เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดลง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทสั่นสะเทือนการเมืองไทย คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2549 หลายครั้งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ กระทั่งเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง
ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย เราเห็นเทรนด์ที่องค์กรซึ่งใช้อำนาจตุลาการในหลายประเทศทั่วโลกขยายพื้นที่เชิงอำนาจเข้ามามีบทบาทวินิจฉัยข้อพิพาทในประเด็นต่างๆ นอกโลกของกฎหมาย โดยย่างเข้าสู่โลกของการเมืองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายสาธารณะ ความขัดแย้งการเมือง สิ่งแวดล้อม และเสรีภาพในการนับถือศาสนา
แต่ไม่จำเป็นว่า “ตุลาการภิวัตน์” (judicialization of politics / judicial activism) จะนำไปสู่การสร้างสรรค์ประชาธิปไตย เช่น การปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เสมอไป แต่ “ตุลาการภิวัตน์” ในหลายประเทศกลับมีบทบาทบั่นทอนหรือทำลายประชาธิปไตย จนบ่อยครั้งสร้างการเผชิญหน้าระหว่างผู้พิพากษาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน กับสถาบันการเมืองจากการเลือกตั้ง เช่น รัฐบาล พรรคการเมือง จนอำนาจฝ่ายตุลาการกลายเป็น “ตุลาการธิปไตย” หรือระบบการปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของตุลาการ
101 in focus สัปดาห์นี้ ปกป้อง จันวิทย์ สมคิด พุทธศรี และธิติ มีแต้ม จะชวนคุยชวนคิดเรื่อง “ตุลาการธิปไตย” ผ่านผลงานสื่อของ 101
……………………
อ่านเพิ่มเติม
เปิดห้องเรียนนิติศาสตร์เพื่อราษฎร มองอนาคตการเมืองไทย กับ วรเจตน์ ภาคีรัตน์
ตุลาการนิยมล้นเกิน (Hyper-Judicial Activism)
ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไร้ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญ
รับโทษ ไม่รับผิด : เผชิญหน้าอยุติธรรมจากอำนาจตุลาการ