fbpx
รับโทษ ไม่รับผิด : เผชิญหน้าอยุติธรรมจากอำนาจตุลาการ

รับโทษ ไม่รับผิด : เผชิญหน้าอยุติธรรมจากอำนาจตุลาการ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

อำนาจปกติแห่งตุลาการ

 

ตุลาการเป็นสถาบันหนึ่งที่มีความสำคัญในสังคมสมัยใหม่ ในฐานะขององค์กรที่จะทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้น การดำรงอยู่ของอำนาจตุลาการมิใช่เป็นไปเพียงเพราะว่ามีกลไกต่างๆ ของรัฐมารองรับให้เกิดผลในความเป็นจริงเท่านั้น ความชอบธรรม (legitimacy) เป็นปัจจัยสำคัญที่จะคอยค้ำยันให้สถาบันตุลาการได้รับการยอมรับและสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นปกติ

ความชอบธรรมของฝ่ายตุลาการมีองค์ประกอบในหลากหลายด้าน นับตั้งแต่ความรู้ความสามารถของบุคคลในการวินิจฉัยคดี ความเป็นกลางของผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสิน กระบวนการในการพิจารณาคดีที่เปิดโอกาสให้มีการต่อสู้อย่างเสมอภาคทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา เป็นต้น กล่าวเฉพาะสำหรับสังคมเสรีประชาธิปไตย การยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทั้งในด้านของที่มาและการตรวจสอบ เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมาก

เงื่อนไขข้างต้นจะทำให้การใช้อำนาจตุลาการมีความน่าเชื่อถือและนำไปสู่การยอมรับคำตัดสิน ความไว้วางใจของสังคมต่ออำนาจตุลาการจะทำให้ข้อพิพาทต่างๆ สามารถยุติลง และนำไปสู่การดำเนินชีวิตของทุกกลุ่มทุกฝ่ายอย่างเป็นปกติสุข ความชอบธรรมจะเป็นสิ่งที่ทำให้อำนาจบังคับมีผลเกิดขึ้น แม้ว่าอาจมีบางคนบางฝ่ายไม่เห็นด้วยกับผลของการตัดสินก็ตาม

แต่ในหลายครั้ง ในหลายสังคมก็อาจพบว่าการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการที่ปรากฏขึ้น อาจไม่สอดคล้องกับความยุติธรรม หรือแม้กระทั่งแปรสภาพไปเป็นเครื่องมือของความอยุติธรรม เพื่อใช้ดำเนินการกับฝ่ายอื่นได้ในหลายลักษณะ โดยเฉพาะการเป็นเครื่องมือของอำนาจรัฐเพื่อใช้จัดการกับฝ่ายที่มีความเห็นต่าง การทำหน้าที่ในลักษณะดังกล่าวนำมาซึ่งคำถามถึงความชอบธรรมของอำนาจตุลาการได้บ่อยครั้ง

คำถามที่น่าสนใจ คือปรากฏการณ์ใดที่อาจทำให้สั่นคลอนความชอบธรรมของอำนาจตุลาการได้บ้าง

 

‘จตุอัปลักษณ์’ ของอำนาจตุลาการ

 

หนึ่ง บทบัญญัติของกฎหมาย  ในกรณีที่ต้องตัดสินคดีภายใต้บัญญัติของกฎหมายลายลักษณ์อักษร ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ามีเนื้อหาอันขัดแย้งกับความเป็นธรรม หากผู้ตัดสินได้ชี้ขาดด้วยการใช้กฎหมายที่มีอยู่ กรณีเช่นนี้ย่อมมีความเป็นไปได้ว่าผลที่เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาอย่างมาก

เฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาถึงกระบวนการบัญญัติกฎหมายในห้วงเวลาของระบอบอำนาจนิยม เป็นที่ชัดเจนว่าสิ่งที่เรียกว่ากฎหมายจำนวนมากได้ถูกเขียน พิจารณา และให้ความเห็นชอบ บนพื้นฐานที่ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ได้เป็นองค์กรที่ยึดโยงกับประชาชนแม้แต่น้อย กระบวนการเช่นนี้นำมาซึ่งกฎหมายที่ขัดแย้งกับความเป็นธรรมอย่างกว้างขวาง

แม้กระทั่งการอ้างอิงถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ก็อาจถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมได้เช่นกัน บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับหลักการเสรีประชาธิปไตย การให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเหนือองค์กรที่สัมพันธ์กับประชาชน การรองรับอำนาจของคณะรัฐประหารให้มีผลสืบเนื่องต่อไป ฯลฯ เป็นต้น

สอง กระบวนการพิจารณาคดี  คุณลักษณะอันโดดเด่นของการตัดสินคดีในโลกปัจจุบัน คือการให้ความสำคัญกับกระบวนการในการพิจารณาคดีที่ต้องดำเนินไปอย่างเสมอภาค โปร่งใส เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสต่อสู้อย่างเท่าเทียม ก่อนที่จะนำไปสู่บทสรุปว่าจะให้ฝ่ายใดเป็นฝ่ายชนะหรือฝ่ายแพ้ในคดีนั้นๆ

การเปิดให้คู่พิพาทนำเสนอหลักฐานและเหตุผลอย่างเต็มที่ เป็นหลักการพื้นฐานของกระบวนการในการพิจารณาคดี ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินบนหลักการของกฎหมายเอกชน กฎหมายอาญา หรือรัฐธรรมนูญ ก็ล้วนต้องเปิดโอกาสให้กับคู่ขัดแย้ง เฉพาะอย่างยิ่งกับฝ่ายที่เป็นผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งควรได้รับโอกาสอย่างเต็มที่

แม้จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้ว่า ‘มีหลักฐานอันควรเชื่อ’ แต่ก็เป็นเพียแนวทางในการตัดสินเท่านั้น มิได้หมายความว่าฝ่ายผู้มีอำนาจหน้าที่จะตัดสินไปโดยพิจารณาหลักฐานบางส่วนแล้วก็พบว่า ‘ควรเชื่อ’ เท่านั้น โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหา แล้วทำการวินิจฉัยไปตามความเข้าใจของตน

สาม เหตุผลในคำวินิจฉัย ความน่าเชื่อถือประการหนึ่งของคำวินิจฉัยชี้ขาดในข้อพิพาทต่างๆ คือการให้เหตุและผลที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้อง การอธิบายถึงหลักกฎหมายได้อย่างชัดเจน การปรับใช้บทบัญญัติของกฎหมายได้ถูกต้อง ความสม่ำเสมอของแนวทางในการวินิจฉัย (consistency)

กล่าวโดยรวมก็คือ การให้เหตุผลทางกฎหมายต้องพร้อมไปด้วยเหตุผลอันเป็นที่รับฟังได้ มิใช่เป็นการตัดสินที่เมื่อได้ฟังเหตุผลแล้วกลับเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งการโต้แย้งอย่างกว้างขวางในทางสาธารณะ ดังเช่นเมื่อมีการให้เหตุผลว่าการกระทำบางอย่าง ‘เป็นปฏิปักษ์’ ต่อจารีตประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องสามารถอธิบายให้เห็นถึงความหมาย ลักษณะของสิ่งที่อ้างอิงนั้นได้อย่างครอบคลุม ถูกต้องในข้อเท็จจริง และเป็นที่ยอมรับ

มิใช่เป็นเพียงการอธิบายถึงบรรทัดฐานดังกล่าวในมุมมองของผู้ตัดสิน ซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับความเข้าใจในแง่มุมทางวิชาการ หรือมุมมองของผู้คนในสังคม

อีกทั้งการตัดสินคดีก็ต้องดำเนินไปด้วยความสม่ำเสมอของแนวทางการพิเคราะห์ มิใช่ในคดีหนึ่งใช้แนวทางการวินิจฉัยแบบหนึ่ง ขณะที่ในอีกคดีกลับใช้แนวทางอีกแบบหนึ่ง ดังเช่นในบางคดี เมื่อจะทำการวินิจฉัยก็ไม่ใช้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หากอ้างอิงถึงความหมายโดยทั่วไป แต่ในบางคดีกลับยึดถือบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดแทนที่ความหมายทั่วไป ทั้งที่เป็นข้อพิพาทในประเด็นความขัดแย้งทางรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน

การตัดสินที่ปราศจากความสม่ำเสมอ หรือการตัดสินแบบ ‘สองมาตรฐาน’ ก็ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าจะนำมาซึ่งข้อกังขาว่า แท้ที่จริงแล้วการตัดสินที่เกิดขึ้นไม่ได้วางอยู่บนหลักการทางกฎหมาย หากอยู่บนอุดมการณ์ของผู้ตัดสินมากกว่า

สี่ บุคคลผู้ทำหน้าที่ ความเป็นกลางของผู้ตัดสินนับเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้บุคคลทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในคดี สามารถวางใจได้ว่าคำตัดสินที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยปราศจากอคติของผู้ที่ชี้ขาด หากขาดซึ่งความเป็นกลางก็ย่อมทำให้ผู้ที่ถูกตัดสินลงโทษ สามารถมีข้อกังขาได้ว่าไม่มีความเป็นกลางในข้อพิพาทแต่อย่างใด

ความเป็นกลางของอำนาจตุลาการเป็นสิ่งที่ถูกตระหนักและกล่าวอ้างทั้งในระดับสากลและภายในสังคมไทย เฉพาะในสังคมไทย ความเป็นกลางของผู้ตัดสิน คือสิ่งหนึ่งที่จะบ่งบอกได้ว่าการตัดสินที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างอิสระ ความเป็นอิสระนั้นจะทำให้เกิดการคิด ไตร่ตรอง และตัดสินได้ตามหลักวิชามากกว่าเป็นผลมาจากอำนาจอื่น หากเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ตัดสินปราศจากความเป็นกลาง ก็แน่นอนว่าคำตัดสินจะทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ

การวินิจฉัยประเด็นยุบพรรคการเมืองที่ชัดเจนว่ายืนตรงกันข้ามกับคณะรัฐประหาร โดยบุคคลส่วนใหญ่จำนวน 7 ใน 9 คน ได้รับการแต่งตั้งและขยายอายุภายใต้การปกครองที่คณะรัฐประหารมีอำนาจในทางการเมือง ล้วนเป็นรูปธรรมที่ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจได้ทั้งสิ้น

 

รับโทษ ไม่รับผิด

 

หากต้องเผชิญหน้ากับคำวินิจฉัยของอำนาจตุลาการที่บังเกิดขึ้นภายใต้ ‘จตุอัปลักษณ์’ ดังที่กล่าวมา บุคคลจะสามารถมีปฏิกิริยาอย่างไรได้บ้าง

ถ้าประเมินว่าสังคมนั้นยังพอมีความเป็นธรรมดำรงอยู่ (nearly just) อันหมายถึงว่า ไม่ได้เป็นสังคมที่ความเป็นธรรมอยู่ใกล้จุดศูนย์ หรือไม่ห่างจากจุดศูนย์มากเท่าใด กล่าวคือยังคงพอมีความเป็นไปได้ที่จะปรับปรุงหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ดีขึ้นภายใต้ระบบหรือกลไกที่ดำรงอยู่ หากการกระทำใดถูกวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ต้องได้รับการลงโทษ บุคคลผู้กระทำการก็อาจจำต้องยอมรับโทษ ที่มีการวินิจฉัยขึ้นว่าเป็นส่วนหนึ่งของความเลวร้ายในระบบซึ่งควรต้องได้รับการแก้ไข ทั้งนี้บนฐานความคิดว่าระบบโดยรวมยังพอเป็นที่ยอมรับได้อยู่

แต่การรับโทษมิได้จำเป็นต้องยอมรับว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผิด หากผู้กระทำยังเห็นว่าการกระทำของตนมิได้เป็นสิ่งที่ผิดในตัวของมันเอง แต่การกระทำนั้นกลายเป็น ‘ความผิด’ เพราะอำนาจตุลาการที่ไม่ชอบธรรม บุคคลก็ควรต่อสู้ โต้แย้ง ให้เหตุผลสนับสนุนการกระทำของตนเองต่อไป

แม้กระทั่งการชี้ให้เห็นลักษณะอันพิกลพิการในการวินิจฉัยดังกล่าว ก็เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น เพื่อทำให้เกิดการถกเถียง โต้แย้ง ถึงการตัดสินการกระทำที่เป็นความผิดว่าเป็นผลจากอำนาจที่บิดเบี้ยวของผู้ตัดสิน มากกว่าที่จะยอมรับโดยดุษฎีว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดในตัวของมันเอง

มีตัวอย่างของบุคคลสำคัญและสามัญชนที่ยอมรับการลงโทษโดยปฏิเสธถึงความผิดให้เห็นอย่างดาษดื่น การ ‘รับโทษ’ กับการ ‘รับผิด’ จึงไม่จำเป็นต้องเป็นสองด้านที่ควบคู่กันเสมอไปแต่อย่างใด

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save