fbpx

“หน้าที่ของรัฐศาสตร์ คือการทำให้สังคมรู้เท่าทันอำนาจ” ประจักษ์ ก้องกีรติ

 

…ที่ไหนมีมนุษย์ ที่นั่นย่อมมีสังคม ที่ไหนมีสังคม ที่นั่นยอมมีการเมือง และที่ไหนมีการเมือง ที่นั่นยอมมีอำนาจ…

ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่านี้ — แก่นแท้ของการเมืองคือ ‘อำนาจ’ ต่างออกไปเพียงแค่ว่าอำนาจอยู่ในมือใคร อำนาจนั้นเป็นคุณต่อใครบ้าง และกลไกอะไรที่ทำให้การทำงานของอำนาจสลับซับซ้อนขึ้นเท่านั้น 

ตลอดสายธารประวัติศาสตร์ ไม่ว่าอำนาจจะเปลี่ยนจากเงื้อมมือของทรราชไปสู่มือของปวงชน หรือไม่ว่าสังคมจะแสวงหาหนทางจัดระเบียบการเมืองและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ – สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง – จนจำกัดความฉ้อฉลของอำนาจและทำให้อำนาจเป็นคุณต่อผู้คนอย่างเสมอหน้าในนาม ‘ระบอบประชาธิปไตย’ แต่ระบอบการเมืองที่ดูราวกับว่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายของ ‘การเมืองการปกครองที่ดี’ ก็ไม่ได้ลบล้างความต้องการต่อการแสวงหาคำตอบของมวลมนุษย์ชาติว่า ‘การเมืองการปกครองที่ดียิ่งกว่านี้ยังเป็นไปได้หรือไม่ ’

ยิ่งโลกตกอยู่ในห้วงเวลาที่เรียกได้ว่าเป็นยุควิกฤตของประชาธิปไตย เมื่ออำนาจทำงานอย่างแนบเนียนมากยิ่งขึ้น และการจัดระเบียบทางการเมืองสั่นคลอนได้อย่างแยบยลยิ่งขึ้น คำถามดังกล่าวยิ่งส่งเสียงดังก้องไปทั่วโลก 

และนี่คือความท้าทายที่ ‘รัฐศาสตร์การปกครอง’ ศาสตร์ที่ว่าด้วยการเมืองและอำนาจกำลังเผชิญ

ในยุคที่การเมืองทั่วโลกผันผวนมากที่สุดยุคหนึ่ง อำนาจกำลังเสียสมดุล ระบอบประชาธิปไตยที่ได้ชื่อว่าเป็นหมุดหมายของจุดจบทางประวัติศาสตร์ถูกตั้งคำถาม หรือแม้กระทั่งมีบางคำถามว่าด้วยภาวะถดถอยของประชาธิปไตยที่ยังไม่มีคำตอบ ซ้ำการปฏิวัติดิจิทัลยังเข้ามาพลิกโฉมภูมิทัศน์โลกการเมือง คลื่นความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมอย่างรวดเร็วตั้งคำถามย้อนกับมาที่รัฐศาสตร์ว่า รัฐศาสตร์จะยังเป็นศาสตร์ที่มีน้ำยาหรือไม่? แล้วรัฐศาสตร์ในฐานะสาขาวิชาและนักรัฐศาสตร์เองจะต้องปรับตัวอย่างไร?

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม หรือในโลกทวิตเตอร์ คุณอาจรู้จักประจักษ์ในนามแอคเคาต์ @bkksnow ผู้ทวิตให้ข้อมูลความรู้ แนะนำหนังสือการเมืองหลากหลายเล่มและขับเคลื่อนสังคม — เขาคือหนึ่งในคนที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของขอบฟ้าองค์ความรู้และโลกการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

ในวันที่โลกยังตั้งคำถามว่าอะไรคือการปกครองที่ดีและยังพยายามหาคำตอบอยู่ ประจักษ์พาเรามองย้อนกลับไปที่จุดแรกเริ่มของรัฐศาสตร์ แล้วหันกลับมามองสู่อนาคตว่ารัฐศาสตร์จะต้องไปต่ออย่างไร พร้อมทั้งชี้ที่ทางและหนทางในการปรับตัวของนักรัฐศาสตร์ที่ควรรู้รอบ

บทสนทนานี้อาจเป็นจุดตั้งต้นที่ดีในการพารัฐศาสตร์ก้าวต่อไปข้างหน้า ทั้งนี้ก็เพราะว่า ‘รัฐศาสตร์ต้องรอด!’

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน องค์ความรู้รัฐศาสตร์การปกครองเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง 

ที่จริงแล้ว สาขาวิชารัฐศาสตร์ไม่ใช่สาขาวิชาที่เก่าแก่มากนัก หลายคนมักย้อนกลับไปถึงสมัยกรีก แต่รัฐศาสตร์ที่นับว่าเป็นรัฐศาสตร์สมัยใหม่ (modern political science) จริงๆ เริ่มเกิดขึ้นราวช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นี้เอง

ก่อนจะถูกสหรัฐฯ ครอบงำในศตวรรษที่ 20 สาขาวิชารัฐศาสตร์พัฒนาขึ้นในยุโรปช่วงกลางศตวรรษที่ 19 หลักๆ คือที่ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร วิชารัฐศาสตร์สมัยนั้นก็ไม่ใช่รัฐศาสตร์เชิงวิชาการแบบที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน เพราะสมัยก่อนรัฐศาสตร์คือศาสตร์ของนักปกครอง เน้นผลิตคนไปเป็นข้าราชการหรือนักการเมือง ความรู้ที่นำมาสอนจึงเป็นความรู้สำหรับนักปกครอง เป็นความรู้แบบสหวิทยาการเพื่อให้ชนชั้นนำใช้ปกครองหรือบริหารราชการ ต้องเรียนหลากหลาย เรียนประวัติศาสตร์ เรียนกฎหมาย เรียนเศรษฐศาสตร์ เรียนปรัชญา หรือภูมิศาสตร์ ฯลฯ

ในเวลาต่อมา สหรัฐฯ เริ่มก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการศึกษารัฐศาสตร์สมัยใหม่ พร้อมกับสถานะมหาอำนาจที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ความเป็นรัฐศาสตร์สมัยใหม่จึงเริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 นี้เอง สมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน (The American Political Science Association) ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาคมที่มีอิทธิพลต่อการศึกษารัฐศาสตร์มากที่สุดในโลกก็ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1903 ก็เริ่มผลิตงาน สร้างสรรค์องค์ความรู้รัฐศาสตร์สมัยใหม่ในช่วงนี้

จุดเปลี่ยนสำคัญของสาขาวิชาคือช่วงหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสหรัฐฯ กลายเป็นมหาอำนาจอย่างแท้จริง หลายมหาวิทยาลัยที่บุกเบิกองค์ความรู้รัฐศาสตร์สมัยใหม่อย่างมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) มหาวิทยาลัยวิสคอนซิล-เมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) มหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell University) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) หรือมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) พยายามสร้างรัฐศาสตร์ให้มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น บุกเบิกพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral science) ในสาขาวิชารัฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ 1950-1960 โดยพยายามหาทางอธิบายโลกแห่งการเมืองอย่างเป็นระบบ หาทฤษฎีทางการเมืองมารองรับผ่านการตั้งสมมติฐาน วิเคราะห์เชิงสถิติ หาค่าตัวแปร ระบุปัจจัยได้ว่าปัจจัยใดจะนำไปสู่อะไร และสามารถหยิบทฤษฎีไปอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ไหนก็ได้ในโลก จะอธิบายการเมืองสหรัฐฯ ก็ได้ อธิบายการเมืองชิลี อาร์เจนตินา ฟิจิ หรือแอฟริกาก็ได้ กล่าวคือ สหรัฐฯ มองว่ารัฐศาสตร์ควรได้รับการพัฒนาในฐานะสาขาวิชาที่แยกออกมาจากสาขาอื่น มีทฤษฎี วิธีวิจัย องค์ความรู้ของตนเอง ไม่ใช่การเรียนหลายๆ ศาสตร์ผสมกันเหมือนอย่างในยุโรป 

หลังจากนั้น สถานะมหาอำนาจและทุนวิจัยมหาศาลของสหรัฐฯ ก็ทำให้แนวการศึกษารัฐศาสตร์แบบอเมริกาครอบงำแนวทางการศึกษารัฐศาสตร์หลายแห่งทั่วโลก 

รัฐศาสตร์แบบอเมริกาในช่วงที่ได้รับอิทธิพลจากพฤติกรรมศาสตร์ลงไปศึกษาการเมืองอย่างไร 

เน้นการศึกษาเชิงปริมาณ (quantitative) พูดง่ายๆ คือใช้เครื่องมือในการสำรวจและเก็บข้อมูล ที่น่าจะคุ้นกันคือพวกแบบสอบถาม ผู้ทำวิจัยก็จะนำข้อมูลที่เก็บมาได้ไปถอดออกมาเป็นตัวแปร เพื่อตอบคำถามเฉพาะบางอย่างผ่านการหาความสัมพันธ์เชิงสถิติ เช่น ตั้งโจทย์ไว้ว่าอะไรคือปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกตั้ง แล้วพยายามหาความสัมพันธ์ว่าเพศ การศึกษา หรือระดับรายได้เกี่ยวข้องกับผลการเลือกตั้งหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน 

รัฐศาสตร์ไทยได้รับอิทธิพลจากรัฐศาสตร์แบบอเมริกาบ้างไหม

จริงๆ นักรัฐศาสตร์ไทยยุคแรกที่ได้ทุนไปเรียนปริญญาเอกในต่างประเทศก็ได้รับทุนไปเรียนที่สหรัฐฯ เป็นหลัก แนวการศึกษาแบบอเมริกาที่ได้รับอิทธิพลจากพฤติกรรมศาสตร์ก็ครอบงำงานรัฐศาสตร์ในไทยอยู่หลายทศวรรษเหมือนกัน 

โลกรัฐศาสตร์ยังมีแนวการศึกษาอื่นๆ อีกบ้างไหม ในช่วงระยะหลังที่ผ่านมา องค์ความรู้รัฐศาสตร์หลุดออกจากกรอบการศึกษารัฐศาสตร์แบบอเมริกันไปแล้วหรือยัง

มีเยอะเลยครับ รัฐศาสตร์แบบอเมริกันถูกวิจารณ์เยอะมากในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีนักคิดนักวิชาการจำนวนมากที่วิจารณ์ว่า ความพยายามที่จะทำให้รัฐศาสตร์กลายเป็นวิทยาศาสตร์พารัฐศาสตร์ไปผิดทาง ทำให้รัฐศาสตร์ติดกับดักระเบียบวิธีวิจัย และยังวิจารณ์อีกว่าไม่มีทางที่จะทำให้รัฐศาสตร์เหมือนวิทยาศาสตร์ธรรมชาติได้ เพราะโลกการเมืองนั้นซับซ้อนกว่าแค่ตัวเลข สถิติ หรือตัวแปรไม่กี่ตัว เป็นไปไม่ได้ที่จะศึกษาด้วยเครื่องมือเชิงปริมาณอย่างเดียว และที่สำคัญ การเมืองยังสัมพันธ์และไม่สามารถแยกออกจากมนุษย์ได้ 

แนวการศึกษาเช่นนี้ทำให้รัฐศาสตร์หมดเสน่ห์ไป แทนที่จะมุ่งถามคำถามที่สำคัญ ก็ดันไปตั้งคำถามเล็กๆ หยิบจับประเด็นยิบย่อยขึ้นมาศึกษา เน้นความถูกต้องเรื่องระเบียบวิธีวิจัยหรือความถูกต้องเชิงสถิติ เราจะเห็นแต่งานวิจัยหัวข้อแคบๆ เช่น ‘ทัศนคติของผู้เลือกตั้งในอำเภอ A จังหวัด B ในการเลือกตั้งครั้งที่ C’ แล้วงานวิจัยอื่นๆ ก็จะตั้งโจทย์ทำนองเดียวกัน แค่เปลี่ยนอำเภอ เปลี่ยนจังหวัด ไม่ใช่แค่ในไทยที่ทำแบบนี้ ที่สหรัฐฯ ก็เป็นเหมือนกัน 

เพราะฉะนั้น องค์ความรู้รัฐศาสตร์ระยะหลังจึงเลิกปฏิเสธการหยิบยืมความรู้จากสาขาวิชาอื่นๆ ที่จะช่วยให้รัฐศาสตร์ทำความเข้าใจโลกการเมืองได้ดีขึ้น เลิกเชื่อว่ารัฐศาสตร์ต้องแยกขาดออกจากความรู้สาขาอื่น และเริ่มพัฒนาวิธีการศึกษาใหม่ๆ ในการศึกษาโลกการเมืองเพื่อสลายแนวทางการศึกษารัฐศาสตร์แบบอเมริกัน

ถ้าถามว่าศาสตร์ไหนที่รัฐศาสตร์ไปหยิบยืมมาบ้าง บอกได้ว่าหลายศาสตร์มาก แนวทางหนึ่งคือใช้ประวัติศาสตร์เข้ามาทำความเข้าใจและวิเคราะห์การเมือง บ้างก็มองว่าต้องนำองค์ความรู้แบบมานุษยวิทยามาใช้เพื่อทลายจุดอ่อนของรัฐศาสตร์ที่เคยละเลยมิติทางความเชื่อ วัฒนธรรม หรืออัตลักษณ์ไปจนไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์หลายอย่างได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งอิทธิพลต่อโลกการเมืองทั้งสิ้น รัฐศาสตร์จึงต้องหันไปหยิบยืมแนวคิดและความรู้จากมานุษยวิทยาที่ศึกษาวัฒนธรรมอย่างลุ่มลึก เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม มนุษย์ ความคิด และอัตลักษณ์ เราจะเห็นรัฐศาสตร์กลุ่มที่ได้อิทธิพลจากงานมานุษยวิทยาไปลงภาคสนาม จะศึกษาประเทศไหนก็ต้องไปลงภาคสนาม ฝังตัวลงในสังคม และเรียนรู้ชุมชนวัฒนธรรมเพื่อให้เข้าใจโลกการเมืองอื่น 

พอโลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติดิจิทัล โซเชียลมีเดียเริ่มกลายเป็นตัวแสดงสำคัญในสังคม อีกศาสตร์ที่มีอิทธิพลมากต่อรัฐศาสตร์คือวารสาร นิเทศศาสตร์ หรือพวก data science นักรัฐศาสตร์ก็ต้องหยิบยืมองค์ความรู้จากสาขาเหล่านี้ที่ศึกษาเรื่องสื่อไว้ลึกซึ้งกว่าเพื่อลงไปศึกษาว่าสื่อดิจิทัลส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อการเมือง 

อีกศาสตร์หนึ่งที่ถูกแยกออกจากรัฐศาสตร์และกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งหนึ่งคือนิติศาสตร์ คู่แฝดเดิมของรัฐศาสตร์ สมัยศตวรรษที่ 19 ในยุโรป จริงๆ แล้วรัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์แยกจากกันไม่ออก ทั้งสองศาสตร์ถูกจัดให้อยู่ในสาขาเดียวกันเสียด้วยซ้ำ เพราะทั้งสองศาสตร์สนใจโครงสร้าง กติกาทางการเมือง หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการเหมือนกัน หลังจากรัฐศาสตร์พยายามแยกตัวออกมา ในระยะหลังช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รัฐศาสตร์ก็กลับไปหยิบยืมนิติศาสตร์เข้ามาร่วมศึกษาการเมืองอีกครั้ง เพราะนักรัฐศาสตร์ตระหนักแล้วว่ามนุษย์ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่อยู่ภายใต้โครงสร้าง กติกาและสถาบันบางอย่าง และสถาบันเหล่านั้นก็มีพลังในการกำหนดกติกาต่างๆ ในสังคมการเมือง

พูดง่ายๆ ตอนหลังรัฐศาสตรกลายเป็นศาสตร์ ‘เป็ด’ ไปแล้ว คือรู้หลายอย่างกว้างๆ ไม่ได้รู้ลึกเฉพาะเจาะจงอย่างเดียว

อะไรคือโจทย์ใหญ่ที่รัฐศาสตร์สนใจบ้าง 

ความสนใจของรัฐศาสตร์เปลี่ยนไปตลอดตามยุคสมัย ต้องบอกว่ารัฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่แยกไม่ออกจากปรากกฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจริง เพราะฉะนั้น ความรู้รัฐศาสตร์ถูกผลิตขึ้นเพื่อตอบคำถามของยุคสมัย เมื่อปัญหาของยุคสมัยเปลี่ยน โจทย์หรือคำถามวิจัยก็เคลื่อนตามไปด้วย 

ในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีอยู่ 2-3 ประเด็นที่รัฐศาสตร์ให้ความสนใจ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ อย่างแรกคือ ระบอบฟาสซิสต์ (Fascism) อย่างระบอบนาซีเกิดขึ้นได้อย่างไร ความหายนะระดับอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติที่ระบอบนาซีก่อมันช็อกโลกมาก ทั้งๆ ที่สังคมเยอรมนีช่วงสมัยทศวรรษที่ 1920 เจริญก้าวหน้าทั้งทางความรู้ ศิลปวิทยาการ และวัฒนธรรมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เป็นศูนย์กลางของอารยธรรมตะวันตก แต่กลับกลายเป็นว่าเกิดรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarian state) ที่โหดร้าย สามารถควบคุมคนในสังคมได้อย่างเบ็ดเสร็จ ประชาชนจำนวนมากยอมปฏิบัติตามอุดมการณ์และคำสั่งของรัฐจนนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ใจกลางทวีปยุโรป นี่จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่โลกพยายามหาคำตอบว่าทำไมปรากฏการณ์แบบระบอบนาซีจึงเกิดขึ้นได้ ซึ่งก็มีแนวศึกษาแยกออกมาหลายแนว ทั้งการเมือง สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ หรือจิตวิทยา

ส่วนในช่วงหลังสงครามเย็น รัฐศาสตร์หันไปให้ความสนใจประเด็น ‘การทำการเมืองให้ทันสมัย’ (political modernization) โจทย์ดังกล่าวเกิดจากความกังวลของสหรัฐฯ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการปลดปล่อยอาณานิคมและเริ่มมีการก่อร่างรัฐชาติใหม่หลายรัฐในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างในเอเชียหรือแอฟริกา แต่ปรากฏว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังประเทศใหม่เหล่านี้หลุดพ้นสภาวะอาณานิคมคือความไร้เสถียรภาพ ความไม่สงบ ความขัดแย้ง ความรุนแรง สงครามกลางเมือง จลาจล รัฐประหาร ความอดอยากยากไร้ของคนในสังคม และความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ กล่าวอีกอย่างคือ ประเทศเกิดใหม่จำนวนมากเผชิญต่อภาวะที่ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างชาติให้เป็นเอกภาพ หรือสถาปนาระบอบการเมืองที่มีเสถียรภาพ ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความพยายามในการหาคำตอบและหนทางว่าจะพัฒนาประเทศเหล่านี้อย่างไร

นี่คือยุคเดียวกันกับที่อาณาบริเวณศึกษา (area studies) เติบโต ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง องค์ความรู้รัฐศาสตร์ในสหรัฐฯ กว่า 80 เปอร์เซ็นต์เกี่ยวกับการเมืองอเมริกันทั้งสิ้น น้อยมากที่นักรัฐศาสตร์อเมริกันจะไปศึกษาประเทศอื่น แต่ในช่วงสงครามเย็น สภาวะที่สหรัฐฯ ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ มีรัฐคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียตก้าวขึ้นมาเป็นอีกขั้วอำนาจหนึ่ง พร้อมกับประเทศเกิดใหม่จำนวนมากที่ตกอยู่ในสภาวะไร้เสถียรภาพอาจกระทบต่อสันติภาพโลก เพราะฉะนั้นสหรัฐฯ จึงเริ่มบุกเบิกอาณาบริเวณศึกษา ทำความเข้าใจรูปแบบรัฐและการเมืองในประเทศต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อการออกนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ 

อย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เพิ่งกลายมาเป็นอาณาบริเวณสำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะคอมมิวนิสต์แผ่ขยายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยิ่งสหรัฐฯ เข้าร่วมสงครามเวียดนาม ยิ่งมีการผลักดันให้มีการผลิตองค์ความรู้เกี่ยวกับอินโดจีนและเวียดนาม ส่งนักวิชาการมาฝังตัวเพื่อทำความเข้าใจการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทยก็เช่นกัน งานวิจัยไทยศึกษาสำคัญในช่วงทศวรรษที่ 1960 ก็ผลิตโดยนักวิชาการอเมริกาทั้งสิ้น อย่าง Thailand: The Modernization of a Bureaucratic Polity หรือการเมืองแบบอำมาตยาธิปไตยในชื่อไทย เขียนโดยเฟร็ด ริกส์ (Fred W. Riggs) ก็ตีพิมพ์ออกมาในช่วงเวลาดังกล่าว 

ในระยะหลังที่ผ่านมา อาจารย์เห็นความสนใจรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง 

มีทั้งโจทย์คลาสสิกที่ยังวนเวียนอยู่และโจทย์ใหม่ที่เพิ่งปะทุขึ้นมา พวกโจทย์คลาสสิกไม่เคยหายไปไหน อย่างเรื่องรัฐ การก่อตัวของรัฐ ศักยภาพของรัฐ พรรคการเมือง การเลือกตั้ง แต่แน่นอนว่าก็มีประเด็นใหม่ๆ ผุดขึ้นมา โดยเฉพาะในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา เพราะทุกอย่างเปลี่ยนเร็วมาก 

หากมองภูมิทัศน์การเมืองโลกจะเห็นโจทย์ใหม่ๆ ที่เคลื่อนตามวาระโลก ในปี 2001 พอเกิดเหตุการณ์ 9/11 การก่อการร้ายก็กลายมาเป็นประเด็นศึกษา หลังจากนั้นช่วงปี 2008-2009 วิกฤตซับไพรม์โลกและวิกฤตยูโรโซนเริ่มนำไปสู่ความผันผวนทางการเมือง ความแตกแยกแบ่งขั้วทางการเมือง (political polarization) และความไม่พอใจต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นจากกระแสโลกาภิวัตน์และนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) อย่างในสหรัฐฯ จะเห็นว่าเกิดขบวนการทางการเมืองทั้งฝ่ายขวาอย่าง Tea Party Movement และฝ่ายซ้ายอย่าง Occupy Wall Street ซึ่งอยู่คนละขั้วอุดมการณ์ แต่กลับไม่พอใจในสภาวะทางเศรษฐกิจและวิธีการรับมือของรัฐเหมือนกัน 

วิกฤตเศรษฐกิจและขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองรูปแบบใหม่ๆ ที่ตามมาทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกลายเป็นโจทย์สำหรับนักรัฐศาสตร์ว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบอย่างไรต่อการเมือง ประชาธิปไตยและความแตกแยกในสังคม

ต่อมาในช่วงปี 2011-2012 เกิดคลื่นลูกใหม่ในการต่อต้านเผด็จการและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในโลกอาหรับ หรือที่รู้จักในนาม Arab Spring ซึ่งปรากฏการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยระลอกนี้ทำให้นักวิชาการหันกลับมาให้ความสนใจกับประเด็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย (democratization) หรือขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย (democratic uprising) เพราะปรากฏว่ามีหลายประเทศที่เรียกร้องสำเร็จก็จริง ล้มเผด็จการได้จริง แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว ไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยที่ลงหลักปักฐานและระบอบการเมืองที่มีเสถียรภาพได้ อย่างที่ซีเรีย สุดท้ายการประท้วงกลายเป็นสงครามกลางเมือง ที่ลิเบียกลายเป็นอนาธิปไตย ส่วนอียิปต์พอล้มเผด็จการได้ ทหารก็กลับมาแทรกแซงการเมืองอีก ปรากฏการณ์ในโลกอาหรับทำให้นักวิชาการมองกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยซับซ้อนมากขึ้น และค่อนข้างมองโลกในแง่ร้ายมากขึ้น เพราะการเรียกร้องประชาธิปไตยประสบความสำเร็จไม่ได้หมายความว่าประชาธิปไตยมั่นคงต่อไป

นี่คือการเปิดฉากโลกยุคประชาธิปไตยล้มเหลว สภาวะที่การเมืองประชาธิปไตยสั่นคลอนกลายมาเป็นโจทย์หลักของรัฐศาสตร์ทั่วโลกในตอนนี้

ไม่เพียงเท่านั้น กระแสการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยยังไปจุดประกายให้นักวิชาการหันไปสนใจประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวพันและกระทบต่อพัฒนาการประชาธิปไตย เช่นศาสนา ซึ่งกลายเป็นอีกประเด็นศึกษาหนึ่งไปเลยคือศาสนาและการเมือง (religion and politics) อย่างกรณี Arab Spring ก็เห็นได้ชัดว่าศาสนาคือตัวแปรหนึ่งที่ส่งผลต่อทิศทางการเมือง อย่างในอียิปต์ หลังโค่นล้มเผด็จการทหารได้แล้ว ฝ่าย Muslim Brotherhood กลุ่มการเมืองอิสลามและฝ่ายโลกวิสัย (secular) กลุ่มคนรุ่นใหม่และชนชั้นกลางเสรีนิยมซึ่งเคยจับมือร่วมกันล้มเผด็จการกลับขัดแย้งกันเมื่อฝ่าย Muslim Brotherhood ชนะในการเลือกตั้งและพยายามผลักดันรัฐธรรมนูญและนโยบายอิงศาสนาอิสลาม นอกจากอียิปต์ ศาสนาก็เข้ามามีบทบาทในการเมืองในทั้งโลกอาหรับเช่นกัน บทบาทอิสลามการเมือง (political Islam) จึงกลายเป็นอีกหนึ่งโจทย์ 

ที่จริงไม่ใช่แค่ศาสนาอิสลามอย่างเดียว ในหลายประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ พระก็เป็นตัวละครที่มีบทบาทสูง มีทั้งกลุ่มพระที่ออกมาลงถนนประท้วงเพื่อกอบกู้ประชาธิปไตยและกลุ่มพระพุทธนิยมสุดโต่งที่สนับสนุนเผด็จการทหารและต่อต้านมุสลิมอย่างที่เกิดขึ้นที่พม่า หรือในสหรัฐฯ ยุโรป กลุ่มคริสต์อนุรักษนิยมก็เป็นกลุ่มการเมืองหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของกระแสฝ่ายขวาในบริบทวิกฤตเสรีนิยมประชาธิปไตย

หนึ่งในโจทย์สำคัญซึ่งอาจจะเป็นโจทย์ที่ฮ็อตที่สุดในช่วงที่ผ่านมาคือประชานิยม โดยเฉพาะกระแสฝ่ายขวาประชานิยมที่ผงาดขึ้นมาในสภาวะที่การเมืองเสรีประชาธิปไตยไม่สามารถโอบรับเสียงของประชาชนได้ทั้งหมดจนการเมืองประชานิยมฝ่ายขวาขึ้นสู่กระแสสูงในสหรัฐฯ ยุโรป หรือละตินอเมริกา จนเกิดปรากฏการณ์ทรัมป์และ Brexit  

อีกโจทย์ที่ขยับจากสถานะชายขอบและทวีความสำคัญขึ้นมาในช่วงหลังคือโจทย์ว่าด้วยการเมืองอัตลักษณ์ (identity politics) สิ่งที่แวดวงรัฐศาสตร์ยังคงถกเถียงกันอยู่คือ การเมืองอัตลักษณ์ส่งผลต่อประชาธิปไตยได้ทั้งทางบวกและทางลบ แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือการเมืองอัตลักษณ์มีพลังในการขับเคลื่อนการออกมาเรียกร้องทางการเมืองของผู้คนอย่างมาก ในสหรัฐฯ เรื่องเชื้อชาติกลายเป็นประเด็นที่นักการเมืองอย่างทรัมป์และนักการเมืองฝ่ายขวาประชานิยมใช้ระดมฐานเสียง แต่ในบรรดาอัตลักษณ์ทั้งหลาย ประเด็นที่การศึกษาขยายตัวไปอย่างมากคือเพศสภาพและการเมืองเรื่องเพศ ทั้งกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มเควียร์หรือ LGBTQ  

ส่วนโจทย์ล่าสุดคือเรื่องการเมืองสิ่งแวดล้อม (environmental politics) ในไทยเราอาจจะไม่ค่อยได้ยินเท่าไหร่ แต่ในระดับโลกตอนนี้การเมืองสิ่งแวดล้อมเป็นวาระที่ใหญ่มาก เพราะความตื่นตัวของสังคมโลกต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อต่อสู้เรียกร้องการแก้ไขปัญหาโลกร้อน อย่างที่เราเห็นเกรตา ธุนแบร์กประท้วงหยุดเรียนเพื่อให้ผู้นำโลกตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและลุกขึ้นมาหาทางจัดการ สิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นต่อสู้ทางการเมืองในรัฐสภา ฝ่ายการเมืองก็ลุกขึ้นมาเสนอและถกเถียงนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อม เกิดพรรคการเมืองที่ชูประเด็นสิ่งแวดล้อมขึ้นมาอย่างพวกตระกูลพรรคกรีน (Green) ในหลายประเทศในยุโรปตะวันตก 

 

อะไรคือโจทย์เฉพาะของรัฐศาสตร์ไทย อาจารย์เห็นความเหมือนหรือความต่างอะไรระหว่างคำถามใหญ่ของรัฐศาสตร์ไทยกับรัฐศาสตร์โลกบ้าง

โจทย์ที่เรากำลังเผชิญอยู่เป็นโจทย์เดียวกันกับโจทย์สำคัญของการเมืองโลกเลย คือโจทย์ว่าด้วยความล้มเหลวของประชาธิปไตย ปัจจุบันทั่วโลกกำลังตกอยู่ในยุคประชาธิปไตยถดถอย หรือบางคนอาจจะเรียกแรงระดับว่าเป็นยุควิกฤตของประชาธิปไตย (crisis of democracy) เลยก็มี

ที่บอกว่าประชาธิปไตยล้มเหลว หมายความว่าระบอบเผด็จการปรับตัวเก่งขึ้น อยู่ในระบอบได้แนบเนียนขึ้น เข้มแข็งขึ้นอย่างที่เราเห็นในรัสเซีย โปแลนด์ ฮังการี หรือในอีกหลายประเทศ เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญในการศึกษารัฐศาสตร์ช่วงที่ผ่านมา จนในโลกตะวันตกมีการตั้งวิชาใหม่ๆ เกี่ยวกับระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จหรือระบอบอำนาจนิยม (autocratic regimes) เพื่อทำความเข้าใจระบอบเหล่านี้ขึ้นมาด้วยซ้ำ

จริงๆ ไทยเป็นกรณีศึกษาอย่างดีเลย เพราะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานับว่าเป็นยุคผันผวนที่สุดตลอดช่วงการเมืองไทยสมัยใหม่ มีการรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตยลงถึง 2 ครั้งในรอบ 10 กว่าปี เราเป็นประเทศที่รุ่มรวยมากในแง่ข้อมูลและประสบการณ์ที่สามารถช่วยให้แวดวงรัฐศาสตร์ทั่วโลกเข้าใจปรากฏการณ์ประชาธิปไตยล้มเหลวมากยิ่งขึ้น

โจทย์ที่เรากำลังเผชิญอยู่เป็นโจทย์เดียวกันกับโจทย์สำคัญของการเมืองโลกเลย คือโจทย์ว่าด้วยความล้มเหลวของประชาธิปไตย ปัจจุบันทั่วโลกกำลังตกอยู่ในยุคประชาธิปไตยถดถอย  

ภาวะถดถอยของประชาธิปไตยของไทยมีความโดดเด่นเฉพาะตัวที่ต่างไปจากที่อื่นในโลกอย่างไร อาจารย์ถึงมองว่าไทยน่าจะเป็นกรณีที่ช่วยเติมเต็มคำตอบของคำถามใหญ่ของรัฐศาสตร์โลกได้ 

ผมมองว่าภาวะถดถอยของประชาธิปไตยของไทยมีลักษณะเฉพาะตัวคือ สถาบันเก่าแก่อย่างกองทัพและสถาบันกษัตริย์ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ยังมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยถดถอยหรือไม่สามารถลงหลักปักฐานตั้งมั่นได้

หากมองเทียบภาพใหญ่ของปรากฏการณ์ทั่วโลก ผู้นำอำนาจนิยมหรือผู้นำประชานิยมฝ่ายขวาทั้งในฟิลิปปินส์ กัมพูชา โปแลนด์ ฮังการี หรือแม้กระทั่งในสหรัฐฯ อย่างทรัมป์ก้าวขึ้นสู่อำนาจผ่านการชนะการเลือกตั้งตามกระบวนการปกติแล้วค่อยบั่นทอนระบอบจากภายใน ทำลายกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ หรือใช้กลไกของระบอบประชาธิปไตยเพื่อยืนยันความชอบธรรมการใช้อำนาจที่ล้นเกิน เราเรียกผู้นำอำนาจนิยมเหล่านี้ว่า elected dictator

อย่างในหนังสือ How Democracies Die เขียนโดยแดเนียล ซิบลัตต์ (Daniel Ziblatt) และสตีเวน เลวิตสกี (Steven Levitsky) เสนอว่าภาวะประชาธิปไตยถดถอยและล่มสลายในโลกปัจจุบันต่างจากภาวะที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น ในช่วงเวลานั้น ส่วนใหญ่ประชาธิปไตยทั่วโลกมักถูกทำลายด้วยน้ำมือของผู้นำกองทัพผ่านการรัฐประหาร อย่างที่เกิดขึ้นที่ชิลี บราซิล อาร์เจนตินา เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย หลายๆ ประเทศในแอฟริกา รวมถึงไทยด้วย ตอนนั้นเราไม่ได้ต่างจากโลกมาก ระบอบเผด็จการของเราก็เป็นเผด็จการทหารแบบจอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) จอมพลถนอม (กิตติขจร) หรือพลเอกสุจินดา (คราประยูร) สามารถใช้ทฤษฎีที่อธิบายการเมืองและสังคมที่อื่นๆ ในโลกเข้ามาทำความเข้าใจและอธิบายการเมืองไทยได้ว่าทำไมกองทัพถึงเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง มีอำนาจทางการเมือง และสามารถอ้างความชอบธรรมเรื่องความมั่นคงได้    

ในขณะที่ปัจจุบัน ความล้มเหลวของประชาธิปไตยแทบไม่เกิดจากการลงมือทำรัฐประหารของกองทัพ ประเทศที่ยังมีรัฐประหารอยู่ก็เป็นประเทศที่ล้าหลังทางการเมือง ระดับการพัฒนาค่อนข้างต่ำ อาจจะเรียกได้ว่าต่ำกว่าไทยเสียด้วยซ้ำ เช่น ปากีสถาน ฟิจิ หรือประเทศในแอฟริกาทั้งหลายอย่างมาลี ซิมบับเวย์ คองโก ซูดาน แต่แน่นอนไทยอยู่ในกรณีนี้ด้วย ผมเลยมองว่าการล้มลงของประชาธิปไตยไทยผ่านการรัฐประหาร ยึดอำนาจแล้วอยู่ยาว 5 ปีจึงมีความเฉพาะ ถ้ามีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ มันน่าจะช่วยเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับความถดถอยของประชาธิปไตยในแวดวงรัฐศาสตร์สากลได้ 

อีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นความเฉพาะของการเมืองไทยและกำลังศึกษากันมากขึ้นคือ งานสายกษัตริย์ศึกษา (monarchy studies) จะเห็นว่าในแวดวงกษัตริย์ศึกษาศึกษาสถาบันกษัตริย์ในแง่มุมต่างๆ ไว้เยอะมาก ทั้งเรื่องสถาบันกษัตริย์กับกองทัพ การจัดการพระราชทรัพย์ อุดมการณ์กษัตริย์นิยม การสร้างเครือข่ายของสถาบันกษัตริย์ หรือมวลชนที่รับอุดมการณ์กษัตริย์นิยม แต่หากลงไปดูงานเหล่านี้จริงๆ จะพบว่าไม่ค่อยมีงานที่ใช้องค์ความรู้แบบรัฐศาสตร์เท่าไหร่ งานสายกษัตริย์ศึกษาที่โดดเด่นมักเป็นงานของนักประวัติศาสตร์ นักสังคมวิทยา หรือนักนิติศาสตร์เสียเยอะ ทั้งๆ ที่จริงๆ นักรัฐศาสตร์น่าจะลงไปศึกษาได้มากกว่านี้

สาเหตุที่ผมมองว่าสถาบันกษัตริย์คือความเฉพาะของการเมืองไทย หากมีโอกาสได้อ่านหนังสือ How to Save a Constitutional Democracy หนังสือเล่มล่าสุดของทอม กินสเบิร์ก (Tom Ginsburg) นักวิชาการด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์ ซึ่งมีส่วนหนึ่งของหนังสือเขียนเกี่ยวกับไทยที่นับได้ว่าเป็นหนึ่งในกรณีสำคัญ ข้อเสนอของกินสเบิร์กชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่สถาบันกษัตริย์ทั่วโลกเหลือเพียงแค่ที่ดำรงอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) มีอำนาจล้นพ้นอย่างในซาอุดิอาระเบีย กับที่ดำรงอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (constitutional monarchy) มีอำนาจำกัดอย่างในยุโรปและในญี่ปุ่น แต่กรณีไทย อำนาจของสถาบันกษัตริย์กลับอยู่กึ่งกลางระหว่าง absolute monarchy กับ constitutional monarchy และยิ่งไปกว่านั้น การที่อำนาจของสถาบันกษัตริย์ผูกกับอำนาจกองทัพก็ยิ่งทำให้ภาวะประชาธิปไตยถดถอยของไทยมีลักษณะที่เฉพาะอย่างมากในการเมืองโลกปัจจุบัน 

คิดแบบเร็วๆ จริงๆ เราสามารถใช้แว่นแบบรัฐศาสตร์เข้ามาช่วยสร้างกรอบคิด (conceptualized) ในการลงไปศึกษา อย่างถ้าเลือกมองผ่านแว่นแบบทฤษฎีภาวะทันสมัย (modernization theory) ของแมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ที่อธิบายการเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ไว้ว่า อำนาจที่วางอยู่บนฐานความเชื่อศักดิ์สิทธิ์หรือประเพณีโบราณจะค่อยๆ หายไปเมื่อสังคมเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมและก้าวไปสู่การพัฒนาสถาบันทางการเมือง พอเอามาจับกับการเมืองไทย ผมมองว่าเรายังสามารถใช้แว่นนี้ทำความเข้าใจและอธิบายสภาวะก้ำกึ่งของระบอบการเมืองไทยได้อยู่

อีกประเด็นหนึ่งที่รัฐศาสตร์ไทยน่าจะเติมเต็มในการอธิบายความล้มเหลวของประชาธิปไตยได้คือชนชั้นกลาง ในระยะหลังเริ่มมีดีเบตมากขึ้นว่าทำไมชนชั้นกลางจึงกลายเป็นฐานสนับสนุนระบอบอำนาจนิยม แทนที่จะเป็นฐานสนับสนุนของระบอบประชาธิปไตย ปกติหากไปดูประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยทั่วโลก ชนชั้นกลางหรือชนชั้นกระฎุมพีคือชนชั้นที่มีค่านิยมแบบประชาธิปไตย และเป็นตัวแปรสำคัญในการที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยประสบความสำเร็จ แต่กรณีไทยกลับตรงกันข้าม 

สรุปคือบ้านเราก็ยังกอดโจทย์คลาสสิกของรัฐศาสตร์ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเก่าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยและระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่นไว้อย่างเหนียวแน่น 

รัฐศาสตร์ไทยมีการแบ่งสำนักคิดไหม? 

ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ ในยุคก่อนหน้านี้อาจจะพอมีให้เห็นลางๆ อย่างอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิชที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็พยายามจะสร้างสำนักคิดขึ้นมา อาจารย์ทำอยู่ 2 อย่างคือ หนึ่ง สร้างแนวการศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง พยายามใช้ประวัติศาสตร์เข้ามาอธิบายการเมือง แน่นอนว่างานศึกษาของอาจารย์ชัยอนันต์ตีความประวัติศาสตร์แบบอนุรักษนิยม/รอยัลลิสต์ แนวเล่างานที่ผลิตตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา 2516 ก็โจมตีคณะราษฎรอย่างเดียว แต่อย่างน้อยเราเห็นความพยายามในการสร้างและรวบรวมองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์การเมืองขึ้นมา มีวิทยานิพนธ์หลายชิ้นเลยที่อาจารย์ชัยอนันต์เป็นที่ปรึกษา

สอง สร้างแนวการศึกษาเรื่องรัฐและระบบราชการ อาจารย์ชัยอนันต์ถนัดเรื่องรัฐ จะเห็นว่าอาจารย์พยายามนำเข้าความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับรัฐ การก่อตัวของรัฐ และการปรับตัวของรัฐในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทันสมัยในช่วงเวลานั้นเข้ามาในไทย 

ที่จริง ที่จุฬาฯ เคยมีอาจารย์ที่โดดเด่นในเรื่องพรรคการเมืองและระบบเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้มีการสืบทอดต่อจนเป็นสำนักคิด หรือที่อย่างที่ธรรมศาสตร์ก็มีอาจารย์เกษียร (เตชะพีระ) ที่โดดเด่นเรื่องการศึกษาการเมืองวัฒนธรรม (cultural politics) ที่ว่าด้วยการต่อสู้ทางการเมืองในฐานะพื้นที่ของการช่วงชิงการครองอำนาจนำ แต่ก็ไม่ได้เกิดสำนักคิดขึ้นเหมือนกัน  

การที่ไม่มีสำนักคิดถือว่าเป็นผลดีหรือผลเสียต่อแวดวงรัฐศาสตร์ไทย 

มีทั้งข้อดีและข้อเสีย 

ข้อดีคือทำให้ไม่เกิดการครอบงำทางความคิด นักวิชาการรุ่นหลังๆ มีอิสระในการผลิตงานวิจัยออกมาตามความสนใจ ไม่มีความพยายามที่จะสร้างกลุ่มลูกศิษย์ลูกหาที่ผลิตงานตามแนวของเจ้าสำนักหรือทำงานวิจัยตามที่ได้รับมอบหมายมา แม้แต่นักวิชาการที่มีอิทธิพลทางความคิด สร้างงานที่มีคุณูปการโดดเด่นก็ไม่ได้พยายามสร้างลูกศิษย์ออกมาให้มีแนวศึกษาเหมือนตนเองจนกลายเป็นสำนักคิดแบบต่างประเทศที่เราแบ่งการศึกษารัฐศาสตร์ในโลกตะวันตกออกเป็นสำนักคิดได้เลยว่านี่คือ Cambridge School, Oxford School, Chicago School หรือ Cornell School เพราะแนวการศึกษาจะมีลักษณะเฉพาะอยู่ เช่นว่าเน้นการศึกษาเชิงปริมาณ เน้นประวัติศาสตร์ เน้นเชิงปรัชญา หรือเน้นประเด็นบางประเด็นเป็นพิเศษ แต่แวดวงรัฐศาสตร์ไทยมีความเป็นปัจเจกสูง อาจารย์แต่ละคนไม่ได้สร้างสำนักคิดของตัวเองขึ้นมา แต่ละคนก็จะเชี่ยวชาญหลากหลายต่างกันไป

ส่วนข้อเสีย แน่นอนว่าพอไม่มีสำนักคิด ประเด็นการศึกษาหรือแนวการศึกษาก็ขาดความสืบเนื่อง หรือไม่เกิดการศึกษาองค์ความรู้ พอการศึกษาผูกอยู่กับตัวบุคคล หลังอาจารย์ท่านนั้นๆ เลิกทำงานวิชาการ หมายความว่าประเด็นหรือแนวศึกษาหายไปด้วย ซึ่งผมว่าน่าเสียดาย 

ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกในทุกวงการ เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนหรือท้าทายโลกการเมืองและรัฐศาสตร์ปกครองบ้างไหม

เปลี่ยนอยู่เหมือนกันครับ 

หากมองในแง่ว่าเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนโจทย์การเมืองแวดวงรัฐศาสตร์อย่างไรบ้าง ส่วนใหญ่ถ้านักรัฐศาสตร์ศึกษาเทคโนโลยี ก็มักจะเกี่ยวกับเทคโนโลยีการสื่อสารว่าเทคโนโลยีสื่อเปลี่ยนการเมืองอย่างไรบ้าง หรือเทคโนโลยีการสื่อสารมีความสัมพันธ์กับการเมืองอย่างไรบ้าง นี่คือกลุ่มงานศึกษาเชิง digital politics ที่กำลังทวีความสำคัญขึ้นอย่างมาก 

ในโลกความเป็นจริง การปฏิวัติดิจิทัลเปลี่ยนการเมืองไปไม่น้อย ฝ่ายรัฐมีเครื่องมือใหม่ๆ ในการสอดส่องและควบคุมประชาชน ซึ่งจะไปเกี่ยวพันกับที่เราคุยกันไปแล้วเรื่องความแนบเนียนและเก่งกาจของระบอบเผด็จการในศตวรรษที่ 21

ในระยะหลังมีคนพยายามเสนอคำตอบว่าทำไมเผด็จการหรือผู้นำอำนาจนิยมถึงกุมอำนาจได้แนบเนียนขึ้น คำตอบคือเพราะว่าเผด็จการมีพัฒนาการในการเรียนรู้ (learning curve) ส่วนหนึ่งเผด็จการเหล่านั้นเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือในการครองอำนาจหรือกระชับอำนาจในมือให้รัดกุมหนาแน่นขึ้น อย่างในรัสเซียและหลายๆ ประเทศ รัฐพยายามควบคุมข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดีย หรือยิ่งไปกว่านั้น รัสเซียไม่ได้ควบคุมแค่โซเชียลมีเดียในประเทศตัวเองอย่างเดียว แต่ยังแทรกแซงการเมืองประเทศอื่นๆ ด้วย อย่างที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 หรือรัฐบาลจีนเองก็ปรับตัวเข้ามาควบคุมแพลตฟอร์มดิจิทัล

แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนและภาคประชาสังคมก็มีช่องทางใหม่ในการแสดงออกหรือเรียกร้องความต้องการทางการเมือง สื่อดิจิทัล สื่อออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียทำให้เกิดความเห็นสาธารณะ (public opinion) มหาศาล มีอิทธิพลต่อทั้งการเกิดความเห็นสาธารณะและการรับรู้ทางการเมืองของปัจเจก หรืออาจถึงขั้นควบคุมความคิดของเราด้วยซ้ำ กระทั่งเกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง

แน่นอนว่าเทคโนโลยีสื่อเปลี่ยนการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองของฝ่ายภาคประชาชนไปเยอะเหมือนกัน มีงานศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของโซเชียลมีเดียและการเคลื่อนไหวทางสังคมเยอะมากตั้งแต่ขบวนการ Arab Spring ที่มีการนำโซเชียลมีเดียเข้ามาใช้ในการเคลื่อนไหวโดยตรงเป็นครั้งแรกๆ นักวิชาการหลายคนเรียกว่านี่คือ Social Media Revolution

อีกคำถามหนึ่งคือ เทคโนโลยีจะเสริมสร้างประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) ได้อย่างอย่างไรบ้าง นำไปสู่การศึกษานวัตกรรมประชาธิปไตย (democratic innovation) ว่าด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมาตรวจสอบรัฐได้มากขึ้น มีส่วนร่วมในการตรวจสอบทางกฎหมายหรือกระบวนการทางนโยบายได้มากขึ้น มีความพยายามในการใช้ big data ในการตรวจสอบรัฐ หรืออุดช่องโหว่ปัญหาคอร์รัปชัน

นอกจากเทคโนโลยีสื่อจะนำไปสู่ Social Media Revolution แล้ว มันยังทำให้เกิด Social Media Election ด้วย ในหลายๆ ประเทศ โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งและพรรคการเมืองมาก ทำให้พรรคการเมืองต้องปรับตัวทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก พรรคการเมืองแบบเก่าๆ ที่มีการจัดองค์กรและปกครองแบบบนลงล่าง ก็ได้รับผลกระทบเและเสื่อมความนิยมลงหากปรับตัวไม่ทันโซเชียลมีเดีย จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา นักการเมืองหน้าใหม่หรือพรรคใหม่ๆ ที่ใช้โซเชียลมีเดียหวือหวาชนะการเลือกตั้งในหลายประเทศ ทั้งๆ ที่พรรคเหล่านี้ก่อตัวไม่นานก่อนการเลือกตั้ง อาจจะแค่ 6 เดือนหรือ 1 ปี แต่ก็ชนะพรรคใหญ่ได้เพราะทำแคมเปญในโซเชียลมีเดียเก่ง

พูดง่ายๆ ตอนนี้โลกดิจิทัลกลายเป็นพื้นที่ใหม่ในการต่อสู้ทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ตัวละครใหม่ๆ ก้าวเข้ามามีอำนาจมากขึ้น อย่างพวกบริษัท big tech อย่างกูเกิล เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ไม่ใช่แค่บรรษัทข้ามชาติเท่านั้นแล้ว แต่กลายเป็นว่ามีสถานะเป็นตัวแสดงทางการเมืองด้วย เพราะแพลตฟอร์มคือ public sphere ที่มีอิทธิพลต่อทิศทางความคิดของคนในสังคม หรือในบางประเทศ แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็ร่วมมือกับรัฐในการสอดส่องประชาชน 

ในโลกปัจจุบันที่ซับซ้อน พลิกผัน เกิดปรากกฎการณ์ใหม่ๆ ขึ้นทุกวัน และมักจะเหนือความคาดหมายเสมอ ในสภาวะเช่นนี้ องค์ความรู้รัฐศาสตร์ตามความเปลี่ยนแปลงทันและยังมีพลังในการอธิบายความเปลี่ยนแปลงหรือปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไหม

นี่เป็นคำถามที่นักรัฐศาสตร์ทั่วโลกถามตัวเองเหมือนกันนะว่าพวกเรายังมีประโยชน์อยู่หรือเปล่า ถึงขั้นมีคนพยายามจะลงไปศึกษาจริงๆ ว่าองค์ความรู้ที่นักรัฐศาสตร์ผลิตมีส่วนหรือมีอิทธิพลต่อการออกนโยบายสาธารณะแค่ไหน หรือมีองค์ความรู้ใดบ้างที่รัฐศาสตร์ผลิตแล้วมีคนเอาไปใช้จริง  

ปรากฏการณ์เช่นนี้ถือว่าเป็นความท้าทาย ถ้ารัฐศาสตร์ไม่ปรับตัว สุดท้ายผมว่ารัฐศาสตร์ก็จะกลายเป็นศาสตร์ที่ล้าสมัยไปตามกาลเวลา ถ้าไม่สามารถทำให้ศาสตร์ว่าด้วยการเมืองสัมพันธ์กับสาธารณชนหรือผู้กำหนดนโยบาย หรือทำให้คนธรรมดาสามัญเข้าใจการเมืองได้ลึกซึ้งกว่าอ่านหนังสือพิมพ์หรือเว็บไซต์ แล้วรัฐศาสตร์จะมีประโยชน์อะไร 

คำถามแบบนี้ก็กระตุกโลกรัฐศาสตร์ตะวันตกให้ต้องปรับตัวเยอะ อย่างที่เราคุยกันไปก่อนหน้านี้ว่าแวดวงรัฐศาสตร์ในช่วงปี 1960-2000 ยังเถียงกันเรื่องวิธีวิจัยว่าจะใช้วิธีวิจัยเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพ จะใช้กรณีศึกษากี่เคส จะใช้เครื่องมือเชิงสถิติหรือใช้แว่นแนวสถาบันมอง พูดง่ายๆ คือเอาวิธีวิจัยเป็นโจทย์ตั้ง เอาประเด็นการศึกษาเป็นโจทย์รอง แต่พอเกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในโลกที่เกี่ยวพันกับสังคมจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้าย Arab Spring วิกฤตผู้อพยพ สงครามกลางเมืองในซีเรีย ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ประชานิยม การกลับมาของผู้นำอำนาจนิยม หรือความผันผวนทางการเมืองในปัจจุบัน มันต้องถกเถียงเรื่องที่สังคมสนใจและต้องการคำตอบ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีใครสนใจ

ในเวลาที่โลกผันผวน สังคมต้องการคำตอบหรือองค์ความรู้บางอย่างที่สามารถอธิบายให้สังคมเข้าใจปรากฏการณ์หรือความเปลี่ยนแปลงในโลกได้ เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นการปรับตัวของเทรนด์การศึกษาว่ามีการขยับมาให้ความสนใจประเด็นใหญ่ๆ ใช้ประเด็นเป็นตัวตั้งโจทย์เพื่อให้สัมพันธ์กับความเป็นไปของโลกและสังคม ส่วนวิธีการที่ใช้ในการหาคำตอบจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ นักรัฐศาสตร์สามารถรวมตัวกันผลิตองค์ความรู้ เขียนหนังสือ เขียนบทความร่วมกันโดยใช้ประเด็นนำ แล้วใช้วิธีการศึกษาหลายๆ รูปแบบร่วมกันเพื่อสร้างคำอธิบายจากหลากหลายมุมมองและกระจ่างแจ่มแจ้งขึ้นในประเด็นใหญ่ๆ  

ผมมองว่ารัฐศาสตร์ไทยก็ต้องปรับตัวแบบนี้เช่นกัน เราต้องเอาโจทย์ใหญ่มาเป็นตัวตั้ง ส่วนจะใช้ทฤษฎีหรือคอนเซ็ปต์อะไรก็แล้วแต่ ได้ทั้งนั้น เพียงแค่ผลิตคำอธิบายที่ทำให้สังคมเข้าใจประเด็นทางการเมืองที่สำคัญกับสังคมให้แจ่มแจ้งมากขึ้น ก็จะยังทำให้รัฐศาสตร์มีน้ำยาอยู่   

ผมมีข้อสังเกตส่วนตัวว่าในช่วงหลังที่ผ่านมาแวดวงการศึกษารัฐศาสตร์ไทยซบเซาลงนะ คนอื่นอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้ ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยคึกคักเท่าไหร่ การประชุมรัฐศาสตร์แห่งชาติที่เคยมีก็หายไปด้วยซ้ำ ไม่ได้จัดมาหลายปีแล้ว ในขณะที่ถ้าเราลงไปดูงานสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับการเมืองไทย หรืองานที่สร้างคำอธิบายใหม่ๆ เกี่ยวกับสังคมไทยมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นงานประวัติศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำ แวดวงสังคมวิทยาในระยะหลังๆ ก็คึกคักขึ้นมาก 

ถ้าให้วิพากษ์สาขาตัวเอง ผมมองว่าเรามีส่วนร่วมในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้สังคมน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่ยุคนี้เป็นยุคที่มีความขัดแย้งและความผันผวนทางการเมืองสูงมาก อาจจะเรียกได้ว่าผันผวนที่สุดแล้วในการเมืองไทยสมัยใหม่ แต่หลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา กลายเป็นว่าประเด็นวิจัยกระจัดกระจาย หากไปดูงานวิจัยหรือเปเปอร์ทางรัฐศาสตร์ หรือการจัดประชุมการสัมมนาย่อย จะเห็นว่าไม่ค่อยมีกลุ่มงานวิจัย (research cluster) ที่มีธีมร่วมเป็นตัวตั้งแล้วร่วมกันศึกษา ผลิตงานวิจัยออกมา ผมว่ารัฐศาสตร์ผลิตงานออกมาน้อยไปหน่อย

ส่วนตัวอาจารย์คิดว่ารัฐศาสตร์ยังมีน้ำยาไหม

ผมคิดว่ามีนะ เพียงแต่ว่าในแวดวงต้องทำงานร่วมกัน และต้องข้ามไปทำงานร่วมกันศาสตร์อื่นๆ ถ้าต่างคนต่างทำ ไม่มีทางที่จะสร้างองค์ความรู้ทันโลกที่ผันผวนขนาดนี้ รัฐศาสตร์ต้องออกไปทำงานกับคนนอกศาสตร์ถึงจะสนุก อย่างผมเอง งานวิจัยบางชิ้นก็เรียนรู้จากการไปทำงานร่วมกับคนจากศาสตร์อื่น อย่างเราสนใจเรื่องสื่อดิจิทัลกับการเมือง ถ้าไปทำงานร่วมกับพวก data sciencist หรือนักวารสารศาสตร์ มีการเอาองค์ความรู้จากแต่ละศาสตร์เข้ามาช่วยให้การศึกษาลุ่มลึกขึ้น งานจะออกมาสนุก

อาจารย์มองว่าองค์ความรู้รัฐศาสตร์ยังมีน้ำยาอยู่ แต่เมื่อออกมาจากโลกความรู้ รัฐศาสตร์ทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนในโลกความเป็นจริงทางการเมือง รัฐศาสตร์ยังมีพลังหรือมีน้ำยาในการชี้นำสังคม ออกแบบสถาบันการเมือง หรือออกนโยบายอยู่ไหม 

รัฐศาสตร์จะมีน้ำยา ถ้าเราพยายามทำให้มีน้ำยา อย่างหนึ่งคือแวดวงรัฐศาสตร์ต้องทำงานวิจัยที่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าองค์ความรู้ไม่อัพเดต นักนโยบายก็นำไปกำหนดนโยบายหรือใช้ในการออกแบบสถาบันการเมืองที่ตอบโจทย์ไม่ได้ 

องค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์อาจจะเปลี่ยนไม่เร็วเท่าองค์ความรู้ทางการแพทย์ช่วงนี้ คุณหมอท่านหนึ่งเคยอธิบายไว้ว่า ถ้ามีใครหยิบข้อมูลเรื่องวัคซีนจากเปเปอร์ที่ตีพิมพ์เมื่อ 6 เดือนก่อนก็ถือว่าล้าหลังแล้ว เพราะองค์ความรู้เรื่องวัคซีนผลิตใหม่ทุกเดือน อะไรที่เคยจริงเมื่อ 6 เดือนก่อน ต่อให้ได้รับการรับรอง 6 เดือนต่อมาก็อาจจะไม่จริงแล้ว เพราะมีผลการทดลองใหม่ๆ ที่ล้มล้างผลการทดลองเก่า องค์ความรู้รัฐศาสตร์อาจจะไม่ได้เปลี่ยนเร็ว หมดอายุเร็วขนาดนั้น แต่ก็ต้องอัปเดต ไม่ใช่ว่านำองค์ความรู้เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว หรือนำความรู้ที่ไม่น่าเชื่อถือแล้วนำมาผลิตซ้ำต่อสาธารณชน

ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ความรู้ทางรัฐศาสตร์ถูกนำไปใช้ชี้นำสังคมเยอะทีเดียว แต่ความรู้ถูกเอาไปใช้ชี้นำสังคมในทางที่ผิด ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 มีนักวิชาการของไทยบางคนออกมาอธิบายให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหาร โดยอ้างงานวิจัยที่เสนอว่ารัฐประหารเป็นเรื่องปกติทางการเมืองและทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยได้ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่แทบไม่มีใครในโลกอ้างเลยและขัดแย้งกับความเป็นจริงทางการเมืองทั่วโลก หรืออย่างรัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับปี 40 ปี 50 จนกระทั่งปี 60 นักรัฐศาสตร์ก็มีส่วนร่วมในการร่างระบบเลือกตั้งแสนพิศดารที่กำลังใช้กันอยู่จนได้ระบบพรรคการเมืองที่บิดเบี้ยวออกมา ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะฉะนั้น องค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ถูกเอาไปใช้ก็จริง แต่ใช้ในทางที่ผิด ไปรับใช้อำนาจ ส่งเสริมระบอบอำนาจนิยม นี่แหล่ะคือการเมืองความรู้อย่างแท้จริง ผู้ที่ผลิตหรือเผยแพร่ความรู้ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม 

แล้วในความเป็นจริง องค์ความรู้รัฐศาสตร์ควรต้องรับใช้ใคร

ต้องรับใช้ผลประโยชน์สาธารณะมากกว่าผลประโยชน์ของนักการเมือง กองทัพ หรือผู้มีอำนาจกลุ่มเล็กๆ เราก็เห็นแล้วว่าการเมืองโลกที่ผันผวนทุกวันนี้ เพราะคนสามัญธรรมดาทั่วโลกไม่พอใจอีกต่อไปต่อภาวะที่อำนาจและผลประโยชน์ถูกผูกขาดอยู่ในมือคนจำนวนน้อย ยิ่งเราออกแบบระบบการเมืองที่เอื้อให้อำนาจผูกขาดอยู่ในมือคนจำนวนน้อยและไม่ตอบสนองต่อคนส่วนใหญ่ในสังคม ภาวะเช่นนี้ไม่ได้นำไปสู่อะไรนอกจากความขัดแย้ง ยากที่สังคมจะอยู่อย่างสันติ 

เรามักพูดกันว่ารัฐศาสตร์คือศาสตร์ที่ว่าด้วยอำนาจเสมอ อาจารย์มองว่าองค์ความรู้รัฐศาสตร์ควรสัมพันธ์กับอำนาจอย่างไร

หน้าที่ของรัฐศาสตร์คือต้องทำให้สังคมรู้เท่าทันของการทำงานของอำนาจ รู้เท่าทันว่าความรู้ทุกชนิดที่มีอยู่ในโลกไม่ได้เป็นกลาง ต่างถูกกำกับด้วยอำนาจทั้งนั้น กฎหมาย นโยบายต่างๆ ที่ออกมาย่อมถูกรองรับด้วยฐานคิดบางอย่าง และฐานคิดนั้นย่อมมีอำนาจกำกับอยู่เสมอ นโยบายการแก้ปัญหาโควิดที่ถูกออกแบบออกมาแบบหนึ่งย่อมมีทั้งคนได้คนเสีย พอเปลี่ยนนโยบายไปอีกแบบ คนได้คนเสียก็เปลี่ยน ระบบเลือกตั้งก็เหมือนกัน มันไม่ใช่เรื่องเชิงเทคนิคอย่างเดียวนะ ออกแบบระบบเลือกตั้งมาแบบหนึ่ง ก็มีคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากระบบเลือกตั้งนั้นๆ พอเปลี่ยนไปใช้อีกระบบหนึ่ง ก็เปลี่ยนคนได้ประโยชน์ คนเสียประโยชน์  

ในขณะที่มีความพยายามที่จะทำให้ความรู้ทุกอย่างเป็นกลาง กลายเป็นความรู้เชิงเทคนิคที่ปราศจากอคติ นักรัฐศาสตร์มีหน้าที่ชี้ให้เห็นมิติเชิงอำนาจที่อยู่ในความรู้ การออกแบบนโยบายหรือกฎหมายเพื่อให้สังคมมีอาวุธทางปัญญา รู้เท่าทัน และยังต้องรู้เท่าทันนักรัฐศาสตร์ด้วย เวลาอ่านหรือฟังนักรัฐศาสตร์วิเคราะห์ ความรู้ของนักรัฐศาสตร์แต่ละคนย่อมมีการเมืองหรืออคติกำกับอยู่เสมอ เราก็ต้องรู้เท่าทัน

สำหรับอาจารย์ อะไรคือหัวใจของรัฐศาสตร์ 

แน่นอนว่าคือความคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) 

ถ้าคุณไม่ตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ รัฐศาสตร์แทบจะเป็นความรู้ที่ไม่มีประโยชน์เลย เพราะหัวใจของรัฐศาสตร์คือการศึกษาเรื่องอำนาจ ถ้าเรามองว่าระบบการเมืองที่เป็นอยู่นั้นดีอยู่แล้ว แค่ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจว่าระบบว่าทำงานอย่างไร ถ้าเราหยุดอยู่แค่นั้น นักรัฐศาสตร์ก็เป็นแค่กระบอกเสียงสร้างความชอบธรรมกับระบอบการเมืองเท่านั้นเอง กลายเป็นรัฐศาสตร์บริการ ไม่ต่างจากที่เรามีเนติบริกร ผมมองว่าเป้าหมายการศึกษารัฐศาสตร์ไม่ควรเป็นเช่นนี้ 

ถ้ามองย้อนกลับไปที่จุดมุ่งหมายตั้งต้นของการศึกษารัฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ไม่ควรศึกษาแค่ในเชิงการบรรยายว่า ทำไมสังคมหนึ่งๆ ถึงมีการจัดระเบียบการเมือง มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบหนึ่ง แต่ควรจะมุ่งหาด้วยว่าคุณค่า เป้าหมาย และรูปแบบการปกครองที่ดีว่านี้เป็นไปได้ไหม หรือรูปแบบการปกครองที่ดีในสังคมนั้นคืออะไร แล้วเราพยายามตอบคำถามเหล่านั้นให้ได้ เพราะฉะนั้น ต้องมีความคิดเชิงวิพากษ์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองในประเทศหรือการเมืองที่อื่นในโลก

อำนาจเป็นสิ่งที่น่ากลัวนะถ้าไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ กำกับ หรือควบคุม นักรัฐศาสตร์มีหน้าที่ทำให้คนในสังคมเข้าใจกลไกการทำงานของอำนาจ ยิ่งในโลกปัจจุบัน อำนาจทำงานอย่างแยบยลแนบเนียนมากขึ้น เราก็ยิ่งต้องทำความเข้าใจและมองการทำงานของอำนาจแบบใหม่ให้ทะลุ

[องค์ความรู้รัฐศาสตร์] ต้องรับใช้ผลประโยชน์สาธารณะมากกว่าผลประโยชน์ของนักการเมือง กองทัพ หรือผู้มีอำนาจกลุ่มเล็กๆ เราก็เห็นแล้วว่าการเมืองโลกที่ผันผวนทุกวันนี้ เพราะคนสามัญธรรมดาทั่วโลกไม่พอใจอีกต่อไปต่อภาวะที่อำนาจและผลประโยชน์ถูกผูกขาดอยู่ในมือคนจำนวนน้อยจะทำให้อะไรๆ เป็นไปตามที่เราหวัง

ขยับมาคุยเรื่องโลกการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ในไทยกันบ้าง มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่าคณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครองมักไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ ที่คนมักเลือกเวลาสอบเข้ามหาวิทยาลัย ปรากฏการณ์เช่นนี้สะท้อนอะไร 

จริงๆ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว รัฐศาสตร์ปกครองไม่ใช่คณะหรือสาขาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับแรกๆ ในหมู่สังคมศาสตร์ ช่วงหลังๆ นิติศาสตร์จะมาแรงที่สุด ส่วนรัฐศาสตร์เอง เมื่อเทียบกับสาขาอื่นในสังคมศาสตร์อย่างนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ บัญชี จะพบว่ารัฐศาสตร์มีวิกฤตเชิงอัตลักษณ์อย่างหนึ่งคือ ไม่ได้ผูกโยงกับวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งอย่างชัดเจน 

วิกฤตเชิงอัตลักษณ์ของรัฐศาสตร์เป็นปัญหามากน้อยแค่ไหน

ถ้ามองจากมุมว่าศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งต้องมีวิชาชีพรองรับอย่างชัดเจนก็อาจจะเป็นปัญหา แต่ถ้ามองจากมุมของการผลิตองค์ความรู้ก็ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะรัฐศาสตร์ก็ผลิตความรู้ที่อาศัยความเฉพาะออกมาจำนวนหนึ่ง

ถ้าเทียบกับในต่างประเทศ วิกฤตเชิงอัตลักษณ์อาจจะเป็นปัญหาน้อยกว่า เพราะรัฐศาสตร์ไม่ได้ถูกเข้าใจว่าเป็นวิชาชีพ มีความยืดหยุ่นมากกว่านั้น ทำอะไรได้หลากหลาย มีอาชีพหลากหลายที่รองรับคนที่มีองค์ความรู้แบบรัฐศาสตร์ จะไปเป็นสื่อก็ได้ ทำนิตยสารก็ได้ จะไปเป็นนักวิเคราะห์ นักวิจัยตามสถาบันวิจัยหรือ think tank ก็ได้ มีหลายแห่งมาก หรืองานในภาคประชาสังคม เอ็นจีโอก็ต้องการคนที่มีความรู้หรือเข้าใจการเมือง 

ที่ผ่านมา รัฐศาสตร์ไทยถูกผูกโยงเข้ากับความเป็นราชการมาตลอด นี่คือมรดกของรัฐศาสตร์ไทยที่จุดเริ่มต้นมาจากการเป็นคณะที่ผลิตข้าราชการเข้ากระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงการต่างประเทศหรือกระทรวงมหาดไทยในยุคที่ไทยกำลังพัฒนาก่อร่างสร้างรัฐสมัยใหม่ สังคมจึงยังมีภาพจำมาจนถึงปัจจุบันว่า เรียนรัฐศาสตร์เพื่อเข้าระบบราชการไปเป็นเจ้าคนนายคน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลยด้วยซ้ำ 

ในโลกปัจจุบัน ข้าราชการไม่ควรถูกมองว่าเป็นเส้นทางไปสู่การเป็นเจ้าคนนายคนอีกต่อไปแล้ว ที่จริงแล้วงานราชการคืองานบริการสาธารณะ และเป็นเพียงแค่หนึ่งในอาชีพที่คนรัฐศาสตร์ทำได้เท่านั้นเอง คนรัฐศาสตร์ทำอะไรอีกได้มากมาย ไปทำภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือทำสื่อมวลชนอย่างที่เล่าไปก็ได้ ระยะหลังๆ ในไทยเอง พื้นที่ในโลกการทำงานก็เปิดให้คนรัฐศาสตร์มากขึ้น มีอาชีพหลากหลายรองรับมากขึ้น ไม่ได้ไม่ได้คับแคบเท่าสมัยก่อน คนรัฐศาสตร์รุ่นหลังๆ เองก็มองเห็นที่ทางกว้างไกลขึ้น

ในสายตาของคนนอกแวดวงรัฐศาสตร์ หรือคนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยามักมองไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่ารัฐศาสตร์เรียนอะไร หรือเรียนอย่างไรกันแน่ จริงๆ แล้วอะไรคือสิ่งที่ผู้เรียนคาดหวังได้จากการเรียนรัฐศาสตร์ปกครอง

โดยธรรมชาติ รัฐศาสตร์ไม่ได้มีความเฉพาะทางในวิชาชีพ จุดเด่นของการเรียนรัฐศาสตร์คือการพัฒนาทักษะ critical thinking และช่วยเปิดโลกให้นักเรียนรัฐศาสตร์มีความรู้ที่หลากหลาย เมื่อก่อนตรงจุดนี้อาจจะเป็นจุดอ่อน อาจจะโดนมองว่าเป็นเป็ด เป็น generalist รู้รอบ รู้ไปหมด รู้ประวัติศาสตร์ ปรัชญา กฎหมาย สังคมวิทยา แต่แค่รู้ผิวๆ ไม่ลึกมาก แต่ในปัจจุบันความเป็ดกลายเป็นจุดแข็ง โลกศตวรรษที่ 21 กำลังต้องการคนที่รู้หลากหลายมากกว่าคนที่รู้เฉพาะทาง เพราะคนที่มีทักษะแบบ generalist มีฟังก์ชันในการเป็นสะพานประสานผู้คนที่หลากหลายให้มาทำงานร่วมกันได้

ถ้าเป็นอย่างนั้น การเรียนรัฐศาสตร์ปกครองในไทยควรปรับตัวอย่างไรเพื่อให้ตอบโจทย์แห่งยุคสมัยและก้าวทันโลกที่เปลี่ยนไป

อย่างหนึ่งที่รัฐศาสตร์ไทยอาจต้องปรับตัวคือ สลายการแยกสาขาอย่างชัดเจน ผมไม่เห็นด้วยว่าจำเป็นต้องแยกสาขาในระดับปริญญาตรีว่า 4 ปีต้องเรียนแต่ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปกครอง หรือบริหารรัฐกิจเท่านั้น 4 ปีเป็นเวลามากพอที่จะสามารถเรียนรู้ทั้งหมดได้ หรือก็ไม่ได้มีวิชาในระดับที่ลงลึกเฉพาะทางมากที่จะบอกได้ว่านักเรียนที่จบออกไปคือนักรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือนักรัฐศาสตร์ปกครอง ค่อยไปลงลึกในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกหากจะเรียนต่อ 

การเลือกเรียนวิชาต่างๆ ก็ควรจะหยืดหยุ่นมากกว่านี้ อาจจะถึงระดับที่สลายการเลือกวิชาเอก-โท เลยก็ได้ เพียงแค่เหลือวิชาหลักสำคัญๆ ของรัฐศาสตร์ที่เป็นแกนไว้ก็ได้ แล้วมีส่วนที่นักเรียนเลือกได้ตามอิสระ

ในปัจจุบัน ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้นด้วย อย่างที่หลายๆ คนชอบพูดถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ life-long learning เพราะความรู้ล้าสมัยเร็ว เราเห็นหลักสูตรย่อยระยะเวลา 3-6 เดือนจบเกิดขึ้นมากมาย และได้รับความสนใจมากกว่ามาก เพราะตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนไว ไม่เหมือนมหาวิทยาลัยที่แข็งตัว ใช้เวลาเรียนจบ 4 ปี แต่ไม่เท่าทันโลกหรือไม่หลากหลายพอ เพราะฉะนั้น ผมมองว่ามหาวิทยาลัยก็ต้องปรับตัว สลายความแข็งตัวของความรู้ เปิดให้นักศึกษาออกแบบผสมผสานความรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของเขาเอง  

รัฐศาสตร์ไม่ควรศึกษาแค่ในเชิงการบรรยายว่า ทำไมสังคมหนึ่งๆ ถึงมีการจัดระเบียบการเมือง มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบหนึ่ง แต่ควรจะมุ่งหาด้วยว่าคุณค่า เป้าหมาย และรูปแบบการปกครองที่ดีว่านี้เป็นไปได้ไหม หรือรูปแบบการปกครองที่ดีในสังคมนั้นคืออะไร แล้วเราพยายามตอบคำถามเหล่านั้นให้ได้

เรากำลังอยู่ในยุคที่คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมืองและกระหายความรู้ทางการเมืองมากที่สุดยุคหนึ่ง ปรากฏการณ์เช่นนี้ส่งผลต่อความนิยมในการเลือกเรียนรัฐศาสตร์ไหม เป็นโอกาสหรือก่อให้เกิดปัญหาในการเรียนการสอนมากกว่ากัน

ในแง่จำนวนเปลี่ยนไม่มาก หมายความว่าคนมาสมัครเรียนรัฐศาสตร์ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ที่เปลี่ยนคือนักศึกษาที่เข้ามาตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสถาณการณ์ทางการเมืองมากขึ้น ติดตามข่าวสถานการณ์มากขึ้น ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงจากยุคที่เริ่มสอนใหม่ๆ ที่ถ้าหากการเมืองนิ่ง เด็กรัฐศาสตร์ก็จะไม่สนใจการเมือง ก็ต้องบังคับให้ติดตามข่าว 

ปรากกฏการณ์แบบนี้ผมมองว่าเป็นความท้าทายนะ คนสอนต้องทำการบ้านเยอะขึ้น (หัวเราะ) แต่ว่าผมมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะว่าทำให้คลาสเรียนสนุกขึ้น ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันสนุกขึ้น ลึกขึ้น 

การอภิปรายแลกเปลี่ยนเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของห้องเรียนรัฐศาสตร์ ในขณะเดียวกันโลกทุกวันนี้มีพื้นที่ใหม่ๆ ที่เปิดให้การถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องการเมืองเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันตลอดเวลา อย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ทำให้การเรียนรู้อยู่นอกห้องเรียน แต่ก็ตามมาด้วยข้อวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่าการถกเถียงผ่านแพลตฟอร์มไม่ได้นำไปสู่การอภิปรายที่มีคุณภาพเท่าไหร่นัก อาจารย์มองอย่างไร

ผมมองว่าเป็นโอกาสนะ ไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหาอะไร เพราะจริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทวิต รีพลายเถียงกันในเทรด ลงชื่อในแคมเปญออนไลน์ หรือไปลงถนนชุมนุม ทั้งหมดเป็นการสร้างประสบการณ์หรือการเรียนรู้ทางการเมือง (political learning) ทั้งนั้น และยิ่งทำให้การเรียนรัฐศาสตร์มีความหมายมาก เพราะรัฐศาสตร์ไม่ได้แยกออกจากชีวิตจริงหรือชีวิตประจำวัน ผมเชื่อว่านักเรียนรัฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยเลยที่เคยมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อาจจะไม่เคยออกไปชุมนุมก็ได้ แต่อย่างน้อยๆ น่าจะเคยไปถกเถียงแลกเปลี่ยนในเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ซึ่งก็กลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองแล้วเหมือนกัน  

ตอนนี้เลยกลายเป็นว่าการเรียนรู้ทางการเมืองไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนอีกต่อไป คลาสเรียนต้องมีฟังก์ชันที่เปลี่ยนไปเพื่อช่วยให้เกิดการเรียนรู้ทางการเมืองได้ ห้องเรียนจะกลายเป็นเพียงแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้นที่จะช่วยให้นักเรียนรัฐศาสตร์มีประสบการณ์การเรียนรู้ทางการเมืองที่หลากหลายขึ้น เพราะฉะนั้นบทบาทหน้าที่ของอาจารย์ก็ควรเปลี่ยนไปเพื่อให้เอื้อกับตรงนี้ด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่าการศึกษารัฐศาสตร์แยกไม่ขาดจากการเมืองและสังคม แต่นักเรียนรัฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ หรือผู้ใช้องค์ความรู้แบบรัฐศาสตร์ในชีวิตจริงมีพันธะหรือจำเป็นต้องใช้ความรู้ในการขับเคลื่อนสังคมมากน้อยแค่ไหน

จริงๆ เราไม่ควรคาดหวังกับนักเรียนหรือนักรัฐศาสตร์มากกว่าสาขาอื่นๆ เพราะไม่ว่าจะเรียนสายไหน จะเรียนวิศวกรรม เรียนแพทย์ เรียนวิทยาศาสตร์ หรือเรียนบัญชี ทุกคนคือพลเมือง เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเหมือนกันหมด หากต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้นก็ขับเคลื่อนได้ตามกำลัง     

แน่นอนว่านักเรียนรัฐศาสตร์หรือผู้ใช้องค์ความรู้รัฐศาสตร์ผ่านการเรียนเรื่องการเมืองมาโดยตรง เลี่ยงไม่ได้ว่าจะต้องเผชิญต่อความคาดหวังว่าจะเข้าใจการเมืองในระดับที่ลุ่มลึก แต่ว่าสิ่งที่เรียนในห้องเรียนก็ยังถือว่าเป็นความรู้เชิงทฤษฎีที่ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติเสมอไป ไม่มีอะไรการันตีว่าการมีความรู้เรื่องการเมืองจะนำไปสู่การลงมือปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนสังคมมากกว่าคนอื่นๆ พอรู้มากขึ้น เข้าใจโลกทางการเมืองมากขึ้นแล้วจะลงมือหรือไม่ลงมือ จะลงมือมากน้อยแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วก็ขึ้นอยู่กับปัจเจกว่าอยากลงมือแบบไหน หากเลือกที่จะลงมือ การขับเคลื่อนสังคมก็ทำได้หลายรูปแบบ ทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นแอกติวิสต์ จะเป็นสื่อ เป็นผู้ประกอบการ หรือประกอบอาชีพอะไรก็ตาม ก็มีหนทางในการขับเคลื่อนสังคมในแบบของตนเองหากต้องการ หรือเพียงแค่มีส่วนในการถกเถียงดีเบตผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมได้เหมือนกัน 

ว่ากันว่าการเรียนสังคมศาสตร์หรือศิลปศาสตร์ (liberal studies) กำลังอยู่ในยุคที่ค่อยๆ โรยรา ซึ่งรัฐศาสตร์การปกครองก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น อาจารย์เห็นด้วยไหม มองปรากฏการณ์เช่นนี้อย่างไร

ส่วนตัวมองว่าในไทยไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ที่ต่างประเทศได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ ในสหรัฐฯ สมัยทรัมป์เอง ทุนวิจัยด้านสังคมศาสตร์ก็ลดลง ศาสตร์หรือองค์ความรู้ใดถูกมองว่าทำเงินไม่ได้ ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน จบไปตลาดแรงงานไม่รองรับก็ถูกยุบหรือลดความสำคัญลง

นอกจากนั้น ผมคิดว่าผู้ที่อยู่ในอำนาจอาจจะไม่ค่อยชอบสังคมศาสตร์เท่าไหร่ด้วย เพราะสังคมศาสตร์มักผลิตความรู้ที่ critical วิพากษ์วิจารณ์อำนาจ อย่างเพศสภาวะศึกษา (gender studies) ที่วิพากษ์ระบบปิตาธิปไตย ชายเป็นใหญ่ หรือแอฟริกันศึกษา (African studies) ที่วิพากษ์ White Supremacy และความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติ

แต่ในกรณีไทย ผมตั้งข้อสังเกตว่ายังมีส่วนหนึ่งในสังคมที่มองรัฐศาสตร์ว่าเป็นสาขาวิชาที่ผลิตคนเข้าระบบราชการ เราเลยยังเห็นทิศทางที่สวนทางว่าคณะรัฐศาสตร์เพิ่มโควตาจำนวนนักเรียนที่จะเข้าเรียนได้เพิ่มขึ้น อย่าลืมว่าระบบราชการไทยเติบโตมาตลอดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา รัฐไทยกลายเป็นระบบราชการรวมศูนย์อีกครั้ง ราชการยังคงเป็นอาชีพที่มั่นคง สวัสดิการดี มีการขยับขยายตำแหน่ง คนส่วนหนึ่งจึงสนใจเข้ามาเรียนรัฐศาสตร์ด้วยความเชื่อที่ว่าจะช่วยให้สอบราชการได้ แต่ก็ไม่เสมอไปทีเดียว

ในโลกที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง อะไรคือคุณสมบัติและทักษะที่นักเรียนรัฐศาสตร์ควรมี

แน่นอนว่าต้องมีความคิดเชิงวิพากษ์ และความสามารถในการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ต่อสังคมอย่างที่เราคุยกันไปแล้ว

ที่ผมมองว่าสำคัญไม่แพ้กันคือ ต้องไม่จำกัดตัวเองไว้กับความรู้สายรัฐศาสตร์อย่างเดียว ต้องรู้กว้าง และที่สำคัญคือต้องมีทักษะเชื่อมโยงความรู้อันหลากหลายเหล่านี้ให้ได้ อาจารย์ทำหน้าที่เพียงแค่ชี้เป้าว่าความรู้อยู่ที่ไหนบ้าง จะไปหาความรู้ที่อยู่ตรงนั้นได้อย่างไร และแต่ละศาสตร์มีเค้าโครงความเชื่อมโยงอย่างไร

การแยกความรู้หรือศาสตร์ต่างๆ ออกจากกันเป็นเอกเทศน์เป็นผลผลิตจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่โลกยุคศตวรรษที่ 21 ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมดแล้ว นักรัฐศาสตร์ที่ไม่มีความรู้เศรษฐศาสตร์เลย หรือไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมาย ผมว่าก็ยากที่จะอธิบายหรือตั้งคำถามกับการเมืองได้ หรือกระทั่งว่าอาจจะต้องรู้เกี่ยวกับศาสนาหรือความเชื่อด้วย นักเรียนรัฐศาสตร์ต้องพยายามพาตัวเองออกไปจากขอบเขตโลกความรู้รัฐศาสตร์ที่อาจไม่กว้างพออีกต่อไป พยายามอ่านให้เยอะ อ่านให้หลากหลาย หรือไปเรียนวิชาแปลกๆ น่าจะช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ได้

เจมส์ ซี. สก็อตต์ (James C. Scott) นักรัฐศาสตร์ที่เลื่องชื่อมาก เขียนงานสำคัญที่มีคุณูปการต่อแวดวงรัฐศาสตร์หลายชิ้น เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ที่เขาสามารถผลิตองค์ความรู้ที่น่าสนใจได้เพราะว่าเขาอ่านงานรัฐศาสตร์แค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนที่เหลือไปอ่านงานนอกสาขา อย่างพวกปรัชญา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา อ่านวรรณกรรม เพื่อให้เข้าใจโลกมากขึ้น แล้วพอหันกลับมาวิเคราะห์โลกการเมือง ก็จะมองได้ดีขึ้น ลุ่มลึกขึ้น

อีกอย่างที่ผมมองว่าสำคัญมากคือทักษะการสื่อสาร ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน ไม่ว่าจบออกไปแล้วจะเป็นนักการเมือง นักการทูต ข้าราชการ หรือทำงานในภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เป็นเอ็นจีโอ หรือเป็นสื่อ ทักษะการสื่อสารที่ดี มีประเด็น มีประสิทธิภาพจะทำให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ง่ายขึ้น หรือถ้าหากมองในบริบทของขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคม ผมมองว่าความสำคัญของทักษะการสื่อสารถูกมองข้ามไป ความท้าทายอยู่ที่ว่าจะสื่อสารความคิดที่ดีและแหลมคมออกไปได้อย่างไร และจะสื่อสารเพื่อโน้มน้าวคนเห็นต่างให้คนเห็นต่างเปลี่ยนมาเห็นด้วยได้อย่างไร พูดอีกอย่างคือ จะสื่อสารเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร 

สำหรับอาจารย์ที่อยู่ในแวดวงรัฐศาสตร์มานาน อะไรคือเสน่ห์ของรัฐศาสตร์ปกครอง

รัฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีขอบเขตเท่าไหร่ เพราะเรานิยามการเมืองแบบกว้างว่า การเมืองอยู่ทุกหนแห่งในชีวิตประจำวัน เพศสภาพ สิ่งแวดล้อม ศาสนา หรือนิยายก็นิยามว่าเป็นการเมืองได้ พอเราเห็นว่าการเมืองอยู่ทุกที่ มันจะทำให้เรียนรัฐศาสตร์ได้สนุกขึ้น เราจะมีสายตาที่มองเห็นอำนาจและการทำงานของอำนาจได้ไวกว่าคนอื่น อย่างเรื่องที่ 2 พส. ออกมาเทศน์ตลกๆ แล้วถูกวิพากษ์ตักเตือน ทำไมหัวเราะแล้วผิด นี่ไม่ใช่เรื่องศาสนานะ แต่เป็นเรื่องการเมือง เรื่องอำนาจ เพราะรัฐพยายามใช้อำนาจเข้ามาควบคุม เพียงแต่ว่านักรัฐศาสตร์ต้องคิดว่าจะใช้ทักษะนี้ไปใช้อย่างไรให้เป็นประโยชน์ และต้องออกไปค้นหาด้วยตัวเอง มันไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้ 

พอรัฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ขอบฟ้ากว้าง นักเรียนรัฐศาสตร์มีอิสระในระดับหนึ่งที่จะเลือกเรียนหลากหลายรอบด้าน อาจารย์แต่ละท่านก็มีแนวคิดหลากหลายต่างกันออกไป การเติบโตในสภาวะแวดล้อมเช่นนี้จะทำให้ไม่ถูกครอบงำด้วยกระแสความคิดใดความคิดหนึ่งอย่างเดียว และเป็นคนที่มีความอดทนต่อความแตกต่างทางความคิดสูงกว่า เพราะต้องอยู่ในสภาวะที่คนหลากหลายความคิดและถกเถียงกันตลอดเวลา นี่อาจเป็นทักษะสำคัญในสังคมที่มีความขัดแย้งสูงอย่างสังคมไทย

What’s in Political Scientist’s bag?

 

ซีรีส์ สารคดีเรื่องไหนที่ควรชม หนังสือหรือสื่อใดที่ควรอ่าน สิ่งของชิ้นไหนที่ต้องมีเพื่อเปิดขอบฟ้าจินตนาการทางการเมืองให้กว้างขวาง 

 

และนี่คือคำแนะนำจาก ประจักษ์ ก้องกีรติ

ของชิ้นที่ 1 

“สารคดี How to Become a Tyrant”

“How to Become a Tyrant เป็นสารคดีที่เล่าเกี่ยวกับกลไกระบบเผด็จการได้กระชับดี และทำให้เห็นเทรนด์ว่าความสนใจเรื่องระบอบอำนาจนิยมกลับมา”

ของชิ้นที่ 2 

“ซีรีส์” 

House of Cards

“มีเยอะมาก แนะนำไม่หมดเลย (หัวเราะ) ลองคิดเร็วๆ เรื่องหนึ่งที่อยากแนะนำคือ House of Cards ซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เราเข้าใจการเมืองอเมริกาและการเมืองโลก มีหลายประเด็นแทรกอยู่ เช่น ผู้นำควบคุมสื่อ โซเชียลมีเดีย เห็นวิธีการพยายามรวบอำนาจเนียนๆ หรือสภาพสังคมแบ่งขั้วที่ขัดแย้งอย่างรุนแรง”

Downton Abby 

“อีกเรื่องหนึ่งที่แนะนำคือ Downton Abby ซีรีส์ประวัติศาสตร์อังกฤษ เกี่ยวกับชีวิตสองด้านของสมาชิกครอบครัวขุนนางและคนรับใช้ในบ้านหลังเดียวกัน เรื่องราวเกิดขึ้นช่วงรอยต่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับครั้งที่สอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความพลิกผันปั่นป่วนอย่างรุนแรงจากความเปลี่ยนแปลงในทุกๆ มิติ การเมือง ชนชั้น สังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยน จนสุดท้ายระบอบฟาสซิสต์กลายเป็นผลผลิตจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ 

“ที่อยากให้ดูเพราะนักคิดหลายคนบอกว่ายุคที่เรากำลังมีชีวิตอยู่มันผันผวนมาก หลายๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายกับรอยต่อระหว่างช่วงสงครามโลก”

ของชิ้นที่ 3 

“เว็บไซต์สื่อออนไลน์” 

“ผมให้นักศึกษาอ่านเว็บไซต์ต่างๆ เช่น BBC Thai, WAY, The Momentum, The MATTER, The Standard, The 101.world, ประชาไท เดี๋ยวนี้ในเว็บมีบทความดีๆ เยอะ ช่วยให้เท่าทันสถานการณ์และเสริมความรู้ได้มาก ไม่ต้องอ่านบทความเชิงวิชาการยาวๆ อย่างเดียว เดี๋ยวนี้นักวิชาการก็หันมาเขียนบทความสไตล์กระชับ 3-4 หน้าแล้ว”

“พวกเว็บไซต์ข่าวของต่างประเทศทั้งหลายก็สำคัญที่ช่วยให้เท่านั้นโลก นี่เป็นพื้นฐานเลย ไม่ว่าคุณจะเรียนสาขาอะไร รู้แค่ในประเทศอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้เรื่องโลก ต้องติดตามข่าวสารในโลกตลอดเวลา”

ของชิ้นที่ 4 

“วารสารวิชาการ” 

“วารสารวิชาการที่แนะนำให้ติดตามคือ World Politics หรือ Perspective on Politics ฯลฯ พวกนี้เป็นวารสารวิชาการชั้นนำที่ตีพิมพ์บทความที่นำเสนอความรู้ frontier ช่วยให้เห็นเทรนด์ใหม่ๆ ว่าในวงแวดรัฐศาสตร์โลกกำลังสนใจหรือถกเถียงเรื่องอะไรกันอยู่ แค่เปิดอ่านไวๆ ก็จะพอเห็นภาพใหญ่แล้ว”

ของชิ้นที่ 5 

“หนังสือ” 

The Handmaid’s Tales

“ผมแนะนำให้อ่าน The Handmaid’s Tales มีทั้งเวอร์ชั่นนิยายและซีรีส์ นิยายมีแปลไทยแล้วในชื่อเรื่องเล่าของสาวรับใช้ เรื่องราวดำเนินในโลกดิสโทเปียที่สังคมอเมริกากลายเป็นสังคมชายเป็นใหญ่เต็มรูปแบบ ผู้หญิงถูกลดสถานะให้กลายเป็นทาส มีหน้าที่แค่ผลิตประชากรเท่านั้น 

“ประเด็นเรื่อง gender เป็นมิติสำคัญที่นักเรียนรัฐศาสตร์ควรเข้าใจ แต่แทนที่จะอ่านตำราวิชาการ อ่านนิยายหรือดูซีรีส์เรื่องนี้ก็จะเข้าใจการเมืองเรื่องเพศได้ง่ายขึ้น เห็นภาพชัดเจนขึ้น” 

How Democracies Die

“ผมก็ยังมองว่า How Democracies Die ที่เราคุยกันไปเป็นหนังสือสำคัญของยุคสมัย เล่มนี้เขียนโดย แดเนียล ซิบลัตต์ (Daniel Ziblatt) และสตีเวน เลวิตสกี (Steven Levitsky) นักรัฐศาสตร์ชั้นนำ แต่เล่มนี้เขียนภาษาอ่านไม่ยาก เป็นความรู้สำหรับคนทั่วไปนอกแวดวงรัฐศาสตร์ด้วย 

How Democracies Die ช่วยให้เข้าใจเทรนด์การเมืองร่วมสมัยอย่างแจ่มชัด ทั้งประชานิยม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การแบ่งแยกแตกขั้วในสังคม นักการเมืองและพรรคการเมืองที่เปลี่ยนไปเพราะโซเชียลมีเดีย ความแนบเนียนของเผด็จการอำนาจนิยมที่นับวันยิ่งจะแนบเนียบขึ้น เพราะกุมอำนาจผ่านการควบคุมการเลือกตั้ง สถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้ตอบสนองผลประโยชน์ของตนเอง ไม่ใช่ยึดอำนาจด้วยปลายกระบอกปืนแบบดิบๆ เถื่อนๆ เหมือนสมัยก่อน

“หนังสือยกตัวอย่างไว้ดี มีทั้งประวัติศาสตร์และหลากหลายกรณีเปรียบเทียบ” 

ของชิ้นที่ 6 

“แผนที่โลก” 

ผมสอนการเมืองเปรียบเทียบ แผนที่โลกน่าจะช่วยให้เรียนการเมืองสนุกขึ้นนะ เพราะภูมิศาสตร์สำคัญต่อการเมืองเสมอ 

อย่างถ้าจะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ Arab Spring ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าตูนีเซีย ลิเบีย อียิปต์ ซีเรียอยู่ตรงไหนในโลก หรือทำไมประเทศเหล่านี้ถึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สารพัดมหาอำนาจต้องให้ความสำคัญ อย่างซีเรีย ทั้งอเมริกา ทั้งจีน ทั้งรัสเซียถึงขั้นต้องเข้าไปทำสงครามตัวแทน พอดูแผนที่จะร้องอ๋อเลย สาเหตุอยู่ที่แผนที่ เพราะซีเรียเป็นจุดเชื่อมระหว่างแอฟริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป 

หรือทำไมผู้อพยพจากซีเรียก่อให้เกิดวิกฤตการเมืองในยุโรป และก่อให้เกิดปรากฏการณ์พรรคประชานิยมฝ่ายขวาตามมา ก็เพราะว่าถ้าจะหนีตายจากซีเรีย ผู้อพยพจะไปที่ไหนล่ะ ถ้าไม่ไปอิรักหรืออัฟกานิสถาน แน่นอนว่าอีกฟากที่ใกล้ที่สุดคือยุโรป พอผู้อพยพหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก ก็ความไม่พอใจก็กลายเป็นกระแสต่อต้านผู้อพยพ”

เรื่อง: ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

กองบรรณาธิการ The 101.World - อดีตนักเรียนการเมือง เติบโตมาในโลกของความคิด แต่อยากออกมาวิ่งเล่นในโลกจริงบ้าง หลงใหลในโลกความรู้ สนใจการเมืองโลก สังคม และประวัติศาสตร์ เชื่อว่าความรู้เป็นเรื่องของทุกคน และฝันอยากผลิตความรู้ออกมาบ้างในอนาคต

ภาพ: กมลชนก คัชมาตย์

จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รักแมว ภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด สนใจการนำประเด็นทางสังคมมาทำเป็นสื่อสร้างสรรค์ชนิดใหม่ๆ

ภาพ: คีรีเมขล์ บุญรมย์

ภาพ: กอบบุญ บูรโชควิวัฒน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save