fbpx

ให้เท่ากันไม่ได้หมายถึงเท่าเทียม: อ่านสูตรจัดสรรงบประมาณการศึกษาไทย ออกแบบนโยบายใหม่โดยไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง

หากย้อนดูกระบวนการเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินของไทยที่ผ่านมา หนึ่งในส่วนที่ได้รับงบประมาณเยอะที่สุดและได้ติดต่อกันมาหลายปีคือ ‘การศึกษา’

ในทางทฤษฎี เรื่องนี้ไม่น่าแปลกอะไร เพราะการลงทุนกับภาคส่วนการศึกษาคือการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ที่สามารถเติบโตไปและสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาได้มหาศาล เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่ถือว่าทรัพยากรมนุษย์คือทรัพยากรที่มีค่าที่สุดและเลือกลงทุนในเรื่องนี้

ทว่าในทางปฏิบัติ แม้งบประมาณจำนวนมากจะทุ่มลงไปที่การศึกษา แต่การศึกษาไทยคล้ายจะติดหล่มเดิมมาเป็นเวลาหลายปี ซ้ำร้าย การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมากลับยิ่งเปิดแผลความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและตอกย้ำให้ผลกระทบนี้เลวร้ายมากขึ้นไปอีก

พูดให้ถึงที่สุด เมื่อตาข่ายทางสังคมไม่อาจครอบคลุมเด็กทุกคนได้แม้แต่ก่อนมีโรคระบาด ทำให้เด็กจำนวนมากต้องหลุดร่วงออกจากระบบการศึกษา ก่อให้เกิดการสูญเสียต้นทุนมนุษย์จำนวนมหาศาล ยิ่งเมื่อปัญหานี้เกิดขึ้นในยุคที่เด็กเกิดน้อยลงและมีผู้สูงอายุมากขึ้นในทุกๆ วัน การที่เด็กร่วงหล่นออกจากระบบการศึกษาจึงไม่ได้มีมิติแค่ในเชิงการศึกษา แต่ยังหมายรวมถึงมิติทางเศรษฐกิจและมิติแรงงานควบคู่ไปด้วย

101 เปิดพื้นที่ถกเถียงและแลกเปลี่ยนกับผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาร่วมถกเถียงประเด็นท้าทายในการศึกษาไทย ทั้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ, ผศ.ดร. ธร ปีติดล ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CRISP), สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank

เพราะเหตุใดการศึกษาที่ได้รับจัดสรรงบเยอะที่สุดจึงยังติดหล่มความเหลื่อมล้ำอยู่ที่เดิม อะไรคือความท้าทายสำคัญที่ต้องการศึกษาไทยต้องเผชิญ และเราควรจะมีสูตรในการจัดสรรงบประมาณอย่างไรที่จะทำให้การศึกษาหลุดพ้นจากกับดักความเหลื่อมล้ำและเป็นการจัดทรัพยากรการศึกษาเพื่อ ‘ทุกคน’ อย่างแท้จริง

ชวนหาคำตอบได้ในบรรทัดถัดจากนี้

หมายเหตุ: เรียบเรียงเนื้อหาจาก 101 Policy Forum #19 ทรัพยากรการศึกษาเพื่อทุกคน: จากข้อมูล ถึงงบประมาณ สู่นโยบาย เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566

YouTube video

งบประมาณและการจัดสรร โจทย์ใหญ่ที่ผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษาต้องเผชิญ

หลังจากที่คุณเข้ารับตำแหน่งในกระทรวงศึกษาธิการมาแล้วประมาณ 2 เดือน เห็นคำถามหรือโจทย์ท้าทายอะไรในระบบการศึกษาบ้าง

สิริพงศ์: คำถามที่ทุกคนถามกันเยอะมากคือ กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับงบมากที่สุด งบเหล่านี้นำไปใช้กับอะไรบ้าง ต้องอธิบายแบบนี้ว่า งบของกระทรวงฯ ในแต่ละปีจะได้ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท โดย 60% เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการศึกษาโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ งบอีกประมาณ 25% เป็นเงินอุดหนุนหรืองบอุดหนุนรายหัว ส่วนงบลงทุนคิดเป็น 5% ใช้ไปกับการสร้างห้องทดลอง ซ่อมตึก และอีก 10% เป็นงบดำเนินงานที่มีไว้เสริมทักษะให้ครูหรือจัดกิจกรรมต่างๆ

ส่วนประเด็นที่คนวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก เช่น ปัญหาเด็กจบมาไม่มีงานทำ หรือหลักสูตรแกนกลางล้าสมัยไปไหม ต้องบอกว่ากระทรวงฯ ค่อนข้างทำการบ้านหนักในเรื่องนี้ เช่น เรื่องคนจบมาไม่มีงานทำ จริงๆ เรามีหลักสูตรทวิภาคี คือเรียน 2 ปี ทำงาน 2 ปี ระหว่างเรียนก็มีเงินเดือนให้ จบมามีงานทำแน่นอน แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นที่รับรู้ในวงที่แคบมากๆ

ส่วนเรื่องการจัดการเรียนการสอนที่มีคนวิจารณ์ว่าหลักสูตรแกนกลางล้าสมัย จริงๆ วิชาบังคับ 8 วิชาที่เรามีก็ปรับมาจากหลักสูตรทั่วโลก แต่การบริหารภายในเป็นอำนาจของสถานศึกษา เพราะฉะนั้น จุดนี้สะท้อนว่าความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนหรือแต่ละภาคส่วนไม่เหมือนกัน แนวทางของเราจึงเป็นการลดภาระผู้เรียน ผู้สอน ไปจนถึงผู้ปกครอง เพื่อจะนำมาซึ่งความสุขในการเรียนการสอนและผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีมิติของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งในการแก้ไขต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ ด้วย รวมถึงมิติความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลที่คนในเมืองใหญ่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลได้ดีกว่า ดังนั้น ตอนนี้เราจึงมองไปที่นโยบายย่อโลกให้แคบลง และเน้นนำข้อมูลมาอยู่บนออนไลน์ให้มากขึ้น

จากที่พูดมาทั้งหมด คิดว่าอะไรเป็นโจทย์สำคัญลำดับแรกที่ต้องรีบแก้ไขก่อน

สิริพงศ์: ก่อนหน้านี้เรามีการทำโพลให้บุคลากรการศึกษาทั่วประเทศตอบ ประเด็นปัญหาอันดับแรกที่พวกเขาอยากให้แก้ไขคือเรื่องการประเมินวิทยฐานะ ตามมาด้วยเรื่องหนี้สินครู อันดับที่สามคือการลดภาระของผู้เรียน

จากนั้นเรานำผลโพลทั้งหมดมาดูว่าจะแก้ไขปัญหาอะไรได้บ้างภายใต้นโยบายเรียนดีมีความสุข โดยเราเห็นว่าคุณครูต้องเจอปัญหาจากความไม่ชัดเจนในการประเมินวิทยาฐานะมาตลอด ดังนั้น เราจึงมีนโยบายว่าการประเมินวิทยฐานะต้องประเมินจากผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ร่วมไปกับการประเมินเรื่องการเรียนการสอนด้วย

อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวกับการประเมินวิทยฐานะคือ ครูก็มีทั้งส่วนที่เป็นสายสอนและสายสนับสนุน ซึ่งทั้งสองสายนี้มีความเชี่ยวชาญไม่เหมือนกัน เราจึงอาจจะแก้ไขด้วยการเพิ่มเกณฑ์ประเมินของครูให้ตรงกับสายงาน

ส่วนเรื่องภาระงานของครูที่มากเกินไป ต่อไปนี้เราจะให้เขตพื้นที่การศึกษาบรรจุกำลังคนลงไปเพิ่ม หรือถ้าไม่มีบุคลากรจริงๆ จะให้เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการก่อน

เรื่องโรงเรียนขนาดเล็กที่เคยมีประเด็นว่าจะยุบหรือไม่ยุบ ต้องบอกว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ต้องทำการหารืออย่างรอบคอบและรอบด้าน เพราะจะกระทบกับหลายภาคส่วน ทั้งเด็กและชุมชน เราจึงมองต่อไปว่าอาจใช้วิธีทำเป็นโรงเรียนต้นแบบเพื่อแบ่งปันทรัพยากรกับโรงเรียนใกล้เคียง ทำเป็นโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องแล้วขยายกลุ่มออกไปในอนาคต เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

ประเด็นที่คนพูดถึงเยอะอีกข้อหนึ่งคือเรื่องแท็บเลต เรารู้ว่าสังคมกำลังจับจ้องและตั้งคำถามกับเรื่องนี้อยู่ว่าการใช้แท็บเลตในเด็กโปร่งใสและตรงไปตรงมาหรือไม่ ผมคิดว่าเราต้องย้อนมาตั้งหลักที่การมีแท็บเลตก่อน ซึ่งเริ่มมาจากการมองประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดจากการเข้าถึงทรัพยากรและข้อมูลที่ไม่เท่ากัน กระทรวงฯ จึงจำเป็นต้องหาพื้นที่ตรงกลาง อาจจะเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมแหล่งข้อมูลความรู้ทั้งหมด ทั้งจากคุณครูและติวเตอร์ต่างๆ เรากำลังมุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ภายในปี 2567 ให้เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา แต่แน่นอนว่าแพลตฟอร์มไม่ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำหมดไป เราจึงนำแท็บเลตมาใช้ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อเป็นเครื่องมือให้เด็กสามารถเข้าสู่เนื้อหาสาระต่างๆ ได้โดยไม่มีความเหลื่อมล้ำ 

นอกจากนี้ เราเห็นปัญหาสำคัญที่ผ่านมาคือ แท็บเลตมีอายุการใช้งานสั้น เมื่อไม่งานไม่ได้แล้วก็กลายเป็นขยะที่โรงเรียนต้องการจัดการ เราจึงออกแนวคิดว่าจะไม่ซื้อแท็บเลต แต่ใช้การเช่าแทน หรืออนาคตอาจมองไปถึงการแจกโน้ตบุ๊กด้วย 

คุณเห็นอะไรจากการจัดสรรงบประมาณแบบนี้ และกระทรวงศึกษาธิการจะมีแนวทางในการจัดสรรงบประมาณต่อไปยังไง

สิริพงศ์: กระทรวงศึกษาธิการมีโครงสร้างไม่ค่อยสมประกอบ คือในเชิงการบริหารองค์กร ถ้าองค์กรจะขับเคลื่อนไปได้ควรจะมีโครงสร้างเป็นทรงพีระมิด ข้างล่างที่ฐานกว้างคือคนทำงาน 80% บนยอดคือผู้บริหาร 20% แต่โครงสร้างของกระทรวงฯ วันนี้เป็นเหมือนทรงถัง คือจำนวนคนทำงานกับผู้บริหารมีพอๆ กัน อาจจะเป็นสัดส่วน 55:45 

แนวทางของกระทรวงฯ ตอนนี้คือการไม่เพิ่มอัตรากำลังคนสายบริหารเมื่อคนเก่าครบวาระแล้ว และนำอัตราดังกล่าวมาทดแทนด้วยครูผู้สอน เรายังปรึกษากับทางสำนักงบประมาณด้วยว่า การอุดหนุนในลักษณะการจ่ายเงินรายหัวโดยใช้ฐานยาวเท่ากันน่าจะไม่ตอบโจทย์ เพราะโรงเรียนใหญ่จะได้เงินอุดหนุนเยอะกว่า ตอนนี้ก็กำลังอยู่ในช่วงออกแบบวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้โรงเรียนเล็กอยู่ได้ด้วย

อ่านสูตรคิดจัดสรรงบประมาณไทย ทำอย่างไรให้เด็กทุกคนได้ ‘เท่าเทียมกัน’

ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ คุณเห็นสอดคล้องกันไหมในเรื่องการจัดสรรงบประมาณ

ณัฐพงษ์: ส่วนตัวผมมองว่า เราควรจะตั้งต้นจากข้อมูลไปที่นโยบาย และมาสู่งบประมาณ โจทย์ของเราในวันนี้คือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ถ้าเราดูรายจ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในไทย ทั้งของภาครัฐ เอกชน ภาคครัวเรือน และ NGOs จะเห็นว่าของไทยไม่ได้ขี้เหร่เลย รายจ่ายเกี่ยวกับการศึกษาของเราคิดเป็น 5-6% ของ GDP เรียกได้ว่าเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ผลสัมฤทธิ์ในตัวชี้วัดต่างๆ เช่น ผลการสอบ PISA ของเรากลับไม่ได้เท่าเทียมประเทศที่มีรายจ่ายต่อ GDP พอๆ กับเรา

ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ผมมองว่าเพราะสัดส่วนของงบประมาณส่วนใหญ่ไปลงกับค่าใช้จ่ายของบุคลากรด้านการศึกษา ส่วนค่าใช้จ่ายรายหัวก็อาจไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้จริง เช่น โรงเรียนห่างไกลได้งบน้อย

กลับมาที่ผมพูดตอนแรก ที่ผมเสนอว่าการจัดสรรงบประมาณคือปลายทาง เพราะทิศทางนโยบายของเราต้องชัดเจนก่อน สำหรับผม การศึกษาเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่ถูกรับรองในรัฐธรรมนูญว่า ประชาชนไทยทุกคนต้องได้รับการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียม เพราะฉะนั้น เราต้องปรับสูตรคิดในการจัดสรรงบประมาณ

คุณมองว่าสูตรคิดในการจัดสรรงบประมาณควรเป็นอย่างไร

ณัฐพงษ์: ในระบบเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันมองว่า การแข่งขันจะช่วยเพิ่มคุณภาพของสินค้าและบริการ แต่ผมว่าการแข่งขันไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง การแข่งขันจะได้ผลต่อเมื่อฝั่งอุปทาน (supply) มีเยอะ เช่น คุณไปเลือกซื้อแชมพูที่มีหลายยี่ห้อ ผู้บริโภคจะได้เปรียบในการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ถูกลง คุณภาพดีขึ้น 

แต่ถ้าอุปทานมีน้อย เช่น โรงเรียน ซึ่งไม่ได้มีทุกหัวมุมถนนแบบร้านสะดวกซื้อ จะทำให้เกิดอุปสงค์ (demand) ที่มากกว่า เพราะทุกคนอยากให้ลูกหลานเรียนโรงเรียนดีๆ แต่คนรวยก็พร้อมจะจ่ายมากกว่า เพราะฉะนั้น ถ้าเราใช้โมเดลการแข่งขันล้วนๆ จะทำให้เด็กที่เกิดในครอบครัวร่ำรวยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดีกว่า และอย่าลืมว่าไม่มีใครเลือกเกิดได้

ถ้าให้ผมออกแบบ เราว่าเราควรแบ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการศึกษาในระดับสูงกว่านั้น อะไรที่จะเน้นความเป็นเลิศก็ใช้โมเดลการแข่งขัน แต่สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เราไม่ได้เน้นความเป็นเลิศ แต่ต้องการเน้นความเท่าเทียมให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่เท่ากัน ดูง่ายๆ อย่างผลการสอบ PISA ต่อให้มีโรงเรียนหนึ่งที่เป็นเลิศมากๆ ก็ไม่ได้ทำให้คะแนนในภาพรวมดีขึ้น เมื่อเรามองแบบนี้ ก็จะสะท้อนต่อไปถึงระดับนโยบายและการจัดสรรงบประมาณด้วย

ถ้าเป็นเช่นนี้ เราจะจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาให้เกิดความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้นได้อย่างไร เราแก้ไขปัญหาอะไรได้บ้างในตอนนี้

ณัฐพงษ์: ถ้าเป็นในระยะกลางหรือสั้นที่แก้ได้เร็วที่สุด นอกจากการจัดสรรงบประมาณที่เป็นการอุดหนุนรายหัว เช่น ค่าเดินทาง อาหารฟรี รถรับส่ง ผมว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินนโยบายได้เลย หรืออย่างเรียกแท็บเลตที่ว่าจะเช่า ผมเห็นด้วยนะครับ แต่ในขณะเดียวกันก็มองว่าแท็บเลตยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง เพราะเราต้องคิดถึงต้นทางก่อนซึ่งก็คือโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของเด็ก

นอกจากแท็บเลต ยังมีเรื่องหลักสูตรออนไลน์ที่อาจไม่ต้องเรียนในโรงเรียนอย่างเดียว คำถามคือเรามีแพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning platform) แล้วหรือยัง ถ้าเราคิดถึงเรื่องนี้และอยากต่อยอดจากการแจกแท็บเลต หลักสูตรการศึกษาออนไลน์ก็อาจไม่จำเป็นต้องมาแต่จากกระทรวงฯ แต่นำคนที่เชี่ยวชาญนอกห้องเรียนมาสอนได้ด้วย

กระบวนการจัดทำงบประมาณมีอุปสรรคอะไรอีกไหม เช่น งบคงตัวที่ต้องจ่ายทุกปี หรือระบบที่อาจไม่ได้เอื้อให้เราผันงบไปสู่เรื่องการศึกษาได้ดีขนาดนั้น

ณัฐพงษ์: ผมว่านี่เป็นปัญหาที่กระบวนการจัดสรรงบประมาณของไทยในทุกสมัยและเป็นทุกด้าน คือเป็นระบบงบประมาณแข็งตัว จริงๆ เราพยายามเสนอให้มีการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ ตรงนี้ไม่ใช่การรื้องบทั้งหมดและจัดใหม่ แต่อะไรที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าใช้จ่ายบุคลากรหรือการชดใช้หนี้ ต่างเป็นสิ่งที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย แต่สิ่งที่เราสามารถจัดสรรได้ เช่น งบลงทุน งบดำเนินงานโครงการต่างๆ ผมคิดว่าเราใช้งบประมาณฐานศูนย์ได้ นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะเห็น

แต่ปัจจุบันที่ยังใช้กระบวนการแบบเดิม ผมคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลพอจะทำได้คือการทำโครงการต่างๆ เป็นโครงการเล็กน้อยแต่ยังปรับโครงสร้างใหญ่ไม่ได้ ก็เป็นความท้าทายในอีกรูปแบบหนึ่งว่าเราจะปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณอย่างไร

จากภาพรวมนโยบายและการจัดสรรงบประมาณ สู่ทางออกแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย

หลังจากที่ฟังแนวคิดในเชิงนโยบายและการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาแล้ว คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ธร: ผมเชื่อว่ากระทรวงศึกษาธิการทราบและทำการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาไทยมานานแล้ว แต่ประเด็นคือเรายังแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เสียที โจทย์จึงอยู่ที่ว่า ทำไมเรายังแก้ปัญหาไม่ได้ จึงเป็นโจทย์สำคัญไม่แพ้เรื่องการจัดสรรงบประมาณเลยทีเดียว

ในประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ถ้ามองจากมุมของการจัดสรรทรัพยากรจะเห็นว่า ไทยไม่ได้ลงทรัพยากรกับเรื่องนี้น้อย แต่ผลที่เกิดกลับน้อย นำมาซึ่งคำถามต่อว่าทรัพยากรที่ลงไปไปกองอยู่ตรงไหน เมื่อพิจารณาดูแล้วเราจะเห็นว่า งบในส่วนของบุคลากรและงบอุดหนุนรายหัวคือส่วนที่ใช้งบประมาณเยอะ ทั้งที่จริงๆ ทรัพยากรควรลงไปที่โรงเรียนอันจะนำมาสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เราจะเห็นว่า สูตรการจัดสรรทรัพยากรของไทยไม่ใช่สูตรที่ช่วยคนเสียเปรียบ แต่เป็นแบบให้ทุกคนเท่ากันทำให้มีโรงเรียนเสียเปรียบ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่ต้องใช้งบประมาณต่อหัวนักเรียนมากกว่าโรงเรียนขนาดกลางถึง 50% แต่สูตรการจัดงบประมาณของเราในปัจจุบันเป็นแบบให้ต่อหัวเท่ากัน ซึ่งแก้ปัญหานี้ไม่ได้ เราจึงเห็นเลยว่าโรงเรียนขนาดเล็กมีคุณภาพการศึกษาที่ต่ำกว่า

เมื่อขยับไปดูต่อว่า นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กคือกลุ่มไหน ส่วนมากโรงเรียนแบบนี้จะตอบโจทย์เด็กที่มีฐานะยากจน ซึ่งจริงๆ การศึกษาเป็นกลไกที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลงได้ แต่เมื่อมองที่ครอบครัวเด็กยากจนจะเห็นว่า เขามีปัญหาในการเรียนให้จบการศึกษาระดับมัธยม และเข้าไม่ถึงมหาวิทยาลัย เพราะครอบครัวยากจนมีรายจ่ายอื่นที่ไปบดบังด้านการศึกษา แม้พวกเขาไม่ได้ละเลยค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาแต่ไม่มีรายได้พอ ทำให้พอถึงระดับมัธยม เด็กจึงเลือกจะทำงานเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เราจึงควรมองไปที่การอุดหนุนถึงครอบครัวเด็ก ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึง

เพราะฉะนั้น ผมมองว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดและเป็นปัญหารากฐานของการศึกษาไทยตอนนี้คือเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การจะแก้ปัญหาต้องใช้สูตรที่เติมเต็มให้คนที่เสียเปรียบ มากกว่าสูตรที่จัดให้ทุกคนเท่ากัน

ฉัตร: เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการตกหล่นจากระบบเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึง เพราะการศึกษาควรเป็นเครื่องมือยกระดับชนชั้นและสร้างความเท่าเทียม แต่ทุกวันนี้ผมไม่แน่ใจว่าการศึกษาทำหน้าที่นั้นได้ดีไหม 

ถ้าเราลองดูงานวิจัยต่างๆ จะเห็นว่า การลงทุนกับคนต้องรีบลงทุนให้เร็วเพื่อจะได้ผลตอบแทนสูง แต่ภาพเหล่านี้ยังไม่ค่อยเกิดขึ้นในไทย ไม่ถึง 1% ของ GDP ด้วยซ้ำ ทำให้มีปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบเรื่อยๆ ส่วนเงินก้อนใหญ่ที่ลงไปที่ระดับอุดมศึกษาก็สะท้อนว่าเราจัดสรรเงินไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะจริงๆ เราควรจะเร่งลงทุนในเด็กเล็ก รวมถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เป็นแหล่งพึ่งพิงของคนมีรายได้น้อยที่ต้องทำงานด้วย

ถ้าลองไปดูเด็กที่ต้องออกจากระบบตอนมัธยมศึกษา เราจะเห็นว่ามีเด็กจำนวนมากที่พอเรียนจบ ม.3 ก็ไม่รู้จะเรียนไปทำอะไรต่อ อาจจะช่วยงานที่บ้าน หรือรับกิจการต่อซึ่งการมีประสบการณ์อาจสำคัญกว่าการเรียน เลยทำให้เกิดการหลุดออกจากระบบเพราะการศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์เขาแล้ว 

นอกจากนี้ เมื่อมองงานที่ปลายทางจึงเกิดคำถามว่า พอจบออกมาแล้วเด็กได้ทำงานที่มีความหมายเพียงพอไหม ยังไม่นับเรื่องเทคโนโลยีหรือ AI ที่อาจเข้ามาทดแทนการทำงานบางส่วน โดยเฉพาะงาน routine ซึ่งเป็นแนวแบบที่การศึกษาไทยให้เรียนเลย เพราะเป็นการเรียนที่เน้นท่องจำ ทำให้เด็กไม่แน่ใจว่าเรียนไปแล้วจะคุ้มค่าเรียนไหม ไปทำอย่างอื่นน่าจะดีกว่า

อีกประเด็นหนึ่งคือการจัดสรรโรงเรียน งานวิจัยของ 101 Pub เคยศึกษาดูข้อมูลการจัดสรรครูในโรงเรียนของ สพฐ. เกือบสามหมื่นแห่ง พบว่าโรงเรียนขนาดเล็กมีปัญหามาก ครูหนึ่งคนต้องรับผิดชอบหลายชั้นเรียนทำให้บางทีเด็กแต่ละระดับชั้นต้องมานั่งเรียนรวมกัน เราจึงควรมาคุยกันเรื่องควบรวมชั้นเรียนหรือโรงเรียน อาจไม่ถึงขั้นยุบ แต่แบ่งปันทรัพยากรบางอย่างด้วยกันเพื่อจะได้มีจำนวนครูเพียงพอและสามารถดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง

ณัฐพงษ์: ผมอยากเสริมในเรื่องการลงทุนในเด็กเล็ก จากประสบการณ์ ผมเห็นว่าท้องถิ่นหรือเทศบาลหลายที่สามารถจัดการศึกษาได้ดีกว่าส่วนกลางด้วยซ้ำนะครับ เพราะฉะนั้น ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาได้ เพราะจะทำให้เกิดความก้าวหน้าได้จริง รวมถึงเปิดให้พื้นที่และชุมชนที่อยู่รายรอบมาร่วมกันออกแบบหลักสูตรได้ด้วย

อ่านร้อยพันปัญหาการศึกษาไทย สู่การสร้างโลกที่การศึกษาเป็นของทุกคน

ปัจจุบันเด็กไร้สถานะหรือเด็กไม่มีสัญชาติจำนวนมากในไทยยังพบอุปสรรคในการเข้าสู่ระบบการศึกษา เราควรมีนโยบายอย่างไรในการดึงเด็กกลุ่มนี้กลับเข้าสู่ระบบ

ฉัตร: มีทั้งเด็กที่เกิดในไทยแต่มีปัญหาขอสัญชาติไม่ได้ ตรงนี้เริ่มต้นคือเราต้องมองว่าเขาเป็นคนไทย เพียงแต่มีปัญหาด้านการเข้าถึงเอกสารของรัฐ แต่ถ้าเป็นแรงงานข้ามชาติ หลายคนอาจจะมองว่า เราจะเอาเงินคนไทยไปช่วยต่างชาติทำไม แต่ผมอยากให้มองมากกว่าว่า ถ้าเราไม่ช่วยพวกเขาจะก่อให้เกิดต้นทุนอะไรกับสังคมบ้าง ถ้าเรามองไกลๆ จะเห็นว่าทุกวันนี้เด็กเกิดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้เราขาดกำลังแรงงานสำหรับภาคการผลิต เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมเราไม่ดูแลให้เด็กกลุ่มนี้เติบโตอย่างมีคุณภาพเพียงพอและยึดโยงกับไทยได้ เพื่อจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงานในระยะยาวด้วย

ณัฐพงษ์: ผมมองว่าตอนนี้เราทุกคนคือพลเมืองโลกแบบหนึ่ง สิ่งที่รัฐควรมองจึงไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา แต่คือการระบุสัญชาติคน เช่น ชาติพันธุ์คนนี้ยังห่างไกลและไม่มีบัตรประชาชน รัฐต้องมองว่าเขาคือพลเมืองของเราไหมและแก้ปัญหาตรงนั้น และเรื่องสวัสดิการก็จะตามมาเอง ตรงนี้อย่ามองว่าเป็นภาระของรัฐ แต่ให้มองว่าประเทศก็ขาดแคลนแรงงานเช่นกัน

ช่วงโควิด-19 มีนักเรียนจำนวนมากต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา เราจะมีแนวทางในการดึงเด็กกลุ่มนี้กลับเข้าสู่ระบบได้อย่างไร

ธร: ผมมองว่าวิธีที่เร่งด่วนที่สุดคือการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ตกค้างอยู่ เพราะจริงๆ แล้ว ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะโควิดมีความซ้อนทับกับปัญหาทางเศรษฐกิจด้วย ถ้ามีร่องรอยแผลเป็นระยะยาวจากเศรษฐกิจและโควิด เราก็ต้องช่วยฟื้นฟูเขากลับมา ถ้าเด็กต้องออกจากระบบเพราะครอบครัวมีภาระเยอะ ก็ต้องช่วยเหลือครอบครัวเขาด้วย

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อเด็กกลับเข้าระบบได้แล้วต้องตามให้ทัน ดังนั้น ถ้าภาครัฐอยากทำอะไรให้มากไปกว่าการให้เด็กกลับมาเรียน ก็ต้องพยายามหาช่องทางสนับสนุนให้เขาสามารถเรียนไล่ทันเด็กคนอื่นในระบบได้ เช่น มีกลไกหนุนเสริมต่างๆ หรืออาจพิจารณาเรื่องการเรียนซ้ำชั้นก่อน เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มต้นทุนให้เด็กเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความผันผวนทางการเมืองส่งผลต่อการจัดทำนโยบายการศึกษา เราจะทำอย่างไรให้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมีความต่อเนื่องและเกิดการส่งต่อนโยบายได้แม้มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล

ณัฐพงษ์: เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าระบบราชการไทยหรือรัฐไทยขับเคลื่อนด้วยราชการ ดังนั้นถ้าจะเปลี่ยน ผมว่าอาจจะต้องเริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติของบุคลากรที่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องระบบการศึกษา

ในระยะสั้น เราอาจเริ่มจากการอุดหนุนงบประมาณรายหัวที่หลายอย่างอาจไม่เหมาะสม รวมถึงการหลุดออกจากระบบการศึกษา ส่วนระยะกลาง เริ่มจากการปรับทัศนคติ ถ้าเราวางหลักไว้ว่า การศึกษาก่อนวัยเรียนหรือการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นบริการสาธารณะที่ประชาชนต้องเข้าถึงได้อย่างถ้วนหน้า จะเห็นว่าสิ่งที่ต้องมาก่อนคือความเท่าเทียม ไม่ใช่ความเป็นเลิศ เราต้องทำให้คนรวยส่งลูกเข้าเรียนข้างบ้านได้และยังได้การศึกษาที่มีคุณภาพดี ส่วนคนจนจะส่งลูกเรียนที่ไหนก็ได้การศึกษาที่ดีไม่แพ้กัน เราต้องมองว่าการจัดการศึกษาคือการสอนให้เด็กมีทักษะเชิงวิพากษ์ สามารถปรับตัวให้ทันโลกและยุคสมัยใหม่ๆ 

ถ้าเราเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ได้จะสะท้อนไปถึงการจัดสรรงบประมาณ นโยบาย และการออกแบบหลักสูตร ผมไม่ปฏิเสธนะว่ามันยาก แต่ต้องมองว่ามันเป็นเรื่องคู่ขนานกัน ถึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ

ฉัตร: ผมว่ามีหลายเรื่องที่พ่วงกันอยู่ การให้ท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาได้ก็เป็นการตอบโจทย์รูปแบบหนึ่งที่จะแก้ปัญหาทั้งความเหลื่อมล้ำและการตกหล่น รวมถึงจะทำให้เกิดศักยภาพและความต่อเนื่องได้ด้วย เพราะการย้ายอำนาจการจัดการศึกษาจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องโรงเรียน แต่จะทำให้เกิดความรับผิดรับชอบแบบใหม่ในพื้นที่มากขึ้น เช่น คณะกรรมการโรงเรียนที่มีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่

เพราะฉะนั้น แทนที่จะแขวนนโยบายการศึกษาไว้ในระดับชาติอย่างเดียว ผมว่าเราน่าจะมีระยะบางอย่างได้ ทำให้โรงเรียนสามารถเติมความหลากหลายและเลือกวิธีการทำงานได้ชัดขึ้น สุดท้าย มันเป็นเรื่องการทำอุปสงค์ การให้เงินอุดหนุน และการเงินต่างๆ เพื่อทำให้เกิดความรับผิดรับชอบและมีการแข่งขันในแต่ละโรงเรียน ตรงนี้ก็น่าจะตอบโจทย์ได้

ธร: ในปัจจุบัน ปัญหาหนึ่งคือเราไม่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาการศึกษาด้วยทางไหนดี กลุ่มมีอำนาจรัฐจะยึดโยงกับความมั่นคง ปลูกฝังให้เด็กเป็นคนดีและรักความเป็นไทย แต่บางกลุ่มก็อยากผลักดันให้การศึกษาเป็นการปลดปล่อยศักยภาพในตัวเด็ก ทำให้เราไม่เคยชัดสักวิธีว่าเราจะตอบโจทย์อะไร

ผมว่าแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจและมีการพูดถึงกันมากขึ้นคือการลงทุนในมนุษย์ เพราะถ้าเราไม่ลงทุนตรงนี้จะทำให้เสียโอกาสของประเทศ ตรงนี้ทำให้เราตอบได้ด้วยว่า การทำให้การศึกษาเป็นเรื่องของความเสมอภาคไม่ใช่แค่การแก้ความเสมอภาคในตัวเอง แต่เป็นการทำให้ประเทศนี้สามารถอยู่รอดต่อไปได้ในอนาคต


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save