมัดระวัง จนมีใครสักคนป่วย เราจะไม่ได้อยู่ด้วยกันนะ อาจต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล แยกจากกันเป็นเดือนๆ ดังนั้นอย่าเอามือเข้าปาก จะหยิบจับอะไรต้องล้างมือ ต้องสวมแมสก์ พอเขาอยู่กับเราตลอดตั้งแต่เขาคลอด เจอหน้ากันทุกวัน ถ้าเขารู้ว่าทำแบบนี้จะไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เขาก็อาจจะกลัว และพยายามป้องกันตัวเองมากขึ้น

“พอโรงเรียนประกาศหยุดตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการจนถึงสิ้นเดือนมกราคม ทางโรงเรียนของลูกชายคนโตก็เลือกใช้วิธีติดต่อผ่านไลน์กลุ่มครูกับผู้ปกครอง ส่งแบบฝึกหัดให้น้องมาหัดเขียนอ่าน กำหนดว่าวันนี้ให้อ่านหนังสือหน้าไหนบ้างแทนการเรียนออนไลน์ เพราะทางโรงเรียนคิดว่าการเรียนออนไลน์อาจสร้างภาระให้ผู้ปกครอง ผู้ปกครองบางคนอาจต้องออกไปทำงาน ไม่สะดวกคอยดูแลเด็กให้เรียนออนไลน์ช่วงกลางวัน หรือเด็กบางคนอยู่กับครอบครัวต่างจังหวัด อาจจะไม่สะดวกเรื่องการสื่อสารหรือมีเครื่องมือต่างๆ ไม่ครบถ้วน

“เนื้อหาส่วนใหญ่มักเป็นการทบทวนบทเรียนเดิมเพื่อไม่ให้น้องลืมหรือห่างจากการเรียนนานเกินไป ซึ่งพี่ก็ไม่กังวลอะไรมาก เพราะสิ่งที่ครูให้มาทำก็เป็นสิ่งที่น้องเคยเรียนมาหมดแล้ว ส่วนใหญ่น้องสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ที่ผ่านมาโรงเรียนก็สอนเขียนอ่านให้น้องได้ดี อาจจะดีกว่าระดับเด็กอนุบาลด้วยซ้ำ น้องสามารถประสมคำ บวกเลขได้ อ่านป้ายตามทางได้คล่อง เรื่องที่ว่าจะเลื่อนชั้นย้ายโรงเรียนใหม่เร็วๆ นี้เลยไม่ทำให้พี่กังวล คิดว่าน้องน่าจะปรับตัวได้

“ส่วนลูกคนเล็ก ครูก็คอยส่งภาพวิดีโอกิจกรรมมาให้ทางไลน์กลุ่ม เป็นกิจกรรมที่โรงเรียนจะจัดในแต่ละวันในภาวะปกติ เพื่อให้ผู้ปกครองดูเป็นตัวอย่างและนำไปปรับใช้กับน้องๆ เช่น วิดีโอการเล่นสีเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ ทั้งนี้แล้วแต่ความสะดวกของผู้ปกครอง อีกอย่างหนึ่งคือครูจะคอยนัดหมายวิดีโอกับน้องๆ และผู้ปกครองอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง ครั้งละประมาณ 20 นาที

“ก่อนหน้านี้ ทางโรงเรียนเคยให้ผู้ปกครองเข้าไปดูการเรียนการสอนในช่วงแรกที่น้องเข้าเรียนแต่ละระดับชั้น พี่เลยเห็นว่ากิจกรรมที่ครูทำในแต่ละวันมีอะไรบ้าง และนำมาปรับใช้กับที่บ้าน เช่น พยายามจัดมุมหนึ่งของบ้านให้มีของเล่นฝึกทักษะน้อง มีเลโก้ หนังสือนิทาน ร้องเพลงที่เขาคุ้นหูจากตอนทำกิจกรรมที่โรงเรียนอย่างตอนเก็บหนังสือ เก็บของเล่น ทานข้าวเองเพื่อฝึกระเบียบวินัย

“เด็กๆ ก็เข้าใจนะว่าทำไมไม่ได้ไปโรงเรียน น้องคนเล็กอาจจะยังไม่เข้าใจเท่าคนพี่ เลยมีอาการคิดถึงโรงเรียนบ้าง บางทีน้องจะเรียกชื่อเพื่อน เรียกชื่อคุณครูขึ้นมา พี่ก็อาศัยเปิดรูปเพื่อนๆ รูปครูให้เด็กๆ ดู ถามว่าใครชื่ออะไร นิสัยเป็นยังไง ให้เขาเล่าเรื่องเพื่อนให้ฟัง ดูรูปคลายเหงากันไปก่อน ดีที่พวกเขาก็ไม่งอแงอะไรมาก ถึงจะอยากไปโรงเรียนมากๆ ก็ตาม

“ช่วงนี้ก็ถือว่าหนักเหมือนกันสำหรับเราที่เป็นคุณแม่ทำงานนอกบ้าน เพราะกลับมาต้องดูแลเด็กๆ ไม่ว่าจะเรื่องอาหารการกิน เสื้อผ้า รวมไปถึงกิจกรรมที่ต้องให้เขาทำ พัฒนาทักษะเขาให้เป็นไปตามวัย มันเหนื่อยอยู่แล้ว ยิ่งเป็นช่วงที่งานเยอะก็ยิ่งเหนื่อย แต่เราก็ทิ้งสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้ เราต้องเลือก และพี่ก็เลือกจะสละงาน ไม่เอามาทำที่บ้าน หรือถ้าจะทำก็ต้องรอให้เด็กๆ เข้านอนก่อนค่อยทำ

“โชคดีที่พี่ไม่ได้อยู่คนเดียว ยังมีพ่อของเด็กๆ คอยช่วยเหลือ และพี่ก็เตรียมตัวประมาณหนึ่งตอนได้ยินว่าต้องปิดโรงเรียน พยายามไม่ทำให้เขาขาดหายจากสิ่งที่เขาควรได้รับ

“คนอาจคิดว่าช่วงนี้ควรฝากลูกไว้กับปู่ย่าหรือพี่เลี้ยงเด็กให้ช่วยดูแล แต่กรณีของพี่ คุณปู่คุณย่าค่อนข้างอายุเยอะแล้ว และอยู่ต่างจังหวัด เขาอาจจะทำความเข้าใจเด็กหรือให้เด็กทำกิจกรรมได้ไม่ดีเท่าพ่อแม่ นอกจากนี้เด็กๆ ยังอยู่กับเรามาตลอดตั้งแต่คลอด เขาคงอยู่ไม่ได้โดยไม่มีพ่อแม่ การนำน้องๆ ไปฝากอาจจะทำให้น้องเหงากว่าเดิม พี่เลยคิดว่าอยู่ด้วยกันนี่ล่ะดีแล้ว ให้เรามาบริหารเวลาเองดีกว่า ถ้ายังสามารถ Work From Home ได้ พี่กับแฟนก็ยังสามารถผลัดกันดูแลได้

“ถ้าในอนาคต สถานการณ์รุนแรงจนต้องเลื่อนเปิดโรงเรียนไปเรื่อยๆ พี่ก็กังวลนะ เพราะเมื่อเปิดเทอมมา การเรียนการสอนอาจจะเข้มข้นขึ้น มีชั่วโมงเรียนนานขึ้นเพื่อทำให้น้องเรียนทันเนื้อหาในแต่ละภาคเรียน แต่พี่เชื่อว่าครูคงไม่เลือกป้อนข้อมูลให้เด็กประถมเยอะเกินไปจนเด็กรับไม่ไหว หรือถ้าต้องให้ผู้ปกครองสอนน้องที่บ้าน พี่ก็จะพยายาม ถึงจะไม่ดีเท่าคุณครู แต่ก็จะทำอย่างดีที่สุดเพื่อลูก”

 

โอปอ นักเรียนม.3 ขึ้นม.4 อายุ 14 ปี

“พอขึ้นม.4 หนูวางแผนจะสอบเข้าแผนการเรียนศิลป์-ญี่ปุ่น ที่โรงเรียน A หรือไม่ก็ไปสอบเอกออกแบบที่โรงเรียน B ถึงพ่อแม่อยากให้หนูเรียนวิทย์-คณิต แต่หนูเป็นเด็กกิจกรรม ใจจริงอยากเรียนศิลป์-ภาษาแบบเต็มที่ แต่พ่อแม่ก็โน้มน้าวหนูมาเรื่อยๆ จนเราไปเจอออกแบบภายในซึ่งทั้งหนูและพ่อแม่ชอบ เลยคลิกกันพอดี เหมือนเป็นทางสายกลาง

“ช่วงโควิด-19 เริ่มระบาดใหม่ๆ โรงเรียนหนูไม่พูดอะไรเลย ให้เรียนปกติมาตลอด จนวันหนึ่งจู่ๆ ก็ให้ไปเรียนออนไลน์ ไม่ได้บอกอะไรล่วงหน้าสักนิด ออกแนวด้นสดมากกว่า (หัวเราะ) ตอนเรียนออนไลน์แรกๆ ก็ทุลักทุเลมากเลยค่ะว่าต้องทำยังไง เพราะเด็กหลายคนยังไม่เคยใช้โปรแกรมพวกนี้เลย เข้าไป join class ได้ด้วย common sense ล้วนๆ โรงเรียนบอกแค่ให้เข้าลิงก์นั้น เวลานี้ และบอกแค่ให้โหลด google meet กับ zoom มา เหมือนเขาคิดไปเองว่า เด็กรุ่นใหม่รู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีอยู่แล้ว ส่วนครูบางท่านก็มีปัญหากับการใช้เทคโนโลยีเหมือนกัน ตั้งแต่เรียนออนไลน์มาจนถึงทุกวันนี้ หนูยังไม่ได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์เลยเพราะครูใช้ zoom ไม่เป็น ก็ได้แต่สั่งงานและบอกว่าเป็นการค้นหาความรู้นอกห้องเรียน

“เรื่องอุปกรณ์การเรียนก็เป็นปัญหาสำหรับบางคนเหมือนกัน อย่างห้องหนูมีคนที่เปิดกล้องในคอมฯ ไม่ได้ ก็เลยไม่ได้เช็กชื่อ เพราะครูจะเช็กชื่อเฉพาะคนที่เปิดกล้องได้เท่านั้น ไม่ได้มองว่าบางคนอาจจะเปิดกล้องไม่ได้จริงๆ ส่วนเรื่องส่งอุปกรณ์ให้นักเรียนที่ไม่มีอุปกรณ์ หนูว่าคงจะไม่มีการซัพพอร์ตด้านนี้นะคะ เพราะตอนนี้โรงเรียนยังหาวิธีส่งชีทมาถึงนักเรียนไม่ได้เลย พูดง่ายๆ คือเขายังจัดการกับการเรียนออนไลน์ไม่ได้นั่นแหละ

“พอเป็นแบบนี้ หนูก็กังวลว่าจะเก็บเกรดยังไงดี เพื่อจะไปยื่นโรงเรียนอื่นหรือใช้เกรดต่อโรงเรียนเดิม การที่โรงเรียนไม่ชัดเจนทำให้พวกเราค่อนข้างหงุดหงิดกับโรงเรียนมาก เพื่อนก็บ่นกันเยอะว่าทำไมทำแบบนี้ ทุกอย่างดูริบหรี่ไปหมด จะทำอนาคตตัวเองให้ดีขึ้นก็ทำไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าเราต้องเจอกับอะไรต่อไป สิ่งที่พวกเราอยากได้คือแนวทางว่าโรงเรียนจะทำอย่างไรต่อไป และอยากให้โรงเรียนช่วยกรองสักนิดว่าอะไรสำคัญกับการเรียนรู้จริงๆ จะได้แบ่งเวลาไปอ่านหนังสือเตรียมสอบได้ เพราะโรงเรียนแทบไม่สอนหลักสูตรที่ใช้ในการสอบได้เลย

“ตอนนี้หนูเหนื่อยมาก เหมือนโดนดับอนาคตไปเรื่อยๆ และสงสัยในตัวเองบ่อยมากว่าในอนาคตข้างหน้าเราจะทำอะไรอยู่นะ จะสอบติดไปหรือยัง อีกอย่างคืองานที่ต้องทำเยอะมาก บางทีหนูต้องอ่านหนังสือหน้ากล้องเพื่อเอาคะแนนเช็กชื่อ แล้วค่อยไปตามงานเอาทีหลัง แต่พ่อแม่ก็มองอีกว่าทำไมหนูไม่ตั้งใจเรียนเลย เหมือนคิดว่าหนูเป็นแค่เด็กม.3 ที่ยังไม่มีอะไรในชีวิตต้องเครียด การสอบเข้าม.4 ไม่ได้ยากขนาดนั้นหรอก หนูก็พยายามคุยกับเขานะคะ แต่เขาไม่เข้าใจเลย พ่อแม่หนูคิดว่าการเรียนหนังสือคือการเรียนไปแบบที่เคยทำก่อนหน้านี้ ส่วนอ่านหนังสือก็จัดการเวลาเอาเองได้เพราะเราโตแล้ว แต่มันไม่ใช่ไง เพื่อนหนูคนหนึ่งเครียดหนักมากจนต้องไปพบแพทย์เลยด้วยซ้ำ

“ถ้าพูดกับผู้ใหญ่ได้ หนูอยากบอกว่าอย่าตัดสินเราด้วยอายุ อย่ามองว่าเด็กน้อยไม่เครียดหรอก อย่ามองว่าปัญหาของเด็กก็เป็นแค่ปัญหาเล็กๆ อยากให้มองว่าเราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เครียดมากๆ จากการจัดการแปลกๆ ของผู้ใหญ่ อยากให้ช่วยซัพพอร์ตเราเท่าที่ทำได้และช่วยดูแลอนาคตของพวกเราด้วย เพราะพวกคุณคือส่วนสำคัญที่จะทำให้อนาคตของพวกเราดีขึ้นเหมือนกัน

“โควิด-19 อาจจะไม่ได้กระทบความฝันในระยะยาวของหนูมาก เพราะหนูรู้ตัวแล้วว่าอยากทำงานเกี่ยวกับศิลปะ ถ้าในประเทศหาทางไม่ได้ก็เริ่มมองไกลไปถึงต่างประเทศแล้ว พูดตรงๆ คือหนูไม่ค่อยอยากอยู่ที่นี่แล้ว เพราะประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับวงการศิลปะเท่าที่ควร เขาไม่ได้ซัพพอร์ตความฝันเรา ไม่ได้ให้พื้นที่เราเติบโต หนูมีความสุขกับการเติบโตไปเรื่อยๆ ในสายงานที่หนูชอบ แต่ประเทศดับความฝันของหนู กัดกินเราไปเรื่อยๆ เด็กไม่ได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน ไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ”

 

เอ๋ย นักเรียนม.6 เตรียมเข้ามหาวิทยาลัย อายุ 17 ปี

“ในระบบ TCAS ช่วงนี้เป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยเปิดรับพอร์ตโฟลิโอ เป็นรอบแรกในการรับเด็กเข้ามหาวิทยาลัย ปกติแล้วจะเริ่มรับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีก่อนจนถึงเดือนกุมภา-มีนาปีนี้ หนูเองก็เพิ่งส่งพอร์ตไป ส่วนตัวหนูอยากเรียนด้านวาดรูปเลยตั้งใจยื่นรอบพอร์ตรอบเดียว หวังได้แค่รอบเดียว แต่สำหรับเพื่อนที่ต้องรอสอบรอบอื่นๆ ที่จะตามมา หนูก็เห็นว่าเขาต้องเตรียมตัวหนัก ส่วนใหญ่ต้องอ่านหนังสือกันทั้งวัน แทบไม่ได้นอนเลย เพราะถึงจะมีโควิด-19 แต่กำหนดการสอบต่างๆ ในตอนนี้ยังไม่ได้เลื่อนออกไป เราต้องคอยติดตามข่าวตลอดว่าจะเลื่อนสอบไหม หรือเปลี่ยนวิธีการสอบไปยังไงด้วย

“โควิด-19 สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อการเรียนในโรงเรียนเหมือนกัน อย่างการปิดโรงเรียนคราวก่อน ใช้วิธีเรียนออนไลน์ กับให้นักเรียนเลขคู่เลขคี่สลับกันมาเรียน พอเปิดเทอมสองเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตอนแรกก็ไปเรียนกันแบบปกติ แต่พอโควิด-19 กลับมาใหม่ก็ต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ทั้งหมดเลย

“จริงๆ การเรียนออนไลน์สำหรับหนูไม่ได้ยากอะไร ถึงจะมีปัญหาว่าอาจจะต้องเรียนรู้เพิ่มด้วยตัวเองมากขึ้น บางทีเน็ตไม่ค่อยดี เห็นภาพไม่ค่อยชัด ไม่ได้ถามครูเหมือนตอนเรียนในห้อง หรือน่าเบื่อไปบ้าง แต่มันก็ยังเรียนรู้เรื่อง สิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ คือพอเรียนออนไลน์แล้ว เราไม่มีคะแนนเข้าห้องเรียน คะแนนเก็บจากการส่งงานในห้อง หรือคะแนนสอบย่อยในห้องเลย ทำให้ครูมักจะสั่งชิ้นงานให้เราทำแทน จนงานมันเพิ่มขึ้นเยอะมาก เรารู้สึกได้เลยว่ามันเยอะขึ้นแบบ..มาก มาก อย่างปกติเรามีสอบเก็บคะแนนในห้องสัก 10 คะแนน ก็กลายเป็นว่าเราอาจต้องทำงาน 5 คะแนน 2 ชิ้นเพื่อทดแทนการสอบแค่ครั้งเดียว

“อีกเรื่องคือเรายังยึดกรอบเวลาเรียนเหมือนไปโรงเรียนปกติ ต้องเข้าเรียนคาบแรก 8.15 น. แล้วเรียนต่อไปเรื่อยๆ 6-7 วิชาต่อวัน จนถึงบ่ายสาม บางทีสั่งงานตอนช่วงเช้า จะเอาตอนเย็นหลังเลิกเรียน ทั้งที่ระหว่างนั้นเราก็ต้องจดจ่อกับวิชาอื่น มันแทบไม่มีเวลาทำ แต่ถ้าไม่ทำ ก็เสียคะแนนตรงนั้นไป

“หนูรู้สึกแทนเพื่อนว่าถ้าต้องอ่านหนังสือติวสอบไปด้วยเรียนออนไลน์ไปด้วย มีเวลาอ่านน้อยลงกว่าการไปโรงเรียนปกติอีก ช่วงต้องทำพอร์ต หนูเองก็ต้องแบ่งเวลาเพื่อให้หลังเลิกเรียนหรือเสาร์อาทิตย์มีเวลามาทำ

“หนูทยอยทำพอร์ตกับไปเรียนวาดรูปมาตั้งแต่ตอนม.5 เรียนมาตลอด จะหายไปแค่ช่วงเดียวคือช่วงโควิด-19 คราวก่อนที่ไปเรียนไม่ได้ ต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์แทนไปโรงเรียนกวดวิชา เรียนพวกทฤษฎี คอนเซปต์ ให้พี่ติวสอนปฏิบัติผ่าน google meet แล้วเราก็มาฝึกเอง ทำเองที่บ้าน ถ่ายรูปให้พี่ติวดูในไลน์

“ในอนาคตก็กังวลนะว่าถ้าติดมหา’ลัยแล้ว โควิด-19 ยังไม่หายไปจะเป็นยังไง ถ้าต้องไปสัมภาษณ์ จะสัมภาษณ์ออนไลน์หรือเปล่า แต่หนูเชื่อว่าพอถึงเวลานั้นก็คงมีทางออกให้เราเองว่าเราควรจะทำอย่างไรดี

“ตอนนี้หนูอยากให้ครูที่โรงเรียนสั่งงานน้อยลงหน่อย (หัวเราะ) มันเยอะจริงๆ นะ แล้วก็อยากให้จัดตารางเวลาเรียนใหม่เหมือนกัน เพราะเรียนออนไลน์กับเรียนที่โรงเรียนยังไงก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ทั้งเรื่องเวลา เรื่องเนื้อหา หรืออื่นๆ เพื่อนๆ จะได้มีเวลาอ่านหนังสือมากขึ้นด้วย”

 

ผิว บัณฑิตจบใหม่ที่ฝันอยากไปเรียนต่อ อายุ 23 ปี

“หลังจากเรียนจบมาแล้ว ช่วงแรกๆ เรารับงานถ่ายแบบ รีวิวสินค้าในโซเชียลมีเดีย ซึ่งรับมาตั้งแต่ตอนยังเรียนอยู่ต่อเนื่องจนถึงเรียนจบเลย

“เดิมเราวางแผนตั้งแต่ตอนเรียนว่าเรียนจบแล้วจะไปต่อต่างประเทศ ไปเรียนปริญญาโทสาขา Fine Art เพราะจบคณะศิลปกรรมศาสตร์มา ตอนกำลังตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนที่ประเทศไหน หลักสูตรอะไร ก็มีโควิด-19 เข้ามาทำให้ต้องพับแผนนี้ลง เปลี่ยนมาคุยกับทางบ้านว่าเราตัดสินใจจะหางานประจำทำก่อน

“ทีนี้ งานประจำที่เราอยากทำเป็นสายงานเกี่ยวกับการจัดอีเวนต์ เพราะที่บ้านทำธุรกิจเกี่ยวกับอีเวนต์ คุณแม่เลยอยากให้ไปหาประสบการณ์จากบริษัทข้างนอกก่อนกลับมาดูแลธุรกิจที่บ้าน แต่ช่วงนี้ก็ไม่มีบริษัทไหนรับคนเพิ่มเลย ที่บ้านเองก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ ไม่มีงานอีเวนต์ เพราะรัฐบาลสั่งงด ลูกค้าก็กลัวโควิด-19 ไม่อยากเสี่ยงกัน เราเลยต้องหางานอย่างอื่นทำ

“สุดท้ายไปเจอเพื่อนทำงานบริษัทที่กำลังหาฟรีแลนซ์กราฟิก เลยเลือกทำงานฟรีแลนซ์กราฟิกดีไซน์เนอร์ควบงานถ่ายแบบไปก่อน ถือว่าเรายังพอมีรายได้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่มาก เพราะอย่างงานถ่ายแบบหลายงานก็ถูกพับโปรเจกต์ไปเนื่องจากโควิด-19 ทำให้ไปถ่ายในสตูดิโอ หรือทำงานในกองถ่ายที่มีทีมงานหลายๆ คนไม่ได้เหมือนกัน ส่วนการเป็นฟรีแลนซ์ก็ยากสำหรับเรานิดหน่อยตรงที่ไม่ค่อยมีคอนเนกชันสายนี้เท่าไหร่ ไม่รู้จะรับงานจากที่ไหนได้บ้าง

“เรารู้สึกกดดันอยู่เหมือนกันเวลาเห็นเพื่อนได้งานกันหมดแล้ว เพราะคิดว่าหลายบริษัทก็ได้คนที่เขาอยากได้กันไปเยอะ ถ้ายังช้าอยู่ เราอาจจะเป็นคนที่ว่างงานยาวตลอดทั้งปี พ่อแม่ก็กดดันเราอยู่บ้าง แต่เขายังไม่พูดอะไรมาก เพราะเรายังรับผิดชอบรายจ่ายของตัวเองได้อยู่ จะบอกแค่ว่าเราควรรีบหางานประจำทำได้แล้วนะ เพราะที่บ้านเองก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ไม่ค่อยมั่นคง

“เรารู้สึกกังวลนิดหน่อยด้วย เพราะการเป็นเด็กจบใหม่มีหลายๆ เรื่องที่เราไม่รู้ในการทำงานจริง อย่างเรื่องเทคนิค เครื่องมือ การเงิน หรือเรื่องภาษี นั่นก็เป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้หนูอยากทำงานประจำมากกว่าฟรีแลนซ์ จะได้เรียนรู้จากการทำงานจริงมากขึ้น อีกอย่างหนึ่งคือในสถานการณ์โควิด-19 การทำงานประจำค่อนข้างเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า มั่นคงมากกว่าฟรีแลนซ์

“โชคยังดีที่เราเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เครื่องมือการทำงานของเราคือสื่อออนไลน์ ดังนั้น แผนสำรองของเราคือถ้ายังไม่มีงานประจำจริงๆ คงจะหันมาจับด้านอินฟลูเอนเซอร์เต็มตัว และรับฟรีแลนซ์ด้านกราฟิกไปเรื่อยๆ พัฒนาคอนเนกชันไปเรื่อยๆ ถ้าใครมองว่าฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง ก็อาจจะถูกต้อง แต่เราไม่อยากให้มองว่าเมื่อเรียนจบแล้ว ควรจะเข้าทำงานประจำเลย ไม่อย่างนั้นนับเป็นคนตกงาน ในเวลาแบบนี้ไม่ว่าฟรีแลนซ์หรือคนทำงานประจำก็คือคนทำงานเหมือนกัน ต่างกันแค่รูปแบบการทำงานเท่านั้นเอง

“ถ้าสมมติว่าโควิด-19 ซาแล้ว เราคงคิดเรื่องหางานทำก่อนสัก 1 ปี แล้วคิดเรื่องไปเรียนต่อต่างประเทศ ตอนนี้เราเริ่มมองสายอื่นๆ นอกจาก Fine Art บ้าง เพราะการไปเรียนต่อใช้เงินค่อนข้างเยอะ ถือว่าเป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่ง เราอยากให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่องานที่เราอยากทำในอนาคต หลังจากนั้นก็กลับมาช่วยที่บ้านทำธุรกิจ เพราะคุณแม่อยากให้เรากลับมาทำ และเราก็อยากช่วยที่บ้านด้วยเหมือนกัน”

 

โซ้ย บัณฑิตจบใหม่ที่ฝันเปลี่ยนไปเพราะโควิด-19 อายุ 23 ปี

“ปีที่แล้ว (2563) ที่โควิด-19 ระบาดหนักๆ ผมไม่ได้กลับไปที่มหา’ลัยเลย จบแบบเรียนออนไลน์นั่นแหละ ซึ่งผมเริ่มกังวลมาตั้งแต่ก่อนจะเรียนจบแล้ว แต่ก็ทำได้แค่กังวล เพราะอาจจะยังมองภาพไม่ได้ชัดนัก พอวันที่เรียนจบจริงๆ แบบเคลียร์ทุกอย่างเสร็จมันรู้สึกโล่งนะ เพราะตอนเรียนออนไลน์เราลำบากมาก

“แต่พอผ่านไปสัก 2-3 สัปดาห์ ผมเริ่มรู้สึกว่าง ไม่รู้แล้วว่าจะทำอะไรต่อหลังเรียนจบ ไม่รู้ว่าเราจะทำอะไรได้บ้างหลังจากนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะเราไม่ได้เจอคนอื่นเลยด้วย พออยู่กับตัวเองเยอะก็ทำให้หลงทาง ไม่รู้จะทำยังไงต่อดี

“ตัวผมเรียนจบวิศวกรรม ถ้าไม่มีโควิด-19 ผมคงจะเตรียมสมัครงาน เพราะคิดไว้แล้วว่าไม่ได้อยากเรียนต่อ แต่พอโควิด-19 มา เราเคว้งไปหมดเลย จากที่เคยมองว่าบริษัทบางแห่งน่าสนใจ โควิด-19 ก็ทำให้เขาพับโครงการ ไม่รับคนเพิ่ม เราเองก็ไปไม่ถูก เลยต้องเปลี่ยนมามองๆ งานราชการไว้ด้วย ทั้งที่เดิมทีเรามองว่างานราชการอาจไม่ตอบโจทย์ตัวเอง

“ที่บ้านไม่ได้กดดันหรือพูดอะไรมาก เขาให้เราจัดการตัวเอง บอกแค่ว่าถ้ามีอะไรให้ช่วยหรือเดือดร้อนก็บอกได้ เพราะเขาเห็นเราเจอปัญหาหลายอย่าง แต่ผมก็มองว่าเราต้องรู้ตัวเองด้วย ยิ่งที่บ้านไม่ได้กดดัน เราก็ต้องกดดันตัวเองไว้ประมาณหนึ่ง ตอนนี้พยายามบอกตัวเองว่าต้องโฟกัสที่เป้าหมาย เพราะการอยู่บ้านนานๆ อาจทำให้เราขี้เกียจได้ ถึงจะบอกว่าโควิด-19 ทำให้ลำบาก แต่ถ้าเราจะหยุดพัฒนาตัวเองเพราะเรื่องนี้ก็ฟังดูไม่เข้าที ทุกวันนี้ผมก็เตรียมตัวหางานไปเรื่อยๆ ทุกวัน ถ้าถูกใจที่ไหนก็สมัครไป ไม่ได้อยู่บ้านเฉยๆ ผมยังรอสอบใบประกอบวิชาชีพวิศวกรด้วย ก็บอกตัวเองว่าช่วงนี้คือช่วงเวลาของการอ่านหนังสือสอบ ต้องวางแผนชีวิตไว้แบบนี้

“บางคนอาจจะมองว่าเด็กจบใหม่เลือกงาน แต่ถ้าพูดเฉพาะเรื่องการเลือกงานอย่างเดียวโดยไม่เอาข้อจำกัดอื่นๆ อย่างเรื่องค่าใช้จ่ายมาประกอบด้วย ผมมองว่าการเลือกงานอาจจะไม่ใช่เรื่องผิดนะ เพราะงานแรกมีผลหลายอย่างต่อ first jobber ทั้งการพัฒนาทักษะ ความชำนาญ หรือความมั่นใจในการทำงาน อย่าไปบอกเลยว่าเพราะเลือกงานไงถึงลำบาก แต่ละคนมีข้อจำกัดที่ไม่เหมือนกัน

“ผมรู้ว่ามีผู้ใหญ่บางคนอาจจะยังไม่เข้าใจคนที่อยู่ในช่วงรอยต่อแบบพวกเราเท่าไหร่ แต่อยากให้มองว่า first jobber สมัยนี้ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์และเงื่อนไขเดียวกับสมัยผู้ปกครองของเราแล้ว โลกมันเปลี่ยนไปมาก ผมเชื่อว่านอกจากเรื่องโควิด-19 first jobber ก็เครียดกับตัวเองประมาณหนึ่งอยู่แล้ว ถ้าคนรอบข้างยิ่งมากดดันอีก อาจจะทำให้สภาพจิตใจเราไม่โอเคที่จะทำอะไรต่อไป

“กำลังใจที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเราน่าจะเป็นคนที่บ้าน ผมคิดว่าเราควรมาพูดคุยกันถึงปัญหาว่าตอนนี้เราควรทำยังไง หรือทำอะไรได้บ้าง และจะช่วยเหลือและให้กำลังใจกันได้ยังไง ดีกว่าจะมาบังคับให้ first jobber ต้องหางานหรือลงมือทำอะไรสักอย่างที่ไม่สามารถทำได้ในช่วงเวลานี้จริงๆ”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save