fbpx
การเมืองระหว่างประเทศยามผลัดปี : การสิ้นสุดของอะไร?

การเมืองระหว่างประเทศยามผลัดปี : การสิ้นสุดของอะไร?

จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

 

ในช่วงสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ เรามักจะหวนกลับมาทบทวนว่าในปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง และคาดการณ์แนวโน้มทิศทางในอนาคตของปีถัดไปว่าจะเป็นเช่นไร

สำหรับเรื่อง ‘การเมืองระหว่างประเทศ’ แล้ว การผลัดปีใหม่คงไม่ได้ทำให้ประเด็นปัญหาระหว่างประเทศ เช่น ภาวะโลกร้อน ปัญหาปาเลสไตน์ หรือกรณีอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี จบสิ้นยุติหรือ “ล้าสมัย” ไปพร้อมๆ กับปีเก่า

เพราะการเมืองระหว่างประเทศนั้น มีทั้งความต่อเนื่อง และพลวัตการเปลี่ยนแปลง

การเมืองระหว่างประเทศมีทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต  ความขัดแย้งและความร่วมมือระหว่างประเทศมีที่มาที่ไปจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และยังกำหนดกำกับอนาคตภายหน้า ซึ่งอาจจะไม่ได้ดำเนินไปแบบเส้นตรงเสียทีเดียว บางครั้งอาจจะเป็นวัฏจักร หรือบางครั้งอาจจะเป็นการตัดขาดจากเดิม มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมา

การเมืองระหว่างประเทศมีมิติความสลับซับซ้อน เพราะการเมืองระหว่างประเทศนั้นมีหลากหลายระดับที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน มีหลากหลายตัวแสดงระหว่างประเทศที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และมีหลากหลายปัจจัยทั้งที่เป็นโอกาสและข้อจำกัด ทั้งที่เป็นปัจจัยเฉพาะหน้าและปัจจัยเชิงโครงสร้างต่างๆ นานา

ด้วยเหตุนี้ ท่านทั้งหลายที่เฝ้าติดตามการเมืองระหว่างประเทศมาโดยตลอดย่อมต้องเกาะติดกระแสสถานการณ์ระหว่างประเทศว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร ไปพร้อมๆ กับการพยายามทำความเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์เบื้องหลังสถานการณ์ต่างๆ เหล่านั้น (ด้วยคำถามว่า “ทำไม”) มิพักต้องพูดถึงการแสวงหาคำอธิบายทางทฤษฎีที่ “พอใช้ได้” หรือ “เข้าท่า” แก่การวิเคราะห์ วิพากษ์ และออกแบบนโยบาย (ว่าควรจะมีทางออกเป็นอย่างไร)

ในช่วงผลัดปีเก่าสู่ปีใหม่ ผมอยากจะลองตั้งคำถามว่า การเมืองระหว่างประเทศในปี 2017 มีประเด็นปัญหาอะไรสิ้นสุดไปแล้วบ้าง ประเด็นเหล่านี้สิ้นสุดแล้วจริงหรือไม่ หรือเป็นโจทย์ที่ยังคงดำเนินต่อไปในปีหน้า (กระทั่งอีกหลายทศวรรษข้างหน้าเสียด้วยซ้ำ) โดยขอหยิบยกประเด็นมหภาคที่สำคัญมาเพียงสามเรื่อง เพื่อชวนคิดและแลกเปลี่ยนสนทนาในวันสิ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

1. การสิ้นสุดระเบียบโลกแบบเสรีนิยม?

 

ประการแรก การขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อต้นปี 2017 สั่นสะเทือนการเมืองระหว่างประเทศอย่างมหาศาล หลายคนพูดถึงการสิ้นสุดของระเบียบโลกแบบเสรีนิยมที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ซึ่งแต่เดิมอย่างน้อยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐฯ มีบทบาทในการส่งเสริมระเบียบโลกทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคง รวมทั้งระบบพันธมิตรในภูมิภาคต่างๆ ของโลก เช่น NATO

วาทศิลป์และพฤติกรรมของทรัมป์ในการถอนตัวออกจากการเมืองโลกและให้ความสำคัญกับ “การสร้างอเมริกาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง” ดูเหมือนจะบั่นทอนอำนาจนำและความชอบธรรมของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าเราค่อนข้างเน้นย้ำความแตกต่างโดยสิ้นเชิงของรัฐบาลทรัมป์มากจนเกินไป โดยละเลยความต่อเนื่องของนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ กล่าวคือ นโยบายภายในประเทศของทรัมป์ก็ไม่ได้ผิดแผกไปจากนโยบายกระแสหลักของพรรครีพับลิกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีคนรวยและบรรษัท หรือการลดกฎเกณฑ์ (deregulation)

ในด้านนโยบายต่างประเทศ สหรัฐฯ นั้น “ส่งเสริมพหุภาคีเมื่อเป็นไปได้ และดำเนินนโยบายแบบเอกภาคีเมื่อจำเป็น” มาโดยตลอด เราเห็นทรัมป์นำสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ แต่เราต้องไม่ลืมว่า ในช่วงก่อนสมัยทรัมป์ สหรัฐฯ ก็ไม่ได้เข้าร่วมกติการะหว่างประเทศต่างๆ เช่น ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ International Criminal Court (ICC) ด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้น นโยบายต่างประเทศของทรัมป์ยังคงดำเนินตามลัทธิทหารนิยม (militarism) ในระดับโลกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มงบประมาณกลาโหม การส่งทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานเพิ่มขึ้น (โดยไม่ได้ระบุระยะเวลาของการถอนทหารอย่างชัดเจน) การประกาศสนับสนุนระบบพันธมิตรอย่าง NATO อย่างชัดเจนในการประชุมที่วอร์ซอเมื่อเดือนกรกฎาคม 2017 หรือการป้องปรามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือด้วยการขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้อย่างรุนแรง รวมทั้งการส่งเสริมความสัมพันธ์กับพันธมิตรดั้งเดิม โดยไม่สนใจว่าประเทศนั้นจะมีระบอบการเมืองแบบใดก็ตาม

กล่าวอีกนัยหนึ่ง สหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์ไม่ได้ “ถอนตัว” ออกจากการเมืองโลก หรือไม่ได้กลับสู่ “หลักการการโดดเดี่ยว” แต่ยังคงแพร่กระจายลัทธิทหารนิยม และคงระบบพันธมิตรเอาไว้

กระนั้น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าบุคลิกและวาทศิลป์ของทรัมป์มีส่วนสำคัญในการลดทอนอำนาจนำของสหรัฐฯ ในเวทีระหว่างประเทศ เช่น กรณีปาเลสไตน์ หรือกรณีข้อตกลงปารีสว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ระเบียบโลกแบบเสรีนิยมที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำนั้นกำลังตกต่ำลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ก่อนหน้าทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ทรัมป์เป็นแค่เพียง “อาการ” มากกว่า “สาเหตุ” ของสภาวะตกต่ำของระเบียบดังกล่าว

ระเบียบโลกแบบเสรีนิยมที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำยังถูกท้าทายด้วยปัจจัย ประการที่สอง นั่นคือ การผงาดของจีนอย่างแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและการทหาร ถ้าจะกล่าวว่า ปี 2017 เป็นปีของสีจิ้นผิง ผู้นำทรงอิทธิพลของจีน ก็คงจะไม่ผิดฝาผิดตัวมากนัก

ในการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนเมื่อเดือนตุลาคม 2017 สัญญาณของการรวมศูนย์อำนาจภายในพรรคของสีจิ้นผิงเป็นไปอย่างชัดเจน โดยไม่มีการวางตัวทายาทผู้นำรุ่นต่อไปเหมือนเช่นเคย ความเป็นไปได้ที่สีจิ้นผิงจะอยู่ในอำนาจต่อไปหลังหมดวาระอีกห้าปีต่อจากนี้ ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกที กล่าวคือ การเมืองภายในของจีนจะยิ่งมุ่งเน้นความเป็นอำนาจนิยมเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนั้น ผู้สังเกตการณ์การเมืองระหว่างประเทศต่างดูจะเห็นพ้องต้องกันว่า จีนภายใต้สีจิ้นผิงมีนโยบายต่างประเทศแข็งกร้าวมากขึ้น

ในด้านหนึ่ง การที่จีนขยายบทบาทและอิทธิพลทางการทหารของตนในบริเวณทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก นำมาซึ่งความตึงเครียดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

งานวิจัยของ David C. Kang แห่งมหาวิทยาลัย Southern California ให้ภาพที่แตกต่างออกไป ในหนังสือ “American Grand Strategy and East Asian Security in the Twenty-First Century” (Cambridge University Press, 2017) เขาเสนอว่า ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยรวม (ยกเว้นกรณีคาบสมุทรเกาหลี) การใช้จ่ายด้านกลาโหมโดยรวมของภูมิภาคไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่กลับลดลง แต่ละประเทศไม่ได้ส่งสัญญาณคุกคามประเทศอื่นอย่างชัดเจน

แม้จะมีกรณีพิพาททะเลจีนใต้ที่ร้อนระอุ แต่ Kang เสนอว่าประเทศต่างๆ ไม่ได้ต้องการจะเข้าแข่งขันกันสะสมอาวุธในภูมิภาค และต้องการอยู่ร่วมกันฉันมิตรกับทั้งสหรัฐฯ และจีน ยุทธศาสตร์หลักของประเทศในภูมิภาคคือการประกันความเสี่ยง (hedging) กับมหาอำนาจ โดยมุ่งหวังที่จะมีส่วนในผลประโยชน์จากการพึ่งพาซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมความมั่นคงอย่างรอบด้าน โดยอาศัยเครื่องมือทั้งทางการทูต เศรษฐกิจ และการทหารมากกว่า

ในอีกด้านหนึ่ง การผงาดขึ้นมาทางการทหารของจีนยังสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับมหาอำนาจนำอย่างเช่นสหรัฐฯ ในทางทฤษฎีมีการคาดการณ์กันถึง “กับดัก Thucydides” หรือสถานการณ์ที่การก้าวขึ้นมาท้าทายมหาอำนาจเดิมของมหาอำนาจใหม่มักจบลงด้วยสงครามระหว่างประเทศ แต่ Graham Allison ก็เสนอว่าแนวโน้มความขัดแย้งนั้นมีความเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากพวกเราเรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์

นอกจากนั้น การสร้างพันธมิตรระหว่างจีนกับมหาอำนาจต่างๆ เช่น รัสเซีย ทำให้นักวิเคราะห์หลายท่านคาดการณ์ถึง “การผงาดขึ้นมาของเอเชีย” “ระเบียบโลกแบบอเสรีนิยม” หรือแม้กระทั่งการหวนคืนของอำนาจนิยม ที่จะท้าทายระเบียบโลกแบบเสรีนิยมอย่างมีนัยสำคัญ

แต่ในความเป็นจริง ทั้งจีนและรัสเซียต่างสนับสนุนหลักการ/ปทัสถานแบบเวสต์ฟาเลีย (Westphalian norms) ได้แก่ การเคารพอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดน และต่างได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงจากระเบียบระหว่างประเทศแบบเสรีนิยม กล่าวคือ มหาอำนาจเหล่านี้ยังอาศัยกลไกของสหประชาชาติในการปกป้องผลประโยชน์ และธำรงรักษาปทัสถานแบบดั้งเดิมเอาไว้

เพียงแต่ทั้งสองรัฐนั้นต่อต้านระเบียบโลกที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ และพยายามส่งเสริมระเบียบโลกหลายขั้วอำนาจ ที่มหาอำนาจเช่นจีนและรัสเซียมีสถานะและบทบาทสำคัญในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ ในการเมืองโลก

ในปัจจุบัน เราเห็นมหาอำนาจเหล่านี้รวมทั้งมหาอำนาจใหม่เข้าร่วมการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น จนค่อยๆ กลายเป็นระเบียบโลกชุดใหม่ที่ดำรงอยู่คู่ขนานกับระเบียบดั้งเดิมที่กำลังอ่อนล้าลงทุกทีๆ ระเบียบใหม่เหล่านี้ ได้แก่ BRICS หรือข้อเสนอ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน ซึ่งเป็นโครงการเงินกู้เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดมโหฬารแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเชื่อมโยงเครือข่ายการค้าคมนาคมในยูเรเชียทั้งทางบกและทางทะเล

ระเบียบโลกแบบเสรีนิยมได้รับการท้าทายมาโดยตลอด อย่างน้อยก็กว่าสามทศวรรษแล้ว แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าพลวัตการเปลี่ยนแปลงในปี 2017 ทั้งการขึ้นมาของทรัมป์และบทบาทของจีนภายใต้สีจิ้นผิงนั้น ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่มีต่อระเบียบโลกแบบเสรีนิยมเด่นชัดมากขึ้น

 

2. การสิ้นสุดของยุโรป?

 

ประเด็นแห่งปีของการเมืองยุโรปย่อมหลีกหนีไม่พ้นกรณี Brexit ซึ่งสหราชอาณาจักรลงประชามติถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป (EU)

Brexit สั่นคลอนการบูรณาการของยุโรป จนบางคนกล่าวว่า นี่เป็นการสิ้นสุดของยุโรปในแบบที่เรารู้จักกันมา แม้ว่าประเทศสมาชิกใน EU จะพยายามเน้นย้ำความมีเอกภาพภายในยุโรปก็ตาม แต่การหยิบยกประเด็นการบูรณาการที่ไม่จำเป็นต้องมี “ระดับความเร็ว” แบบเดียวกันภายใน EU ดูเหมือนจะสะท้อนความไม่มีเอกภาพของ EU อย่างมีนัยสำคัญ

ในกรณี Brexit แม้ว่าในช่วงแรกจะมีความตึงเครียดระหว่างคณะผู้เจรจาของฝ่ายสหราชอาณาจักรกับ EU หลังการลงประชามติ แต่ภายในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กระบวนการเจรจา Brexit ระยะที่หนึ่งได้บรรลุข้อตกลงพื้นฐานด้านต่างๆ แล้ว เช่น สิทธิการอยู่อาศัย/ทำงานของคนชาติอังกฤษใน EU และคนชาติ EU ในสหราชอาณาจักร ประเด็นปัญหาพรมแดนกับไอร์แลนด์ รวมทั้งเงินสนับสนุน EU

ในปีหน้าเราคงจะเห็นกระบวนการเจรจา Brexit เข้าสู่ระยะต่อไป นั่นคือ การเจรจาด้านข้อตกลงทางการค้า ว่าจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบใด

อย่างไรก็ดี รัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ลงมติที่จะมีสิทธิออกเสียงรับรองหรือคัดค้านต่อกฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวกับ Brexit  น่าสนใจว่าครั้งนี้ ส.ส.พรรครัฐบาลจำนวนหนึ่งก็ร่วมโหวตเข้ากับฝ่ายค้านอย่างพรรคแรงงาน กล่าวคือ รัฐสภาขอมี “เสียง” ในการเจรจา Brexit ที่รัฐบาลไปตกลงกับ EU นี่เป็นกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลปกติภายในการเมืองของสหราชอาณาจักร แต่พลวัตและเกมการเมืองภายในดังกล่าวย่อมทำให้กระบวนการเจรจากับ EU ไม่ง่ายดายอย่างที่รัฐบาลเทเรซา เมย์ คิด

หากมองในภาพรวมของยุโรป สถานการณ์ด้านอื่นๆ เช่น ประเด็นปัญหาผู้อพยพ ดูเหมือนจะคลี่คลายลงไป แต่โจทย์ว่าด้วย “การปฏิรูป EU” จะเป็นความท้าทายสำคัญมากที่สุดประการหนึ่งตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป เช่น การปฏิรูประบบยูโรโซน (Eurozone) เพื่อหากลไกในการรับมือวิกฤตการเงินในอนาคต ขณะนี้แม้ว่าจะมีกลไกการ “อุ้ม” หรือ bailout สถาบันการเงินอย่างเช่น European Stability Mechanism (ESM) แต่ยังไม่มีนโยบายร่วมทางด้านการคลังแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ในปีหน้าเราคงจะเห็นการถกเถียงเค้าโครงของคณะกรรมาธิการยุโรปในเรื่องงบประมาณของ EU ในช่วงระยะ 7 ปี (จนถึงปี 2020) รวมทั้งการถกเถียงว่าด้วยการบูรณาการทางเศรษฐกิจโดยรวมว่าจะดำเนินไปแบบสองระนาบตามขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของรัฐสมาชิกหรือไม่

แม้กระทั่งความท้าทายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมาชิกภายใน EU โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก ซึ่งมีรัฐบาลอย่างน้อยสองประเทศดำเนินนโยบายต่อต้าน EU และหลักนิติรัฐ

ในกรณีของโปแลนด์ การที่รัฐบาลของประธานาธิบดี Andrzej Duda ใช้อำนาจเข้าแทรกแซงสถาบันตุลาการ นำมาสู่การตอบโต้จาก EU ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ส่วนในกรณีของฮังการี รัฐบาลประชานิยมฝ่ายขวาภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Victor Orban (จากพรรค Fidesz) ก็ดำเนินนโยบายปฏิปักษ์ EU และนโยบายแบบอเสรีนิยมที่ต่อต้านผู้อพยพต่างๆอย่างชัดแจ้ง

ประเด็นเหล่านี้เชื่อมโยงกับคำถามที่สามคือ ปี 2017 เป็นการสิ้นสุดของประชานิยมขวาจัดหรือไม่?

 

3. การสิ้นสุดของประชานิยมฝ่ายขวา?

 

แม้ปี 2017 เริ่มต้นด้วยชัยชนะของ Trump และ Brexit แต่โดยรวมแล้ว ปี 2017 ดูเหมือนจะเป็นความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งใหญ่ของพรรคการเมืองประชานิยมฝ่ายขวาทั่วโลก หรืออย่างน้อยก็ในยุโรป โดยเฉพาะความพ่ายแพ้ของพรรค National Front ภายใต้การนำของ Marine Le Pen ในฝรั่งเศส และพรรค Party for Freedom นำโดย Geert Wilders ในเนเธอร์แลนด์ ในเวลาเดียวกัน กระแสประชานิยมฝ่ายซ้ายเองก็ดูเหมือนจะอ่อนแรงลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ Syriza ในกรีซ หรือ Podemos ในสเปน

อย่างไรก็ดี เรายังเห็นนโยบายของประชานิยมฝ่ายขวาในรัฐบาลที่ยังอยู่อำนาจขณะนี้ เช่นในกรณีของรัฐบาลจากพรรค Fidesz ภายใต้นายกรัฐมนตรี Victor Orban ในฮังการี เป็นต้น พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดยังคงได้รับความนิยมอยู่พอสมควร และได้ที่นั่งในรัฐสภาเกินความคาดหมาย ไม่ว่าจะเป็นพรรค Alternative for Germany (AfD) ในเยอรมนี Freedom Party ในออสเตรีย ANO 2011 ในสาธารณรัฐเช็ก หรือพรรค Law and Justice (PiS) ในโปแลนด์ เป็นต้น

ในปี 2018 พรรคการเมืองและขบวนการขวาจัดคงมีอิทธิพลและส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งครั้งสำคัญๆ ในยุโรปไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสาธารณรัฐเช็กและฟินแลนด์ เช่นเดียวกับการเลือกตั้งทั่วไปในฮังการี อิตาลี และสวีเดน โดยเฉพาะในกรณีของอิตาลี พรรคประชานิยมขวาจัด เช่น Five-Star Movement น่าจะเป็นบททดสอบสำคัญต่อระบบการเมืองของยุโรปได้ดีทีเดียว

แต่สิ่งที่เราอาจจะไม่ค่อยได้พิจารณากันมากนักก็คือ การหวนคืนของประชานิยมเสรีนิยมใหม่ “ปรากฏการณ์ Macron” เป็นปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานทางการเมืองในแบบ “หลังการเมือง” ซึ่งลดทอนการตัดสินใจทางการเมืองให้เป็นเรื่องทางเทคนิคการบริหารจัดการและผู้เชี่ยวชาญ แต่ในเวลาเดียวกันก็ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ต่อไปอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการลดกฎเกณฑ์ (deregulation) หรือการทำลายระบบสวัสดิการต่างๆ เช่น เงินบำนาญ การประกันสุขภาพ เป็นต้น

แนวโน้มแบบหลังไม่ใช่ทางเลือกที่แท้จริงในการเมืองโลก เพราะเราไม่ได้มีทางเลือกใหม่ในระนาบอุดมการณ์ทางการเมืองจริงๆ ความล้มเหลวหรือล่มสลายทางอุดมการณ์ทางการเมืองอาจจะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนหันไปเลือกพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด ทั้งนี้เพราะพรรคการเมืองหลักต่างมีนโยบายที่แทบไม่แตกต่างกันเลย โดยเฉพาะการส่งเสริมผลักดันนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่

หากไม่มีทางเลือกใหม่อื่นใด นอกจากพรรคกลาง-ซ้ายและพรรคกลาง-ขวา เราคงได้เห็นการกลับมาของพรรคแนวประชานิยมฝ่ายขวาอีกครั้งอย่างแน่นอน

 

สรุป

 

จริงๆ แล้วยังมีประเด็นสำคัญอีก 2-3 เรื่องที่เราอาจจะตั้งคำถามว่าจบสิ้นไปพร้อมการเมืองระหว่างประเทศปี 2017 แล้วหรือไม่ ได้แก่ การสิ้นสุดของ ISIS และการสิ้นสุดของระบอบการไม่แผ่ขยายอาวุธนิวเคลียร์หรือ non-proliferation (ดังเช่นกรณีการทดลองและครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ) แต่ผมขอเก็บไว้เขียนถึงในโอกาสต่อไป

กล่าวโดยสรุป ผมคิดว่าการเมืองระหว่างประเทศหรือประเด็นปัญหาระหว่างประเทศหลายประการไม่ได้สิ้นสุดไปพร้อมกับวันสิ้นปี และไม่สามารถที่จะคาดหวังอย่าง “โลกสวย” ว่า ในปีใหม่ อะไรๆ ในโลกก็จะดีขึ้นตามไปด้วย โดยส่วนมากแล้ว ประเด็นปัญหาระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ถอดด้าม หากแต่เป็นโจทย์ที่มีความต่อเนื่อง หรือเป็นคำถามค้างคาที่ดำรงอยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศต่างหาก

เช่นนี้แล้ว สิ่งที่เราจะได้เห็นในการเมืองโลกปี 2018 คือ “การหวนคืนของประวัติศาสตร์” มากกว่า “การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์”

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save