fbpx
สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า



















เรื่อง วจนา วรรลยางกูร

ภาพ กมลชนก คัชมาตย์

“ภาครัฐควรช่วยคนที่มีลูกเล็ก เราเห็นคนที่ไม่มีเงินเขาเอานมข้นหวานใส่น้ำอุ่นให้ลูกกิน มันไม่มีประโยชน์”

ประโยคหนึ่งจากบทสนทนากับแม่ที่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด สะท้อนภาพความขาดแคลนในการเลี้ยงดูเด็กเล็กที่ยังปรากฏในสังคมไทย

เมื่อเด็กคนหนึ่งเกิดขึ้นมา เขาก็กลายเป็นพลเมืองที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีและเข้าถึงโอกาสต่างๆ แต่ความเป็นจริงคือสังคมไทยยังไม่มีสวัสดิการที่จะดูแลเด็กเล็กให้มีความเป็นอยู่ตามมาตรฐานได้อย่างทั่วถึง

แม้ว่าตอนนี้เราจะมี ‘เงินอุดหนุนเด็กเล็ก’ ที่ให้เงินเด็ก 0-6 ขวบ เดือนละ 600 บาท แต่จะจ่ายให้เฉพาะพ่อแม่ที่ผ่าน ‘การพิสูจน์ความจน’ ทำให้มีเด็กอีกจำนวนมากที่ไม่ผ่านตาข่ายความจนนี้

พูดกันตามตรงแล้ว เงิน 600 บาท ไม่มากพอจะใช้เลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนในแต่ละเดือน แต่เงินจำนวนนี้ก็ทำให้พ่อแม่สามารถซื้อนม ของใช้ หรือของเล่นเสริมพัฒนาการให้ลูกได้

101 คุยกับพ่อแม่ห้าคนจากหลายภูมิภาคหลากฐานะว่าหากได้รับเงิน 600 บาท พวกเขาจะนำเงินนั้นไปซื้ออะไรให้ลูก และชวนมองต่อไปว่าทำไมภาครัฐจึงสมควรดูแลเด็กเล็กทุกคนในสังคม

 

 

สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

 

 

 

1

:: ไม่มีเด็กคนไหนควรกินนมข้นหวานใส่น้ำอุ่น ::

 

‘เอม’ เป็นสาววัยรุ่นในจังหวัดใหญ่ทางภาคอีสาน เธอกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในวัย 19 ปี เลี้ยงลูกชายอายุ 11 เดือนไปพร้อมกับเรียน ปวส. โดยที่เธอทำงานหาเงินทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าใช้จ่ายของลูกด้วยตัวเอง

เอมทำงานช่วงหลังเลิกเรียนและวันเสาร์อาทิตย์ เมื่อก่อนเธอทำงานที่ ‘ร้านนั่งชิล’ แต่พอร้านต้องปิดเพราะโควิด เธอก็มาเป็น ‘ไรเดอร์’ ขับรถส่งอาหารทางแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่นเดียวกับพี่ชายและพี่สาวของเธอที่อยู่บ้านเดียวกัน

ครอบครัวของเอมที่อาศัยอยู่ด้วยกันมีทั้งหมดห้าคน นอนรวมกันในบ้านชั้นเดียว ไม่มีห้องส่วนตัว โรคระบาดทำให้เธอต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน แต่ก็ทำให้เธอสามารถเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้านไปพร้อมกันได้ เวลาจะออกไปทำงานก็มีแม่ของเธอคอยช่วยเลี้ยงลูก

เงินจากการทำงานวันละ 200-400 บาท ไม่สามารถทำให้พูดได้ว่าเพียงพอ นอกจากต้องช่วยซื้อกับข้าวเข้าบ้านสำหรับคนในครอบครัวแล้ว รายจ่ายประจำของเธอคือค่านมและแพมเพิร์สของลูก และสถานการณ์จะยิ่งแย่หากลูกป่วยแล้วต้องจ่ายค่ารักษา

“ค่าใช้จ่ายของลูกมีค่านม-ค่าแพมเพิร์ส นมผงกล่องละ 200 กว่าบาทอยู่ได้ 3-4 วัน เราไม่ได้ให้นมแม่แล้วเพราะเขาไม่กิน เขากินแต่นมผง ส่วนค่าแพมเพิร์สห่อละไม่เกินหนึ่งร้อยบาทอยู่ได้หนึ่งอาทิตย์ แต่ถ้าเขาไม่สบายจะมีค่าใช้จ่ายเยอะ ต้องซื้อยาสำหรับเด็กมาให้ บางตัวก็แพง เวลาพาไปหาหมอก็มีค่าใช้จ่าย”

เอมได้รับเงินอุดหนุนเด็กเล็กมาราว 4-5 เดือนแล้ว เงินเดือนละ 600 บาท ช่วยให้เธอซื้อนมสองกล่องและแพมเพิร์สหนึ่งห่อได้ พูดกันตามตรงว่าเงินจำนวนเท่านี้ไม่พอจะใช้เลี้ยงเด็ก แต่ก็ช่วยแบ่งเบาได้บางส่วน

“เงินส่วนนี้ช่วยได้ช่วงต้นเดือน เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับลูกได้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ ซึ่งไม่เพียงพอ ถ้าจะให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนของลูกจริงๆ ประมาณเดือนละ 2,000 กว่าบาท เพราะนมหนึ่งกล่องกินสามวันก็หมดแล้ว เขากินเยอะ”

เอมมองว่าสิ่งที่ลูกต้องการในวัยนี้คือ ‘เวลา’ แม้ว่าเธอพยายามให้เวลากับลูกอย่างไร เธอก็ต้องเรียนและทำงานไปด้วย อีกสิ่งที่เธอมองว่าสำคัญคือการซื้ออาหารดีๆ ให้ลูก

“เมื่อก่อนเราเคยซื้อนมผงตัวที่ดีกว่านี้มาให้ลูก แต่พอมีโควิดก็ต้องซื้อนมผงแบบที่ราคาถูกลง ถ้ามีเงินอยากหานมดีๆ ที่มีประโยชน์เยอะๆ มาให้เขากิน อยากซื้อของบำรุงลูก อยากซื้อรถเข็นเด็ก อยากซื้อแผ่นปูนุ่มๆ มาทำพื้นที่ให้เขาใช้หัดเดินหัดคลาน”

เอมบอกพร้อมรอยยิ้ม เธอยืนยันว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ภาครัฐต้องช่วยเหลือคนที่มีลูกเล็ก

“ภาครัฐควรช่วยคนที่มีลูกเล็ก เราเห็นคนที่ไม่มีเงินเขาเอานมข้นหวานใส่น้ำอุ่นให้ลูกกิน มันไม่มีประโยชน์ ภาครัฐควรช่วยค่าใช้จ่ายในการซื้อนมและแพมเพิร์สให้เด็ก เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็น”

ในวันนี้แม้สถานการณ์ของเธอจะขัดสนมากขึ้นเพราะโควิด แต่เธอก็พยายามหาสิ่งจำเป็นมาให้ลูกไม่ขาด โดยหวังว่าลูกจะเติบโตอย่างสมบูรณ์ เป็นเด็กดีในอนาคตและใส่ใจเรื่องการเรียน

 

 

 

สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

 

2

:: การศึกษาไม่ใช่ของฟรี ::

 

‘รัตนา’ เป็นชาวปกาเกอะญอ อยู่ที่ตำบลแม่วิน ในเชียงใหม่ เธอและสามีทำงานเป็นลูกจ้างเหมาที่หน่วยงานราชการบนดอย บ้านของเธอมีทั้งหมด 7 คน คือ พ่อ แม่ รัตนา สามี และลูกของรัตนาสามคน อายุ 11 ปี 10 ปี และ 4 ปี

รายได้ราวเดือนละหนึ่งหมื่นบาทไม่เพียงพอจะเลี้ยงหลายปากในบ้านทั้งค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า และค่านมเด็กเดือนละเป็นพันบาท 

รัตนาได้รับเงินอุดหนุนเด็กเล็กสำหรับลูกคนเล็กที่อายุยังอยู่ในเกณฑ์ ตอนแรกเธอทำเรื่องยื่นเอกสารพร้อมคนอื่นๆ ที่ อบต. แต่มีเพียงเธอที่ไม่ได้อนุมัติ ด้วยเหตุผลว่ามีชื่ออยู่แล้วในระบบ เธอยื่นไปสองครั้งจนทาง อบต. ติดตามเรื่องให้ จึงได้รับเงินย้อนหลัง

“เงินส่วนนี้ช่วยแบ่งเบาได้มาก เพราะก่อนหน้านี้เราไม่มีงานทำ เงินอุดหนุนที่ได้ก็เอาไปซื้อนมเป็นหลัก ให้ลูกกินนมวัวยูเอชทีแบบกล่อง วันละสามกล่อง บางทีก็ซื้อวิตามินเสริม เพราะลูกตัวเล็ก ซื้อวิตามินผลไม้รวม ขวดละ 150 บาท ตอนนี้ไม่ได้ให้กินแล้ว”

ถ้าจะต้องซื้อของให้ลูกด้วยเงิน 600 บาท รัตนาบอกว่าคงเอาไปซื้ออาหารกับนม หรืออุปกรณ์การเรียน

“ลูกเข้าอนุบาลแล้ว ที่โรงเรียนมีอาหารกลางวันให้ฟรี แต่เทอมที่แล้วก็ต้องซื้ออุปกรณ์การเรียนเพิ่ม เช่น ชุดนักเรียน ถ้าไม่มีข้อจำกัดเรื่องเงิน อยากสนับสนุนเรื่องการเรียนให้มากขึ้น ถ้าเรียนออนไลน์ก็ต้องใช้เงิน เราขาดอุปกรณ์ ไม่มีโน้ตบุ๊ก ตอนนี้ลูกทั้งสามคนไม่ได้เรียนออนไลน์แต่ได้ใบงานมาแทน เด็กทำใบงานไม่เข้าใจก็ต้องดูสื่อการเรียนในยูทูบ จะดูยูทูบได้ก็ต้องมีอุปกรณ์ ต้องเติมเน็ตรายเดือน เราเลยให้เขาดูทางโทรศัพท์และจะเติมเน็ตให้เป็นรายครั้ง ลูกคนเล็กชอบดูคลิปสอนเขียน ก-ฮ และ A-Z เราก็ซื้อแบบฝึกหัดฝึกเขียนตัวอักษรเป็นเส้นประให้เขา”

ความกังวลของรัตนาตอนนี้คือกลัวว่าช่วงโควิดจะทำให้ลูกๆ เรียนไม่ทัน

“เราคาดหวังเรื่องการเรียนกับลูก ลูกเรียนดีอยู่แล้ว แต่พอช่วงโควิดกลัวว่าเรียนไม่ทัน อยากให้ลูกเรียนสูงๆ เข้าโรงเรียนที่ดี ถ้ามีเงินก็อยากให้เขาเรียนภาษาเพิ่มด้วย”

 

 

 

สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

 

 

3

:: ความฝันที่ต้อง ‘รอแม่มีเงินก่อน’ ::

‘สมใจ’ เป็นแม่บ้านอยู่ที่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น เธอมีลูกสองคน อายุ 17 ปี และ 3 ปี สามีของเธอทำงานที่โรงโม่หิน ส่วนเธอจะเลี้ยงลูกอยู่บ้านตลอด และมีรายได้บ้างหากมีคนมาจ้างให้ทำงานทั่วไป

สมใจพยายามเลี้ยงลูกเองตลอด แต่ถ้าต้องไปทำงานรับจ้างก็จะฝากศูนย์เด็กเล็กหรือยายข้างบ้าน 

“รายได้ของครอบครัวเราเพียงพอ แต่เป็นแบบเดือนชนเดือน ต้องจ่ายค่าอาหาร จ่ายให้ลูกคนโตไปโรงเรียน ส่วนลูกคนเล็กมีค่านมและขนมเดือนละ 2,000-3,000 บาท เอาลูกไปฝากศูนย์เด็กเล็กที่สำนักงานอบต. มีค่าบำรุงเดือนละ 20-30 บาท บางครั้งมีกิจกรรมกีฬาก็ต้องจ่ายเพิ่มเป็นค่าชุด ค่าแต่งตัว

“สิ่งจำเป็นสำหรับเด็กคือความรักความอบอุ่น เขาเป็นเด็กที่ชอบให้คนสนใจ เขาพูดเยอะ คนรอบข้างก็มีแต่คนรัก เพราะเขาเป็นหลานคนเดียว ไปหาใครเขาก็รัก” สมใจเล่าถึงลูกคนเล็กอย่างเอ็นดู

เธอได้เงินอุดหนุนเด็กเล็กตั้งแต่ลูกคนเล็กเกิด เธอเล่าว่าเงินที่ได้มาส่วนใหญ่จะเอาไปซื้อนมกล่องให้ลูกดื่ม เพราะลูกต้องดื่มนมวันละสี่กล่อง

ถ้าจะต้องซื้อของให้ลูกด้วยเงิน 600 บาท สมใจนึกถึงของเล่นที่ลูกอยากได้ เธอจำได้ว่าพาลูกไปร้านค้าเพื่อซื้อขนมแล้วลูกอยากได้ชุดของเล่นคุณหมอ

“เรื่องกินเขาจะไม่ค่อยสนใจ สนใจของเล่นมากกว่า เราเห็นเขาอยากได้ชุดของเล่นคุณหมอ มีที่ตรวจแบบหูฟัง ของเล่นช่วยเสริมพัฒนาการเด็กได้ บางทีถ้าเล่นแล้วเขาอาจใฝ่ฝันอยากเป็นหมอจริงๆ ของเล่นส่วนใหญ่เราจะให้ลูกเลือกเอง ถ้าเราไม่มีเงินก็จะบอกว่า ‘รอแม่มีเงินก่อนนะ’ ถ้าเราไม่มีเงินเขาก็ไม่เรียกร้อง” สมใจเล่าเรียบๆ ราวกับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

 

 

สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

 

4

:: เด็กที่โตมาด้วยสิ่งของที่คนอื่นหยิบยื่น ::

 

‘พร’ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยววัย 24 อยู่ที่ชัยภูมิ เธอเลี้ยงลูกสาวอายุเกือบ 4 ขวบด้วยตัวเอง แม้ว่างานรับจ้างทั่วไปจะไม่ค่อยมีคนว่าจ้าง ทำให้ขาดรายได้ แต่เธอก็พยายามเลี้ยงลูกด้วยเงินเท่าที่พอจะมี

ครอบครัวของพรอยู่ด้วยกันหลายคน ทั้งพ่อแม่ พี่สาว หลาน พรและลูก บ้านชั้นเดียวเล็กๆ ไม่พอรองรับคนจำนวนมาก ทำให้พ่อแม่ต้องแยกออกไปปลูกกระท่อมอยู่แล้วให้ลูกหลานอยู่ในบ้านที่ปลอดภัยกว่า

พรได้รับเงินอุดหนุนเด็กเล็กเดือนละ 600 บาท เธอนำเงินจำนวนนี้ไปซื้อนมกล่องให้ลูกดื่ม พร้อมข้าวสารและขนมของลูกอีกนิดหน่อย เธอบอกว่าลูกไม่เลือกกิน จะนมอะไรก็ดื่มได้ ที่ลูกชอบมากคือนมรสช็อกโกแลต หนึ่งเดือนลูกดื่มนมราวสองลัง ราคาลังละ 315 บาท 

“เราได้เงินอุดหนุนมาปีกว่าแล้ว เอาไปซื้อนมกับซื้อข้าวสารกิน เงินอุดหนุนที่ได้จากรัฐบาลก็ช่วยค่าใช้จ่ายได้ครึ่งหนึ่ง เราไม่ค่อยมีงานรับจ้างก็มีเงินส่วนนี้มาช่วยในครอบครัว แต่อยากให้เพิ่มเงินมากกว่านี้จะช่วยได้มากขึ้น ลูกเรามีแต่ค่านม ของใช้ไม่มีอะไรมากมาย เสื้อผ้าก็มีคนอื่นให้มา นานๆ ทีจะได้ซื้อเสื้อผ้าให้ลูกเอง”

ถามว่าหากจะซื้อของให้ลูกด้วยเงิน 600 บาท พรตอบทันทีว่า ‘ตุ๊กตา’

“ลูกอยากได้ตุ๊กตาแบบที่เป็นเด็กทารกมีเสียงร้อง ราคาร้อยกว่าบาท เด็กแถวบ้านเขาเล่นกัน เราก็บอกว่า ‘แม่ยังไม่มีเงินซื้อให้ เดี๋ยวค่อยเอา รอเงิน 600 ออกก่อน เดี๋ยวแม่ซื้อให้’” 

หากมีเงินมากกว่านี้ พรบอกว่าก็คงเอาไปซื้อของใช้ทั่วๆ ไป เพราะเธอไม่ค่อยได้ซื้อของเอง ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเอาของมาให้

“ถ้ามีเงินอยากซื้อโทรทัศน์ให้ลูกดู เพราะที่บ้านไม่มีโทรทัศน์ ลูกได้แต่เล่นโทรศัพท์เก่าๆ ของอย่างอื่นส่วนมากคนอื่นก็เอามาให้ เราไม่ค่อยได้ซื้อเอง”

 

 

 

5

:: เงินอุดหนุนเด็กต้องเป็นสิทธิ ไม่ใช่การสงเคราะห์คนจน ::

‘บาส’ เป็นคุณพ่อของลูกสาววัยหนึ่งปี เขาทำงานรับจ้างแบบฟรีแลนซ์ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน ขณะที่ภรรยาทำงานบริษัทเอกชน ด้วยเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นกว่าภรรยาทำให้เขาได้ใช้เวลาแต่ละวันในการเลี้ยงลูก

บาสบอกว่าการมีลูกทำให้มีค่าใช้จ่ายมาก ก่อนลูกคลอดเขาซื้อของใช้เด็กแรกเกิดไปราว 10,000 บาท เช่น ผ้าอ้อม สำลี ที่นอนเด็ก ของใช้จิปาถะ ซึ่งเป็นของที่ต้องซื้อเพิ่มเรื่อยๆ ส่วนอุปกรณ์ที่มีราคาสูงคือเครื่องปั๊มนมแม่ เครื่องนึ่งขวดนม รถเข็นเด็ก อย่างละประมาณ 3,000 บาท 

“เมื่อมีเด็กก็ต้องมีคาร์ซีต สินค้าเด็กมีหลายเกรดตั้งแต่ถูกสุดถึงแพงมากๆ แล้วแต่พ่อแม่จะมีกำลังจ่าย อย่างเพื่อนผมซื้อคาร์ซีตราคา 20,000 บาทจะแถมประกันมาด้วย ซึ่งถือว่าแพง เพราะเป็นของที่ใช้ได้ไม่กี่ปี พอเด็กโตขึ้นก็ต้องเปลี่ยนแล้ว”

ส่วนค่าใช้จ่ายประจำของลูก บาสบอกว่ามีค่านมผง เดือนละประมาณ 3,000 บาท ซึ่งให้ดื่มควบคู่กับนมแม่ ค่าแพมเพิร์สเดือนละ 1,000 กว่าบาท นอกจากนี้ยังมีค่าวัคซีนที่ไปฉีดที่คลินิกเอกชน ซึ่งต้องจ่ายเองก่อนแล้วสามารถไปเบิกจากสวัสดิการของบริษัทภรรยาได้

ปัจจุบันบาสไม่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กเล็กเพราะไม่อยู่ในเกณฑ์ แต่มีเงินสงเคราะห์บุตร 800 บาทจากประกันสังคมของภรรยา

“เงินอุดหนุนสำหรับเด็กเล็ก ถ้าให้เดือนละ 600 บาท ผมคิดว่าไม่เพียงพอ แค่เอาไปซื้อแพมเพิร์สก็ไม่ครอบคลุมที่ต้องใช้ทั้งเดือนแล้ว คนแถวบ้านผมถ้าทำงานประจำทั้งพ่อและแม่ก็ต้องเอาลูกไปฝากเนอสเซอรี่ช่วงกลางวัน มีค่าฝากเลี้ยงก็เดือนละ 3,000 บาทแล้ว

“รัฐจำเป็นต้องช่วยอุดหนุนเงินเลี้ยงเด็ก ยิ่งได้มากยิ่งดี เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ทำประกันสังคม ไม่ใช่ทุกคนที่ทำงานประจำ ผู้หญิงบางคนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เพิ่งคลอดลูกก็ทำงานไม่ได้ เงิน 600 บาท ไม่ได้ช่วยอะไรเยอะ ถ้าให้มากกว่านี้จึงจะช่วยได้จริง 

“การจะให้เงินอุดหนุนนั้น ไม่ควรมีใครต้องไปพิสูจน์ว่าตัวเองจน เพราะเมื่อเด็กเกิดใหม่ เขาก็เป็นประชากรของสังคม ในอนาคตเขาก็จ่ายภาษีให้รัฐ เงินก็จะกลับมาอยู่ในระบบ เงินอุดหนุนเด็กควรเป็นสิทธิพื้นฐาน ยิ่งสังคมที่ต้องการแรงงานคนวัยหนุ่มสาว ต้องสนับสนุนให้คนมีลูก ไม่ใช่ปล่อยให้พ่อแม่ดูแลทุกสิ่งทุกอย่างเอง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเด็กค่อนข้างสูง คนทุกวันนี้จึงมีลูกตอนอายุเยอะซึ่งไม่ใช่ช่วงวัยที่ร่างกายพร้อมที่สุด ทำให้ลูกมีความเสี่ยงต่างๆ เรื่องสุขภาพซึ่งจะเป็นภาระต่อไปในอนาคตอีก” 

หากจะให้เลือกซื้อของให้ลูกด้วยเงิน 600 บาท บาสบอกว่าเขาอยากซื้อหนังสือเด็กที่มีคุณภาพให้ลูก เพราะหนังสือเด็กราคาสูงมาก 

“เด็กหนึ่งขวบก็เริ่มรู้จักเลือกแล้ว เขารู้ว่าตัวเองอยากดูอะไรหรือไม่ดูอะไร หนังสือไม่ดี เด็กก็ไม่เปิดอ่าน หนังสือเด็กเล่มบางๆ ราคา 200-300 บาทขึ้นไป เวลาซื้อก็ต้องซื้อหลายเล่มอยู่ดี หนังสือช่วยเรื่องพัฒนาการ ช่วยเราเลี้ยงลูกได้ด้วย คนสมัยนี้ใช้มือถือเลี้ยงลูก ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการเด็ก ยังไงหนังสือก็ดีกว่าอยู่แล้ว” 

บาสบอกว่า ในอนาคตเขาไม่ได้คาดหวังกับลูกว่าจะต้องโตไปเป็นแบบไหน แต่คาดหวังกับสังคมว่าควรมีรัฐสวัสดิการครบทุกด้าน เพื่อรองรับการเติบโตของเด็กๆ จนกว่าพวกเขาจะประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้

 “ผมไม่ได้คาดหวังเรื่องการให้เป็นเงินสนับสนุน แต่อยากให้มีสวัสดิการครอบคลุมทุกด้าน พ่อแม่ทุกคนคงไม่มีใครการันตีได้ว่าจะสามารถเลี้ยงดูลูกได้ดีทุกปี ใช่ว่าพ่อแม่จะหาเงินได้ราบรื่นตลอด สวัสดิการจะเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทำให้รู้ว่าลูกเราจะอยู่ในสังคมได้ในมาตรฐานที่ดี อย่างเรื่องการศึกษาก็อยากให้เรียนฟรีจริง ในอนาคตลูกไม่ต้องกู้ กยศ. ให้เด็กได้เรียนตามความสามารถของตัวเอง หรือการมีสวัสดิการรักษาพยาบาลก็ทำให้พ่อแม่ไม่ต้องกังวลเรื่องสุขภาพของลูกมากเกินไป เงินที่เหลือก็ไปสร้างเสริมคุณภาพชีวิตด้านอื่นให้ลูกได้ อย่างการซื้อหนังสือเด็กดีๆ” เขาเน้นย้ำถึงสิ่งที่ควรเกิดขึ้นกับอนาคตของเด็กทุกคน

 

 

 

เงินอุดหนุนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

 

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

Facebook
Twitter

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save